สงครามกลางเมืองที่ปัตานี และทางออกสู่สันติภาพ

โดย  ใจ อึ๊งภากรณ์
บทความนี้เป็นความพยายามที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ในสงครามกลางเมืองที่
“ปัตานี-ภาคใต้”
แต่จะเน้นการวิเคราะห์จากมุมมองผู้ถูกกดขี่ที่กำลังเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม
และสิทธิที่จะกำหนดการปกครองของตนเอง
บทความนี้ต่างจากบทความของนักวิชาการกระแสหลัก
ที่ต้องการเขียนในกรอบที่ยอมรับลักษณะของพรมแดนรัฐไทยปัจจุบัน
และยอมรับอำนาจของรัฐไทยและทหารเหนือประชาชน ผู้เขียนไม่ได้หวังเขียนเพื่อเปลี่ยนใจพวกนายพลหรือนักการเมือง
แต่เขียนเพราะหวังว่าประชาชนธรรมดา ที่รักความเป็นธรรมและต้องการปฏิรูปให้สังคมก้าวหน้า
จะได้อ่านและนำไปคิด ถกเถียง และปฏิบัติต่อ
     สงครามในปัตานีเป็นสงครามร้ายแรง ตัวเลขของ กอ.รมน.
ระบุว่าระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ มีคนเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองนี้
5,105 คน และบาดเจ็บ 9,372 น่าสังเกตว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นคนมาเลย์มุสลิม
ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทย ไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบ
เป็นผู้ฆ่าประชาชนส่วนใหญ่
     ในบทความนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า “ปัตานี”
หรือ “ปัตานี-ภาคใต้”
เพื่อระบุถึงสามจังหวัดที่รัฐไทยยึดครองอยู่และเคยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ปัตานีโบราณ
นั้นคือจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
รัฐไทยเป็นอุปสรรคหลักในการสร้างสันติภาพและการกำหนดอนาตเองของคนในพื้นที่
สงครามกลางเมืองปัจจุบันในปัตานีมีรากกำเนิดมาจากการสร้าง
“รัฐชาติไทย” ในรูปแบบ “รัฐทุนนิยม” เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่๕
ก่อนที่จะมีการรวมศูนย์การปกครองในครั้งนั้น ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย
มีการปกครองตนเองและการกระจายอำนาจพอสมควร และหลายส่วน เช่นปัตานี เป็นรัฐอิสระ
     การสร้างรัฐสมัยใหม่ในรูปแบบรวมศูนย์
เกิดขึ้นในอาณานิคมตะวันตกด้วย เกิดในยุคที่ทุนนิยมเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับการล่าอาณานิคม
จึงมีการสร้างรัฐรวมศูนย์ในมาลายู พม่า อินโดจีน และอินโดนีเซีย โดยอังกฤษ ฝรั่งเศส
และฮอลแลนด์ การยึดพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเทศไทยโดยรัฐบาลกรุงเทพฯ
จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดียวกัน
คือการล่าอาณานิคมและการสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ การบังคับใช้ภาษากลาง
และการส่งเสริมแนวชาตินิยมของส่วนกลาง โดยทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง
เป็นองค์กระกอบสำคัญของกระบวนการสร้างชาตินี้[1]
    
ถึงแม้ว่ารากกำเนิดของปัญหาในปัตานี-ภาคใต้อยู่ที่กระบวนการสร้างรัฐรวมศูนย์ในอดีต
ซึ่งอาศัยข้อตกลงแบ่งดินแดนปัตานีระหว่างกรุงเทพฯ กับลอนดอนในปี ค.ศ. 1909
แต่การที่ความขัดแย้งและความรุนแรงยังดำรงอยู่ทุกวันนี้
ก็เพราะมีการผลิตซ้ำการปราบปราม การกดขี่ และความอยุติธรรม
ที่รัฐไทยกระทำต่อชาวมาเลย์มุสลิมมาตลอด ซึ่งจะลงรายละเอียดเพิ่มในหน้าต่อๆ ไป
สิ่งที่สำคัญคือในยุคสมัยนี้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐไทย
และอยากปลีกตัวออกไป เพราะรัฐไทยยึดครองปัตานีเหมือนอาณานิคม
    
