บทเรียนจากอดีตมาจากหลายๆ กรณี เมื่อนายจ้างขออนุญาตศาลเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ศาลกลับทำหน้าที่ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซ้ำกดดันให้กรรมการรับเงินค่าชดเชยจากบริษัท ด้วยแนวคิดที่ว่า “เมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็ไม่รู้จะอยู่ด้วยกันไปทำไม สู้ไปหางานใหม่ทำดีกว่า” ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ช่วยซ้ำเติมคนงานมากกว่า
โดย พจนา วลัย
เนื่องจากผู้เขียนทำงานรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานขององค์กรพัฒนาเอกชน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย จึงเห็นกรณีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม การหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย การทำลายสหภาพแรงงาน โดยฝ่ายนายจ้างบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมปี 2554 ล่าสุดกรณีปัญหาของบริษัทอิเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) จำกัดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ประเทศไทย ด้วยการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 129 คนในระหว่างการเจรจาข้อเสนอของสหภาพแรงงาน และด้วยการไล่ตัวแทนเจรจาออกไปยังนอกโรงงาน โดยไม่สมัครใจ ผู้เขียนขอสรุปตัวอย่างกรณีปัญหา เพื่อให้เห็นเหตุการณ์และการละเมิดสิทธิที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้
จากการประชุมเจรจาระหว่างตัวแทนของสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ประเทศไทย คณะกรรมการสวัสดิการและฝ่ายบริหารของบริษัทอีเลคโทรลักซ์สาขาระยอง เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 เรื่อง 1) ขอปรับค่าจ้างตามอายุงาน 2) ขอปรับสถานะคนงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานประจำของบริษัทอีเล็คโทรลักซ์ และ 3) ขอให้ประกาศโบนัสอย่างเป็นทางการให้ชัดเจน ผู้บริหารแจ้งว่าจะให้คำตอบในวันที่ 11 ม.ค.
เมื่อถึงเช้าวันที่ 11 ม.ค. ฝ่ายบริหารได้เรียกประชุมพนักงานทั้งกะเช้าและกะดึกทั้งหมดประมาณ 200 กว่าคน เพื่อประกาศผลการเจรจา ณ ลานประชุมในโรงงาน แต่ประกาศเพียงเรื่องโบนัสเรื่องเดียวว่าจะให้สองเดือน และปฏิเสธที่จะประกาศเรื่องการปรับคนงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานประจำ และการปรับขึ้นค่าจ้างตามอายุงาน ตัวแทนการเจรจาของพนักงานซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จึงสอบถามฝ่ายบริหาร ณ บริเวณใกล้ที่ประชุม ทว่ากลับถูกไล่ออกจากโรงงานโดยผู้บริหารบอกว่าตัวแทนการเจรจาเป็นตัวปัญหา ผู้บริหารยึดบัตรพนักงานประธานสหภาพแรงงาน และสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่งขึ้นรถตู้ของบริษัทพาออกไปนอกโรงงาน เมื่อสมาชิกที่นั่งรอผลการเจรจาระหว่างตัวแทนบริษัทกับประธานสหภาพแรงงานทราบว่าประธานได้ถูกเลิกจ้างและส่งออกไปนอกโรงงานแล้ว จึงเรียกร้องให้ผู้บริหารนำตัวแทนการเจรจากลับคืนมา แต่ผู้บริหารไม่ยินยอม พร้อมกับประกาศให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานตามปกติ แต่พนักงานยังคงนั่งรอเพื่อให้ผู้บริหารนำประธานสหภาพแรงงานกลับคืนมา หลังจากนั้นผู้บริหารจึงทำการกักบริเวณพนักงานด้วยแถบขาว-แดง ซึ่งมีพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย และต้องการลุกออกไปแต่ไม่ได้รับอนุญาต บริษัทกักบริเวณพนักงานเป็นเวลาถึง 8 ช.ม.
