ศาสนาเป็นสิ่งหนึ่งที่ชดเชยอารมณ์มนุษย์ เช่น การทำให้คนจนรู้สึกว่าตนเองเท่าเทียมกันกับคนรวย โดยมอมเมาว่า จะรวยจะจนก็มีสิทธิขึ้นสวรรค์เหมือนกัน สวรรค์นั้นซื้อไม่ได้ด้วยเงิน แต่คุณงามความดีทำไว้ก่อนตายต่างหากที่จะนำเราไปสวรรค์ได้ หรือประมาณว่าความรวยความจนเป็นเรื่องของโชคชะตา
โดย ฮิปโป
ทัศนะของชาวมาร์คซิสต์ ที่ว่าด้วยเรื่องศาสนา นั้นมองศาสนาเป็นเพียงปรัชญาอย่างหนึ่งของมนุษย์ ศาสนาไม่เกิดก่อนมนุษย์ เพราะมนุษย์สร้างศาสนาขึ้นเพื่อเป็นเกราะป้องกันความทุกข์ ไม่ว่าจะทางอารมณ์ หรือทางร่างกายก็ตาม และเป็นแนวทางในการอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิด ในตอนที่มนุษย์ยังไม่รู้จักวิทยาศาสตร์
ตามความหมายของคำว่า ศาสนา (Religion) โดยสรุปแล้วหมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งสองสิ่ง ความศรัทธาต่อสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์กันทางวิญญาณจิตระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และแสดงออกความเชื่อต่อสิ่งเหล่านั้นเป็นรูปแบบพิธีกรรม และเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นโดยพระเจ้า ดังนั้นรากเหง้าของศาสนาจึงเป็นเรื่องของเทววิทยาล้วนๆ
เทววิทยาเป็นเบื้องต้นของกำเนิดศาสนา เนื่องจากเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ใช้เพื่อชดเชยอารมณ์ ที่เกิดจากความกลัว ความไม่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกินว่ามนุษย์สมัยนั้น จะหาคำตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ในระยะแรกของการเกิดศาสนาพวกเทวนิยมนั้น มนุษย์ให้ความสำคัญและบูชาธรรมชาติรอบตัว ที่มีอิทธิพลในการให้คุณให้โทษต่อการดำรงชีวิต อย่างเช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ดวงอาทิตย์ สัตว์ต่างๆ เป็นต้น มนุษย์แสดงเคารพต่อธรรมชาติรอบตัวผ่านทางพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเซ่นไหว้หรือการสร้างรูปเคารพ เพื่อแสดงความเคารพต่อสภาวะสิ่งเหนือธรรมชาติ นี่คือมูลเหตุแห่งการเกิดศาสนา จากนั้นศาสนาก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ตามวิถีชีวิตและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของมนุษย์
ในเวลานี้คำอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ หรือปรากฎการณ์ทางสังคมนั้น ไม่สามารถนำคำตอบโดยใช้หลักการทางเทววิทยามาอธิบายได้อีกต่อไป เพราะวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้คนตอบในสิ่งต่างๆที่มนุษย์อยากรู้ไว้หมดแล้ว ถ้าถามว่าเหตุใดศาสนาถึงยังคงอยู่ได้ คำตอบคือมนุษย์ยังคงต้องการเกราะป้องกันความทุกข์ยากอยู่ และศาสนาเป็นสิ่งหนึ่งที่ชดเชยอารมณ์มนุษย์ เช่น การทำให้คนจนรู้สึกว่าตนเองเท่าเทียมกันกับคนรวย โดยมอมเมาว่า จะรวยจะจนก็มีสิทธิขึ้นสวรรค์เหมือนกัน สวรรค์นั้นซื้อไม่ได้ด้วยเงิน แต่คุณงามความดีทำไว้ก่อนตายต่างหากที่จะนำเราไปสวรรค์ได้ หรือประมาณว่าความรวยความจนเป็นเรื่องของโชคชะตา การชดเชยอารมณ์ด้วยความคิดแบบนี้ เป็นการลดทอนกำลังในการต่อสู้เพื่อปากท้องที่ดีขึ้นในโลกจริง และเป็นการเบี่ยงเบนให้มนุษย์คาดหวังกับความสุขในโลกหลังความตาย
ในโลกแห่งเป็นจริง มนุษย์ทำงานเพื่อต่อลมหายใจของตัวเองไปวันๆ คนยากจนมักถูกสอนให้ถ่อมตน และยอมรับกับชะตากรรมบนโลกด้วยความอดทน เพื่อผลตอบแทนในชีวิตหลังความตาย ส่วนคนร่ำรวย ที่เสวยสุขอยู่บนความหยาดเหงื่อแรงงานของคนจน ก็จะถูกสอนให้ซื้อตั๋วราคาถูกเพื่อเข้าสวรรค์ โดยการโยนเศษเนื้อให้คนยากจนกิน แนวทางของศาสนาไม่มีคำสอนใดที่กล่าวไว้ว่า ชนชั้นผู้กดขี่จงสามัคคีกันปลอดแอกความทุกข์ยาก มนุษย์จึงยังคงอยู่กับการขูดรีดของระบบทุน
ดังนั้นแล้ว ศาสนาจึงเปรียบเสมือนการถอนลมหายใจของมวลมนุษย์ผู้ถูกกดขี่ ในโลกแห่งคำสอนของศาสนา มักบอกให้เราปล่อยวางหรือสันติสุข แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างนั้น เป็นเพียงทางออกในระดับปัจเจก ซึ่งไม่มีทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมของโลกจริงได้ เนื่องจากว่าไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคม แต่เป็นการต่อสู้กับความเจ็บปวดภายในของจิตใจบุคคลเท่านั้น ดังคำกล่าวของมาร์คซ์ที่ว่า “ศาสนาคือความอบอุ่นในโลกที่ไร้หัวใจ”
เอกสารอ้างอิง
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ 2545 : อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม 2 , ชมรมหนังสือประธิปไตยแรงงาน