ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในพม่าถูกปลุกโดยทหาร

การที่ทหารพม่าสนับสนุนและปลุกระดมพระสงฆ์ “ฟาสซิสต์” ในองค์กร “969” มีความสำคัญยิ่งสำหรับกองทัพ เมื่อเราเข้าใจว่าพระสงฆ์ก้าวหน้าเคยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านทหารในปี 1988 และ 2007 และการรณรงค์จัดตั้งกระแสเหยียดเชื้อชาติมีประโยชน์สำหรับทหารที่ยังครองอำนาจเผด็จการอยู่หลังหน้ากากปลอมของประชาธิปไตยในช่วงนี้

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

สื่อกระแสหลักชอบเผยแพร่นิยายว่าความรุนแรงที่กำลังเกิดในพม่า มาจากความขัดแย้ง “ธรรมชาติ” ระหว่างคนที่มีเชื้อชาติและศาสนาต่างกัน แต่ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นพม่า ชนชาติต่างๆ อาศัยด้วยกันอย่างสงบมานาน
   
ยุทธวิธี “แบ่งแยกและปกครอง” เป็นสิ่งที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษพัฒนามานาน เพื่อไม่ให้เกิดความสามัคคีกันระหว่างคนพื้นเมืองซึ่งจะมาท้าทายการปกครองของเจ้าอาณานิคม และจักรวรรดินิยมตะวันตกมีนักวิชาการเรื่องชื่อ J.S. Furnivall ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการอังกฤษ ที่เสนอทฤษฏีเรื่อง “พหุสังคม” เพื่อแก้ตัวว่าคนเชื้อชาติต่างๆ มักแยกกันอยู่และแบ่งงานกันทำตามธรรมชาติ และแน่นอน “ธรรมชาติ” ระบุว่าคนตะวันตกต้องเป็นผู้ปกครอง มันตรงข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจตะวันตกเป็นผู้กำหนดว่าเชื้อชาติไหนจะมีสิทธิ์ทำงานประเภทไหน พูดภาษาอะไร และอาศัยอยู่ในส่วนไหนของเมือง
   
ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ องค์กรชาตินิยมพม่าชื่อ Dobama Asiayone ซึ่งมี อองซาน เป็นสมาชิกสำคัญ มีนโยบายชาตินิยมพุทธสุดขั้ว องค์กรนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการก่อจลาจลทำร้ายคนเชื้อสายอินเดียที่เป็นกรรมกรท่าเรือในปี 1930 ในปีนั้นกรรมกรท่าเรือเชื้อสายอินเดียนัดหยุดงาน แต่อังกฤษนำแรงงานพม่ามาแทนที่ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก พวกชาตินิยมพม่ามองว่าแรงงานเชื้อสายอินเดียเป็น “คนต่างชาติ” ที่มาแย่งงานคนพม่า นอกจากนี้พวกชาตินิยมใช้นายธนาคารอินเดียเป็นแพะรับบาปเพื่อโทษว่าเขาเป็นต้นเหตุแห่งความยากจนในหมู่ชาวนาพม่า แต่ในความเป็นจริงชนบทพม่ามีความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในเชื้อชาติพม่าสูง และคนที่ปล่อยกู้ให้คนจนในชนบทเป็นคนพม่าในหมู่บ้านเดียวกัน ต่อมาในปี 1938 มีการทำร้ายชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม
   
นักวิชาการชื่อ Martin Smith ในหนังสือ “Burma, insurgency and the politics of ethnicity”, รายงานว่า อองซาน มีอคติกับการเรียกร้องเสรีภาพโดยชนชาติต่างๆ นอกจากชนชาติพม่าและไทยใหญ่ ซึ่งอองซานมองว่าเป็น “ชนชาติจริง” และกองทัพปลดแอกพม่า ภายใต้การนำของ อองซาน ถูกกล่าวหาว่าเข่นฆ่าพลเรือนชาวกะเหรียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะชาวกะเหรี่ยงมักจะรบในกองทัพของอังกฤษ
   
ในปี 1991 สามปีหลังความล้มเหลวของการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยที่พยายามล้มเผด็จการทหาร “8-8-88” ตำรวจพม่าออกมาปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐอาราคานด้วยความรุนแรง ต่อมาในปี 1997 พระสงฆ์คลั่งชาติ ถูกทหารจัดตั้งให้ไปเผาบ้านและมัสยิดของชาวมุสลิมในเมือง พะโค
   
ถ้าเราจะเข้าใจความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นต่อชาวมุสลิมในขณะนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งกระทำโดยอันธพาลพระสงฆ์พุทธ เราต้องดูประวัติศาสตร์ของการ “แบ่งแยกและปกครอง” ในพม่า ทั้งโดยอังกฤษและรัฐบาลเผด็จการทหารที่ตามมา รวมถึงลัทธิคลั่งชาติสายพุทธขององค์กร Dobama Asiayone อีกด้วย ตอนนี้มีรายงานข่าวว่า พระสงฆ์ชาตินิยมสุดขั้วชื่อ วีราธุ เป็นหัวหน้าขบวนการขวาจัด “969” และพวกนี้ใกล้ชิดกับทหาร โดยเฉพาะนายพล Khin Nyunt จากองค์กรราชการลับของกองทัพพม่า
   
การที่ทหารพม่าสนับสนุนและปลุกระดมพระสงฆ์ “ฟาสซิสต์” ในองค์กร “969” มีความสำคัญยิ่งสำหรับกองทัพ เมื่อเราเข้าใจว่าพระสงฆ์ก้าวหน้าเคยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านทหารในปี 1988 และ 2007 และการรณรงค์จัดตั้งกระแสเหยียดเชื้อชาติมีประโยชน์สำหรับทหารที่ยังครองอำนาจเผด็จการอยู่หลังหน้ากากปลอมของประชาธิปไตยในช่วงนี้ เพราะมันเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากการที่พม่ายังไม่มีประชาธิปไตยจริง การที่สภาพการเมืองไม่แน่นอน และการที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมกำลังเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัททุนใหญ่เข้ามาลงทุนในพม่าภายใต้เงื่อนไขของตลาดเสรี ชาวมุสลิมมักถูกป้ายสี เหมือนชาวยิวในยุโรป หรือคนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า “คุมเศรษฐกิจ”
   
มันมีตัวอย่างมากมายของการที่ชนชั้นปกครองเก่าพยายามปลุกปั่นความรุนแรงทางเชื้อชาติในยามที่มีการเปลี่ยนแปลง ในอินโดนีเซีย เมื่อนายพลซุฮารโต้ยึดอำนาจในปี 1965 มีการระดมพวกมุสลิมสุดขั้วไปฆ่าคนจีน พร้อมๆ กันนั้นมีการไล่ฆ่าคอมมิวนิสต์ถึงหนึ่งล้านคน ต่อมาเมื่อซุฮาร์โต้ถูกล้ม บางกลุ่มในชนชั้นปกครองเดิมพยายามปลุกระดมม็อบให้ไปทำร้ายคนจีนในปี 1998 เพื่อให้คนมองว่าการไม่มีเผด็จการทหารสร้างความปั่นป่วน ทุกวันนี้หลังจากการเลือกตั้งหลายรอบในอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono เป็นอดีตนายพลจากพรรคของซุฮาร์โต้
   
ในปี 1969 เมื่อพรรครัฐบาล UMNO ในมาเลเซียเริ่มเสียคะแนนเสียง รัฐบาลก็ไปปลุกระดมให้คนมาเลย์ไปก่อจลาจลทำร้ายคนจีน หลังจากนั้นมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน มาเลเซียขึ้นชื่อว่าใช้การเมืองเชื้อชาติ เพื่อปกปิดการต่อสู้ทางชนชั้น รัฐบาลเขมรก็เคยใช้ความรุนแรงต่อคนเชื้อชาติเวียดนาม และรัฐบาลเวียดนามก็ขับไล่คนจีนออกจากประเทศเช่นกัน
   
ในอดีตยูโกสลาเวีย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหนัก นักการเมืองท้องถิ่นใช้การเมืองเชื้อชาติเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จนเกิดสงครามกลางเมืองป่าเถื่อน
   
สิ่งที่น่าสลดใจ แต่ไม่แปลกใจ คือการที่นาง อองซาน ซูจี ลูกสาวของ อองซาน ออกมาปกป้องจุดยืนของทหารพม่า แทนที่จะปกป้องชาวมุสลิม แถมในกรณีโรฮิงญา มีการพูดว่าเขาไม่ใช่พลเมืองอีกด้วย นางซูจี เป็นตัวหลักในการให้ความชอบธรรมกับประชาธิปไตยจอมปลอมในพม่าในยุคนี้ นอกจากนี้เขาสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่และแนวกลไกตลาด เมื่อไม่นานมานี้ชาวบ้านไล่ด่านางอองซาน เมื่อเขาบอกว่าชาวบ้านต้องเสียสละยอมออกจากที่ เพื่อให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาทำเหมืองแร่
   
ความรุนแรงทางเชื่อชาติที่เกิดในพม่า ไม่ใช่ “ธรรมชาติ” ของความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างเชื้อชาติหรือศาสนา ซึ่งรัฐจะเข้ามาแก้ได้ เพราะรัฐเป็นตัวกลางในการปลุกระดมความรุนแรงแต่แรก รัฐพม่าไม่ใช่ตัวปีศาจ “Leviathan” ที่จะห้ามไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน ตามความคิด ทอมมัส ฮอบส์ รัฐพม่าเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการกดขี่ชนชั้นอื่น มันเป็นอุปสรรค์ต่อประชาธิปไตยและสันติสุข

รัฐทุนนิยมกับการสร้างสภาวะแปลกแยกของมนุษย์ (ตอนที่ 2)

Antonio Gramsci นักหนังสือพิมพ์ นักปฏิวัติสังคมนิยม ชาวอิตาลี

คนมักสัมพันธ์กันในระบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยนในตลาด สนใจแต่เรื่องมูลค่าแลกเปลี่ยนหรือราคาตลาด แต่ไม่สนใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นถูกสร้างให้มีมูลค่า(ใช้สอยได้) ในระบบการผลิตอย่างไร ด้วยเหตุนี้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในตลาดจึงคอยบดบังลักษณะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบการผลิต

โดย พจนา วลัย

สิ่งที่น่าสังเกตในสังคมอุตสาหกรรม คือ ทำไมคนงานทำงานนานหลายชั่วโมงแต่ความเป็นอยู่ยังไม่ดีเทียบเท่ากับคนรวยชั้นสูง คนชั้นกลาง  ทำไมงานที่ทำให้พวกเขาเมื่อยล้า แต่ตัวเองกลับไม่มีความสุข ความพึงพอใจในชีวิตเท่าที่ควร ต้องเรียกร้องอยู่เสมอ ทำไมยิ่งทำงาน ยิ่งทำให้แรงงานไร้อำนาจที่จะเข้าถึงปัจจัยการผลิตและสินค้าที่ตัวเองผลิต ในขณะที่มีคนเพียงจำนวนน้อยไม่ได้ผลิตแต่ได้เป็นเจ้าของมัน  หรือเมื่อแรงงานลุกขึ้นสู้ นัดหยุดงาน เรียกร้องสิทธิกลับถูกนายทุนใช้ความรุนแรงตอบโต้ทุกรูปแบบ (กอปรกับมีศาลช่วยคุ้มครอง) ทั้งๆที่เขาทำงานหนัก เร่งผลิตให้แทบไม่ได้หยุด

บทความชิ้นนี้ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ที่อธิบายถึงการสร้างความแปลกแยกในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม และในตอนที่ 2 นี้เชื่อมโยงโครงสร้างทางการเมืองระดับบนหรือระบบรัฐว่าสัมพันธ์กับโครงสร้างระดับฐานอย่างไร รัฐเป็นตัวสร้างสภาวะแปลกแยกเหินห่างจากความเป็นเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร ซึ่งเพียงแค่บทความเดียวไม่สามารถอธิบายอย่างละเอียดได้ แต่นำเสนอเพื่อเป็นกรอบกว้างสำหรับใช้ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่คอยสัญญากับประชาชนว่า ประชาชนจะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อมองไปรอบๆ ตัว ช่างดูห่างไกลคือ เราเห็นอัตราการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก การกดขี่ผู้หญิงและเด็ก การค้าหญิงบริการทั่วไป การใช้ความรุนแรง การติดยาเสพติด ปัญหาโรคติดต่อ ความเครียด เสียสุขภาพจิตและความรู้สึกแปลกแยก ความหดหู่ของผู้คนจำนวนมาก  ดังนั้นสิ่งที่มากไปกว่าความสำเร็จในชีวิต คือ คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับความแปลกแยก ในขณะที่มีคนหลายคนไม่รู้สึกแปลกแยก แต่อาจมีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บางทีมีความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมายเพราะมีมายาคติเกี่ยวกับบริบท/สภาพแวดล้อมและตัวตนของตัวเอง

สภาวะแปลกแยกของมนุษย์ในระบบทุนนิยมที่เกิดกับผู้ใช้แรงงาน (จากตอน 1) ทำให้เขาเหินห่างจากความเป็นมนุษย์ในแง่ที่เป็นคนไร้อำนาจ อันเนื่องจากการมีระบบการผลิตที่ผู้ผลิตไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจที่จะผลิต  ทั้งยังถูกทำให้ตกอยู่ในอำนาจของตัวสินค้า ที่แรงงานต่างก็พยายามดิ้นรนไขว่คว้าให้ได้มาเป็นเจ้าของเพื่อสนองความต้องการที่ถูกปลุกปั่นโดยฝ่ายทุนมากกว่า สภาวะไร้อำนาจของคนงานสามารถเอาชนะได้ด้วยการรวมตัวกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจการต่อรองกับนายทุน อย่างไรก็ตาม ระบบทุนยังคงผลิตซ้ำระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบชนชั้น  ทั้งนี้มีรัฐ ชนชั้นผู้ปกครองของประเทศช่วยรักษาสถาบัน ระเบียบ กฎหมายที่ให้อำนาจแก่ชนชั้นนายทุน สร้างความชอบธรรมและส่งเสริมการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพในการผลิต และเพิ่มอัตราการขูดรีดผู้ใช้แรงงานมากขึ้นด้วย  เมื่อเป็นดังนี้แล้ว นายทุนจะรู้สึกแปลกแยกจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันหรือไม่

ความแปลกแยกของนายทุน

นายทุนอยู่ในสภาพแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ เนื่องจากดังที่กล่าวมาแล้วว่า แรงงานไม่สามารถจะมีความสัมพันธ์กับเขาเพราะมีความขัดแย้งในตัวเอง ที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุมสิ่งที่ตัวเองผลิตและปัจจัยการผลิตสำหรับใช้พัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องได้  นายทุนเป็นเจ้าของผลผลิต ตัดสินใจการผลิต  ความสัมพันธ์ของนายทุนกับแรงงานคือการที่เขาเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบนั่นเอง  กิจกรรมการผลิตที่เน้นแต่ผลิตเพื่อขาย ทำกำไร เพิกเฉยว่าอะไรที่จำเป็นจริงๆที่ต้องใช้หรือใครจะเป็นผู้ใช้สอย นายทุนถูกกระทำโดยสภาพเงื่อนไขทางสังคมที่กำหนดว่าจะผลิตอะไร แลกเปลี่ยนอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การแข่งขันระหว่างนายทุน  หรือความพึงพอใจในฐานะผู้บริโภค ก็ต้องหามาด้วยการซื้อขาย ให้รู้สึกว่าแตกต่างจากผู้อื่น การปฏิบัติต่อคนงานในลักษณะกดขี่ข่มเหงคนงาน ก็เป็นความแปลกแยกของนายทุนที่กระทำกับคนเยี่ยงวัตถุปัจจัยในการผลิต ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างไม่ลงรอยกัน

อีกลักษณะหนึ่งของความแปลกแยกคือ ความโลภ ความโหดร้ายและความเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย ความโลภดูจะเป็นแรงจูงใจของการกระทำของทุนมากที่สุด ซึ่งมาจากการต้องแข่งขัน บริหารจัดการกับลูกค้าและคนงานด้วย  ความโลภอยากได้เงินของนายทุนมีไว้เพื่อซื้อได้ทุกอย่าง และสะสมให้มากขึ้น ความโหดร้าย การคุกคามของทุนเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างแข็งขืน ต่อต้าน ต่อรองขอแบ่งปันผลกำไร (ซึ่งเป็นการลดทอนระบบกรรมสิทธิ์เอกชน) ความเจ้าเล่ห์ ดีแต่ปากเป็นเหมือนหน้ากากที่นายทุนสวมใส่เพื่อเก็บซ่อนแรงจูงใจและชั้นเชิงของตัวเอง

ระบบบทุนนิยมร่วมสมัยยิ่งทำให้เกิดภาวะเข้มข้น ระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ข้างต้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ความแปลกแยกของมนุษย์ยังคงฝังรากลึกในสังคมชนชั้น (เออร์เนส แมนเดลและจอร์ช โนแว็ค.  The Marxist Theory of Alienation. New York: Pathfinder Press. 2nd edition, 1973, น.7) ที่ชนชั้นแรงงานถูกทำให้ไร้อำนาจในการตัดสินใจผลิตและเป็นเจ้าของผลผลิตร่วมกัน ส่วนชนชั้นนายทุนผูกขาดอำนาจการบริหารปกครองในภาคการผลิต และเป็นอภิสิทธิชน

ระบบรัฐทุนนิยมเกี่ยวกับความแปลกแยกอย่างไร

รัฐสมัยใหม่ประกอบด้วยสถาบันทางการเมือง สถาบันที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง วัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ยังประกอบด้วยระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางสังคมที่พยายามถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ต่อสู้กันและผลผลิตของการต่อสู้ก็อยู่ในระบบรัฐสมัยใหม่ ซึ่งรัฐสมัยใหม่เป็นรัฐทุนนิยม เพราะมีกลไกอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อที่ครอบงำแรงงานให้มีรูปการจิตสำนึกผลิตซ้ำระบบทุนนิยม แม้จะมีการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น แต่ก็มีการประนีประนอมกันได้เป็นช่วงๆ

จากรูปธรรม รัฐต้องการเงินภาษีจากนายทุน และมีผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะรัฐก็ผลิต หาเงิน สะสมทุนด้วย จึงมีกฎหมาย สถาบันค้ำจุนระบบทุนนิยม และไปเสริมสร้างสภาวะแปลกแยกให้แก่พลเมืองมากขึ้น  เนื่องจากรัฐใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตของพลเมืองมากเกินไป เสริมสร้างระบบการแบ่งงานกันทำ ใช้ระบบการจ้างงานยืดหยุ่น คนทำงานขาดความมั่นคง สังคมขาดการคุ้มครอง คนตกงาน ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตมากกว่าพวกนายทุน

นอกจากนี้รัฐทุนนิยมยังส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่สร้างความคลั่งสินค้า (Commodity fetishism) และความเชื่อบางอย่าง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แปลกแยกเหินห่างซึ่งกันและกัน ทั้งนี้อยู่ภายใต้ฐานเศรษฐกิจแบบแบ่งงานกันทำ แบ่งเป็นสาขาวิชา ข้อมูลถูกแยกส่วน ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ แรงงานสมอง แรงงานไร้ฝีมือ ที่ทำให้สังคมมองแรงงานเป็นแค่เครื่องมือการผลิต แต่ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในระบบการผลิต จากนั้นความเป็นอยู่ของทุนกับแรงงานก็แตกต่างเหลื่อมล้ำกันจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง

ลัทธิคลั่งสินค้า คือ การแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่มีรากมาจากการค้าขายสินค้าในระบบตลาด ด้วยวิธีที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนถูกแสดงออกมาในลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ/วัตถุบริโภค เป็นความสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและสินค้า ผู้ซื้อกับผู้ขาย นั่นคือ การแปลงลักษณะอัตวิสัย นามธรรมของมูลค่าทางเศรษฐกิจไปเป็นตัววัตถุ สิ่งของที่คนเชื่อว่ามีค่าอยู่ในตัวอยู่แล้ว (โดยไม่ต้องไปสืบค้นหาที่มาของการสร้างมูลค่าสินค้า ซึ่งจริงๆ มาจากการทำงานของแรงงาน)

พูดง่ายๆ คือ คนมักสัมพันธ์กันในระบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยนในตลาด สนใจแต่เรื่องมูลค่าแลกเปลี่ยนหรือราคาตลาด แต่ไม่สนใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นถูกสร้างให้มีมูลค่า(ใช้สอยได้) ในระบบการผลิตอย่างไร ด้วยเหตุนี้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในตลาดจึงคอยบดบังลักษณะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานคือแก่นสารของระบบทุนนิยมนั่นเอง

แก่นของความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานได้อธิบายในตอนที่ 1 ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ 4 ด้านกว้างๆ ที่ครอบคลุมความมีอยู่ของมนุษย์แทบทั้งหมด ระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ 4 ด้าน คือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับกิจกรรมการผลิต  กับสินค้า กับมนุษย์คนอื่นๆและกับเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ได้สร้างสภาะแปลกแยก ที่ทำให้ชนชั้นแรงงานทนทุกข์ทรมาน เพราะถูกทำให้ไร้อำนาจในการตัดสินใจในระบบการผลิตและสิ่งที่ตัวเองผลิต มูลค่าที่ตัวเองสร้างถูกนายทุนขโมยไปเกือบทั้งหมด

การที่รัฐเข้าไปค้ำจุนระบบทุนนิยม และตอกย้ำสภาวะแปลกแยกให้แก่ชนชั้นแรงงานมากขึ้น คือ การกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมในการเมือง การบริหาร การปกครอง การทำให้เป็นพลเมืองชั้นสอง การทำให้เป็นชายขอบ เพื่อไม่ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ ทรัพยากร ปัจจัยการผลิตในการดำรงชีพและพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และรัฐยังมีบทบาทในการประนีประนอมการต่อสู้ระหว่างทุนกับแรงงาน อีกทั้งจัดตั้งและใช้กลไกปราบปราม (คุก ศาล ทหาร ตำรวจ) ในการจัดการ ทำลายขบวนการประชาธิปไตย

งานของอันโตนิโอ กรัมชี่ ได้อธิบายรัฐว่าเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังทางสังคมหรือชนชั้น ที่ประกอบด้วย 2 ชนชั้นคือ ชนชั้นปกครองและชนชั้นผู้ถูกปกครอง (ชนชั้นปกครองหรือผู้มีปัจจัยการผลิต ประกอบด้วยนายทุนใหญ่ เจ้าที่ดินและนายทุนน้อยหรือนายทุนในชนบท ซึ่งครอบครองปัจจัยการผลิต และชนชั้นผู้ถูกปกครองคือ ชาวนาและกรรมาชีพในความหมายที่กว้างคือทั้งคนงานในโรงงาน ช่างฝีมือ นักบวชและกลุ่มปัญญาชนด้วย)

แต่ชนชั้นปกครองเข้าถึงการใช้อำนาจบังคับ สร้างความยินยอมพร้อมใจเหนือผู้ถูกปกครอง และครอบงำด้วยอุดมการณ์ และไม่ต้องการที่จะถูกท้าทายจากกลุ่มพลังอื่นๆ นั่นหมายความว่า ในระบบรัฐเต็มไปด้วยนายทุน (ผู้บังคับบัญชา) มากกว่าแรงงาน (ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา)  นายทุนในคราบนักการเมืองรวยๆ ในพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายเอื้อให้เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ผลิต และสะสมทุนต่อไปได้ รวมทั้งองค์กร หน่วยงานรัฐที่ประกอบการ ข้าราชการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ บรรษัท ไต่เต้าและสะสมความมั่งคั่งเช่นกัน  แต่สิ่งนี้ถูกทำให้ชอบธรรม บดบัง บิดเบือนได้ด้วยกระบวนการกล่อมเกลา อบรมทางสังคม ด้วยความคิดความเชื่อทางอุดมการณ์อยู่เบื้องหลัง

กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐทุนนิยม

“อุดมการณ์” (Ideology) หรือ ทัศนคติ/มุมมอง/กรอบในการมองโลก ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์โดยทั่วไปจะถูกกำหนดขึ้นมาจากชนชั้นปกครอง สิ่งที่ถูกสั่งสอนกันมาในระบบทุนนิยม คือ การยอมรับระบบกรรมสิทธิ์เอกชน ความยากจนและการกดขี่เป็นเรื่องธรรมดา รัฐและพรมแดนเป็นเรื่องธรรมชาติ สถาบันกษัตริย์ ศาสนาเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคน หรือผลประโยชน์ของชาติคือผลประโยชน์ของทุกคน ที่เข้ากันได้กับแนวคิดลัทธิชาตินิยม กษัตริย์นิยม ที่วางกรอบคิดระบบรัฐรวมศูนย์การปกครองไว้ที่ส่วนกลาง

ในขณะเดียวกัน รัฐก็จะขจัดมุมมองที่ว่า เรามีความแตกต่างทางชนชั้น บดบังร่องรอยการแบ่งแยก ความขัดแย้ง การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นผู้ถูกปกครอง เช่น ข่าวสารในสื่อของรัฐมักจะถูกขัดเกลาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง กล่าวคือ มีการนำเสนอข่าวสารแต่เฉพาะนักการเมืองระดับสูง ภาพความร่วมมือระหว่างผู้นำภาคธุรกิจ และความสามัคคีปรองดองกันระหว่างกลุ่มทางสังคมและชนชั้นต่างๆ ส่วนภาคการเมืองการต่อสู้ของประชาชนถูกทำให้เลือนลาง  ทว่า รัฐกลับก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างสองชนชั้นมากกว่าความปรองดอง

รอยร้าว ความแตกแยกระหว่างความสัมพันธ์ของกลุ่มพลังทางสังคม/ชนชั้น 2 ชนชั้นนี้ แสดงออกมาในรูปแบบการทำสงครามกัน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ สงครามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด ที่ชนชั้นที่ถูกกดขี่ท้าทายการครองอำนาจของชนชั้นปกครอง และสงครามปะทะกัน ที่มักเกิดขึ้นในสังคมที่เปราะบาง ทว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่ยั่งยืนเพราะไม่สามารถครองใจคนได้นาน เนื่องจากเน้นการใช้กำลังบังคับฝ่ายตรงข้าม


กรัมชี่เสนอให้ชนชั้นกรรมาชีพใช้รูปแบบทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดในประชาสังคม การบ่อนเซาะวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองในสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำ เช่น โรงเรียน สถาบันศาสนา สื่อมวลชน แม้แต่ในสหภาพแรงงาน และสร้างความรับรู้ใหม่ โลกใบใหม่ที่คนเท่าเทียมกันและเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เพื่อสร้างดุลยภาพทางอำนาจให้เหนือกว่ากับชนชั้นปกครอง

ในขณะที่ชนชั้นปกครองก็มีวิธีการสร้างดุลยภาพของอำนาจให้เหนือกว่า คือ การปฏิวัติเงียบเพื่อให้เกิดการปฏิรูปจากบนลงล่างโดยกีดกันคนส่วนใหญ่ออกไปจากอำนาจในระบบการเมืองเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะถูกท้าทายจากสังคม หรืออยู่ในภาวะวิกฤตศรษฐกิจ จึงต้องหาทางเอาตัวรอดจากการถูกต่อต้าน ด้วยการประนีประนอม แต่ก็พยายามรักษาและสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตัวเอง ด้วยการลดทอน ขัดขวาง ทำลายความเป็นเอกภาพของชนชั้นที่ถูกปกครองด้วย (วัชรพล พุทธรักษา. กลุ่มพลังทางสังคม: อันโตนิโอ กรัมชี่กับตัวแสดงทางการเมือง. ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ไม่ระบุปีที่พิมพ์)  แต่ กรัมชี่ก็เสนอว่า หากชนชั้นผู้ถูกปกครองต้องการเอาชนะ มีอำนาจเหนือกว่า ต้องต่อต้านการปฏิวัติเงียบหรือแนวคิดปฏิรูปของชนชั้นปกครองนี้ ด้วยการทำงานแนวร่วม ทำงานทางความคิดกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด

สรุปตรงนี้คือ เมื่อรัฐทุนนิยมถูกชนชั้นนายทุนเข้ามาใช้เพื่อปกป้องตัวเอง รักษาผลประโยชน์ในระยะยาว และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเองก็แสวงหาความมั่งคั่ง  รัฐจึงทำหน้าที่สลายความขัดแย้งทางชนชั้น บิดเบือน ป้องกันการเกิดการรวมตัวเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพที่จะเป็นอันตรายต่อระบบทุนนิยม และเมื่ออยู่ในสภาวะความขัดแย้ง ผู้มีอำนาจรัฐมักจะทำตัวเป็นกลางคอยไกล่เกลี่ย และบิดเบือนการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ  อย่างไรก็ตาม รัฐไม่สามารถครอบครองจิตใจของคนได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นเวลานานๆ เพราะในความเป็นจริงมีการต่อสู้ต่อต้านของประชาชนทั้งในระดับชีวิตประจำวันและระดับการเมือง

การครองใจผ่านสภาวะแปลกแยก

เมื่อมีการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ทำไมกรรมาชีพยังไม่สามารถเอาชนะได้ เหตุหนึ่งคือ การถูกทำลายเอกภาพด้วยความคิด ความเชื่อ ความคลั่งที่ปลูกฝังกล่อมเกลามาอย่างยาวนานและเป็นประจำ แล้วทำไมประชาชนจำนวนมากถึงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครอง ทำไมเขาครองใจคนจำนวนมากได้ ทำไมคนเชื่อว่า “ตลาด” มีพลังหรือชีวิตของมันเองที่เราต้องจำนนต่อ ทั้งๆ ที่ตลาดเป็นแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำไมคนลืมว่ามนุษย์สร้างพระพุทธรูปด้วยมือของตนเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา แต่หันมาเชื่อว่าพระพุทธรูปมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์วิเศษหลังจากที่ถูกสร้างขึ้นมา (ลั่นทมขาว. รากฐานและรูปแบบของ“อำนาจ”. เว็บไซด์องค์กรเลี้ยวซ้าย. 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555. http://turnleftthai.blogspot.com/2012/07/blog-post_18.html )

