อย่ามาพูดว่า นปช. สู้ไม่ได้ ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

มีหลายคนพูดว่า แกนนำ นปช. ไม่สามารถนำการต่อสู้กับเผด็จการในช่วงนี้ได้ ดังนั้นเราจึงต้องไปฝากความหวังกับ “เสรีไทย” ภายนอกประเทศ เพื่อให้ไปล็อบบี้องค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศ

แต่ถ้าเราจะล้มเผด็จการ การเคลื่อนไหวภายในประเทศเป็นเรื่องชี้ขาด

นี่คือบทเรียนจากประเทศไทย และนานาประเทศในเอเชีย และลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ หรือ อาเจนทีนา และการล้มเผด็จการในไทยยุค ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา๓๕ ล้วนแต่มาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ภายในประเทศ การกดดันอำมาตย์ไทยให้เริ่มเปิดเสรีหลัง ๖ ตุลา ก็มาจากการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆ ที่การต่อสู้นี้จบลงด้วยการล่มสลายของพรรค

สหรัฐอเมริกา หรือ อียู อาจแสดงจุดยืนต้านเผด็จการไทย แต่ในรูปธรรมเขาจะไม่ทำอะไรมาก และเรื่องที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเหล่านั้นคือผลประโยชน์ระหว่างประเทศ เวลาเขาคิดถึงไทย การคานอำนาจจีนเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลตะวันตกคงจะไม่ไล่รัฐบาลไทยไปกอดคอกับจีนฝ่ายเดียว คงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับไทยทั้งๆ ที่เป็นเผด็จการ ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลเหล่านี้ก็มีประวัติในการผูกมิตรกับเผด็จการทั่วโลกอยู่แล้ว เช่นเผด็จการซุฮาร์โต้ในอินโดนีเซีย หรือซาอุ ส่วนสหประชาชาตินั้น ก็เป็นแค่เครื่องมือของมหาอำนาจ แถมเป็นเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพอีกด้วย

การล็อบบี้ต้านเผด็จการภายนอกประเทศไทยมีประโยชน์ในการชูประเด็น แต่เรื่องหลักคือเราจะสู้ภายในประเทศไทยอย่างไร

ในอดีตนักประชาธิปไตยไทยก็สู้กับเผด็จการโหดร้ายป่าเถื่อนกว่าเผด็จการยุคนี้ เขาใช้วิธีใต้ดิน มีการจัดตั้งลับ มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เมื่อมีโอกาส และมีการจับอาวุธ แต่การจับอาวุธไม่มีประโยชน์กับเราในวันนี้ เพราะฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธเหนือเรา และจะทำให้เราเสียการเมือง เสียความชอบธรรม มันเป็นอุปสรรค์ต่อการหามวลชนคนธรรมดามาร่วมกับเรา ดังนั้นเราต้องเน้นการเมืองมวลชน

ในอดีตนักศึกษาและกรรมกรก็มีการประท้วง มีการติดโปสเตอร์ มีการประชุมทางการเมืองใต้ดิน มีการแจกจ่ายสื่อ ถ้าฝ่ายเผด็จการคุมหนัก อาจเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่พุ่งตรงไปที่เผด็จการ เช่นเรื่องค่าจ้างแรงงาน สิทธิสตรี การต่อต้านระบบรับน้อง หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม

และในปัจจุบันเราก็เห็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวแบบนี้ เพื่อต่อต้านเผด็จการ คสช. และสมุนรับใช้ทหารที่คุมมหาวิทยาลัยอยู่

ถ้านักศึกษาแอบทำการเคลื่อนไหวติดโปสเตอร์และเรื่องอื่นๆ ได้ ลองคิดดูสิว่าถ้าเสื้อแดงทั่วประเทศแอบทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นประจำ อย่างต่อเนื่อง มันจะมีผลอย่างไร

การเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ต่างๆ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราสร้างองค์กรและเครือข่ายต้านเผด็จการ มันเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางการเมืองด้วย ขบวนการไหนหยุดนิ่ง ขบวนการนั้นจะตาย

การต่อสู้กับเผด็จการไทย ไม่ง่าย เสี่ยงแน่นอน และต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ยุทธวิธีเสมอ  แต่อย่ามาพูดเลยว่าทำไม่ได้ นั้นคือข้ออ้างของคนที่อยากยอมจำนน

