แถลงการณ์องค์กรเลี้ยวซ้าย ต่อต้านเผด็จการ เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภา 2557

              รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหมดสภาพที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย
ยอมจำนนต่ออำนาจปฏิกิริยาด้วยนโยบายปรองดองสุดซอยจนเพลี่ยงพล้ำทางการเมื
อง ปล่อยให้พวกปฏิกิริยาสามารถนำเป็นข้ออ้างระดมคนชั้นกลางในเมืองหลวง และคนใต้ อ้างวาทกรรมมวลมหาประชาชนเข้ามาชุมนุมขนานใหญ่
โหนเจ้ากล่าวหาคนที่คิดต่างว่าเป็นพวกไม่รักชาติ 
อ้างสันติอหิงสา แต่ข่มขู่คุกคามปล่อยอันธพาลออกเพ่นพ่านทั่วกรุง มุ่งแช่แข็งประเทศไทย
แม้นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ประกาศการเลือกตั้ง
2 กุมภา 2557 แล้ว ฝ่ายปฏิกิริยาที่นำโดยสุเทพ
เทือกสุบรรณก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ นับวันยิ่งชัดเจนว่า
การล้มกฎหมายนิรโทษกรรม
โค่นระบอบทักษิณ จัดตั้งสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทยล้วนเป็นการอ้างเพื่อทำการรัฐประหารยึดอำนาจ
ที่เอาพลเรือนออกหน้า มีขุนทหาร กลุ่มอำมาตย์หนุนหลังอย่างเต็มที่ มีองค์กรอิสระเรียงหน้าออกมาขวางการเลือกตั้ง   
    

               ในการโจมตีขบวนการปฏิกิริยาของสุเทพ
และปกป้องประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยม
องค์กรเลี้ยวซ้ายขอย้ำว่า ฝ่ายก้าวหน้าและผู้รักประชาธิปไตยยังคงต้องยืนหยัดยกเลิกรัฐธรรมนูญ
2550  ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ต้องยกเลิกกฎหมายมาตรา
112 และต้องนำทหารอำมาตย์กับนักการเมืองมือเปื้อนเลือดมาลงโทษ  ต้องปฏิรูปศาล
และยกเลิกองค์กรอิสระทั้งปวงที่เป็นมือเป็นเท้าให้กับระบบอำมาตย์  องค์กรด้านบริหารการศึกษา
พวกปฏิกิริยาที่ครอบงำทุกมหาวิทยาลัยต้องถูกปลดพ้นไปพร้อมๆกัน  

                ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
เราต้องกล้าสร้างความมั่นใจในการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนชั้นล่างเพื่อแข่งแนวทางกับพรรคเพื่อไทย

จะต้องไม่หวังพึ่งพรรคการเมืองที่ยอมคุกเข่า ศิโรราบให้กับศัตรูและ
ต้องไม่หวังการนำจาก นปช.ที่รอเสวยตำแหน่งต่างๆในคณะรัฐมนตรีอย่างที่ผ่านมา   ต้องศึกษาแนวทาง และสร้างแนวร่วมกับพรรคเล็กที่ก้าวหน้า
นักสหภาพแรงงานผู้รักประชาธิปไตย และมวลชนคนเสื้อแดงผู้รักความเป็นธรรม แต่ไม่ควรหลงลืมว่าการเมืองมีองค์ประกอบมากมาย
ทั้งการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวนอกสภา องค์กรเลี้ยวซ้ายเชื่อว่า “สังคมนิยม” ต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง
ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยผู้นำคนเดียว กลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบ ๆ ผู้นำพรรค
หรือกองทัพ  มันเป็นเรื่องของรากหญ้า
ดังนั้นสังคมพึงปรารถนาต้องออกแบบและสร้างสังคมจากล่างสู่บนโดยคนรากหญ้าเอง “สภาประชาชน”
ของสุเทพล้วนเป็นสิ่งโกหกหลอกลวงที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ
และหลอกลวงซ้ำด้วย “การปฏิรูป” ที่ไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้                  

            ขณะที่ ผบ.ทบ.หรือขุนทหารที่หนุนหลังสุเทพ
ตบตามวลชนด้วยการวางตัวเป็นกลางระหว่างกบฎที่ขัดขวางการเลือกตั้ง กับ ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศที่ต้องการการเลือกตั้ง
องค์กรเลี้ยวซ้ายมีข้อเสนอเฉพาะหน้า
5 ประการดังนี้
คือ

1.      กลุ่มเผด็จการปฏิกิริยาสุเทพ
เทือกสุบรรณต้องยุติการชุมนุมโดยทันที

2.      กกต.
และกระบวนการเลือกตั้งต้องเดินหน้าตามกำหนด ไม่มีการเลื่อนออกไปโดยเด็ดขาด

3.      การแทรกแซงของทหาร
ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ จะต้องถูกต่อต้านทั่วประเทศ 

4.      รักษาการรัฐบาลจะต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข
และยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน

5.      ฆาตกรมือเปื้อนเลือดในเหตุการณ์
เมษา
พฤษภา 53 จักต้องถูกลงโทษ

              ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจและปกครองตัวเองได้
ระบบเศรษฐกิจการผลิตแบบใหม่จะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน และมีความเสมอภาคเต็มที่
ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ  ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น
บริหารกันเองประสานกับส่วนอื่นของสังคม ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม
มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่
พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน


ประชาชน ชนชั้นกรรมาชีพ
ผู้รักประชาธิปไตย จงรวมกันเข้า
!!!เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภา 2557

                                                                             องค์กรเลี้ยวซ้าย
                                                                             28 ธันวาคม 2556

ชนชั้นกลางคือมวลชนหลักของขบวนการฟาสซิสต์

ทุกวันนี้เราเห็นบทบาทของชนชั้นกลางในการทำลายประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
ท่าทีและพฤติกรรมของชนชั้นกลางนี้ ควรจะปิดปากอย่างถาวร พวกที่เคยอ้างถึงความก้าวหน้าของชนชั้นกลางในการสร้างประชาธิปไตย
เช่นหลังเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ คนอย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์
เคยเชิดชูชนชั้นกลางในบทความ “ม็อบมือถือ” นอกจากนี้กระแสหลักฝ่ายขวาทั่วโลก
มักมองอย่างผิดๆ ว่า “ประชาสังคม” อันประกอบไปด้วยชนชั้นกลางและเอ็นจีโอ
เป็นพลังหลักในการสร้างประชาธิปไตยอีกด้วย



