วัฏจักรความขัดแย้งทางชนชั้น
ใจ อึ๊งภากรณ์
ถ้ามองวิกฤตการเมืองปัจจุบัน เราต้องมองภาพรวมของการต่อสู้ระหว่างพลเมืองกับชนชั้นปกครองเผด็จการ ตั้งแต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ผ่านการปราบปรามนองเลือด ๖ ตุลา ผ่านการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการล้มเผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน
ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป เผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร ถูกโค่นล้มไป สามทรราชนี้ต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนผู้ไร้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ
รัฐบาลเผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นรัฐบาลอำมาตย์ที่รับมรดกอำนาจจากจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์
สฤษดิ์ เป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นสถานภาพของสถาบันกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นอกจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ จะรับมรดกอำนาจเผด็จการจาก สฤษดิ์ แล้ว ยังรับมรดกวิธีโกงกินชาติบ้านเมืองจากครูใหญ่คนนั้นอีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ทหารเข้ามากินบ้านกินเมืองยกใหญ่
ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลานักศึกษานำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน มีนักศึกษาถือรูปกษัตริย์และราชินีนำหน้า ซึ่งแสดงว่านักศึกษาพวกนี้ยังต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดี แต่นั้นก็ไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนของทหารได้
ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราควรปฏิเสธนิยาย 2 ข้อคือ
- นิยายที่เสนอว่าประชาชน “ถูกหลอกมาเดินขบวน” เพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งนอกจากจะดูถูกวุฒิภาวะของนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังเป็นนิยายที่เหมือนกับคำพูดของเสื้อเหลือง หรือเอ็นจีโอ ที่มองว่าคนเสื้อแดงโง่และถูกทักษิณหลอกมาตายที่ราชประสงค์ ความคิดแบบนี้ชวนให้เราเลิกสู้ มันเป็นนิยายที่หวังทำลายขบวนการประชาชน
- นิยายที่เสนอว่าเผด็จการทหารถูกล้มเพราะนายทหารชั้นสูงขัดกันเองเท่านั้น ซึ่งพยายามมองแต่บทบาทของผู้ใหญ่และตาบอดถึงบทบาทหลักของประชาชนหรือมวลชนในการเปลี่ยนสังคม มันเป็นมุมมองที่เชียร์อภิสิทธิ์ชน และไม่มองภาพรวม
ข้อผิดพลาดของฝ่ายขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วง ๑๔ ตุลา เป็นความผิดพลาดที่เราควรยกโทษให้ เพราะขบวนการนี้กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองย้อนกลับไปสรุปได้ว่าขบวนการประชาชนในยุคนั้นควรจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐเอง หลังจากที่โค่นเผด็จการ ไม่ใช่นิ่งเฉยท่ามกลางความสับสน หรือไปมอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้อำมาตย์ วิธีหนึ่งที่ขบวนการประชาชนจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐ คือการสร้างพรรคมวลชนในเมืองที่เชื่อมกับกรรมาชีพ
ในยุคนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พยายามสร้างพรรคมวลชน เพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านการสร้างกองกำลังติดอาวุธ ตามแบบของ เหมา เจ๋อ ตุง ในจีน พคท. เชื่อว่าจะต้องยึดชนบทก่อนแล้วค่อยล้อมเมือง ดังนั้นพรรคไม่ได้เข้าไปจัดตั้งและให้ความสนใจกับการต่อสู้ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับชัยชนะในวันที่ ๑๔ ตุลาเลย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหาศาล
เราจะเห็นว่าพลังมวลชนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าเราจะล้มเผด็จการได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดตั้งเป็นพรรค พลังมวลชนจะกระจายหายไป ไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ และอำมาตย์ก็สามารถฟื้นตัวเพื่ออยู่ต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอ แต่การมีพรรคก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร ถ้าพรรคเสนอแนวทางที่ผิดพลาด และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องแนวทาง
ทั้งๆ ที่ พคท. เข้ามามีอิทธิพลมากมายในขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง ๑๔ ตุลา แต่ พคท. ก็ไม่ได้สนใจที่จะสู้กับอำมาตย์ในเมือง ปล่อยให้ขบวนการถูกปราบไปในเหตุการณ์นองเลือดวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และเมื่อนักศึกษาและประชาชนเข้าป่าไปร่วมกับพคท. ก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำตนเอง ใช้วิธีเผด็จการของพรรคปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทาง และไม่มีการสนับสนุนการศึกษาทางการเมืองนอกจากการท่องหนังสือของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหดหู่ไม่เข้าใจเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หันมาจับมือกับอำมาตย์ไทย นอกจากนี้ไม่มีการวางแผนเพื่อสู้ในเมืองเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้อำมาตย์ไทย ภายใต้แนวคิดของ เปรม ติณสูลานนท์ สามารถใช้การเมืองนำทหารดึงนักศึกษาออกจากป่าได้ จนพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย
ความสำเร็จของ เปรม ในการปรองดองหลัง ๖ ตุลา มาจากสองสาเหตุหลักคือ การล่มสลายของ พคท. และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทยหลายปี ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับชีวิตตนเอง
สภาพสันติภาพในสังคมไทย อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อทหารเผด็จการ สุจินดา คราประยูร ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๔ เนื่องจากกังวลว่าทหารกำลังเสียอำนาจต่อพรรคการเมืองพลเรือน ก็เกิดความไม่พอใจในสังคม ในที่สุดมีการลุกฮือของพลเมืองเพื่อฝ่ากระสุนทหาร และล้มเผด็จการสุจินดา แกนนำรากหญ้าในการต่อสู้ครั้งนี้ มาจากอดีตนักกิจกรรมช่วง ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา แต่แกนนำคนรุ่นใหม่ก็มี ซึ่งพวกนี้ก็พัฒนาตนเองไปเป็นแกนนำเสื้อแดงในอนาคต หรือถอยหลังไปเป็นฟาสซิสต์ที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯเสื้อเหลือง
ข้อแตกต่างระหว่างการลุกฮือในช่วงพฤษภาคม ๓๕ กับการต่อสู้ช่วง ๑๔ ตุลา คือการที่ประชาชนขาดพรรคมวลชน พรรคการเมืองกระแสหลัก และพวกปัญญาชนอนุรักษ์นิยม จึงสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการล้มทหารในปี ๒๕๓๕ โดยไม่มีกระแสความคิดที่เน้นประโยชน์กรรมาชีพคนทำงาน เกษตรกรรายย่อย และคนจนแต่อย่างใด
เพียงสี่ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็เข้าสู่วิกฤตหนัก ซึ่งในที่สุดเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงพลเมืองส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม นั้นคือเงื่อนไขใหม่ในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมกับประชาชน