เราต้องประณามการจำคุกครบรอบสามปีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

เราต้องประณามการจำคุกครบรอบสามปีของ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข




การใช้กฏหมาย เผด็จ 112 กับหลายๆ คนในยุคนี้ ขัดต่อหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เราต้องมองว่าทุกคนที่โดนคดีนี้
โดนเพราะคัดค้านเผด็จการและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา และทุกคนที่โดนคดีนี้ไม่เคยใช้ความรุนแรงใดๆ
เพียงแต่วิจารณ์การแทรกแซงการเมือง และการทำลายประชาธิปไตย โดยทหารภายใต้ข้ออ้างว่า “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”

    
เราไม่ควรลืมว่าในขณะที่คนอย่าง สมยศ และ ดาตอร์บีโด ถูกจำคุก ทหารและนักการเมืองมือเปื้อนเลือดลอยนวลเสมอ
และที่แย่ไปอีกด้วยคือ พรรคเพื่อไทยพร้อมจะใช้กฏหมาย 112 ต่อไป
และพร้อมจะนิรโทษกรรมพวกมือเปื้อนเลือดโดยลืมคนอย่าง สมยศ กับ ดา

องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์ออกแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี

องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์ออกแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี

องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์
ออกแถลงการต่อต้านนายพล เอล ซีซี่ “ผู้นำการปฏิวัติซ้อน” ดังนี้



การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การปฏิวัติอียิปต์อยู่ในสภาวะถดถอยและฝ่ายปฏิวัติซ้อนกำลังรุกสู้
มีการกลับมาของรัฐตำรวจ มีการปราบปรามประชาชนด้วยความโหดร้าย
มีการจับกุมและทรมานมวลชนเป็นพัน มีการออกกฎหมายเผด็จการ และ
มีการโจมตีขบวนการแรงงานอิสระ

กระแสปฏิวัติซ้อนมีเป้าหมายในการทำลายขบวนการปฏิวัติผ่านชัยชนะของผู้นำทหารในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้
นี่คือสาเหตุที่องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์
เลือกที่จะไม่บอยคอตการเลือกตั้งในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งๆ ที่
องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์ มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างจาก ฮัมดีน ซาบาไฮ
ผู้แทนของฝ่ายค้านในการเลือกตั้ง

เราจะต้องใช้โอกาสในการเลือกตั้งเพื่อรณรงค์คัดค้านการปฏิวัติซ้อน
และ เปิดโปงความล้าหลังของนายพล เอล ซีซี่ พร้อมกับสร้างขั้วทางการเมืองที่จะเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการภายหลังวันเลือกตั้ง
ข้อเรียกร้องของเรามีดังนี้

1.     
นำฆาตกรของฝ่ายรัฐเผด็จการมูบารักที่เข่นฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล
2.     
ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกกฎหมายเผด็จการที่จำกัดสิทธิในการประท้วง
3.     
นำระบบภาษีก้าวหน้ามาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
และ เพิ่มเงินเดือนให้คนจนในขณะที่จำกัดเงินเดือนของคนรวย
4.     
ทำลายเผด็จการและนำประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมพร้อมกับสิทธิเสรีภาพของขบวนการแรงงานเข้ามาแทนที่
5.     
เสรีภาพจากการพึ่งพามหาอำนาจ
เพื่อเอกราชที่แท้จริง

การปฏิวัติต้องเดินหน้าต่อไป! สดุดีวีรชน!
อำนาจและทรัพยากรสำหรับประชาชน
!

ไว้อาลัย ไม้หนึ่ง ก.กุนที วีรบุรุษประชาธิปไตย

ไว้อาลัย ไม้หนึ่ง
ก.กุนที วีรบุรุษประชาธิปไตย

กองบรรณาธิการ
เลี้ยวซ้าย

การฆ่า ไม้หนึ่ง ก.กุนที
ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อเราทุกคน และเป็นอาชญากรรมต่อประชาธิปไตยไทยด้วย
ไม้หนึ่งต่อต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยา และการทำลายประชาธิปไตยของฝ่ายอำมาตย์มาตลอด
เขาคัดค้านกฏหมายเผด็จการ 112 เขารณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง
และเขาใช้ปากกาเป็นอาวุธ กลอนและบทกวีของเขาคงสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายต้านประชาธิปไตยไม่น้อย



