อะไรกำลังเกิดขึ้นในตูรกี?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลุกฮือของประชาชนตูรกีตามเมืองใหญ่ๆ
ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เป็นการท้าทายรัฐบาลอย่างแรง
และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนี้ได้รับการคัดค้านจากมวลชนจำนวนมาก สิ่งที่จุดประกายคือแผนการทำลายและสร้างตึกทับสวน
เกซิ กลางเมืองอิสแตมบูล การประท้วงครั้งนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มไหนวางแผนจัดการล่วงหน้า
แต่มีหลายองค์กรที่ตอนนี้เข้ามาแข่งแนวเพื่อแย่งชิงการนำ
เช่นพวกชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนทหาร และฝ่ายซ้ายที่ต้านทหารแต่ไม่สนับสนุนรัฐบาล
นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ประท้วงมีมวลชนของพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งด้วย
ประชาชนไม่พอใจการที่รัฐบาลมั่นใจในตนเองจนไม่ยอมปรึกษาใคร
และไม่พอใจความรุนแรงของตำรวจที่มีต่อผู้ประท้วง
นอกจากนี้ตุรกีอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากยุคเผด็จการทหาร
และคนจำนวนมากอยากกวาดล้างกฏหมายเผด็จการให้หมดไป ก้าวหนึ่งที่ผ่านไปแล้วคือการสร้างสันติภาพกับชาวเคอร์ด
แต่มีก้าวอื่นๆที่ต้องเดิน
     
ประเด็นสำคัญคือฝ่ายซ้ายจะขยายอิทธิพลในมวลชน หรือฝ่ายชาตินิยมจะดึงทหารเข้ามา
เพราะในกลุ่มผู้ประท้วงมีความคิดหลากหลาย
เบื้องหลังสถานการณ์การเมืองในตูรกี

รัฐบาลตูรกีเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
พรรครัฐบาลคือพรรคมุสลิมหรือ “พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา” (
AKP) พรรคนี้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2002 และชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ
ล่าสุดในปี
2011 พรรคนี้ได้คะแนนเสียง 50% นโยบายของรัฐบาลเน้นกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุน แต่มีนโยบายให้คนจนบ้าง
รัฐบาลไม่ได้คลั่งศาสนาเหมือนที่ฝ่ายค้านอ้าง อย่างไรก็ตามระบบการเมืองในตุรกีมีซากของเผด็จการหลงเหลือจากสมัยเผด็จการทหาร
เช่น มีการจำคุกนักข่าว หรือทนายความที่เห็นต่างจากรัฐ และนักกิจกรรมชาวเคอร์ดที่อยากแบ่งแยกดินแดนก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง
นอกจากนี้พรรค
AKP มักจะเน้นศีลธรรมจารีตที่มองว่าผู้หญิงควรจะมีลูกอย่างน้อยสามคน
และนายกรัฐมนตรี เอร์โดแกน
อยากเห็นการยกเลิกกฏหมายที่อนุญาตให้สตรีทำแท้งอย่างเสรี
     
พรรคฝ่ายค้าน
(CHP) อ้างว่าเป็นพรรคในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย
และคอยสร้างภาพว่ารัฐบาลจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งกฏหมายอิสลาม
อย่างไรก็ตามฐานเสียงหลักของพรรคนี้มาจากคนชั้นกลางและคนรวย และพรรค
CHP นี้เป็นพรรคที่ใครๆ มองว่าเป็นปากเสียงของทหารเผด็จการ กองทัพตูรกีมีประวัติการแทรกแซงการเมืองผ่านการทำรัฐประหารพอๆ
กับในไทย และในช่วงปี
2002-2007 มีการวางแผนเพื่อพยายามโค่นรัฐบาล
AKP ที่มาจากการเลือกตั้ง
     
การเมืองตูรกีหันมาเน้นการคลั่งชาติ และการสร้างสังคมที่ไร้ศาสนาประจำชาติ ในยุคพัฒนาหลังการล่มสลายของอาณาจักร
ออตโตมัน โดยที่ คามาล อัตตาเทอร์ค ปฏิวัติสังคมและขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการ
นโยบายคลั่งชาตินี้ถูกใช้เพื่อกดขี่เชื้อชาติอื่นๆ ภายในประเทศ เช่นชาวอาร์มีเนีย
ชาวยิว ชาวกรีก และชาวเคอร์ด และตูรกีมีกฏหมายคล้ายๆ
112 ของไทยที่ห้ามไม่ให้ใครวิจารณ์ คามาล อัตตาเทอร์ค
หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว
     
ในยุคเผด็จการของ อัตตาเทอร์ค คนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรยากจน
และนับถืออิสลาม ถูกเขี่ยออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยที่มีการเน้นบทบาทของชนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมตะวันตก
สามมาตราแรกรัฐธรรมนูญที่เขียนในยุคนั้น เน้นบทบาทของกองทัพในการปกป้อง “สาธารณรัฐสมัยใหม่
ที่ไร้ศาสนาแห่งชาติ และใช้ลัทธิชาตินิยมของ อัตตาเทอร์ค” มีการ “ห้าม”
ไม่ให้แก้ไขสามมาตราดังกล่าวด้วย
     
หลังชัยชนะของพรรค AKP ในปี 2002 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งรอบแรกหลังยุคเผด็จการทหาร
พวกนายพลพยายามใช้ศาลยุบพรรครัฐบาล และในปี
2007 มีการพยายามใช้ศาลเพื่อห้ามไม่ให้คนจากพรรคนี้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตามกองทัพไม่ประสบความสำเร็จ
และหลังจากนั้นรัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับพวกนายพลที่พยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผลคืออิทธิพลของกองทัพในการเมืองลดลง และการทำรัฐประหารยากขึ้น
แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าทหารหมดอำนาจโดยสิ้นเชิง
     
ในหลายๆ แง่รัฐบาลพรรค AKP
ไม่ต่างจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมคริสเตียนในยุโรปตะวันตก และนายทุนก็พึงพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้
เศรษฐกิจตูรกีได้รับผลกระทบจากวิกฤษเศรษฐกิจโลกบ้างแต่ไม่มากเท่าเขตยูโร
และการปฏิวัติในตะวันออกกลางในสองสามปีที่ผ่านมา มีผลให้ตูรกีขยายอิทธิพลในการเมืองระหว่างประเทศได้
     
ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ
ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ถูกกดขี่เริ่มแสดงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเคอร์ด ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล
รัฐบาลเองก็ถูกกดดันให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการที่กดขี่ชาวเคอร์ด เช่นกฏหมายที่ห้ามไม่ให้เขาพูดภาษาของตนเองเป็นต้น
ฝ่ายนายทุนและประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องการเห็นสันติภาพด้วย แต่พรรคฝ่ายค้าน
CHP ที่เน้นแนวคลั่งชาติไม่พอใจ
ไทยกับตูรกี

เมื่อเราศึกษาสถานการณ์ในตูรกี
เราจะเห็นหลายเรื่องที่มีลักษณะคล้ายไทย
เพราะในทั้งสองประเทศผู้รักประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการทหาร
และในทั้งสองประเทศฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการคือพวกคนชั้นกลางและคนรวยที่อ้างว่า “รักประชาธิปไตย”
และต้องการ “ปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิ์” ในตูรกีสถาบันศักดิ์สิทธิ์คือ “ลัทธิชาตินิยมไร้ศาสนาของอัตตาเทอร์ค”
ในทั้งสองประเทศมีความพยายามที่จะใช้ศาลเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในมุมกลับรัฐบาลดังกล่าว
คือเพื่อไทยในไทย และ
AKP ในตูรกี ไม่ใช่รัฐบาลก้าวหน้าที่พร้อมจะสร้างความเท่าเทียมทางสังคม
และปฏิรูประบบอย่างแท้จริง  และทั้งในไทยและตูรกี
คนจนส่วนใหญ่เลือกรัฐบาลดังกล่าวที่มีอิทธิพลของกลุ่มทุน เพราะคนจนหรือกรรมาชีพยังไม่ได้สร้างพรรคทางเลือกที่เข้มแข็งพอ
     
ประเด็นเสรีภาพของคนเชื้อชาติหลากหลายมีความสำคัญและนำไปสู่สงคราม
ในตูรกีจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวเคอร์ด ในไทยจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวมุสลิมมาเลย์แห่งปัตตานี
ในทั้งสองประเทศจะต้องมีข้อตกลงทางการเมือง ไม่ใช่เน้นการทหาร
และประชาชนทุกเชื้อชาติต้องสนับสนุนเสรีภาพของทุกฝ่าย
โดยไม่คลั่งชาติหรือปกป้องพรมแดนเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง   

    
จุดยืนของฝ่ายซ้ายในตูรกีหรือไทย
ควรจะเป็นการร่วมต่อสู้ในขบวนการของมวลชนเมื่อมีข้อเรียกร้องเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและลดอิทธิพลของทหาร
ดังนั้นเราร่วมกับพี่น้องเสื้อแดงในไทย
และฝ่ายซ้ายในตูรกีต้องยืนเคียงข้างมวลชนที่ปะทะกับรัฐบาลในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามเราจะไม่คล้อยตามพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช.
เมื่อมีการหักหลังวีรชนและนักโทษการเมือง หรือเมื่อมีการหันหลังกับผลประโยชน์ของคนจน
เช่นในเรื่องสาธารณสุข สิทธิแรงงาน หรือรัฐสวัสดิการ ในตูรกีสถานการณ์ไม่เหมือนไทยในทุกเรื่อง
แต่ฝ่ายซ้ายจะต้องแยกตัวออกและแข่งแนวทางความคิดอย่างชัดเจนจากพวกคลั่งชาติที่จับมือกับทหาร
เพราะพวกนี้หวังนำมวลชนไปในทางที่ผิด

การปฏิวัติโปรตุเกสและขบวนการทหารในปี 1974

มกราคม 1975 มีการลุกฮือของคนระดับล่างมากขึ้น มีการยึดโรงงาน เกษตรกรยึดที่ดินทางใต้ นักเรียนนัดหยุดงานในโรงเรียน และทหารระดับล่างออกชนบทเพื่อให้การศึกษากับประชาชน ดังนั้นในเดือนมีนาคมฝ่ายขวาและนายทุนพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้ง แต่ถูก COPCON และคนงานจัดการจนล้มเหลว

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

นักวิชาการเสื้อเหลืองชื่อ สุรพงษ์ ชัยนาม เคยโกหกว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ คล้ายๆ กับการปฏิวัติโปรตุเกสและขบวนการทหารในปี 1974 การที่เขาสามารถพูดแบบนี้ได้ก็เพราะคนไทยจำนวนมากในตอนนั้นไม่ทราบประวัติศาสตร์การปฏิวัติโปรตุเกส

ในปี 1974 โปรตุเกสเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในยุโรปตะวันออก รัฐบาลเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ และโปรตุเกสยังมีเมืองขึ้นในอัฟริกาและเอเชีย เช่น แองโกลา โมแซมบี๊ก และทีมอร์ตะวันออกเป็นต้น ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อฉวยโอกาสใช้แรงงานราคาถูก มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมต่อเรือ และการสื่อสาร ซึ่งทำให้ชนชั้นกรรมาชีพขยายตัวในลักษณะคู่ขนาน แต่มีการกระจุกอยู่ในส่วนกลางของประเทศในขณะที่ทางเหนือมีเกษตรกรยากจนจำนวนมาก
   
การพยายามปกป้องอาณานิคมในอัฟริกาจากขบวนการกู้ชาติที่จับอาวุธ กลายเป็นการทุ่มเททรัพยากรซึ่งขัดแย้งกับทิศทางการพัฒนาทุนนิยมและอุตสาหกรรมภายในโปรตุเกส และแม้แต่นายพลระดับสูงซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองปฏิกิริยาฝ่ายขวา ก็มองว่าประเทศต้องเปลี่ยน คนหนึ่งคือนายพล สปินโนลา ซึ่งเขียนหนังสือที่เสนอให้มีการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจ และการถอนตัวออกจากอาณานิคม ที่สำคัญคือกองทัพทั้งหมด และโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับล่าง ไม่พอใจกับสงครามในอัฟริกาและสภาพความเป็นอยู่ของสังคมโปรตุเกส จึงมีการสร้าง “ขบวนการทหาร” (MFA) และวางแผนทำรัฐประหารในเดือนเมษายน 1974 โดยหัวหอกหลักในรัฐประหารครั้งนั้นคือกองพลวิศวกรภายใต้ ออร์เทโล คาวาลโย
   
ในระยะแรก ออร์เทโล คาวาลโย ไม่ได้มีจุดยืนก้าวหน้าเพราะเคยหลงไหลในเผด็จการฟาสซิสต์ แต่สถานการณ์เริ่มกดดันให้เขาเปลี่ยนความคิด
   
ไม่กี่ชั่วโมงหลังรัฐประหาร ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนก็ออกมาสนับสนุน กำลังสำคัญมาจากขบวนการแรงงาน เช่นในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงต่อเรือ นอกจากนี้มีการยึดบ้านว่างโดยคนไร้บ้าน แต่กลุ่มทหาร MFA พยายามตลอดเวลาที่จะยับยั้งการลุกฮือของนักสหภาพแรงงาน และมีการตั้งคณะทหารขึ้นมาเพื่อหนุนรัฐบาลใหม่ภายใต้นายพล สปินโนลา นอกจากนี้มีการปฏิรูปกองทัพให้หลุดพ้นจากภาพฟาสซิสต์เก่า โดยมีการสร้างกองกำลัง COPCON ภายใต้ ออร์เทโล คาวาลโย
   
ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าสถานที่ทำงาน 158 แห่งมีการนัดหยุดงาน และใน 35 แห่งมีการยึดโรงงาน ยิ่งกว่านั้นมีการสร้าง “คณะกรรมการและสภาคนงาน”4000 แห่งในสถานที่ทำงานเกือบทุกแห่งในเมืองหลวงลิสบอน มีการผสมผสานข้อเรียกร้องการเมืองและเศรษฐกิจ คือมีข้อเรียกร้องแบบ “ทำความสะอาดกวาดล้าง” ที่ขับไล่พวกสมุนฟาสซิสต์ออกจากที่ทำงาน และมีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงพร้อมๆ กัน
   
พรรคคอมมิวนิสต์ (สายสตาลิน) ของโปรตุเกส มีสมาชิกประมาณ 5000 คน และหลังรัฐประหารพรรคพยายามสร้างสหภาพแรงงานอิสระใหม่ใน “เครือข่ายสหภาพ” โดยหันหลังให้กับการจัดตั้งของคนงานในคณะกรรมการและสภาคนงาน ในระยะหลังมีการโจมตี คณะกรรมการและสภาคนงานโดยพรรคคอมมิวนิสต์เพราะพรรคควบคุมองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวหลายคนใน คณะกรรมการและสภาคนงาน เป็นสมาชิกพรรค พวกนี้ลาออกหรือโดนไล่ออกจากพรรค ซึ่งนำไปสู่การสร้างองค์กรฝ่ายซ้ายอื่นๆ ภายใต้ความคิดหลวมๆ ของลัทธิเหมา เช่นองค์กร MRPP, PRP/BR และ MES
   
การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐบาลครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน เมื่อคนงานไปรษณีย์ หนึ่งพันคนนัดหยุดงาน รัฐบาลสั่งให้ทหารไปปราบ และทั้งๆ ที่ผู้นำสหภาพแรงงานยกเลิกการนัดหยุดงาน และพรรคคอมมิวนิสต์เห็นด้วยกับการยกเลิกครั้งนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนต่อๆ ไป เช่นการที่ทหารธรรมดาบางคนไม่ยอมไปร่วมในการปราบปรามคนงาน การที่พรรคสังคมนิยมฉวยโอกาสด่าพรรคคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนให้รัฐบาลออกกฏหมายควบคุมการนัดหยุดงาน และการที่องค์กรฝ่ายซ้ายใหม่และขบวนการแรงงานเริ่มจับมือกับทหารระดับล่าง
   
ในเดือนกันยายนมีการนัดหยุดงานใหญ่ในโรงต่อเรือและมีการเดินขบวนของคนงาน รัฐบาลสั่งให้ทหารติดอาวุธออกไปปราบ แต่ท่ามกลางการตะโกนของคนงานว่า “ทหารคือลูกหลานของคนงาน” และ “อาวุธของทหารต้องไม่ใช้กับคนงาน” มีการกบฏของทหารโดยที่ผู้บังคับบัญชาทำอะไรไม่ได้
   
ในเดือนเดียวกันพวกนายทุนและฝ่ายขวารวมถึงนายพล สปินโนลา พยายามทำรัฐประหารกระแส “เสียงเงียบ” เพื่อยับยั้งฝ่ายซ้าย แต่ถูกสกัดโดยขบวนการทหาร MFA กับขบวนการประชาชน
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อไป คณะกรรมการและสภาคนงานจากโรงงาน 38 แห่งจัดให้มีการเดินขบวนต่อต้านการปิดโรงงาน และต่อต้านสหรัฐกับนาโต้เนื่องในโอกาสที่กองทัพเรือสหรัฐเข้ามาฝึกซ้อมสงคราม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองอื่นๆ ทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับการเดินขบวนครั้งนี้ และรัฐบาลสั่งให้กองกำลัง COPCON ไปยับยั้ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการและสภาคน ส่งตัวแทนไปเจรจากดดันขบวนการทหาร MFA
   
ในวันประท้วงมีคนเข้าร่วม 80,000 คน และCOPCON ทำท่าจะปิดถนนที่นำไปสู่สถานทูตสหรัฐ แต่พอขบวนคนงานถึงด่านทหาร พวกทหารคอมมานโดก็ให้ผ่านและหันหลังกับคนงานพร้อมกับหันปืนเข้าสู่สถานทูตสหรัฐ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ระหว่างทหารกับคณะกรรมการและสภาคนงาน
   
ตั้งแต่เดือนมกราคม 1975 มีการลุกฮือของคนระดับล่างมากขึ้น มีการยึดโรงงาน เกษตรกรยึดที่ดินทางใต้ นักเรียนนัดหยุดงานในโรงเรียน และทหารระดับล่างออกชนบทเพื่อให้การศึกษากับประชาชน ดังนั้นในเดือนมีนาคมฝ่ายขวาและนายทุนพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้ง แต่ถูก COPCON และคนงานจัดการจนล้มเหลว ตามถนนหนทางคนงานปิดถนนโดยใช้รถบรรทุกและรถขนดิน และทหารธรรมดาก็จับมือคุยกับคนงานอย่างเปิดเผย นายพล สปินโนลา และพวกนายทุนจึงต้องหนีออกนอกประเทศไปสเปน
   
