การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เป็นตัวอย่างสำคัญของความพยายามในการยึดอำนาจรัฐเพื่อสร้างสังคมนิยม เราสามารถเรียนบทเรียนอะไรจากเหตุการณ์นี้ได้
สภาพสังคมรัสเซีย และลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การปฏิวัติ
รัสเซียสมัยนั้นปกครองโดยเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ แต่ทั้งๆ ที่หลายส่วนของสังคมมีสภาพที่ตกค้างจากระบบฟิวเดิลก่อนทุนนิยม รัสเซียถูกลากเข้าไปในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้ว ลีออน ตรอทสกี้ นักมาร์คซิสต์รัสเซียเรียกสภาพเช่นนี้ว่าเป็น “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” องค์รวมเพราะมีสภาพร่วมกับสังคมทุนนิยมอื่นๆ ในประเทศที่พัฒนา แต่ต่างระดับเพราะบางส่วนของสังคมรัสเซียล้าหลังมาก โดยเฉพาะสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชนบท
แต่ในเมืองเพทโทรกราด(Petrograd) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ใกล้พรมแดนกับฟินแลนด์ มีโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งจ้างคนงานหลายพันคน ในขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไปในสหรัฐมีคนงานแค่หลักร้อย โรงงานที่ทันสมัยที่สุดในรัสเซียก้าวหน้ากว่าของสหรัฐ แต่โดยรวมแล้วสหรัฐอเมริกาพัฒนาไปไกลกว่ารัสเซีย เราจะเห็นความขัดแย้งแบบนี้ในระบบทุนนิยมทุกวันนี้ด้วย
สภาพเช่นนี้ของรัสเซียมีผลต่อภารกิจของชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคม เพราะทั้งๆ ที่เขาเป็นคนส่วนน้อย แต่เขาทำงานในแผนกเศรษฐกิจที่ทันสมัยที่สุดและสร้างมูลค่ามหาศาล ยิ่งกว่านั้นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ มีฐานะทางชนชั้นเป็นนายทุนน้อยยากจนที่แข่งขันกันเอง ในการผลิตและขายสินค้า
ดังนั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อการยึดระบบการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และต้องนำการปฏิวัติด้วยความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่มาจากการศึกษาและการทำงานในระบบอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพต้องดึงเกษตรกรรายย่อยมาเป็นแนวร่วม และต้องพิสูจน์ให้เกษตรกรเห็นว่าสังคมนิยมจะเป็นประโยชน์กับเขา
ความก้าวหน้าทันสมัยของลัทธิการเมืองมาร์คซิสต์ในหมู่กรรมาชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับลัทธิการเมืองของเกษตรกรที่อยากเปลี่ยนสังคม เห็นได้จากความแตกต่างในเป้าหมายและยุทธวิธี ลัทธิการเมืองของเกษตรกรเน้นการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่เกษตรกรแต่ละครอบครัวมีที่ดินทำกินของตนเอง วิธีที่จะไปสู่เป้าหมายคือการลอบฆ่านักการเมืองหรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งมีผลในการถูกปราบปรามเท่านั้น ส่วนนักมาร์คซิสต์ต้องการสร้างสังคมสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้คนส่วนใหญ่ร่วมกันปกครองตนเอง และตั้งเป้าหมายในการยึดอำนาจรัฐโดยมวลชน