แล้วแกนนำ นปช. ละ? นปช. มีหน้าที่ ที่จะนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การทิ้งการต่อสู้กลางคัน และนิ่งเฉย เป็นการละทิ้งหน้าที่ที่มีต่อประชาชน มันเป็นการไม่รับผิดชอบทางการเมือง เพราะสร้างองค์กร แล้วนำการต่อสู้ที่มีการเสียเลือดเนื้อเพราะฝ่ายตรงข้ามป่าเถื่อน แล้วอยู่ดีๆ ก็ยอมแพ้เงียบไป

แน่นอนแกนนำบางคนเคลื่อนไหวไม่ได้ ทหารติดตามตลอด และเขาอาจมีภาระทางครอบครัว ไม่มีใครว่าตรงนี้ บางคนคงจะต้องถอนตัวออกจากการต่อสู้เป็นธรรมดา แต่มันต้องมีบางส่วนของแกนนำที่ควรจะอาสาออกจากประเทศไทย เพื่อนำการต่อสู้จากภายนอก และประสานการจัดตั้งเคลื่อนไหวภายในไทย โดยติดต่อกับคนภายในประเทศอย่างเป็นระบบ พคท. เคยทำในอดีต และคนอย่างหมอเหวงและอ.ธิดาคงทราบดี เพราะเคยอยู่กับ พคท. ดังนั้นไม่มีข้ออ้างในการไม่ทำอะไร ไม่มีข้ออ้างในการไม่สอนคนรุ่นใหม่

แต่แกนนำ นปช. ไม่ยอมนำ เพราะทักษิณและยิ่งลักษณ์บอกให้รอ ให้นิ่ง สาเหตุหลักคือทักษิณกลัวการปลุกระดมมวลชน ว่าจะนำไปสู่การโค่นอำมาตย์แบบถอนรากถอนโคน ซึ่งในที่สุดนักการเมืองนายทุนแบบทักษิณจะไม่มีที่ยืน ทักษิณอยากประนีประนอมกับทหารมากกว่า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง

มันไม่ใช่ว่าแกนนำ นปช. นิ่งเฉยเพราะไม่อยากให้คนตายเพิ่ม หรือกลัวถูกวิจารณ์ว่าจะ “พาคนไปตาย” ซึ่งเป็นคำวิจารณ์แย่ๆ อยู่แล้ว สาเหตุจริงที่ นปช. หยุดการเคลื่อนไหว ก็เพราะไปฟังทักษิณ

ในความเป็นจริงการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการ สามารถทำแบบ “ฉลาดๆ” ได้ มันมีหลายรูปแบบที่จะใช้ในการต่อสู้ ทั้งใต้ดินและเปิดเผย และการจัดตั้งเครือข่ายพร้อมกับการพัฒนากลุ่มศึกษาทางการเมืองก็มีความสำคัญ

สำหรับองค์กร “เสรีไทย” ถ้าองค์กรนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งและเคลื่อนไหวลับภายในประเทศไทย และเน้นแต่การล็อบบี้รัฐบาลต่างประเทศ เสรีไทยจะหมดความสำคัญภายในไม่นาน

ถ้าเราสรุปว่า นปช. จะไม่นำการต่อสู้ คนที่อยากต่อสู้ภายในประเทศไทยต้องจัดตั้งกันเอง นำกันเอง และขยายกิจกรรมต่างๆ แทน นปช. และเสรีไทย แต่ถ้าจะมีประสิทธิภาพต้องรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างที่ พคท. เคยทำ ในขณะเดียวกันต้องมีประชาธิปไตยภายในองค์กร และเน้นมวลชนแทนการจับอาวุธ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดของ พคท.

อย่าหลอกกันเองเลยว่าเผด็จการประยุทธ์จะถอนตัวเองจากการเมืองในไม่ช้า แล้วเปิดให้มีประชาธิปไตย เพราะมันกำลังออกแบบระบบเผด็จการที่จะอยู่นาน

ตกลงเราจะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะยืนขึ้นต่อสู้?

อายแทนประเทศไทย สลดใจประเทศไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

มีคนไทยจิตใจสัตว์นรกบางคน ที่โพสธ์ภาพศพเปลือยของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่โดนฆ่าและข่มขืนที่เกาะเต่า มันยากที่จะเข้าใจความผิดเพี้ยนของพวกนี้

มันพิสูจน์อีก ว่าในสังคมไทยภายใต้ระบบอำนาจนิยม คนจำนวนมากไม่เคยรู้จักคำว่า “การเคารพเพื่อนมนุษย์”

ภาพถ่ายเหล่านี้มาจากกล้องมือถือของตำรวจทราม ซึ่งถูกแจกจ่ายไปตามอินเตอร์เน็ด

ตำรวจทรามไม่ทำหน้าที่ในการปิดกั้นพื้นที่อาชญากรรม หลักฐานสำคัญๆ จึงหายไปได้ง่าย

ตำรวจทรามรีบหาแพะรับบาปในรูปแบบแรงงานข้ามชาติ แต่ถูกพิสูจน์ว่าผิด

ตำรวจทรามไม่กล้าแตะผู้มีอิทธิพลคนไทยในพื้นที่นั้น

แล้วจะจับคนร้ายได้อย่างไร?