เหตุการณ์นี้เป็นจุดสุดยอดของการปฏิวัติโปรตุเกส หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนินกลายเป็นหนังสือยอดขายอันดับหนึ่ง และมีการแข่งแนวทางการเมืองในหมู่ฝ่ายซ้ายอย่างดุเดือด เพราะทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคซ้ายอื่นๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยอดขายหนังสือโป้ก็พุงสูง เพราะเคยเป็นหนังสือต้องห้ามภายใต้เผด็จการ ส่วน ออร์เทโล คาวาลโย หัวหน้า COPCON ก็เริ่มใกล้ชิดกับฝ่ายซ้ายกลุ่ม PRP/BR มากขึ้น ที่สำคัญคือเกือบทุกฝ่ายยังไม่มีความชัดเจนว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมโปรตุเกสไปสู่อะไรอย่างไร ข้อยกเว้นคือพรรคสังคมนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันและเงินรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พรรคสังคมนิยมโปรตุเกสต้องการสร้างรัฐสภาประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมตลาดเสรี และต้องการยั้บยั้งการปฏิวัติ
   
ในเดือนเมษายนมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อเลือก “สภาที่ปรึกษา” ให้กับคณะทหาร MFA ในเวทีการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมได้ 38% และพรรคคอมมิวนิสต์ ได้แค่ 13% ส่วนกลุ่มฝ่ายซ้ายอื่นๆ มีเสียงสนับสนุนน้อย ประเด็นสำคัญตรงนี้ที่เราต้องเข้าใจคือ เวทีการเลือกตั้งในประชาธิปไตยทุนนิยม มักให้ประโยชน์กับพรรคการเมืองที่มีภาพ “กระแสหลัก” เพราะประชาชนไปลงคะแนนเสียงแบบปัจเจกในบริบทของการรักษาระบบที่มีอยู่ แต่ในเวทีการต่อสู้ เช่นการประท้วง นัดหยุดงาน หรือยึดสถานที่ทำงาน พรรคหรือกลุ่มการเมืองซ้ายที่ต้านกระแสหลักจะได้ประโยชน์ เพราะมวลชนรู้สึกว่าตนเองมีพลังจากการต่อสู่รวมหมู่ คนจำนวนมากจึงมองว่าสังคมใหม่สร้างได้ นอกจากนี้ในเวทีสู้แบบนี้มีการถกเถียงการเมืองต่อหน้ามวลชนอย่างเปิดเผย โดยที่ใครๆ ก็แสดงความเห็นได้

หลังจากการเลือกตั้งมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยม กับแนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศก็แย่ลง เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติถอนทุนออกจากประเทศ และเมื่อโปรตุเกสยกอิสรภาพให้กับอาณานิคม ทหารผ่านศึกและข้าราชการในอาณานิคมจำนวนมากกำลังจะกลับบ้านท่ามกลางวิกฤตการตกงาน เกษตรกรรายย่อยทางเหนือที่ไม่ได้อะไรจากการล้มเผด็จการเพราะเป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้ว ก็เริ่มเบื่อหน่ายกับความวุ่นวาย และคนชั้นกลางเริ่มเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายเช่นกันนอกจากนั้นประเทศรอบข้างในยุโรปกำลังกดดันให้โปรตุเกสสร้าง “เสถียรภาพ” ในสภาพเช่นนี้ถ้าไม่มีการเดินหน้าไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม ก็จะมีการถอยหลังกลับสู่ทุนนิยมกระแสหลัก
   
ปัญหาใหญ่สำหรับ แนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน คือมีการปฏิเสธพรรคการเมือง และพึ่งพาอำนาจและอิทธิพลของทหารมากเกินไปทั้งๆ ที่เป็นนายทหารระดับล่าง

ดังนั้นเมื่อพวกพรรคการเมืองกระแสหลักและนายทหารบางคนในขบวนการทหาร ทำรัฐประหารอีกครั้งแนวร่วมขบวนการทหารกับขบวนการประชาชน ไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะไม่มีการจัดตั้งเพียงพอ และไม่มีการวางแผนสร้างสังคมใหม่ด้วย ยิ่งกว่านั้นฝ่ายขบวนการแรงงานและกลุ่มฝ่ายซ้ายเล็กๆ มองว่าขบวนการทหารจะเป็นหัวหอกและอำนาจหลักในการต้านรัฐประหาร โดยไม่มีการเตรียมพร้อมจะนัดหยุดงานหรือยึดโรงงานแต่อย่างใด ส่วนทหารก็แตกแยกไม่เป็นปึกแผ่น
   
เราชาวมาร์คซิสต์ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้และนำข้อสรุปไปใช้ในการต่อสู้ปัจจุบัน เราไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ในแง่ของนิทานที่น่าสนใจ ดังนั้นเราควรมีข้อสรุปอะไรบ้าง?
   
ในประการแรก การปฏิเสธพรรคการเมือง การปฏิเสธที่จะสร้างพรรคฝ่ายซ้ายที่มีฐานสมาชิกในขบวนการกรรมาชีพ การหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงการปฏิวัติสังคมนิยมและการสร้างสังคมใหม่ รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทฤษฏีและประวัติศาสตร์สากล เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราวางแผนการต่อสู้และประเมินสถานการณ์ไม่ได้ นี่คือจุดอ่อนของพวกแนวอนาธิปไตย พวก Occupy และคนเสื้อแดงหรือกรรมกรที่ปฏิเสธการสร้างพรรคในยุคปัจจุบัน
   
ในประการที่สอง การหวังพึ่งนายทหารระดับกลางหรือระดับล่าง ในการเปลี่ยนสังคม นำไปสู่การลดความสำคัญของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเสมอ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร “ละบังอังมาซา” ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเพ้อฝันว่านายทหารระดับล่างจะทำรัฐประหารและจุดประกายการปฏิวัติในยุคปัจจุบัน ในเวนเนสเวลา ชาเวส ก็พึ่งพาเพื่อนฝูงในกองทัพมากเกินไป แต่ผู้ที่ยับยั้งการทำรัฐประหารในประเทศนั้นคือมวลชนคนจนที่ ชาเวส ไม่ได้จัดตั้งโดยตรง นอกจากนี้การพูดถึง “ทหารแตงโม” โดยแกนนำ นปช. จากเวทีเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เป็นแค่การสร้างภาพลวงตาว่าจะห้ามการเข่นฆ่าเสื้อแดงได้
   
ในประการที่สาม การเน้นเวทีเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ย่อมให้ประโยชน์กับแนวการเมืองกระแสหลักเสมอ และสร้างความขัดแย้งภายในองค์กรหรือพรรคฝ่ายซ้าย ระหว่างแนวการทำงานมวลชน เช่นการจัดการนัดหยุดงาน ยึดที่ทำงาน หรือการเดินขบวน กับแนวหาเสียงในระบบเลือกตั้งทุนนิยม องค์กรไหนไม่ระมัดระวังอย่างถึงที่สุดในเรื่องนี้ จะถูกลากไปทางขวาโดยเริ่มประณีประนอมกับความคิดกระแสหลัก เพื่อเอาใจคนชั้นกลางและสื่อ และเพื่อไม่สร้างความกลัวมากเกินไปในหมู่นายธนาคารและนายทุน ยิ่งกว่านั้นการลงสมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียงในระบบที่มีอยู่ เมื่อแข่งกับพรรคนายทุน ย่อมใช้ทรัพยากรและบุคลากรมากมาย จนไม่สามารถทำงานประเภทเคลื่อนไหวมวลชนได้ อันนี้เริ่มเห็นในกรณีพรรคสังคมนิยมมาเลเซียที่เน้นการหาเสียงเหนือการขยายงานในสหภาพแรงงาน และพรรคไซรีซา ในประเทศกรีส เพราะไซรีซากำลังปลอบใจนายธนาคารและนายทุนยุโรป เพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้งคราวต่อไป นอกจากนี้มีการไปจับมือกับพรรคชาตินิยมขวาจัดในไซปรัส เพื่อสร้างแนวร่วมต้านการตัดงบของอียูในกรีสกับไซปรัส
   
แต่ไม่ว่าเราในหมู่ฝ่ายซ้ายจะถกเถียงกันอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่แน่นอนและไม่ต้องเถียงกันคือ การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาในไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธ์มิตรเสื้อเหลือง ต่างจากการปฏิวัติโปรตุเกสและบทบาทขบวนการทหารในประเทศนั้นโดยสิ้นเชิง

ว่าด้วยทุน เล่ม 3 ภาคที่ 1 การแปรรูปมูลค่าส่วนเกินเป็นกำไร และอัตรามูลค่าส่วนเกินเป็นอัตรากำไร(บทที่1-3)

การค้าขายสินค้าในราคาสูงหรือต่ำ ไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดมูลค่าของสินค้าเลย มันเพียงแต่กำหนดว่ามูลค่าสินค้าถูกแบ่งระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในสัดส่วนใดเท่านั้น ดังนั้นสำหรับนายทุนปัจเจก การได้กำไรขึ้นอยู่กับการขูดรีดแรงงานและปริมาณการโกงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้ซื้อขายสินค้า

ว่าด้วยทุนเล่ม 3 กระบวนการผลิตทุนนิยมในภาพรวม

ภาคที่ 1 การแปรรูปมูลค่าส่วนเกินเป็นกำไร และอัตรามูลค่าส่วนเกินเป็นอัตรากำไร

บทที่ 1: “ราคาค่าผลิต” และกำไร

ใน “ว่าด้วยทุน” เล่มหนึ่ง เราพิจารณากระบวนการผลิตในตัวมันเอง แต่ในโลกจริง การหมุนเวียนของทุนมีมากกว่านี้ ดังนั้นในเล่มสองเราจึงพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของทุน สำหรับเล่มสามนี้จะพิจารณาผลในรูปธรรมของการเคลื่อนไหวของทุนในภาพรวม