     เมื่อไม่กี่วันนี้ปฏิกูลทางสังคม ในรูปแบบนายเหรียญทอง
แน่นหนา ได้ก่อตั้งองค์กรฟาสซิสต์ที่เรียกตัวเองว่า “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน”
ซึ่งมีเป้าหมายในการล่าแม่มด ทำลายเสรีภาพ กดดันให้คนในครอบครัวเดียวกันทะเลาะกัน
และที่สำคัญคือ ยุให้อันธพาลใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง
วันนี้เขาได้ผลงานชิ้นแรกด้วยศพของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที
     แต่พวกมือเปื้อนเลือดมีมากกว่านี้
เครือข่ายเสื้อเหลือง สลิ่ม ม็อบสุเทพ ทหาร พรรคประชาธิปัตย์ ข้าราชการชั้นสูง
องค์กรที่ “อิสระ” จากกระบวนการประชาธิปไตย นักวิชาการฝ่ายขวา
และแกนนำเอ็นจีโอเหลือง ล้วนแต่สนับสนุนหรือก่อรัฐประหาร
และร่วมสนับสนุนการฆ่าเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย พวกคลั่งความอนุรักษ์นิยมเหล่านี้
เห่าหอนทุกวันว่าต้องใช้กฏหมาย 112 กับฝ่ายประชาธิปไตย
และเพิกเฉยหรือถือหางสนับสนุนม็อบอันธพาลของสุเทพที่ใช้อาวุธปืนอย่างเปิดเผยบนท้องถนน
     เราต้องไม่ยอมให้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ตายฟรีๆ
     พวกต้านประชาธิปไตยต้องการให้เรากลัว
เพราะฝ่ายเขาพร้อมจะฆ่าคนแล้วรู้ว่าตนเองจะลอยนวล
เราต้องข้ามพ้นความกลัวด้วยความสมานฉันท์
     พวกเขาต้องการกดดันให้เรายอม
ถ้าเรายอมให้เผด็จการครองเมือง ไม้หนึ่ง ก.กุนที จะตายฟรีๆ
     พวกเขา และนักวิชาการกับนักเอ็นจีโอบางคน
เสนอว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องประนีประนอมกับเผด็จการ มีการพูดว่าต้อง”ยื่นหมูยื่นแมว”
แต่นั้นคือแนวทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ก็จะตายฟรีๆ
เช่นกัน
     หลายคนคงโกรธแค้นและอยากเอาคืน
เราต้องแก้แค้น แต่ต้องแก้แค้นด้วยการใช้ปัญญา
ไม่ใช่ไปโต้ตอบพวกอันธพาลด้วยความรุนแรง หรือด้วยนิยายเรื่องการจับอาวุธ
อย่าลืมว่าพวกเขาโหดกว่าเราและไม่เคยเคารพเพื่อนมนุษย์
    
การแก้แค้นที่แท้จริงจะมาจากการจัดตั้งมวลชน ให้กล้าสู้ต่อไปในขณะที่ นปช.
และพรรคเพื่อไทยไม่อยากสู้จริง การเน้นการจัดตั้งมวลชนอาจดูไม่น่าตื่นเต้น
แต่เมื่อทำได้จริง พลังมวลชนจะไม่มีใครต้านได้

     ถ้าท่านโกรธแค้นเรื่องการสังหาร ไม้หนึ่ง
ก.กุนที จงรวมตัวกัน ร่วมกันสร้างเครือข่าย ร่วมกันสร้างองค์กร
ร่วมกันสร้างพรรคก้าวหน้า จับมือกับชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานและเกษตรกรรายย่อย
เดินหน้าพร้อมกัน เพื่อกวาดล้างอำมาตย์ให้หมดไป และเพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

หลายคนไม่พอใจที่สหภาพแรงงาน กฟผ. สนับสนุนม็อบสุเทพ และตั้งคำถามว่า “ทำไม?”

หลายคนไม่พอใจที่สหภาพแรงงาน
กฟผ. สนับสนุนม็อบสุเทพ และตั้งคำถามว่า “ทำไม?”

ใจ อึ๊งภากรณ์

     แน่นอนเราต้องไม่พอใจ แต่คำถามต่อมาคือ
ฝ่ายเสื้อแดง หรือฝ่ายประชาธิปไตยลงไปจัดตั้งกรรมาชีพสหภาพแรงงาน
ให้มีการเมืองก้าวหน้าบ้างไหม? หรือปล่อยให้พวกล้าหลังผูกขาดการนำ?
คำตอบคือไม่ค่อยมีใครในขบวนการเสื้อแดงที่สนใจลงไปจัดตั้งร่วมสู้กับสหภาพแรงงาน



     คำอธิบายว่า “ทำไม” กรรมาชีพรัฐวิสาหกิจบางส่วนล้าหลัง
ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนกินเงินเดือนและสวัสดิการสูง
ถ้าเราดูอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาคตะวันออกติดฝั่งทะเลของไทย
เราจะเห็นคนงานที่มีฝีมือและกินเงินเดือนกับสวัสดิการที่ดีพอสมควร
แต่ในกรณีนี้มีนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าไปเคลื่อนไหว
ขบวนการแรงงานในภูมภาคนี้จึงแยกเป็นเหลืองกับแดงที่แข่งกันนำทางการเมือง
     สมศักดิ์ โกศัยสุข และพรรคพวก เช่นศิริชัย
ไม้งาม มีอิทธิพลในบางส่วนของขบวนการแรงงานเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐวิสาหกิจ
รถไฟ การบินไทย และ กฟผ. (ในรูป) แต่ที่เห็นออกมาสนับสนุนพันธมิตรฯกับม็อบสุเทพ
ก็เป็นคนส่วนน้อยของพนักงานทั้งหมด ปัญหาของแกนนำสหภาพแรงงาน กฟผ. เช่น ศิริชัย
ไม้งาม  คือ (๑) ไม่สนใจสร้างผู้แทนสหภาพระดับรากหญ้าในทุกแผนก
ซึ่งผมเคยเสนอ แต่เขาไม่สนใจ เขาจึงไม่สามารถนัดหยุดงานได้เพื่อต้านการแปรรูป (๒)
แกนนำ รวมถึงคนอย่างสมศักดิ์ และศิริชัย ซึ่งไม่เคยนำการนัดหยุดงานเพื่อประโยชน์คนงานได้สำเร็จ
มักหันไปพึ่งผู้บริหาร และในที่สุดไปพึ่งอำมาตย์ แต่อำมาตย์ไม่เคยสนใจปัญหาคนทำงานอย่างจริงจัง
ดังนั้นถ้าฝ่ายประชาธิปไตยลงไปจัดตั้งแข่งกับเสื้อเหลือง คงมีโอกาสในระยะยาว

     การมีเงินเดือนประจำหรือสวัสดิการไม่เคยเป็นเรื่องชี้ขาดว่ากรรมาชีพจะสู้หรือไม่
ตรงกันข้ามมันสะท้อนอำนาจต่อรองที่นำไปสู่การขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการ
และการมีเงินเดือนกับสวัสดิการไม่เคยจำแนกคนว่าเป็นกรรมาชีพหรือไม่
อันนี้เป็นนิยายเก่าที่วนซ้ำทั่วโลก มันอธิบายไม่ได้ว่าทำไมในยุโรปตะวันตก อียิปต์
เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา หรือแม้แต่ในย่านอุตสาหกรรมยานยนต์ฝั่งตะวันออกของไทย
คนงานประเภทกินเงินเดือน ครู แพทย์ คนงานเหมืองแร่ ฯลฯ
นัดหยุดงานและมีสหภาพแรงงานก้าวหน้า ประเด็น กฟผ.
อยู่ที่การเมืองและลักษณะการจัดตั้ง ในมุมกลับเราจะเห็นคนยากจนในสลัมไทย
ที่ถูกจัดตั้งโดยเอ็นจีโอเหลืองด้วย

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

วัฒนะ วรรณ
ไม่มีอะไรเกินคาดการณ์ กกต
ไม่จัดการเลือกตั้ง องค์กรอิสระ จ้องรอฟันรัฐบาลเพื่อไทย ให้พ้นไปจากเส้นทางการเมือง
หาช่อง หาทาง ให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจบริหาร
เพื่อที่จะแต่งตั้งคนของตนเข้ากุมอำนาจรัฐ สิ่งที่รออยู่ตอนนี้ก็มีแค่เวลาเท่านั้น
ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนมากกว่านี้



ในเมื่อเรารู้ เพื่อไทยรู้ นปช รู้
เหตุฉะไหน ฝ่ายประชาธิปไตย ช่างดูเงียบงัน รอวันให้เขารัฐประหารสำเร็จสมบูรณ์
หรือเป็นเพราะเพื่อไทย กำลังพยายามเจรจา
หวังพึ่งอำนาจนำให้ช่วยเหลือ ยอมความกันได้ ตามข่าวคราวที่ออกมาเป็นระยะๆ
หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็เท่ากับยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจ
ที่ไม่อิงอยู่กับประชาธิปไตย หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลเพื่อไทย อาจจะอยู่ได้
องค์กรโครงสร้างอำมาตย์ก็จะอยู่ได้ สังคมไทย ก็แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย

กลไกอำนาจทางการเมืองก็ยังจะถูกควบคุมขัดขวาง
จากโครงการสร้างอำนาจเผด็จการอยู่ร่ำไป แล้วการต่อสู้ที่ผ่านๆมา
ก็ดูเหมือนจะไร้ค่า สูญเปล่า

ข้อสันนิฐานนี้มีความน่าจะเป็นอยู่มาก
เมื่อคิดย้อนกลับไป ตลอดสองปีของรัฐบาลเพื่อไทย
ที่ไม่มีท่าทีจะต่อกรกับโครงสร้างอำนาจเผด็จการเลยแม้แต่น้อย ไม่มีการลดงบประมาณทหาร
ไม่ยอมลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ
ให้มาดำเนินการสอบสวนอาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อประชาชน
ไม่มีความพยายามจะต่อกรกับอำนาจกองทัพ ที่มีส่วนในการรัฐประหาร
โดยการปลดผู้นำกองทัพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบสังหารประชาชน
ที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีความพยายามจะต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวล้ำอำนาจของฝ่ายบริหาร
ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน และฉากสุดท้ายคือการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
อภัยให้กับคนผิดโดยที่ยังไม่มีการไต่สวน รับผิด ลงโทษใดๆ
ทั้งสิ้น

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยทำ และ นปช
ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเพื่อไทย แยกไม่ขาดออกจากกัน มันจึงเป็นภาพที่ช่วยให้เราคาดการณ์
ขณะนี้รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะกระทำเพียงเจรจาต่อรองกับฝ่ายอำมาตย์ เพื่อแบ่งแชร์อำนาจ
และผลประโยชน์ทางการเมืองกันเท่านั้น

การชุมนุมของ นปช ที่ถนนอักษะ ไร้ยุทธศาสตร์ที่จะไปข้างหน้า
เท่ากับเป็นเพียงการระดมมวลชนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ให้กับพรรคเพื่อไทยเพียงเท่านั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า มวลชน คนเสื้อแดง
คนรักประชาธิปไตย ที่ออกมาชุมนุม ในสถานที่ต่างๆ จะไร้เดียงสา
ไม่ตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้ ตรงข้าม มวลชน คนเสื้อแดง คนรักประชาธิปไตย ที่ออกมาชุมนุม
ต่างก็ทราบเงื่อนไขเหล่านี้ดีพอสมควร บางท่าน ก็คิดว่าต้องสามัคคีกับเพื่อไทย นปช
เพื่อต่อสู้กับอำมาตย์ บางท่านก็หมดหวัง คาดหวังให้เกิดการประนีประนอมยอมความกันไป
เพราะต่อสู้มานาน เหนื่อยอ่อน ไม่เห็นอนาคต ที่จะเอาชนะได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

คำถามคือ ถ้าเราประนีประนอมแล้ว
จะเกิดผลเช่นไรต่อสังคมไทย ต่อระบอบประชาธิปไตย ต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ต่อความเท่าเทียมกันทางการเมือง ต่อความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

คำตอบ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
จากการประนีประนอม คุกจะมีไว้ขังคนจน คนไร้อำนาจ อยู่เช่นเดิม การกดขี่ ดูถูก
ดูแคลน คนยากจน คนชนบท จากผู้รากมากดี คนร่ำคนรวยในเมืองจะมีต่อไป
การกระจายงบประมาณรัฐให้ถ้วนทั่ว ไปยังพื้นที่นอกเมืองหลวง
ก็จะหยุดชะงักไม่เกิดขึ้น คุณภาพทางการศึกษา คุณภาพทางสาธารณสุข จะไม่เกิดขึ้น
งบประมาณจำนวนมากจะกระจุกอยู่ในกองทัพ และงานพิธีกรรมต่างๆ
ที่ห่างไกลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น

เพื่อนนักโทษการเมืองทั้งที่ถูกจองจำในคุกตาราง
ทั้งที่ลี้ภัยการเมืองในต่างแดน ก็จะไม่มีวันได้รับความยุติธรรม อิสรภาพ
ทั้งหมดทั้งมวล คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ถ้าหากเรายอมรับการประนีประนอม เราจะไม่เหลือสิ่งใดให้หวัง เราจะถูกกระทำย่ำยี
ที่หนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา เราจะยอมรับ สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่

ถ้ายอมรับไม่ได้ ก็ต้องหันหน้าสู้
ตั้งขบวนกันใหม่ ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แน่นอนแนวทางเพื่อไทย
ร่วมถึง นปช ไม่มีการแสดงออกสิ่งใดๆ ที่จะรุกขึ้นสู้ อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าเราจะพิจาณาในเหตุการณ์เฉพาะหน้า มวลชนที่ยังมีไฟ ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงาม
ควรจะต้องกระทำการบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป้าหมายสองทาง คือ หนึ่ง กดดันเพื่อไทย และ
นปช ให้เดินหน้า และสอง สร้างพลังประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า

หากจะให้บรรลุผลตามที่ว่า
จะต้องมีความพยายาม หาทางร่วมมือกันในหมู่องค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ให้จงได้ ไม่ว่าจะเป็น
สหภาพแรงงานแดง องค์กรชุมชนเสื้อแดง องค์กรอิสระเสื้อแดง คณะนิติราษฎร์
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงปัญญาชนประชาธิปไตยอื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ
หายุทธศาสตร์ร่วมกัน

แน่นอน สิ่งที่พูด สิ่งที่คิด ณ เวลานี้
ดูจะเป็นเรื่องยากมาก หลายองค์กร หลายหน่วยประชาธิปไตย ล้วนมีประเด็น
มียุทธศาสตร์ของตนเอง มีความเหมือน มีความต่าง
ที่ยากเหลือเกินที่จะรวมกันได้เป็นปึกแผ่น ในเร็ววัน แต่ก็คาดหวังว่า
แต่ละกลุ่มแต่ละองค์กร จะบรรจุแนวทางการสร้างขบวนประชาธิปไตยใหม่เอาไว้
ในนโยบายของของกลุ่มตน เพื่อเป็นแนวทางเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย อย่างน้อยๆ
ก็จะช่วยให้เราได้ลองผิดลองถูก ในการแสวงหาแนวร่วมได้ในอนาคต

ถ้าขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก่อรูป
และเติบใหญ่ได้ ก็เท่ากับเป็นการกดดันพรรคเพื่อไทย และ นปช ให้เดินหน้าสู้มากขึ้น
ขยายแนวร่วมมากขึ้น เพื่อจะไม่ให้เสียคะแนนนิยมทางการเมือง


ฉะนั้น การสร้างขบวนการประชาธิปไตยใหม่
จึงมิใช่ให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้รักประชาธิปไตยด้วยกัน แต่กลับเป็นแนวทาง
ผลักดันขบวนการต่างๆ ให้ช่วยกันแสวงหา แนวทางใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ
ในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

การเลือกตั้งในอินเดีย ฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์มาแรง

การเลือกตั้งในอินเดีย  ฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์มาแรง
กองบรรณาธิการเลี้ยวซ้าย


ประชาชนที่รักเสรีภาพและขบวนการฝ่ายซ้ายในอินเดียกำลังกังวลเรื่องชัยชนะของพรรค Bharatiya Janata Party (BJP)
ในการเลือกตั้งรอบปัจจุบัน
     นาเรนดา โมดี ผู้นำพรรค BJP
เป็นหัวหน้าแก๊งค์อันธพาลที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจน
ในความเป็นจริงพวกเขาต้องการจะเปลี่ยนอินเดียให้เป็นรัฐฮินดู
และทำให้ชาวมุสลิมและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นพลเมืองชั้นสอง

     โมดี เป็นสมาชิก Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS)
ซึ่งเป็นองค์กรฟาสซิสต์ภายในพรรค
BJP โมดี
เน้นการรณรงค์ความเป็นเชื้อชาติบริสุทธิของชาวฮินดู
โดยการปลุกระดมชาวฮินดูชาตินิยมจัดทำลาย มัสยิสที่สำคัญของชาวมุสลิม
เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงทั่วทั้งประเทศในช่วง 1990-92


     เมื่อเขาเป็นผู้ว่าราชการ รัฐกุจารัด ในปี
2002 มีการก่อจราจลและไล่ฆ่าชาวมุสลิมคาดว่าตาย 2000 ศพ
พวกอันธพาลบางครั้งนับเป็นพัน ถือดาป ระเบิด และ ถังก๊าช เพื่อจัดการกับชาวมุสลิม
องค์กรสิทธิมนุษยชน
Human Rights Watch รายงานว่าพวกม๊อบอันธพาลเหล่านี้
ได้รับการประสานงานช่วยเหลือจากตำรวจและองค์กรบริหารของรัฐกุจารัด
แต่ปรากฎว่าไม่มีใครถูกลงโทษ
     ความล้มเหลวของพรรคคองเกรส
ซึ่งปกครองอินเดียมาตั้งแต่ปี 2004 และหลายช่วงก่อนหน้านั้น
พร้อมกับความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย ทำให้ประชาชนหันไปเลือกพรรค
BJP
พรรคคองเกรสเคยสัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีการลดความเหลื่อมล้ำ
แต่ในไม่ช้ามันกลายเป็นสัญญาจอมปลอม
ตอนเศรษฐกิจขยายตัวและตอนที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคนจนก็จนลงเรื่อยๆ
และไม่มีใครคิดว่าพรรคคองเกรสจะมาช่วยเขา
      ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มีมวลชนเป็นล้านเมื่อพรรคนำการนัดหยุดงานและการยึดที่ดินให้เกษตรทำกิน
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2007 พรรคคอมมิวนิสต์หันไปสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ประโยชน์กับนายทุนและคนรวย
ผลคือเสียงสนับสนุนในรัฐเคราลาและรัฐเบงกอลตะวันตกสูญหายไป
     ในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนงานมุสลิมและคนฮินดูสามัคคีกัน
ซึ่งกีดกันไม่ให้องค์กรฟาสซิสต์
RSS เข้ามามีอิทธิพล แต่ในยุคนี้หลายกลุ่มหลายองค์กรกำลังฉวยโอกาสกับความอ่อนแอของพรรคคอมมิวนิสต์
     เมื่อไม่นานมานี้นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของอินเดียหลายคนได้เขียนจดหมายเปิดผนึก
เพื่อเตือนประชาชนว่าชัยชนะของ
BJP จะนำไปสู่โศกนาฎกรรม
     ในรัฐกุจารัด รัฐบาลท้องถิ่นของพรรค BJP ภายใต้โมดี
ใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อเอาใจนักลงทุน
นี่คือสาเหตุที่นายทุนใหญ่หันไปชื่นชมพรรค
BJP ในช่วงนี้
ทั้งนายทุนใหญ่อินเดียและรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะลดภาษีให้กลุ่มทุนและเปิดโอกาสให้มีการลงทุนจากภายนอกประเทศ

     ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในอินเดียคนรวยของประเทศจะได้รัฐบาลที่ปกป้องผลประโยชน์ของเขา 

ผลของอาหรับสปริงกับการสร้างประชาธิปไตย

 ผลของอาหรับสปริงกับการสร้างประชาธิปไตย






กลุ่มศึกษาเลี้ยวซ้าย 16 เมษา พิจารณาผลการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง โดยเปรียบเทียบแนวมวลชนที่ทำแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในอียิปต์และตูนีเซีย กับแนวจับอาวุธที่เปิดช่องให้จักรวรรดินิยมทุกฝ่ายแทรกแซงในลิบเบียและซิเรีย ซึ่งส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองและเบี่ยงเบนการต่อสู้ ท้ายสุดมีการพิจารณาว่าที่อียิปต์หลังจากที่ทหารยึดอำนาจ แนวทางประชาธิปไตยยังมีอนาคตหรือไม่ เชิญดูวิดีโอ และในอนาคตเชิญเข้าร่วมกลุ่มศึกษาอื่นด้วย ถ้าสนใจแนวทางเราเชิญสมัครเป็นสมาชิกเลี้ยวซ้าย เพื่อร่วมสร้างองค์กรสังคมนิยมในไทย