ในปี 1905 ภายหลังจากที่รัสเซียพ่ายแพ้สงครามแย่งชิงอำนาจกับญี่ปุ่น มีการพยายามปฏิวัติของกรรมาชีพท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา การประท้วงตอนแรกนำโดยหลวงพ่อกาปอนมีการชูรูปเจ้าเพื่อขอความเมตตาจากกษัตริย์ซาร์ แต่ซาร์โต้ตอบด้วยกระสุนและความตาย ซึ่งสร้างกระแสการปฏิวัติท่ามกลางความโกรธแค้น
ในยุคนั้นกรรมาชีพก่อตั้งสภาคนงานเป็นครั้งแรกในเมืองเพทโทรกราด ซึ่งเรียกว่า Soviets(โซเวียต) เพื่อประสานงานการปฏิวัติ นับว่าเป็นการคิดค้นรูปแบบสภาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยม เพราะควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน เนื่องจากสถานที่ทำงานทุกแห่งมีสภาคนงาน นอกจากนี้มีระบบตรวจสอบถอดถอนผู้แทนตลอดเวลา แต่การปฏิวัติครั้งนี้ถูกปราบซึ่งทำให้มีการเรียนบทเรียนในการต่อสู้สำหรับอนาคต
ในปี 1914 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส รบกับ เยอรมัน เพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมในโลก พรรคสังคมนิยมทั้งหลายในยุโรปที่เคยมีจุดยืนต้านสงคราม กลับยอมจำนนต่อแนวชาตินิยมและสนับสนุนสงครามในประเทศของตนเองข้อยกเว้นคือพรรคบอลเชวิค(Bolshevik)ในรัสเซีย และนักต่อสู้มาร์คซิสต์อย่างตรอทสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค คาร์ล ไลปนิค กับ จอห์น มะเคลน ในประเทศรัสเซีย เยอรมัน และอังกฤษ
พอถึงกุมภาพันธ์ปี 1917 สงครามยืดเยื้อ ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะและประชาชนยากลำบากจนทนไม่ไหว มีการเดินขบวนของกรรมกรหญิงในรัสเซียเพื่อประท้วงปัญหาปากท้อง ซึ่งเกิดขึ้นในวันสตรีสากลแต่ถูกทหารยิงล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ในไม่ช้าทหารชั้นล่างรับไม่ได้ เลยหันปืนใส่ผู้บังคับบัญชา ในที่สุดมีการล้มรัฐบาลของกษัตริย์พระเจ้าซาร์ สหภาพรถไฟไม่ยอมเดินรถไฟให้ทหารฝ่ายซาร์เคลื่อนไหว มีการลุกฮือจากมวลชนซึ่งไม่มีการวางแผนล่วงหน้า แต่นักสังคมนิยมที่มีประสบการณ์ยาวนานในการเคลื่อนไหวต่อสู้และการจัดตั้งมีส่วนร่วมและบ่อยครั้งเป็นแกนนำ มีการตั้งสภา Soviets เป็นครั้งที่สองในเมืองต่างๆ ซึ่งในครั้งนั้นกลายเป็น สภา Soviets สามประเภทคือ สภาคนงาน สภาทหารเกณฑ์ และสภาเกษตรกรรายย่อย สองสภาหลังส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยคนชนบท
ในขั้นตอนแรกนักการเมืองพรรคนายทุน(พวก Cadets) ฉวยโอกาสเข้ามาตั้งรัฐบาลแทนรัฐบาลซาร์เพราะฝ่ายกรรมาชีพและเกษตรกรไม่ได้มีแผนล่วงหน้าในการยึดอำนาจและขาดความมั่นใจ ในที่สุดพรรค Cadets สร้างความไม่พอใจเป็นอันมากเพราะจริงๆ แล้วไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไร และไม่ต้องการยุติสงคราม จึงมีการแต่งตั้งนายก Kerensky ที่ได้รับการสนับสนุนโดย พรรคสังคมนิยมต่างๆ เช่น พรรคเมนเชวิค (Menshevik) พรรคปฏิวัติสังคมของเกษตรกร และ บอลเชวิคซีกขวา รัฐบาลใหม่นี้เรียกว่า “รัฐบาลชั่วคราว” ก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
เมื่อถึงเดือนเมษายน 1917 เลนินนั่งรถไฟถึงเมืองเพทโทรกราดพอลงจากรถไฟเลนินประกาศว่า “รัฐบาลชั่วคราวจงพินาศ! สภา Soviets ต้องยึดอำนาจ!” บอลเชวิคซีกขวา เช่น สตาลิน คาเมเนียฟ ซีโนเวียฟ มองว่าเลนิน “บ้า” แต่เลนินกำลังเสนอว่ากรรมาชีพจะต้องปฏิวัติถาวรไปสู่สังคมนิยม ไม่ใช่ปล่อยให้ระบบทุนนิยมและสงครามป่าเถื่อนดำรงอยู่ต่อไป และเลนินได้รับการสนับสนุนจากมวลชนจำนวนมาก
“วิทยานิพนธ์เดือนเมษายน 1917” ของเลนิน เสนอว่าต้องปฏิวัติถาวรสู่สังคมนิยม ไม่ใช่ชะลอขั้นตอนไว้ที่ “ทุนนิยมประชาธิปไตย” แนวคิดนี้สอดคล้องกับทฤษฏีปฏิวัติถาวรของตรอทสกี้ที่เขียนไว้ในปี 1906 และ ข้อเสนอของคาร์ล มาร์คซ์ ก่อนหน้านั้นในปี 1848
“วิทยานิพนธ์เดือนเมษายน 1917” ของเลนิน เป็นบทความสำคัญที่ถูกปกปิดในไทยโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อสี่สิบปีก่อน เพราะตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์กำลังเสนอนโยบาย “สองขั้นตอนของการปฏิวัติไทย” คือการหยุดในขั้นตอนทุนนิยม และพรรคกำลังพยายามทำแนวร่วมกับนายทุน “ก้าวหน้า” และ “ผู้รักชาติทั้งหลาย” นโยบายแบบนี้ยังถูกสะท้อนในการนำของแกนนำ นปช. ที่เป็นแต่กองเชียร์ให้กับทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกวันนี้
การปฏิวัติสองขั้นตอน ที่ชะลอไว้ที่ขั้นตอน “ทุนนิยมประชาธิปไตย” หมดสมัยและความก้าวหน้าไปทั่วโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1848 ในสมัยนี้ไทยไม่ใช่กึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม แต่เป็นทุนนิยมเต็มตัวไปนาน ถ้าจะสร้างรัฐไทยใหม่ต้องก้าวสู่สังคมนิยม ไม่เช่นนั้นก็จะถอยหลัง
รัฐบาลชั่วคราวของ Kerensky เลือกที่จะทำสงครามจักรวรรดินิยมกับเยอรมันต่อไป ประชาชนล้มตายเป็นหมื่น ทหารยิ่งไม่พอใจ พรรคบอลเชวิค จึงชูคำขวัญ “ขนมปัง ที่ดิน และสันติภาพ” ซึ่งสอดคล้องกับกระแสคิดของประชาชน ทหาร และกรรมาชีพ ในไม่ช้าเกิดสภาพ “อำนาจคู่ขนาน” คืออำนาจสภา Soviets (สามสภา ทหาร เกษตรกร และคนงาน) คานกับอำนาจรัฐบาลชั่วคราวของพวกที่สนับสนุนทุนนิยมและสงคราม
กลางปี 1917 ในเดือนกรกฎาคม มวลชนลุกฮือในเมืองเพทโทรกราด แต่พรรคบอลเชวิคสามารถยับยั้งไว้ก่อนเพราะที่อื่นทั่วประเทศยังไม่พร้อม พรรคเกรงว่าจะถูกปราบ อย่างไรก็ตามฝ่ายขวาพยายามฉวยโอกาสทำรัฐประหาร นำโดยนายพล คอร์นิลอฟ(Kornilov) ดังนั้นพรรคบอลเชวิคเลิกสู้กับรัฐบาลชั่วคราวก่อน และ “วางปืนบนไหล่” รัฐบาลชั่วคราว เพื่อสู้กับนายพลคอร์นิลอฟ สหภาพแรงงานรถไฟปิดทางรถไฟไม่ให้ทหารของคอร์นิลอฟผ่านอีกครั้ง ในที่สุดฝ่ายประชาชนเอาชนะรัฐประหารได้ เหตุการณ์นี้พิสูจน์ให้คนจำนวนมากเห็นว่าพรรคบอลเชวิคพูดจริงทำจริง และ Kerensky หมดความชอบธรรม เพราะไร้ปัญญาที่จะสู้