แล้วทำไมคนจำนวนมากในไทยเชื่อเรื่องความดีสูงสุดของกษัตริย์และราชวงศ์  ซึ่งการครองใจชนชั้นผู้ถูกปกครองดำรงอยู่ได้ เพราะด้วยสภาวะแปลกแยกที่ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทุกข์ทรมานกับการถูกลดทอนศักดิ์ศรี อำนาจในระบบเศรษฐกิจการเมืองของลัทธิทุนนิยม/เสรีนิยม ให้เสรีภาพ สิทธิพิเศษ อำนาจการต่อรองแก่นายทุนมากกว่า

งานของจอร์ช ลูคักส์ ว่าด้วยปรากฏการณ์ของการสร้างรูปธรรมจอมปลอม (Reification) เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างสภาวะแปลกแยก  สภาวะแปลกแยกดังเช่นกรณีการแบ่งแรงงานสมองออกจากแรงงานมือเพื่อแบ่งแยกและปกครองเพื่อง่ายต่อการคิดคำนวณมูลค่าและค่าจ้างจากการผลิต  แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถแบ่งได้เพราะสมองกับสองมือเมื่อถูกแยกจะไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือการมุ่งสู่เป้าหมายแสวงหากำไรสูงสุดของนายทุนมากเกินไป แต่ไม่ใส่ใจวิธีการ กระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายว่าได้ไปกดขี่ขูดรีดผู้ผลิตหรือไม่ และมองมนุษย์ลูกจ้างเป็นเพียงแค่ปัจจัย/เครื่องมือการผลิตที่ถูกใช้เพื่อเป้าหมายของตัวเองหรือไม่  การที่ลูกค้ามุ่งสนใจแต่สินค้า โดยละเลยที่จะเข้าไปดูกระบวนทำงานและสภาพการจ้างงานของแรงงานว่าเป็นอยู่อย่างไร

การสร้างรูปธรรมจอมปลอมใส่ไปในหัวสมองของชนชั้นแรงงาน คือการที่ทุนทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นความสัมพันธ์กันในเรื่องของการค้า การตลาด หรือทำให้ความสัมพันธ์ของคนอยู่บนฐานของเรื่องเกี่ยวกับวัตถุที่ค้าขายแลกเปลี่ยนกัน  เป็นกระบวนการแยกต้นกำเนิดออกไป แล้วแทนที่ด้วยปรากฏการณ์ภายนอก แยกเปลือกออกจากแก่นแท้ ซึ่งเป็นการบิดเบือนจิตสำนึกของคนจากความเดียงสาไปสู่ความเพี้ยนสุดๆ

รูปธรรมจอมปลอมเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รับรู้ไปในทางที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริงของธรรมชาติ, ผลลัพธ์ของกฎจักรวาล หรือการแสดงเจตจำนงของเทพ รวมถึงการสร้างความต้องการที่จอมปลอม สร้างภาพว่าสินค้านั้นเป็นที่ต้องการที่มาจากภายในตัวมนุษย์ ที่ระบบกฎหมายของรัฐทุนนิยมสันนิษฐาน ทึกทักเอาเองว่าคนต้องการสินค้าจริงๆ และการร่างกฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบการสร้างสินค้าเช่นนั้น  และดังที่คาร์ล มาร์คซ์อธิบายศักยภาพของการสร้างรูปธรรมจอมปลอมว่า

ดอกเบี้ยที่เกิดจากทุน การคลั่งสินค้าอย่างอัตโนมัติ การสร้างมูลค่าด้วยตัวมันเอง เงินสร้างเงิน เหล่านี้ถูกดึงออกมาให้อยู่ในสภาวะบริสุทธิ์ และตัดขาดออกจากผู้สร้างมัน ราวกับว่ามันสร้างตัวเองได้  ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนจึงถูกกลืนไปในความสัมพันธ์ของสิ่ง วัตถุ เงิน แทนที่ของการผันเงินไปเป็นทุน เรามองเห็นแต่รูปแบบที่ไม่มีเนื้อหา มีแต่เปลือกหุ้ม  เพราะการผันเงินเป็นทุนเป็นคุณลักษณะของเงินที่ก่อให้เกิดมูลค่าและดอกเบี้ย ราวกับว่ามันเป็นลักษณะของต้นลูกแพร์ที่ออกเป็นลูกแพร์ และผู้ที่ให้ยืมเงินขายเงินของเขา พอๆกับที่ดอกเบี้ยสร้างสิ่งต่างๆ  แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมด

การทำงานของทุนอย่างที่เราเห็นมาตลอด นำเสนอตัวเองว่าเป็นแสงสว่างที่สร้างดอกเบี้ย แต่จริงๆ แล้วทุนในตัวมันเองคือ ทำให้เงินกลายเป็นทุนเพื่อใช้ประกอบการต่อๆไป เมื่อดอกเบี้ยเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลกำไร ของมูลค่าส่วนเกิน ที่นายทุนดูดออกมาจากแรงงาน ณ ตรงนี้ในทางตรงข้าม ดอกเบี้ยเป็นผลผลิตจำเพาะของทุน เป็นสิ่งพื้นฐานแรกเริ่ม  และสำหรับกำไรของผู้ประกอบการเป็นผลผลิตของกระบวนการผลิตซ้ำ

ดังนั้น  เมื่อเราเสพติดรูปแบบของเงินต่อเงิน  เราจะไร้ความหมายไปเลย  ดังนั้น ความวิปริตผิดเพี้ยนและการทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิต (ที่เต็มไปด้วยผู้ผลิต) เป็นเรื่องวัตถุ เป็นรูปแบบการทำงานของทุน  ศักยภาพของเงิน ของสินค้า ในการขยายมูลค่าให้อิสระลอยตัวจากการผลิตซ้ำ เป็นการสร้างมายาภาพของนายทุน และทุนก็จะถูกสะสมและผลิตซ้ำ สร้างให้ตัวเองมีอยู่อย่างอิสระ ตัดขาดจากกระบวนการผลิต/การทำงานของแรงงาน ทั้งๆที่เงิน กำไร ไม่ได้อยู่อย่างลอยตัว ผลลัพธ์ของกระบวนการผลิตแบบทุน คือ การแยกออกจากกระบวนการ และสร้างตัวตนที่อิสระ (Georg Lukacs. History & Class Consciousness : Reification and the Consciousness of the Proletariat ที่มา : http://www.marxists.org/archive/lukacs/works/history/hcc05.htm )

ลองนึกถึงภาพของธุรการเงิน การเก็งกำไร ที่หลุดออกไปจากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงระดับราก เงินต่อเงินกลายเป็นทุน เป็นรูปแบบที่ผลิตซ้ำเพื่อนำไปสู่การขยายกิจการ รีดมูลค่า กำไรไปจากการทำงานของแรงงาน ทำให้คนคลั่งสินค้า สัมพันธ์กันในตลาดมากกว่าการเข้าถึงจิตใจของกันและกัน วนเวียนเช่นนี้โดยอัตโนมัติ

จากความสามารถในการสร้างรูปธรรมจอมปลอมของทุนคือ การทำให้ตัวเองแลดูมีบทบาทสำคัญกว่าใครในการสร้างมูลค่า ความร่ำรวย ความเจริญ ความรู้สมัยใหม่ให้แก่ประชาชน ประเทศชาติ จึงเป็นฐานคิดของทุนในการสร้างอำนาจเหนือกว่าแรงงาน ชนชั้นทุนจึงสร้างระบบรัฐ กฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการและเป็นหนึ่งเดียวกับโครงสร้างของทุน

ดังที่แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยา สังเกตพัฒนาการโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันนี้ว่า “ทั้งโครงสร้างรัฐและทุนค่อนข้างคล้ายคลึงกันโดยพื้นฐานคือ มีรูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นรากฐานของรัฐสมัยใหม่ เพื่อให้เหมาะกับโรงงาน ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวงธุรกิจก็เป็นแบบเดียวกันในรัฐสมัยใหม่ ความเป็นอิสระสัมพัทธ์ (แล้วแต่บริบทแวดล้อม) ของช่างฝีมือครัวเรือน ของชาวนาเจ้าของที่ดิน เจ้าของของบริจาค (พระ) อัศวินและศักดินาอยู่บนฐานความจริงที่ว่าเขาเองเป็นเจ้าของเครื่องมือ สินค้า แหล่งทุน เงิน หรืออาวุธด้วยการสนับสนุนจากสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จในการทำงานในกองทัพ สถาบันการเมืองและในระบบเศรษฐกิจ หรือได้จากการทำงานในหน้าที่

ส่วนการพึ่งพาระดับบนของแรงงาน เสมียน ผู้ช่วยด้านเทคนิค ผู้ช่วยในสถาบันวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐ ทหารระดับล่าง ก็เทียบเคียงกันได้ คือ เครื่องมือ สินค้า แหล่งการเงินที่จำเป็นของทั้งสองฝ่ายเป็นไปเพื่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพราะความอยู่รอดทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของผู้ประกอบการและผู้มีอำนาจทางการเมือง”   ดังนั้น รัฐทุนนิยมจึงมีบทบาทแบ่งแยกชนชั้นระหว่างทุนกับแรงงานให้แหลมคมขึ้น วิกฤตความเหลื่อมล้ำจึงเกิดในรัฐแบบนี้

การสร้างรูปธรรมจอมปลอมทำให้คนมีจิตสำนึกจอมปลอมอยู่ในหัวของชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกปกครอง ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมชนชั้น ลูคักส์จึงเสนอให้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน สูงสุดคือการสร้างพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้กับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง  กรัมชี่เสนอให้ต่อสู้ในชีวิตประจำวันเพื่อบั่นทอนรูปธรรมจอมปลอมและเอาจิตสำนึกจอมปลอมออกไปจากหัว  เพราะวัตถุ สินค้าไม่ใช่ตัวแทนของการดำรงอยู่ของสังคมแต่อย่างใด  การดำรงอยู่ของสังคมแท้จริงคือ การเคารพศักดิ์ศรีของคนทำงานเพื่อให้เขามีอำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการเมือง และคือการคำนึงถึงสิทธิแห่งความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นฐานคิดสำหรับพัฒนาปรับปรุงรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง (สังคมนิยม) ต่อไป.

ความเป็นคน

สำหรับความคิดแบบพุทธศาสนาล้าหลังประเภทที่เน้นเรื่อง “กรรม” มาร์คซ์มีคำอธิบายที่ดีกว่า คือสังคมมนุษย์ตั้งแต่มันเริ่มมีการผลิตส่วนเกิน เช่นตั้งแต่สมัยเกษตรกรรม เริ่มเป็นสังคมชนชั้น ซึ่งจะมีคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่คุมอำนาจและทรัพยากร และคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง จะบังคับให้คนอื่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ทำงานให้ตนเอง นี่คือที่มาของความยากลำบากและความยากจน

กขค มาร์คซิสต์

ค. “ความเป็นคน”

โดย ลั่นทมขาว

นักมาร์คซิสต์อย่าง คาร์ล มาร์คซ์ และ เฟรดเดอร์ริก เองเกิลส์ สนใจประเด็นเรื่องความเป็นคนมาก ก่อนหน้านั้นพวกงมงายในศาสนาจะเสนอว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์ในรูปแบบเดียวกับเขา” แต่นักวัตถุนิยมในยุคมาร์คซ์ ที่ชื่อ ฟอยเออร์บัค เสนอกลับไปว่ามนุษย์ต่างหากที่สร้างพระเจ้าในจินตนาการขึ้นมาในรูปแบบเดียวกับคน ในสังคมพุทธอาจมีหลายคนเชื่อเรื่องกรรมเก่าและการเกิดใหม่หลังตาย แต่นั้นเพียงแต่เป็นการปิดหูปิดตาถึงสาเหตุแท้ของความยากลำบากในสังคม และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อจะได้ไม่ต้องพิจารณาว่ามนุษย์มาจากไหนในทางชีววิทยา
   
ในสมัยที่มาร์คซ์กำลังเขียนหนังสือ “ว่าด้วยทุน” นักชีววิทยาชื่อ ชาร์ลส์ ดาร์วิน กับ อัลเฟรด วอล์เลส กำลังเสนอทฤษฏีวิวัฒนาการของมนุษย์จากลิง ทฤษฏีวิทยาศาสตร์นี้ขัดแย้งโดยตรงกับทฤษฏีศาสนา โดยเฉพาะข้อเสนอว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ และเราสามารถวัดความล้าหลังในบางส่วนของสังคมสหรัฐอเมริกาได้ เพราะทุกวันนี้ยังมีบางกลุ่ม บางชุมชน ที่ยังยึดมั่นในความเชื่อโง่ๆ ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์และปฏิเสธทฤษฏีวิวัฒนาการ ความล้าหลังดังกล่าวในสหรัฐเป็นอาการหนึ่งของการที่แนวความคิดฝ่ายขวาครอบงำสังคม เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์และความคิดวัตถุนิยม ที่เน้นโลกจริง เหตุผล และสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นแนวความคิดของฝ่ายซ้าย
   
สำหรับความคิดแบบพุทธศาสนาล้าหลังประเภทที่เน้นเรื่อง “กรรม” มาร์คซ์มีคำอธิบายที่ดีกว่า คือสังคมมนุษย์ตั้งแต่มันเริ่มมีการผลิตส่วนเกิน เช่นตั้งแต่สมัยเกษตรกรรม เริ่มเป็นสังคมชนชั้น ซึ่งจะมีคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่คุมอำนาจและทรัพยากร และคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง จะบังคับให้คนอื่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ทำงานให้ตนเอง นี่คือที่มาของความยากลำบากและความยากจน โดยเฉพาะในยุคทุนนิยมที่มีการผลิตล้นเกิน และเทคโนโลจีสมัยใหม่ที่ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศไม่จำเป็นต้องควบคุมชีวิตเราตลอดเวลา มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “กรรม” แต่แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นและความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง กระแสความคิดจากเบื้องบนมักจะเสนอว่าความยากลำบากเป็นเรื่อง “กรรม” คือมันติดตัวเรามาตั้งแต่ก่อนเกิดและเราเปลี่ยนมันไม่ได้ ดังนั้นอย่าคิดกบฏ
   
มาร์คซ์ เสนอว่าคนเราเกิดมาในครอบครัวและสังคมที่แตกต่างกันก็จริง และเราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะไปเกิดในตระกูลคนจนหรือคนรวย หรือในยุคปฏิวัติหรือยุคปฏิกิริยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรา ในฐานะที่เป็นคน สามารถลุกขึ้นต่อสู้ได้ พูดง่ายๆ เราสู้ได้เสมอเพื่อเปลี่ยนสังคม แต่เราเลือกสมรภูมิรบไม่ได้
   