และที่เลวที่สุดคือไอ้ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดที่แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำประเทศ ก็ปากหมาออกมาพูดว่าอาชญากรรมนี้เป็นความผิดของสตรีเอง

อายแทนประเทศไทยครับ อายจริงๆ และสลดใจ

TDRI บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับรถไฟยุโรป

ในการผลักดันลัทธิ “เสรีนิยมกลไกตลาด” เพื่อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ ดร. สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ – TDRI) เสนอว่าทางออกเพื่อแก้ปัญหารถไฟไทยควรเป็นไปตามสูตรลัทธิกลไกตลาด โดยการเพิ่มบทบาทให้กับเอกชน และเพิ่มความยุ่งยากในการคิดบัญชี ผ่านการแบ่งรถไฟให้เป็นหลายบริษัท รวมถึงบริษัทที่ดูแลทางรถไฟด้วย

การแบ่งแยกรถไฟเป็นหลายบริษัทแบบนี้ หรือการแบ่งแยกการแจกจ่ายและผลิตไฟฟ้า หรือการแยกบริษัทสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมถึงระบบโรงพยาบาลด้วย เป็นกลไกในการนำเอกชนเข้ามาเท่านั้น มันลดประสิทธิภาพการบริการประชาชนเพราะไปเพิ่มนักบัญชีและใช้ทรัพยากรในการคิดบัญชีมากขึ้น แทนที่จะเน้นการบริการประชาชน

แน่นอนพวกคลั่งลัทธิกลไกตลาด ก็ต้องการให้พรรคพวกของตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มทุน ได้เข้ามากอบโกยกำไรจากการบริการประชาชน แต่หลักพื้นฐานชี้ให้เห็นว่า การบริการประชาชนบวกกับการแสวงหากำไร แทนที่จะบริการโดยไม่กอบโกยกำไร จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น หรือมีการตัดสภาพการจ้างงาน หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน

พวกคลั่งกลไกตลาดเสรี ไม่เคยสุจริตพอที่จะอธิบายว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 เกิดมาจากกลไกตลาดเสรีและการเล่นหุ้นของธนาคารและบริษัทการเงิน และยิ่งกว่านั้นภาครัฐและประชาชนคนจน ต้องถูกบังคับให้รับผิดชอบหนี้สินหมดเลย คือนายทุนใหญ่ผู้กระทำผิดลอยนวลและต้องพึ่งรัฐ

TDRI ยกตัวอย่างระบบรถไฟเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์มาชื่นชม เพราะสองระบบนี้มีการนำเอกชนเข้ามาพอสมควร รถไฟเยอรมันเป็นกึ่งระบบเอกชน ส่วนรถไฟสวิสเซอร์แลนด์แปรรูปไปมากมาย

TDRIไม่กล้าเอ่ยถึงอังกฤษ ที่แปรรูปเป็นเอกชนหมดเลย แล้วบางส่วนรัฐต้องกลับมาเป็นเจ้าของใหม่เพราะมีปัญหาประสิทธิภาพ คุณภาพการบริการ และความปลอดภัย

ระบบรถไฟของฝรั่งเศสกับสเปนเป็นระบบที่รัฐยังเป็นเจ้าของและผู้บริหารทั้งหมด

เมื่อเราเปรียบเทียบราคาตั๋วโดยเฉลี่ย ฝรั่งเศสกับสเปน ถูกที่สุด และ อังกฤษ เยอรมัน กับสวิสแลนด์อยู่ในอันดับแพงสุด TDRI คงอยากให้ชาวบ้านในไทยต้องจ่ายค่าตั๋วแพงๆ หรือไม่ก็นั่งรถทัวร์หรือเสี่ยงกับการขับรถเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ยังไม่แก้ปัญหาจราจร ความปลอดภัย หรือปัญหาโลกร้อน แต่ TDRI คงพึงพอใจเพราะกลุ่มทุนจะได้ประโยชน์และรัฐบาลจะได้ไม่เก็บภาษีสูงจากคนรวยเพื่อลงทุนพัฒนารถไฟเอง

