สังคมนิยมคือประชาธิปไตยแท้ที่พึงปรารถนา

ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมนิยมคือวิธีการจัดการบริหารสังคมมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือกันระหว่างพลเมือง เน้นความสมานฉันท์และเน้นความเท่าเทียมกัน แทนที่จะเน้นการแย่งชิงกัน หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ตามระบบความคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของทุนนิยมตลาดเสรี
   
สังคมนิยมเป็นระบบที่ไม่มีชนชั้น คือไม่มีเจ้านายและผู้ถูกปกครอง ไม่มีคนส่วนน้อยที่ครอบครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรนอกจากการทำงานเพื่อคนอื่น มันเป็นระบบที่ยกเลิกนายทุนและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในกรอบ สังคมนิยมคือสภาพมนุษย์ที่เป็นปัจเจกเสรีในระดับสูงสุดผ่านกระบวนการร่วมมือกับทุกคนในสังคม
   
ในระบบทุนนิยม ถ้าเรามีประชาธิปไตย มันก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราอาจมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล หรืออาจมีเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง แต่เราไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบและควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจ การลงทุน และการผลิตถูกควบคุมโดยนายทุนในรูปแบบการผูกขาดอำนาจ และเราไม่มีโอกาสร่วมในการปกครองตนเอง เพราะเรายังมีคนมาปกครองเราภายใต้ระบบชนชั้น ในระบบทุนนิยมนี้ แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีกฏหมายเผด็จการแบบ 112 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นเช่นประเด็นว่าใครครองสื่อมวลชนเป็นต้น ดังนั้นสิทธิในการแสดงออกของคนธรรมดากับนายทุนสื่อต่างกันในรูปธรรม

ในสังคมปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเลือกว่าเราจะ “เป็นใคร” หรือ “เป็นอะไร” อย่างเสรี เพราะเราต้องไปหางานภายใต้เงื่อนไขนายทุน เด็กถูกแยกและคัดเลือกตั้งแต่อายุยังน้อยว่าจะเป็น “ผู้ประสพความสำเร็จ” หรือเป็น “ผู้ไม่สำเร็จ” และเกือบทุกครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กนั้นเกิดในตระกูลไหน มนุษย์จำนวนมากจึงไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ท่ามกลางความหลากหลายเลย
   
ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง

นักสังคมนิยมชื่อดัง เช่น คาร์ล มาร์คซ์ หรือ ลีออน ตรอทสกี้ เคยวาดภาพว่าภายใต้สังคมนิยมเราจะสามารถเป็นศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์ตอนเช้า และเป็นช่างฝีมือหรือนักกิฬาตอนบ่ายได้ ชีวิตแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยสิ้นเชิง เพราะเดิมมนุษย์รักการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่พอเราตกอยู่ในสังคมชนชั้น งานกลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อภายใต้คำสั่งของคนอื่น งานในระบบสังคมนิยมจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะมันจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าเรามีผลงานที่น่ายกย่อง
   
แน่นอนงานบางอย่างคงไม่มีวันสนุก เช่นการซักผ้า เก็บขยะ หรือการทำความสะอาดส้วม แต่งานแบบนั้นเราใช้เครื่องจักรมาทำแทนได้บ้าง และที่ต้องอาศัยมนุษย์ก็ผลัดกันทำ ไม่ใช่ว่ามีบางคนในสังคมที่ต้องทำงานแบบนี้ตลอดชีพ

สังคมนิยมคือระบบที่เราร่วมกันผลิตสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ต้องการ และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะใช้ระบบการทำงานของทุกคนตามความสามารถของแต่ละคน แต่ในระบบทุนนิยมมันมีการผลิตเพื่อกำไรของนายทุนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อกำไรลดลง ก็จะเลิกผลิต ทั้งๆ ที่คนยังต้องการสินค้ามากมาย มันจึงเกิดวิกฤตแห่งการผลิต “ล้นเกิน” ท่ามกลางความอดอยากเสมอ ทุนนิยมนี้ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ
   
สังคมนิยมจะเป็นระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทุนนิยม เพราะมีการวางแผนการผลิต ผ่านระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ไม่ใช่นายทุนแข่งกันผลิตเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจนเกิดการล่มจมและปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง อย่างที่เราเห็นทั่วโลกตอนนี้ และสังคมนิยมจะไม่เปลืองทรัพยากรโดยการโฆษณาให้พลเมืองซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากำจัดการแข่งขันแบบตลาด ซึ่งเป็นแค่ระบบ “ตัวใครตัวมัน” เราจะกำจัดความจำเป็นของการทำสงครามและประหยัดงบประมาณทหารมหาศาล การจัดการบริการประชาชนในปริมาณระดับคนหมู่มาก จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายอีก เรามั่นใจตรงนี้ได้เพราะระบบสาธารณสุขและการศึกษาแบบ “ถ้วนหน้า” ในระบบทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการบริการประชาชนผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัท และพลเมืองจะสามารถควบคุมคุณภาพ และออกแบบระบบการบริการที่ต้องการได้อีกด้วย ผ่าน “สภาประชาชน” ในระดับที่ทำงาน ท้องถิ่น หรือภูมิภาค
   
สภาประชาชนที่ว่านี้ เคยถูกออกแบบมาโดยคนทำงานธรรมดาในคอมมูนปารีส หรือหลังการปฏิวัติรัสเซีย มันเป็นสภาที่เราถอดถอนผู้แทนที่เราเลือกมาได้ทุกเมื่อ เพื่อควบคุมเขาอย่างเต็มที่ มันเป็นระบบที่มีเขตการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เพื่อควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน และมันเป็นสภาที่ผู้แทนไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่กินเงินเดือนมากกว่าคนธรรมดา ต่างจากรัฐสภาในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง
   
ในระบบสังคมนิยมเราจะขยันลบล้างความคิดล้าหลังในหมู่พลเมือง ที่นำไปสู่การดูถูกสตรี เกย์ ทอม ดี้ คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มน้อย และมนุษย์จะสามารถรักกันด้วยหัวใจ แทนที่จะรักกันภายใต้เงื่อนไขของเงินหรือศีลธรรมจอมปลอม
   
ระบบทุนนิยมตีค่าสิ่งแวดล้อมในโลกไม่ได้ เพราะจะมองแค่กำไรเฉพาะหน้าเสมอ นี่คือสาเหตุที่สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และเรามีปัญหาโลกร้อน และที่น่าสังเกตุคือคนที่คัดค้านการแก้ปัญหาโลกร้อนมากที่สุดในปัจจุบัน คือพวกกลุ่มทุนใหญ่และรัฐบาลของเขา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในระบบสังคมนิยมเราจะให้คุณค่ากับการปกป้องโลกรอบตัวเรา โดยไม่คิดเป็นเงินๆ ทองๆ และนอกจากนี้เราจะให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยไม่ตีเป็นราคาเงินบาทหรือดอลล่าเลย เพราะบางอย่างมันมีค่ามากกว่าเงิน
   
คงจะมีคนล้าหลังหดหู่ที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า “มันเป็นแค่ความฝัน มันอุดมการณ์เกินไป” แต่เรามีคำตอบหลายประการ
   
ในประการแรกสังคมนิยมไม่ใช่ “สวรรค์” เพราะมันจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมมนุษย์ แต่มันจะเป็นการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความอยู่ดีกินดี เราคงต้องลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้น
   
ในประการที่สองสังคมนิยมสร้างขึ้นได้เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากความคิดคับแคบที่มาจากการกล่อมเกลาในระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าเราต้องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติล้มรัฐนายทุน จะเป็นโอกาสทองที่เราจะร่วมกัน “ล้างขยะแห่งประวัติศาสตร์ออกจากหัวเรา”
   
ในประการที่สาม เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่เราวิวัฒนาการมาจากลิง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเราเป็นประวัติของสังคมที่ไม่มีชนชั้น คือเราร่วมมือกันเต็มที่ ทุนนิยมเองก็พึ่งมีมาสองร้อยกว่าปีเอง ในขณะที่มนุษย์อยู่บนโลกมานานถึงสองแสนห้าหมื่นปี และแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน เราก็เห็นตัวอย่างของการร่วมมือกันหรือความสมานฉันท์เสมอ สังคมนิยมใกล้เคียงกับ “ธรรมชาติมนุษย์” มากกว่าความเห็นแก่ตัวของทุนนิยม
   
อย่างไรก็ตามสังคมบุพกาลที่ไม่มีชนชั้นในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีความขาดแคลน มันจึงเป็นสังคมเท่าเทียมท่ามกลางความยากจน แต่ปัจจุบันเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและสบายได้ สังคมนิยมจึงต้องอาศัยความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันไม่ดีพอ เพราะมันไม่สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทุกคนได้ และมันเกิดวิกฤตและสงครามเป็นประจำ มันเหมือนกับว่ามนุษย์สร้างหัวจักรรถไฟที่มีพลังมหาศาลขึ้นมา แล้วขับรถไฟไม่เป็น เพราะคนขับคือนายทุนที่มีวัตถุประสงค์อื่น มันเลยตกรางเป็นประจำหรือชนกับรถไฟอื่น สังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนขับรถไฟได้อย่างปลอดภัย
   
พวกล้าหลังจำนวนมากชอบพูดว่า “สังคมนิยมล้าสมัย” แต่ระบบทุนนิยมเก่ากว่าความคิดสังคมนิยม ถ้าอะไรล้าหลังก็คงต้องเป็นทุนนิยม และยิ่งกว่านั้นการบูชาสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่มันเป็นเรื่องโบราณและอดีต ในขณะที่การเสนอสังคมใหม่ที่เสรีและเท่าเทียมเป็นการมองอนาคต
   
ในประการที่สี่ สังคมนิยมคือความใฝ่ฝันของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ที่เป็นทาสเคยฝันว่าจะมีเสรีภาพ มนุษย์ที่เป็นไพร่เคยฝันว่าจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง สตรีเคยฝันว่าจะเท่าเทียมกับชาย และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริงในโลกเรา แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังพวก “กาดำหดหู่” ที่บอกว่ามัน “อุดมกาณ์เกินไป” ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ไม่มีวันเกิด
   
ในประการที่ห้า สังคมนิยมคือเป้าหมายในจิตใจคนที่รักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่มันไม่เกิดง่ายๆ นักสังคมนิยมไม่เคยหลอกตัวเองว่าถ้านั่งอ่านหนังสือที่บ้านมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ เราต้องขยันสร้างเครื่องมือที่จะล้มอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนทำงานเครื่องมือนั้นคือพรรคปฏิวัติสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เราต้องมีสื่อของเรา เราต้องขยายสมาชิกพรรค เราต้องฝึกฝนการต่อสู้ซึ่งแน่นอนจะมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังสองก้าว
   
ในประการที่หก สังคมนิยมคือระบบที่เน้นวิทยาศาสตร์และความคิด “วัตถุนิยม” ที่ติดดินและเป็นรูปธรรม แต่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ และความเชื่อเพี้ยนๆ เช่นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน และมันเต็มไปด้วยการพยายามหลอกให้ประชาชนส่วนใหญ่กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของเขา เช่นการยอมรับการกดขี่ขูดรีด หรือการคลั่งชาติที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนจนเป็นต้น ถึงแม้ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่เคยถูกสร้างขึ้นมาบนความคิดวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากมันเป็นระบบที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย การปกป้องทุนนิยมในยุคปัจจุบันกระทำบนพื้นฐานความเพ้อฝันและการหลอกลวง มันเป็นการฝันร้ายของมนุษย์
   
นอกจากนี้จะมีคนที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” และมาบอกว่า “สังคมนิยมสร้างไม่ได้” เพราะมันล้มเหลวที่รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม ลาว หรือจีน และแถมมันเป็นเผด็จการด้วย ใช่ระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่เคยมีหรือยังมีอยู่ในประเทศเหล่านั้น มันเป็นเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพ และยิ่งกว่านั้นมันไม่มีความเท่าเทียมด้วย มันเป็นระบบชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดพลเมืองในนามของ “สังคมนิยม” โดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเราวิเคราะห์ที่มาที่ไปของระบบเหล่านี้ จะพบว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียบนความพ่ายแพ้และซากศพของการปฏิวัติหลังจากที่เลนินเสียชีวิต มันเป็นการสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” โดยสตาลิน และในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นก็ลอกแบบกันมา ในจีนมันเป็นการปฏิวัติชาตินิยมของพรรคเผด็จการ และถ้าเราเปรียบเทียบบางเรื่องที่เห็นในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ เราจะพบว่าคล้ายๆ ทุนนิยมตลาดเสรีของประเทศไทยอีกด้วยการวิเคราะห์ว่าระบบ “สตาลิน-เหมา” ตรงข้ามกับสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งพบหลังมันล่มสลาย แต่เป็นการวิเคราะห์ของนักมาร์คซิสต์อย่าง ลีออน ตรอทสกี หรือโทนนี่ คลิฟ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
   