•จากมุมมองนายทุน “ราคาค่าผลิต”(k) คือ ค่าซื้อเครื่องจักร+วัตถุดิบ+พลังการทำงานของกรรมาชีพ แต่ “ราคาค่าผลิต” ที่นายทุนจ่าย ไม่เหมือนมูลค่าผลิตสินค้าจริง(ราคาการผลิต) เพราะมูลค่าสินค้าดังกล่าวประกอบไปด้วย “มูลค่าส่วนเกิน” ที่นายทุนได้ฟรีแต่กรรมาชีพต้อง “จ่าย” ด้วยการทำงาน คือ มูลค่าสินค้า/ราคาการผลิต C = k + s   (s คือมูลค่าส่วนเกิน)

•“ราคาค่าผลิต” (k) คือมูลค่าของทุน ที่นายทุนต้องลงทุนเพื่อทำการผลิตสินค้า และต้องได้กลับมาผ่านกระบวนการหมุนเวียน เพื่อซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักร และพลังการทำงาน ในการผลิตซ้ำอีกรอบ

•“มูลค่าผลผลิต” คือปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิต

•ในระบบทุนนิยม จะเกิดภาพลวงตาเกี่ยวกับ “ราคาค่าผลิต” และมูลค่าส่วนเกิน

•ถ้าค่าจ้าง(ทุนแปรผัน) เพิ่มขึ้น มูลค่าผลผลิตจะไม่เพิ่มแต่อย่างใด มันเพียงแต่ไปกินส่วนของมูลค่าส่วนเกินที่อยู่ในมือนายทุนเท่านั้น[1]  เพราะมูลค่าสินค้า C = ทุนคงที่ c + ทุนแปรผัน V + มูลค่าส่วนเกิน S

และทุนคงที่ประกอบไปด้วยปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้ในการสกัดวัตถุดิบหรือสร้างเครื่องจักร

•เวลานายทุนจ่าย “ราคาค่าผลิต” มันจะมีภาพว่าเป็นการซื้อ “สินค้า” ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ เครื่องจักร หรือ พลังการทำงาน แต่การซื้อพลังการทำงานเป็นการซื้อสินค้าพิเศษที่สร้างมูลค่าได้ ไม่เหมือนเครื่องจักรฯลฯ มันเป็นการซื้อแรงงานมีชีวิตซึ่งไม่ใช่ทุนที่จะถูกเพิ่มมูลค่าในกระบวนการผลิต

•ดังนั้นมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากการที่นายทุนจ่าย “ราคาค่าผลิต” ดูเหมือน ว่าเกิดจากทุนทุกชนิด (เครื่องจักร วัตถุดิบ พลังการทำงาน) ในขณะที่มันเกิดจากพลังการทำงานเท่านั้น ในด้านหนึ่ง ทุนคงที่แบบวัตถุดิบและเครื่องจักร ในลักษณะที่เป็นวัตถุ มีส่วนในกระบวนการผลิต แต่มันไม่ได้สร้างมูลค่า ภาพลวงตานี้ปกปิดที่มาอันแท้จริงของมูลค่าส่วนเกิน

•สำหรับนายทุน มูลค่าสินค้าดูเหมือนว่า = “ราคาค่าผลิต” + กำไร
                   
กำไรนี้คือมูลค่าส่วนเกินดีๆ นี้เอง

•นายทุนสามารถขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริงได้โดยที่ยังได้กำไร ถ้าราคาขายสินค้าไม่ตกต่ำกว่า “ราคาค่าผลิต” เพราะนายทุนได้มูลค่าส่วนเกินมาฟรีๆ

•นายทุนมองแบบผิดๆ ว่า “มูลค่าจริง” หรือ “มูลค่าเนื้อแท้” ของสินค้าคือ “ราคาค่าผลิต” และสิ่งที่เข้าใจผิดตามมาอีกคือ ความเชื่อว่ากำไรเกิดจากการขายสินค้าในราคาที่สูงกว่า “ราคาค่าผลิต” นี่คือที่มาของข้อเสนอของนักนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และคนอย่าง Pierre-Joseph Proudhon ว่ากำไรมาจากการซื้อขาย แต่ในความเป็นจริงกำไรมาจากการขูดรีดแรงงาน ความคิดผิดๆ แบบนี้เท่ากับเสนอว่ามูลค่าที่เป็นกำไร เกิดขึ้นเองจากความว่างเปล่าเมื่อมีการซื้อขาย

บทที่ 2: อัตรากำไร

สูตรของทุนคือ   M-C-M’   (M=ทุนเงิน  C=ทุนสินค้า)

กระบวนการที่สร้างมูลค่าคือกระบวนการผลิต และกระบวนการที่ทำให้นายทุนได้ทุนกลับมาในมือคือกระบวนการหมุนเวียน

•ในโลกจริงนายทุนไม่สนใจผลผลิตเป็นหลัก แต่สนใจการเพิ่มมูลค่าจากการลงทุนเท่านั้น[2]

•นายทุนเพิ่มทุนของตนเองได้ก็ต่อเมื่อขูดรีดแรงงาน แต่การขูดรีดแรงงานเกิดขึ้นได้เพราะมีการนำพลังการทำงานไปทำงานกับปัจจัยการผลิต นายทุนเลยไม่แยกแยะว่าเขาลงทุนในพลังการทำงานหรือปัจจัยการผลิต นายทุนมองว่าเป็นต้นทุนทั้งนั้น

•สิ่งสำคัญที่นายทุนจ้องมองและให้ความสำคัญเหนืออื่นใดคือ “อัตรากำไร”

“อัตรากำไร” (P’) คือมูลค่าส่วนเกิน (S) ที่ได้มาจากการลงทุนทั้งหมด  (ทั้งทุนคงที่แบบวัตถุดิบและเครื่องจักร c และทุนแปรผัน –ค่าจ้าง V )

P’  =  S/c+V

มันเกิดภาพลวงตาว่าทุกส่วนของต้นทุน (คงที่และแปรผัน) มีส่วนในการสร้างกำไร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่น Ramsay, Malthus, Senior, Torrens ฯลฯ เชื่ออย่างผิดๆ ว่า “ทุนในตัวมันเอง อิสระจากความสัมพันธ์กับแรงงาน และสามารถสร้างมูลค่าได้เอง” อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพสร้าง ย่อมอิสระโดยสิ้นเชิงจากปริมาณมูลค่าคงที่ที่กรรมาชีพใช้ มันขึ้นอยู่กับว่ากรรมาชีพทำงานฟรีให้นายทุนแค่ไหนเท่านั้น

พวกสำนักคิดแบบ David Ricardo คิดว่า “อัตรากำไร” เหมือนกับ “อัตรามูลค่าส่วนเกิน”

แต่อัตรากำไรต่างจาก “อัตรามูลค่าส่วนเกิน” (S’) ซึ่งเป็นสัดส่วนมูลค่าส่วนเกิน (S)  ต่อทุนแปรผัน(ค่าจ้าง) หรืออาจพูดได้ว่าเป็นสัดส่วนมูลค่าที่กรรมาชีพสร้างให้นายทุนฟรี เมื่อเทียบกับค่าจ้าง

S’ =  S/V

•สำหรับนายทุน “ราคา” ของสินค้าดูเหมือนว่าประกอบไปด้วยราคาวัตถุดิบ/เครื่องจักร และส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนต้องซื้อด้วยค่าจ้าง มันไม่รวมมูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพผลิตให้นายทุน

•แต่มูลค่าของสินค้า(ซึ่งกำหนดราคา) ย่อมประกอบไปด้วยราคาวัตถุดิบ/เครื่องจักร +ส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนต้องซื้อด้วยค่าจ้าง+ส่วนของพลังการทำงานของกรรมาชีพที่นายทุนได้ฟรี(มูลค่าส่วนเกิน)

•กำไรของนายทุนจึงมาจากการที่เขาขายส่วนของสินค้าที่เขาไม่ต้องซื้อเลยคือได้ฟรีจากงานส่วนเกินของกรรมาชีพ

•กำไรและอัตรากำไรคือสิ่งที่มองเห็นในระบบทุนนิยม

•มูลค่าส่วนเกินและอัตรามูลค่าส่วนเกินคือสิ่งที่ถูกปกปิด และการปกปิดนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มันปกปิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในระบบทุนนิยม

•นายทุนเห็นกำไรตกอยู่ในมือตนเองเมื่อมีการขายสินค้า(ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแค่กระบวนการหมุนเวียน) ดังนั้นเลยเชื่อว่ากำไรมาจากการค้าขายในตลาด แต่ความจริงคือ กำไรมาจากการขูดรีดในระบบการผลิตที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการขายสินค้า

•การค้าขายสินค้าในราคาสูงหรือต่ำ ไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดมูลค่าของสินค้าเลย มันเพียงแต่กำหนดว่ามูลค่าสินค้าถูกแบ่งระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในสัดส่วนใดเท่านั้น ดังนั้นสำหรับนายทุนปัจเจก การได้กำไรขึ้นอยู่กับการขูดรีดแรงงานและปริมาณการโกงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้ซื้อขายสินค้า

บทที่ 3: ความสัมพันธ์ระหว่างอัตรากำไรกับอัตรามูลค่าส่วนเกิน

ถ้า S คือมูลค่าส่วนเกิน  S’ คืออัตรามูลค่าส่วนเกิน  V คือทุนแปรผัน   P’ คืออัตรากำไร   C คือต้นทุนสินค้าทั้งหมด และ c คือทุนคงที่
   
อัตรามูลค่าส่วนเกิน S’ = S/V            ดังนั้น  S= S’V
   
อัตรากำไร  P’ = S/C  =  S/c+V         ดังนั้น  P’ = S’V/c+V
 
และ
   
สัดส่วน  P’: S’  =  S/C : S/V  หรือ =  V:C (ตามคณิตศาสตร์)
       
เนื่องจาก V เป็นส่วนหนึ่งของ C และเล็กกว่า…  อัตรากำไรย่อมน้อยกว่าอัตรามูลค่าส่วนเกิน

เงื่อนไขอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่ออัตรากำไร P’ ?

