โดย กองบรรณาธิการ
บทที่ 4: ผลของความเร็วในการหมุนเวียนต่ออัตรากำไร
[บทนี้เขียนโดยเองเกิลส์]
เราเห็นได้จาก ว่าด้วยทุน เล่ม๒ ว่าการลดเวลาหมุนเวียนของทุนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าส่วนเกิน อัตรามูลค่าส่วนเกิน และอัตรากำไร วิธีการที่ใช้ในการลดเวลาดังกล่าว ก็เช่นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (โดยไม่เพิ่มการลงทุนในเครื่องจักรมากเกินไป) หรือการพัฒนาระบบขนส่งให้ดีขึ้น
เนื่องจาก “อัตรากำไร” คำนวณจากมูลค่าส่วนเกินที่ผลิตเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมด(คงที่และแปรผัน) และเนื่องจากทุนแปรผัน(พลังการทำงานของคนงาน) อาจหมุนเวียนหลายครั้งในรอบหนึ่งปี ในขณะที่ทุนอยู่กับที่(เครื่องจักร โรงงาน) ใช้ได้นานและค่อยๆละลายมูลค่าไปกับสินค้า จึงหมุนเวียนช้ากว่าทุนแปรผัน และเนื่องจากทุนที่ใช้จ้างงานกลับมาอยู่ในมือนายทุนหลายครั้งเพื่อจ้างงานรอบต่อไป …. สัดส่วนค่าจ้างต่อทุนอยู่กับที่อาจดูเล็กกว่าที่เป็นจริง เพราะใช้หมุนเวียนหลายรอบ สูตรอัตรากำไร P’ = S’ V/c+V (ดูบทที่แล้ว) จะเป็นจริงต่อเมื่อ V ทุนแปรผัน, S’ อัตรามูลค่าส่วนเกิน P’ อัตรากำไร และ c ทุนคงที่ คำนวณในเวลาการผลิตหนึ่งรอบเต็มๆ หรือถ้าคำนวณในเวลาหนึ่งปี ต้องคูณ V หรือ S’ กับจำนวนรอบที่มันหมุนเวียนในเวลาหนึ่งปี
บทที่ 5: การประหยัดต้นทุนคงที่ในการผลิต (การใช้เครื่องจักร ฯลฯ ให้คุ้มค่าที่สุด)
นายทุนให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องจักรให้คุ้มค่าที่สุด (จะพิจารณากรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตรามูลค่าส่วนเกิน)
การขยายชั่วโมงการทำงานในหนึ่งวัน โดยไม่เพิ่มค่าแรงหรือทุนแปรผัน(V) ทำให้มีการเพิ่มมูลค่าส่วนเกิน(S) จากการทำงานฟรีที่เพิ่มขึ้น และทำให้มีการลดสัดส่วนการลงทุนในมูลค่าของทุนคงที่(c) หรือเครื่องจักร/อาคาร เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมด เพราะเครื่องจักรหรืออาคารจะถูกใช้อย่างต่อเนื่อง และจะถูกใช้เพื่อผลิตปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นต่อวัน ดังนั้นมีการละลายมูลค่าเครื่องจักรหรืออาคารนี้ลงไปในผลผลิตแต่ละชิ้นน้อยลง พูดง่ายๆ จะมีการนำพลังการทำงานของกรรมาชีพปริมาณเดิม มาใช้กับทุนคงที่ในการผลิตที่นานขึ้นและผลิตสินค้ามากขึ้น คือใช้เครื่องจักรฯลฯ ให้คุ้มมากขึ้น ประหยัดต้นทุนคงที่ในการผลิต ผลคืออัตรากำไร(P’)จะเพิ่ม ซึ่งเห็นได้จากสูตรที่เคยพิจารณา
P’ = S/c+V
•นอกจากนี้การหมุนเวียนของทุนคงที่ กลับมาสู่นายทุน จนได้ต้นทุนกลับมาเร็วขึ้น
•การขยายชั่วโมงการทำงานต่อวันมีผลในการเพิ่มอัตรากำไร ไม่ว่าจะจ่ายค่า โอที (OT) หรือไม่ และไม่ว่า OT นั้นจะสูงกว่าค่าแรงปกติหรือไม่ เพราะค่า OT ยังต่ำกว่ามูลค่าที่แรงงานผลิตและนายทุนยังเพิ่มปริมาณมูลค่าส่วนเกินได้จากการทำงานนานขึ้น