บางคนอาจมองว่าไม่อยากปฏิวัติล้มทุนนิยม เขาจะ(เพ้อ)ฝันว่าทุนนิยมปฏิรูปให้น่ารักได้ เช่นการมีระบบรัฐสวัสดิการในสแกนดิเนเวียหรืออังกฤษเป็นต้น แต่เราต้องเปิดหูเปิดตาดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศเหล่านั้น เพราะวิกฤตของระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันกำลังกดดันให้รัฐบบาลทุกพรรคเอาใจนายทุนเพื่อเพิ่มอัตรากำไร มันแปลว่ารัฐสวัสดิการกำลังถูกทำลายลง สภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองแย่ลง และมีการชักชวนให้คนทำงานตีกันเองด้วยลัทธิเหยียดเชื้อชาติ จนในบางประเทศพรรคฟาสซิสต์ก็ขึ้นมามีบทบาทอีก เหมือนหลังวิกฤตที่เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
   
ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่สังคมนิยมคือประชาธิปไตยแท้ที่พึงปรารถนา และผมอยากจะชักชวนให้ท่านผู้อ่านร่วมกับเราในองค์กรเลี้ยวซ้าย เพื่อสร้างสร้างสังคมนิยม

การสร้างประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐสวัสดิการ

การเมืองของประชานิยมมีลักษณะจำกัด ไม่สามารถไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ และยังถูกนำมาใช้คู่ขนานกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ แปรรูปองค์กรสาธารณะให้เป็นของเอกชน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล พรรคนายทุน

โดย พจนา วลัย

บทความนี้ได้นำเสนอไปในงานมาร์คซิสม์ขององค์กรเลี้ยวซ้ายวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนต้องการเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ และเพื่อเชิญชวนนักเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายซ้าย นักสหภาพแรงงาน ผู้รักความเป็นธรรมร่วมกันถกเถียงข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตย และรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

การรณรงค์เรื่องการมีรัฐสวัสดิการในไทยนั้น มีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ปัญหาความล้มเหลวของโครงสร้างรัฐไทยที่ไม่สามารถตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีและสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่  โดยมีสาเหตุมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามแนวทางเสรีนิยม-ทุนนิยม ได้แก่ ความล้มเหลวในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่เหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และการถูกลดทอนอำนาจทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน ผู้ถูกปกครอง

ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมาเป็นเวลาหลายปี  แต่ ณ บริบทความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน เราองค์กรเลี้ยวซ้ายต้องการตอกย้ำประเด็นการสร้างประชาธิปไตยตามกรอบของรัฐสวัสดิการ ที่ไม่ใช่แค่การพูดถึงสวัสดิการของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายทุกด้านอย่างไม่เลือกปฏิบัติ หรือการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เนื่องจากมีบางกลุ่มนำเสนอแนวทางนี้เช่นกัน และบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์  แต่ใช้กรอบคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับองค์กรเลี้ยวซ้าย เช่น ใช้แนวทางชาตินิยม เสรีนิยม ที่ผู้อ่านควรตั้งคำถามจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มต่างๆด้วย   หัวข้อที่นำเสนอมีดังต่อไปนี้

1.อาการของความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง
2.การเมืองของแนวทางรัฐสวัสดิการ
3.พัฒนาการทางการเมืองของแนวนโยบายประชานิยม
4.รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นประชาธิปไตย

1.อาการของความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง

สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานขับรถบรรทุกอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทลินฟอกซ์ ทรานสปอร์ต พนักงานลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยและเป็นธรรมขึ้น เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น หลับในอันเนื่องจากล้า เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ งานเร่ง วิ่งรอบเพื่อให้ได้ค่ารอบมากขึ้น แต่ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก  ด้วยระบบการจ้างงานที่ขาดสวัสดิการหลายอย่าง และเร่งงานจนพนักงานไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งการทำงานขนส่งสินค้าทางบกจะถูกกฎหมายกำชับให้ต้องปฏิบัติตามเพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนได้ เช่น การจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เพียงพอไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ได้นำเสนอปัญหาสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับเดือนพ.ค.)

กล่าวคือ ระบบโครงสร้างการจ้างงานหากเลวร้าย ย่อมส่งผลต่อการผลิต การทำงานของพนักงานได้ แม้สามารถผลิตได้มาก ทำงานได้เยอะ แต่ขาดความปลอดภัย ประสบอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายต่อตัวเองและสังคม และสุขภาพอนามัยของคนทำงานย่ำแย่  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ผลกำไรสูงสุดนั่นเอง การรวมตัวกันของพนักงานจึงเป็นหนทางของการเจรจาต่อรองกับบริษัท ทว่ากลับถูกเลิกจ้าง และปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

โครงสร้างที่มีปัญหาภายในหมายถึง มีเป้าหมายและระบบการทำงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์/กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และแสดงอาการหรือก่อปรากฎการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ที่ส่งผลต่อคนในวงกว้าง เห็นได้จากโครงสร้างการผลิตและการจ้างงานในระบบทุนนิยม ที่ก่อให้เกิดผลต่อสังคมคือ แรงงานขาดความมั่นคงในชีวิต ขาดหลักประกันมากยิ่งขึ้น เช่นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในแถบยุโรปขณะนี้ ขาดอำนาจการต่อรอง สังคมอ่อนแอในการตรวจสอบและแก้ไขการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของชนชั้นปกครอง

2.การเมืองของแนวทางรัฐสวัสดิการ

การสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมไทย คือการปรับปรุงโครงสร้างรัฐใหม่ ให้รับใช้ประชาชน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระบบทุนนิยม ด้วยการลดช่องว่างทางชนชั้น เช่น ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ช่องว่างทางอำนาจการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานในภาคการผลิต ประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในระบบการเมืองการปกครอง โดยรัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่มากกว่าเอียงข้างผลประโยชน์ของคนรวยเพียงหยิบมือเดียว

แนวทางนี้เป็นยุทธศาสตร์สำหรับต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของผู้ปกครองที่ไม่เห็นหัวประชาชน ทุนที่เอาแต่ได้ หากำไรสูงสุดและใช้เป็นเส้นทางไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง  โดยการปรับปรุงระบบโครงสร้างการเมืองการบริหารที่เป็นทางการให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปล่อยให้อยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการ และปล่อยให้มีการคอรัปชั่น หรือไปเน้นสร้างองค์กรอิสระ หน่วยงานนอกภาครัฐให้พ้นไปจากอำนาจทางการเมืองของประชาชน ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาระบบราชการที่ทุจริตคอรัปชั่นในระยะยาว เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบบศาล ตุลาการ อัยการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการดูแล หรือเข้าระบบกลไกตลาด ที่ให้รัฐลดบทบาทดูแลสวัสดิการด้านการศึกษา จัดการศึกษาตอบสนองประโยชน์ของประชาชน เรียนฟรี มีคุณภาพมาตรฐาน

ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นแรงงานในฐานะผู้ผลิตควรมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองทุกระดับ แม้จะมีอยู่แล้ว เช่น อบต. อบจ. เทศบาล แต่ไม่มีภาคประชาชนเข้าไปนั่งตรวจสอบภายใน  อีกทั้งในระบบราชการ  กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลของรัฐ ระบบยุติธรรม กองทัพ ตำรวจ ไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไป และไม่มีฝ่ายประชาชนร่วมบริหารด้วย  ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ระบบการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปจำเป็นต้องมี ซึ่งแตกต่างจากระบบที่เป็นอยู่ ที่มาจากฐานคิดคนดีมีศีลธรรม หรือกรอบคิดชาตินิยม

กลุ่มที่วิจารณ์แนวคิดรัฐสวัสดิการได้แก่ นักวิชาการสายเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยม ที่ต่างก็โปรระบบทุนนิยมกลไกตลาด หากำไรสูงสุด เพราะร่วมกันแชร์ทัศนะแบบเดียวกันคือ มองว่า เป็นระบบสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐ รอการอุปถัมภ์ ซึ่งจะทำให้ดูว่าด้อยค่า ดูแลตัวเองไม่ได้ และยังสรุปตรงกันว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะมีรัฐสวัสดิการ และจะนำไปสู่การเกิดวิกฤตทางการคลัง การเงิน (ของชนชั้นที่มั่งคั่ง) แต่สายนี้ไม่เคยพูดถึงการลดงบประมาณของกระทรวงที่ไม่จำเป็น เช่น มหาดไทย กองทัพที่มักใช้อาวุธจัดการกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง หรือผลักดันให้มีการเรียกเก็บภาษีจากคนที่รวยมากๆ ในสังคมมากขึ้น  ในที่สุดก็จะบอกว่ารัฐควรเป็นแค่ตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา ไม่ควรไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน กลไกตลาด การค้าเสรี การเมืองของสายนี้คือลดทอนศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของคนจนนั่นเอง

อีกกลุ่มหนึ่งคือ สายสังคมประชาธิปไตย (Social democracy) ที่มีปัญหาจุดยืนทางการเมืองเพราะประนีประนอมกับนายทุน ชนชั้นปกครอง แม้จะเรียกร้องให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้ามาตรฐานเดียว เช่นเดียวกับสายสังคมนิยม แต่หลีกเลี่ยงการนำเสนอให้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งโดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีนักโทษการเมืองที่คิดต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ หรือการแก้ไข ยกเลิกกฎหมายที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร 2549 และที่ถูกนำมาใช้ขจัดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของแนวร่วมประชาธิปไตยต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

อีกสายหนึ่งคือ พรรคการเมืองใหม่ ที่ชูนโยบายรัฐสวัสดิการเตรียมพร้อมลงเลือกตั้งปี 2554 โดยบอกว่าเป็นพรรคมาจากมวลชน และมีนโยบายต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่พรรคนี้มีที่มาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนการทำรัฐประหาร 2549 ใช้ความรุนแรงทางทหารจัดการกับรัฐบาลนายทุนที่มองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาที่ควรถูกจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะเดียวกัน ก็ทำลายระบบการเลือกตั้งตัวแทนไปด้วย ทำให้ประชาชนไร้อำนาจการต่อรองทางนโยบายกับนักการเมืองในระบบ ทั้งถูกริดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ถูกใช้ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมือง มีนักโทษทางความคิด  ซึ่งถือได้ว่าฐานคติของพรรคดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย และมีจุดยืนทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เผด็จการทหารและกลุ่มทุนซีกหนึ่ง เพราะเมื่อจุดยืนทางการเมืองไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น

3.พัฒนาการทางการเมืองของแนวนโยบายประชานิยม

แนวทางรัฐสวัสดิการสามารถต่อยอดจากแนวทางการพัฒนาแบบประชานิยมได้ เพราะมีจุดหลักร่วมคือ รัฐมีบทบาทหน้าที่ดูแลประชาชนมากขึ้นในด้านสวัสดิการ แทรกแซงกลไกตลาด กระจายรายได้ให้แก่คนทำงาน การเมืองของแนวทางประชานิยมได้ช่วยยกระดับความคิดทางการเมืองของประชาชน  คือ

1) ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล บ้านราคาถูก

2) เสริมสร้างบทบาทของรัฐในการดูแลประชาชน

3) เพิ่มคุณค่าของระบบการเลือกตั้ง การแข่งขันนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ  แนวทางนี้ยังส่งผลสะเทือนต่อแนวทางเสรีนิยมใหม่ ดังเห็นได้จากการออกตอบโต้โจมตีของนักวิชาการสายเสรีนิยม เช่น ทีดีอาร์ไอ ว่าขาดวินัยทางการคลัง  อีกทั้งยังเอาชนะแนวทางของขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ไม่ได้ให้ทางเลือกที่เป็นประโยชน์เต็มที่แก่ประชาชน

เช่น ขบวนการแรงงานที่ใช้ลัทธิสหภาพแรงงานปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมือง สมัชชาคนจนที่ปฏิเสธการเข้าสู่อำนาจรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ใช้ฐานคิดชุมชนพึ่งพาตัวเอง จัดการสวัสดิการกันเองอย่างไม่เพียงพอ ปฏิรูปเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่แตะปัญหาของโครงสร้าง รวมถึงการปฏิเสธการเมืองสังคมนิยมและการสร้างพรรคเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกัน  จนหลายกลุ่มทำแนวร่วมกับทุนกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้มทุนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยการใช้ความรุนแรง อันเป็นการเมืองสกปรก ถอยหลังลงคลอง

อย่างไรก็ตาม การเมืองของประชานิยมมีลักษณะจำกัด ไม่สามารถไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ และยังถูกนำมาใช้คู่ขนานกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ แปรรูปองค์กรสาธารณะให้เป็นของเอกชน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล พรรคนายทุน เช่น ไม่ผลักดันการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการทุกด้านที่เป็นธรรมยิ่งกว่า โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าใครจนหรือรวย อันเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมได้