การอธิบายขบวนการฟาสซิสต์ของตรอทสกี้

ในยุคที่ขบวนการฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจเผด็จการในเยอรมัน
นักมาร์คซิสต์รัสเซีย ชื่อ ลีออน ตรอทสกี้
ได้อธิบายว่าทำไมชนชั้นกลางเป็นมวลชนหลักของพวกฟาสซิสต์[1]
     ตรอทสกี้
เขียนว่า “
ขบวนการฟาสซิสต์จัดตั้งชนชั้นกลางที่อยู่เหนือกรรมาชีพ…
ชนชั้นกลางที่เต็มไปด้วยความเกรงกลัวว่าจะจมลงไปเป็นคนงานท่ามกลางการล่มสลายของเศรษฐกิจ
มันจัดตั้งชนชั้นนี้ในรูปแบบกองทัพ โดยอาศัยเงินทุนจากทุนใหญ่และความเห็นชอบจากรัฐ
เพื่อทำลายทุกส่วนของขบวนการแรงงาน จากซีกปฏิวัติถึงซีกที่อนุรักษ์นิยมที่สุด
     ตรอทสกี้อธิบายว่าทำไมเราไม่ควรเรียกกลุ่มฝ่ายขวาทุกกลุ่มว่าเป็น
“ฟาสซิสต์” โดยไม่ตรวจสอบพิจารณาให้ดีก่อน… “ระบบฟาสซิสต์ไม่ใช่เผด็จการธรรมดา
การทำลายองค์กรจัดตั้งของกรรมาชีพไม่พอ
ต้องมีการทำลายความอิสระทั้งปวงของกรรมาชีพด้วย
และชนชั้นนายทุนชนชั้นเดียวไม่มีพลังเพียงพอที่จะกำจัดการจัดตั้งของกรรมาชีพได้ เลยต้องอาศัยพลังมวลชนฟาสซิสต์ของชนชั้นกลางด้วย
…. แต่วิธีการนี้เต็มไปด้วยภัยสำหรับนายทุนใหญ่
เพราะถึงแม้ว่านายทุนใหญ่พร้อมจะใช้พวกฟาสซิสต์เขาก็เกรงกลัวและเหยียดหยามมันในเวลาเดียวกัน
……
ชนชั้นนายทุนใหญ่ชอบฟาสซิสต์เหมือนคนปวดฟันชอบให้หมอฟันถอนฟัน ….มันเป็นความจำเป็น
         ชนชั้นกลางที่เป็นฟาสซิสต์คือ
“ผู้ประกอบการรายย่อยที่ใกล้จะล้มละลาย
ลูกหลานของเขาที่จบมหาวิทยาลัยและไม่มีงานทำพวกนี้ยินดีรับฟังข้อเสนอของพวกสร้างวินัยด้วยกองกำลัง
….ข้อเสนอของพวกนี้คืออะไร? ในประการแรกต้องบีบคอผู้ที่อยู่ข้างใต้
ชนชั้นกลางที่ก้มหัวต่อนายทุนใหญ่หวังจะกู้ศักดิ์ศรีทางสังคมด้วยการปรามชนชั้นกรรมาชีพและคนจน
นิยายเก่าๆ
(เรื่องเทวดา) ที่ลอยอยู่เหนือความจริงคือแหล่งที่พึ่งของพวกนี้
การเริ่มต้นใหม่ที่กล้าหาญของฟาสซิสต์ต้องอาศัยวิธีคิดที่ย้อนยุคย้อนสมัย ชนชั้นกลางหรือนายทุนน้อยมอมเมาตนเองในนิยายเกี่ยวกับความเลิศของเชื้อชาติตนเอง
(หรือชาติศาสนาพระมหากษัตริย์)”
     “ในยามที่อาวุธ ปกติในรูปแบบตำรวจและทหารของเผด็จการชนชั้นนายทุน
พร้อมกับฉากบังหน้าของระบบประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่สามารถคุมสังคมให้อยู่ในสภาพสมดุลได้
ยุคของการปกครองแบบฟาสซิสต์ก็มาถึง ระบบทุนนิยมใช้ระบบฟาสซิสต์เพื่อปลุกระดมความบ้าคลั่งของชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพจรจัดที่ตกงาน
มวลมนุษย์นับไม่ถ้วนทั้งหลายที่ถูกระบบการเงินของทุนนิยมกดดันจนหาทางออกไม่ได้นั้นเอง
นายทุนเรียกร้องผลงานสมบูรณ์ด้วยวิธีการของสงครามกลางเมืองเพื่อสร้างสันติภาพทางชนชั้นเป็นปีๆ
การปกครองแบบฟาสซิสต์ใช้ชนชั้นกลางเป็นไม้กระบองใหญ่เพื่อพังทลายทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค”
     “หลังจากชัยชนะของฟาสซิสต์
ทุนการเงินจะรวบอำนาจทั้งหมดในกำมือเหล็ก จะควบคุมทุกสถาบัน ทุกองค์กร
ทุกบทบาทของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตย การบริหาร หรือระบบการศึกษา
ทุกส่วนของรัฐและ กองทัพ เทศบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน สื่อมวลชน สหภาพแรงงานและแม้แต่สหกรณ์จะตกอยู่ภายใต้การควบคุม
เมื่อรัฐหนึ่งแปรตัวเป็นรัฐฟาสซิสต์
ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแค่รูปแบบของรัฐบาลเท่านั้น
แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการสลายองค์กรต่างๆ ของชนชั้นกรรมาชีพให้สิ้นซากไป
ต้องมีเครือข่ายอำนาจรัฐที่ฝังรากลึกลงไปในทุกระดับของมวลชน เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพแปรสภาพไปเป็นอะไรที่ไร้การจัดตั้งอิสระอย่างสิ้นเชิง
นั้นคือประเด็นหลักของระบบฟาสซิสต์”
    
ประเด็นที่เราต้องเข้าใจจากงานเขียนของตรอทสกี้คือ
ขบวนการฟาสซิสต์ที่เคยยึดอำนาจรัฐได้ในวิกฤตเศรษฐกิจโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น
เป็นผลพวงของทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ
และเป็นความพยายามของนายทุนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะปราบการลุกฮือของขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยม
ในยุคที่การต่อสู้ทางชนชั้นรุนแรงถึงขั้นวิกฤต
การปกครองแบบฟาสซิสต์เป็นที่พึ่งสุดท้ายของชนชั้นนายทุน
และองค์กรฟาสซิสต์มีหน้าที่หลักในการทำลายความเข้มแข็งของชนชั้นกรรมาชีพโดยอาศัยยุทธศาสตร์       “ม็อบชนม็อบ”
โดยที่รากฐานขบวนการสร้างจากกลุ่มชนชั้นกลางหรือนายทุนน้อยและคนตกงาน
     ตำรากระแสหลักมักจะอ้างว่า ฮิตเลอร์
ได้รับการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย
แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจพรรคนาซีได้เสียงสูงสุด 37%
ซึ่งน้อยกว่าคะแนนเสียงของพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์รวมกัน
     ในปี 1932 ฮิตเลอร์
เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ฮินเดนเบอร์ก ของเยอรมัน แต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ฮินเดนเบอร์กปฏิเสธ 
อย่างไรก็ตามพอถึงต้นปี 1933 ทั้งๆ ที่พรรคนาซีกำลังอ่อนแอลง ฮินเดนเบอร์ก
ตัดสินใจแต่งตั้ง ฮิตเลอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อยับยั้งการขยายตัวของอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยม
     ถ้าเราจะเข้าใจการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์
เราจะต้องดูประวัติศาสตร์เยอรมันตั้งแต่ปี 1918 ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1
และหนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย 
ในช่วงนั้นกรรมาชีพเยอรมันเกือบจะยึดอำนาจได้สำเร็จ
แต่ล้มเหลวเพราะขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์ ต่อมาในปี 1923
มีความพยายามที่จะปฏิวัติอีกครั้ง แต่ถูกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหักหลังและปราบปราม
นี่คือสถานการณ์ของเยอรมันก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  วิกฤตินี้ท้าทายสังคมเยอรมันอย่างยิ่ง คือตั้งคำถามทางเลือกว่า
จะเดินหน้าสู่สังคมนิยมตามความหวังของกรรมาชีพ
หรือจะถอยหลังเข้าสู่ความป่าเถื่อนของพวกนาซี
    

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันในไทย

สถานการณ์ปัจจุบันในไทย
ไม่ใช่สถานการณ์ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง
และนายทุนไม่ได้เกรงกลัวพลังของกรรมาชีพหรือฝ่ายสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม ในหลายแง่มุม
ชนชั้นกลางไทยที่เข้าร่วมกับสุเทพเพื่อตั้งม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มีพฤติกรรมและความเชื่อความคลั่งคล้ายๆ ยุคฟาสซิสต์ในสมัยก่อน
และพวกนี้ก็เกลียดชังกรรมาชีพและเกษตรกรคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เขาอยากเห็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย


ชนชั้นกลางขาดจุดยืนที่ชัดเจน

นักมาร์คซิสต์จำแนกชนชั้นตามความสำพันธ์กับระบบการผลิต
เพราะระบบการผลิตเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตในโลกได้
และความสัมพันธ์กับระบบนี้ที่แตกต่างกัน นำไปสู่อำนาจที่แตกต่างกันในสังคม
        ชนชั้นกลางในสังคมเรา เป็น กลุ่มชนชั้นมีความหลากหลายและกระจัดกระจาย
มีทั้งชนชั้นกลางเก่าที่กำลังลดลง และชนชั้นกลางใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้น
       คนชั้นกลางเป็นคนที่ไม่ใช่นายทุน
และไม่ใช่ลูกจ้างระดับธรรมดา เช่นเกษตรกรผู้ผลิตเองรายย่อย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
ผู้ประกอบการเอง หัวหน้างาน
และผู้บริหารที่เป็นลูกจ้างนายทุนแต่มีอำนาจให้คุณให้โทษ
       ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
บางส่วนขยายจำนวน บางส่วนเริ่มมีน้อยลงเพราะล้มละลาย
และชนชั้นนี้มีปัญหาในการรวมตัวกัน เพราะไม่เป็นปึกเป็นแผ่น มีผลประโยชน์ต่างกัน
และอาจเป็นคู่แข่งกันด้วย นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นกลางต้องไปเกาะติดกับชนชั้นที่มีอำนาจมากกว่า
เช่นชนชั้นนายทุนหรืออำมาตย์ แต่บางครั้งในอดีตอาจเคยเกาะติดกับชนชั้นล่างเมื่อมีการต่อสู้แบบ
๑๔ ตุลา ดังนั้นจุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางจะไม่คงที่
       ชนชั้นกลางเก่า หรือเกษตรกรรายย่อย กำลังล้มละลาย
และคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่กลายเป็นกรรมาชีพหรือลูกจ้าง ส่วนที่กำลังขยายตัวและเป็นมวลชนหลักของสุเทพ
คือ “ชนชั้นกลางสมัยใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยนายทุนน้อยผู้ประกอบการเอง
ผู้บริหารในธุรกิจเอกชน หัวหน้างาน และข้าราชการระดับบริหาร

สรุป

ม็อบสุเทพยังไม่ถือว่าเป็นม็อบฟาสซิสต์
แต่ในขณะเดียวกันเป็นม็อบคนชั้นกลางที่พร้อมจะเป็นอันธพาลเพื่อทำลายประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยพันธมิตรฯ
นี่คือบทบาทแท้ของชนชั้นกลางไทยในวิกฤตการเมืองที่เริ่มต้นในยุครัฐประหาร ๑๙ กันยา
     ที่สำคัญคือ
เราไม่สามารถหวังว่าพรรคเพื่อไทย หรือสถาบันต่างๆของรัฐ
จะปราบปรามม๊อบคนชั้นกลางที่กำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพของเราได้
เพราะพวกนี้ในที่สุดเป็นพวกเดียวกัน หรืออย่างน้อยเกรงใจกัน
     ถ้าเราจะปกป้องประชาธิปไตย
คนชั้นล่างระดับรากหญ้าจะต้องรวมตัวกันและใช้พลังมวลชนเพื่อเผชิญหน้ากับกระแสที่มาจากม็อบคนชั้นกลางที่มีจำนวนน้อยกว่าเรา
และเราต้องพร้อมจะกดดันพรรคเพื่อไทยที่ไปประนีประนอมกับอำมาตย์ตลอด
แต่การใช้พลังมวลชนของเราต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เราต้องเลือกเวทีและสนามรบ
ต้องเน้นการจัดตั้งในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะในสหภาพแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ
และเราต้องแสดงพลังในชุมชนของเราด้วย
ไม่ใช่วิ่งเข้าไปตบตีฆ่าฟันม็อบสุเทพโดยไร้ปัญญา

     การนั่งแช่แข็งตนเอง ตามคำแนะนำของ นปช.
หรือพรรคเพื่อไทย จะจบลงด้วยเผด็จการครองเมือง




[1]
Fascism,
Stalinism and the United Front. พิมพ์ครั้งแรกระหว่าง 1930-1933

ปฏิรูปของยิ่งลักษณ์คือปฏิรูปโดยอำมาตย์

ปฏิรูปของยิ่งลักษณ์คือปฏิรูปโดยอำมาตย์

ใจ อึ๊งภากรณ์
ข้อเสนอล่าสุดของยิ่งลักษณ์เรื่องกรรมการปฏิรูป
เป็นการถอยหลังไปสู่ยุคมืด เพราะคณะกรรมการที่ยิ่งลักษณ์เสนอ ประกอบไปด้วย ทหาร
นายทุน นายธนาคาร ข้าราชการ และอธิการบดีรักเผด็จการ มันเป็นคณะกรรมการอัปยศ
    
ดูเหมือนยิ่งลักษณ์และสุเทพกำลังแข่งกันเสนอคณะกรรมการอัปยศประเทศไทย



    
“การปฏิรูป” ควรหมายถึงทำให้ดีขึ้น แต่คำนี้ใครๆ ทั้งรัฐบาล ทั้งโจรสุเทพ
ทั้งพวกเลื้อยคลานทั้งหลายฯลฯ เอามาใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเองจนไม่มีความหมายเหลือ
    
การปฏิรูปที่จะพัฒนาประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในสังคมไทย
ต้องลดอำนาจทหารและข้าราชการ ต้องลดอำนาจผูกขาดของนายทุนและนายธนาคาร และต้องเพิ่มอำนาจของคนธรรมดาที่ประกอบไปด้วยกรรมาชีพและเกษตรกร
ดังนั้นต้องเพิ่มอำนาจให้สหภาพแรงงานและกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มคนจนในชุมชนต่างๆ ต้องมีการยกเลิกกฏหมาย
112 และสร้างรัฐสวัสดการผ่านการเก็บภาษีสูงๆ จากคนรวยพร้อมกับตัดงบประมาณทหาร
    
การปฏิรูปของพวกเอ็นจีโอก็ไม่ดีกว่าของยิ่งลักษณ์ เพราะ กป.อพช.
เสนอให้ม็อบสุเทพ/ประชาธิปัตย์มีกรรมการเท่ากับเพื่อไทยและ นปช. ทั้งๆ ที่ประชาธิปัตย์เป็นแค่ตัวแทนของประชาชน
1/3ของประเทศเท่านั้น แต่พวกเอ็นจีโอเชื่อมานานว่าชาวบ้านโง่และถูกหลอกให้ลงคะแนนให้เพื่อไทยหรือไทยรักไทย
เขาเลยไม่ให้ความสำคัญตรงนี้ ยิ่งกว่านี้ กป.อพช. เสนอให้เอ็นจีโอ
ที่อ้างว่าตัวเองเป็น “ภาคประชาชน” มีกรรมการเท่ากับ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย
คือต้องการแต่งตั้งตนเองเข้าเป็นกรรมการเท่านั้น อย่าลืมว่าพวกนี้เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร
19 กันยาในอดีต
    