เมื่อเรามาพิจารณาเรื่อง “ความเป็นคน” เราจะเห็นว่าเราต่างจากสัตว์ตรงที่สังคมมนุษย์มีชนชั้น และมีความขัดแย้งทางชนชั้น แต่ชนชั้นดังกล่าวเป็นผลของประวัติศาสตร์ คือเป็นผลจากสิ่งที่มนุษย์หลายๆ คนกระทำไว้ หรือสร้างไว้ มันไม่ได้มาจากธรรมชาติ ไม่เหมือนสัตว์สังคมบางชนิดเช่นผึ้งหรือมด ซึ่งอาจมีการแบ่งงานกันทำ และอาจมองได้ว่าคล้ายๆ “ชนชั้น” แต่จริงๆ แล้วถูกกำหนดก่อนเกิดจากชีววิทยา และที่สำคัญคือในฝูงสัตว์ไม่มีการกบฏอย่างเป็นระบบ
   
ดังนั้น มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ มองว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม แต่สิ่งที่ทำให้คนต่างจากสัตว์ทุกชนิดคือ เราอยาก “ทำงาน” อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกรอบตัวเราความสร้างสรรค์ของเราต่างจากสัตว์เพราะเราสามารถจินตนาการงานที่เราจะทำก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และเราจินตนาการสิ่งที่ไม่เคยมีในโลกได้ด้วย

การยืนสองขาของบรรพบุรุษมนุษย์ในสมัยที่เราคล้ายลิง มีผลทำให้เราสามารถใช้มือในการทำงานได้ และเมื่อเราเริ่มทำงานอย่างสร้างสรรค์ มือเราก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามการวิวัฒนาการ เพื่อให้เหมาะกับการทำงาน สมองเรา และภาษาที่ตามมา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการทำงานรวมหมู่ในรูปแบบสังคม เรามีผลกระทบต่อโลกรอบตัวเราด้วยการทำงาน และโลกรอบตัวเราก็มีผลกลับไปสู่คน โดยการคัดเลือกคุณสมบัติของร่างกายเราที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งที่เราพยายามทำตามการวิวัฒนาการ
   
ด้วยเหตุนี้นักมาร์คซิสต์เข้าใจว่า “ความเป็นคน” คือการที่เราเป็นสัตว์สังคม เราไม่ใช่ปัจจเจกที่ห่างเหินจากคนอื่น และที่สำคัญคือเรารักการทำงานที่สร้างสรรค์ และความสร้างสรรค์นั้นมาจากความคิดอิสระของเราแต่ในโลกแห่งทุนนิยมปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในโลกไม่มีสิทธิทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบที่มาจากความคิดอิสระของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานให้นายทุน มันแปลว่าระบบทุนนิยมขโมยความเป็นคนขั้นพื้นฐานจากเราไป เป้าหมายของการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมจึงเป็นการต่อสู้เพื่อให้เราได้ความเป็นคนกลับมานั้นเอง

รัฐสวัสดิการกับเรื่องสตรี

นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ยังได้เงินช่วยเหลือยามตั้งครรภ์เป็นเงิน 80 % ของรายได้ต่อปี ตัวเลขคูณด้วย 0.989 แล้วหารด้วย  365 วัน ต่อปีซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นตัวเงินที่ได้รับ เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว หากต้องการมีเวลาลี้ยงลูกก็สามารถลางานหรือหยุดงานได้ ซึ่งการลางานในก็จะได้เงินค่าช่วยเหลือผู้ครอง เป็นเงินทดแทนจากการขาดรายได้ การลางานเพื่อเลี้ยงลูกนั้นแม่เด็กสามารถลางานได้ถึง 1 ปี 3 เดือน

โดย ฮิปโปน้อย บรมสุขเกษม

หากจะพูดถึงเรื่องการกดขี่สตรี แน่นอนรูปแบบการกดขี่นั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบของภาระหน้าที่ที่ต้องเผชิญ ความคิดทัศนคติทางวัฒนธรรมที่กดขี่ ความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิระหว่างเพศหญิงชาย และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายกลุ่มหรือหลายองค์กรพยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ดูเหมือนแนวทางในการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อลดการกดขี่สตรีจะไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเลย

ถามว่าการมีรัฐสวัสดิการจะช่วยลดการกดขี่สตรีอย่างไร คำตอบคือการมีรัฐเข้ามาแบ่งเบาภาระของสตรี โดยการเข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องการตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูแก่เด็กที่เกิดมา และเอื้อให้สตรีมีโอกาสในการทำงานนอกบ้านมากขึ้น และรูปธรรมที่ชัดเจนที่ในการบอกว่า รัฐสวัสดิการนั้นช่วยลดการกดขี่สตรีได้จริงนั้น ดูตัวอย่างที่เป็นจริงจากประเทศสวีเดน ที่จริงแล้วสวีเดนเป็นประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงที่อยู่ในสวีเดน จะได้รับสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นในแง่ของการช่วยลดการกดขี่สตรีคือ การนำเอางานบ้านและการเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นภาระของสตรี มาให้เป็นภาระที่รัฐที่ต้องดูแลแทน ยกตัวอย่างดังนี้

ว่าด้วยเรื่องสวัสดิการแม่และเด็กระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด รัฐมีการออกกฎหมายให้นายจ้าง อนุญาตให้หยุดงานได้หรือเปลี่ยนงาน ในสภาวะที่ตัวงานไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพร่างกายและจิตใจ โดยการให้บอกนายจ้างล่วงหน้า 1 เดือน และนายจ้างต้องหางานที่เหมาะสมให้ หากไม่สามารถหาให้ได้ นายจ้างต้องจ่ายค่าช่วยเหลือเป็นเงิน 50 วัน

นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ยังได้เงินช่วยเหลือยามตั้งครรภ์เป็นเงิน 80 % ของรายได้ต่อปี ตัวเลขคูณด้วย 0.989 แล้วหารด้วย  365 วัน ต่อปีซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นตัวเงินที่ได้รับ เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว หากต้องการมีเวลาลี้ยงลูกก็สามารถลางานหรือหยุดงานได้ ซึ่งการลางานในก็จะได้เงินค่าช่วยเหลือผู้ครอง เป็นเงินทดแทนจากการขาดรายได้ การลางานเพื่อเลี้ยงลูกนั้นแม่เด็กสามารถลางานได้ถึง 1 ปี 3 เดือน นอกจากจะมีเงินช่วยเหลือแม่เด็กแล้ว ยังมีเงินช่วยเหลือเด็กอีก เด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือพ่อแม่เด็กเกษียณ ก็จะได้เงินช่วยเหลือจนกว่าเด็กจะอายุครบ 16 ปี หรือ 19 ปีในกรณีที่เด็กต้องเรียนต่อ เด็กสามารถได้รับค่าเลี้ยงดูจากรัฐได้ เท่ากันหมดโดยที่ไม่สำคัญว่าเด็กคนนั้นจะต้องจนที่สุดแต่อย่างใด

เมื่อเด็กคนหนึ่งเข้าสู่วันเรียน รัฐสวัสดิการสวีเดนจัดให้มีการเรียนฟรี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจคือมีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนให้กับผู้พ่อแม่ที่ต้องออกไปงานฟรี ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ความสำคัญของการออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิงคือ ทำให้ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยทำให้มีอำนาจทางเศรษฐกิจภายครอบครัวเท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงจึงมีอำนาจการต่อรองอย่างเท่าเทียม โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างหรือผู้รับภาระเพียงผู้เดียว

สถานที่เลี้ยงเด็กโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่รัฐตั้งขึ้นนั้น ก็มีคุณภาพเท่าเทียมกันหมด แม้แต่โรงเรียนเอกชนก็ยังฟรี เพราะรับให้การอุดหนุนงบประมาณ ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย เมื่อมีงานโรงเรียนพ่อแม่เด็กยังสามารถลางาน เพื่อไปทำกิจกรรมสมาคมผู้ปกครองได้อีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำแท้งเป็นเรื่องของสิทธิสตรี ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะเก็บเด็กไว้ หรือเอาเด็กออกได้ตามสิทธิทางร่างกายของตนเอง แม้เด็กอายุต่ำกว่า 15  ปี ต้องการทำแท้งแล้วไม่อยากให้พ่อแม่รู้ เรื่องการทำแท้งก็จะถูกเจ้าหน้าที่เก็บเป็นความลับ ในประเทศสวีเดนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และสถานบริการการทำแท้ง เป็นสถานบริการที่ปลอดภัยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำให้คำปรึกษา เท่านั้นยังไม่พอยังมีการแนะนำการคุมกำเนิด แจกจ่ายยาคุมกำเนิดฟรี และยังรวมไปถึงการทำหมันให้ฟรีอีกด้วย

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างประเด็นเดียว เกี่ยวกับเรื่องสตรีและเด็ก ของการมีสวัสดิการแบบครบวงจรในประเทศสวีเดน ในจุดนี้อยากชี้ให้เห็นว่าการสร้างรัฐสวัสดิการนั้น เป็นการช่วยแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำ ในระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งสวัสดิการดังกล่าวช่วยทำให้ผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นการกดขี่ลดลง ดังนั้นหากต้องการเรียกร้องสิทธิสตรีแล้ว เราควรที่จะเรียกร้องให้เป็นรัฐสวัสดิการ ดีกว่าการเรียกร้องให้เรื่องของสิทธิความเท่าเทียมกับระหว่างหญิงกับชาย หรือมัวแต่นั่งพูดซ้ำซากถึงต้นต่อปัญหา ว่าเกิดจากชายเป็นใหญ่ เพราะผู้ถูกกดขี่ไม่ใช่มีเพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็ถูกกดขี่ด้วย

ดังนั้นการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรี เราจึงไม่ควรแบ่งเพศ ผู้ชายเองก็เข้าร่วมกับผู้หญิงได้ เพราะต้นต่อของการกดขี่ไม่ได้เกิดเพราะเหตุชายเป็นใหญ่ แต่เกิดเพราะนายทุนเป็นใหญ่ต่างหาก ดังนั้นถ้าคิดจะสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ เราต้องรู้ว่าศัตรูคือใคร และต้องหลุดจากวาทะลวงๆเรื่องชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นวาทะของชนชั้นปกครองที่ใช้เป็นเครื่องมือ ในการสลายการสามัคคีเพศสักที

เอกสารอ้างอิง: บุญส่ง ชเลธร (2553), รัฐสวัสดิการสวีเดน, 

ประเทศมาลี : ชัยชนะของฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นความโกลาหล

แปลโดย ส.โต้ง  


จากหนังสือพิมพ์ออนไลน์โซเชียลลิสต์เวิคเกอร์ ” Mali: French ‘victory’ descends into chaos by Ken Olende”

ที่มา http://socialistworker.co.uk/art.php?id=30583
     
(12 ก.พ. 56) การอ้างชัยชนะของฝรั่งเศสกลับกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ เมื่อกองกำลังกบฏมุสลิมโจมตีกาโอ เมืองใหญ่ที่สุดทางเหนือของประเทศมาลี มีการต่อสู้กันอย่างหนักตลอดสองวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  กองกำลังฝรั่งเศสและหน่วยรบมาลีตั้งแนวปิดล้อมเมืองไว้ทั้งหมดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  พวกทหารเข้าตรวจค้นบ้านเรือนทุกหลังเพื่อจะหาพวกกบฏ
         
กองกำลังรบฝรั่งเศสนับพันบุกเข้าประเทศมาลีเมื่อเดือนมกราคม ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสอ้างว่า การกระทำครั้งนี้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยของมาลี จากพวกกบฏมุสลิม  ความจริงคือกองทหารเหล่านี้เข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส มาลีและประเทศไนเจอร์ที่เป็นเพื่อนบ้าน เป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสคาดว่าจะถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากมาลีภายในสิ้นเดือนมีนาคม  แต่น่ากลัวว่าจะคงกำลังอยู่นานเช่นเดียวกับกรณีฝรั่งเศสบุกอาฟกานิสถาน
         
ชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับประมาณเกือบสามพันคนในเมืองทิมบัคตู ได้อพยพหลบหนีไปตั้งแต่กองกำลังฝรั่งเศสบุกเข้าประเทศมาลี  นายโมฮัมเมด อามี่ ผู้ปฏิเสธที่จะหลบหนี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เทเลกร๊าฟว่า “ผมเกิดที่นี่ ผมจะไม่ไปไหน ถ้าจะต้องถูกฆ่าตาย ก็จะขอถูกฆ่าตายที่นี่ ”  
             
ขณะเดียวกันชนชาวทัวเรกส่วนใหญ่ก็ต้องอพยพหนีภัยสงครามเช่นเดียวกัน ทั้งกองทหารฝรั่งเศสและรัฐบาลมาลีวางเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอ้อมครั้งนี้ โดยที่สภากาชาดสากลพบว่าประชาชนราว 6,500 คน ที่หนีภัยสู้รบจากเมืองไคดาล กาโอ และเมนาก้า หลังกองทัพฝรั่งเศสบุกเข้ามา ต่างหนีตายไปอยู่ในที่โล่งแจ้งที่มีต้นไม้เพียงน้อยนิด อาศัยซากรถเก่าๆเป็นที่พักพิง  ขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร  พวกเขาไม่สามารถอพยพข้ามพรมแดนที่ถูกปิดไปยังประเทศไนเจอร์ได้
         
ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ส่งเครื่องบินสอดแนม เซนทิเนล และทหาร 70 นาย ไปสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐบาลฝรั่งเศสตามที่มีการร้องขอ และเตรียมส่งเครื่องบินขนส่งทางทหาร C-17 อีกสองลำ  นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมร่อน กล่าวว่าจะเพิ่มกำลังทหารอังกฤษเพื่อช่วยฝึกการรบให้กับกองทัพของมาลีอีกด้วย

ความน่าสมเพชของแนวการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย

คนที่มักชอบพูดถึงแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย เช่น เมธา มาสขาว หรือ YPD เป็นเรื่องตลกร้ายน่าสมเพช เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติของสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก ในประการแรก คนอย่าง เมธา มาสขาวและพรรคพวก ไม่มีความสัมพันธ์อะไรจริงๆ กับสหภาพแรงงาน ไม่เคยร่วมต่อสู้คลุกคลีกับแรงงาน ไม่เคยมีประวัติการเป็นซ้ายในไทยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะซ้ายแบบ พคท. หรือไม่ 

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวความคิดที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีรากฐานมาจากนักสังคมนิยมในยุคก่อนๆ เช่นคาร์ล มาร์คซ์ หรือ คาร์ล เคทสกี้ และพวกสังคมนิยมเพ้อฝันในฝรั่งเศส แต่ในที่สุดแนวนี้แตกเป็นสองส่วนท่ามกลางสงครามโลกคือเป็นแนวปฏิวัติสังคมนิยม กับแนวปฏิรูปทุนนิยมให้เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ
   
ฝ่ายปฏิวัติเดินหน้าไปสร้างพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย โดยมีแกนนำสำคัญคือ เลนิน กับ ตรอทสกี้ ส่วนในเยอรมันคนอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ก็ไปสร้างกลุ่มสปาร์ตาคัส ซึ่งนำร่องและกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์
   
ตัวอย่างของฝ่ายปฏิรูป คือผู้ที่สร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย SPD ในเยอรมัน และพรรคแรงงานในอังกฤษเป็นต้น รวมถึงพวกเมนเชวิคในรัสเซียด้วย
   
ทั้งๆ ที่สองซีกต่างอ้างเรื่อง “สากลนิยม” ที่สมานฉันท์ผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี 1914 ฝ่ายปฏิรูปกระโดดเข้าไปสนับสนุนสงครามและแนวชาตินิยมของชนชั้นปกครอง ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการฆ่ากันเองระหว่างคนงานรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส กับคนงานเยอรมัน มีแต่พรรคปฏิวัติเท่านั้นที่ปกป้องแนวสากลนิยมของคาร์ล มาร์คซ์ และในที่สุดพรรคบอลเชวิคก็นำการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งมีผลในการยุติสงคราม ส่วนนักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ในเยอรมัน ถูกรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยฆ่าทิ้งเพื่อยั้บยั้งการปฏิวัติสังคมนิยม กองกำลังที่รัฐบาล SPD ใช้ในการปราบฝ่ายปฏิวัติครั้งนี้ ในที่สุดก็แปรตัวเป็นกองกำลังฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์
   
“อาชญากรรมทางการเมือง” ของแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรปมีเรื่อยมา ล่าสุดคือการก่อสงครามในตะวันออกกลางโดยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ จากพรรคแรงงานอังกฤษ และการหันหลังให้รัฐสวัสดิการ เพื่อรับกระแสคิดเสรีนิยมกลไกตลาด โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคแรงงาน ในทุกประเทศของยุโรปรวมถึงสแกนดิเนเวีย พรรครูปแบบเดียวกันในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือลาตินอเมริกาก็ไม่ต่างออกไป
   
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเหล่านี้ มีผลงานในการสร้างรัฐสวัสดิการในอดีต มีองค์ความรู้แนวซ้ายฝังลึกในปัญญาชนบางคนของพรรค และที่สำคัญคือล้วนแต่เป็นพรรคที่ก่อตัวออกมาจากขบวนการแรงงาน จนมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหภาพแรงงาน สายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ทำให้พรรคปฏิรูปสังคมนิยมทั่วโลกแตกต่างออกไปจากพรรคนายทุน เลนิน เคยวิเคราะห์ว่าพรรคแบบนี้เป็นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดนายทุน คือไม่พร้อมจะล้มทุนนิยม แต่อย่างน้อยมันมีแรงกดดันจากฐานเสียงของพรรคให้ปกป้องผลประโยชน์กรรมาชีพและสหภาพแรงงานบ้างข้อเสียในมุมกลับคือบ่อยครั้งขบวนการแรงงานกลายเป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่หักหลังอุดมการณ์ปฏิรูป ซึ่งไม่ต่างจากที่ นปช. กลายเป็นกองเชียร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์
   
แต่คนที่มักชอบพูดถึงแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย เช่น เมธา มาสขาว หรือ YPD เป็นเรื่องตลกร้ายน่าสมเพช เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติของสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก ในประการแรก คนอย่าง เมธา มาสขาวและพรรคพวก ไม่มีความสัมพันธ์อะไรจริงๆ กับสหภาพแรงงาน ไม่เคยร่วมต่อสู้คลุกคลีกับแรงงาน ไม่เคยมีประวัติการเป็นซ้ายในไทยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะซ้ายแบบ พคท. หรือไม่ เพราะเขาล้วนแต่เป็นสาย เอ็นจีโอ ที่งอกออกมาจากองค์กรนักศึกษาภายใต้พี่เลี้ยงที่กลายเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง และเสื้อเหลืองเป็นพวกที่เลือกข้างเป็นศัตรูของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน

พวกนี้ไปกอดจับมือกับทหารปฏิกิริยาล้าหลังที่ทำรัฐประหาร และออกมาปกป้องทุกอย่างที่เป็นความอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย แม้แต่เรื่องการเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้า ในรูปแบบที่ชาวสังคมนิยมประชาธิปไตยสมัยก่อนได้สร้างไว้ พวกนี้ก็ปฏิเสธ เพราะไปยอมรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดผสมกับรัฐสวัสดิการฝ่ายขวาตามสูตร “แนวทางที่สาม-กลไกตลาด”แถม เมธา มาสขาว มีประวัติอื้อฉาวในการละเมิดสตรี ซึ่งแปลว่าต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศไม่ได้

สังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยยุคนี้เป็นแค่โครงการหาทุนจากเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อสร้างอาชีพให้ตนเองภายใต้หน้ากากของ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่ไม่มีความหมาย องค์กรที่ให้ทุนโครงการประเภทนี้จะเป็นพวก FES จากพรรค SPD เยอรมัน ที่ชอบส่งนักวิชาการมาสอนพวกเราที่ไทยว่า “สังคมนิยมหมดยุค” และ “เราต้องยอมรับแนวทางที่สาม” ตามก้นพรรค SPD หรือพรรคแรงงานอังกฤษที่รับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดมาเต็มๆ ในยุโรปปัจจุบันพรรคเหล่านี้มองว่าคนทำงานธรรมดาต้องตกงาน ถูกตัดสวัสดิการ และถูกตัดรายได้ เพื่อฟื้นฟูกำไรให้กลุ่มทุนที่ลดลงจากวิกฤตการเงินที่พวกนายธนาคารสร้างแต่แรก

ดังนั้นพรรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะในเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน หรือกรีซ และแม้แต่ในสแกนดิเนเวีย จะมีนโยบายที่เหมือนพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน และหักหลังขบวนการแรงงาน แต่ประชาชนจำนวนมากในยุโรปไม่พอใจกับนโยบายเสรีนิยม ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคที่มีนโยบายซ้ายกว่า เช่น “แนวร่วมซ้าย” ในฝรั่งเศส หรือพรรคไซรีซาในกรีซ
   
เราจะสังเกตเห็นว่า เมธา มาสขาว เชื่อว่าประเทศต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย รวมถึงเยอรมัน เป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ทุกประเทศดังกล่าวมีหรือเคยมีรัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของนายทุนที่พยายามตัดรัฐสวัสดิการ พูดง่ายๆ ไม่มีการวิเคราะห์แยกแยะการเมืองระหว่างนโยบายของกลุ่มทุนและนโยบายของขบวนการแรงงานเลย
   
สรุปแล้วคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยตอนนี้กำลังตามก้นพรรคที่หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ในยุโรปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ยุค 1930 และเป็นพวกที่ใกล้ชิดกับเสื้อเหลืองและพวกเผด็จการในไทย

สังคมนิยมประชาธิปไตยไทยในอดีต

บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นนักสังคมนิยมคนหนึ่ง ในหมู่นักสังคมนิยมไทย เช่น ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ที่เราควรจะศึกษาและเคารพ ไม่เหมือนคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนี้

บุญสนอง บุณโยทยาน มีบทบาทสำคัญในการนำแนวสังคมนิยมลงสู่ภาคปฏิบัติของการเมืองโลกจริงผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในยุคระหว่าง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กับ ๒๕๑๙ การหาเสียงของพรรคนี้ในหมู่บ้านทางภาคเหนือของไทย ไม่เหมือนการหาเสียงของนักการเมืองนายทุนประเภทที่ไร้นโยบายในสมัยนั้นหรือสมัยนี้ เพราะมีการจัดเวทีประชุมใหญ่ๆ เพื่อเสนอนโยบายการเมืองแบบสังคมนิยมที่เป็นรูปธรรมกับชาวบ้านรากหญ้า โดยไม่มีการซื้อเสียง นอกจากนี้บุญสนองอธิบายว่าในการเลือกเขตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคสังคมนิยมและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมพยายามลดความสำคัญของตัวบุคคลและเพิ่มความสำคัญของนโยบายทางการเมือง วิธีการนี้ได้ผลพอสมควรเพราะในการเลือกตั้งปี ๒๕๑๘ พรรคสังคมนิยมต่างๆได้ประมาณสิบห้าที่นั่งในรัฐสภาไทย
   
วิธีการทำงาน และนโยบายต่างๆ ของพรรค สามารถท้าทายแนวกระแสหลักได้มากพอสมควร และมีประโยชน์ต่อประชาชนธรรมดา เช่นนโยบายปฏิรูปที่ดินที่ให้ชาวนาทุกคนมีใช้อย่างเพียงพอ นโยบายการศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับพลเมืองทุกคน นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเสนอให้มีการวางแผนเพื่อการผลิต นโยบายการนำธนาคาร เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมน้ำมันมาเป็นของรัฐในขณะที่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำรงอยู่ให้รับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง หรือนโยบายกระจายอำนาจการปกครองให้คนกลุ่มน้อยเช่นชาวเขาชาวดอย ชาวมุสลิมในภาคใต้ หรือชาวเวียดนามอพยพ เพื่อให้เขาปกครองตนเอง นโยบายดังกล่าวถือว่าก้าวหน้ามากและในหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ซึ่งทำให้สังคมไทยล้าหลังอยู่ และยังตกอยู่ในยุคมืด
   
การต้านผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ ผ่านการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สร้างความไม่พอใจในหมู่อำมาตย์ อย่างที่เราเห็นก่อนและหลังยุคนั้น ในภาพรวมมันทำให้เราเห็นว่าอำมาตย์พร้อมจะก่อความรุนแรง เหตุการณ์นองเลือดและรัฐประหารเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองเสมอ บุญสนอง บุณโยทยาน จึงถูกยิงตายโดยมือปืนของฝ่ายขวาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ เขา เหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ คือเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องสละชีพเพื่อการสร้างสังคมใหม่ และในงานศพเขาที่สนามหลวงมีประชาชนไปร่วมมากมาย
   
อย่างไรก็ตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยของบุญสนองมีจุดอ่อนสำคัญ ในประการแรกพรรคของเขาไม่ได้งอกออกมาจากขบวนการแรงงานและไม่ได้อาศัยการทำงานในขบวนการแรงงานเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าถ้าเกิดได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา จะไม่มีอำนาจจริง และไม่สามารถอาศัยพลังนอกรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนสังคม พูดง่ายๆ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนั้นเน้นเรื่องรัฐสภาเหนือสิ่งอื่น
   
ในประการที่สอง เมื่อเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีรากฐานส่วนหนึ่งในขบวนการแรงงาน เราจะเห็นว่า พ.ค.ท. มีชุดความคิดทางการเมืองที่ชัดเจนไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับชุดความคิดนี้หรือไม่ ซึ่งช่วยให้พรรคดำรงอยู่ได้นานและไม่พึ่งบุคคลสำคัญๆ ไม่กี่คน ถ้าเทียบกับ พ.ค.ท. แล้วพรรคสังคมนิยมไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ เพราะไม่มีเอกภาพในทฤษฎี และหลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ พรรคสังคมนิยมจึงยอมเข้าป่าไปอยู่ภายใต้แนวของ พ.ค.ท.

ในเรื่องความคิดของบุญสนอง ไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นปัญญาชนสังคมนิยมของฝ่ายซ้ายไทย เหมือน ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ทั้งๆ ที่เขาเป็นปัญญาชน เพราะงานเขียนเขาไม่ท้าทายระบบความคิดของชนชั้นปกครองเท่าไร เช่นในหนังสือ “มนุษย์กับสังคม” เกือบไม่มีการอ้างถึงแนวมาร์คซิสต์ หรือแนวอื่นในการวิเคราะห์สังคม และมีการนำเสนอแนวคิดสังคมศาสตร์แบบกระแสหลัก เช่นการเสนอว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นต่างๆ ร่วมมือกันได้ แต่อย่างน้อยเขาเป็นคนที่บริสุทธิ์ใจในการค้นหาแนวทางสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่เหมือนพวกที่อ้างสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยสมัยนี้

แล้วถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยจะดีไหม?

ถ้าในอนาคตมีนักสหภาพแรงงานในไทย ที่เป็นนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ที่อยากสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพยายามรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการและการเพิ่มสิทธิแรงงาน ในหมู่แรงงานและคนก้าวหน้าที่ต่อต้านอำมาตย์ โดยไม่รับเงินจากที่อื่นในรูปแบบเอ็นจีโอ มันคงจะเป็นเรื่องดี ทั้งๆ ที่นักมาร์คซิสต์อย่างเราเข้าใจปัญญาและข้อผิดพลาดของการฝันถึงการปฏิรูปทุนนิยม เราคงร่วมมือร่วมสู้กับคนเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่เราคงจะไม่เสียเวลาไปร่วมสร้างพรรคปฏิรูป เพราะในที่สุดเราจะต้องแย่งชิงการนำจากพวกที่ต้องการปกป้องทุนนิยมและการขูดรีดแรงงานภายใต้คำว่า “ปฏิรูป”
   
หน้าที่หลักของเราจะต้องอยู่ที่การสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมตามแนวมาร์คซิสต์ ที่มีรากฐานในขบวนการแรงงาน และมีผู้ปฏิบัติการหนุ่นสาวไฟแรง และพรรคนี้ต้องพร้อมจะทำแนวร่วมกับคนก้าวหน้าที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ในความเข้าใจอันหลากหลายของคนเหล่านั้น

ฮูโก ชาเวส ผู้สร้างแรงบันดาลใจ // นสพ.เลี้ยวซ้าย ปีที่ 8 ฉบับที่ 10 มีนาคม 56

ฮูโก ชาเวส ผู้สร้างแรงบันดาลใจ // นสพ.เลี้ยวซ้าย ปีที่ 8 ฉบับที่ 10 มีนาคม 56

พบกับ

ทำไมต้องถอนทหารออกจากภาคใต้
โดย วัฒนะ วรรณ

ค. “ความเป็นคน”
โดย ลั่นทมขาว

รัฐสวัสดิการกับเรื่องสตรี
โดย ฮิปโปน้อย บรมสุขเกษม

ทางเท้า… ภาพสะท้อนชนชั้นทางสังคม                
โดย ยังดี  โดมพระจันทร์

ประเทศมาลี : ชัยชนะของฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นความโกลาหล
แปลโดย ส.โต้ง

ปัญหาเรื่อง เพศ ความรัก วัฒนธรรม และ ข้อเสนอของฝ่ายซ้าย (ตอนที่ 3)
โดย สมุดบันทึกสีแดง

ความน่าสมเพชของแนวการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐทุนนิยมกับการสร้างสภาวะแปลกแยกของมนุษย์ (ตอนที่ 2)
โดย พจนา วลัย

ฮูโก ชาเวส
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ดาวน์โหลดได้ที่นี่



ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษการเมือง นักสู้เพื่อประชาธิปไตย

ระบบศาลและคุกในประเทศไทยเป็นระบบป่าเถื่อนที่ล้าหลังกว่ามาตรฐานสากลหลายร้อยปี และเป็นที่น่าอับอายขายหน้า แต่การที่ชนชั้นปกครองไทยไม่เคยสนใจที่จะสร้างวัฒนธรรมพลเมืองเสรี และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน เพราะมัวแต่มองว่าประชาชนเป็นเพียง “ราษฎร์” 

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

อ.สุรชัยรายงานเกี่ยวกับ “คุกนรก” ที่พัทยาว่า ปัญหาที่หนักที่สุดก็คือปัญหา 2 น. คือ “น้ำ” กับ “แน่น” เรือนจำพิเศษพัทยาเปิดทำการเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพื่อรองรับผู้ต้องขับประมาณ 600 คน แต่ปัจจุบันคุมขังอยู่ 3,600 คน เกินความจุไปถึง 3,000 คน ผลคือที่นอนไม่พอ จึงต้องมีคนไปนอนบนโถส้วม ใช้กล่องกระดาษรองนอน เวลามีคนจะไปถ่ายก็ต้องปลุกให้ลุกขึ้น แต่ก็ยังไม่พอ ต้องจัดเวรยามห้องละ 5-10 คน ยืนและนั่งเพื่อให้มีที่ว่างให้คนอื่นๆ นอนสภาพห้องขังที่ อ.สุรชัยต้องทนคือมีขนาด 5×10 เมตร เท่ากับ 50 ตารางเมตร ต้องนอนรวมกัน 60 กว่าคน ต้องทำยกพื้นขึ้นไปอีก 1 ชั้นจึงจุได้ 60 กว่าคน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำจะปล่อยให้ไหลวันละ 2-3 ชั่วโมง 10 โมงเช้าถึงเที่ยงหรือบ่ายโมง ช่วงเช้า ช่วงเย็นและตลอดทั้งคืนไม่มีน้ำ ผู้ต้องขังจึงเป็นหิดและโรคผิวหนังกันมาก

ชนชั้นปกครองไทยทุกคนอำมาตย์และเพื่อไทยต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้มันบ่งบอกถึงความล้าหลังของผู้มีอำนาจในสังคมไทย คนที่เข่นฆ่าประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาหลายครั้ง คนที่ใช้กฏหมายป่าเถื่อน 112 เพื่อปิดปากประชาชน คนที่ขังคนจนและผู้ที่คิดต่างในขณะที่ตนเองฆ่าคนปล้นประชาชนทำนาบนหลังพลเมือง แต่ไม่เคยเข้าคุกหรือถูกลงโทษ

ระบบศาลและคุกในประเทศไทยเป็นระบบป่าเถื่อนที่ล้าหลังกว่ามาตรฐานสากลหลายร้อยปี และเป็นที่น่าอับอายขายหน้า แต่การที่ชนชั้นปกครองไทยไม่เคยสนใจที่จะสร้างวัฒนธรรมพลเมืองเสรี และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน เพราะมัวแต่มองว่าประชาชนเป็นเพียง “ราษฎร์” ที่ควรจะเจียมตัวยอมรับการปกครองจากเบื้องบน ทำให้ชนชั้นปกครองไทยไร้จิตสำนึกโดยสิ้นเชิงในการพัฒนาระบบศาลและคุก

ถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตยทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการและสหภาพแรงงานเสรีในตะวันตก เมื่อมีข่าวเรื่องสภาพคุก อย่างที่ อ.สุรชัยรายงานมา หนังสือพิมพ์ องค์กรสิทธิมนุษยชน พรรคฝ่ายซ้ายในสภา และสหภาพแรงงานจะลุกขึ้นประณาม และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบคุกจะต้องลาออกหรืออย่างน้อยต้องออกมารายงานว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรอย่างเร่งด่วน แต่ในไทยเงียบไปหมดนอกจากกลุ่มคนก้าวหน้ากลุ่มเล็กๆ มันแสดงว่าอะไร? มันแสดงว่าพลเมืองส่วนใหญ่ชินกับความเป็นสัตว์ที่ชนชั้นปกครองทำให้ตนเองเป็น แต่ยิ่งกว่านั้นมันแสดงว่าพวกเอ็นจีโอที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกสำนักงานสิทธิมนุษยชน หรือพวกนักวิชาการที่ชอบพูดถึงประชาธิปไตย เป็นพวกชนชั้นกลางตอแหล น่าสมเพชเพราะเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนจอมปลอม อย่าลืมว่าสภาพคุกในไทยเป็นเรื่องเก่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เนื่องจากมีนักสิทธิมนุษยชนตัวจริง อย่าง อ.สุรชัยหรือ คุณสมยศออกมาเปิดโปง มันกลายเป็นข่าวเล็กๆ ได้ในยุคปัจจุบัน แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแม้แต่แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่เคยสนใจเรื่องนี้ และในกรณีพรรคเพื่อไทยมีการจงใจแช่แข็งความป่าเถื่อนผ่านการจับมือกับทหารอีกด้วย แถมรัฐมนตรีบางคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องคุกและระบบยุติธรรมก็เป็นโจรเสียเอง

สภาพเช่นนี้แปลว่าการตื่นตัวของพลเมือง ทั้งเสื้อแดงบางส่วน และคนที่ไม่สังกัดสีอีกส่วน ภายใต้กระแสนิติราษฎร์ และกระแสยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย 112 สำคัญ และยังแสดงอยู่บ้างว่าพลเมืองไทยไม่น้อยพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาร่วมกันพิจารณาปัญหา ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย เราต้องกัดไม่ปล่อย และไม่ทอดทิ้งเพื่อน

บางคนชอบพูดว่า “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” แต่ถ้าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธก็แปลว่าศาสนาพุทธมีส่วนในการสร้างความป่าเถื่อนในระบบคุกและศาล และศาสนาพุทธดูเหมือนสอนให้ประชาชนหันหลังให้กับความปวดร้าวของนักโทษ ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ในไทยและที่อื่นเป็นคนจน พูดง่ายๆ คนส่วนใหญ่ที่ติดคุกติดคุกเพราะยากจน และเขายากจนเพราะนายทุนและชนชั้นปกครองไทยที่ปัจจุบันร่ำรวยเป็นเศรษฐีระดับโลก ทำนาบนหลังคนมาตลอดอย่างที่ อ.ปรีดี เคยวิจารณ์ในอดีต

และเมื่อคนจำนวนมากยากจน มันก็นำไปสู่การลักขโมย การซื้อขายและใช้ยาเสพติด และความรุนแรงที่มาจากความเครียด แต่ไม่ว่าคนจนไทยจะจนแค่ไหน เขาไม่เคยเข่นฆ่าประชาชนแบบที่ทหารไทย “ฆ่าหมู่” ในกรณีคนเสื้อแดง นักศึกษา หรือคนมาเลย์มุสลิมเลย ดังนั้นอาชญากรตัวจริงคือชนชั้นปกครองไทย ศาสนาพุทธรูปแบบที่ถูกใช้ในสังคมไทย สอนให้คนโทษผู้ที่ขาดโอกาสยากจนและติดคุก โดยแก้ตัวให้ชนชั้นปกครองว่าคนจนคงจะสร้างกรรมไว้ เขาเลยมีทุกข์ ซึ่งแปลว่าผู้มีอำนาจเป็น “ผู้มีบุญ” และพวกมีอำนาจเหล่านี้ก็หน้าด้านพูดถึง “คนดี” เป็นประจำอีกด้วย ตกลงแล้วคนที่ทำนาบนหลังคนและเข่นฆ่าประชาชนกลายเป็น “ผู้มีบุญ” และคนที่ถูกกดขี่ขูดรีดเข่นฆ่าและถูกจับเข้าคุกเป็นคนที่มี “กรรมเก่า” ตามแนวคิดแบบนี้ และพระสงฆ์ที่คิดว่าตนเองมีสิทธิ์สั่งสอนคนอื่นในเรื่องความดี ก็เงียบเฉยเรื่องความอยุติธรรมของสังคม

แน่นอนศาสนาพุทธไม่ได้มีสำนักเดียว คาร์ล มาร์คซ์ เคยเขียนไว้นานแล้วว่าถ้าเราจะเข้าใจศาสนาเราต้องดูที่การปฏิบัติโดยมนุษย์ ไม่ใช่แค่คำสอน ซึ่งการปฏิบัติพุทธมีความหลากหลาย และผมเชื่อว่าในไทยมีชาวพุทธจำนวนหนึ่งที่ทนสภาพความอยุติธรรมไม่ได้เหมือนกัน แต่เขาเป็นคนส่วนน้อย

ปัญหาความล้าหลังของสภาพสังคมไทยไม่ได้มาจากการที่ชนชั้นปกครองมันป่าเถื่อนเท่านั้น เพราะชนชั้นปกครองทั่วโลกก็ป่าเถื่อนเช่นกัน ไม่ว่าจะยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น แต่ปัญหามาจากอีกสองสาเหตุคือ พวกชนชั้นกลางที่ตั้งตัวขึ้นมาเป็น “ผู้ก้าวหน้าที่มีการศึกษา” และชอบเอะอะเรื่องการคอร์รับชั่นหรือการใช้อำนาจเกินเหตุ เช่นนักวิชาการ หรือผู้นำเอ็นจีโอ ล้วนแต่เป็นพวกที่ขี้คลาดไม่กล้าเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมแท้ เพราะก้มหัวให้อำนาจเผด็จการตัวจริงในสังคม เขาเลยทำงานแยกส่วน และเลือกประเด็นเดียวเล็กๆ มาจับ โดยมีข้ออ้างเหลวไหลว่าเราเปลี่ยนรัฐหรือล้มรัฐไม่ได้ และพวกนี้ก็อ้างต่อว่าชนชั้นเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” …. ไปๆ มาๆ พวกนี้ก็เคยชินกับการปิดหูปิดตาถึงภาพรวมของสังคมป่าเถื่อน และแถมมีชีวิตสะดวกสบายตามแนวชนชั้นกลางมากขึ้น จากการเป็นแกนนำเอ็นจีโอหรือการเป็นนักวิชาการ ในที่สุดก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลายๆ ชุด อาจเข้าวุฒิสภาด้วย

และปรากฏว่าการใช้เวลาร่วมกับคนอื่นในสภาหรือกรรมการต่างๆ แบบนี้ ทำให้เขาใกล้ชิดกับสมาชิกของชนชั้นปกครอง และห่างเหินจากประชาชนจริงตามลำดับ ที่อธิบายแบบนี้ก็เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่นิสัยใจคอส่วนตัวของเขาที่มีข้อบกพร่อง ใครๆ ก็บกพร่องได้ ผมเองก็บกพร่องในหลายเรื่อง ไม่ใช่ มันเป็นสภาพแวดล้อมตัวเขา อันมาจากทางเลือกทางการเมืองที่เขาเลือกเดินแต่แรกต่างหาก

อีกสาเหตุสำคัญที่สังคมไทยล้าหลังก็เพราะชนชั้นกรรมาชีพไทยและประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเรา ยังไม่สามารถรวมตัวกันในองค์กรทางการเมือง เช่นพรรคและสหภาพแรงงาน ในลักษณะที่อิสระโดยสิ้นเชิงกับชนชั้นปกครอง และมีมวลชนเพียงพอที่จะมีอำนาจต่อรองกับฝ่ายศัตรู ผมใช้คำว่า “ฝ่ายศัตรู” เพราะอย่าลืมว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งอำมาตย์ ทหาร และนักการเมือง เข่นฆ่าประชาชนและทำนาบนหลังคนอย่างต่อเนื่อง ถ้านั่นไม่ใช่ศัตรูแล้ว “เพื่อน” จะมีหน้าตาอย่างไร? แบบรัฐบาลเพื่อไทยหรือ? ไม่น่าจะใช่ พรรคเพื่อไทย ทั้งยิ่งลักษณ์และทักษิณ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนายทุน ทักษิณเองก็มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเพื่อนชาวมุสลิมของเราในภาคใต้ และยิ่งลักษณ์ก็ถ่มน้ำลายใส่วีรชนเสื้อแดง หันหลังให้นักโทษการเมือง และไม่เคยสนใจคนจนอย่างจริงจัง มัวแต่ไปจับมือกับทหารและไปเที่ยวรอบโลกจับมือกับทรราชในตะวันออกกลางเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนไทย

ผู้พิพากษาและระบบศาลในไทยเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง สาเหตุเพราะผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในระบบเผด็จการมาตลอด และไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อความโปร่งใสและความเป็นธรรมมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่การแต่งตั้งผู้พิพากษาและการมองว่าเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ต้องได้รับการตรวจสอบจากสังคม มีการใช้ “กฎหมายหมิ่นศาล” ในลักษณะเดียวกับกฎหมาย 112 เพื่อบังคับกีดกันไม่ให้ใครวิจารณ์คำตัดสินของศาลและกระบวนการของศาล

แต่ในหลักสากล “การหมิ่นศาล” มีความหมายต่างออกไปคือ คนที่ “หมิ่นศาล” เป็นเพียงคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเท่านั้น ส่วนใครจะวิจารณ์ผู้พิพากษา การตัดสินของศาล หรือกระบวนการของศาล ทุกคนทำได้อย่างเสรี ตามสิทธิในระบบประชาธิปไตย แต่อย่าคิดว่า “ความอิสระของศาล” ตามทฤษฏีประชาธิปไตยเสรีนิยมคือคำตอบ เพราะมันเป็นเพียงการสร้างภาพลวงตาเท่านั้น ศาลยังอิงชนชั้นปกครอง ถ้าศาลจะยุติธรรมจริง ผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้ง และเราต้องสามารถถอนถอนได้ด้วย

นอกจากนี้ในระบบศาลไทย พลเมืองธรรมดาไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะไม่มีระบบลูกขุนที่คัดเลือกจากประชาชนโดยไม่เลือกหน้าหรือมีข้อจำกัดใดๆ ระบบลูกขุนและการมีส่วนร่วมของพลเมืองมีความสำคัญในการคานความอคติของผู้พิพากษา ลูกขุนมีสิทธิ์ตัดสินว่าผู้ต้องหาผิดหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่ชี้แจงประเด็นกฎหมาย และลงโทษผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดเท่านั้น ระบบนี้เป็นระบบที่ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเข้าสู่ระบบศาล

ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไม่เคยแสดงความเคารพต่อพลเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบศาลเลย เขามองว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นคนชั้นต่ำที่ “ย่อม” ทำความผิด ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไม่เคยมองว่าตนควรจะบริการรับใช้ประชาชนแต่อย่างใดบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะใช้ท่าทีเหยียดหยามดูหมิ่นประชาชน มีหลายกรณีที่ผู้พิพากษาไม่ยอมลงมาตัดสินคดีในศาล ผู้ต้องหาจึงต้องคุยกับผู้พิพากษาผ่านโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเป็นการกีดกันระบบยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพในการชี้แจงข้อมูลให้ผู้พิพากษาอย่างเต็มที่ ในกรณีอื่นผู้พิพากษาบังอาจใช้เสียงในการอ่านคำตัดสินหรือการพูดที่ค่อยเกินไป จนผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะรับฟัง สภาพการคุมนักโทษโดยตำรวจ และระบบประกันก็เป็นการกดขี่คนจนอีก

ในกรณีคดี 112 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถร่วมพิจารณาคดีได้ และไม่สามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงของศาลได้ เพราะสื่อจะถูกห้ามไม่ให้รายงานรายละเอียดของคดีทุกครั้ง มันเผด็จการลำเอียงเบ็ดเสร็จ

ระบบศาลในไทย ไม่ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ระบุไว้เป็นนามธรรมในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้นมีการกีดกันไม่ให้คนจนสามารถได้รับการประกันตัวการล่ามโซ่และบังคับให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในขั้นตอนก่อนตัดสินคดีต้องแต่งชุดนักโทษ เป็นการละเมิดมาตรฐานยุติธรรมพื้นฐาน เพราะเป็นการสร้างภาพว่าเขาเหล่านั้น “ผิด” ก่อนที่จะตัดสินคดี นอกจากนี้ในระบบศาลและคุกไทย และในสังคมไทยโดยรวมไม่มีการมองถึง “สิทธิมนุษยชน” ของนักโทษที่ได้รับการตัดสินคดีไปแล้ว การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้จึงขาดแง่ของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง มีการมองว่าเขาทำผิดกฏหมาย ดังนั้นเขาสละสิทธิ์ที่จะเป็นคน ในขณะเดียวกันคนชั้นสูงที่ทำผิด ไม่ว่าจะโกงกิน ฆ่าคน หรือปกปิดความจริงด้วยการพูดเท็จ ก็ลอยนวลกลายเป็น “ยิ่งกว่าคน” อย่างที่พวกนายพลและผู้ใหญ่ทั้งหลายเป็นในปัจจุบัน นี่คือความคิดที่ให้ความชอบธรรมกับการที่สภาพคุกไทย แย่พอๆ กับสภาพกรงสัตว์ ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด

ความแหลมคมของระบบอยุติธรรมในศาลไทย เห็นชัดจากการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีดมากที่สุดในสังคม ในศาลแรงงานนักสหภาพแรงงานไม่เคยได้รับความยุติธรรมและความเคารพแต่อย่างใด เพราะศาลและรัฐใกล้ชิดสนิทสนมกับนายจ้าง และมองว่าคนงานคือศัตรูหรือ “คนสร้างปัญหา” ในกรณีคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยิ่งแล้วใหญ่ มันทำให้เราเห็นความแหลมคมของความขัดแย้งทางชนชั้นที่พวกนักวิชาการชนชั้นกลางชอบปฏิเสธ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็น “คนอันตราย” สำหรับชนชั้นปกครองไทย คือคนธรรมดาที่กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครองด้วยวาจาหรือการชุมนุมอย่างสงบ นั้นคือสาเหตุที่คนที่โดนคดี 112 ถูกรัฐเลือกปฏิบัติอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ในมุมตรงข้ามกับผู้ถูกกดขี่ คนรวย คนมีเส้น นายพลระดับสูง นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับทหารหรืออำมาตย์ หรือลูกนักการเมือง ฯลฯ ไม่เคยต้องรับโทษหรือถูกพิพากษาเลย

ผมเขียนไปแล้วว่าคุกไทยเต็มไปด้วยคนจน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคดีประเภท “ลักขโมย” หรือคดียาเสพติด แต่กระแสหลักหรือคนที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้แทนของ “ภาคประชาชน” ไม่เคยถกเถียงและพิจารณาว่ามีระบบคุกไว้ทำไม เพื่อแก้แค้น? เพื่อลงโทษ? หรือเพื่อปกป้องสังคมจากคนอันตราย? ซึ่งคำถามเหล่านี้มีผลต่อสภาพคุกด้วยไม่ค่อยมีการถกเถียงกันว่าโทษประหารเป็นความป่าเถื่อนชนิดหนึ่งที่เป็นเพียงการแก้แค้นโดยสังคมต่อคนจนหรือไม่ นอกจากนี้ไม่มีการพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุของการลักขโมย หรือสาเหตุของการใช้ยาเสพติด เพื่อหาทางแก้ไขแต่แรกโดยไม่ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนของคุกหรือ “สงครามยาเสพติด”

การที่สังคมไทยภายใต้ชนชั้นปกครองปัจจุบันเป็นสังคมป่าเถื่อน แปลว่าการเคารพธงชาติ ธงของชนชั้นปกครอง เป็นเพียงการเคารพพวกป่าเถื่อนเท่านั้น เพราะ “ชาติไทย” ไม่มีจริง มีแต่ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง สองฝั่งตรงข้ามซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่บางทีเปิดเผย บางทีซ่อนเร้น บางทีถูกกลบและมอมเมาจนเงียบไปชั่วคราว และตราบใดที่เราไม่ลุกขึ้นสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม คำว่า “ไทย” ไม่ว่าจะสะกดด้วย “ย”ยักษ์หรือไม่ คงต้องแปลว่า “ทาส”

ปัญหาเรื่อง เพศ ความรัก วัฒนธรรม และ ข้อเสนอของฝ่ายซ้าย (ตอนที่ 2)

Alexandra Kollontai

การขายบริการทางเพศ คือ ปรากฎการณ์ทางสังคมซึ่งมันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสถานะความยากจนและการพึ่งพาผู้ชายในทางเศรษฐกิจบนฐานการแต่งงานและครอบครัว รากฐานของการขายบริการมันยืนอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเศรษฐิจ

โดย สมุดบันทึกสีแดง

ชาวมารกซิสต์มีวัฒนธรรมการอธิบายปัญหาการกดขี่ทางเพศว่ามีรากเหง้ามาจากระบบกรรมสิทธิทรัพยสินส่วนบุคคล แต่ในบทความนี้ และ บทความในเดือนมีนาคม ผู้เขียนจะแปลและสรุปใจความสำคัญของนักคิดที่เด่นมากคนหนึ่งของชาวมารคซิสต์ คือ อเลกซานดร้า คอลลอนไท( Alexandra Kollontai) ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค เธอมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นการสร้างความเสมอภาคทางเพศในยุคเลนิน แต่พอถึงยุคสตาลินที่ทำการปฏิวัติซ้อนและขึ้นมามีอำนาจ คอลลอนไทถูกเนรเทศและถูกบังคับยุติบทบาททางการเมืองในรัสเซีย ผลที่ตามมาคือประเด็นสำคัญๆ ที่นักปฏิวัติบอลเชวิคยุคต้นพยายามออกแบบและทำลายการกดขี่ทางเพศ  ถูกทำลายและหยุดชะงัก ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่นักสิทธิสตรีที่คับแคบหลายส่วนพยายามโจมตีทฤษฏีมารคซิสต์ ว่าไม่มีการให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ

งานของ คอลลอนไท ที่เขียนเกี่ยวกับปัญหาหญิงบริการทางเพศ คือ การขายบริการทางเพศและแนวทางการต่อสู้กับปัญหานี้ (Prostitution and ways of fighting it) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1921 (2464) เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของพรรคบอลเชวิคต่อประเด็นดังกล่าว งานชิ้นนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1977 (2520)

ผู้เขียนมองว่าคำถามหลายคำถามในตอนนั้นยังคงเป็นประเด็นอยู่ในทุกวันนี้ลักษณะการถกเถียงในปัจจุบันมักจะถูกจำกัดอยู่ที่ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าที่เน้นปกป้องสิทธิของหญิงบริการซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น  แต่บ่อยครั้งกรอบคิดดังกล่าวมันไปจบลงอยู่ที่การส่งเสริมการขายบริการทางเพศให้ดำรงอยู่ต่อไปและละเลยประเด็นคำถามว่าจะจะทำอย่างไรที่จะทำให้การซื้อขายทางเพศหายไปซึ่งการดำรงอยู่ของมันส่งผลกระทบต่อสถานภาพในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุทางเพศ ทัศนะการเหยียดเพศ อุตสาหกรรมการเสริมความความงาม การขาดความเคารพในตนเอง ซึ่งได้กล่าวไปบ้างแล้วในตอนที่หนึ่ง

คอลลอนไท เริ่มต้นถามว่าอะไรคือ การขายบริการทางเพศ?

การขายบริการทางเพศ  คือ  ลักษณะอาการที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการมีรายได้ที่ไม่ได้มาจากการทำงาน[1]  ซึ่งลักษณะของมันถูกพัฒนาภายใต้ระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคลและระบบทุนนิยม หญิงบริการทางเพศจากมุมมองของชาวมาร์คซิสต์ คือ ผู้หญิงที่ขายเรือนร่างของตัวเองเพื่อ อาหาร เสื้อ และผลประโยชน์ตอบแทนชนิดอื่นๆ หรือ ผู้หญิงที่หลีกเลี่ยงการทำงานโดยการให้ร่างกายของตัวเองแก่ผู้ชายเป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราวหรือตลอดชีวิต

รัฐกรรมาชีพของพวกเราได้รับมรดกการขายบริการทางเพศมาจากสังคมกฎุมฎี ที่ที่ซึ่งผู้หญิงจำนวนน้อยเท่านั้นได้มีบทบาทในเศรษฐกิจระดับชาติ ในขณะที่ผู้หญิงโดยส่วนต้องอาศัยผู้ชายในรูปแบบที่เป็นพ่อ หรือ สามี การขายบริการเพศงอกขึ้นและกลายเป็นเงาสะท้อนของสถาบันการแต่งงาน

การแต่งงานถูกออกแบบเพื่อปกป้องระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคลและทำหน้าที่รับประกันว่าทรัพย์สมบัติจะถูกส่งต่อไปยังผู้สืบสายเลือดที่ถูกต้องสถาบันการแต่งงานมันได้สร้างระบบการปกป้องความร่ำรวยที่จะถูกแย่งชิงระหว่างบรรดาผู้ที่มีสิทธิสืบสายเลือด แต่อย่างไรก็ตามการขายบริการเพศในยุคปัจจุบันมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการขายบริการทางเพศในยุคกรีกหรือโรมัน

ในสมัยโบราณผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศนั้นมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น และตอนนั้นมันไม่ค่อยมีความตอแหลที่ฉาบเคลือบไปด้วยศีลธรรมเหมือนที่เราเห็นในโลกของพวกกฎุมฎีปัจจุบัน โดยสังคมกฎุมฎีเลือกที่จะยอมรับผู้หญิงบางประเภทเท่านั้น เช่น ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้าพูดไปแล้วภรรยาตามกฎหมายก็ได้ขายตัวเองให้แก่สามีของเธอ ซึ่งบ่อยครั้งพวกเธอก็ไม่ได้รัก แต่พวกเธอต้องการหลีกหนีไปให้พ้นจากความขมขื่นต่างๆที่ระบบทุนนิยมและระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคลได้สร้างขึ้นมา

ในโลกสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งโลกใบนั้นมองการขายบริการทางเพศว่าเป็นคู่ที่ถูกกฎหมายเช่นเดียวกันกับการแต่งงานของสถาบันครอบครัวและภรรยาลับจะได้รับการเคารพมากกว่าภรรยาตามกฎหมายที่ทำหน้าทีสืบพันธ์เพียงอย่างเดียว

ในยุคกลางคนงานฝีมือมีบทบาทครอบงำลักษณะการผลิต การขายบริการทางเพศได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติไม่ผิดกฎหมาย หญิงบริการทางเพศจะมีสมาคมและเข้าร่วมในเทศการท้องถิ่นเหมือนกับสมาคมอื่นๆ หญิงบริการทางเพศทำหน้าที่รับประการกันว่าบรรดาลูกสาวของผู้ที่มีเกียรติ์ทั้งหลาย จะดำรงความบริสุทธิ์ผุดผ่องและเหล่าภรรยาจะยังคงซื่อสัตว์ต่อสามี นับตั้งแต่ที่ผู้ชายโสดสามารถเดินเข้าไปในสมาคมหญิงขายบริการเพื่อแสวงหาความสบายผ่อนคลายทำให้การขายบริการทางเพศได้ถูกยอมรับอย่างเปิดเผยในแง่ที่ว่ามันช่วยปกป้องและสร้างความปลอดภัยให้กับระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคล

การโผล่ขึ้นมาของระบบทุนนิยมได้ทำให้ภาพดังกล่าวเปลี่ยนไป ในศตวรรษที่ 19 และ 20 การขายแรงงานของผู้หญิงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและแยกออกจากกันไม่ได้กับการขายเรือนร่างของผู้หญิง ลักษณะดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่หญิงสาวที่ถูกทิ้งและมีราคีเท่านั้น แต่บรรดาภรรยาที่น่านับถือของชนชั้นกรรมาชีพก็กระโดดเข้าสู่การเป็นหญิงขายบริการทางเพศ ด้วยเหตุผลเพื่อลูกและครอบครัว นี่คือความสยดสยองและไร้สิ้นซึ่งความหวังอันเป็นผลมาจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานโดยระบบทุนนิยม เมื่อค่าแรงของผู้หญิงนั้นมีไม่เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้การขายตัวดูเหมือนจะกลายเป็นแหล่งเสริมรายได้

ความตอแหลสัปปลับของระบบศีลธรรมในสังคมกฎุมฎีนั้นได้ส่งเสริมการขายบริการทางเพศ ผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีด แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความชิงชังเหยียดหยามต่อผู้หญิงที่ถูกบังคับให้เดินเข้าสู้เส้นทางนี้

การขายบริการเพศได้กลายเป็นเงาสะท้อนและติดตามการแต่งงานแบบถูกต้องตามกฎหมายของชนชั้นกฎุมฎี ไม่เคยมีประวัติศาสตรครั้งไหนเลยที่ได้กลายมาเป็นพยานรับรู้ถึงการเพิ่มขึ้นของการขายบริการเพศที่เกิดขึ้นในศตวรรษ 19 และ 20 ในเบอร์ลินในบรรดาผู้หญิงที่ซื่อสัตว์ 20 คน หนึ่งในนั้นคือหญิงขายบริการทางเพศ ที่ปารีสสัดส่วน 1 ต่อ 18 ที่ลอนดอน สัดส่วน 1 ต่อ 9 มันมีรูปแบบการขายแบบเปิดเผยซึ่งถูกกฎหมายและมีการควบคุม และที่ขายแบบปกปิด เป็นฤดูกาล ทุกรูปแบบของการบริการทางเพศได้เบ่งบานงอกเงยขึ้นเหมือนดอกไม้พิษที่ขยายพันธ์ได้อย่างรวดเร็วบนผืนดินที่แฉะเยิ้มไปด้วยศีลธรรมจอมปลอมในวิถีชีวิตของพวกกฎุมฎี

ความป่าเถื่อนในโลกของพวกกฎุมฎีนั้นไม่มีความเมตราแม้กระทั่งกับเด็ก มันบังคับให้เด็กหญิง 9-10 เดินเข้าไปตอบสนองความต้องการอันสกปรกของชายสูงวัยที่ไร้ศีลธรรมผู้ร่ำรวยในประเทศทุนนิยมมันมีแม้กระทั่งโรงแรมที่ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษและที่เน้นการขายเฉพาะเด็กผู้หญิง ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคหลังสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 1) ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนตกงาน และมันสาเหตุหลักที่ดันขยายให้ผู้หญิงเดินเข้าสู่ถนนของการขายบริการทางเพศทาสสาวผิวขาวผู้หิวโหยได้ไหลป่าเต็มท้องถนนเพื่อสอดส่องหาผู้ซื้อในกรุงเบอร์ลิน ปารีส และ เมืองใหญ่ๆที่เป็นศูนย์กลางของรัฐทุนนิยม

การค้าเนื้อสดแบบนี้เป็นไปอย่างเปิดเผยแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาวิถีชีวิตของพวกกฎุมฏีที่มีพื้นฐานอยู่บนการซื้อขาย การขายบริการทางเพศเป็นทางออกสำหรับผู้หญิงที่ล้มเหลวในการหาคู่ถาวร การขายบริการทางเพศภายใต้ระบบทุนนิยม ได้เสนอทางเลือกให้กับผู้ชายมีความสัมพันธ์ทางเพศผู้หญิงโดยมิต้องพะวงกับความรับผิดชอบ ที่เขาต้องมีให้ต่อเธอไปจนสิ้นอายุขัย

ทำไมการขายบริการทางเพศจึงมีการขยายตัว? เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ขั้นต้นพวกเราต้องวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดว่าอะไรคือสาเหตุหลักๆที่ทำให้การขายบริการเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาตร์และนักวิชาการฝ่ายกฎุมฎีชอบที่จะเสนอว่า การขายบริการทางเพศเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติของผู้หญิงบางประเภท เหมือนกับผู้ชายบางคนที่เกิดมาเพื่อเป็นฆาตกร ผู้หญิงบางคนเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหญิงบริการทางเพศ คำอธิบายแบบนี้ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าผู้หญิงเหล่านี้มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร ทำไมพวกเธอถึงเลือกเดินเส้นทางอันไม่น่าพิสมัยเช่นนี้ แต่นักคิด นักสถิติและนักวิทยาศาสตร์ชาวมารคซิสต์ได้เสนอหลักฐานอย่างชัดเจนว่า คำอธิบายของฝ่ายกฏุมฎีนั้นผิดมหันต์

การขายบริการทางเพศ คือ ปรากฎการณ์ทางสังคมซึ่งมันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสถานะความยากจนและการพึ่งพาผู้ชายในทางเศรษฐกิจบนฐานการแต่งงานและครอบครัว รากฐานของการขายบริการมันยืนอยู่บนพื้นฐานของเรื่องเศรษฐิจ ในด้านหนึ่งผู้หญิงถูกทำให้ไม่มีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ และ ในอีกด้านหนึ่งผู้หญิงถูกกล่อมเกลาให้เชื่อว่า ถ้าเธอยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายไม่ว่าจะอยู่ในกรอบหรือนอกกรอบการแต่งงานเธอจะได้ของกำนัลและผลประโยชน์อื่นๆ เป็นการตอบแทน นี่คือรากฐานของปัญหานี้ นี่คือเหตุผลของการขายบริการทางเพศ

ความยากจน ความหิวโหย การขาดโอกาสและสังคมที่ไร้ความเสมอภาคของในระบบสังคมของกฎุมฎี เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเลือกขายบริการทางเพศ สาเหตุสำคัญๆ ของการแพร่ขยายการขายบริการทางเพศคือ ค่าจ้างต่ำ สังคมที่เต็มไปความเหลื่อมล้ำ ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมประเพณีอันล้าหลังที่กล่อมเกลาให้ผู้หญิงยอมรับและคาดหวังของรางวัลจากผู้ชาย  ผ่านการมีความสัมพันธ์ทางเพศ

(โปรดติดตามฉบับหน้า)

[1]กระแสหลักของแนวเฟมินิสต์พยายามสู้ว่า การขายบริการทางเพศเป็นงานบริการชนิดหนึ่งในขณะที่แนวอื่นยังไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ผู้เขียนจะลงรายละเอียดในตอนหน้า

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้หญิงกับอุดมการณ์เดือนตุลา

นักกิจกรรมหญิงได้เป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านชนชั้นปกครองอำมาตยาธิปไตย ร่วมคัดค้านเผด็จการทหารอย่างห้าวหาญจากปี  2508-2519 และได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (CPT) ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 

โดย ยังดี  โดมพระจันทร์
           
ผ่านไป 2 ปี ในการจัดงานครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล นักสิทธิสตรี นักกิจกรรมสตรี นักการเมือง และสหภาพแรงงานพากันออกมาจัดงานฉลอง วันนี้สำคัญขนาดไหน ก็สำคัญที่ 100ปี มีครั้งเดียว และมาสร้างปรากฏการณ์อัปลักษณ์ในช่วงที่ประเทศไทยเรามีนายกรัฐมนตรี “ดีแต่พูด”
             
สตรีนักต่อสู้ทั่วโลกเริ่มต้นวาระนี้ด้วยภาพความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งมีมาช้านานหลายทศวรรษ การเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ขูดรีดทั้งทางกายและจิตใจ คือประสบการณ์ร่วมกันของผู้หญิงทั่วโลก ผ่านวัฒนธรรมการเมือง ลัทธิความเชื่อ และจารีตประเพณี ผ่านรูปแบบการค้ามนุษย์ การเอาเปรียบแรงงานฯลฯ  หญิงชายผู้รักในเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ผู้รักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างลุกขึ้นสู้และขานรับความสำคัญของวันสตรีสากล  แต่สำหรับประเทศไทยที่ผ่านเหตุการณ์ฆ่ากลางเมืองมาหยกๆ การเชิญอดีตนายกมือเปื้อนเลือดมาเป็นองค์ปาฐกในงาน ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นที่จัดกิจกรรมรวมสองวัน เป็นเรื่องที่รับกันไม่ได้  

นักกิจกรรมหญิงเป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางชนชั้น        
             
มาถึงปีนี้ในช่วงปลายปีจะเป็นวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา หากย้อนมองประวัติศาสตร์ยุคนั้น ผู้หญิงเราจะได้เรียนรู้ว่าภายหลังการลุกขึ้นสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลา  การแสวงหาและเรียนรู้ของคนหนุ่มสาว ที่ดำเนินไปท่ามกลางเสียงระเบิดและกลิ่นควันปืน นักกิจกรรมหญิงได้เป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านชนชั้นปกครองอำมาตยาธิปไตย ร่วมคัดค้านเผด็จการทหารอย่างห้าวหาญจากปี  2508-2519 และได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (CPT) ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จากผลสะเทือนทางความคิดลัทธิสังคมนิยม นับเป็นประวัติการณ์ที่ผู้หญิงเข้าป่าจำนวนไม่ได้น้อยหน้าผู้ชาย ผู้หญิงได้เสียสละฝังกายในเขตงานต่างๆทั่วประเทศ
             
ขณะที่แนวทางสังคมนิยมขึ้นสู่กระแสสูง การเลือกตั้งทั่วไปของเดือนมกราคมปี 2518 มีทั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ลงแข่งในสนามเลือกตั้ง และได้รับคะแนนเสียงถึงกว่าห้าแสนคะแนนหรือ 14.4% ของคะแนนรวม แม้แต่พรรคที่ผิดกฎหมาย พรบ.คอมฯ อย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ก็ยังได้รับการยอมรับ และมีอิทธิพลต่คนหนุ่มสาวที่อยู่ในองค์กรนักเรียน นักศึกษา
                 
เสียงเพลง “กูจะปฏิวัติ” ของวงกรรมาชนเป็นตัวอย่างงานวัฒนธรรมชิ้นหนึ่งที่เป็นที่นิยม ภาพบันทึกการแสดงที่ผู้หญิงเป็นทั้งนักร้องนักดนตรีมีปรากฏ เช่นเดียวกับกิจกรรมด้านศิลปะทุกแขนง ทั้งดนตรีพื้นบ้าน การละคร กล่าวได้ว่าในงานวัฒนธรรม ผู้หญิงมีส่วนร่วมทุกด้านทั้งปริมาณและคุณภาพ

หญิง-ชายกลายเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมที่ไม่เลือนไปจากความทรงจำ
                     
ป๋วย อึ๊งภากณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี พ.ศ. 2519 เขียนในบันทึกว่าของเขาว่า “ วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณ 7.30 น. ตำรวจไทย โดยคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์  ปราโมช ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงไม่เลือกหน้า และมีกำลังของคณะกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและนวพล เสริม  บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยกับตำรวจ บ้างก็ล้อมมหาวิทยาลัยอยู่ข้างนอก  เพื่อทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมาจากมหาวิทยาลัย  ผู้ที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บก็ตายไปบาดเจ็บไป  คนที่หนีออกมาข้างนอกไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือไม่ต้องเสี่ยงกับความทารุณโหดร้ายอย่างยิ่ง  บางคนถูกแขวนคอบางคนถูกราดน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น  คนเป็นอันมากก็ถูกซ้อมปรากฏตามข่าวทางการว่าตายไป  40  กว่าคน แต่ข่าวที่ไม่ใช่ทางการว่าตายกว่าร้อย  และบาดเจ็บหลายร้อย……”  
                     
ในจำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต ร่างทับร่างที่ถูกเผา ศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะถูกยิงกลางหลัง และหลายศพบนตึกขณะพาณิชย์ ก็คือนักเรียน นักศึกษาหญิง กระทิงแดงและนวพล สนุกกับการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนต่อทุกคน ที่อยู่ใกล้กับทางเข้าด้านหน้า นักศึกษาหลายคนถูกลากออกจากมหาวิทยาลัยและแขวนคอที่ต้นมะขามรอบสนามหลวง บนสนามหญ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนและกองกำลังหน่วยพิเศษ ของตำรวจนครบาล บังคับให้ผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าโดยถอดเสื้อออกทั้งหญิงและชาย  ขณะที่ตำรวจยิงปืนกลขู่เป็นระยะๆผ่านศีรษะของพวกเขา
                   
นักศึกษาอื่นๆ ที่พยายามจะหนีจากอาคารภายในมหาวิทยาลัยผ่านทางประตูด้านท่าพระจันทร์ ถูกตำรวจไล่ล่า นักศึกษาหญิงคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน  ช่วงนาทีวิกฤตที่ ตชด. เข้ากวาดล้างประชาชนในธรรมศาสตร์ บางคนถูกเผาทั้งที่ยังมีลมหายใจที่ด้านหน้าของกระทรวง”ยุติธรรม” ในขณะที่มีฝูงชนโห่ร้องยินดี และเต้นไปรอบๆเปลวไฟเหมือนพีธีบูชายัน ผู้หญิงคนหนึ่งมีชิ้นส่วนของไม้เสียบช่องคลอดของเธอ ลูกเสือชาวบ้านลากคนตายหรือกำลังจะตายจากด้านหน้ามหาวิทยาลัยและทิ้งพวกเขาไว้บนท้องถนน พวกกองกำลังนอกระบบ นอกเครื่องแบบบางคนปักไม้แหลมลงบนศพในขณะที่เด็กชายยืนฉี่รดศพเหล่านั้น  พวกตำรวจในเครื่องแบบนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเพื่อหยุดความรุนแรง
               
ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่ละเว้นว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โศกนาฏกรรมนี้เลือนไปจากความทรงจำเหลือเพียงครอบครัวของผู้สูญเสียและมิตรสหายไมน่าเชื่อว่าปี 2553 เหตุการณ์บนรถนนราชประสงค์ และราชดำเนินกลับมาตอกย้ำเหตุการณ์ในอดีต  และวันนี้อำนาจรัฐฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนมือเปล่าทั้งสองเหตุการณ์ยังคงลอยนวล
 
ความเข้าใจการเมืองเรื่องผู้หญิงจะเป็นสิ่งท้าทาย
             
ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่าอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา  และนักกิจกรรมผู้ก่อร่างสร้างเครือข่ายผู้หญิงในอดีต มาวันนี้หลายคน หรือเกือบทั้งองค์กรได้แปรตัวไป บ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็น สส. พรรคประชาธิปัตย์ บ้างก็เป็นผู้นำ NGOs  หลายคนไปเป็นแกนนำพันธมิตร และแม้แต่ สว.ที่มาจากการลากตั้ง และเลือกตั้ง พวกนี้มุ่งเน้นเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และคนชั้นสูง ออกหน้าปกป้องอมาตยาธิปไตยอย่างโจ๋งครึ่ม ขัดขวางแนวทางประชาธิปไตย และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ขัดขวางพลังหญิงที่เป็นไพร่          
                 
บางคนกลายเป็นผู้นำกรรมกรฝ่ายอนุรักษ์นิยม ช่วยกลุ่มพันธมิตรปิดสนามบิน และยึดทำเนียบรัฐบาล ในยุคที่มาจากการเลือกตั้ง หญิงไทยที่ตื่นจากการหลับใหล คงมีแต่บรรดาญาติวีรชน ญาติผู้ต้องหาคดีการเมืองต่างๆ และผู้หญิงที่ตื่นตัวตาสว่างในขบวนการประชาชนคนเสื้อแดง  ผู้นำหญิงในกิจกรรมเรียกร้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ และวิพากษ์ตุลาการภิวัฒน์ กับ บรรดาอาจารย์ นักวิชาการ นักกิจกรรมรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะต่อสู้ปลดแอกตนเองได้ ความเข้าใจการเมืองเรื่องผู้หญิงจะเป็นสิ่งท้าทายให้เกิดการเรียนรู้ กลับไปสู่การรักษาวัฒนธรรมการร่วมต่อสู้บนความเสมอภาค
                     
แต่ขณะเดียวกันภาพสะท้อนในเวทีต่างๆ และช่องทางสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การเสวนา อภิปราย ดูเสมือนผู้หญิงยังคงมีจำนวนน้อยนิด ต่างทำตัวเป็นผู้ชมที่น่ารัก เป็นผู้ฟังที่แสนดี  โอกาสต่างๆก็ไม่เอื้ออำนวย การเป็นกองหน้าในทุกด้านดูจะหดหายไป พร้อมกับวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่สอดแทรก ให้ผู้หญิงตรึงติดกับการอยู่เบื้องหลัง บางคนคิดว่าการมีผู้นำหญิง หรือนายกหญิงก็เพียงพอแล้ว แต่ นายกหญิงคนนี้กลับห้อมล้อมด้วยทีมงาน ทีมรัฐมนตรีที่แทบจะเป็นชายล้วน กรรมาธิการทุกชุด ในสภาก็มี สส.หญิงเพียงไม่ถึง 10 % กฎหมายก้าวหน้าอย่าง กฎหมายทำแท้งเสรีก็ยังอยู่ในโหลยาดอง เสียงกรรมกรหญิงกลายเป็นเสียงเล็กๆ  บทบาทผู้หญิงทางการเมือง….อย่าให้ใครทำแทน ขณะที่เดือนมีนา และวันสตรีสากลที่ใกล้มาถึง

การเมืองเรื่องผู้หญิง….ไม่ได้เติบโตกับกับประชาธิปไตยยุคตาสว่างอย่างที่ควรจะเป็น  ปีนี้ 8 มีนาจะมีค่าราคาอะไร…..อย่างไร นี่คือคำถาม?