เราคงไม่สามารถคาดหวังกับแนวทางประชานิยมต่อไปได้ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นแรงงานสูงขึ้นทุกที และระบบประชาธิปไตยก็ยังไม่ถูกรื้อฟื้น

4.รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น เราจึงต้องมานั่งนับหนึ่ง/สองกันใหม่ ด้วยการปกป้องคุณค่าของระบบการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งนักการเมืองเข้าไปในรัฐสภา การสร้างพรรคที่ไม่ใช่มีเพียงรูปแบบพรรคนายทุน การออกแบบนโยบายที่ให้หลักประกันแก่ประชาชน ด้วยการนำหลักการประชาธิปไตยมาใช้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพิ่มอำนาจการต่อรองให้แก่ประชาชนในทุกระดับ เพื่อประกันว่านโยบายข้อเรียกร้องที่เสนอไปจะปรากฏเป็นจริง

ที่ผ่านมารูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐถูกปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบคล่องตัว เป็นอิสระ กระจายอำนาจไปยังภาคเอกชนเพื่อเกื้อหนุนระบบกลไกตลาด เสรีทางการค้า การทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลยุคไทยรักไทยได้วางไว้ เพื่อหลุดพ้นจากการถูกควบคุมของระบบราชการที่มีการบังคับบัญชาจากบนลงล่างและหลายขั้นตอน ขาดประสิทธิภาพ ในการดูแลประชาชน ขาดการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น กฎระเบียบล้าหลัง ไม่ทันสถานการณ์ หละหลวมในการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างอ่อนแอ ตกเป็นเบี้ยของฝ่ายทุนและผู้บังคับบัญชาโดยง่าย และตกอยู่ในระบบการไต่เต้า แข่งขันกันสะสมความมั่งคั่ง

แต่การบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบปัจจุบันเน้นการจัดการแบบธุรกิจ แปรรูปให้ภาคเอกชนดูแล มองประชาชนเป็นลูกค้า ระดมทรัพยากรให้ผู้ประกอบการ และรัฐลดบทบาทในการดูแลประชาชน แต่เพิ่มบทบาทในการเอื้อประโยชน์ต่อทุนและปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน  ประชาชนจึงไม่ได้เข้าไปใช้อำนาจในภาครัฐและเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

ข้อเสนอของการสร้างประชาธิปไตยในระบบการบริหารที่เป็นทางการคือ การบริหารแบบสามฝ่าย  ได้แก่ 1) ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นในกระทรวง หรือการเลือกตั้งในชุมชน 2) สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารและตรวจสอบนโยบาย เช่น ในรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย 3) สภาผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สื่อสาธารณะ

นอกจากนี้ต้องขยายระบบการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปยังศาล ทหาร ตำรวจ ที่เป็นกลไกปราบปราม ควบคุมสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน การเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน การบริหารการผลิตที่พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้นเพราะต่างแบกความเสี่ยง ความไม่มั่นคงจากระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น และนำกำไรมาแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม  เกษตรกรมีอำนาจในการกำหนดราคาผลผลิตภาคเกษตรเองได้

มีการปฏิรูประบบศาลและกองทัพแบบถอนรากถอนโคนเพราะเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตยในปัจจุบัน  ต้องนำทหารออกจากการคุมสื่อ ต้องปลดและลงโทษนายพลที่ฆ่าประชาชนและทำรัฐประหาร นำระบบลูกขุนมาใช้แทนระบบศาลที่เป็นอยู่ และประชาชนปลดผู้พิพากษาได้

ทั้งหมดนี้ คือความหมายของการที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ และอยู่ดีกินดี มีหลักประกัน สังคมเข้มแข็ง มีศักยภาพในการปกครองตนเอง ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายซ้าย แรงงาน ผู้รักความเป็นธรรมควรมีโครงการทางการเมืองร่วมกันผลักดันไปให้ถึง

วิกฤตเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม

มาร์คซ์เคยพูดถึงเรื่องการลดลงของอัตรากำไรไว้ว่า การที่ระบบทุนนิยมมันยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ นายทุนก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร ซึ่งตัวเครื่องจักรนั้นมันเป็นทุนคงที่ นี่แหละที่มันทำให้อัตรากำไรของนายทุนลดลง

โดย ฮิปโปน้อย บรมสุขเกษม

ก่อนที่จะเข้าเรื่องว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยังไงนั้น เราก็ควรที่จะรู้ถึงกลไกการแข่งขัน และหน้าตาของระบบทุนนิยมก่อน ว่าทำไมมาร์คซ์ถึงได้กล่าวไวว่า “อุปสรรค์ที่แท้จริงของระบบในทุนนิยมนั้น เกิดขึ้นจากตัวทุนนิยมเอง” ทำไมมาร์คซ์ถึงได้กล่าวไว้อย่างนั้น เนื่องจากว่า ลักษณะของทุนนิยมนั้น..  ปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุน  ซึ่งนั้นก็เท่ากับว่าปากท้องของคนส่วนใหญ่  ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาดที่มีนายทุนควบคุมกำกับ ปัจจัยการผลิตนี่ก็นี้ก็หมายถึง โรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน ปัจจัยการผลิตพวกนี้เอง ที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ในการการช่วยให้มนุษย์นั้นสร้างผลผลิตได้  แต่ปัจจัยการผลิตมันก็เป็นได้แค่เครื่องมือช่วยเท่านั้น คือมันไม่สามารถสร้างมูลค่าหรือกำไรขึ้นเองได้ หากไม่มีคนเข้าไปทำงาน

มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง เดวิด ริคาโด ก็เคยบอกไว้ว่า มูลค่าของผลผลิตทุกอย่างนั้น เกิดจากการทำงานของแรงงานในอดีต ที่แรงงานในอดีตนั้นดัดแปลงทรัพยากรธรรมชาติ และดัดแปลงให้วัตถุดิบพวกนั้นสามารถใช้สอย เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

ในเมื่อมีปัจจัยการผลิตบวกมีแรงงานเข้าไปทำการผลิตแล้ว ผลผลิตที่ได้ก็จะนำไปขายในกลไกตลาด พอขายได้นายทุนก็จะต้องหักต้นทุน หักค่าจ้าง พอหักรายจ่ายต่างๆหมดแล้ว เงินส่วนเกินที่เหลือมันก็จะเป็นกำไรเข้ากระเป๋านายทุน

ที่มาสำคัญที่ทำให้นายทุนได้กำไรมหาศาลนั้น เกิดจาก ค่าจ้างในการทำงานของกรรมชีพนั้นจะต้องมีอัตราที่ต่ำกว่า มูลค่าของสินค้าที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตขึ้น การขูดรีดค่าแรงให้ต่ำ ค่าแรงต่ำทำให้กำไรสูง อย่างนี้เองที่เขาเรียกว่า เป็นการสะสมทุนเพื่อเอามาลงทุนต่อ ดังนั้นรูปแบบหนึ่งของระบบทุนนิยม จึงเป็นระบบที่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน จากการทำงานของแรงงาน มาเป็นกำไรในการสะสมทุน สะสมทุน ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ลักษณะของระบบทุนนิยม จึงเป็นระบบแข่งขันกันโกยกำไร ผ่านกลไกตลาด และเป็นการผลิตเพื่อแข่งขันกันขาย ระหว่างนายทุนด้วยกันเอง ซึ่งการที่นายทุนยิ่งได้กำไรมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่ายิ่งขูดรีดแรงงานมากขึ้นเท่านั้น และจากการเร่งการแข่งขันกันระหว่างตัวนายทุนด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากกลไกของระบบ ที่มันบังคับกดดันให้นายทุนทุกคน ต้องเร่งกันแข่งขันเพื่อสร้างผลผลิตให้มากๆ ถ้านายทุนคนไหนไม่เร่งการผลิต ไม่เร่งการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรแล้ว นายทุนคนนั้นก็จะไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนคนอื่นๆได้ และในที่สุดนายทุนคนนั้นก็จะล้มละลาย เหมือนปลาเล็กที่ถูกปลาใหญ่กิน

จากการนายทุนมีเสรีภาพ ในการแข่งขันกันในกลไกตลาด มันจึงมีผลทำเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งหลักๆมันมีอยู่สองสาเหตุ อย่างที่มาร์คซ์เคยบอกไว้ ว่ามันจะเกิดปรากฎการณ์อย่างนี้ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่เป็นระยะๆคือ การผลิตล้นท่ามกลางความอดอยาก และการลดลงของอัตรากำไร

มาร์คซ์เคยพูดถึงเรื่องการลดลงของอัตรากำไรไว้ว่า การที่ระบบทุนนิยมมันยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ นายทุนก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร ซึ่งตัวเครื่องจักรนั้นมันเป็นทุนคงที่ นี่แหละที่มันทำให้อัตรากำไรของนายทุนลดลง เนื่องจากว่าอัตรากำไรนั้น เกิดจากการทำงานของแรงงาน ไม่ได้เกิดจากตัวเครื่องจักรเอง

และสาเหตุที่นายทุนจะต้องลงทุนกับเครื่องจักรนั้น เป็นเพราะว่านายทุนแต่ละคน จะต้องขยายการผลิตอยู่ตลอดเวลา  เนื่องจากว่าการแข่งขันกันในกลไกตลาด มันเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้นายทุนต้องเร่งพัฒนาเครื่องจักรให้ทันคู่แข่ง ถ้าหากเครื่องจักรล้าสมัยแล้ว คุณภาพของสินค้าจะตกรุ่นจนด้อยกว่าคู่แข่ง และผลิตสินค้าออกมาได้น้อยกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลก็คือโรงงานนั้นๆจะเจ๊งหรือไม่ก็ล้มละลาย เพราะสู้ไม่ได้

การลดลงของอัตรากำไรนั้น มีผลสำคัญ เพราะอัตรากำไรนี้มีส่วนที่จะชี้วัด ในการลงทุนของนายทุนแต่ละคนว่า การลงทุนครั้งต่อไปนั้นมันคุ้มค่าหรือเปล่า หากเขาคำนวณดูแล้วว่ามันไม่คุ้มค่า เพราะกำไรต่ำเกินกว่าที่จะลงทุน พวกนายทุนเขาก็จะหยุด เลิก หรือชะลอการลงทุน ซึ่งการที่นายทุนทำอย่างนี้ มันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการว่างงาน การบอกเลิกจ้าง ไม่มีโอที พักงาน จนส่งผลให้รายได้ของกรรมมาชีพลดลง ขาดรายได้ พอรายได้ของคนส่วนใหญ่ลดลง การบริโภคก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะกำลังซื้อหลักของคนในสังคมมันไม่พอจ่าย และสาเหตุของการการที่ประชาชน มีรายได้ไม่พอจ่ายก็เป็นเพราะ ค่าแรงที่ต่ำกว่ามูลค่าสินค้าที่ตัวเองผลิตด้วย

และจากผลกระทบในการลดลง ของอัตรากำไรนี้เอง ยังที่มีผลให้เกิดสภาวะการผลิตล้นตลาด เนื่องจากที่ กลไกตลาดแบบเสรีในระบบทุนนิยมนั้น มันไม่ได้วางแผนการผลิต เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอยกับจริงๆ ของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่มันเป็นระบบที่เร่งผลิตออกมาเพื่อขาย พอคนส่วนใหญ่ไม่กำลังซื้อ สินค้าเหล่านั้นก็จะล้น ซึ่งมันทำเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรของส่วนรวมอีกด้วย

ส่วนการหาทางออกให้กับวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ขอเสนอก็คือการยึดเอากิจการ และปัจจัยทั้งหมดมาเป็นของรัฐ ประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐจะต้องสามารถออกแบบ ความต้องการของตัวเองได้ นายทุนไม่มีอิสระในการควบคุมกลไกตลาดอีกต่อไป การผลิตจะต้องผลิตอย่างมีแบบแผน และควบคุมจากรัฐ เก็บภาษีก้าวหน้า สร้างรัฐสวัสดิการ ค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญรัฐจะต้องปกป้องให้ประชาชนมีงานทำ เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจ

เอกสารอ้างอิง
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. (2543). การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์. กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน.
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. (2545). อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน.

จาก 17 พฤษภา 35 ถึง 19 พฤษภา 53

แกนนำ นปช.บางส่วนมองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทยคืนสู่ความปรองดอง ทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ 

โดย ยังดี โดมพระจันทร์

•จากแถลงการณ์ รสช. ตำนานรัฐประหาร ถึงแถลงการณ์ คปค.
             
การลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนที่เห็นว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)ยึดอำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นการรักษาอำนาจด้วยการเสียสัตย์เพื่อชาติ สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้กำลังปราบปรามประชาชน โดย สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีผู้สืบทอดอำนาจ รสช. ขณะนั้นสั่งให้ทหารติดอาวุธสงครามดาหน้าออกมาไล่ยิงประชาชนกลางถนนราชดำเนิน เมื่อ 17 -18 พฤษภา 2535 เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหาย ที่ใครๆเรียกกันต่อมาว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
             
คณะ รสช. หรือในชื่อเต็ม คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นคณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลบุฟเฟ่คาร์บิเน็ต มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลอย่างมหาศาล โดยเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 11 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากที่ประเทศไทยได้ว่างเว้นการรัฐประหารมานานถึง 15 ปีนับจากการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 โดยพลเรือเอก สงัด ยอมรับว่าได้เป็นหุ่นเชิดของก่อการรัฐประหารอย่างไม่เต็มใจ ก่อนที่จะส่งทอดอำนาจทั้งหมดที่ยึดมาให้ นายกฯหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นรัฐบาลขวาตกขอบที่สร้างชื่อเหม็นเน่าไปทั่วโลก โดยปัจจุบันนายธานินทร์คนนี้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ประกาศชี้แจงเหตุผลการเข้ายึดอำนาจในปี 2534 ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พอสรุปได้ว่า……

ประการแรก พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง

คณะผู้บริหารประเทศ ได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก อย่างรุนแรงที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ประการที่ 2 ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มแหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต

จากการที่ข้าราชการการเมืองได้เข้าไปมีบทบาทและอำนาจสูงสุดในแต่ละส่วนราชการ จึงได้ถือโอกาสนี้สร้างบารมีทางการเมือง หาสมัครพรรคพวกเพื่อเป็นฐานคะแนนเสียง เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก จึงทำให้ช้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้าถูกข่มเหงรังแก

ประการต่อมา การทำลายสถาบันทางทหาร

สถาบันทางทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมือง ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัจะได้ใช้ความพยายามนานัปการ เพื่อบีบบังคับทำลายเอกภาพ ความรัก ความสามัคคีภายในกองทัพอย่างต่อเนื่องตลอดมาก็ตาม

และประการสุดท้าย การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อปี 2525 ประมาณ 9 ปีเศษก่อนหน้านี้ พลตรี มนูญ รูปขจร และพรรคพวก (เพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกับ จำลอง ศรีเมือง) ได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรี เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะกำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ พลตรี มนูญฯ และพรรคพวก จำนวนถึง 43 คน ถูกจับกุมในที่สุด และได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัว จนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกถึง 3 ครั้ง

นอกจากนั้นยังได้รับการอุ้มชูจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ให้ได้รับการเติบโตในอาชีพรับราชการทหารจนเป็นนายทหารชั้นนายพลโดยรวดเร็ว ทั้งที่กระทำผิดโทษฐานก่อการกบฏและต้องคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญโดยเฉพาะคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ พลเอก ชาติชาย ก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนความเป็นจริงและโยนความผิดให้ผู้อื่น ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่พี่น้องประชาชน ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง การกระทำอันแสดงออกถึงความไม่จงรักภักดีเช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเหล่าทหารไม่สามารถจะอดทน อดกลั้นได้อีกต่อไป จึงได้ร่วมปรึกษาหารือกันทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งฝ่ายพลเรือนและตำรวจ เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ….”

การรัฐประหารครั้งนี้เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ได้มีการออกแถลงการณ์ และประกาศของคณะรสช. เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งและบางฉบับก็มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งมีทั้งที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่ การยกเลิก การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติและการออกคำสั่งทางกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 56 ฉบับ ซึ่งใช้เสมือนกฎหมายสูงสุดแทนที่รัฐธรรมนูญได้ทันที่ โดยไม่ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรมานั่งถกเถียง เสนอเป็นวาระ รับหลักการ แปรญัตติ อะไรทั้งสิ้น

•รัฐประหารทุกครั้งเพียง “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
             
ส่วนในวันที่ 19 กันยายน 2549 ระบุเวลาไว้ด้วยว่า 23.50 น.  แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.  โดย พลเอก สนธิ  บุญยรัตกลิน ซึ่งต่อมาก็ออกตัวว่าไม่ได้คิดวางแผนทำรัฐประหารมาก่อน แต่ถูกใช้มาอีกที และเปิดเผยบุคคลที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้ ถึงตายไปก็บอกไม่ได้ ในตอนที่กระทำการนั้น คณะ คปค.อ้างว่ามีเหตุผลให้ต้องรัฐประหารโดยย่นย่อดังนี้คือ

 “…. แถลงการณ์ฉบับที่ 1 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  รัฐบาลรักษาการปัจจุบัน (หมายถึงรัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ) ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ  หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง  
             
คปค.ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสูงปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติรวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน….”

ชนวนเหตุของรัฐประหารปี 2534  มาจากการโยกย้ายข้าราชการทหาร  ที่ผลประโยชน์ขัดกัน และสร้างวาทกรรมว่า  การรัฐประหารมาจากเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์  ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้ทุกครั้ง  ในการทำรัฐประหาร เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 2549 แทบไม่ต่างกัน  ที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดเจนว่าทหารคือตัวเเสดงนำที่เป็นอุปสรรคชัดเจนของการพัฒนาประชาธิปไตย  ยิ่งเมือ 19 พฤษภาที่ผ่านมาในปีนี้ เป็นโอกาสครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 รัฐบาลพลเรือนที่มีทหารคอยอุ้มคล้ายกับรัฐบาลหอยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร สร้างสถิติใหม่ใช้ทหารออกมาสังหารประชาชนกลางเมืองมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ภายใต้วาทกรรมกระชับพื้นที่ ยกกำลังทหารติดอาวุธออกมากว่าห้าหมื่นนาย พร้อมเบิกกระสุนมาใช้กว่าสองแสนนัด

เหตุการณ์ความตายของประชาชนกลางเมืองหลวงในปี 53 ไม่ได้ต่างไปจากการตายของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาปี 35 ความตายทุกเหตุการณ์ใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งการตายของประชาชนที่ตากใบเเละ กรือเซะได้สะท้อนให้เห็นว่า 40 ปีที่ผ่านมา ที่เราบอกกันว่าสังคมไทยได้เดินทางเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เลย กลุ่มนายทหารจากกองทัพบกที่ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทั้งจากทหารด้วยกัน หรือรัฐบาลพลเรือน

ขณะที่การรัฐประหารของ รสช.เมื่อปี 2534 ไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้ยาวนาน เพราะประชาชนรู้ทัน โดยเฉพาะคนเมือง ชนชั้นกลาง ทหารตกเป็นจำเลยของสังคม ต้องยุติบทบาทในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองกลับเข้ากรมกองกลายเป็นทหารอาชีพ แต่พฤษภา 2553 เหตุการณ์ยังไม่จบ นักวิชาการอิสระศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ที่อยู่ในทั้งสองเหตุการณ์ กล่าวว่า “ สามปีที่ผ่านมาอย่างน้อยที่สุดมีสิ่งที่ดีขึ้น ก็คือคนจำนวนมาก มองเห็นปัญหาการเมืองไทยไม่ใช่มีแค่การเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่ามีปัญหาสถาบันการเมืองหรือว่าองค์กรทางการเมืองจำนวนมากที่อยู่เหนือการเลือกตั้ง ถึงตอนนี้สถาบันนี้ยังไม่ได้ถูกแตะต้อง แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันการเมืองนี้มีทิศทางมากขึ้น กระบวนการนี้เป็นกระบวนการประวัติศาสตร์ที่เปิดขึ้นครั้งแรกอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำคัญคือสำนึกทางการเมืองไปไกลกว่าปี 2535 และปี 2516 ”  

นี่คือข้อน่าสังเกตที่อาจเรียกได้ว่าประชาชนตาสว่างแล้ว ต่างออกมาเรียกร้องว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ถูกแทรกแซง ถูกกระทำชำเราเอาง่ายๆ และเป็นประชาชนที่ตื่นตัวขึ้นในทุกภาค ไม่จำเพาะประชาชนในเมืองหลวง

•ตอกย้ำกันอีกทีว่าใน พศ.นี้ มวลชนตาสว่างขึ้นมากแล้ว
               
อาจกล่าวได้ว่าการเมืองไทยได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารของคณะ รสช.ในปี พ.ศ. 2534 มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในตอนแรกสังคมไทยขณะนั้นอาจไม่รู้สึกว่าเกิดผลกระทบขึ้นมากนัก เพราะการรัฐประหารถือเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง และสังคมไทยก็ยอมรับที่จะอยู่กับผู้ชนะผู้ที่ต้องการต่อสู้ทำได้แค่หลบหนีลงสู่ใต้ดิน หรือเข้าป่าไป หรือไม่ก็หนีไปต่างประเทศ   เนื่องจากภาวะความหวาดกลัวในอำนาจทหารที่มีความเด็ดขาด บรรยากาศการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่างกัน ยิ่งภายหลังเหตุการณ์ล้อมปรามนักศึกษาในธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  ทำลายการต่อสู้ของฝ่ายซ้าย และแนวคิดสังคมนิยมลงจนราบคาบอย่างโหดเหี้ยม ทำให้พลังของนักศึกษาประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยก็ลดน้อยลงเป็นอันมาก

ใจ อึ๊งภากรณ์ นักสังคมนิยมกล่าวว่า “ ในสงครามของเสื้อแดงกับอำมาตย์หลังรัฐประหาร 19 กันยา ก็มีสองสงครามคู่ขนานเช่นกัน คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้ มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคมไทยจากมุมมองชนชั้น อย่างน้อยก็มองว่า มีสองฝ่ายหลักคือ “เรา” ที่เป็น “ไพร่” กับ “เขา” ที่เป็น อำมาตย์กับพรรคประชาธิปัตย์ และสลิ่มฟาสซิสต์  คนเสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้….”
             
สำหรับสงครามเสื้อแดง แกนนำ นปช.บางส่วนมองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทยคืนสู่ความปรองดอง ทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ ไม่น่าจะทำให้เราแปลกใจมากเกินไป ถ้าเราเข้าใจว่า เสื้อแดงก้าวหน้าบกพร่องในการสร้างองค์กรทางการเมืองที่อิสระจาก นปช.  ถ้าจะมีการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพแท้ได้ การเปลี่ยนสังคมดังกล่าวต้องเป็นการกระทำของมวลชนส่วนใหญ่เองจากล่างสู่บน ตอกย้ำกันอีกทีว่าใน พศ.นี้ มวลชนตาสว่างขึ้นมากแล้ว ถึงคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะยังหลับไหล และได้ปลื้มกับผู้ว่า กทม.ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่พลังคนเสื้อแดงอิสระจะไม่หยุดนิ่ง การเปิดโปงตัวเองของศาลตลกอย่างล่อนจ้อน การละเลยต่อนักโทษการเมืองของพรรคเพื่อไทย และการพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายของ นปช. ในปีนี้จะยิ่งกระตุ้นเร่งเร้าให้ดวงตาของไพร่เบิกกว้างขึ้น

จัดตั้ง

เลนินเข้าใจว่าถ้าเราจะชักชวนให้กรรมาชีพส่วนใหญ่ออกมาร่วมในการปฏิวัติ เราต้องมีพรรครวมศูนย์ที่นำเสนอความคิดและแนวทางที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง

โดย ลั่นทมขาว

นักมาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เราต้องปฏิวัติทุนนิยมให้เป็นสังคมนิยม ซึ่งแปลว่าเราต้องวางแผนโค่นรัฐของเผด็จการนายทุน เพื่อสร้างรัฐของกรรมาชีพที่มีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเต็มที่ ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี เคยอธิบายว่าการปฏิวัติสังคมนิยมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่อาศัยพลังมวลชน  เพราะการปฏิวัติที่กระทำโดยคนส่วนน้อย ในรูปแบบที่ “ทำแทน” หรือ “ทำเพื่อ” มวลชน จะทำให้คนส่วนน้อยที่ล้มระบบเก่าขึ้นมาเป็นเผด็จการใหม่ที่กดขี่ประชาชน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน จีน คิวบา เวียดนาม ลาว หรือ ยุโรปตะวันออก
   
แต่ประเด็นสำคัญคือ มวลชนที่จะทำการปฏิวัติต้องมีลักษณะแบบไหน พูดง่ายๆ จะจัดตั้งกันอย่างไร เพราะมวลชนที่ไร้การจัดตั้งก็แค่เหมือนไอน้ำที่เดือดจากกาต้มน้ำ แล้วระเหยไป แต่ถ้ามีการจัดไอน้ำให้ดันลูกสูบ มันจะมีพลัง พรรคคือรูปแบบการจัดตั้งที่เหมาะที่สุดสำหรับภาระการเปลี่ยนสังคมอันยิ่งใหญ่นี้
   
นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ช่วยออกแบบวิธีการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ เลนิน และพรรคบอลเชวิคที่เขากับ ตรอทสกี เป็นแกนนำ สามารถปฏิวัติสังคมนิยมสำเร็จในรัสเซียในปี 1917

เลนิน อธิบายว่าชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ทำงาน ซึ่งเป็นมวลชนสำคัญที่จะปฏิวัติโค่นระบบทุน เป็นชนชั้นที่ถูกทำให้แตกแยกภายใต้การกล่อมเกลาตามแนวความคิดของชนชั้นปกครองที่เป็นนายทุน ดังนั้นในสังคมทุนนิยมในยามปกติ เช่นในประเทศไทยตอนนี้ คนทำงานจำนวนมากจะถูกสอนให้เชื่อว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เป็น “ธรรมชาติ” เขาถูกสอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนมันได้ เขาไม่ได้เชื่อแบบนี้เพราะโง่หรือขาดการศึกษา แต่เชื่อเพราะเขาขาดความมั่นใจว่าจะเปลี่ยนสังคมเองได้

ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าผู้มีพลังในการที่จะทำอะไรคือแค่ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในสังคม ไม่ใช่เขาเอง อย่างไรก็ตามคนทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าระบบทุนนิยมหรือสภาพสังคมที่ดำรงอยู่มันดีเลิศ เพราะเขามีประสบการณ์โดยตรงมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่มัวแต่หมอบคลานต่อข้างบนจนมีความสุขในสภาพตนเองภายใต้ทุนนิยม คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าสังคมมันมีความบกพร่อง มันไม่ยุติธรรมเท่าที่ควร และเขาไม่ได้รับค่าจ้างเพียงพอ แต่เขาจะเชื่อว่าสิ่งเหล้านี้พอจะแก้ได้ภายในโครงสร้างปัจจุบันของทุนนิยม ดังนั้นเขาจะเรียกร้องให้นักการเมืองแก้ปัญหาให้เขา อาจมีการประท้วงหรือนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานด้วย เพื่อชวนให้นักการเมืองเอาใจใส่คนงาน แต่เรื่องยังไม่จบเพราะมันมีคนกลุ่มน้อยอีกส่วนหนึ่ง ที่มองว่าเราสามารถล้มทุนนิยมได้ถ้าเราสร้างพรรคและฉลาดในการต่อสู้ คนกลุ่มนี้ถือว่ามีจิตสำนึกทางการเมืองสูง
   
เลนินเข้าใจว่าถ้าเราจะชักชวนให้กรรมาชีพส่วนใหญ่ออกมาร่วมในการปฏิวัติ เราต้องมีพรรครวมศูนย์ที่นำเสนอความคิดและแนวทางที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง “แนวทางที่ชัดเจน” ดังกล่าวไม่ใช่แนวทางของ “ท่านผู้นำ” แต่เป็นแนวที่สรุปจากการถกเถียงอย่างหนักที่สุดของสมาชิกพรรค โดยเขาต้องนำประสบการณ์โลกจริงมาถกกันตามแนวประชาธิปไตย แต่พอถกแล้วต้องมีการสรุปร่วมกันเพื่อสามัคคีในการต่อสู้รณรงค์ นั้นคือความหมายแท้ของ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”

ในโลกนี้มันมีหลายกระแสที่เราต้องแข่งด้วย ในหมู่เสื้อแดงนักสังคมนิยมต้องแข่งแนวกับคนส่วนใหญ่ที่ตั้งความหวังไว้กับ นปช. และพรรคเพื่อไทย เพราะเขาคิดว่า “มันไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากนี้ถ้าเรามองสังคมไทยอย่างผิวเผิน เราอาจคิดว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สำคัญ หมดสภาพ หรือเป็นเสื้อเหลืองหมด ซึ่งไม่จริง ความจริงคือกรรมาชีพไทยยังมีอำนาจต่อรอง แค่ชัยชนะของสหภาพการบินไทยก็เป็นเครื่องพิสูจน์พลังที่อาจเป็นไปได้ แต่มีกรณีอื่นอีกมากมาย ถ้าคนทำงานส่วนใหญ่ในไทยมีสหภาพที่เข้มแข็งพลังกรรมาชีพจะชัดเจนขึ้น ปัญหาคือการจัดตั้งทางการเมือง เพราะนักสังคมนิยมมีน้อยเกินไป ดังนั้นเราต้องสร้างพรรคหรือองค์กรสังคมนิยมที่ใหญ่กว่าปัจจุบันหลายเท่า เพื่อเข้าไปติดต่อปลุกระดมคนทำงาน
   
อีกปัญหาใหญ่ของเราในสังคมไทยปัจจุบันคือ คนเสื้อแดงก้าวหน้าส่วนใหญ่ เช่นกลุ่มต่างๆ ที่มาร่วมประท้วงให้เลิก 112 และปล่อยนักโทษการเมืองในวันที่ 29 มกราคมและวันอื่นๆ ยังมีแนวโน้มจะ “ต่างคนต่างทำ” ซึ่งเป็นการปฏิเสธความสำคัญของการสร้างพรรครวมศูนย์ที่จับประเด็นการเมืองในภาพกว้างและให้การศึกษากับสมาชิก กลุ่มเครือข่ายหลวมๆ ของแดงก้าวหน้าแบบนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่มีผลงานดีเด่น และอ่อนแอเกินไปที่จะแข่งแนวกับ นปช. และเผชิญหน้ากับอำมาตย์ เราประเมินตรงนี้ได้จากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ รอบโลก ที่ไม่ยอมสร้างพรรค เช่นขบวนการ  Occupy ที่ยึดถนนกลางเมืองเพื่อประท้วงทุนนิยมในสหรัฐหรือยุโรป จุดประเด็นด้วยมวลชนจำนวนมากแล้วหายไปภายในเวลาไม่นาน
   
นั้นคือสาเหตุที่เราต้องจัดตั้ง สร้างพรรคในรูปแบบ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” อย่างที่เลนินเคยสร้าง

เมื่อการเมืองปฏิกิริยากำหนดทิศทางคนเสื้อแดง

ประชาธิปไตยโดยหลักการพื้นฐานสามัญนั้นมันต้องคาบเกี่ยวกับทุกองคาพยบของทุกส่วนในสังคม นั่นเป็นเหตุว่าทำไมคนเสื้อแดงจะต้องสนับสนุนสิทธิของรักเพศเดียวกัน ปกป้องสิทธิของหญิงบริการทางเพศ สิทธิทำแท้งของผู้หญิง ชาวนา ชาวไร่ สิทธิของแรงงาน ฯลฯ

โดย สมุดบันทึกสีแดง

บางทีคำพูดที่เป็นชิ้นเป็นอันและอยู่หลักการประชาธิปไตยทีสำคัญที่สุดที่ออกมาจากปากของคนที่อยู่ในประเทศไทยคือนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุก[1]  คนอย่าง

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์; “เราเตรียมแค่ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่ไม่มีการเตรียมการต่อสู้เชิงรุก เมื่อเป็นรัฐบาลก็เดินไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปทางไหน”

สมยศ พฤกษาเกษมสุข; วันนี้คนเสื้อแดงยังขาดความมุ่งมั่นด้านประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม เพราะเล่นบทบาทเป็นหางเครื่องของพรรคเพื่อไทย

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล (Red Eagle); ผมไม่เหลือความภูมิใจในความเป็นคนเสื้อแดงแล้ว เราเหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เราจะเห็นด้วยกับทัศนะของทั้ง 3 ท่านหรือไม่อย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ที่เป็นประเด็นหลักคือ ทั้ง 3 คน พูดถึงการทรยศของพรรคเพื่อไทย

ส่วนแกนนำ นปช. ไม่มีอะไรที่น่าสนใจให้พูดถึงนอกจากผลพวงของการทรยศซึ่งคนเหล่านี้เป็นต้นเหตุผลของการกระทำดังกล่าวได้สร้างผลเสียหายต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างมหาศาล คนกลุ่มนี้ได้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการไร้ทางออก  เพื่อปูทางให้กับการทรยศและสร้างความชอบธรรมว่าทำไมถึงไม่เอาฆาตรกรที่สังหารโหดประชาชนมาลงโทษ

ก่อนหน้าวันครบรอบรำลึกถึงวีระชนนักเสื้อสู้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมือง น้ำเน่า ได้ออกมาโยนหินถามทางโดยเสนอให้มีการนิรโทษกรรมให้กับอาชญากรมือเปื้อนเลือดทั้งหลาย อย่างไร้ยางอาย ไร้จรรยาบรรณ โสมมและเห็นแก่ตัว เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนักการเมืองที่สังกัดพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยที่เข้ามาอยู่ตรงนั้นได้ด้วยการเสียสระของวีระชนผู้อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้แต่ก้มหัวเลียเท้าอำมาตย์อยู่ร่ำไป น่าเศร้าใจแทนวีระชน เราจะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราต้องหาทางก้าวไปให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ตรงนี้ ถ้าเราไม่อยากเห็นวีระชนของเราตายฟรี

3 ปีผ่านไป เราเห็นอะไร?

การทรยศถูกทำให้เป็นเรื่องที่ “รับได้” เราเห็น นปช. ตั้งหน้าตั้งตาผูกขาดความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของการสร้างประชาธิปไตย แต่ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เช่น ประเด็นนักโทษการเมืองหรือยกเลิกกฎหมายป่าเถื่อนอย่าง ม.112 หรือ ที่ขี้ขลาดตาขาวมากที่สุดคือไม่กล้าสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์อย่างเป็นทางการ ทำตัวเป็นไอ้ตูบให้เพื่อไทยดึงหางเล่นแต่ แกนนำ นปช. ต้องการปกป้องสถานะของตัวเองว่าเป็นแกนนำนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตอนนี้กลุ่มแกนนำได้หันมาก่นด่าเสื้อแดงหัวก้าวหน้ากลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างน่าสมเพช รูปแบบการทำงานของพรรคเพื่อไทยและนปช. นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยังกลายมาเป็นสูตรแพร่เชื้อร้ายอันโสโครกต่อประชาธิปไตย  เช่น เสื้อแดงปฏิกิริยาบางส่วนได้ออกมาทำตัวเป็นอันธพาล[2]  เสื้อแดงที่อ้างเป็นนักประชาธิปไตยแต่ขาดความเข้าใจพื้นฐาน เรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน แสดงอาการรังเกียจชาวโรฮิงญา ให้กำลังใจทหารตำรวจผู้ที่เป็นสาเหตุหลักในความรุนแรงที่ภาคใต้ ฯลฯ เรื่องพื้นฐานพื้นๆไม่เข้าใจ เรื่องที่ไปไกลกว่านี้คงเป็นไปไม่ได้ภายใต้คนเหล่านี้

3 ปีผ่านไป กับ บทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคนที่ไม่ให้ความสนใจกับประชาธิปไตยเลย เรียกว่าหลักการประชาธิปไตยเป็นอะไรที่เธอจะไม่ยึดถือ เธอจับมือกับใครก็ได้ เช่น พวกผู้นำเผด็จการจากตะวันออกกลางมือเปื้อนเลือดที่เข่นฆ่าประชาชนของตัวเองเป็นผักเป็นปลา ไม่แปลกใจถ้าเธอจะจับมือกับอำมาตย์ไทย ไหว้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินเคียงคู่กับ ประยุทธ จันโอชา และไม่ใส่ใจนักโทษการเมืองเสื้อแดง

บ่อยครั้งเสื้อแดงปฏิกิริยาออกมาแก้ตัวแทน โดยอธิบายว่า “พวกเราไม่ควรไปยุ่งเรื่องการเมืองในต่างประเทศ แค่หาทางตักตวงเอาผลประโยชน์ให้มากที่สุดก็พอ” ทัศนะดังกล่าวทั้งโง่ ทั้งป่าเถื่อน ไร้ความเห็นใจผู้ที่ถูกกดขี่ด้วยกันเอง ทัศนะดังกล่าวเป็นมลภาวะพิษต่อประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง พวกนี้ลืมไปว่าตอนที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษจะไปพักผ่อนเป็นการส่วนตัวที่ไทย ภายใต้นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเสื้อแดงก้าวหน้าได้รณรงค์ไม่ให้นายกอังกฤษไปที่ประเทศไทยเพราะต้องการประท้วงว่านายกไทยไม่ได้มาจากระบอบอประชาธิปไตย แต่พอนายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยไปจับมือกับเผด็จการในตะวันออกกลางพวกเสื้อแดงปฏิกิริยาลืมหมด ส่วนเพื่อไทยไม่ต้องพูดถึง ”ละเลยหลักการประชาธิปไตยอย่างหน้าด้านๆ” บุคลากรของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้โง่เขลาหรือมีปัญหาในภูมิปัญญาที่จะไม่สามารถเข้าใจประชาธิปไตยและความเป็นธรรม แต่พวกนี้ไม่แคร์หลักการอะไรทั้งสิ้นต่างหากนอกจากผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกพ้อง