•การที่นายทุนต้องเพิ่มทุนคงที่ในการซื้อเครื่องจักรสมัยใหม่ที่แพงขึ้นเพื่อมาใช้ท่ามกลางการแข่งขัน เป็นแรงกดดันให้นายทุนขยายเวลาทำงานที่ใช้กับเครื่องจักรนั้นๆ ก่อนที่มันจะหมดยุค และเพื่อใช้ให้คุ้มที่สุด
•โดยทั่วไป การเพิ่มปริมาณมูลค่าส่วนเกินในการผลิต ต้องมีการเพิ่มทุนคงที่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือเครื่องจักร ซึ่งสิ่งนี้ทำให้นายทุน “คลั่งในการพยายามใช้ทุนคนที่ให้คุ้มที่สุด”
•วิธีอื่นในการใช้เครื่องจักรหรือทุนคงที่ให้คุ้มค่ามากขึ้น ถ้าไม่เพิ่มชั่วโมงการทำงาน ก็เช่นการนำแรงงานมาใช้กับเครื่องจักรที่มีอยู่มากขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าส่วนเกินจากการขูดรีดมวลแรงงานที่มีจำนวนสูงขึ้น แต่ต้องซื้อวัตถุดิบมากขึ้นตามลำดับ
•ถ้านายทุนเพิ่มปริมาณลูกจ้างกรรมาชีพ เพื่อรวมศูนย์การผลิตในโรงงานที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน จะมีการประหยัดการใช้เครื่องจักรหรือทุนคงที่ ถ้าเทียบกับโรงงานที่มีคนงานน้อย และเมื่อสถานการณ์แบบนี้แพร่ขยายไปทั่วสังคม จนเป็นระบบที่พบทั่วไป เราพูดได้ว่ามีการทำให้แรงงานมีลักษณะเป็น “แรงงานสังคม” ไม่ใช่แค่ลูกจ้างไม่กี่คนของนายทุนเล็กๆในรูปแบบปัจเจก
•เมื่อกระบวนการผลิตมีขนาดใหญ่และแรงงานมีลักษณะเป็นแรงงานสังคม และนายทุนต้องเพิ่มการลงทุนในทุนคงที่เพื่อแข่งกับคู่แข่ง วิธีการประหยัดต้นทุนคงที่ในการผลิตมีหลายวิธี เช่น
1.การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องจักร ลดการสึกหรอ เพิ่มอายุการทำงาน และเพิ่มพลังการทำงานของเครื่องจักร เพื่อรวมศูนย์เครื่องจักรใหญ่แทนที่จะมีจักรเล็กๆ
2.เพิ่มคุณภาพการผลิตวัตถุดิบ
3.ใช้ “ของเสีย” จากการผลิตให้เป็นประโยชน์ ซึ่งทำได้เมื่อ (ก)มีของเสียมากขึ้นจากการผลิตที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น (ข)มีการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อใช้ของเสีย และ (ค) มีการพัฒนากระบวนการทางเคมีเพื่อแปรเปลี่ยนของเสีย การใช้ของเสียธรรมชาติจากสัตว์หรือคน ใช้กันอย่างกว้างขวางในภาคเกษตรในกรณีปุ๋ย แต่ในเมืองใหญ่มีแต่การเทขี้และของเสียจากประชาชนลงในแม่น้ำจนน้ำเสียไปหมด[1]
4.พัฒนาฝีมือแรงงาน และควบคุมแรงงานให้มีวินัยมากขึ้น
5.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลจี ซึ่งอาศัย (ก)การทำงานรวมหมู่ที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อคิดค้นวิธีการใหม่ๆ และ (ข) การสะสมองค์ความรู้จากผู้ทำงานคิดค้นในอดีต มาเสริมการคิดค้นในปัจจุบัน
•เมื่อมีการผลิตขนาดใหญ่ในรูปแบบแรงงานสังคม การเพิ่มอัตรากำไรและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสาขาหนึ่งของกระบวนการผลิต มีผลต่อสาขาอื่นๆ เช่นการผลิตถ่านหินและเครื่องจักรด้วยประสิทธิภาพหรือการเพิ่มคุณภาพของสิ่งเหล่านี้ มีผลต่อภาคการผลิตสิ่งทอ เป็นต้น
