การรัฐประหาร เหตการณ์ 6 ตุลา และกฎหมายอาญามาตรา 112

เรียบเรียงโดย ยังดี โดมพระจันทร์

รัฐประหารแบบไทย: การรัฐประหารภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตย

ถ้าเราเข้าใจรัฐประหาร 2490 เราจะเข้าใจ การรัฐประหารครั้งล่าสุด ในวันที่ 19 กันยา 2549 ได้ และเข้าใจความคิดของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินผู้ที่โค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีลงจากอำนาจ เมื่อ 7 ปีก่อน วันนี้ “บิ๊กบัง”.สนธิ อดีต ประธาน คมช.ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวอยส์ทีวีว่าการรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกแน่นอนโดยข้ออ้างคลาสสิคต่างๆ  ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  สรุปไว้ว่า รัฐประหารแบบไทยคืออะไร

พ.ศ. 2490 เมื่อฝ่ายทหารและฝ่ายนิยมเจ้าโค่นรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ก็คือโค่นอำนาจของปรีดี พนมยงค์ นี่เป็นต้นแบบรัฐประหารแบบไทย คือความรู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์ถูกคุกคาม หรือการที่รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศแล้วทุจริตคอร์รัปชั่น และเกิดความวุ่นวายไม่สงบ เพิ่มสีสันด้วยระเบิดที่นั่นที่นี่ ไฟไหม้โดยไม่รูสาเหตุ กองทัพก็จะต้องเข้ามายึดอำนาจ แล้วตั้งรัฐบาลพลเรือนขัดตาทัพ จากนั้นคณะทหารก็เข้าควบคุมอำนาจเอง อยู่ในอำนาจไปสักพัก ทหารอีกกลุ่มหนึ่งก็มาโค่นทหารกลุ่มแรก ทำกันเป็นวัฎจักรเหมือนประเทศไทยเป็นของทหารเท่านัน จึงไม่แปลกที่สวัสดิการทหาร ตำแหน่งนายพล และงบลับทางทหารในประเทศนี้มีล้นเหลือ เริ่มตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา รัฐประหารแบบไทยยังเป็นการรัฐประหารภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยม ผลของการรัฐประหารทุกครั้งทั้งทำลายและขัดขวางการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตย เป็นความอัปลักษณ์ของการเมืองที่ถอยหลังลงคลอง

ความล้มเหลวของรัฐบาลที่อ้างกันสม่ำเสมอมีสองเรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ คือไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามได้ แก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ทันเวลา เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเงินเฟ้อ ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แต่โดนโจมตีว่า “กินจอบ กินเสียม”   กรณีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเคยมีธนาคารของตัวเอง ซึ่งปรีดี พนมยงค์ท่านผู้อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเงินแก่มหาวิทยาลัย ชื่อ ธนาคารเอเชีย คณะทหารก็กล่าวหาว่าธนาคารเป็นสถานที่ทุจริตคอร์รัปชั่น

การฟื้นตัวของกลุ่มนิยมเจ้าซึ่งเชื่อมโยงและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

กลุ่มนิยมเจ้าเป็นกลุ่มทางการเมืองที่คิดว่าประเทศไทยยังอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีอำนาจบริหารสูงสุด พวกนี้มองว่า การปฏิวัติ พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรเป็นกบฎ ในทางตรงข้ามกบฎบวรเดช ใน พ.ศ.2476 ที่พยายามทำลายรัฐธรรมนูญถวายอำนาจคืนให้กับพระมหากษัตริย์กลับไม่ใช่กบฎ   หลัง พ.ศ.2487 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. หมดอำนาจลง รัฐบาลปรีดีได้ประนีประนอม โดยปล่อยนักโทษการเมือง คือพวกกบฎบวรเดช ทำให้พลังฝ่ายนิยมเจ้าเริ่มฟื้นตัว ปี 2489 กลุ่มนิยมเจ้าร่วมกับขุนนางเก่า และกลุ่มทุนบางกลุ่ม ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค และมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาฯ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นคนที่ประกาศตัวว่า เขาเป็นรอยัลลิสต์ เป็นคณะเจ้าตัวจริงไม่ใช่คณะราษฎร

ในช่วงนี้เองเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ขณะที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมสร้างเรื่องใส่ร้ายป้ายสี จ้างคนไปตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุงว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”
การรัฐประหาร 2490 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐประหารที่ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ส่งผลร้ายมากที่สุด คือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด มาใช้รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ให้มีสองสภา คือมีสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภาจำนวนสมาชิกเท่าๆกัน ให้กษัตริย์เลือกตั้งวุฒิสภา  มีการฟื้น “อภิรัฐมนตรีสภา” ซึ่งยุบไปตั้งแต่รัชกาลที่ 7 อันเป็นที่มาของ “องคมนตรี” จนปัจจุบัน