เมื่อเราเปรียบเทียบความเร็วเฉลี่ยระหว่างเมืองใหญ่ๆ รถไฟฝรั่งเศสกับสเปนจะเร็วที่สุด และรถไฟความเร็วสูง TGV ของฝรั่งเศสยังไม่เคยประสบอุบัติเหตุ ต่างจากรถไฟเยอรมัน

เมื่อเปรียบเทียบความถี่ของการวิ่งรถไฟ จะพบว่า ฝรั่งเศส สเปน และ อังกฤษ มีการเดินรถไฟถี่ที่สุด

สรุปแล้วรถไฟที่ยังอยู่ในภาครัฐ และได้รับการลงทุนจากรัฐอย่างเพียงพอ จะบริการประชาชนดีที่สุด ปัญหาของรถไฟไทยคือขาดการลงทุนมานาน แต่พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอให้ลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง พวกสลิ่ม ศาล และนักเศรษฐศาสตร์คลั่งกลไกตลาดก็ออกมาด่า

องค์กรกระแสหลักฝ่ายขวา อย่าง TDRI จะต่อต้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การใช้งบรัฐหนุนเกษตรกรและราคาข้าว การสร้างรัฐสวัสดิการ และการพัฒนารถไฟผ่านการลงทุนของรัฐ นอกจากนี้พวกนี้ยังอยากให้เรา “ร่วมจ่าย” ค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย แต่ในเรื่องการเพิ่มงบประมาณทหาร และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เขาจะเงียบเฉย

น่าเสียดายที่สื่อทุกประเภท รวมถึงประชาไท และนักวิชาการเกือบทั้งหมด ก้มหัวรับฟังคำแนะนำของ TDRI โดยไม่มีการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ พวกนี้ไม่เข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์มีหลายแนวในโลก แล้วแต่ว่าจะรับใช้ชนชั้นไหน และเศรษฐศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “เทคนิค” ของผู้ที่อ้างว่า “เชี่ยวชาญ” เพราะมันเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ

ผลพวงรัฐประหาร 19 กันยาคือ ฆาตกรครองเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยาเมื่อ 8 ปีก่อน ตามด้วยการทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยศาล องค์กรไม่อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ และคนชั้นกลาง จบลงด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคมปีนี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐบาลฆาตกร มีนายกรัฐมนตรีฆาตกร และมีสภาที่แต่งตั้งโดยทหารฆาตกร พวกนี้มือเปื้อนเลือดประชาชนที่รักประชาธิปไตย เขาฆ่าพวกเราที่ราชประสงค์ ไม่ต่างจากฆาตกรทหารรุ่นพี่ ที่ฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา และ พฤษภา 35

ที่สำคัญคือฆาตกรทหารเผด็จการเหล่านี้ ฆ่าประชาชนเพื่อทำลายประชาธิปไตย และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน

ที่สำคัญคือสภาพย่ำแย่ของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในประเทศไทย เป็นเพราะพวกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้เกลียดชังประชาธิปไตย และไม่เคยยอมเคารพเสียงส่วนใหญ่ แถมหน้าด้านโกหกว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย

พวกล้าหลังเหล่านี้ดูถูกพลเมืองไทยอย่างเป็นระบบ

วิกฤตประชาธิปไตยในยุคนี้เป็นความผิดของพวกโสโครกทางการเมือง ทั้งทหาร ข้าราชการชั้นสูง ศาล องค์กรไม่อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ และคนชั้นกลาง และมันเป็นเรื่องน่าสมเพชที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายคน และนักเอ็นจีโอกับนักสหภาพแรงงานจากรัฐวิสาหกิจ รวมอยู่ในกลุ่มโสโครกดังกล่าว

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ใช่ความผิดของทักษิณ ทั้งๆ ที่พวกโสโครกและสื่อกระแสหลักประโคมความเห็นแบบนี้

หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 39 ทักษิณและไทยรักไทยเสนอนโยบายเพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยทันสมัยขึ้น มีมาตรการเพื่อนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และมีนโยบายรูปธรรมที่สร้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นี่คือสาเหตุที่พรรคการเมืองของทักษิณครองใจประชาชนได้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง

ฝ่ายโสโครกทางการเมืองรับไม่ได้ที่จะมีรัฐบาลที่หาเสียงบนพื้นฐานนโยบายที่ครองใจประชาชน แต่สิ่งที่เขาเกลียดชังมากที่สุด คือการที่พลเมืองไทยจำนวนมาก เริ่มเคยชินกับการเลือกรัฐบาลที่เป็นประโยชน์กับตนเอง แทนที่จะเลือกรัฐบาลผ่านระบบอุปถัมภ์ในอดีต พวกที่ไม่เคยกังวลว่าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลอย่างไร จึงด่านโยบายไทยรักไทยว่าเป็น “ประชานิยม” ซึ่งเขาอ้างว่าจะทำให้ชาติเสียหาย พวกนี้มองว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่ดี แต่การกอบโกยผลประโยชน์สำหรับคนข้างบนและการเพิ่มงบประมาณทหารเป็นเรื่องดี มันเป็นพวกเสรีนิยมกลไกตลาดที่น่าเกลียดที่สุด มันเป็นพวก “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

แต่ทักษิณไม่ใช่เทวดา เขาเองก็เป็นฆาตกร เพราะสั่งฆ่าประชาชนในสงครามยาเสพติด และต้องรับผิดชอบกับการฆ่าพี่น้องเราที่ตากใบ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีฆาตกรตามประเพณีเลวร้ายของชนชั้นปกครองไทย แต่ทหารที่เกลียดชังเขา ก็ไม่เคยค้านนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนของทักษิณ เพราะทหารมีส่วนร่วมด้วย

ทักษิณไม่ใช่นักประชาธิปไตย เขาเพียงแต่ใช้ประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมาของเขาเอง แต่คนที่โบกมือต้อนรับรัฐประหาร และคลานเข้าไปเลียทหาร ยิ่งเลวกว่าอีก

ทุกวันนี้ ในขณะที่เหลือบกับอีแร้ง กำลังนั่งรอบโต๊ะ เพื่อปฏิกูลระบบการเมืองไทยไม่ให้เหลือซากของความเป็นประชาธิปไตย และในขณะที่เพื่อนเราติดคุกและบางคนโดนทรมาน ทักษิณบอกให้เรา “รอ” และยิ่งลักษณ์บอกว่า “เชื่อใจประยุทธ์” ส่วนแกนนำ นปช. ก็ตายทั้งเป็น หมดสภาพ

ถ้าเราจะไม่เป็นทาส ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยกับสิทธิเสรีภาพ เราต้องโค่นระบบเผด็จการแบบถอนรากถอนโคน และถล่มอำนาจทหารกับชนชั้นกลาง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค์ต่อประชาธิปไตยอีก แต่งานนี้เป็นงานใหญ่ที่จะไม่มีใครอื่นทำให้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดตั้งกันเอง เพื่อสร้างองค์กรและขบวนการทางการเมืองจากล่างสู่บน

ปาตานี: ถ้าคุยสันติภาพภายใต้เผด็จการจะไม่มีวันสำเร็จ

ใจ อึ๊งภากรณ์

การคุย “สันติภาพ” ระหว่าง พูโล บีอาร์เอ็น กับทหารไทย ไม่มีวันแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหาปาตานีเป็นปัญหาประชาธิปไตย และประเทศไทยตกอยู่ในความืดของเผด็จการ

สิทธิเสรีภาพที่จะเลือกรัฐบาลของตนเอง และที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นการแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องทางออกในอนาคต ต้องอาศัยสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการแสดงออก ซึ่งในกรณีปาตานีต้องรวมถึงสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอให้แยกประเทศก็ได้ หรือเลือกผู้แทนทางการเมืองและประมุขของตนเองด้วย

แต่เผด็จการประยุทธ์ทำลายประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ และกำลังออกแบบระบบเผด็จการถาวรใหม่ท่ามกลางการปฏิกูลการเมือง

ในช่วงนี้ชาวสก็อตแลนด์กำลังถกเถียงกันอย่างหนักว่าอยากจะแยกประเทศหรือไม่ และในวันที่ 18 เดือนนี้จะมีการลงประชามติโดยประชาชน นี่คือตัวอย่างของการแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตย

ถ้าฝ่ายที่ต้องการแยกประเทศสก็อตแลนด์แพ้ประชามติ เขาจะต้องคุยกันต่อว่าจะอยู่กันอย่างไร และคงมีการเรียกร้องให้กระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ถ้าฝ่ายที่ต้องการแยกประเทศชนะ เขาจะตั้งทีมไปเจรจารายละเอียดกับรัฐบาลอังกฤษ และผมรับรองได้เลยว่าในการเจรจาดังกล่าวจะไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ในกรณีรัฐไทยมีการให้ทหารนำการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือเผด็จการประยุทธ์ แต่ในระบบประชาธิปไตยทหารไม่ควรเสือกการเมืองแบบนี้