จากนั้น ในเวลา 16.00 น. ผู้บริหารได้ออกมาประกาศเกี่ยวกับข้อเสนอที่ค้างอยู่ 2 ข้อดังข้างต้นว่า 1) การปรับคนงานเหมาค่าแรงให้เป็นพนักงานประจำ กำลังดำเนินการอยู่โดยการไล่เช็คอายุงานของแต่ละคนแล้วเรียกมาประเมินและปรับให้เร็วที่สุด 2) การปรับค่าจ้างตามอายุงาน จะรอดูผลประกอบการก่อนสัก 3-4 เดือนถ้าผลประกอบการดีขึ้นจะทำการปรับเงินขึ้นให้
เมื่อประกาศเสร็จ ผู้บริหารก็ประกาศเลิกจ้างพนักงานด้วยวาจาทันทีจำนวน 129 คน พนักงานจึงถามกลับไปว่าทำไมไม่ประกาศผลการเจรจาสองข้อนี้ตั้งแต่เช้า และทำไมต้องเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงาน เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่ทำหน้าที่ตั้งคำถามเรื่องข้อเรียกร้องในฐานะผู้แทนการเจรจาของคนงาน ผู้บริหารไม่ตอบคำถามและหันหลังเดินจากไป
ในวันถัดมา ผู้บริหารได้ออกประกาศเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรจำนวน 90 คน และสั่งพักงานคณะกรรมการลูกจ้าง 8 คน (ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน) เห็นได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการทำลายการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว OECD ให้การรับรอง
สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทยจึงต่อสู้กลับเข้าทำงาน และยังได้ประสานงานให้สหภาพแรงงานจากประเทศสวีเดนและสหภาพแรงงานสากลทำการประท้วงกดดันให้บริษัทรับพนักงานทั้งหมดรวมถึงคณะกรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงาน จนวันที่ 26 ก.พ. ได้มีการตกลงกันระหว่าง IF Metall สหภาพแรงงานจากสวีเดนและผู้บริหารของบริษัทที่จังหวัดระยอง บริษัทตกลงจะรับพนักงานทุกคนกลับในสภาพการจ้างเดิมโดยให้มาลงชื่อแจ้งความจำนงกลับเข้าทำงานภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.เป็นต้นไป
ต่อมาวันที่ 5 มี.ค. สหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือขอกลับเข้าทำงานพร้อมเซ็นชื่อกำกับที่บริษัท แต่บริษัทไม่ยอมรับหนังสือ ทั้งใช้วิธีส่งจดหมายถึงพนักงานรายบุคคลให้มาแจ้งความจำนงภายในวันที่ 22 มีนาคมและแจ้งเงื่อนไขการกลับเข้าทำงานการทดลองงานใหม่ 119 วัน และนับอายุงานใหม่ และแจ้งพนักงานรายบุคคลว่าบริษัทขอสงวนสิทธิ์การรับกลับคณะกรรมการสหภาพแรงงาน ต่อมาวันที่ 7 มี.ค. คณะอนุกรรมาธิการด้านแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญฝ่ายบริษัท สหภาพแรงงาน และผู้แทนสำนักงานแรงงานจังหวัดระยองและส่วนกลางเข้าชี้แจงปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่นายณกฤศ โกไศยกานนท์ ตัวแทนฝ่ายบริหารกลับอ้างว่า ไม่เคยทราบว่ามีการเจรจาตกลงกันในวันที่ 26 ก.พ. และแจ้งว่าบริษัทกำลังเดินเรื่องขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง
ด้วยเหตุนี้ สหภาพแรงงานจึงได้ขอยื่นกลับเข้าทำงานอีกครั้งต่อหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล (รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ในวันนัดเจรจาวันที่ 14 มี.ค. และขอให้บริษัทพิจารณายกเลิกเงื่อนไขที่พนักงานต้องทำสัญญาจ้างใหม่ นับอายุงานใหม่และทดลองงาน และในวันถัดมา บริษัทให้คำตอบยืนยันตามเงื่อนไขของบริษัทและขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง สหภาพแรงงานประกาศยืนยันให้บริษัทรับกลับพนักงานทั้งหมดรวมถึงคณะกรรมการสหภาพแรงงานตามข้อตกลงที่ผู้บริหารบริษัทอีเล็คโทลักซ์สำนักงานใหญ่และผู้บริหารประเทศไทยได้ทำไว้สหภาพแรงงานอุตสาหกรรม IF METALL ของสวีเดน
การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท คือ
1.พฤติกรรมการล้มล้างสหภาพแรงงานของผู้บริหารบริษัทอีเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทย หลังจากการทำข้อตกลงกับ IF METALL ยืนยันรับกลับสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดเข้าทำงาน สภาพการจ้างเดิม ผู้บริหารบริษัทในประเทศไทยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ล้มข้อตกลงที่ทำกับผู้แทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ สวีเดน, IF METALL และ IndustriALL Global Union
2.พฤติกรรมการละเมิดมาตรฐานแรงงานสากล ILO 87 และ 98 และมาตรฐานจรรยาบรรณแรงงานกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งสวีเดนเป็นสมาชิก เรื่องการเคารพสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมของคนงานในเรื่องต่างๆ ที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน
3.การกักขังหน่วงเหนี่ยวสมาชิกสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ การเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม ในขณะที่เขากำลังทำหน้าที่ตัวแทนคนงานในการเจรจาและการตั้งคำถามกับบริษัทเรื่องการพิจารณาข้อเรียกร้องของพนักงานเรื่องการบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่ทำงานหนักและรับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ ให้เป็นพนักงานประจำของบริษัทเพื่อความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ตลอดจนการปรับค่าจ้างตามอายุงานของพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพนักงานที่ทำงานให้กับบริษัทมาหลายปี
4.การประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยวาจาจำนวน 129 คน อย่างไม่เป็นธรรมในวันที่ 11 ม.ค. ภายหลังการกักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
จากลำดับเหตุการณ์โดยสรุปและการละเมิดสิทธิแรงงานข้างต้น พบเห็นได้ทั่วไปและเกิดขึ้นซ้ำซากในสังคมไทย ภายใต้โครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมและภายใต้กลไกการคุ้มครองสิทธิของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งกรอบคิดทางการเมืองของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองไม่เป็นคุณแก่ประชาชนคนส่วนใหญ่ เห็นได้จากการไร้บทบาทในการดูแลคุ้มครองแรงงาน ให้เป็นเพียงฝ่ายไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งๆที่บริษัทละเมิดสิทธิอย่างเห็นได้ชัด และไม่สามารถบังคับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายใดๆ ได้ ตัวแทนฝ่ายรัฐมีวิธีคิดที่อะลุ่มอะหล่วยกับฝ่ายนายจ้างด้วยการให้ฝ่ายลูกจ้างเจรจาภายใต้เงื่อนไขถึง 8 ข้อของนายจ้าง ซ้ำยังไปช่วยรักษาสิทธิ์ของฝ่ายนายจ้างที่ขออำนาจศาลเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานอีกด้วย ทั้งๆที่นายจ้างเป็นฝ่ายเริ่มต้นละเมิดก่อน และละเมิดซ้ำสองกรณีที่ไม่ยอมทำตามข้อตกลงกับสหภาพแรงงานจากสวีเดนให้รับพนักงานกลับเข้าทำงาน ถือได้ว่าตัวแทนภาครัฐไม่ได้ช่วยปกป้องและยกระดับสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
บทเรียนจากอดีตมาจากหลายๆ กรณี เมื่อนายจ้างขออนุญาตศาลเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ศาลกลับทำหน้าที่ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซ้ำกดดันให้กรรมการรับเงินค่าชดเชยจากบริษัท ด้วยแนวคิดที่ว่า “เมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็ไม่รู้จะอยู่ด้วยกันไปทำไม สู้ไปหางานใหม่ทำดีกว่า” ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ช่วยซ้ำเติมคนงานมากกว่า
แม้จะเกิดกรณีที่คนงานชนะคดีความนายจ้าง แต่ในทางปฏิบัติหลายครั้งบริษัทไม่นำกรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงาน ให้อยู่ข้างนอกแต่ให้เงินเดือน หรือกรณีที่นำกลับตามศาลสั่ง หรือตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (กลไกตัดสินข้อพิพาทแรงงานกับนายจ้างของกระทรวงแรงงาน) ก็โยกย้ายตำแหน่งงาน สร้างแรงกดดัน ปรับสภาพการจ้างใหม่ที่ทำให้คนงานเสียประโยชน์ เป็นต้น
ฉะนั้น จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ในการรักษาสถานะการจ้างงานให้มั่นคง และไม่มีหลักประกันที่คนงานจะชนะตลอดรอดฝั่ง สิ่งที่ช่วยให้สร้างความมั่นใจและหลักประกันของการต่อสู้ (ในเชิงหลักการ) คือ การมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งที่ติดตามแก้ไขปัญหาจนถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นจำนวนสมาชิกก็จะลดน้อยลง และบั่นทอนกำลังใจของสมาชิกได้ หากมีการพ่ายแพ้ซ้ำซาก นอกจากนี้ต้องเน้นการเคลื่อนไหวกดดัน รณรงค์มากกว่าการล็อบบี้เจ้าหน้าที่รัฐด้วยหัวขบวนเพียงไม่กี่คน หรืออาศัยกลไกที่มีอยู่ หรือผลักให้ไปสู่การขึ้นศาล ซึ่งทำให้คนงานเสียประโยชน์มากกว่า และควรแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น หลายกรณีปัญหาสามารถยกระดับไปสู่ระดับนโยบายของขบวนการแรงงาน เช่น การมีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าแบบสถานประกอบการเพื่อลดปัญหาการทำลายสหภาพแรงงานโดยง่าย การยกเลิกการจดทะเบียนของสหภาพแรงงาน การมีสหภาพแรงงานอิสระ ซึ่งเคยมีการเสนอ แต่ยังไม่มีการผลักดันเท่าที่ควร