กฏหมาย 112 เป็นผ้าดำที่ทำลายการใช้ปัญญา

กฏหมาย 112 เป็นผ้าดำที่ทำลายการใช้ปัญญา
ใจ อึ๊งภากรณ์
ปัญหาของกฏหมาย 112
ถูกเปิดโปงอีกครั้งผ่านกรณีคำพูดของ โกตี๋ ในคลิปวิดีโอช่อง
VICE เพราะการใช้ 112 ในสังคมกลายเป็นการระงับการพูดคุย เขียนวิเคราะห์ หรือแลกเปลี่ยน
เกี่ยวกับวิกฤตทางการเมืองของไทย


    
ความคิดหรือมุมมองของ โกตี๋ คงจะเป็นมุมมองของคนไทยไม่น้อย
เพราะเมื่อมีการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทหารมีการผูกโบสีเหลือง
และถ่ายภาพในพระราชวัง แถมชื่อของคณะทหารเผด็จการก็เอ่ยถึงประมุข
และเราก็ทราบดีว่าทหารเผด็จการ พันธมิตรฯ ม็อบสุเทพ และพวกที่ต้องการทำลายประชาธิปไตยในอดีตและปัจจุบัน
มักจะอ้างว่าตนเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสถาบัน
    
ในความเห็นของผม โกตี๋ เขาวิเคราะห์ผิด
ศัตรูหลักของนักประชาธิปไตยคือกองทัพ ข้าราชการชั้นสูง นายทุนใหญ่
และชนชั้นกลางปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี เอ็นจีโอ หรือนักการเมืองประชาธิปัตย์
แต่ในเมื่อกฏหมาย 112 นำผ้าดำมาครอบสังคมไทย การใช้เหตุผลเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับกลุ่มอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตย
แปรไปเป็นการแอบฟังข่าวลือ และเชื่อในเรื่องลึกๆ ลับๆ
    
ล่าสุดสภาทนายความออกมาพูดแบบปัญญาอ่อนว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฏหมาย 112
ของ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เป็นการ “หมิ่นเบื้องสูง” การเสนอแบบนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก
มันสอดคล้องกับศาลรัฐธรรมนูญที่มองแบบผิดๆ ว่ารัฐสภา “ไม่มีสิทธิ์”
แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ สว. ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง สรุปแล้วพวกไดโนเสาร์เหล่านี้มองว่าพลเมืองไทยไม่มีสิทธิ์ปฏิรูปอะไรเลยเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย
    
การกล่าวอ้อมๆ ถึงอำนาจเบ็ดเสร็จที่หลายคนพูดว่าอยู่เหนือเรา เป็นผลจากกฏหมาย
112 และที่สำคัญคือ มีประโยชน์กับทั้งฝ่ายอำมาตย์ และฝ่ายเพื่อไทย
    
สำหรับกองทัพ ข้าราชการชั้นสูง นายทุนใหญ่ และชนชั้นกลางปฏิกิริยา
การเสนอเรื่องนี้ กลายเป็นเงื่อนไขในการที่เขาจะอ้างความชอบธรรมจากเบื้องบน โดยที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบความจริงได้เลย
และยังเป็นวิธีสำคัญที่หวังจะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหดหู่และสรุปว่าคง “สู้ไม่ได้”
    
สำหรับเพื่อไทย ความคิดเรื่องอำนาจเบ็ดเสร็จที่อยู่เหนือเรา
กลายเป็นข้ออ้างในการปรองดองประนีประนอมกับฝ่ายอำมาตย์บนซากศพวีรชน
นี่คือสาเหตุที่ยิ่งลักษณ์อยากดำเนินเรื่องกับ โกตี๋ อีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อ “พิสูจน์”
ว่าทักษิณไม่ใช่ฝ่ายล้มเจ้าอย่างที่พวกเสื้อเหลืองกล่าวหา
แต่ทักษิณมีมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์เหมือน ผบทบ. และฝ่ายอำมาตย์อื่นๆ