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยควรจะประกอบไปด้วยคนที่ได้รับการเลือกตั้งและความไว้วางใจจากประชาชน
คือให้ทุกเขตเลือกตั้งเลือกมาหนึ่งคน
ถ้าใครมองว่ารูปแบบการสร้างกรรมการแบบนี้ไม่เหมาะสม ก็แสดงว่าไม่เคารพเสียงประชาชนและประชาธิปไตยนั้นเอง

ล่าสุดต้องฟันธงว่าสังคมไทยถึงจุดตกต่ำมืดมัว….
ม็อบสุเทพใช้อาวุธปืน ตำรวจตาย แต่สุเทพลอยนวล
กกต.เสนอเลื่อนการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องม็อบ ปปช. (เกี่ยวอะไรกับมัน
?) บอกว่าสส.ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทหารได้….

หยุดปลายปีนี้ มาฟังดนตรีของ เบทโฮเฟิน ดีกว่า

หยุดปลายปีนี้ มาฟังดนตรีของ เบทโฮเฟิน ดีกว่า
สิ่งแรกที่เราควรรู้เกี่ยวกับดนตรีของ ลุดวิจ ฟาน เบทโฮเฟิน
คือเวลาเปิดฟัง ต้องเปิดดังๆ เพราะ เบทโฮเฟิน เป็นศิลปินร้อนแรงที่ต้องการเห็นสังคมใหม่
เขาเกลียดชังพวกเจ้าขุนนางศักดินา และมองพวกนี้ว่าเป็นกาฝากของสังคมที่ต้องถูกกวาดล้างไปจากสังคม


ซิมโฟนี แรกของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันคนนี้
ที่เราแนะนำให้ท่านฟังคือ ซิมโฟนีที่ สาม ซึ่งแต่งขึ้นในปี 1804 ขณะที่กองทัพของ นโปเลียน
กำลังกวาดล้างเจ้าขุนนางเก่าจากประเทศต่างๆ ในยุโรปและเผยแพร่แนวคิดสาธารณะรัฐจากการปฏิวัติฝรั่งเศส
เชิญฟังได้ที่นี่
เวลาฟังชิ้นนี้ควรนึกภาพการกวาดล้างพวกอำมาตย์หัวเก่าออกไปจากสังคม
ตอนกลางๆ ของซิมโฟนีมีดนตรีที่ชวนให้เรานึกถึงงานศพของสังคมเก่าด้วย ตอนที่งานชิ้นนี้ออกมาใหม่ๆ
พวกอนุรักษ์นิยมหัวเก่าไม่ชอบ เพราะไม่เข้าใจดนตรีสมัยใหม่ของเบทโฮเฟิน
และกลัวว่ามัน “รุนแรง” เกินไป เขาอาจกลัวตำแหน่งของตนเองในสังคมไปด้วย
ตอนจบของซิมโฟนี เราจะได้ยินชัยชนะของ นโปเลียน

อย่างไรก็ตาม เบทโฮเฟิน ไม่ใช่นักวิเคราะห์ทางการเมือง
และเขาไปฝากความหวังกับ นโปเลียน แล้วต้องผิดหวังโกรธแค้นเมื่อ นโปเลียน ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ์

ซิมโฟนีชิ้นที่สองที่เราแนะนำคือ ซิมโฟนีที่เก้า
ชิ้นสุดท้ายของ เบทโฮเฟิน ที่แต่งขึ้นตอนเขาหูหนวก ดังนั้นเขาต้องจินตนาการโน๊ตเพลงสำหรับดนตรีชิ้นนี้
ซิมโฟนีเก้าเป็นชิ้นสุดยอดของเขาที่แต่งขึ้นมาเชิดชูความเป็นมนุษย์
แทนที่จะเชิดชูพระเจ้า ศาสนา และขุนนาง อย่างที่ศิลปินก่อนหน้านี้มักทำ
เชิญฟังได้ที่นี่
เวลาฟังชิ้นนี้อยากให้นึกถึงความขัดแย้งและการต่อสู้
เพื่อได้มาซึ่งมนุษย์ที่พัฒนาเต็มที่ ถ้าเป็นมาร์คซิสต์เราอาจมองว่ามนุษย์สมัยใหม่เกิดท่ามกลางความขัดแย้งในเชิงวิภาษวิธี
ดนตรีมันทั้งร้อนแรงและงดงามด้วย ความงดงามปรากฏในส่วนที่ดนตรีช้าลงตอนกลาง
เสมือนกับว่า เบทโฮเฟิน มองว่าธรรมชาติ
และมนุษย์ที่เกิดจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่สวยที่สุด
ในตอนท้ายมีเสียงร้องจากมนุษย์เกิดขึ้นเพื่อเชิดชูความเป็นคนและความสุขความสมานฉันท์
นี่คือสิ่งที่ควรเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับพวกที่มองประชาชนส่วนใหญ่ว่าโง่หรือเป็นแค่ฝุ่นใต้ตีน


งานของนักประพันธ์เพลงชาวตะวันตกในยุคนั้นก้าวหน้าไปไกลกว่าส่วนอื่นของโลก
เพราะระบบทุนนิยมเริ่มพัฒนาขึ้น มีการแต่งเพลงโดยเขียนโน๊ตเพลงลงบนกระดาษ
แทนที่นักดนตรีจะต้องท่องจำ การเขียนโน๊ตแบบนี้ทำให้สามารถจัดวงดนตรีใหญ่ๆ ที่แต่ละคนเล่นโน๊ตสลับซับซ้อนที่แตกต่างกัน
เพื่อประสานเสียงเข้ากันได้
และการจ้างนักดนตรีจำนวนมากแบบนี้ก็ต้องอาศัยส่วนเกินจากการผลิตอันมีพลังในระบบทุนนิยมด้วย

