การเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้หญิงกับอุดมการณ์เดือนตุลา

นักกิจกรรมหญิงได้เป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านชนชั้นปกครองอำมาตยาธิปไตย ร่วมคัดค้านเผด็จการทหารอย่างห้าวหาญจากปี  2508-2519 และได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (CPT) ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 

โดย ยังดี  โดมพระจันทร์
           
ผ่านไป 2 ปี ในการจัดงานครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล นักสิทธิสตรี นักกิจกรรมสตรี นักการเมือง และสหภาพแรงงานพากันออกมาจัดงานฉลอง วันนี้สำคัญขนาดไหน ก็สำคัญที่ 100ปี มีครั้งเดียว และมาสร้างปรากฏการณ์อัปลักษณ์ในช่วงที่ประเทศไทยเรามีนายกรัฐมนตรี “ดีแต่พูด”
             
สตรีนักต่อสู้ทั่วโลกเริ่มต้นวาระนี้ด้วยภาพความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งมีมาช้านานหลายทศวรรษ การเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ขูดรีดทั้งทางกายและจิตใจ คือประสบการณ์ร่วมกันของผู้หญิงทั่วโลก ผ่านวัฒนธรรมการเมือง ลัทธิความเชื่อ และจารีตประเพณี ผ่านรูปแบบการค้ามนุษย์ การเอาเปรียบแรงงานฯลฯ  หญิงชายผู้รักในเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ผู้รักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างลุกขึ้นสู้และขานรับความสำคัญของวันสตรีสากล  แต่สำหรับประเทศไทยที่ผ่านเหตุการณ์ฆ่ากลางเมืองมาหยกๆ การเชิญอดีตนายกมือเปื้อนเลือดมาเป็นองค์ปาฐกในงาน ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นที่จัดกิจกรรมรวมสองวัน เป็นเรื่องที่รับกันไม่ได้  

นักกิจกรรมหญิงเป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางชนชั้น        
             
มาถึงปีนี้ในช่วงปลายปีจะเป็นวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา หากย้อนมองประวัติศาสตร์ยุคนั้น ผู้หญิงเราจะได้เรียนรู้ว่าภายหลังการลุกขึ้นสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลา  การแสวงหาและเรียนรู้ของคนหนุ่มสาว ที่ดำเนินไปท่ามกลางเสียงระเบิดและกลิ่นควันปืน นักกิจกรรมหญิงได้เป็นกองหน้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านชนชั้นปกครองอำมาตยาธิปไตย ร่วมคัดค้านเผด็จการทหารอย่างห้าวหาญจากปี  2508-2519 และได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (CPT) ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จากผลสะเทือนทางความคิดลัทธิสังคมนิยม นับเป็นประวัติการณ์ที่ผู้หญิงเข้าป่าจำนวนไม่ได้น้อยหน้าผู้ชาย ผู้หญิงได้เสียสละฝังกายในเขตงานต่างๆทั่วประเทศ
             
ขณะที่แนวทางสังคมนิยมขึ้นสู่กระแสสูง การเลือกตั้งทั่วไปของเดือนมกราคมปี 2518 มีทั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ลงแข่งในสนามเลือกตั้ง และได้รับคะแนนเสียงถึงกว่าห้าแสนคะแนนหรือ 14.4% ของคะแนนรวม แม้แต่พรรคที่ผิดกฎหมาย พรบ.คอมฯ อย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ก็ยังได้รับการยอมรับ และมีอิทธิพลต่คนหนุ่มสาวที่อยู่ในองค์กรนักเรียน นักศึกษา
                 
เสียงเพลง “กูจะปฏิวัติ” ของวงกรรมาชนเป็นตัวอย่างงานวัฒนธรรมชิ้นหนึ่งที่เป็นที่นิยม ภาพบันทึกการแสดงที่ผู้หญิงเป็นทั้งนักร้องนักดนตรีมีปรากฏ เช่นเดียวกับกิจกรรมด้านศิลปะทุกแขนง ทั้งดนตรีพื้นบ้าน การละคร กล่าวได้ว่าในงานวัฒนธรรม ผู้หญิงมีส่วนร่วมทุกด้านทั้งปริมาณและคุณภาพ

หญิง-ชายกลายเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมที่ไม่เลือนไปจากความทรงจำ
                     
ป๋วย อึ๊งภากณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี พ.ศ. 2519 เขียนในบันทึกว่าของเขาว่า “ วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณ 7.30 น. ตำรวจไทย โดยคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์  ปราโมช ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงไม่เลือกหน้า และมีกำลังของคณะกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและนวพล เสริม  บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยกับตำรวจ บ้างก็ล้อมมหาวิทยาลัยอยู่ข้างนอก  เพื่อทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมาจากมหาวิทยาลัย  ผู้ที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บก็ตายไปบาดเจ็บไป  คนที่หนีออกมาข้างนอกไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือไม่ต้องเสี่ยงกับความทารุณโหดร้ายอย่างยิ่ง  บางคนถูกแขวนคอบางคนถูกราดน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น  คนเป็นอันมากก็ถูกซ้อมปรากฏตามข่าวทางการว่าตายไป  40  กว่าคน แต่ข่าวที่ไม่ใช่ทางการว่าตายกว่าร้อย  และบาดเจ็บหลายร้อย……”  
                     
ในจำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต ร่างทับร่างที่ถูกเผา ศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะถูกยิงกลางหลัง และหลายศพบนตึกขณะพาณิชย์ ก็คือนักเรียน นักศึกษาหญิง กระทิงแดงและนวพล สนุกกับการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนต่อทุกคน ที่อยู่ใกล้กับทางเข้าด้านหน้า นักศึกษาหลายคนถูกลากออกจากมหาวิทยาลัยและแขวนคอที่ต้นมะขามรอบสนามหลวง บนสนามหญ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนและกองกำลังหน่วยพิเศษ ของตำรวจนครบาล บังคับให้ผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าโดยถอดเสื้อออกทั้งหญิงและชาย  ขณะที่ตำรวจยิงปืนกลขู่เป็นระยะๆผ่านศีรษะของพวกเขา
                   
นักศึกษาอื่นๆ ที่พยายามจะหนีจากอาคารภายในมหาวิทยาลัยผ่านทางประตูด้านท่าพระจันทร์ ถูกตำรวจไล่ล่า นักศึกษาหญิงคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน  ช่วงนาทีวิกฤตที่ ตชด. เข้ากวาดล้างประชาชนในธรรมศาสตร์ บางคนถูกเผาทั้งที่ยังมีลมหายใจที่ด้านหน้าของกระทรวง”ยุติธรรม” ในขณะที่มีฝูงชนโห่ร้องยินดี และเต้นไปรอบๆเปลวไฟเหมือนพีธีบูชายัน ผู้หญิงคนหนึ่งมีชิ้นส่วนของไม้เสียบช่องคลอดของเธอ ลูกเสือชาวบ้านลากคนตายหรือกำลังจะตายจากด้านหน้ามหาวิทยาลัยและทิ้งพวกเขาไว้บนท้องถนน พวกกองกำลังนอกระบบ นอกเครื่องแบบบางคนปักไม้แหลมลงบนศพในขณะที่เด็กชายยืนฉี่รดศพเหล่านั้น  พวกตำรวจในเครื่องแบบนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเพื่อหยุดความรุนแรง
               
ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่ละเว้นว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โศกนาฏกรรมนี้เลือนไปจากความทรงจำเหลือเพียงครอบครัวของผู้สูญเสียและมิตรสหายไมน่าเชื่อว่าปี 2553 เหตุการณ์บนรถนนราชประสงค์ และราชดำเนินกลับมาตอกย้ำเหตุการณ์ในอดีต  และวันนี้อำนาจรัฐฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนมือเปล่าทั้งสองเหตุการณ์ยังคงลอยนวล
 
ความเข้าใจการเมืองเรื่องผู้หญิงจะเป็นสิ่งท้าทาย
             
ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่าอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา  และนักกิจกรรมผู้ก่อร่างสร้างเครือข่ายผู้หญิงในอดีต มาวันนี้หลายคน หรือเกือบทั้งองค์กรได้แปรตัวไป บ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็น สส. พรรคประชาธิปัตย์ บ้างก็เป็นผู้นำ NGOs  หลายคนไปเป็นแกนนำพันธมิตร และแม้แต่ สว.ที่มาจากการลากตั้ง และเลือกตั้ง พวกนี้มุ่งเน้นเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และคนชั้นสูง ออกหน้าปกป้องอมาตยาธิปไตยอย่างโจ๋งครึ่ม ขัดขวางแนวทางประชาธิปไตย และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ขัดขวางพลังหญิงที่เป็นไพร่          
                 
บางคนกลายเป็นผู้นำกรรมกรฝ่ายอนุรักษ์นิยม ช่วยกลุ่มพันธมิตรปิดสนามบิน และยึดทำเนียบรัฐบาล ในยุคที่มาจากการเลือกตั้ง หญิงไทยที่ตื่นจากการหลับใหล คงมีแต่บรรดาญาติวีรชน ญาติผู้ต้องหาคดีการเมืองต่างๆ และผู้หญิงที่ตื่นตัวตาสว่างในขบวนการประชาชนคนเสื้อแดง  ผู้นำหญิงในกิจกรรมเรียกร้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ และวิพากษ์ตุลาการภิวัฒน์ กับ บรรดาอาจารย์ นักวิชาการ นักกิจกรรมรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะต่อสู้ปลดแอกตนเองได้ ความเข้าใจการเมืองเรื่องผู้หญิงจะเป็นสิ่งท้าทายให้เกิดการเรียนรู้ กลับไปสู่การรักษาวัฒนธรรมการร่วมต่อสู้บนความเสมอภาค
                     
แต่ขณะเดียวกันภาพสะท้อนในเวทีต่างๆ และช่องทางสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การเสวนา อภิปราย ดูเสมือนผู้หญิงยังคงมีจำนวนน้อยนิด ต่างทำตัวเป็นผู้ชมที่น่ารัก เป็นผู้ฟังที่แสนดี  โอกาสต่างๆก็ไม่เอื้ออำนวย การเป็นกองหน้าในทุกด้านดูจะหดหายไป พร้อมกับวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่สอดแทรก ให้ผู้หญิงตรึงติดกับการอยู่เบื้องหลัง บางคนคิดว่าการมีผู้นำหญิง หรือนายกหญิงก็เพียงพอแล้ว แต่ นายกหญิงคนนี้กลับห้อมล้อมด้วยทีมงาน ทีมรัฐมนตรีที่แทบจะเป็นชายล้วน กรรมาธิการทุกชุด ในสภาก็มี สส.หญิงเพียงไม่ถึง 10 % กฎหมายก้าวหน้าอย่าง กฎหมายทำแท้งเสรีก็ยังอยู่ในโหลยาดอง เสียงกรรมกรหญิงกลายเป็นเสียงเล็กๆ  บทบาทผู้หญิงทางการเมือง….อย่าให้ใครทำแทน ขณะที่เดือนมีนา และวันสตรีสากลที่ใกล้มาถึง

การเมืองเรื่องผู้หญิง….ไม่ได้เติบโตกับกับประชาธิปไตยยุคตาสว่างอย่างที่ควรจะเป็น  ปีนี้ 8 มีนาจะมีค่าราคาอะไร…..อย่างไร นี่คือคำถาม?

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s