•นายทุนปัจเจกย่อมมอง “การใช้เครื่องจักรให้คุ้มค่า” ว่าเป็นการ “ลดต้นทุนค่าจ้าง” เพราะใช้คนงานเพื่อเพิ่มมูลค่าส่วนเกิน
•ความขัดแย้งในตัวและความโหดร้ายของทุนนิยมแปลว่า ในขณะที่นายทุนแข่งกันประหยัดต้นทุนคงที่ในการผลิต มีการใช้ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกาย ประสาท และสมองของคนงานอย่างสิ้นเปลืองที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์
“ไม่ว่านายทุนจะงกและวิ่งเต้นอย่างบ้าคลั่งเพื่อประหยัดต้นทุนคงที่เท่าไร แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ที่เป็นลูกจ้าง นายทุนใช้อย่างสิ้นเปลืองเหมือนไร้ค่า ไม่ต่างจากระบบแจกจ่ายสินค้าผ่านการค้าขายในตลาด ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและไร้ประสิทธิภาพทั้งหมดนี้ ผู้สูญเสียคือสังคม และผู้มีส่วนได้คือนายทุนปัจเจก”
•วิธีที่นายทุนใช้ชีวิตกรรมาชีพเสมือนไร้ค่า เช่น ….(มาร์คซ์ นำตัวอย่างมาให้ดูจากโลกจริงในอังกฤษ)
-การสร้างสภาพการทำงานในเหมืองแร่ที่อันตราย เพราะนายทุน “ประหยัด” ในเครื่องไม้เครื่องมือที่รักษาความปลอดภัย[2]
-โรงงานที่เต็มไปด้วยฝุ่นและมลพิษเพราะไม่มีระบบถ่ายเทอากาศบริสุทธิ์ เช่นในอุตสาหกรรมการปั่นด้าย
-การนำเครื่องจักรจำนวนมากมาอัดไว้ในโรงงานจนไม่มีพื้นที่ปลอดภัย
บทที่ 6: ผลของการเปลี่ยนแปลงของราคา
ราคาวัตถุดิบ
•วัตถุดิบในที่นี้รวมถึงเชื้อเพลิงด้วย
•วัตถุดิบเป็นส่วนสำคัญที่สุดของมูลค่าคงที่ในสินค้าแต่ละชิ้น
•ถ้าราคาวัตถุดิบเปลี่ยนแปลง อัตรากำไรจะเปลี่ยนแปลงตามไปในทิศทางตรงข้าม
•การค้าขายในตลาดโลกมีผลสำคัญต่อราคาวัตถุดิบ และภาษีนำเข้าก็มีผลด้วย ดังนั้นนายทุนที่นำเข้าวัตถุดิบย่อมชื่นชม “การค้าเสรี”
•เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ยอมรับความจริงที่ว่า “อัตรากำไร” แตกต่างจาก “อัตรามูลค่าส่วนเกิน”
•การขึ้นลงของราคาวัตถุดิบมีผลทันทีต่อมูลค่าสินค้าที่ผลิต ซึ่งต่างจากกรณีการขึ้นลงของราคาเครื่องจักร
•แต่การขึ้นลงของราคาวัตถุดิบ มีผลต่อราคาซื้อขายสินค้าน้อยกว่าที่มีผลต่ออัตรากำไร ทั้งนี้เพราะราคาสินค้าถูกกำหนดจากหลายสิ่งรวมถึงสภาพตลาด
•เมื่อประสิทธิภาพการใช้แรงงานในการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวนสินค้าที่ผลิตในเวลาหนึ่ง ด้วยแรงงานจำนวนหนึ่ง จะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มูลค่าวัตถุดิบมีอิทธิพลต่อมูลค่าสินค้ามากขึ้น ทำให้สัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบเพิ่ม เมื่อเทียบกับเครื่องจักรและแรงงาน
•การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ อาจทำให้เงินทุนเดิมที่หมุนเวียนกลับมา ไม่พอสำหรับการซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตรอบใหม่ สิ่งที่อาจตามมาคือการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต
•การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ทำให้เศษที่ตกหล่นจากการผลิตอย่างสิ้นเปลือง มีความสำคัญมากขึ้นและถูกนำมาใช้
การเพิ่มหรือลดมูลค่าของทุน และการ “ปล่อย” หรือ “ผูกมัด” ทุน
•ถ้าราคาวัตถุดิบเพิ่ม ในขณะที่นายทุนมีสินค้าที่ยังไม่ขายมากพอสมควร และมีวัตถุดิบเก่าในคลัง มูลค่าของทุนสินค้าและวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งมีผลในการเพิ่มมูลค่าของทุนในระบบของนายทุน ปรากฏการณ์นี้สามารถคานการลดลงของอัตรากำไรได้ ในกรณีตรงข้ามที่มีการลดลงของราคาวัตถุดิบ อาจมีการคานการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรเช่นกัน
•การลดลงของมูลค่าทุนคงที่(เครื่องจักร)ในมือนายทุน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในกรณีที่ยังมีการพัฒนาเทคโนโลจีในเครื่องจักรแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เครื่องจักรเดิมล้าสมัยก่อนอายุ ดังนั้นนายทุนจะพยายามใช้เครื่องจักรให้คุ้มที่สุดด้วยการยืดชั่วโมงการทำงาน ก่อนที่เครื่องจักรจะหมดมูลค่าใช้สอย
•อีกกรณีที่ทำให้มีการลดลงของมูลค่าทุนคงที่(เครื่องจักร)ในมือนายทุน คือการที่มีการปรับปรุงวิธีผลิตเครื่องจักรชนิดเดียวกันให้ราคาถูกลง
•สำหรับนายทุนที่กำลังผลิตอยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการลดลงของค่าจ้าง ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ทุนแปรผันที่จำเป็นในการผลิตจะลดลง ดังนั้นมีการ “ปล่อย” ทุนนี้ไปส่วนหนึ่ง นำไปใช้ในที่อื่นได้ แต่ถ้าค่าจ้างเพิ่ม ทุนแปรผันที่จำเป็นจะเพิ่มขึ้น มีการ “ผูกมัด” ทุนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
•การ “ปล่อย” ทุนแปรผันบางส่วนอาจเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดจำนวนคนงาน
•เมื่อระบบทุนนิยมพัฒนาและขยายมากขึ้น มีการใช้เครื่องจักรมากขึ้น และสะสมมากขึ้น แนวโน้มที่จะผลิตล้นเกินมีมากขึ้น และเสถียรภาพของระบบจะลดลง
•มีการเพิ่มความต้องการในวัตถุดิบอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมาก มีการซื้อวัตถุดิบจากที่ห่างไกล มีการเพิ่มการผลิตวัตถุดิบ และนำสิ่งอื่นมาใช้แทน ในที่สุดราคาวัตถุดิบก็ดิ่งลงอย่างกะทันหัน เกิดวิกฤตจากการผลิตวัตถุดิบล้นเกิน นี่คือธรรมชาติของระบบทุนนิยม [ซึ่ง มาร์คซ์ นำตัวอย่างผลกระทบของตลาดต่อการผลิตฝ้ายในอเมริกาและอินเดียมาบรรยาย][3]
“ระบบทุนนิยมขัดแย้งกับการเกษตรที่ใช้เหตุผลโดยสิ้นเชิง….วิธีแก้ไขปัญหาคือการควบคุมและวางแผนการผลิต”
เชิงอรรถ
[1]ลอนดอนสมัยมาร์คซ์ (กอง บก.)
[2]ในยุคมาร์คซ์เหมืองแร่อังกฤษอันตรายมากและมีอุบัติเหตุตลอดเวลา ไม่ต่างจากสภาพเหมืองแร่ในจีนปัจจุบัน(กอง บก.)
[3]เกิดขึ้นกับเกษตรกรเวียดนามที่ถูกชักชวนโดยไอเอ็มเอฟให้ผลิตกาแฟเพื่อป้อนตลาดโลกในยุคปัจจุบัน(กอง บก.)