หลังรัฐประหารแล้ว คณะรัฐประหารให้พรรคประชาธิปัตย์บริหาร นับเป็นครั้งแรกที่พรรคนี้ด้ประโยชน์จากการรัฐประหารไปเต็มๆ ซึ่งมีอีกหลายครั้งรวมถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นความร่วมมือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับคณะรัฐประหาร โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์อนุมัติงบประมาณ 8 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการทำรัฐประหารครั้งนั้นด้วย จากนั้นก็มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมการให้กับการรัฐประหารเรียกว่าทำกันจนเป็นสูตรสำเร็จ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากมานำการรัฐประหารแล้ว ก็อธิบายไว้ว่า “รัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้โอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง” จึงถือเป็นต้นแบบของการรัฐประหารที่ผ่านมา รวมทั้ง 19 กันยา 2549 ก็สอดคล้องกันด้วยสูตรเดียวกัน  รัฐประหารจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาของอำมาตยาธิปไตย
อำมาตยาธิปไตยนั้นวางอยู่รากฐานแนวคิดแบบกษัตริย์นิยม หรือพวกนิยมเจ้า เรียกอีกอย่างว่า อุลตราโรยัลลิสต์ ซึ่งปรีดี พนมยงค์แปลคำนี้ว่า “เป็นผู้ที่ยิ่งกว่าราชา” แนวคิดแบบนี้เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของกษัตริย์ ประชาชนเป็นไพร่มีหน้าที่ต้องจงรักภักดี ถือว่าแผ่นดินเป็นของกษัตริย์ ประชาชนเป็นผู้อาศัยในแผ่นดิน ชีวิตของไพร่ต้องดำเนินไปตามพระมหากรุณาธิคุณ แล้วแต่พระมหากษัตริย์จะโปรด ห้ามร้องเรียน ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญญาธิการ พระมหากษัตริย์ถูกต้องเสมอ

ผลพวงรัฐประหาร มาตรา 17 กับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ 

สรุปว่าการรัฐประหาร 2490 ที่มาจากความร่วมมือของฝ่ายทหารซึ่งกุมกำลังและฝ่ายนิยมเจ้า คือจุดเริ่มต้นที่เป็นจริง และถ้าเราเข้าใจรัฐประหาร 2490 เราจะเข้าใจรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ตลอดจนการก่อเหตุสยองขวัญและการทำรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 การรัฐประหารครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือการรัฐประหารเงียบ หรือ การยึดอำนาจตัวเองที่ส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วย มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ในการควบคุมสถานการณ์ของประเทศ    มาตรา 17 นี้ใช้ประหารผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น ศิลา วงศ์สิน ศุภชัย ศรีสติ ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธ์ สุทธิมาศ ฯลฯ  ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลถูกประหารโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องหลบเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนทำให้เกิด “วันเสียงปืนแตก” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

การต่อสู้ทางอุดมการณ์คือพื้นฐานของการรัฐประหารเมื่อ  6 ตุลา 2519

6 ตุลา 2519 สร้างบาดแผลไว้ในประวัติศาสตร์ และสร้างความเปลี่ยนให้กับชีวิตผู้คนอีกหลายพันชีวิต โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำ อย่างนักเรียน นักศึกษา ผู้รักประชาธิปไตย และผู้ใช้แรงงาน ถ้านับไปถึงครอบครัวก็เป็นหลักหมื่น ผลจากการทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และการรัฐประหาร จากวันนั้นเปลี่ยนสังคมไทยไปทั้งสังคม กลายเป็นบรรยากาศอึมครึมที่ หนังสือพิมพ์ถูกปิด มีประกาศหนังสือต้องห้ามเป็นร้อยๆเล่ม การวางแผนอันแยบยลของชนชั้นปกครองที่ต้องสูญเสียอำนาจไปในการปฏิวัติ 14 ตุลา2516 เพื่อฟื้นคืนสถานะของตนเอง มีทั้งการใช้กำลังตั้งหน่วยอันธพาลกระทิงแดงจากพวกนักเรียนอาชีวะ นวพลจากพวกชนชั้นกลาง กลุ่มทุนบางส่วนและข้าราชการ ตลอดจนลูกเสือชาวบ้าน ที่สร้างเครือข่ายเอาผู้นำในท้องถิ่น พ่อค้าแม่ค้า ชนชั้นกลางในหัวเมืองมารวมตัวกัน และการโฆษณของเครือข่ายวิทยุยานเกราะกว่า 300 แห่ง ภายใต้อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ที่สั่งสมมา ผนวกกับการป้อนข้อมูลมาตลอดสองทศวรรษในสงครามเย็นระหว่างสองค่ายมหาอำนาจอเมริกาและรัสเซีย ร่วมมือกับอำมาตยาไทย

การเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เพราะกลัวการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม ชนชั้นปกครองขณะนั้นไม่ได้ใช้เพียงอาวุธสงครามโดยตำรวจตระเวณชายแดน และกำหลังหนุนของตำรวจนครบาล แต่ยังใช้ตำรวจนอกเครื่องแบบ และกองกำลังอันธพาล ทุบตี แขวนคอ และเผาคนทั้งเป็น เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้หลาบจำ ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับเหตุการณ์ในเหตุการณ์ล่าสังหารผู้ที่เกี่ยวข้องและถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2509 หลังเหตุการณ์ “30 กันยายน 1965” มีผู้คะเนว่าประชาชนถูกฆ่าถึง 5 แสนคน  จำนวนมากกว่านั้นถูกขังอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการตั้งข้อหา โดยภายหลังมีข่าวเพนตากอนรั่วออกมาว่าสถานทูตอเมริกาให้การสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อการนี้

การรัฐประหารในปี 2549 เป็นเรื่องของการชิงเคลื่อนกำลังทหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงๆ ในคืนวันที่ 19 กันยายน ได้มีการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์เพื่อปูทางให้การรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง รัฐประหาร 2549 จึงมีมิติทางอุดมการณ์ คล้ายคลึงกับรัฐประหารที่ในวันที่ 6 ตุลา 2519 โดยอ้างว่าทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์  และใช้ข้ออ้างนี้ไปล้มล้างรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภาเหมือนกัน ประเด็นสำคัญคนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งนี้ มีส่วนออกแบบกติกาของบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองได้ประโยชน์ที่สุดในนามของความจงรักภักดี
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ตั้งชื่อให้ฟังสับสน หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” ทำให้คนไทยเข้าใจว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรูของสถาบันหลักของชาติ แบบเดียวกับที่คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูหลักต่อสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา  เริ่มจากการพิมพ์หนังสือเรื่อง “พระราชอำนาจ” โดยประมวล รุจนเสรี จุดชนวนการเรียกร้องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการอภิปรายเรื่องพระราชอำนาจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อีกแล้ว)

แม้ทักษิณจะทำมาก่อนด้วยการบังคับให้มีการสวมเสื้อเหลืองทุกวันจันทร์และจัดงานฉลองวันเกิดให้กษัตริย์อย่างมโหฬาร แต่ไม่มีใครเชื่อว่าทักษิณรักสถาบัน พันธมิตรฯกลับเป็นฝ่ายครอบครองสัญลักษณ์นี้ ใช้สีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดีซึ่งทหารที่ออกมายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายนก็ใช้ริบบิ้นเหลืองเป็นสัญลักษณ์ด้วย  ขบวนการฟาสซิสต์ทั่วโลก รวมถึงพันธมิตรฯ จะพยายามใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายปนกับความคิดฝ่ายขวา เพื่อดึงคนชั้นกลางที่รู้สึกไม่พอใจกับอำนาจรัฐหรือนายทุนใหญ่เข้ามาเป็นพวก และการที่อดีตฝ่ายซ้ายสานเหมาอิสต์ในกลุ่มพันธมิตรฯ ชื่นชมเผด็จการ เป็นการรักษาจุดยืนเดิมที่เคยรักเผด็จการในจีนอีกด้วย  จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันเราเห็นอดีตซ้าย คนตุลา อดีตผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร เอ็นจีโอ ทหารปลดแอกรับจ้างทำงานด้วยกันกับบรรดาผู้พิพากษา และแวดวงอำมาตย์อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน และแบ่งรับผลประโยชน์ต่างๆ ในรูปงบประมาณผ่านโครงการรัฐ และมีสถานะตำแหน่งในองค์กรอิสระและสื่อสาธารณะ

การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีการอ้างพระมหากษัตริย์มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

ในคืนวันที่ 19 กันยายน ทหารใช้เพลงพระราชนิพนธ์ ใช้ภาพพระราชกรณียกิจ หรือวันที่ 20 ก็มีการแสดงภาพการเข้าเฝ้าฯ แทนที่จะเป็นการใช้เพลงปลุกใจหรือออกอากาศคำปราศรัยของหัวหน้าคณะรัฐประหารวนเวียนซ้ำซากไปเรื่อยๆ อย่างที่มักจะทำกันในการรัฐประหารทุกครั้ง   หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการเพิ่มโทษในมกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษ ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม “จำคุกไม่เกินเจ็ดปี” เพิ่มขึ้นเป็น “จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”  อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้โดยไม่มีการแก้ไขแม้ในรัฐบาลทักษิณ  มาตรา 112 จึงเป็นผลพวงของรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บริบท “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” สร้างข่าวขบวนการนักศึกษาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ความเข้ากันได้อย่างลงตัวนี้กำหนดให้นักโทษในคดี 112 มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรัฐบาลประชาธิปัตย์ และ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เฉยเมยต่อการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้  ตั้งหน้าตั้งตาอ้างความปรองดองต่อไปเพื่อปกป้องตนเอง ยิ่งนานวันมวลชนยิ่งตาสว่างว่า ใครกันที่จงรักภักดีต่อประชาชน?  การรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 จึงเชื่อมโยงกับการต้านรัฐประหารและแยกไม่ออกจากการต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างเข้มข้น ประวัติศาสตร์สอนเราอย่างนี้เอง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s