ว่าด้วยทุน เล่ม 3 ภาคที่ 1 การแปรรูปมูลค่าส่วนเกินเป็นกำไร และอัตรามูลค่าส่วนเกินเป็นอัตรากำไร(บทที่1-3)

การค้าขายสินค้าในราคาสูงหรือต่ำ ไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดมูลค่าของสินค้าเลย มันเพียงแต่กำหนดว่ามูลค่าสินค้าถูกแบ่งระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในสัดส่วนใดเท่านั้น ดังนั้นสำหรับนายทุนปัจเจก การได้กำไรขึ้นอยู่กับการขูดรีดแรงงานและปริมาณการโกงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้ซื้อขายสินค้า

ว่าด้วยทุนเล่ม 3 กระบวนการผลิตทุนนิยมในภาพรวม

ภาคที่ 1 การแปรรูปมูลค่าส่วนเกินเป็นกำไร และอัตรามูลค่าส่วนเกินเป็นอัตรากำไร

บทที่ 1: “ราคาค่าผลิต” และกำไร

ใน “ว่าด้วยทุน” เล่มหนึ่ง เราพิจารณากระบวนการผลิตในตัวมันเอง แต่ในโลกจริง การหมุนเวียนของทุนมีมากกว่านี้ ดังนั้นในเล่มสองเราจึงพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของทุน สำหรับเล่มสามนี้จะพิจารณาผลในรูปธรรมของการเคลื่อนไหวของทุนในภาพรวม

•จากมุมมองนายทุน “ราคาค่าผลิต”(k) คือ ค่าซื้อเครื่องจักร+วัตถุดิบ+พลังการทำงานของกรรมาชีพ แต่ “ราคาค่าผลิต” ที่นายทุนจ่าย ไม่เหมือนมูลค่าผลิตสินค้าจริง(ราคาการผลิต) เพราะมูลค่าสินค้าดังกล่าวประกอบไปด้วย “มูลค่าส่วนเกิน” ที่นายทุนได้ฟรีแต่กรรมาชีพต้อง “จ่าย” ด้วยการทำงาน คือ มูลค่าสินค้า/ราคาการผลิต C = k + s   (s คือมูลค่าส่วนเกิน)

•“ราคาค่าผลิต” (k) คือมูลค่าของทุน ที่นายทุนต้องลงทุนเพื่อทำการผลิตสินค้า และต้องได้กลับมาผ่านกระบวนการหมุนเวียน เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักร และพลังการทำงาน ในการผลิตซ้ำอีกรอบ

•“มูลค่าผลผลิต” คือปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิต

•ในระบบทุนนิยม จะเกิดภาพลวงตาเกี่ยวกับ “ราคาค่าผลิต” และมูลค่าส่วนเกิน

•ถ้าค่าจ้าง(ทุนแปรผัน) เพิ่มขึ้น มูลค่าผลผลิตจะไม่เพิ่มแต่อย่างใด มันเพียงแต่ไปกินส่วนของมูลค่าส่วนเกินที่อยู่ในมือนายทุนเท่านั้น[1]  เพราะมูลค่าสินค้า C = ทุนคงที่ c + ทุนแปรผัน V + มูลค่าส่วนเกิน S

และทุนคงที่ประกอบไปด้วยปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้ในการสกัดวัตถุดิบหรือสร้างเครื่องจักร

•เวลานายทุนจ่าย “ราคาค่าผลิต” มันจะมีภาพว่าเป็นการซื้อ “สินค้า” ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ เครื่องจักร หรือ พลังการทำงาน แต่การซื้อพลังการทำงานเป็นการซื้อสินค้าพิเศษที่สร้างมูลค่าได้ ไม่เหมือนเครื่องจักรฯลฯ มันเป็นการซื้อแรงงานมีชีวิตซึ่งไม่ใช่ทุนที่จะถูกเพิ่มมูลค่าในกระบวนการผลิต

•ดังนั้นมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากการที่นายทุนจ่าย “ราคาค่าผลิต” ดูเหมือน ว่าเกิดจากทุนทุกชนิด (เครื่องจักร วัตถุดิบ พลังการทำงาน) ในขณะที่มันเกิดจากพลังการทำงานเท่านั้น ในด้านหนึ่ง ทุนคงที่แบบวัตถุดิบและเครื่องจักร ในลักษณะที่เป็นวัตถุ มีส่วนในกระบวนการผลิต แต่มันไม่ได้สร้างมูลค่า ภาพลวงตานี้ปกปิดที่มาอันแท้จริงของมูลค่าส่วนเกิน

•สำหรับนายทุน มูลค่าสินค้าดูเหมือนว่า = “ราคาค่าผลิต” + กำไร
                   
กำไรนี้คือมูลค่าส่วนเกินดีๆ นี้เอง

•นายทุนสามารถขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริงได้โดยที่ยังได้กำไร ถ้าราคาขายสินค้าไม่ตกต่ำกว่า “ราคาค่าผลิต” เพราะนายทุนได้มูลค่าส่วนเกินมาฟรีๆ

•นายทุนมองแบบผิดๆ ว่า “มูลค่าจริง” หรือ “มูลค่าเนื้อแท้” ของสินค้าคือ “ราคาค่าผลิต” และสิ่งที่เข้าใจผิดตามมาอีกคือ ความเชื่อว่ากำไรเกิดจากการขายสินค้าในราคาที่สูงกว่า “ราคาค่าผลิต” นี่คือที่มาของข้อเสนอของนักนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และคนอย่าง Pierre-Joseph Proudhon ว่ากำไรมาจากการซื้อขาย แต่ในความเป็นจริงกำไรมาจากการขูดรีดแรงงาน ความคิดผิดๆ แบบนี้เท่ากับเสนอว่ามูลค่าที่เป็นกำไร เกิดขึ้นเองจากความว่างเปล่าเมื่อมีการซื้อขาย

บทที่ 2: อัตรากำไร

สูตรของทุนคือ   M-C-M’   (M=ทุนเงิน  C=ทุนสินค้า)

กระบวนการที่สร้างมูลค่าคือกระบวนการผลิต และกระบวนการที่ทำให้นายทุนได้ทุนกลับมาในมือคือกระบวนการหมุนเวียน

•ในโลกจริงนายทุนไม่สนใจผลผลิตเป็นหลัก แต่สนใจการเพิ่มมูลค่าจากการลงทุนเท่านั้น[2]

•นายทุนเพิ่มทุนของตนเองได้ก็ต่อเมื่อขูดรีดแรงงาน แต่การขูดรีดแรงงานเกิดขึ้นได้เพราะมีการนำพลังการทำงานไปทำงานกับปัจจัยการผลิต นายทุนเลยไม่แยกแยะว่าเขาลงทุนในพลังการทำงานหรือปัจจัยการผลิต นายทุนมองว่าเป็นต้นทุนทั้งนั้น

•สิ่งสำคัญที่นายทุนจ้องมองและให้ความสำคัญเหนืออื่นใดคือ “อัตรากำไร”

“อัตรากำไร” (P’) คือมูลค่าส่วนเกิน (S) ที่ได้มาจากการลงทุนทั้งหมด  (ทั้งทุนคงที่แบบวัตถุดิบและเครื่องจักร c และทุนแปรผัน –ค่าจ้าง V )

P’  =  S/c+V

มันเกิดภาพลวงตาว่าทุกส่วนของต้นทุน (คงที่และแปรผัน) มีส่วนในการสร้างกำไร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่น Ramsay, Malthus, Senior, Torrens ฯลฯ เชื่ออย่างผิดๆ ว่า “ทุนในตัวมันเอง อิสระจากความสัมพันธ์กับแรงงาน และสามารถสร้างมูลค่าได้เอง” อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพสร้าง ย่อมอิสระโดยสิ้นเชิงจากปริมาณมูลค่าคงที่ที่กรรมาชีพใช้ มันขึ้นอยู่กับว่ากรรมาชีพทำงานฟรีให้นายทุนแค่ไหนเท่านั้น

พวกสำนักคิดแบบ David Ricardo คิดว่า “อัตรากำไร” เหมือนกับ “อัตรามูลค่าส่วนเกิน”

แต่อัตรากำไรต่างจาก “อัตรามูลค่าส่วนเกิน” (S’) ซึ่งเป็นสัดส่วนมูลค่าส่วนเกิน (S)  ต่อทุนแปรผัน(ค่าจ้าง) หรืออาจพูดได้ว่าเป็นสัดส่วนมูลค่าที่กรรมาชีพสร้างให้นายทุนฟรี เมื่อเทียบกับค่าจ้าง

S’ =  S/V

•สำหรับนายทุน “ราคา” ของสินค้าดูเหมือนว่าประกอบไปด้วยราคาวัตถุดิบ/เครื่องจักร และส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนต้องซื้อด้วยค่าจ้าง มันไม่รวมมูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพผลิตให้นายทุน

•แต่มูลค่าของสินค้า(ซึ่งกำหนดราคา) ย่อมประกอบไปด้วยราคาวัตถุดิบ/เครื่องจักร +ส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนต้องซื้อด้วยค่าจ้าง+ส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนได้ฟรี(มูลค่าส่วนเกิน)

•กำไรของนายทุนจึงมาจากการที่เขาขายส่วนของสินค้าที่เขาไม่ต้องซื้อเลยคือได้ฟรีจากงานส่วนเกินของกรรมาชีพ

•กำไรและอัตรากำไรคือสิ่งที่มองเห็นในระบบทุนนิยม

•มูลค่าส่วนเกินและอัตรามูลค่าส่วนเกินคือสิ่งที่ถูกปกปิด และการปกปิดนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มันปกปิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในระบบทุนนิยม

•นายทุนเห็นกำไรตกอยู่ในมือตนเองเมื่อมีการขายสินค้า(ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแค่กระบวนการหมุนเวียน) ดังนั้นเลยเชื่อว่ากำไรมาจากการค้าขายในตลาด แต่ความจริงคือ กำไรมาจากการขูดรีดในระบบการผลิตที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการขายสินค้า

•การค้าขายสินค้าในราคาสูงหรือต่ำ ไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดมูลค่าของสินค้าเลย มันเพียงแต่กำหนดว่ามูลค่าสินค้าถูกแบ่งระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในสัดส่วนใดเท่านั้น ดังนั้นสำหรับนายทุนปัจเจก การได้กำไรขึ้นอยู่กับการขูดรีดแรงงานและปริมาณการโกงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้ซื้อขายสินค้า

บทที่ 3: ความสัมพันธ์ระหว่างอัตรากำไรกับอัตรามูลค่าส่วนเกิน

ถ้า S คือมูลค่าส่วนเกิน  S’ คืออัตรามูลค่าส่วนเกิน  V คือทุนแปรผัน   P’ คืออัตรากำไร   C คือต้นทุนสินค้าทั้งหมด และ c คือทุนคงที่
   
อัตรามูลค่าส่วนเกิน S’ = S/V            ดังนั้น  S= S’V
   
อัตรากำไร  P’ = S/C  =  S/c+V         ดังนั้น  P’ = S’V/c+V
 
และ
   
สัดส่วน  P’: S’  =  S/C : S/V  หรือ =  V:C (ตามคณิตศาสตร์)
       
เนื่องจาก V เป็นส่วนหนึ่งของ C และเล็กกว่า…  อัตรากำไรย่อมน้อยกว่าอัตรามูลค่าส่วนเกิน

เงื่อนไขอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่ออัตรากำไร P’ ?

มีสองสิ่งที่มีผลกระทบต่ออัตรากำไร P’ พร้อมๆ กันในด้านบวกคือ

1.อัตรามูลค่าส่วนเกิน S’

2.สัดส่วนทุนแปรผันต่อทุนคงที่ (Value Composition of Capital)  V/c

คือถ้า S’ เพิ่มหรือลดลง P’จะเพิ่มหรือลดลง ถ้า V/c เพิ่มหรือลด P’จะเพิ่มหรือลด แต่ต้องพิจารณาสองเงื่อนไขนี้พร้อมกันตลอดเวลา

[ในบทนี้มาร์คซ์พิสูจน์หลักพื้นฐานนี้โดยการพิจารณาหลายๆ กรณีที่ S’, c หรือ V คงที่หรือเปลี่ยนแปลง]

เชิงอรรค
[1] ดังนั้นเมื่อกรรมาชีพสู้เพื่อขึ้นค่าแรง มันไม่ทำให้สินค้าแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ มันไปลดกำไรนายทุน(กอง บก.)
[2] นี่คือสาเหตุที่นายทุนไม่สนใจว่าตนเองผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่ หรือแค่เอาทุนไปปั่นหุ้นจนเกิดฟองสบู่(กอง บก.)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s