ประเด็นเรื่องเพศ กลายมาเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม เพียงแค่เป็นเพศหญิงไม่ได้หมายความว่าจะก้าวหน้าเรื่องผู้หญิง หรือ   ถ้ามีผู้หญิงเป็นผู้นำแล้วประเด็นความเสมอภาคทางเพศด้านด้านต่างๆ จะรุดหน้าคืบไป ไม่เลย ประเด็นทางเพศในไทยยัง ย่ำอยู่กับที่มิหนำซ้ำทวีความปฏิกิริยาเพิ่มขึ้นเสียด้วย หมอบคลานอยู่อย่างไร ก็คงเป็นไปอย่างเดิม นายกยิ่งลักษณ์ ได้สร้างภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่จำยอม อดทน อดกลั้น ราวกับเป็นวัตถุอะไรสักอย่าง เพื่อมีหน้าที่ทำอะไรสักอย่างเท่านั้นเองซึ่งภาพพจน์ชนิดนี้สังคมอนุรักษ์นิยมแบบอำมาตย์ชื่นชมนัก ไม่ท้าทาย ไม่ก้าวหน้า ไม่เรียกร้อง ไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทและภาพพจน์ของเธอยังคงลอยวนอยู่ในอ่างของเสื้อแดงปฏิกิริยาคือ เธอแต่งตัวสวยอย่างไร แต่งตัวดีกว่าคนของฝ่ายสลิ่มมอย่างไร ซึ่งเป็นข้อถกเถียงปัญญาอ่อนเหลือเกิน คำกล่าวนี้น่าจะเหมาะสม พลังงานต่างๆที่ทุ่มเทไปกับประเด็นเหล่านี้ควรจะใช้ผลักดันอะไรที่ก้าวหน้าไปมากกว่านี้สันชาติญาณของนักสิทธิสตรี นั้นจะไม่ก้มหัวหรืออดกลั้นให้กับความอยุติธรรมที่พวกเธอได้รับ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการสิทธิสตรีทั้งในไทยและในระดับสากลได้บันทึกเรื่องราวไว้เป็นภูเขา อย่างไรก็ตามดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ที่จะคุยเรื่องแบบนี้กับนายกหญิงคนแรกของประเทศไทย เพราะ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใส่ใจ…ช่างมันฉันไม่แคร์

เมื่อเธอถูกดึงลงไปคลุกอยู่โคลนตมอันโสมมโดยนักเขียนเสื้อเหลืองที่มีทัศนะเหยียดเพศ เธอควรจะใช้โอกาสนั้น ดึงประเด็นทางเพศมาเพื่อรณรงค์ให้สังคมเคารพและตระหนักถึงปัญหาของเพศหญิงมากกว่าที่เป็นอยู่— ไม่เลย ยิงลักษณ์  ชินวัตร เฉยแต่ปล่อยให้คนของเธอดึงกฎหมายอุบาทว์อย่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ออกมารับมือแทน ทั้งๆที่กฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายปฏิกิริยาที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับฝ่ายประชาธิปไตย

3 ปีผ่านไป ประชาธิปไตยเติบโตหรือไม่?

ประชาธิปไตยภายใต้เสื้อแดงปฏิริยานั้นถูกตีความอย่างตื้นเขิน อย่างน่าตกใจ นักมนุษวิทยาในไทยน่าจะตั้งโครงการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความอนุรักษ์นิยมในไทย หรือ ความเป็นไทยๆ มันได้ทำลายมันสมองคนไปขนาดไหน มันลดศักยภาพในการทำความเข้าใจ ผิด ชั่ว ดี อย่างไร คนเสื้อแดงปฏิกิริยา น่าจะเป็นกลุ่มทดลองที่น่าสนใจ

เสื้อแดงปฏิริยา ไม่เข้าใจเรื่องพื้นๆ แบบนี้อย่างสิ้นเชิง ความเข้าใจที่ไปใกลมากที่สุดคือ ต้องปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทรยศอุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็หลับหูหลับตาเชียร์ต่อไป เสื้อแดงก้าวหน้าชวนให้ดูบทเรียนจากต่างประเทศ ซึ่งมีเงื่อนไขหลายอย่างคล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น กรณีการต่อสู้ในประเทศอียิปต์ เพราะพรรคพี่น้องมุสลิม ขึ้นมามีอำนาจจากการโค่นล้มเผด็จการโดยมวลชนนักสู้เพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์ พอประธานาธิบดีทรยศ ชาวอียิปต์ออกมาประท้วงกันขนาดใหญ่ มีการปลดคนที่เป็นสมุนเดิมของประธานาธิบดี มูบารัค มาลงโทษ ทั้งในระดับรัฐบาล ธนาคาร มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ แต่เสื้อแดงปฏิกิริยา ส่ายหัว ปิดหูปิดตาไม่รู้ ไม่ดู ไม่เห็น

เสื้อแดงปฏิริยา เชิดชู มากาเรต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ซึ่งทำลายชีวิตคนธรรมดาอังกฤษอย่างมหาศาล จนกระทั่งมีปาร์ตี้เฉลิมฉลองตามท้องถนนทั่วอังกฤษ เมื่ออดีตนายกฝ่ายขวาได้ตายลง –เสื้อแดงปฏิริยา ไม่สนใจความจริงอันนี้ แต่เปรียบเทียบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ มากาเรต แทชเชอร์ อันนี้คือสัญญานเตือนภัย พวกนี้ไม่สนใจตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่รักใคร่สนิทสนมกับตัวอย่างปฏิกิริยา

ประชาธิปไตยโดยหลักการพื้นฐานสามัญนั้นมันต้องคาบเกี่ยวกับทุกองคาพยบของทุกส่วนในสังคม นั่นเป็นเหตุว่าทำไมคนเสื้อแดงจะต้องสนับสนุนสิทธิของรักเพศเดียวกัน ปกป้องสิทธิของหญิงบริการทางเพศ สิทธิทำแท้งของผู้หญิง ชาวนา ชาวไร่ สิทธิของแรงงาน ฯลฯ คนทุกกลุ่มมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองภายใต้กติกาที่เห็นร่วมกัน ไม่ใช่กติกาของศาลเตี้ย บางทีพวกเสื้อแดงปฏิริยา คงไม่ต่างจากสลิ่ม คือ คุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ทางเดียวที่เป็นไปได้และเป็นทางที่ดีที่สุดคือ แยกกันเดิน เอาให้ชัดเจนไปเลยว่าอยู่กันคนละฝ่าย

3 ปีผ่านไปบทสรุปคืออะไร?

พวกเราต้องติดป้ายไปเลยว่า เสื้อแดงปฏิริยาและพรรคเพื่อไทย  คือ ศัตรูของประชาธิปไตย (ยกเว้นพวกนั้นปรับปรุงตัว ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะใช่) ขั้นตอนต่อไปพวกเราต้องตั้งเป้า ดึงเสื้อแดงน้ำดีออกมาจากเพื่อไทยให้มากที่สุด เพื่อให้เป็นฝ่ายค้านอย่างแท้จริง วิพากษ์วิจารณ์เพื่อไทยและสมุนอย่างไม่ประณีประนอม เอาให้ถึงที่สุดและพวกเราจะต้องเข้าข้างคนที่ถูกกดขี่ในไทยทุกชนิด แรงงานข้ามชาติ คนรักเพศเดียวกัน ประเด็นสิทธิสตรี ชาวมุสลิม 3 จังหวัดในภาคใต้ ฯลฯ

พวกเราต้องให้ความสนใจ กับกลุ่มคนที่มีพลังและอยู่ในเงื่อนไขที่ง่ายต่อการจัดตั้ง เช่น กรรมาชีพ หรือ สหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่ง จักรภาพ เพ็ญแข ได้เสนอรูปแบบการจัดตั้งผ่านกลุ่มวิชาชีพ เช่น นักธุรกิจ หมอ วิศวะ ฯลฯ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวดูนามธรรม และดูเหมือนฝากความหวังไว้ที่คนส่วนน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยถ้าเขาพัฒนาความคิดในการจัดตั้งให้มีความเป็นรูปธรรมกว่านี้

ในยุค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนั้น มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน นักศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเกษตร การต่อสู้ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองที่เน้นผลักดันความเท่าเทียม ภายใต้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำไมเราไม่เรียนบทเรียนดังกล่าว เรียนบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของเราเอง เพ่งดูว่าบรรพบรุษฝ่ายประชาธิปไตยเขาทำอย่างไร

พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคการเมืองที่จะสร้างประชาธิปไตย แต่เป็นพรรคการเมืองที่จะแบ่งสรรผลประโยชน์ในหมู่ทุนเท่านั้น ถ้าการเจรจาไปกันได้ก็จูบปากดมตูดกับอำมาตย์ต่อไป ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็ดึงมวลชนออกมาเป็นเบี้ยทางการเมืองเหมือนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน พรรคนี้ไม่แคร์ว่าประชาชนจะถูกเข่นฆ่ารอบใหม่อย่างไร แต่พรรคนี้ต้องการให้ตนเองอยู่ในอำนาจ ซึ่งพวกเราไม่ควรเกรงใจพรรคการเมืองที่ทรยศมวลชน เราควรจะเปิดโปงความตอแหลของพรรคนี้ให้ล่อนจ้อน ถ้าพรรคนี้ไม่กล้าที่จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับประชาชนเลยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ พวกเราก็ไม่ควรจะปล่อยให้พรรคนี้ “ตอแหล ลอยหน้า ลอยตา อยู่ต่อไป” ในเมื่อพรรคนี้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย พวกเราก็จะต้องเป็นอุปสรรคต่อการเสวยสุขของพรรคเพื่อไทยพรรคเพื่ออำมาตย์ต่อไป

การต่อสู้ของวีระชนคนเสื้อแดงจะต้องไม่สูญเปล่า เราสามารถเริ่มได้ด้วยการเดินแยกทางกับเพื่อไทย และ ทำตัวเป็นฝ่ายค้านให้ถึงที่สุด  

[1]เผยแพร่ในประชาไท
[2]http://www.prachatai.com/journal/2013/05/46772

คำถามซ้ำๆ แต่ต้องย้ำบ่อยๆ การปฏิวัติสังคมนิยม มีหน้าตาอย่างไร?

มาร์คซ์เสนอว่าสาเหตุหนึ่งที่กรรมาชีพต้องปฏิวัติ ก็เพื่อที่จะปฏิวัติแนวคิดตนเองด้วย คือคนมักจะกล้าคิดนอกกรอบท่ามกลางการต่อสู้ แนวคิดที่ไม่เกิดความเท่าทียมและยุติธรรมจะเลือนหายไป  แต่อย่างไรก็ตามความคิดเก่าก็จะยังดำรงอยู่ระยะหนึ่ง การต่อสู้จึงไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ

โดย เรดชิพ 
(เรียบเรียงจาก นสพ.ประชาธิปไตยแรงงาน พ.ค.2546)

ระบบทุนนิยมโดยโครงสร้างคือ การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพผลิตขึ้นโดยชนชั้นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต(นายทุน) ชนชั้นปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยสามารถกระทำการขูดรีดจากกรรมาชีพได้ เพราะเราเป็นผู้ไร้ปัจจัยการผลิต ถ้าเราไม่ทำงานเราก็อดตาย การขูดรีดไม่ได้กระทำไปเพื่อให้นายทุนบริโภคเองเป็นหลักหรือเพราะนายทุนโลภ แต่กระทำไปเพื่อสะสมส่วนเกินคือทุนเพื่อลงทุนต่อไป พลังทุนที่กรรมาชีพสร้าง แต่นายทุนขโมยเอาไปจึงกลายเป็นอำนาจในการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ
             
จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนายทุนและกรรมาชีพขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน ถ้าเราได้ค่าจ้างเท่ากับมูลค่าที่เราผลิตจริง นายทุนจะไม่มีกำไรเพื่อลงทุนต่อและจะไม่มีอำนาจในการแข่งขันกับกลุ่มทุนอื่น รัฐที่ใครๆ สอนเราว่า “เป็นกลาง” หรือ “เป็นของประชาชนทั้งชาติ” กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนที่พยายามสร้างกลไกต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นของตนอยู่ตลอดเวลา ชนชั้นกรรมาชีพหรือชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมจึงเสียผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น รัฐนายทุนระบุผ่านกฎหมายและรัฐธรรมนูญว่าการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากคนจนและผู้ใช้แรงงานโดยนายทุนในรูปแบบกำไรเป็นสิ่ง”ชอบธรรมและไม่ใช่การขโมย”  แต่ในทางตรงกันข้ามการเข้าไปยึดที่ดินนายทุนเพื่อทำกินโดยเกษตรกรยากไร้ กลับถูกกำหนดว่าเป็นอาชญากรรม  เป็น”การขโมยที่ผิดกฏหมาย” หรือการยึดโรงงานโดยกรรมกรก็ถูกมองว่า “ผิด” เช่นกัน  เมื่อมีการระบุว่าการกระทำเหล่านี้ “ผิดกฏหมาย” รัฐนายทุนจึงมีกองกำลัง ตำรวจ ทหาร ศาล และคุก ตะรางหนุนหลังเพื่อรักษาวินัยของการขูดรีด
               
นี่คือสาเหตุที่นักมาร์คซิสต์พูดมาตลอดว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการกดขี่ชนชั้นอื่นๆ รัฐทุนนิยมไม่เคยเป็นกลางไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ว่าเราจะมีประชาธิปไตยรัฐสภา และไม่ว่าเราจะมี “ประชาสังคม”แบบไหน

ทำไมต้องปฏิวัติ?
             
