วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยมีคนว่างงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งอันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกลอยแพอย่างอนาถก็คือกลุ่ม แรงงานจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายๆ
โดย ฮิปโป
ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไหน แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง เนื่องจากว่าประเทศเป็นระบบทุนนิยม ลักษณะการทำงานของคนไทยส่วนใหญ่ จึงอยู่ในรูปแบบของการขายแรงงานเพื่อดำรงชีวิต และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนายทุนชะลอการลงทุนหรือปิดกิจการ แรงงานจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะทรัพยากรทั้งหมดที่เคยใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร โรงงานรวมถึงแรงงานเองก็จะถูกวางเฉย การอยู่ในสภาวะที่แรงงานไม่ได้ถูกนำใช้ นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการ “ว่างงาน” ปัญหาการว่างงานมันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงและความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย
ในวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยมีคนว่างงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งอันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกลอยแพอย่างอนาถก็คือกลุ่ม แรงงานจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายๆ โดยไม่มีการบอกล่วงหน้า ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการตั้งสหภาพเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากนายจ้างได้เลย ภาครัฐเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ถูกลอยแพ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างเช่นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 นั้นเกิดจากสาเหตุฟองสบู่ เนื่องจากช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเปิดเสรีทางการค้า คือนายทุนไทยกู้เงินจากต่างประเทศแล้วพากันแห่แหนมาลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการลงทุนง่ายที่สุด เพราะได้ผลตอบแทนเร็วโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก ดังนั้นจึงเกิดสภาวะการผลิตล้นเกินท่ามกลางปัญหาความขาดแคลน
ในช่วงนั้นปัญหาส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรงคือ มีคนตกงานในช่วงปีแรก 1 ล้านคน และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน ในเวลาไม่ถึงปี อย่างเช่น โรงงานอุสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง ไทยเมล่อน เท็กซ์ไทล์ ซึ่งเป็นโรงงานทอผ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนั้น ได้ปิดตัวลงแล้วผลกระทบคือ แรงงานทั้ง 5,000 คน ถูกปลดกลางอากาศ ส่วนบริษัทอื่นๆก็จะอาจจะลดการทำงานของแรงงาน การให้พักลาโดยไม่ได้เงินเดือน และที่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การฉวยโอกาสจากวิกฤตเศรษฐกิจของนายทุน มาเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกจ้างพนักงานอย่างไม่มีสาเหตุ และไม่จ่ายเงินชดเชย หรือบางบริษัทอาจฉวยประโยชน์จากวิกฤตนี้ในการลดการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน
จากวิกฤตที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ไม่ได้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย คือถ้าภาครัฐต้องการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานจริง รัฐจะต้องยึดบริษัทที่กำลังจะปิดตัวหรือเลิกจ้างคนงาน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่จะปกป้องการทำงานของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้แรงงานได้มีรายได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากว่าการตัดงบและสวัสดิการต่างๆ หรือแม้แต่การอุ้มบริษัทใหญ่ให้อยู่รอดนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นลดลง และพวกธนาคารหรือบริษัททั้งหลายก็ไม่ได้เป็นกำลังซื้อหลักของสังคม คือไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อของคนสังคมได้
อ้างอิง: กองบรรณาธิการลี้ยวซ้าย(2554). วิกฤตเศรษฐกิจโลก กับการต่อสู้ทางชนชั้นในยุโรปและตะวันออกกลาง. หนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย