การเมืองของประชานิยมมีลักษณะจำกัด ไม่สามารถไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ และยังถูกนำมาใช้คู่ขนานกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ แปรรูปองค์กรสาธารณะให้เป็นของเอกชน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล พรรคนายทุน
โดย พจนา วลัย
บทความนี้ได้นำเสนอไปในงานมาร์คซิสม์ขององค์กรเลี้ยวซ้ายวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนต้องการเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ และเพื่อเชิญชวนนักเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายซ้าย นักสหภาพแรงงาน ผู้รักความเป็นธรรมร่วมกันถกเถียงข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตย และรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
การรณรงค์เรื่องการมีรัฐสวัสดิการในไทยนั้น มีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ปัญหาความล้มเหลวของโครงสร้างรัฐไทยที่ไม่สามารถตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีและสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ โดยมีสาเหตุมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามแนวทางเสรีนิยม-ทุนนิยม ได้แก่ ความล้มเหลวในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่เหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และการถูกลดทอนอำนาจทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน ผู้ถูกปกครอง
ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมาเป็นเวลาหลายปี แต่ ณ บริบทความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน เราองค์กรเลี้ยวซ้ายต้องการตอกย้ำประเด็นการสร้างประชาธิปไตยตามกรอบของรัฐสวัสดิการ ที่ไม่ใช่แค่การพูดถึงสวัสดิการของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายทุกด้านอย่างไม่เลือกปฏิบัติ หรือการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เนื่องจากมีบางกลุ่มนำเสนอแนวทางนี้เช่นกัน และบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ใช้กรอบคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับองค์กรเลี้ยวซ้าย เช่น ใช้แนวทางชาตินิยม เสรีนิยม ที่ผู้อ่านควรตั้งคำถามจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มต่างๆด้วย หัวข้อที่นำเสนอมีดังต่อไปนี้
1.อาการของความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง
2.การเมืองของแนวทางรัฐสวัสดิการ
3.พัฒนาการทางการเมืองของแนวนโยบายประชานิยม
4.รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นประชาธิปไตย
1.อาการของความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง
สืบเนื่องจากกรณีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานขับรถบรรทุกอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทลินฟอกซ์ ทรานสปอร์ต พนักงานลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยและเป็นธรรมขึ้น เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น หลับในอันเนื่องจากล้า เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ งานเร่ง วิ่งรอบเพื่อให้ได้ค่ารอบมากขึ้น แต่ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ด้วยระบบการจ้างงานที่ขาดสวัสดิการหลายอย่าง และเร่งงานจนพนักงานไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งการทำงานขนส่งสินค้าทางบกจะถูกกฎหมายกำชับให้ต้องปฏิบัติตามเพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนได้ เช่น การจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เพียงพอไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ได้นำเสนอปัญหาสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายในหนังสือพิมพ์ฉบับเดือนพ.ค.)
กล่าวคือ ระบบโครงสร้างการจ้างงานหากเลวร้าย ย่อมส่งผลต่อการผลิต การทำงานของพนักงานได้ แม้สามารถผลิตได้มาก ทำงานได้เยอะ แต่ขาดความปลอดภัย ประสบอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายต่อตัวเองและสังคม และสุขภาพอนามัยของคนทำงานย่ำแย่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ผลกำไรสูงสุดนั่นเอง การรวมตัวกันของพนักงานจึงเป็นหนทางของการเจรจาต่อรองกับบริษัท ทว่ากลับถูกเลิกจ้าง และปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
โครงสร้างที่มีปัญหาภายในหมายถึง มีเป้าหมายและระบบการทำงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์/กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และแสดงอาการหรือก่อปรากฎการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ที่ส่งผลต่อคนในวงกว้าง เห็นได้จากโครงสร้างการผลิตและการจ้างงานในระบบทุนนิยม ที่ก่อให้เกิดผลต่อสังคมคือ แรงงานขาดความมั่นคงในชีวิต ขาดหลักประกันมากยิ่งขึ้น เช่นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในแถบยุโรปขณะนี้ ขาดอำนาจการต่อรอง สังคมอ่อนแอในการตรวจสอบและแก้ไขการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของชนชั้นปกครอง
2.การเมืองของแนวทางรัฐสวัสดิการ
การสร้างรัฐสวัสดิการในสังคมไทย คือการปรับปรุงโครงสร้างรัฐใหม่ ให้รับใช้ประชาชน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระบบทุนนิยม ด้วยการลดช่องว่างทางชนชั้น เช่น ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ช่องว่างทางอำนาจการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานในภาคการผลิต ประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในระบบการเมืองการปกครอง โดยรัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่มากกว่าเอียงข้างผลประโยชน์ของคนรวยเพียงหยิบมือเดียว
แนวทางนี้เป็นยุทธศาสตร์สำหรับต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของผู้ปกครองที่ไม่เห็นหัวประชาชน ทุนที่เอาแต่ได้ หากำไรสูงสุดและใช้เป็นเส้นทางไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยการปรับปรุงระบบโครงสร้างการเมืองการบริหารที่เป็นทางการให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปล่อยให้อยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการ และปล่อยให้มีการคอรัปชั่น หรือไปเน้นสร้างองค์กรอิสระ หน่วยงานนอกภาครัฐให้พ้นไปจากอำนาจทางการเมืองของประชาชน ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาระบบราชการที่ทุจริตคอรัปชั่นในระยะยาว เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบบศาล ตุลาการ อัยการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการดูแล หรือเข้าระบบกลไกตลาด ที่ให้รัฐลดบทบาทดูแลสวัสดิการด้านการศึกษา จัดการศึกษาตอบสนองประโยชน์ของประชาชน เรียนฟรี มีคุณภาพมาตรฐาน
ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นแรงงานในฐานะผู้ผลิตควรมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองทุกระดับ แม้จะมีอยู่แล้ว เช่น อบต. อบจ. เทศบาล แต่ไม่มีภาคประชาชนเข้าไปนั่งตรวจสอบภายใน อีกทั้งในระบบราชการ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลของรัฐ ระบบยุติธรรม กองทัพ ตำรวจ ไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไป และไม่มีฝ่ายประชาชนร่วมบริหารด้วย ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ระบบการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปจำเป็นต้องมี ซึ่งแตกต่างจากระบบที่เป็นอยู่ ที่มาจากฐานคิดคนดีมีศีลธรรม หรือกรอบคิดชาตินิยม
กลุ่มที่วิจารณ์แนวคิดรัฐสวัสดิการได้แก่ นักวิชาการสายเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยม ที่ต่างก็โปรระบบทุนนิยมกลไกตลาด หากำไรสูงสุด เพราะร่วมกันแชร์ทัศนะแบบเดียวกันคือ มองว่า เป็นระบบสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐ รอการอุปถัมภ์ ซึ่งจะทำให้ดูว่าด้อยค่า ดูแลตัวเองไม่ได้ และยังสรุปตรงกันว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะมีรัฐสวัสดิการ และจะนำไปสู่การเกิดวิกฤตทางการคลัง การเงิน (ของชนชั้นที่มั่งคั่ง) แต่สายนี้ไม่เคยพูดถึงการลดงบประมาณของกระทรวงที่ไม่จำเป็น เช่น มหาดไทย กองทัพที่มักใช้อาวุธจัดการกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง หรือผลักดันให้มีการเรียกเก็บภาษีจากคนที่รวยมากๆ ในสังคมมากขึ้น ในที่สุดก็จะบอกว่ารัฐควรเป็นแค่ตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา ไม่ควรไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน กลไกตลาด การค้าเสรี การเมืองของสายนี้คือลดทอนศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของคนจนนั่นเอง
อีกกลุ่มหนึ่งคือ สายสังคมประชาธิปไตย (Social democracy) ที่มีปัญหาจุดยืนทางการเมืองเพราะประนีประนอมกับนายทุน ชนชั้นปกครอง แม้จะเรียกร้องให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้ามาตรฐานเดียว เช่นเดียวกับสายสังคมนิยม แต่หลีกเลี่ยงการนำเสนอให้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งโดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีนักโทษการเมืองที่คิดต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ หรือการแก้ไข ยกเลิกกฎหมายที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร 2549 และที่ถูกนำมาใช้ขจัดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของแนวร่วมประชาธิปไตยต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
อีกสายหนึ่งคือ พรรคการเมืองใหม่ ที่ชูนโยบายรัฐสวัสดิการเตรียมพร้อมลงเลือกตั้งปี 2554 โดยบอกว่าเป็นพรรคมาจากมวลชน และมีนโยบายต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่พรรคนี้มีที่มาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนการทำรัฐประหาร 2549 ใช้ความรุนแรงทางทหารจัดการกับรัฐบาลนายทุนที่มองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาที่ควรถูกจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะเดียวกัน ก็ทำลายระบบการเลือกตั้งตัวแทนไปด้วย ทำให้ประชาชนไร้อำนาจการต่อรองทางนโยบายกับนักการเมืองในระบบ ทั้งถูกริดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ถูกใช้ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมือง มีนักโทษทางความคิด ซึ่งถือได้ว่าฐานคติของพรรคดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย และมีจุดยืนทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เผด็จการทหารและกลุ่มทุนซีกหนึ่ง เพราะเมื่อจุดยืนทางการเมืองไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น
3.พัฒนาการทางการเมืองของแนวนโยบายประชานิยม
แนวทางรัฐสวัสดิการสามารถต่อยอดจากแนวทางการพัฒนาแบบประชานิยมได้ เพราะมีจุดหลักร่วมคือ รัฐมีบทบาทหน้าที่ดูแลประชาชนมากขึ้นในด้านสวัสดิการ แทรกแซงกลไกตลาด กระจายรายได้ให้แก่คนทำงาน การเมืองของแนวทางประชานิยมได้ช่วยยกระดับความคิดทางการเมืองของประชาชน คือ
1) ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาล บ้านราคาถูก
2) เสริมสร้างบทบาทของรัฐในการดูแลประชาชน
3) เพิ่มคุณค่าของระบบการเลือกตั้ง การแข่งขันนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ แนวทางนี้ยังส่งผลสะเทือนต่อแนวทางเสรีนิยมใหม่ ดังเห็นได้จากการออกตอบโต้โจมตีของนักวิชาการสายเสรีนิยม เช่น ทีดีอาร์ไอ ว่าขาดวินัยทางการคลัง อีกทั้งยังเอาชนะแนวทางของขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่ไม่ได้ให้ทางเลือกที่เป็นประโยชน์เต็มที่แก่ประชาชน
เช่น ขบวนการแรงงานที่ใช้ลัทธิสหภาพแรงงานปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมือง สมัชชาคนจนที่ปฏิเสธการเข้าสู่อำนาจรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ใช้ฐานคิดชุมชนพึ่งพาตัวเอง จัดการสวัสดิการกันเองอย่างไม่เพียงพอ ปฏิรูปเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่แตะปัญหาของโครงสร้าง รวมถึงการปฏิเสธการเมืองสังคมนิยมและการสร้างพรรคเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกัน จนหลายกลุ่มทำแนวร่วมกับทุนกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้มทุนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยการใช้ความรุนแรง อันเป็นการเมืองสกปรก ถอยหลังลงคลอง
อย่างไรก็ตาม การเมืองของประชานิยมมีลักษณะจำกัด ไม่สามารถไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ และยังถูกนำมาใช้คู่ขนานกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ แปรรูปองค์กรสาธารณะให้เป็นของเอกชน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล พรรคนายทุน เช่น ไม่ผลักดันการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการทุกด้านที่เป็นธรรมยิ่งกว่า โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าใครจนหรือรวย อันเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมได้
เราคงไม่สามารถคาดหวังกับแนวทางประชานิยมต่อไปได้ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นแรงงานสูงขึ้นทุกที และระบบประชาธิปไตยก็ยังไม่ถูกรื้อฟื้น
4.รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น เราจึงต้องมานั่งนับหนึ่ง/สองกันใหม่ ด้วยการปกป้องคุณค่าของระบบการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งนักการเมืองเข้าไปในรัฐสภา การสร้างพรรคที่ไม่ใช่มีเพียงรูปแบบพรรคนายทุน การออกแบบนโยบายที่ให้หลักประกันแก่ประชาชน ด้วยการนำหลักการประชาธิปไตยมาใช้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพิ่มอำนาจการต่อรองให้แก่ประชาชนในทุกระดับ เพื่อประกันว่านโยบายข้อเรียกร้องที่เสนอไปจะปรากฏเป็นจริง
ที่ผ่านมารูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐถูกปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบคล่องตัว เป็นอิสระ กระจายอำนาจไปยังภาคเอกชนเพื่อเกื้อหนุนระบบกลไกตลาด เสรีทางการค้า การทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลยุคไทยรักไทยได้วางไว้ เพื่อหลุดพ้นจากการถูกควบคุมของระบบราชการที่มีการบังคับบัญชาจากบนลงล่างและหลายขั้นตอน ขาดประสิทธิภาพ ในการดูแลประชาชน ขาดการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น กฎระเบียบล้าหลัง ไม่ทันสถานการณ์ หละหลวมในการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างอ่อนแอ ตกเป็นเบี้ยของฝ่ายทุนและผู้บังคับบัญชาโดยง่าย และตกอยู่ในระบบการไต่เต้า แข่งขันกันสะสมความมั่งคั่ง
แต่การบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบปัจจุบันเน้นการจัดการแบบธุรกิจ แปรรูปให้ภาคเอกชนดูแล มองประชาชนเป็นลูกค้า ระดมทรัพยากรให้ผู้ประกอบการ และรัฐลดบทบาทในการดูแลประชาชน แต่เพิ่มบทบาทในการเอื้อประโยชน์ต่อทุนและปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน ประชาชนจึงไม่ได้เข้าไปใช้อำนาจในภาครัฐและเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง
ข้อเสนอของการสร้างประชาธิปไตยในระบบการบริหารที่เป็นทางการคือ การบริหารแบบสามฝ่าย ได้แก่ 1) ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นในกระทรวง หรือการเลือกตั้งในชุมชน 2) สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารและตรวจสอบนโยบาย เช่น ในรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย 3) สภาผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สื่อสาธารณะ
นอกจากนี้ต้องขยายระบบการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปยังศาล ทหาร ตำรวจ ที่เป็นกลไกปราบปราม ควบคุมสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน การเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน การบริหารการผลิตที่พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้นเพราะต่างแบกความเสี่ยง ความไม่มั่นคงจากระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น และนำกำไรมาแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม เกษตรกรมีอำนาจในการกำหนดราคาผลผลิตภาคเกษตรเองได้
มีการปฏิรูประบบศาลและกองทัพแบบถอนรากถอนโคนเพราะเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตยในปัจจุบัน ต้องนำทหารออกจากการคุมสื่อ ต้องปลดและลงโทษนายพลที่ฆ่าประชาชนและทำรัฐประหาร นำระบบลูกขุนมาใช้แทนระบบศาลที่เป็นอยู่ และประชาชนปลดผู้พิพากษาได้
ทั้งหมดนี้ คือความหมายของการที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ และอยู่ดีกินดี มีหลักประกัน สังคมเข้มแข็ง มีศักยภาพในการปกครองตนเอง ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายซ้าย แรงงาน ผู้รักความเป็นธรรมควรมีโครงการทางการเมืองร่วมกันผลักดันไปให้ถึง