หลายคนมองว่า “การปฏิวัติสังคม” เป็นความรุนแรง เป็นเรื่องสุดขั้ว เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่แค่ศึกษาประวัติศาสตร์ของทุกประเทศสักนิด ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ ก็จะพบว่าความก้าวหน้าของสังคมทุกครั้ง ทุกหนแห่ง มาจากการปฏิวัติ สิทธิเสรีภาพที่เรามีอยู่ก็มาจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร และการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ หรือ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕
               
การปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างระบบรัฐ การเมือง และเศรษฐกิจ ในสังคมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการขูดรีด ความไม่เสมอภาค และความรุนแรงของสงครามและการกดขี่ มันเป็นวิธีการเดียวที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมมากที่สุดในด้านต่าง ๆ เพราะการปฏิวัติเท่านั้นที่จะทำลายระบบทุนนิยมและเปลี่ยนให้เป็นระบบสังคมนิยมได้ การปฏิวัติไม่ใช่การรัฐประหาร ที่นายทหารจำนวนหนึ่งเอารถถังออกมายึดสถานีโทรทัศน์ ออกแถลงการณ์ ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วตั้งตัวเองเป็นใหญ่  ในหลายๆ ประเทศอย่างบราซิล นักสังคมนิยมประเภท “ค่อยเป็นค่อยไป” หรือที่เราเรียกว่าแนว “ปฏิรูป” มักต่อต้านการปฏิวัติและเสนอให้เราเปลี่ยนสังคมผ่านรัฐสภาทุนนิยมแทน แต่พอพรรคสังคมนิยมแบบนี้เข้าไปในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลก็จะประนีประนอมกับอำนาจรัฐทุนนิยมเสมอ เพราะการได้เป็นรัฐบาลไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐ การคุมอำนาจรัฐของนายทุนไม่ได้อาศัยแค่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา มันอาศัยอำนาจที่มาจากการควบคุมการผลิต และการควบคุมกฏหมายและกองกำลังต่างๆ ยิ่งรัฐที่คุมโดยข้าราชการ และพวกอนุรักษ์นิยมที่ล้าหลัง การได้มาซึ่งรัฐบาลอาจไร้อำนาจสั่งการ กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด หรือประนีประนอมกับอำนาจเก่าเพื่อตบตาประชาชนไปวันๆ

ปฏิวัติแล้วได้อะไร
         
เมื่อปฏิวัติเพื่อล้มระบบทุนนิยมได้แล้ว  รัฐที่เป็นเครื่องมือของนายทุนก็จะล่มสลายลงไป พร้อมกับระบบกรรมสิทธิ์เอกชนของนายทุน การเป็นเจ้าของในปัจจัยการผลิตที่เดิมเป็นของนายทุน  ก็จะกลายเป็นของส่วนรวมทำให้เกิดการแจกจ่ายและกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ที่อดอยาก กรรมาชีพที่ทำการผลิตจะควบคุมการผลิตกันเอง จะกำหนดเป้าหมายและวิธีการผลิตผ่านสภาคนงานที่มีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เพื่อแจกจ่ายสินค้าและตอบสนองความต้องการของคนภายในประเทศ  เพื่อขจัดความอดอยากยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปของสังคมในทุกเรื่อง และร่วมสร้างสรรค์โลกใหม่ด้วยกัน ลดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ลดความแตกต่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจน ลดความแตกต่างระหว่างชนชาติและเพศ และเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด
           
บ่อยครั้งจะมีคนบ่นว่ามาร์คซ์ หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ ไม่เคยลงรายละเอียดว่าสังคมนิยมจะเป็นอย่างไร การไม่เสนอรายละเอียดเป็นเรื่องจงใจ เพราะสังคมนิยมต้องร่วมกันสร้างร่วมกันกำหนด

กรรมาชีพต้องปลดแอกตัวเอง
                 
การปฏิวัติต้องกระทำโดยกรรมาชีพเอง ด้วยจิตสำนึกทางชนชั้นที่ต้องการสร้างโลกใบใหม่ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ในมุมมองมาร์คซิสต์ กรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการปฏิวัติเพราะเป็นผู้ที่มความสัมพันธ์กับระบบการผลิตมากที่สุด  เมื่อกรรมาชีพหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายทุนและรัฐ จะเห็นพลังอำนาจต่อรองที่สูง พลังนี้นำมาใช้ในการปฏิวัติตัวเองของกรรมาชีพได้  ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดขึ้นด้วยจิตสำนึกของกรรมาชีพเอง จากล่างสู่บน  มิใช่ให้ใครมาปฏิวัติหรือทำแทน เหมือนในประเทศ จีน คิวบา เวียดนาม ที่เป็นการปฏิวัติจากบนลงล่าง และนำมาซึ่งเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ
                 
เวลาเราพูดว่ากรรมาชีพมีพลัง “ซ่อนเร้น” คำนี้มีความสำคัญ พลังของกรรมาชีพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้ากรรมาชีพไม่รวมตัวกัน ไม่สู้ ไม่มีจิตสำนึก ในการปฏิวัติกรรมาชีพต้องอาศัยพรรคและจิตสำนึกที่เป็นสากลนิยม การต่อสู้แนวของ NGOs ในขบวนการภาคประชาชนของไทย ที่ปฏิเสธการสร้างพรรคแต่อยู่ในลักษณะเครือข่ายหลวม ๆ ถูกพิสูจน์มาหลายสิบปีแล้ว ว่าไม่ได้ผล ทุกวันนี้ขบวนการภาคประชาชนหากไม่นำตนเอง ไม่มีทฤษฏีการเมืองของตนเอง มีแต่การเรียกร้องหรือวิงวอนให้รัฐหรือพรรคนายทุนมาช่วย ก็มีแต่จะบั่นทอนพลังของตนเองลงไป

ชาวมาร์คซิสต์เสนอให้สร้างพรรคของกรรมชีพที่มีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้

1.ยึดถือผลประโยชน์ของกรรมาชีพเป็นหลัก เข้าใจว่าสังคมเรามีชนชั้นที่มีผลประโยชน์ต่างกัน เราจึงไม่รักชาติตามคำกล่อมเกลาของนายทุนแต่เรารักเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกในลักษณะสากล กรรมาชีพทั่วโลกไม่ว่าจะที่ประเทศใด นับถือศาสนาใด ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนทั้งสิ้น ฉะนั้นกรรมาชีพทั่วโลกคือคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน  ดังนั้นกรรมาชีพทั้งมวลจึงต้องสามัคคีกัน และต้องสร้างแนวร่วมกับผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงที่ไม่ใช่กรรมาชีพด้วย

2.ภายในตัวพรรคต้องมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่ทุกคนร่วมกันสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมาชีพ ไม่ใช่เป็นเผด็จการจากบนลงล่างเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต หรือแม้แต่องค์กรเอ็นจีโอปัจจุบันที่ไม่เคยเลือกตั้งผู้นำแถมยังหยิบยืมระบบอาวุโส และระบบอุปถัมภ์มาใช้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สมาชิก

3.พรรคต้องอาศัยเงินโดยการเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกภายในพรรคเองเพื่อป้องกันการครอบงำจากนายทุน หรือใครคนใดคนหนึ่งแบบระบบเจ้าพ่อ จึงเป็นพรรคของกรรมาชีพเองที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

4.พรรคต้องเข้าใจธาตุแท้ของรัฐนายทุนและระบบทุนนิยม ไม่ใช่หลงคิดว่าระบบนี้เปลี่ยนแปลงได้ภายในรัฐสภา หรือการประนีประนอมหมอบกราบ หรือแค่แก้กฎหมายเพียงบางฉบับ

การปฏิวัติ
             
ถ้าดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การปฏิวัติกรรมาชีพในอดีตมักจะก่อตัวขึ้นท่ามกลางวิกฤตสังคม ในขั้นตอนแรกมีการเดินขบวน การนัดหยุดงานและการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลาย แต่การต่อสู้ธรรมดาๆ จะเริ่มตกผลึกกลายเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ  ต่อเมื่อมีการรวมตัวกันอย่างจริงจังเพื่อบริหารสังคมของคนชั้นล่าง ในการรวมตัวดังกล่าวย่อมต้องมีเวทีหรือสภาของกรรมาชีพและสามัญชนเกิดขึ้น เป็นเวทีแห่งการถกเถียงอย่างเสรี บนความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมเต็มที่ ไม่ใช่สภาแบบรัฐสภาในระบบทุนนิยมอย่างทุกวันนี้
               
นักปฏิวัติที่เป็นสามัญชนไม่ได้แสวงหาความรุนแรง แต่แน่นอนฝ่ายอำนาจรัฐเก่าจะใช้ความรุนแรงก่อนเสมอ อย่าในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และเหตุการณ์พฤษภา ดังนั้นมวลชนปฏิวัติจะต้องหาทางปลดอาวุธนายทุน เหล่าอำมาตย์ และกองกำลังของพวกชนชั้นปกครองเช่นการชักชวนให้ทหารตำรวจชั้นผู้น้อยเปลี่ยนข้าง  การ”ปฏิเสธความรุนแรง” ของฝ่าย “สันติวิธี” ไม่ใช่แนวทางที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงแต่อย่างใดเพราะฝ่ายประชาชนไม่ได้เป็นผู้กำหนด ตรงกันข้ามเราจะยิ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยปราศจากการเตรียมพร้อม

หลังการปฏิวัติ

หลายคนมักถามว่า ถ้าปฏิวัติสังคมนิยมแล้วโลกในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร  เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ทั้งหมดแต่พอจะบอกได้ว่าสังคมนิยมโดยพื้นฐานจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ระบบกรรมสิทธ์เอกชนในปัจจัยการผลิตจะหายไป  การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจะถูกยึดเป็นของส่วนรวม และทำการผลิตเพื่อลดความอดอยากของมนุษย์  มนุษย์จะมีแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น

2.จะเกิดระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพราะปัจจัยการผลิตไม่ได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่งแต่งเพียงคนเดียว แต่เป็นของส่วนรวม

การต่อสู้ระหว่างแนวคิดใหม่และเก่า
               
การปฏิวัติเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งวัน ก่อนการปฏิวัติขบวนการปฏิวัติจะต้องช่วงชิงความคิดกับความคิดเก่าๆ ของเหล่าอนุรักษ์นิยม และเสรีนิยมบางพวก ที่ต้องการปกป้องระบบเดิม การปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่พร้อมจะลองความคิดใหม่เพราะหมดความศรัทธาในระบบเก่าแล้ว  และเมื่อปฏิวัติสำเร็จก็ยังมีผู้ที่ยึดแนวความคิดเก่าที่เป็นแนวคิดที่รักษาไว้ซึ่งอำนาจของตนคือพวกนายทุน พวกอำมาตย์ ที่เคยมีปัจจัยการผลิต  ในระยะนี้เป็นช่วงเวลาของการกำจัดขยะทางความคิดที่ล้าหลังออกไปจากใจคน
               
มาร์คซ์เสนอว่าสาเหตุหนึ่งที่กรรมาชีพต้องปฏิวัติ ก็เพื่อที่จะปฏิวัติแนวคิดตนเองด้วย คือคนมักจะกล้าคิดนอกกรอบท่ามกลางการต่อสู้ แนวคิดที่ไม่เกิดความเท่าทียมและยุติธรรมจะเลือนหายไป  แต่อย่างไรก็ตามความคิดเก่าก็จะยังดำรงอยู่ระยะหนึ่ง การต่อสู้จึงไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ อย่าลืมว่าไม่มีพรรคปฏิวัติ ก็ย่อมไม่มีการปฏิวัติ และการปฏิวัติในทางความคิดต้องมีอยู่ตลอด
               
สิ่งที่เราต้องทำคือผลักดันให้การต่อสู้ทางความคิดแบบใหม่ชนะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นี่คือสาเหตุที่เราต้องสร้างรัฐกรรมาชีพขึ้นมาเพื่อทำลายอำนาจเดิมๆ ของชนชั้นนายทุน อำมาตย์ และพวกอนุรักษ์นิยมทั้งหลายในขั้นตอนแรกๆ เพื่อคงไว้ซึ่งสังคมที่เท่าเทียม เกิดเป็นสังคมคนรุ่นใหม่ที่รู้จักความเท่าเทียมจริง ๆ เขาจะร่วมกันสถาปนาโลกใหม่ต่อไปให้สมบูรณ์  ถ้าเราถึงจุดนั้น จุดที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบ เราก็ไม่ต้องมีรัฐและไม่ต้องมี”การปกครอง” อย่างที่เราเข้าใจกัน เราจะมีแต่ชุมชนมนุษย์และความสร้างสรรค์เต็มรูปแบบของมนุษย์ที่เสรี

นำความร่ำรวยของนายทุน กลับคืนสู่สังคม ชอบธรรมแล้ว

โดย วัฒนะ วรรณ

ในระบบทุนนิยม ความร่ำรวยกินดีอยู่ดี ของนายทุนเกิดขึ้น สร้างมา ด้วยตัวของนายทุนแต่เพียงลำพังใช่หรือไม่ คำถามแบบนี้ มักจะเกิดขึ้น เมื่อนักสังคมนิยมเรียกร้องให้เก็บภาษีสูงๆ เป็นพิเศษจากคนรวยมากๆ ในสังคม หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องสวัสดิการเพิ่มของแรงงาน หรือกระทั่งการยึดกิจการมาเป็นของรัฐ ก็ตาม

นายทุนในระบบทุนนิยมไทยมีหลายกลุ่มหลายส่วน บางส่วนตกทอดมรดกมาจากยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช บางส่วนเกิดขึ้นยุคเผด็จการทหาร บางส่วนเกิดขึ้นมาภายหลัง ดังนั้นที่มาที่ไปจึงต่างกัน นายทุนบางส่วนที่เกิดมาก่อน 2475 การสะสมทุนอาจจะเริ่มต้นด้วยการบังคับแรงงานไพร่ทาส ทำสงครามปล้นชิงจากเมืองอื่น กวาดต้อนช่างฝีมือจากเมืองอื่นมาสร้างมูลค่าทรัพย์สินให้แก่ตน ส่งมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

นายทุนยุคทหารก็อาศัยความสัมพันธ์กับเผด็จการทหารเพื่ออาศัยการเอื้ออำนวยความสะดวกในการออกกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการสะสมทุน ขูดรีด ขโมยมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน เช่นการได้สัมปทานจากรัฐราคาถูก การออกกฎหมายห้ามรวมกลุ่มต่อรองของแรงงาน การปล่อยให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานต่ำๆ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน โดยที่ไม่ผิดเป็นต้น เรื่องเหล่านี้ในยุคที่พอมีประชาธิปไตยก็มีเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมากน้อย หนักเบาต่างกันไป เงื่อนไขบางอย่างก็อาจจะต่างกันด้วย แต่ก็ยกพอให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น

แต่ก็มีนายทุนอีกจำนวนมาก สามารถเริ่มต้นสะสมทุนได้ด้วยตนเอง เก็บเล็กผสมน้อยเช่นในหนังลอดลายมังกร แต่พอถึงที่สุดแล้ว นายทุนเหล่านี้ ก็จะทราบดีว่า การทำงานโดยตัวเองเพียงลำพัง รวมถึงครอบครัว ด้วยวิธีทำงานให้มาก กินใช้ให้น้อย สะสมทุนไปเรื่อยๆ ไม่มีทางจะกลายเป็นนายทุนใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องคิดอ่าน อาศัยเงื่อนไข กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างขึ้นสนับสนุนระบบทุนนิยมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการจ้างแรงงานเพิ่ม และจ่ายค่าจ้างที่ต่ำกว่าจำนวนผลผลิตที่แรงงานเหล่านั้นทำได้ นายทุนก็จะได้ส่วนต่างนี้ เรียกหยาบๆ ว่ากำไร ยิ่งจ้างแรงงานมากขึ้น ส่วนต่างก็ทวีคูณมากขึ้น การสะสมก็จะเร็วมากขึ้น กว่าการทำงานของนายทุนเองเพียงลำพัง

นี่คือเหตุผลที่นักสังคมนิยมพูดเสมอๆ ว่าความร่ำรวยที่เกิดขึ้น ผลผลิตที่เกิดขึ้น ในสังคมทั้งหมดทั้งมวล ล้วนเกิดขึ้นจากการทำงาน ผ่านการใช้แรงงานเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าทั้งสิ้น

จึงมีเหตุผลที่มากพอที่เราจะยึดคืน ความร่ำรวยเหล่านั้นจากนายทุน โดยเฉพาะที่รวยมากๆ ในอัตราสูงพิเศษ นำมากลับคืน มาพัฒนาสังคม นำมาสร้างรัฐสวัสดิการในมิติต่างๆ ให้เกิดผลของความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นมากที่สุด ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ดีกว่าการมีโอกาสเท่าเทียมของระบบเสรีนิยม ที่นักกิจกรรมเสรียมชอบพูดถึง เช่นมีโอกาสทานอาหารดีๆ มีโอกาสเรียนโรงเรียนดีๆ มีโอกาสรักษาพยาบาลดีๆ แต่เมื่อสำรวจผลแล้วกับพบว่าไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริงแต่อย่างไร มีแต่คนมีเงินส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้ คนจนที่ถูกขโมยผลผลิตของตนไป ก็ยังยากจนเข้าไม่ถึงบริการที่เหล่านั้นอยู่ดี

และบ่อยครั้ง มักจะมีคนที่สนับสนุนเสรีนิยม ตอบโต้ ว่าการที่นายทุนเอากำไร โดยจ่ายค่าจ้างต่ำๆ เป็นเรื่องที่ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว เพราะนายทุนเหล่านั้นต้องแบกความเสี่ยงในภาวะขาดทุนหรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าลูกจ้าง

แต่ถ้าเรามาตรองดูภาพความจริงกันดีๆ เราก็จะพบว่า เมื่อบริษัทขาดทุนหรือเกิดวิกฤต นายทุนหรือผู้บริหารก็จะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบ คนกลุ่มแรกที่มักจะถูกลดค่าจ้าง สวัสดิการ หรือแม้กระทั่งการถูกไล่ออก ก็เป็นลูกจ้างนี่แหละ เมื่อตกงานโดยกะทันหันชีวิตก็เผชิญหน้ากับปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ นาๆ แต่นายทุนถึงแม้กิจการจะล้มเลิกไปก็หาได้ลำบากตรากตรำเท่าลูกจ้างไม่ เพราะมีเงินทองที่สะสมไว้จากการทำงานของลูกจ้างเหลือไว้อีกมากที่จะเอาไว้ใช้สอยส่วนตัว

ระบบทุนนิยมมักจะสร้างภาพ ผ่านเครื่องมือชนิดต่างๆ เผยแพร่ให้คนในสังคมเชื่อว่าระบบทุนนิยมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การจ้างแรงงานเพื่อเอากำไรเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วระบบทุนนิยมเกิดขึ้นมาได้ไม่กี่ร้อยปี เราสามารถเปลี่ยนมันได้ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเท่าเทียม เช่นสังคมนิยม

เกมบนซากศพวีรชน

เกมบนซากศพวีรชน
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

อย่าพึ่งออกมาฉลองการที่ ธาริต
เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ส่งคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพให้อัยการในฐานะที่มีส่วนในการสั่งฆ่าเสื้อแดง
เพราะในประการแรกมันไม่มีหลักประกันอะไรว่าอัยการจะสั่งฟ้อง
ในประการที่สองถ้าสองนักการเมืองมือเปื้อนเลือดเหล่านี้ขึ้นศาล
ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษอันสมควรสำหรับพวกนี้
แต่ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุดคือ ธาริต
ไม่ยอมกล่าวหาทหารแต่อย่างใด ซึ่งแปลว่านายทหารระดับนายพล ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการฆ่าประชาชน
จะลอยนวลตามเคย และสืบทอดวัฒนธรรมป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทย
    
ถ้าเกิดอภิสิทธิ์และสุเทพถูกจำคุก
ซึ่งไม่เกิดแน่ภายใต้ชนชั้นปกครองไทยและสถานการณ์ปัจจุบัน ทักษิณก็ควรจะถูกฟ้องในฐานะที่มีส่วนในการฆ่าประชาชนที่ตากใบ
และในสงครามยาเสพติดด้วย
นั้นคืออีกสาเหตุที่ฝ่ายชนชั้นปกครองคงไม่เอาจริงกับนักการเมืองประชาธิปัตย์
และสังคมไทยก็จะยังคงขาดมาตรฐานและหลักสิทธิมนุษย์ชนพื้นฐาน
    
กลับมาเรื่องทหาร อย่าลืมว่าทหารเป็นผู้ที่ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่แรก และทั้งอนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหาร ต่อมาหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง
และพรรคพลังประชาชนชนะ ฝ่ายทหารก็จับมือกับศาลเตี้ยในการล้มรัฐบาลอีก และในที่สุดก็
“จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร” ถ้าไม่มีทหารอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกไม่ได้
เขาเป็นหุ่นเชิดของทหาร
    
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามการประท้วงของเสื้อแดง
ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย เราคงจำได้ว่า ศอฉ.
นี้ตั้งขึ้นและทำงานในค่ายทหารราบที่๑๑ โดยที่ อนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์
จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญร่วมกับทหารคนอื่น แน่นอนอภิสิทธิ์และสุเทพก็มีบทบาทด้วย
และสุเทพถือตำแหน่งผู้อำนาวยการ
แต่ตำแหน่งทางการกับอำนาจแท้ในการสั่งการไม่เหมือนกัน
นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์สองคนนี้ไม่มีวันที่จะมีอำนาจสั่งการปฏิบัติการของทหารได้
สั่งเจ้านายตนเองได้อย่างไร? เขาได้แต่เห็นชอบและให้ความชอบธรรมกับการฆ่าเสื้อแดงเท่านั้น
ดังนั้นคนที่มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดงคือทั้งสี่คน อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์
จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ
    
ทำไมทหารจึงลอยนวล?
    
ก่อนอื่นขอปัดทิ้งข้อแก้ตัวแทนรัฐบาลของเสื้อแดงบางคนที่มองว่าคำสั่งฆ่ามาจาก
“เบื้องบน” เพราะไม่เคยมีอำนาจที่จะสั่งการอะไร ดังนั้นศูนย์กลางอำนาจสั่งฆ่าเสื้อแดงอยู่ที่กองทัพ ไม่ต่างจากพฤษภาคม ๓๕, ๖ ตุลา
หรือ ๑๔ ตุลา
    
ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์
และทักษิณได้ทำข้อตกลงกับทหาร ทักษิณเองเคยพูดเมื่อต้นปี ๒๕๕๕ ที่เขมร ว่าเขาไม่มีข้อขัดแย้งกับทหาร
เพราะ “คู่ขัดแย้งคือพรรคประชาธิปัตย์” ในข้อตกลงกับทหาร
ฝ่ายทหารยอมให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่จริงๆ
แล้วมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทหาร เพราะถ้าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอีกครั้งจะมีการเคลื่อนไหวมากมาย
แถมพรรคเพื่อไทยคุมและค่อยๆ สลายเสื้อแดงได้ ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตอบแทนทหารรัฐบาลเพื่อไทยไม่แตะทหาร
ผูกมิตรและเชิดชูด้วยซ้ำ และเพิ่มงบประมาณให้ด้วย นอกจากนี้มีการประกาศว่าจะไม่แตะเรื่อง
112
และมีความหวังว่าในอนาคตทักษิณจะกลับบ้านได้ แต่นักโทษ 112 คงกลับไม่ได้
    
การที่ธาริตส่งคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพให้อัยการเป็นการสร้างภาพปลอม
เพื่อปลอบใจเสื้อแดงว่ารัฐบาลจะสร้างความยุติธรรมให้วีรชนที่สละชีพ ทั้งนี้เพื่อไทยทราบดีว่าต้องพึ่งคะแนนเสียงของเสื้อแดง
และแน่นอนผลของคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพ ถ้ามีคดีจริง ก็คงเกิดหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน
ในระบบอยุติธรรมของไทยมันลากคดีไปเรื่อยๆ ได้
    
การที่อภิสิทธิ์และสุเทพมีคดีลอยอยู่เหนือหัว เป็นเครื่องมือในการต่อรอง
เพื่อให้ทักษิณกลับบ้านได้ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเพื่อไทยได้อีกด้วย
และเครื่องมือต่อรองนี้จะไม่ทำให้ทหารโกรธแต่อย่างใด เพราะทหารมองว่าประชาธิปัตย์
“ใช้แล้วทิ้งได้” ไอ้ละครตะลก “หน้ากากขาว”
ของชนชั้นกลางไร้ปัญญาก็เป็นเพียงละครต่อรองเช่นกัน

    
ส่วนเรื่องการนำทหารและนักการเมืองที่สั่งฆ่าเสื้อแดงขึ้นศาลจริงๆ
หรือการยกเลิก
112 หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์นั้น
ต้องรอให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง
ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจวิวัฒนาการออกมาจากเสื้อแดงที่ก้าวหน้าที่สุด
ที่ปฏิเสธพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธแกนนำ นปช. และปฏิเสธยุทธวิธีล้าหลังของกลุ่มเสื้อแดง
51 ที่อ้างว่ารักเชียงใหม่ แต่ถ้าไม่มีขบวนการดังกล่าว
ไม่ต้องไปหวังว่าคนอื่น โดยเฉพาะพวกชนชั้นปกครอง จะทำให้ไทยมีประชาธิปไตยได้