ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่เคยปลอดจากการถูกแทรกแซงโดยรัฐ และส่วนมากกระทำไปภายใต้การให้ผลประโยชน์จากชนชั้นนายทุน หรือพูดอีกอย่างคือ พวกนายทุน ต้องการการแทรกแซงกลไกตลาดจากรัฐตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่งคั่ง และให้ผลประโยชน์แก่พวกเขา
โดย วัฒนะ วรรณ
ช่วงนี้ เราๆ ท่านๆ ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง คงจะได้ยิน ได้ฟัง ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกันพอสมควร เหตุผลอันหนึ่งที่มักจะมีการพูดกันเยอะ แต่ไม่ค่อยมีใครจะอภิปราย ทำราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมชาติ นั่นคือคำว่า “บิดเบือนกลไกตลาด”
คนที่พูดเช่นนี้เขามักจะเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ หรือแสร้งทำเป็นเชื่อ เพราะมันให้ผลประโยชน์แก่ตนเอง เขาเหล่านั้นกล่าวอ้างว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ถูกขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด ที่เขามักจะเรียกกันว่า “มือที่มองไม่เห็น” ตามแนวทางทฤษฎีเสรีนิยม ที่มีเจ้าสำนักที่ชื่อว่า อดัม สมิธ
สมิธ อธิบายว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม “กลไกตลาด” จะเป็น “มือที่มองไม่เห็น” คอยจัดการบริหาร ทรัพยากร และผลผลิตทั้งมวล ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคม โดยที่ “มือที่มองไม่เห็น” จะจัดการทรัพยากรและผลผลิตต่างๆ ให้เข้าสู้ “ดุลยภาพ” เสมอ
“ดุลยภาพ” คืออะไร
ดุลยภาพ ประกอบได้ด้วย สองส่วนหลักๆ คือ อุปสงค์ ที่เป็นความต้องการบริโภคของคนในสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ และก็ อุปทาน ที่เป็นปริมาณสินค้า ที่ถูกผลิตขึ้นมาในสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ
ตามความคิดของสำนักเสรีนิยม เขาก็จะท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า ถ้าสินค้ามีจำนวนมากกว่าความต้องการบริโภค ราคาสินค้าจะลดลง เมื่อราคาลดลง กำไรก็จะลดลง เมื่อกำไรลดลง ผู้ผลิตก็จะผลิตลดลง ปริมาณสินค้าก็จะลดลง ปริมาณสินค้า และความต้องการ ก็จะเข้าสู่จุด “ดุลยภาพ” เป็นต้น หรือเรียกอีกอย่างว่า ปริมาณสินค้า และความต้องการ จะจัดสรรกันพอดี ไม่เหลือไม่ขาด
ในทางกลับกัน ถ้าสังคมมีความต้องการบริโภคสินค้า มากกว่า จำนวนสินค้าที่ถูกผลิตได้ ราคาสินค้าก็ปรับตัวสูงขึ้น เพราะคนต้องการมาก กำไรก็จะมากขึ้น เมื่อกำไรมากขึ้น นายทุน ก็จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้ามากขึ้น จนเพียงพอต่อความต้องการ ราคาสินค้าก็ค่อยๆ ลดลง ในขณะเดียวกันกำไรที่เคยได้รับมากขึ้น ก็ค่อยๆ ลดลง จนไม่มีแรงดึงดูดให้คนมาผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น สินค้า และความต้องการบริโภคก็จะเข้าสู่ “ดุลยภาพ” คือทั้งสินค้า และความต้องการ จะมีพอดี ไม่เหลือ ไม่ขาด
ความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นหรือไม่
จอร์น เมย์นาด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอีกสำนัก แย้งพวกสำนักสมิธว่า ระบบเศรษฐกิจ จะไม่เข้าอยู่ระบบดุลยภาพเสมอไป โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เคนส์ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า “กับดักสภาพคล่อง”
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงแม้ผู้คนจะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าจำนวนมาก แต่เอกชนผู้มีเงินทุนจะไม่กล้า ไม่มั่นใจ ไม่ลงทุน ในการผลิตสินค้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อาจจะเนื่องด้วยคนมีความต้องการ แต่ไม่มีเงินซื้อ หรือการลงทุนนั้นอาจจะไม่เกิดผลกำไรเท่าควร เช่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
เคนส์ จึงเสนอว่าในสภาวะแบบนี้ รัฐบาลที่มีเงิน จะต้องลงทุนในระบบเศรษฐกิจ สร้างงาน ผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนมีสินค้าสำหรับบริโภค มีรายได้จากการทำงาน เพื่อจะนำมาจับจ่าย กระตุ้นให้เกิดการผลิตในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างคราวๆ ว่าแท้จริงแล้วภายใต้แนวคิดเสรีนิยมเอง ยังมีแนวคิดที่สนับสนุนให้เกิดการแทรกแซง “กลไกตลาด” ได้ ตามความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความต้องการของผู้คนในสังคม
แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะอ้างแนวคิด ทฤษฎี เสรีนิยมกลไกตลาดสำนักไหนๆ ก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่เคยปลอดจากการถูกแทรกแซงโดยรัฐ และส่วนมากกระทำไปภายใต้การให้ผลประโยชน์จากชนชั้นนายทุน หรือพูดอีกอย่างคือ พวกนายทุน ต้องการการแทรกแซงกลไกตลาดจากรัฐตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่งคั่ง และให้ผลประโยชน์แก่พวกเขา
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เมื่อคราวเกิดวิกฤตปี 40 มีการใช้เงินรัฐจำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท ในการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งที่ล้มละลาย เป็นวงเงินที่มากกว่าจำนำข้าวกว่า 4 เท่าตัว
หรือแม้กระทั่งการดำเนินธุรกิจทั่วๆ ไปในทุกวันนี้ จะมีรัฐเข้าไปแทรกแซงตลอดเวลา ทั้งการให้สิทธิพิเศษทางภาษี การให้สัมปทาน การเก็บและไม่เก็บภาษีประเภทต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป
ดังนั้น การที่รัฐเขาไปแทรกแซง ในระบบเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ก็เท่ากับการไป “บิดเบือนกลไกตลาด” มากบ้างน้อยบ้าง จึงเป็นเรื่องปกติ มันจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว น่ากังวล แต่ประการใด ตราบเท่าที่มันให้ประโยชน์กับพวกนายทุน ขุนศึก และชนชั้นนำด้วยกัน และก็แทบมองไม่เห็นว่ามันมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรหลงเหลืออยู่บ้างที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ
ที่เขียนมาซะยืดยาว มิใช่จะเชียร์ จะสนับสนุนระบบทุนนิยมกลไก ตลาดแต่ประการ เพราะโดยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แบบกลไกตลาด มันก็มีปัญหา มันไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองคนในสังคมได้จริงๆ มันตอบสนองเพียงแต่คนที่มีเงิน เพราะการเอาราคาสินค้าเป็นตัวตั้ง ก็เท่ากับว่าคนที่มีเงินจะได้บริโภคสินค้านั้นๆ ก่อน คนจนๆ แต่ที่เขียนมา เพื่อจะอธิปรายว่า “กลไกตลาด” ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ ที่แตะต้องไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามันมีการแตะต้องแทรกแซงกันมาตลอด มากบ้าง น้อยบ้าง ก็เท่านั้น แต่มันจะไม่เป็นปัญหา ถ้าการแทรกแซงนั้นๆ ให้ประโยชน์กับชนชั้นนำ กับนายทุน