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมส่วนอื่นของประเทศไทย
เช่นภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีขบวนการอิสรภาพที่ต่อสู้เพื่อเอกราช
เรื่องนี้ซับซ้อนและไม่ใช่ว่าคนในพื้นที่เหล่านั้นพึงพอใจกับรัฐไทยไปหมด
แต่คำตอบหนึ่งคือในกรณีภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการดึงชนชั้นนำในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง “ไทย”
มีการเคารพวัฒนธรรมบ้าง และไม่มีปัญหาการกดขี่ทางศาสนาเพราะเป็นชาวพุทธ
แต่ในกรณีปัตานีชนชั้นปกครองเก่าถูกเขี่ยออกไปและวัฒนธรรม ศาสนา
และภาษาถูกกดขี่อย่างหนัก
เหมือนกับว่าชนชั้นปกครองไทยต้องการลบทิ้งความเป็นตัวเองของคนในพื้นที่ให้หมดไป
นอกจากนี้ในแง่ของเศรษฐกิจมีการทำให้ประชาชนเป็นคนชายขอบที่เข้าถึงการพัฒนาในส่วนอื่นๆ
ไม่ได้อีกด้วย
    
เราไม่ควรแปลกใจที่ชนชั้นปกครองไทยมีผลประโยชน์โดยตรงที่มาจากการคุมพื้นที่ทั้งหมดที่ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของประเทศ
และพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะปราบผู้ที่อยากแยกออกไปปกครองตนเอง รัฐต่างๆ
ทั่วโลกไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ดำรงอยู่ใน “ระบบรัฐต่างๆ ของโลก”
[2]
และแต่ละรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่เท่าเทียม รัฐที่มีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจจะกดขี่รัฐที่อ่อนแอกว่า
นี่คือสภาพที่เราเรียกว่า “จักรวรรดินิยม”
     จากงานเขียนของ เลนิน ชื่อ
“รัฐกับการปฏิวัติ” เราเข้าใจได้ว่ารัฐมีไว้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการกดขี่ควบคุมประชาชนภายในประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นล่าง
เช่นเกษตรกรกับกรรมาชีพ รวมถึงชนชั้นกลางด้วย
     ดังนั้นจะเห็นว่าอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐมีทั้งมิติระหว่างประเทศกับภายในประเทศ
รัฐไหนที่ดูอ่อนแอเพราะต้องยอมจำนนต่อผู้ที่อยากแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเอง
จะเสียเปรียบในการแข่งขันกับรัฐอื่นในโลกหรือในภูมิภาคอาเซี่ยน และเสียเปรียบในการที่จะควบคุมประชาชนทั้งหมดของประเทศอีกด้วย
    
ด้วยเหตุนี้อุปสรรคหลักในการที่ชาวปัตานีจะได้เสรีภาพ
คือรัฐไทยและผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในรัฐไทย ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเข้าใจได้ว่าการวิงวอนขอความเมตตาจากชนชั้นปกครองไทย
เพื่อสร้างอิสรภาพในปัตตานี ไม่ว่าจะด้วยการแบ่งแยกดินแดน
หรือการปกครองตนเองภายในพรมแดนรัฐชาติไทย ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ
ถ้าเสรีภาพจะบังเกิด จะต้องมีการต่อสู้ แต่การต่อสู้มีหลายแบบ
ไม่ใช่แค่การจับอาวุธ และผู้ที่จะสู้อาจต้องอาศัยแนวร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นล่างในพื้นที่อื่นด้วย
     เมื่อการต่อสู้เพื่อเสรีภาพย่อมนำไปสู่การเจรจา
ผู้ที่สำคัญที่สุดในการเจรจาคือผู้ที่ถืออำนาจทางการเมือง
และมีความชอบธรรมในการถืออำนาจทางการเมืองนั้นด้วย พูดง่ายๆ
ปัญหาสงครามในปัตานีต้องเป็นกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่การใช้ทหารโดยรัฐไทย
ทหารจึงไม่ควรมีส่วนในการเจรจาสันติภาพแต่อย่างใด

อ่านต่อได้ที่นี่ https://docs.google.com/file/d/0B8pAI4xnkVDkMGFNZ3VJcmlSVDg/edit?pli=1


[1] ใจ อึ๊งภากรณ์  (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อถกเถียงทางการเมือง”
WD Press กรุงเทพฯ หน้า 27 อ่านได้ที่ 
http://www.scribd.com/doc/42046714/
และ
ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๔๓)
การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์ ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน
กรุงเทพฯ
[2] Alex
Callinicos (2009) Imperialism and the Global Political Economy. Polity
Press, Cambridge, U.K.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s