    
ถ้าเราไม่ยกเลิกกฏหมาย 112
สังคมไทยจะจมอยู่ในความโง่เขลาไร้ปัญญาของเผด็จการ

เสื้อแดงต้องปกป้องประชาธิปไตย และต้องเดินหน้าพัฒนาเสรีภาพด้วย

เสื้อแดงต้องปกป้องประชาธิปไตย
และต้องเดินหน้าพัฒนาเสรีภาพด้วย
ใจ อึ๊งภากรณ์
การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการปกป้องประชาธิปไตยจากอำนาจเถื่อน
ซึ่งประกอบไปด้วยม็อบสุเทพ ตุลาการเอียงข้าง องค์กร “อิสระจากกระบวนการประชาธิปไตย”
กองทัพบก ฝูงอธิการบดีรักเผด็จการ และเอ็นจีโอที่ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
เพราะถ้าปล่อยให้ฝ่ายปฏิกิริยาชุมนุมอยู่ฝ่ายเดียว ก็เหมือนว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีพลังและไม่มีเสียง
การปักธงของเสื้อแดงว่า ถ้ามีการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
หรือล้มระบบการเลือกตั้งและนำระบบแต่งตั้งของอำมาตย์เข้ามาแทนที่
ประชาชนจำนวนมากจะไม่ยอมรับ สำคัญมากแต่ไม่เพียงพอ

     เราต้องไม่นิ่งนอนใจ
และต้องระวังการนำจากพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เราต้องระวังการที่เขาจะพาเราไปยอมจำนนเพื่อประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม
เพราะถ้ามวลชนเสื้อแดงไม่จัดตั้งอิสระและนำตนเอง พอถึงจุดแตกหัก
แกนนำก็จะเป่าหูและโฆษณาว่าต้องถอยคนละก้าวเพื่อความสงบ อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยแสดงธาตุแท้ไปแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อเสนอกฏหมายนิรโทษกรรม ที่ยกโทษให้ทหารและผู้นำประชาธิปัตย์มือเปื้อนเลือด
และหวังนำทักษิณกลับบ้านบนซากศพวีรชนเสื้อแดง แถมยังเสนอไม่ให้ปล่อยนักโทษการเมือง
โดยเฉพาะนักโทษ 112 ดังนั้นเราไว้ใจพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลย และไว้ใจแกนนำ นปช.
ว่าจะไม่คล้อยตามพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เช่นกัน
    
ยิ่งกว่านี้มวลชนเสื้อแดงต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างเป็นรูปธรรม
ว่าถ้าฝ่ายตรงข้ามล้มรัฐบาลและระบบเลือกตั้ง เราจะเคลื่อนไหวอย่างไร
เราจะชุมนุมอย่างไร เราจะส่งเสริมการหยุดงานทั่วประเทศอย่างไร ไม่ใช่มาพูด “โชว์ความแมน”
ด้วยคำพูดไร้สาระเรื่องการจับอาวุธหรือการแบ่งแยกประเทศ และไม่ใช่พูดแบบนามธรรมที่ไม่มีรายละเอียดอย่างที่แกนนำ
นปช. ทำอยู่ในปัจจุบัน

    
ทุกวันนี้พลเมืองไทยไม่ได้มีแค่สองทางเลือกระหว่างอำมาตย์กับเพื่อไทย
เราต้องกล้าเลือกแนวทางที่พัฒนาประชาธิปไตยไปถึงขั้นสูงกว่านี้
เราต้องปกป้องประชาธิปไตยที่เคยมี แต่ในขณะเดียวกันต้องผลักดันการปฏิรูป ที่ยกเลิกองค์กรอิสระ
ลงโทษอาชญากรของรัฐโดยเฉพาะทหาร และสร้างสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง
การถอยคนละก้าวเพื่อปรองดองกับพวกที่ไม่เคารพประชาธิปไตย
เป็นเพียงเส้นทางที่จะนำไปสู่การหดตัวของพื้นที่เสรีภาพ