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครูปแบบเก่าที่ใช้ระบบอุปถัมภ์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครูปแบบเก่าที่ใช้ระบบอุปถัมภ์
ใจ อึ๊งภากรณ์
เป็นเรื่องตลกร้ายที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยว่าบิดเบือนประชาธิปไตยและซื้อเสียงเพื่อครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา
เพราะถ้าดูตัวเลขการลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ในรอบ 20
ปีที่ผ่านมาพรรคนี้ไม่เคยได้มากกว่า 1/3 ของคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ
และสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการตั้งพรรคไทยรักไทย
     แน่นอนไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าในระบบการเลือกตั้งของไทยไม่มีการแจกเงินโดยทุกพรรค
แต่ผลการวิจัยภาคสนามของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ และของอาจารย์ แอนดรู วอล์คา
จากออสเตรเลีย
ทำให้เราเข้าใจว่าในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังการสร้างพรรคไทยรักไทย ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคผ่านการพิจารณานโยบาย
มากกว่าที่จะเลือกตามความเชื่อว่าต้อง “ระลึกถึงบุญคุณ” ของผู้แจกเงิน
     ในระบบการเมืองแบบเก่า
ก่อนไทยรักไทย มักจะมี “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ซึ่งครองเสียงในจังหวัดหนึ่ง
และชนะการเลือกตั้งเสมอ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านี้ อาศัยระบบ
“อุปถัมภ์ทางการเมือง” เพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนผู้ที่สนับสนุนเขา ซึ่งการเลือกนักการเมืองในรูปแบบนี้อาจกล่าวหลวมๆ
ได้ว่าเป็นการเลือกผ่านการพิจารณานโยบายและผลประโยชน์เฉพาะหน้าก็ได้
แต่มันผสมกับการ
ระลึกถึงบุญคุณ ของผู้มีอิทธิพลด้วย
     ตัวอย่างของ
“ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ได้แก่ บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง, เฉลิม อยู่บำรุง และสุเทพ
เทือกสุบรรณ เป็นต้น แต่มีอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยถึง
     ลักษณะสำคัญของการเมืองแบบ
“ระบบอุปถัมภ์” ที่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นใช้เสมอ
คือการดึงงบประมาณมาให้ประโยชน์กับพรรคพวกของตนเอง เพื่อสร้างฐานสนับสนุน
แต่ประเด็นสำคัญสองประเด็นเป็นเรื่องที่เราควรพิจารณาคือ ในประการแรก
ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไม่สามารถสร้างฐานเสียงทั่วประเทศได้
เพราะการอุปถัมภ์พรรคพวกทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้
หลายคนเข้าใจผิดว่าการที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ
เป็น “การอุปถัมภ์” แต่มันไม่ใช่ มันเป็นการเสนอนโยบายระดับชาติในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต่างหาก
ซึ่งพบในตะวันตก นโยบายระดับชาติเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศได้
ไม่ว่าจะเลือกพรรครัฐบาลหรือไม่ มันต่างจากการอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ
เช่นการให้ตำแหน่งงาน หรือการให้สัมปทานกับเพื่อนๆ หรือลูกน้อง เป็นต้น
     ในประการที่สอง
ระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์ เป็นระบบที่ไม่มีการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
และมักขาดลัทธิทางการเมืองประกอบด้วย
     ในกรณีพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย
อิทธิพลของการเมืองอุปถัมภ์ถูกลดความสำคัญลงเป็นอย่างมาก
เพราะมีการเสนอนโยบายระดับชาติที่เป็นรูปธรรม เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า
และการสร้างงานในชนบท และนโยบายดังกล่าวมีฐานทฤษฏีรองรับอีกด้วย
คือความคิดเรื่องเศรษฐกิจคู่ขนาน หรือการใช้กลไกตลาดเสรีในระดับสากล
บวกกับการใช้งบประมาณรัฐในระดับรากหญ้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
     แต่ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้
คะแนนเสียงของพรรคมาจากระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ
อิทธิพลของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยที่ตระกูลเทือกสุบรรณพยายามคุมอำนาจในท้องถิ่นมานาน และคนในครอบครัวเป็น สส.
หลายคนด้วย ในขณะเดียวกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ
ไม่สามารถและไม่เคยเสนอนโยบายที่ครองใจประชาชนนอกพื้นที่ได้เลย เขาเป็นตัวอย่างของนักการเมืองแบบเก่า
หรือนักการเมือง “ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น” ที่ชัดเจนมาก และพรรคประชาธิปัตย์ระดับชาติ
ก็ได้แต่วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของไทยรักไทย หรือเพื่อไทย เพื่อแช่แข็งประเทศเท่านั้น
     ความเหนือชั้นของไทยรักไทย
หรือเพื่อไทย ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เขาทำมันดีเลิศ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ไทยรักไทย สอบตกในภาคใต้และสงครามยาเสพติด และในเรื่อง 112 และการนิรโทษกรรมฆาตกร
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็สอบตกเช่นกัน
     พรรคประชาธิปัตย์เป็นเสมือนนกสองหัว
เพราะในภาคใต้อาศัยระบบการเมืองอุปถัมภ์ล้วนๆ แต่ในกรุงเทพฯ
ได้คะแนนเสียงจากคนชั้นกลางอนุรักษ์นิยม
โดยที่คนชั้นกลางเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของพรรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น
คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่จบนอกมาและพูดภาษาอังกฤษเก่ง
แต่เขาก็เป็นนักการเมืองหัวเก่าที่พึ่งพิงทหารเผด็จการและชนชั้นปกครองเก่าเท่านั้น
และที่สำคัญคือเขาคัดค้านนโยบายที่พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่
เพื่อปกป้องผลประโยชน์คนรวย

     การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแบบเก่า
ที่อาศัยระบบอุปถัมภ์ในภาคใต้ และฐานเสียงของชนชั้นกลางบางส่วนในกรุงเทพฯ
เป็นสาเหตุที่พรรคนี้ไม่สามารถครองใจคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้
นี่คือสาเหตุที่เขาเกลียดชังระบบ “หนึ่งคน หนึ่งเสียง”


การตามพรรคเพื่อไทยที่รวนเรในการปกป้องประชาธิปไตย ไม่สามารถเอาชนะเผด็จการได้

การตามพรรคเพื่อไทยที่รวนเรในการปกป้องประชาธิปไตย
ไม่สามารถเอาชนะเผด็จการได้

กองบรรณาธิการ เลี้ยวซ้าย
คนจน คนชั้นล่าง ชาวนา กรรมาชีพ
และผู้ที่นิยมประชาธิปไตย ในประเทศนี้มีมากกว่าฝ่ายนิยมเผด็จการ
อำนาจนอกระบบอยู่มาก แต่เหตุไฉนดูเหมือนฝ่ายประชาธิปไตย
จึงดูถูกต้อนจนมุมเข้าไปทุกทีๆ
เพราะเราพึ่งพิงเพียงพรรคเพื่อไทย
ที่รวนเร ในการปกป้องประชาธิปไตย เพราะ นปช องค์กรนำ
ละเลยในการสร้างสรรประชาธิปไตย เพราะเรามีปัญชาชน ที่ยังไม่มั่นใจในการสร้างขบวนการมวลชนประชาธิปไตยที่เป็นอิสระ
เราจึงไม่สามารถขยายแนวร่วมและสร้างพลังใหม่ๆ ในการต่อสู้ได้
ตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาลเป็ดง่อยเดินละเมอลงหลุมพรางการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
เพื่อให้ฝ่ายเผด็จการแต่งตั้งตัวเองแล้วเข้าสู่กระบวนการการแปรสภาพระบบ
เพื่อลดพื้นที่ประชาธิปไตย และเพิ่มเสียงให้คนชั้นกลางและฝ่ายจารีต
เราจำเป็นต้องมีขบวนการประชาธิปไตย
ที่เป็นตัวของตัวเอง ยืนบนหลักการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย บนผลประโยชน์ของคนจน
คนชั้นล่าง ชาวนา กรรมาชีพ สร้างข้อเสนอสังคมใหม่ ที่เป็นรูปธรรม
สร้างความเท่าเทียมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
เพื่อช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง มาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ขยายแนวร่วม
การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถเอาชนะ ฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมลงได้ หรืออาจจะถึงขั้นพ่ายแพ้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น การเผชิญหน้ากับความป่าเถื่อนของฝ่ายจารีต
ก็ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะประวัติศาสตร์สอนเราว่า ฝ่ายนิยมเผด็จการ
ไม่เคยแคร์กับชีวิตของผู้คน พร้อมจะปราบปราม กระทำอย่างโหดเหี้ยม
เพียงเพื่อรักษาอำนาจของฝ่ายตนไว้