มีสองสิ่งที่มีผลกระทบต่ออัตรากำไร P’ พร้อมๆ กันในด้านบวกคือ

1.อัตรามูลค่าส่วนเกิน S’

2.สัดส่วนทุนแปรผันต่อทุนคงที่ (Value Composition of Capital)  V/c

คือถ้า S’ เพิ่มหรือลดลง P’จะเพิ่มหรือลดลง ถ้า V/c เพิ่มหรือลด P’จะเพิ่มหรือลด แต่ต้องพิจารณาสองเงื่อนไขนี้พร้อมกันตลอดเวลา

[ในบทนี้มาร์คซ์พิสูจน์หลักพื้นฐานนี้โดยการพิจารณาหลายๆ กรณีที่ S’, c หรือ V คงที่หรือเปลี่ยนแปลง]

เชิงอรรค
[1] ดังนั้นเมื่อกรรมาชีพสู้เพื่อขึ้นค่าแรง มันไม่ทำให้สินค้าแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ มันไปลดกำไรนายทุน(กอง บก.)
[2] นี่คือสาเหตุที่นายทุนไม่สนใจว่าตนเองผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่ หรือแค่เอาทุนไปปั่นหุ้นจนเกิดฟองสบู่(กอง บก.)

เมื่อสภาพการจ้างงานเลวร้าย อุบัติเหตุก็เกิดขึ้น

การเกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงาน นิ้วขาด นิ้วแตก คนงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนเมื่อประสบอุบัติเหตุ สำหรับสิทธิการลาป่วยมีใบรับรองของแพทย์ นายจ้างยังไม่อนุญาตให้คนงานหยุดทั้งที่คนงานมีสิทธิหยุดโดยได้รับค่าจ้าง

โดย พจนา วลัย

ผู้เขียนเรียบเรียงปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากเอกสารเผยแพร่ของพนักงานบริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย)จำกัด สาขาลำลูกลา จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติจากประเทศออสเตรเลีย จะเห็นได้ว่า การเลิกจ้างพนักงานจำนวน 50 คนมีสาเหตุมาจากการออกมาต่อสู้เรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการทำงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการให้ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพนักงานขับรถบรรทุกส่งของทำงานหนักมากจนนำไปสู่การบาดเจ็บในขณะทำงาน และประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต และทำให้ผู้อื่นเสียหาย  ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและบริษัทลินฟอกซ์ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการปรับปรุงสภาพการทำงานของพนักงานให้ปลอดภัย  ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้

การประท้วงฝ่ายบริหารที่พักงานและไล่พนักงานออก

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 พนักงานทุกคนได้หยุดงานเนื่องจากไม่สามารถทนกับสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดได้ เช่น ฝ่ายบริหารพักงานและไล่ออก กล่าวคือ ได้มีการให้คนงานออกจากงานโดยกล่าวอ้างว่าคนงานลักขโมยน้ำมันซึ่งขาดกระบวนการตรวจสอบและยืนยันหลักฐาน คนงานจึงออกมาคัดค้านการกระทำของบริษัทฯ ด้วยนัดหยุดงาน จากนั้นจึงได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน  และสามารถตกลงกันได้ โดยนายจ้างยอมรับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ

จากนั้น คนงานจำนวน 430 คนรวมตัวกันสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานการขนส่งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ( ITF) จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 2,034 คน(รวม 4 สาขา) ทว่าในช่วงที่คนงานสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานการขนส่งแห่งประเทศไทย ทางบริษัทฯ ได้พยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องเรทน้ำมันและระยะกิโลเมตรของเส้นทางการขนส่งสินค้า โดยต้องการให้พนักงานทำเวลาให้เร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนงานที่มีเงื่อนไขระยะเวลา คือ หากทำไม่ได้ตามเงื่อนไขจะถูกหักเงิน

การเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานของฝ่ายบริหาร

จากการเปลี่ยนแปลงเรื่องเรทน้ำมันและระยะกิโลเมตรของเส้นทางการขนส่งสินค้า คนงานต้องทำเวลาและต้องอดกลั้นกับการไม่เข้าห้องน้ำ เพราะถ้าคนงานหยุดรถเพื่อเข้าห้องน้ำเมื่อกลับเข้ามาที่ศูนย์กระจายสินค้าก็จะถูกนายจ้างซักถามถึงการหยุดรถ เนื่องจากทางนายจ้างได้ทำการบันทึกการเดินทาง ด้วยระบบจี พี เอส ดูการเดินทางการขนส่งสินค้าของคนงาน โดยทางนายจ้างไม่เคยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนงาน ทั้งด้านอุบัติเหตุและด้านสุขภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัยที่ขับรถระยะยาวนานถึงแม้จะมีคู่กะสับเปลี่ยนก็ตาม

สภาพการจ้างงาน

พนักงานขับรถบรรทุกได้รับเงินเดือนประมาณ 9,450 บาท (315 เหรียญสรอ.) ซึ่งเป็นไปตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  นอกจากนี้มีเบี้ยเลี้ยงค่าเดินทาง แต่มีปัญหาความโปร่งใสของการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ในสลิปเงินเดือน เพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถตอบได้ทั้งหมด  และหากทำงานล่วงเวลา รายได้โดยเฉลี่ยของพนักงาน เดือนละ 20,000 บาท (660 เหรียญสรอ.)

กฎระเบียบของบริษัท  พนักงานขับรถมีสิทธิหยุดพักสัปดาห์ละ 1 วัน  แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขามักขับรถอยู่บนท้องถนนเสมอ และยากที่จะกลับถึงบ้านให้ตรงกับวันหยุด อันเนื่องจากต้องขับในระยะทางยาวไกล ตามต่างจังหวัดที่พวกเขาต้องขนส่งอาหารสดให้แก่ห้างเทสโก้โลตัสทั่วประเทศ ฉะนั้นพวกเขาจึงทำงานหลายชั่วโมง และกดดัน เครียด จากการสั่งงานและควบคุมงานของผู้จัดการและหัวหน้า  เช่น การขับรถไปยังภาคใต้ของประเทศ ใช้เวลา 22 ชั่วโมง และต้องหลับบนรถ เพราะไม่มีสวัสดิการพักตามโรงแรม

ภาระงานของพนักงานขับรถ นอกจากจะขับรถแล้ว ยังต้องขนสินค้าไปตามห้างด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานขับรถคนหนึ่งบาดเจ็บที่มือสองข้างในระหว่างการขนสินค้า ซึ่งแพทย์ขอให้บริษัทให้พนักงานพักรักษาตัว 1 เดือน แต่บริษัทปฏิเสธ  และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ฝ่ายบริหารก็กล่าวหาพนักงานว่าละเมิดกฎระเบียบของบริษัทของ 19 ว่าด้วยการขาดความระมัดระวังในการทำงาน

และเมื่อไม่นานมานี้ ยังเกิดกรณีการเสียชีวิตของคนงานที่มาจากการทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่พัก  คือ พนักงานขับรถบรรทุก 18 ล้อ ที่มีประสบการณ์ทำงานมาเป็นเวลา 10 ปี ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงด้วยการขับทั้งระยะทางสั้นๆ และไกล วันหนึ่ง หลังจากส่งสินค้าให้แก่ห้างเทสโกโลตัส จังหวัดจันทบุรี ขากลับ เขาหลับในและประสบอุบัติเหตุ ชนรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง และเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิต

การเกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงาน นิ้วขาด นิ้วแตก คนงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนเมื่อประสบอุบัติเหตุ สำหรับสิทธิการลาป่วยมีใบรับรองของแพทย์ นายจ้างยังไม่อนุญาตให้คนงานหยุดทั้งที่คนงานมีสิทธิหยุดโดยได้รับค่าจ้าง  ทั้งยังได้ประกาศห้ามลาหยุดก่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อไม่ต้องการให้พนักงานลาหยุดต่อเนื่อง หากหยุดจะตัดค่าจ้างและให้ใบเตือน

หากอ้างอิงถึงกฎหมาย มาตรา 6 และมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ประกอบสำหรับการทำงานด้านขนส่งทางบก กล่าวคือ  งานขนส่งทางบก ทั้งการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือ พลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์วที่เจ็บป่วย และการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย  นายจ้างต้องกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้าง ในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานล่วงเวลาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง  และหากได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร และต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน

อีกทั้ง หลังจากลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะได้ทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่อาจตกลงกันให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาทีและเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง

ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานในวันทำงานถัดไปก่อนครบระยะเวลาสิบชั่วโมงหลังจากสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว
       
ปัญหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ช่วงระหว่างการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

จากสภาพการทำงานและการควบคุมงานที่บีบคั้นพนักงาน  ในวันที่ 4 มกราคม 2556 สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้นต่อการดำรงชีวิตและครอบครัวให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบันต่อบริษัท จำนวน 24  ข้อ จากนั้นทางบริษัทฯ ได้นัดเจรจาและทำการเจรจากับพนักงาน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 4 มกราคม 2556 ครั้งที่ 2 คือ วันที่ 20 มกราคม 2556 จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายนัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 แต่ทางนายจ้างได้มีการเลื่อนการเจรจาและนัดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 20 มีนาคม 2556

ในช่วงระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง วันที่ 12 กุมภาพพันธ์ 2556 ทางบริษัทฯ ได้มีประกาศถึงพนักงานบริษัททุกคน ลงนามโดย เจมส์ ออลแมนด์ / กรรมการผู้จัดการ บริษัท ว่า มีพนักงานขับรถของลินฟ้อกซ์ฯ ประจำหน่วยงานลำลูกกา 2 คนถูกปลดพ้นสภาพพนักงานในข้อหาขโมยน้ำมันจากรถบรรทุกของลินฟ้อกซ์ฯ ซึ่งอ้างว่ามีหลักฐานยืนยันได้จากการบันทึกการเดินทางจากระบบจี พี เอส / แผนที่ทางอากาศ / ภาพแสดงสถานที่ขายน้ำมันเถื่อน / กราฟปริมาณน้ำมันที่สูญหาย ข้อกล่าวหาของบริษัทฯ เป็นการกล่าวหาโดยพิสูจน์ไม่ได้ตามที่บริษัทฯ ยกเครื่องมือของทางบริษัทฯ มาตัดสินสั่งพักงานจนถึงไล่ออกเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกับคนงานก่อนสั่งพักงานและออกคำสั่งเลิกจ้าง  ในขณะนี้มีจำนวนเลิกจ้าง(ไล่ออก) 5 คน และสั่งพักงานอีก 8 คน โดยทางบริษัทฯ กล่าวอ้างเหตุว่าคนงานหยุดรถพื้นที่สีแดง(พื้นที่ต้องห้าม)  ซึ่งทางบริษัทฯไม่เคยแจ้งหรือมีการประกาศบอกกับคนงานว่าพื้นที่บริเวณใดเป็นพื้นที่ต้องห้ามในการหยุดรถ แต่พอคนงานกลับเข้ามาที่ศูนย์กระจายสินค้า ทางบริษัทฯ ก็ออกใบพักงานให้กับคนงานจนถึงบอกเลิกจ้าง

การกระทำของฝ่ายนายจ้างเป็นการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 หมวด ๙ การควบคุม มาตรา 108 ถึงมาตรา 115 ได้แก่ กระบวนการร้องทุกข์ ไต่สวน การสั่งพักงานของบริษัทฯ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหมวด 10 มาตรา 116 และมาตรา 117   เช่น การห้ามพักงานในช่วงของการสอบสวนข้อเท็จจริง (แต่ไม่มีการสอบสวน) เป็นต้น  ประกอบกับปัญหาที่นายจ้างละเมิดไม่จ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างไม่จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่คนงาน รวมทั้งไม่มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนทำให้คนงานพักผ่อนไม่พอ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งไม่จัดหาห้องพักและห้องพยาบาล  หัวหน้างานพูดจาหยาบคาย ดูหมิ่นดูแคลนต่อคนงานจากปัญหาที่กล่าวมาซึ่งกลายเป็นปัญหาสะสมจนทำให้คนงานต้องออกมาคัดค้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดกฎหมายของบริษัทฯ  ด้วยการหยุดงาน

จากนั้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 (ช่วงเช้า)มีคำสั่งประกาศของบริษัทฯให้พนักงาน 50 คนไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานตามประกาศของบริษัท  แต่ในช่วงบ่าย พนักงานผู้ถูกสั่งให้ไปรายงานตัวออกหนังสือคัดค้านคำสั่งของบริษัทฯ โดยให้เหตุผลของการหยุดงานว่า

๑.บริษัทฯไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่  ๑๒  ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๑

๒.พนักงานขับรถต้องการให้บริษัทฯ กำหนดจุดจอด(พื้นที่สีแดง) ให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดห้ามจอด  เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯไม่เคยแจ้งจุดจอด และกลายเป็นข้ออ้างของบริษัทฯในกรณีลงโทษ และเลิกจ้างพนักงานที่เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานการขนส่งแห่งประเทศไทย โดยไม่เป็นธรรมแก่พนักงาน

๓.พนักงานทั้งหมดยินดีเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง หากบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ ๑ และ ข้อ ๒ เรียบร้อยแล้ว

กระทั่งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์  2556  ผู้บริหารบริษัทประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 50 คน ซึ่งรวมตัวแทนเจรจาด้วย  คนงานจึงคัดค้านประกาศเลิกจ้างของบริษัท เพราะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เนื่องจากคนงานประสงค์จะกลับเข้าไปทำงาน แต่ขอให้ทางบริษัทปฏิบัติตามข้อ 1 ถึงข้อ 3  ข้างต้นตามหนังสือคัดค้านของลูกจ้างจำนวน 50 คน

ความรับผิดชอบต่อสังคมของรัฐและบริษัท

บริษัทมีระบบการบริหารที่ควบคุมงาน เร่งงาน ไม่จัดหาเวลาพักและสวัสดิการที่เพียงพอ ในขณะที่ตัวเองทำกำไรนับร้อยล้านจากการขนส่งกระจายสินค้าอาหารสดทั่วประเทศให้แก่ห้างสรรพสินค้า เช่น TESCO LOTUS ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนจำนวน 20,000,000.00 ล้านบาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ทำกำไรจำนวน 137,080,876 ล้านบาทในปี 2555

จากการพิจารณาสภาพการจ้างงานและกฎหมายที่พยายามให้เวลาพักแก่ลูกจ้างที่ขับรถขนส่งสินค้าทางบกเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ  บริษัทยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อพนักงานที่ทำงานให้แก่บริษัทอย่างยากลำบาก สิ่งที่พิสูจน์คือ การเลิกจ้างตัวแทนเจรจาและสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งประเทศไทยที่ต้องการให้บริษัทปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ  การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการขับรถขนส่งทางบก และป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนด้วย

การเลิกจ้างตัวแทนเจรจาและสมาชิกสหภาพแรงงานในช่วงระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง ถือว่าเป็นการทำลายสิทธิในการจัดตั้งและเจรจาต่อรองของพนักงาน เอารัดเอาเปรียบพนักงาน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ดูแลพนักงาน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเท่ากับไม่ดูแลคนส่วนใหญ่ เพราะกระทั่งบัดนี้ที่หน้าบริษัท คนงานยังหยุดงานประท้วงการเลิกจ้างพนักงาน สภาพการจ้างงานที่เลวร้าย และการไม่พยายามแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งได้ส่งผลเสียหายต่อสังคมแล้ว และเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก

ประเทศไทยถือได้ว่ายังด้อยพัฒนาเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และรับผิดชอบต่อสังคม เพราะขาดการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย และการป้องกันการส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ใช้แรงงานและต่อสังคมวงกว้าง  ด้วยนโยบายปล่อยเสรีทางการค้าและเน้นการลงทุน ทำธุรกิจของภาคเอกชน ที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของคนทำงาน ความปลอดภัย ขยะสารพิษ และสิ่งแวดล้อม  ล่าสุดรัฐบาลยังมีนโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทต่างๆ เพื่อชดเชยกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แสดงให้เห็นถึงการไม่มีมาตรการรองรับปัญหาของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในที่สุด รัฐและทุนก็ผลักภาระให้แก่ครอบครัวของผู้ใช้แรงงานในการดูแลสุขภาพที่เสื่อมโทรมจากการทำงาน ด้วยสวัสดิการต่ำจนถึงขั้นไม่มี และค่าจ้างราคาถูก  ระบบสวัสดิการของคนทำงานที่มีหลายมาตรฐาน เพราะนโยบายที่เลือกปฏิบัติระหว่างข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน คนทำงานนอกระบบอุตสาหกรรม รับจ้างทั่วไป หาบเร่ ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่นับถึงรวมเศรษฐกิจที่ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน ได้แก่ การดูแลงานบ้านของผู้หญิง การเลี้ยงดูเด็กที่รัฐผลักภาระให้แก่ครอบครัวแบบตัวใครตัวมัน

วิกฤตเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน

วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยมีคนว่างงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งอันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกลอยแพอย่างอนาถก็คือกลุ่ม แรงงานจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายๆ 

โดย ฮิปโป

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไหน แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง เนื่องจากว่าประเทศเป็นระบบทุนนิยม ลักษณะการทำงานของคนไทยส่วนใหญ่ จึงอยู่ในรูปแบบของการขายแรงงานเพื่อดำรงชีวิต และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนายทุนชะลอการลงทุนหรือปิดกิจการ แรงงานจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะทรัพยากรทั้งหมดที่เคยใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร โรงงานรวมถึงแรงงานเองก็จะถูกวางเฉย การอยู่ในสภาวะที่แรงงานไม่ได้ถูกนำใช้ นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการ “ว่างงาน” ปัญหาการว่างงานมันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงและความอยู่ดีกินดีของประชาชนด้วย

ในวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยมีคนว่างงานทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งอันนี้เป็นตัวเลขเฉพาะของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกลอยแพอย่างอนาถก็คือกลุ่ม แรงงานจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายๆ โดยไม่มีการบอกล่วงหน้า ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการตั้งสหภาพเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากนายจ้างได้เลย ภาครัฐเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ถูกลอยแพ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างเช่นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 นั้นเกิดจากสาเหตุฟองสบู่ เนื่องจากช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเปิดเสรีทางการค้า คือนายทุนไทยกู้เงินจากต่างประเทศแล้วพากันแห่แหนมาลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการลงทุนง่ายที่สุด เพราะได้ผลตอบแทนเร็วโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก ดังนั้นจึงเกิดสภาวะการผลิตล้นเกินท่ามกลางปัญหาความขาดแคลน

ในช่วงนั้นปัญหาส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรงคือ มีคนตกงานในช่วงปีแรก 1 ล้านคน และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน ในเวลาไม่ถึงปี อย่างเช่น โรงงานอุสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง ไทยเมล่อน เท็กซ์ไทล์ ซึ่งเป็นโรงงานทอผ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนั้น ได้ปิดตัวลงแล้วผลกระทบคือ แรงงานทั้ง 5,000 คน ถูกปลดกลางอากาศ ส่วนบริษัทอื่นๆก็จะอาจจะลดการทำงานของแรงงาน การให้พักลาโดยไม่ได้เงินเดือน และที่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การฉวยโอกาสจากวิกฤตเศรษฐกิจของนายทุน มาเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกจ้างพนักงานอย่างไม่มีสาเหตุ และไม่จ่ายเงินชดเชย หรือบางบริษัทอาจฉวยประโยชน์จากวิกฤตนี้ในการลดการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน

จากวิกฤตที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ไม่ได้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย คือถ้าภาครัฐต้องการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานจริง รัฐจะต้องยึดบริษัทที่กำลังจะปิดตัวหรือเลิกจ้างคนงาน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่จะปกป้องการทำงานของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้แรงงานได้มีรายได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากว่าการตัดงบและสวัสดิการต่างๆ หรือแม้แต่การอุ้มบริษัทใหญ่ให้อยู่รอดนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นลดลง และพวกธนาคารหรือบริษัททั้งหลายก็ไม่ได้เป็นกำลังซื้อหลักของสังคม คือไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อของคนสังคมได้

อ้างอิง: กองบรรณาธิการลี้ยวซ้าย(2554). วิกฤตเศรษฐกิจโลก กับการต่อสู้ทางชนชั้นในยุโรปและตะวันออกกลาง. หนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย

งาน

การทำงานของมนุษย์แบบรวมหมู่ อันเนื่องมาจากเราเป็นสัตว์สังคม นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของงาน แต่มันนำไปสู่โอกาสของคนกลุ่มหนึ่งที่จะตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ชี้นำควบคุมการทำงาน ผู้จดบัณทึกปริมาณผลผลิต และผู้มีเวลาพอที่จะเรียนรู้และจดจำวิธีการหรือ “ศาสตร์” ของการทำงาน แต่มันมีผลเสียด้วย

โดย ลั่นทมขาว

มาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่านิสัยแท้ของมนุษย์คือรักการทำงาน แต่ต้องเป็นการทำงานแบบสร้างสรรค์และเสรี ไม่ใช่การทำงานแบบที่ถูกคนอื่นในสังคมบังคับ หรือวิธีการทำงานที่ถูกกำหนดมาโดยเจ้านายแล้วเจ้านายขโมยผลการทำงานไปเป็นของตนเอง
   
ในประเด็นที่สำคัญพอๆ กัน มาร์คซ์กับเองเกิลส์ เสนอด้วยว่า “การทำงาน” เพื่อเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นรากฐานมูลค่าทั้งปวงในโลก
   
สองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกันแบบแยกไม่ออก มันหมายความว่ามนุษย์มีความพิเศษ ต่างจากสัตว์อื่นๆ เพราะเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีความสุขจากการนึกคิดออกแบบการทำงานสร้างสรรค์เสมอ และในขณะเดียวกันเราต้องทำงานเพื่ออยู่รอด เพราะมูลค่าหรือสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้มันไม่ได้ตกลงมาจากฟ้า มันหมายความเราไม่สามารถแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานที่ใช้สมองได้ เพราะในการทำงานทุกครั้งมนุษย์ต้องใช้สมอง และใช้บางส่วนของกล้ามเนื้อประกอบกัน สัดส่วนการใช้แรงกับการใช้สมองอาจต่างกัน แต่ไม่มีงานใดที่ไม่ใช้ทั้งสอง
   
การที่มนุษย์อยู่เฉยๆ ไม่ได้ พิสูจน์ว่าพวกนักวิชาการเสรีนิยมโกหก เวลาเขาเสนอว่าพวกตกงานเป็นพวกขี้เกียจหลังยาวที่ได้แต่แบมือรับสวัสดิการ และมันอธิบายด้วยว่าทำไมคนติดคุกที่ถูกบังคับให้อยู่เฉยๆ นานๆ มีความทุกข์
   
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการทำงานคือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราไม่สามารถทำงานจริงๆ ตามลำพังแบบปัจเจก เพราะเราพึ่งพาการทำงานของมนุษย์คนอื่นในสังคมเสมอ ไม่ว่าในเรื่องการอาศัยคนที่ผลิตอาหาร เสื้อผ้า ไฟฟ้า หรือเครื่องไม้เครื่องมือ และงานจำนวนมากอาศัยการทำงานของกลุ่มคน ตั้งแต่การช่วยกันล่าสัตว์ตัวใหญ่ๆ ในยุคบุพกาล ถึงการทำงานในโรงงาน ร้านค้าใหญ่ หรือในสำนักงานทุกวันนี้
   
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเข้าใจการวิวัฒนาการของมนุษย์จากลิง เพราะขั้นตอนสำคัญในกระบวนการนั้นคือการยืนสองขา การยืนสองขาทำให้มือเรามีอิสรภาพเหมาะกับการทำงาน และเนื่องจากเราร่วมมือกับมนุษย์คนอื่นในการทำงาน การวิวัฒนาการของวิธีสื่อสาร ภาษานั้นเอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมองของเรา
   
การทำงานของมนุษย์แบบรวมหมู่ อันเนื่องมาจากเราเป็นสัตว์สังคม นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของงาน แต่มันนำไปสู่โอกาสของคนกลุ่มหนึ่งที่จะตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ชี้นำควบคุมการทำงาน ผู้จดบัณทึกปริมาณผลผลิต และผู้มีเวลาพอที่จะเรียนรู้และจดจำวิธีการหรือ “ศาสตร์” ของการทำงาน แต่มันมีผลเสียด้วย เพราะคนเหล่านี้เริ่มกลายเป็นชนชั้นปกครองที่เสพสุขจากการทำงานของคนอื่นโดยไม่ทำงานเอง มีการใช้ความรุนแรงในการบังคับให้คนอื่นทำงาน และในการยึดผลผลิตมาด้วย ในยุคต่อมา เมื่อมีทุนนิยม นายทุนที่สะสมความร่ำรวยจากยุคบังคับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นยุคศักดินาในไทยหรือฟิวเดิลในยุโรป ก็อาศัยมูลค่าจากการทำงานของคนอื่น เพื่อมาลงทุนผูกขาดความเป็นเจ้าของของระบบการทำงานที่ใช้เครื่องจักรทันสมัยมากขึ้นทุกวัน เขาอาศัยการผูกขาดการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเหล่านี้ เพื่อ “บังคับเงียบ” ให้เราทำงานให้เขา มันเป็นการบังคับเงียบเพราะถ้าเราไม่ทำงานเราก็อดตาย และภายใต้ระบบนี้ผลผลิตหรือมูลค่าที่คนทำงาน หรือกรรมาชีพ ผลิตนั้นตกอยู่ในมือนายทุน ในขณะที่เขาจ่ายค่าจ้างในระดับต่ำสุดให้เราและอ้างว่าเป็นการตอบแทน การขโมยมูลค่าที่คนส่วนใหญ่ผลิตโดยนายทุนนี้ เรียกว่าการขูดรีดแรงงาน และมันเป็นต้นกำเนิดของกำไร กำไรไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการลงทุนแต่อย่างใด
   
ในสังคมชนชั้น ไม่ว่าจะสมัยก่อนทุนนิยมหรือยุคทุนนิยมปัจจุบัน การที่คนกลุ่มน้อยขโมยผลผลิตและมูลค่าจากคนส่วนใหญ่มีผลต่อสภาพมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะการที่มูลค่าส่วนใหญ่อยู่ในมือชนชั้นปกครองช่วยให้เขาผูกขาดสื่อและกองกำลังที่จะปกป้องผลประโยชน์ของเขา และในด้านความรู้สึกนึกคิดของเรา มันต้องถือว่าเป็นการขโมย “ความเป็นมนุษย์พื้นฐาน” ของเราไป มาร์คซ์กับเองเกิลส์ มองว่าเป็นการบังคับให้คนส่วนใหญ่ “แปลกแยก” จากความเป็นมนุษย์และจากโลกรอบตัวเรา รวมถึงเพื่อนมนุษย์ด้วย มันนำไปสู่การที่เราขาดศักดิ์ศรีและความมั่นใจในตัวเองว่าเราดีเท่า ฉลาดเท่า และ มีความสามารถเท่ากับพวกที่มาปกครองเรา และมันทำให้เราคล้อยตามความคิดของผู้มีอำนาจ
   