ต่อมาปลายๆ เดือนตุลาคม สามสภา Soviet เปลี่ยนผู้แทน ในสภากรรมาชีพและสภาทหารพรรคบอลเชวิคได้เสียงข้างมาก ในสภาเกษตรกรพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งเป็นแนวร่วมของบอลเชวิค ก็ได้เสียงส่วนใหญ่ มีการลงคะแนนเสียงในทั้งสามสภาให้ยึดอำนาจรัฐผู้นำพรรคบอลเชวิค เลนิน นำนโยบายของพรรคปฏิวัติสังคมของเกษตรกร มาเสนอทั้งหมดเพื่อปฏิรูปชนบท ฝ่ายปฏิวัติส่งกองกำลังไปปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่เคยทำอะไร การปฏิวัติรอบนี้เป็นการก้าวไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม และเกือบจะไม่มีการนองเลือดเลย เพราะประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน
เลนินประกาศในสภา Soviet ว่า “เราจะเดินหน้าสู่การสร้างสังคมนิยม” ซึ่งมีนโยบายสำคัญเฉพาะหน้าคือ
• เลิกสงครามทันที
• ใช้การทูตแบบใหม่ ในลักษณะสากลนิยมและชนชั้นนิยม คือทำแนวร่วมกับกรรมาชีพเยอรมัน ต่อต้านนายพลเยอรมัน มีการเจรจาในลักษณะเปิดเผยโปร่งใส ไม่มีเจรจาลับ
• สร้างรูปแบบประชาธิปไตยใหม่โดยสภา Soviets และในภาคเศรษฐกิจกรรมาชีพคุมการผลิต ไม่มีนายทุนและนายจ้าง
• เสรีภาพสำหรับสตรี สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในโลกสำหรับสตรีธรรมดา มีโรงอาหาร โรงซักผ้า โรงเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระงานบ้านของสตรีภายในครอบครัว สตรีมีสิทธิ์ทำแท้ง และสามารถแต่งงานและหย่าอย่างง่ายๆ ไม่ใช่ถูกชายควบคุม
• มีเสรีภาพทางศาสนาเป็นครั้งแรก เพราะรัฐบาลกษัตริย์เคยระบุว่าทุกคนต้องเป็นคริสต์แบบรัสเซีย ทุกคนมีสิทธิ์นับถือหรือไม่นับถือศาสนา มันกลายเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐไม่เกี่ยวข้อง
• มีความสร้างสรรค์ทางศิลปะ วัฒนธรรม การศึกษา เกิดขึ้นในบรรยากาศเสรีภาพของการปฏิวัติ
• มีการจัดที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ เช่น การอยู่ร่วมกันหลายคนหลายครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบ้าน
• เกษตรกรยึดที่ดิน โดยไม่ต้องรอการออกคำสั่งจากรัฐบาล รากหญ้าปฏิวัติเอง
• ประกาศเสรีภาพสำหรับประเทศเล็กๆ ในอดีตอาณานิคมของรัสเซียทันที
แต่ฝ่ายทุนนิยมไม่ได้นิ่งนอนใจ เกิดสงครามกลางเมือง เพราะกองทัพตะวันตก 14 กองทัพบุกรัสเซีย พร้อมพวกฟาสซิสต์ และพรรคการเมือง Cadet พรรคเมนเชวิค และซีกขวาของพรรคปฏิวัติสังคม จับอาวุธค้านการปฏิวัติสังคมนิยม วิธีต่อสู้ของกองทัพแดง ที่อาศัยการเมืองนำการทหารและนำโดยตรอทสกี ได้รับชัยชนะในที่สุด และมีการปกป้องคนกลุ่มน้อยที่เคยถูกระบบเผด็จการซาร์กดขี่ เช่น คนยิว และชาวอิสลามทางตะวันออก เป็นต้น