ต้านเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย แต่ไม่สนับสนุนเพื่อไทย

ต้านเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย แต่ไม่สนับสนุนเพื่อไทย
ยุทธิ์วิธีเฉพาะหน้า 
“วางปืนบนไหล่รัฐบาล”

เลี้ยวซ้าย  pcpthai@gmail.com


ในกลางปี 1917
รัฐบาลปฏิรูปของรัสเซีย ซึ่งเกิดจากการล้มกษัตริย์ซาร์ ดูหมดสภาพ อ่อนแอ ปฏิกิริยา
ไม่กล้ายุติสงครามโลก และไม่อยากสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ปรากฏว่านายพล
คอร์นิลอฟ เริ่มก่อรัฐประหารเพื่อหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืด
    
พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจปกป้องรัฐบาลจากการถูกโค่นล้ม
แต่ในขณะเดียวกันต้องต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ก้าวหน้า เพื่อหวังปฏิวัติสังคมนิยมในเดือนข้างหน้า
แกนนำพรรคอย่าง เลนิน กับ ตรอทสกี เรียกยุทธิ์วิธีนี้ว่า
การวางปืนบนไหล่รัฐบาล เพื่อสู้กับเผด็จการปฏิกิริยา
มีการนัดหยุดงานโดยคนงานรถไฟที่ลำเลียงทหารของฝ่ายรัฐประหาร
มีการใช้ทหารก้าวหน้าปิดเมืองหลวง จนในที่สุดนายพล คอร์นิลอฟ พ่ายแพ้



    
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมแบบรัสเซีย 1917
และเรายังไม่มีพรรคแบบพรรคบอลเชวิคที่ครองใจคนจำนวนมาก
แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหมดสภาพที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย
เพราะไปยอมจำนนต่ออำนาจปฏิกิริยาในหลายๆ เรื่อง เช่นการยุบสภา
ถอนร่างกฏหมายที่จะทำให้สว.มาจากการเลือกตั้ง
และด้วยการเสนอให้นิรโทษกรรมคนมือเปื้อนเลือด และที่สำคัญรัฐบาลไม่อาศัยพลังมวลชนเสื้อแดงเพื่อผลักดันการปฏิรูปไปข้างหน้า
เพียงแต่ใช้เสื้อแดงเป็นกองเชียร์ มันมีบทเรียนบางอย่างจากรัสเซีย 1917
ที่นำมาใช้ได้
    
ในการโจมตีขบวนการปฏิกิริยาของสุเทพ และปกป้องประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยม
เราต้องเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร
ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ต้องยกเลิก 112
และต้องนำทหารกับนักการเมืองมือเปื้อนเลือดมาขึ้นศาล
นอกจากนี้เราต้องเสนอให้ปฏิรูปศาลปฏิกิริยาอีกด้วย

    
แน่นอนการต่อสู้ของเราจะเป็นรูปแบบการเสนอความคิด
เพราะเราเล็กเกินไปที่จะสู้แบบพรรคบอลเชวิค
แต่การเสนอแนวทางแบบนี้ของเราท่ามกลางการร่วมต่อต้านเผด็จการกับคนเสื้อแดงและ นปช.
จะช่วยไม่ให้เรากลายเป็นแค่กองเชียร์ของพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณ
และจะให้ความมั่นใจกับเราที่จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
เราควรไปกาช่องไม่เลือกใครหรือศึกษาแนวทางของพรรคเล็กๆ ที่อาจก้าวหน้ากว่าเพื่อไทย
แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรหลงลืมว่า “การเมือง” มีองค์ประกอบมากมาย
ทั้งการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา

สภาประชาชนที่แท้จริง คือสภาคนทำงานในระบบสังคมนิยม ไม่ใช่เผด็จการของสุเทพและของพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทน “ประชาสังคม”

สภาประชาชนที่แท้จริง คือสภาคนทำงานในระบบสังคมนิยม
ไม่ใช่เผด็จการของสุเทพและของพวกที่อ้างว่าเป็นตัวแทน “ประชาสังคม”
กองบรรณาธิการ
นสพ. เลี้ยวซ้าย

 ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเสรี
จะมีประชาธิปไตยไม่ได้
การเลือกตั้งเสรีหมายถึงการเลือกตั้งที่ไม่มีอุปสรรค์หรือข้อจำกัดสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
และผู้ไปลงคะแนนเสียง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกฎหมาย เงิน หรือความพร้อม ดังนั้นข้อเสนอเหลวใหลของสุเทพและคนอื่นเรื่อง
“สภาประชาชน” ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ กอดคอกับทหาร และกีดกันคนจนออกไป สอบตกในเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่แรก
    
แต่ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งให้ดีกว่านี้
คือดีกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐสภาทุนนิยม เรามีตัวอย่างจากคอมมูนปารีสปี 1871
และการปฏิวัติรัสเซียในช่วงระหว่าง 1917-1923
ก่อนที่เผด็จการสตาลินจะขึ้นมาบนซากศพการปฏิวัติสังคมนิยม



    
ลักษณะการออกแบบเขตเลือกตั้ง และวิธีเลือกตั้งก็มีผลต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
การเลือกตั้งที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด เป็นระบบที่เคยพบในสภาคนงานที่เรียกว่าสภา
โซเวียดหลังการปฏิวัติ 1917 ในรัสเซีย
เพราะระบบนี้อาศัยการลงคะแนนหรือลงมติหลังจากที่มีการถกเถียงกันอย่างเสรีต่อหน้าผู้ลงคะแนนเสียง
ซึ่งแปลว่าผู้ออกเสียงสามารถพิจารณาข้อถกเถียงของหลายๆ ฝ่าย
นอกจากนี้ผู้ออกเสียงจะสามารถประเมินกระแสความคิดของคนอื่นที่จะลงคะแนนร่วมกันได้อีกด้วย
และที่สำคัญคือ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาคนงานในสถานที่ทำงาน
จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา และถ้าทำอะไรที่ไม่ถูกใจผู้เลือก จะถูกถอดถอนทันทีและมีการเลือกตั้งใหม่
นี่ลักษณะของประชาธิปไตยทางตรงในระบบสังคมนิยม
    
นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัย คาร์ล มาร์คซ์ จนถึงทุกวันนี้
เป็นกลุ่มคนที่ปกป้องประชาธิปไตยทุนนิยมจากการคุกคามของเผด็จการอย่างคงเส้นคงวามากกว่าสำนักคิดอื่นๆ
ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หรือวิกฤตการเมืองในกรีซและอียิปต์เป็นต้น
    
นักมาร์คซิสต์อย่างโรซา ลัคแซมเบอร์ค
เคยพิจารณาว่านักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ต้องการล้มระบบทุนนิยมและพัฒนาสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของสังคมนิยม 
ควรมีท่าทีอย่างไรต่อประชาธิปไตยครึ่งใบของทุนนิยม
    
ในหนังสือ
ปฏิวัติหรือปฏิรูปโรซา
ลัคแซมเบอร์ค
อธิบายว่าการต่อสู้ประจำวันเพื่อการปฏิรูปในกรอบสังคมปัจจุบันของทุนนิยม
รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นโอกาสเดียวของชาวสังคมนิยมที่จะลงมือร่วมสู้ในสงครามชนชั้นของกรรมาชีพเพื่อบรรลุจุดเป้าหมายสุดท้าย
คือการยึดอำนาจทางการเมืองและการทำลายระบบการจ้างงานของเผด็จการนายทุน
สำหรับชนชั้นกรรมาชีพระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เพราะรูปแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบนี้เช่นการบริหารตนเองและสิทธิในการลงคะแนนเสียงชนชั้นกรรมาชีพสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแปรรูปสังคมทุนนิยมได้
การใช้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นทางเดียวที่จะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเกิดจิตสำนึกในผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองและภาระทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นตนเอง
แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญเพราะจะทำให้การปฏิวัติยึดอำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพไม่จำเป็นอีกต่อไป
ตรงกันข้ามมันทำให้การยึดอำนาจดังกล่าวมีความจำเป็นชัดเจนขึ้น
และมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกด้วย
    
สำหรับนักมาร์คซิสต์
ประชาธิปไตยทุนนิยมหรือสิทธิเสรีภาพต่างๆไม่ได้ประทานลงมาจากเบื้องบนหรือถูกออกแบบโดยอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด
 แต่มาจากการต่อสู้ของมวลชนต่างหาก
และการต่อสู้ดังกล่าวอาจ
เปิดเผยเช่นบนท้องถนนหรือ
ซ่อนเร้นเช่นการต่อสู้เล็กๆน้อยๆประจำวันในสถานที่ทำงานเป็นต้น  ด้วยเหตุนี้การก่อตั้งสหภาพแรงงาน  การออกแถลงการณ์หรือการประท้วงต่อต้านเผด็จการ และการคัดค้านม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสุเทพ
ล้วนแต่เป็นวิธีหลักในการสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง
อุบัติเหตุหรือ ความวุ่นวายหรือสิ่งที่ ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยดังที่กระแสหลักชอบเสนอ  และเราจะเห็นว่าสำนักมาร์คซิสต์มีให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันและการกระทำของพลเมืองในการเปลี่ยนสังคม
โดยเน้นชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรยากจน 
แทนที่จะเน้นชนชั้นกลาง  แต่นักวิชาการกระแสหลักมองข้ามบทบาทของชนชั้นกรรมาชีพและคนจนในการสร้างประชาธิปไตยเสมอ
    
นักมาร์คซิสต์มองว่าการต่อสู้ของมวลชนในฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ.
1986
ในอินโดนีเซียในปี ค.ศ.
1998
หรือในไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
,
๒๕๑๖ และ ๒๕๓๕ เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย
และแม้แต่นักวิชาการที่ไม่ใช่มาร์คซิสต์บางคน เช่น
Barrington Moore ยังยอมรับว่าประชาธิปไตยทุนนิยมในตะวันตกเป็นผลมาจากการต่อสู้และการปฏิวัติในอดีต
    
นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษชื่อ
E.P.Thompson ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยอังกฤษ
เดิมถูกจำกัดไว้ในหมู่คนชั้นสูงและคนมีเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ม็อบสุเทพต้องการในไทยทุกวันนี้
แต่การต่อสู้ของขบวนการแรงงานอังกฤษเช่นกลุ่ม
Chartists เป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ให้พลเมืองทุกระดับมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง       
    
นอกจากความสำคัญของบทบาทชนชั้นกรรมาชีพและภาคประชาชนส่วนอื่นๆ ในการรณรงค์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว
สำนักมาร์คซิสต์มองว่าประชาธิปไตยทุนนิยมจะขาดมาตรฐานและทางเลือกทางการเมืองถ้าไม่มีพรรคการเมืองของแรงงานหรือคนจน
เช่นพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมชนิดต่างๆในสังคม
ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีไทยหรือสหรัฐอเมริกา
ที่การเมืองรัฐสภาถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองของนายทุน
    
ข้อเสนอในรูปธรรมของสำนักมาร์คซิสต์เพื่อที่จะการขยายความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยมมีหลายข้อเสนอเช่น
1. ต้องสร้างพรรคของกรรมาชีพและชาวนาเพื่อเสนอทางเลือกทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง
และที่แตกต่างกับนโยบายพรรคนายทุน
2. ต้องมีกระบวนการในการที่กรรมาชีพและคนจนจะสามารถควบคุม
ตรวจสอบ และถอดถอน ส.ส. หรือผู้แทนของตนเองได้
ซึ่งมักจะไม่มีในระบบประชาธิปไตยทั่วไปของทุนนิยม
3.
สหภาพแรงงานและองค์กรเกษตรกรต้องมีเสรีภาพเต็มที่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้หรือนัดหยุดงาน
โดยไม่ถูกครอบงำจากรัฐหรือถูกจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยกฏหมาย
4. ต้องมีการขยายระบบเลือกตั้งไปสู่ศาล
ตำรวจ ตำแหน่งสาธารณะทุกตำแหน่ง กรรมการบริหารโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาล สื่อมวลชน
และรัฐวิสาหกิจ
5. ต้องมีการยกเลิกกฎหมายทั้งหลายที่ปิดปากประชาชน
และไม่ให้เราตรวจสอบความถูกต้องของบางสถาบัน เช่นศาลหรือสถาบันกษัตริย์
ต้องยกเลิกกฎหมายความมั่นคงหรือกฎหมายสภาวะฉุกเฉินชนิดต่างๆ
และต้องไม่มีงบประมาณลับของใครไม่ว่าจะเป็นทหารหรือองค์กรอื่นๆ
6. ต้องนำสื่อมวลชนออกจากการครอบครองของกลุ่มทุน
ทหาร และอภิสิทธิ์ชน
7. ต้องนำระบบลูกขุนมาใช้ในศาลเพื่อให้พลเมืองมีส่วนหลักในระบบยุติธรรม
แทนที่จะมอบอำนาจให้ผู้พิพากษา ลูกขุนต้องประกอบไปด้วยคนธรรมดา
ไม่ใช่มีแต่คนชั้นกลาง
8. ต้องสร้างรัฐสวัสดิการผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย
เพื่อให้พลเมืองส่วนใหญ่มีศักยาภาพและความมั่นใจที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในระบบการเมือง
แต่รัฐสวัสดิการเป็นแค่จุดเริ่มต้นในทุนนิยม มันยังไม่ใช่สังคมนิยมซึ่งเป็นระบบที่คนทำงานควบคุมระบบการผลิตทั้งหมดร่วมกัน
    
สำนักความคิดมาร์คซิสต์มองว่าในระยะยาวต้องมีการยกเลิกระบบกึ่งเผด็จการของทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมซึ่งจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ
และถึงแม้ว่าในโลกปัจจุบันยังไม่มีตัวอย่างของสังคมนิยมให้เราเห็น
แต่ในอดีตมีหน่ออ่อนของระบบนี้เกิดขึ้น เช่นกรณีคอมมูนปารีส สภาโซเวียต (สภาคนงาน)
ซึ่งมีรูปแบบใหม่ของประชาธิปไตยเต็มใบ กล่าวคือ 
1. มีการเน้นการประชุมใหญ่ในสถานที่ทำงาน
และการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อเสนอนโยบายผ่านผู้แทน การเน้นสถานที่ทำงานเพื่อเป็นหน่วยการเมืองเป็นเรื่องสำคัญเพราะนำไปสู่การควบคุมเศรษฐกิจโดยตรง
2. มีการเลือกผู้แทนตามสถานที่ทำงาน
โดยที่ผู้แทนต้องได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของประชาชน
และมีระบบถอดถอนผู้แทนตลอดเวลาเพื่อตรวจสอบและควบคุม
3. มีระบบสามฝ่ายในการบริหารสถานที่ทำงานและสถาบันสาธารณะทุกชนิด
โดยสามฝ่ายดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนพนักงานในสหภาพแรงงาน
และผู้แทนประชาชนในฐานะผู้บริโภค โดยที่ผู้แทนทุกคนมาจากการเลือกตั้ง
    
โดยสรุปแล้วสำนักมาร์คซิสต์เน้น
ผู้กระทำซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพและคนจนในการปกป้องและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยทุนนิยม
โดยที่การต่อสู้ดังกล่าวมีเป้าหมายระยะยาวในการสร้างประชาธิปไตยเต็มใบของสังคมนิยม
    
สังคมนิยมเป็นระบบที่มนุษย์ฝันถึงมานาน
ตั้งแต่เกิดสังคมชนชั้นที่ไร้ความเสมอภาคและความยุติธรรม
ในสมัยก่อนเขาอาจไม่เรียกว่า
สังคมนิยมแต่อาจมีคนเรียกว่า
ยุคพระศรีอารย์หรือชื่ออื่นๆ
แต่มันมีความหมายเดียวกันคือ
สังคมที่สงบสุขเท่าเทียมกัน
    
พวกเราชาว
มาร์คซิสต์เชื่อว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ
เอง ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยผู้นำคนเดียว กลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบ ๆ ผู้นำพรรค
หรือกองทัพปลดแอก มันเป็นเรื่องรากหญ้า
ดังนั้นสังคมนิยมจะมีลักษณะตามที่กรรมาชีพและพลเมืองส่วนใหญ่พึงปรารถนา
ต้องออกแบบและสร้างจากล่างสู่บนโดยคนรากหญ้าเอง อย่างไรก็ตาม
ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม มันน่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้คือ
1.       เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างทุนนิยมซึ่งอำนาจควบคุมการผลิตเป็นของนายทุน
ทั้งนี้เพราะในระบบสังคมนิยมระบบเศรษฐกิจการผลิตจะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน
ดังนั้นสังคมนิยมจะเป็นระบบก้าวหน้าที่ปลดแอกมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
2.       ในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน
ไม่ใช่เพื่อสะสมอาวุธ หรือเพื่อการหวังกำไรของคนส่วนน้อย
จะเป็นระบบที่มีความเสมอภาคเต็มที่ ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน
ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ
3.       ในระบบสังคมจะยกเลิกการขูดรีดของนายทุน
โดยการยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมของคนบางคน
ที่จะควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างผูกขาดแล้วนำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองหรือลงทุนเพื่อหากำไรเพิ่ม
ทุกสถานที่ทำงาน หรือที่ดินเกษตร จึงต้องเป็นของคนทำงานเอง ของสังคมโดยรวม
ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น บริหารกันเองประสานกับส่วนอื่นของสังคม
ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม ดังนั้นการกดขี่แย่งชิงกันระหว่างชาติก็จะค่อยๆ
หมดไป
4.       มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่
ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก
การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ
และสนับสนุนความสร้างสรรค์ที่หลากหลายของเราทุกคน
พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

แต่ก่อนที่เราจะสร้างประชาธิปไตยของสังคมนิยมได้
เราต้องกำจัดอำนาจของพวกอภิสิทธิ์ชนและคนชั้นกลางที่โบกธงไทยบนท้องถนน
และอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการ
เราต้องสร้างพรรคการเมืองของคนชั้นล่างเอง
และผลักดันข้อเสนอที่ก้าวพ้นพวกที่รักสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพวกที่หลงไหลในอดีตนายกทักษิณ

หลังยุบสภา เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับพรรคของคนชั้นล่าง

หลังยุบสภา
เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับพรรคของคนชั้นล่าง



ถ้ามองการเมืองผ่านแว่นผลประโยชน์ทางชนชั้น เราจะเห็นสมาคมพ่อค้าออกมาร้อนรน
มิได้สนับสนุนม็อบหนักๆ แบบที่เคยเป็น เราเดาได้ว่าชนชั้นนำทั้งชนชั้นกำลังสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันหากวิกฤตการเมืองยืดเยื้อ
     แน่นอนหลายคนโล่งอกในระยะสั้น
ที่สถานการณ์ผ่อนคลายลงไปบ้าง หลังการยุบสภา ความชอบธรรมของม็อบก็ลดลงไปเยอะ
ถึงแม้อาจจะไม่เลิกม็อบเสียทีเดียว อาจจะต้อแปลงร่างแปลงกาย เพื่อคงความได้เปรียบทางการเมืองไว้
แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีการตกลงยอมความกันแล้วในบรรดาชนชั้นนำ เราจะไม่เห็นการปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตย
ไปข้างหน้าที่ไกลกว่านี้
     ฝ่ายประชาธิปไตย
ประสบผลแห่งความพ่ายแพ้อีกครั้ง ไม่ต่างจากปี
53 ข้อดีเดียวคือไม่มีใครต้องตาย กับติดคุกเพิ่ม เราดีใจที่ได้ไปคูหาเลือกตั้ง
แต่เราต้องไม่ดีใจล่วงหน้ามากเกินไป เพราะการเข้าคูหาครั้งนี้ จะแตกต่างจากหลังปี
53 เราจะไม่มีตัวเลือกเพื่อผลักดันประชาธิปไตยก้าวหน้า
หลงเหลืออยู่แล้ว
     พรรคเพื่อไทยกลายเป็นซากศพ
ที่ไม่เหลือวิญญานแห่งประชาธิปไตยให้หวัง ตลอดเวลาสองปี
พวกเขายินยอมร่วมมือกับกองทัพมือเปลื่อนเลือดมาตลอด สมยอมกันมาตลอด
และนี่คืออีกเหตุผล ว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้น ยุบสภา เลือกตั้ง
คงผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนำไว้เช่นเดิม
     หลังยุบสภาประเด็นคือประชาธิปัตย์จะบอยคอดอีกครั้งหรือไม่
และถ้าการเลือกตั้งไปโดยราบรื่น เราก็แค่กลับมาอยู่สภาพเดิม
โดยที่พวกมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดงจะไม่ถูกนำมาขึ้นศาล
รัฐธรรมนูญทหารกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักโทษ
112 ติดคุกต่อ และทหารและพรรคพวกยังใช้อำนาจอยู่เบื้องหลัง

     เราต้องให้ความสำคัญกับความอ่อนแอทางการเมืองของกรรมาชีพและเกษตกร
ซึ่งมีมาตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์
มันถึงเวลานานแล้วที่คนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพคนทำงานและเกษตรกร จะต้องมีพรรคของชนชั้นตนเอง
ในยุโรปประชาธิปไตยไม่เคยเกิดจากคนชั้นกลาง
คนชั้นกลางยุโรปสนับสนุนฮิตเลอร์และพวกฟาสซิสต์ต่างหาก
ขบวนการที่สร้างพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างจริงจังในยุโรปคือขบวนการแรงงานและพรรคการเมืองของเขา
และถ้าเรามีองค์กรทางการเมืองของคนระดับล่าง แทนที่จะมีแต่พรรคเพื่อไทยของนายทุนใหญ่
เราจะต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยได้
แทนที่จะนั่งแบบมือไม้อ่อนแค่ดูพรรคเพื่อไทยประนีประนอมกับมารเผด็จการ