แต่อย่าพึ่งหดหู่ เพราะเราจะเห็นว่าการทำงานในสังคมปัจจุบันมีลักษณะรวมหมู่ และคนส่วนน้อยที่กดขี่ขูดรีดเราทำงานเองไม่ได้ เขาอาศัยการทำงานของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นเวลาเราผู้ทำงานรวมตัวกันและนัดหยุดงาน เรามีพลังมหาศาล และถ้าเราร่วมกันจัดตั้งและคิดเรื่องการเมือง ในที่สุดเราสามารถใช้พลังนี้ในการยึดปัจจัยการผลิตพร้อมทั้งมูลค่าทั้งปวงมาเป็นของคนส่วนใหญ่ ในอนาคตเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราจะกลับคืนสู่สภาพความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้

จับมือกับกษัตริย์บาห์เรนมือเปื้อนเลือดเพื่อเอาใจพวกเปื้อนเลือดในไทย

การที่นายกยิ่งลักษณ์ จับมือกับฆาตรกรเปื้อนเลือดที่อื่น มันกลายเป็นคำมั่นสัญญาว่าไอ้ฆาตกรมือเปื้อนเลือดในไทยจะไม่ถูกแตะต้อง จะมีความมั่นคงในการกดขี่เข่นฆ่าคนไทยต่อไป นี่หรือคือสิ่งที่พวกเราต้องการ?

โดย นุ่มนวล  ยัพราช

บาห์เรน เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ล้าหลังที่สุดในตะวันออกกลางยังคงใช้รูปแบบการปกครองแบบระบบสมบูรณาญาสิทธิราช เต็มไปด้วยความป่าเถื่อนรุนแรง ขบวนการประชาธิปไตยในบาห์เรนได้รับอิทธิพลมาจาก “อาหรับสปริง” ที่ประเทศเพื่อนบ้านล้มเผด็จการได้สำเร็จ แน่นอนการต่อสู้ทวีความแหลมคมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกเข่นฆ่าตามท้องถนน ถูกจับขังเข้าคุก ถูกทรมาน รวมถึงหมอที่รักษาคนบาดเจ็บด้วย ซึ่งประเทศบาห์เรนถูกประณามจากหลายๆ ประเทศ และองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ล่าสุดรัฐบาลบาห์เรนมีการออกกฎหมายจับกุมใครก็ตามที่ดูหมิ่นกระษัตริย์ ธงชาติ หรือ เครื่องแบบทหาร จะต้องถูกลงโทษทั้งปรับและจับเข้าคุก 5 ปี  (เหมือนกฎหมาย 112 ของไทย) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นหลักกับฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย  ซึ่งขณะนี้กำลังประท้วงอย่างหนัก เพราะบาห์เรนเป็นเจ้าภาพในการแข่งรรถฟอมูล่าวัน ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในบาห์เรนได้ส่งสารออกมาให้ชาวโลกที่มีหัวใจรักความเป็นธรรมประณามรวมถึงไม่จับมือกับรัฐบาลบาห์เรนด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยในอังกฤษก็เคลื่อนไหวกดดันไม่ให้นายกอังกฤษเดินทางไปพักผ่อนในไทย เพราะขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกที่ไม่มีความชอบธรรม และเป็นนายกมือเปื้อนเลือด คราวนี้เราชาวเสื้อแดงจะหันหลังให้และหักหลังเพื่อนประชาชนในบาห์เรนหรือ?

คำถามสำคัญสำหรับพวกเรา? ทำไมนายกไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงไปจับมือกับกษัตริย์มือเปื้อนเลือดแบบนั้น ถ้าจับมือได้ก็แสดงว่าเธอไม่แคร์อะไรเลยกับหลักการประชาธิปไตย ไม่แคร์อะไรเลยกับประชาชนประเทศตนเองที่ถูกกระทำย่ำยีเช่นเดียวกันกับประชาชนชนชาวบาห์เรนในปัจจุบัน การที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีหลักการอะไรเลยเกี่ยวกับประชาธิปไตยจะทำให้พวกเรามีสิทธิมีเสียงเพิ่มขึ้นได้อย่างไร? การที่นายกไทยไร้จิตสำนึกรักประชาธิปไตยไม่มีเส้นแบ่งว่าควรจะคบหากับใครนั้น มันส่อถึงอะไร? ข้อถกเถียงจากเสื้อแดงบางคนที่ว่า “เธอทำอะไรไม่ได้ จะให้เธอทำอย่างไร” อันนี้เป็นข้อถกเถียงที่ไร้ค่าและปฏิกิริยา พยายามปิดปากคนที่จะวิจารณ์พรรคเพื่อไทยที่เดินหน้าทรยศฝ่ายประชาธิปไตยอย่างขมักขมัน

คำถามที่เจอบ่อยๆ ถ้าไม่เอาเพื่อไทยแล้วเราก็ได้พรรคประชาธิปัตย์นะสิ? ผิด เพราะพวกเรามีแนวโน้มจะได้นักการเมืองที่มีน้ำยาและเคารพกติกาประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้ามีกระแสการกดดันจากข้างล่างจากประชาชน แต่ถ้าไม่วิจารณ์พรรคเพื่อไทยเลย หรือคนส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าทำ ผลที่ได้คือคนเสื้อแดงจะถูกลดพลังกดดันทางการเมืองอย่างเป็นระบบเรื่องน่าเศร้ามันก็เกิดขึ้นแล้วพรรคเพื่อไทยทำลายการเติบโตของฝ่ายประชาธิปไตยภายในระยะเวลาไม่ถึง3 ปี ที่อัปลักษณ์ไปมากกว่ากว่านั้นคือ พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะเป็นลูกน้องที่ดีของทหารและพวกซอมบี้อำมาตย์ 3 ปีก่อนพวกนั้นถูกมวลชนเขย่าเสาสั่นสะเทือนอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่พรรคเพื่อไทยกลับเลือกที่จะจับประชาธิปไตยเป็นตัวประกันภายใต้ข้ออ้างว่าทำอะไรไม่ได้

คนที่ซวยคือนักสู้คนเสื้อแดงเพราะต้องติดคุกฟรีๆ โดยเฉพาะคนที่โดน 112 เขาถูกปฏิเสธการถูกปล่อยตัวครั้งแล้วครั้งเล่า นักโทษการเมืองเสื้อแดงคงจะไม่ซวยขนาดนี้ถ้ามวลชนเสื้อแดงอื่นๆเลือกและมีความกล้าที่จะวิจารณ์พรรคเพื่อไทยแทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระกิจของคนเสื้อแดงก้าวหน้าจำนวนน้อย การไม่วิจารณ์เป็นการปูพรมแดงให้พรรคเพื่อไทยทรยศฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหน้าชื่นตาบาน

การที่นายกยิ่งลักษณ์ จับมือกับฆาตรกรเปื้อนเลือดที่อื่น มันกลายเป็นคำมั่นสัญญาว่าไอ้ฆาตกรมือเปื้อนเลือดในไทยจะไม่ถูกแตะต้อง จะมีความมั่นคงในการกดขี่เข่นฆ่าคนไทยต่อไป นี่หรือคือสิ่งที่พวกเราต้องการ? เราไม่คบหากับสลิ่มทั้งๆ ที่เคยเป็นเพื่อน เป็นญาติ เพราะเส้นแบ่งทางการเมือง ถึงเวลาแล้วมั้งที่เสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยจริงๆ ต้องเริ่มขีดเส้นแบ่งเลิกคบหากับพวกเชิดชูการทรยศของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา พรรคนี้หลักการอะไรๆ ก็ไม่ค่อยมี นอกจาก “เลีย” อย่างเดียว ไม่ช้าไม่เร็วประวัติศาสตร์ของเสื้อแดงก็จะถูกเขียนใหม่ ภายใต้ความเต็มใจของพรรคเพื่อไทยเพราะเพื่อไทยมั่นใจว่าตัวเองทำอะไรผิดๆ ก็ได้ไร้การท้าทาย

ประท้วงหนักในตุรกี ท้าทายรัฐบาล

รัฐบาลพรรคมุสลิม AKP ถูกต้านโดยมวลชนจำนวนมาก สิ่งที่จุดประกายคือแผนการทำลายและสร้างตึกทับสวนเกซิ การประท้วงครั้งนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มไหนวางแผนจัดการล่วงหน้า แต่มีหลายองค์กรที่ตอนนี้เข้ามาแข่งแนว เช่นพวกชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนทหาร และฝ่ายซ้าย ในมวลชนมีมวลชนของพรรค AKP ส่วนหนึ่งด้วย ประชาชนไม่พอใจการที่รัฐบาลมั่นใจในตนเองจนไม่ยอมปรึกษาใคร นอกจากนี้ตุรกีอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากยุคเผด็จการทหาร ก้าวหนึ่งที่ผ่านไปคือการสร้างสันติภาพกับชาวเคอร์ด แต่มีก้าวอื่นๆที่ต้องเดิน ประเด็นสำคัญคือฝ่ายซ้ายจะขยายอิทธิพลในมวลชน หรือฝ่ายชาตินิยมจะดึงทหารเข้ามา พรรค AKP เป็นพรรคมุสลิมธรรมดา ใช้แนวกลไกตลาดเสรี ดีกว่าทหารแน่นอน แต่ไม่ดีเท่าฝ่ายซ้าย