ทหารไทยคือปัญหาหลักและอุปสรรคร้ายแรงต่อสันติภาพในปาตานี เพราะทหารไทยมีผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสงครามนี้ เช่นในปัจจุบันรัฐไทยทุ่มงบประมาณลงไปมากกว่า 160 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือทหาร  อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจว่าประเด็นการปกป้องงบประมาณของทหารนี้เป็นประเด็นรอง

กองทัพไทยต้องการแทรกแซงการเมืองและสังคมไทยตลอดเวลา แต่การแทรกแซงการเมืองนี้ของทหาร ขัดต่อหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ประชาชนไทยชื่นชมมานาน ดังนั้นทหารไทยต้องสร้างและแสวงหาความชอบธรรมจอมปลอม ด้วยการอ้างว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปกป้องไม่ให้รัฐไทยถูกแบ่งแยก รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับยกเว้นรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 จะเน้นว่าประเทศไทย “แบ่งแยกไม่ได้” นี่คือความคิดที่ทหารยึดมั่นไว้และเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาปาตานี

ดังนั้นเราคงสรุปได้ว่ากองทัพไทยต้องการ “สร้างสันติภาพ” ผ่านการเจรจาให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐยอมปลดอาวุธเท่านั้น ในขณะเดียวกันทหารยังคงรักษาสิทธิ์ที่จะใช้ความรุนแรงต่อ อาจมีการเสนออะไรเล็กๆ น้อยเพื่อให้บางคนพอใจ เช่นบทบาทของภาษายะวีเป็นต้น ซึ่งมาตรการแบบนี้ไม่มีวันแก้ปัญหาได้ในระยะยาว มีแต่จะทำให้ปัญหาลามต่อไปอย่างเรื้อรังเท่านั้น

ถ้าเราพิจารณาฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไทย เราก็ต้องตั้งคำถามในเชิงประชาธิปไตยเช่นกัน แต่มันไม่ใช่ความผิดของ พูโล หรือ บีอาร์เอ็น มันเป็นความผิดของรัฐไทย เพราะทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเลือกผู้แทนของแนวคิดตนเองอย่างเสรี เช่นไม่สามารถเลือกพรรคการเมืองที่เสนอให้แบ่งแยกประเทศเป็นต้น ผู้ที่ไปเจรจากับฝ่ายรัฐไทยจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน และแน่นอนประชาชนในพื้นที่จะมีความเห็นหลากหลาย บางคนอาจยังอยากอยู่กับรัฐไทย บางคนอาจต้องการเขตปกครองพิเศษ บางคนอาจอยากแยกดินแดน หลายคนอาจไม่อยากใช้ชีวิตภายใต้รัฐบาลที่เน้นอิสลาม บางคนอาจต้องการรัฐบาลที่เคร่งครัดศาสนาอิสลาม ฯลฯ ถ้าความเห็นหลากหลายดังกล่าวไม่สามารถถูกแสดงออกอย่างเสรี ปาตานีจะไม่มีวันสงบสุข

ถ้าจะสร้างสันติภาพในปาตานี ต้องมีการดึงทหารออกจากพื้นที่ และดึงทหารออกจากบทบาทในการเจรจา ต้องมีการล้มหรือยกเลิกเผด็จการทั่วประเทศ ทุกคนต้องมีเสรีภาพที่จะเสนอแนวคิดของตนเองโดยไม่มีเงื่อนไขว่าห้ามแบ่งแยกประเทศ และต้องมีการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษอาชญากรที่ฆ่าประชาชน หรือที่ทรมานผู้ที่ติดคุกในปาตานี

สังคมไทยเป็นสังคมเหยียดเชื้อชาติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อตำรวจจับคน “เตะทราย” ใส่นักท่องเที่ยวบนชายหาด เพราะสตรีคนนั้นไม่ยอมเช่าเก้าอี้ริมหาด สังคมไทยก็ประโคมว่าเป็นคนเขมร และหลายคนคงมองว่า “คนไทยไม่ป่าเถื่อนแบบนี้” แต่ไม่มีใครถามอย่างจริงจัง ว่าเจ้านายคนงานเขมรคนนี้เป็นคนไทยหรือไม่ และเราต้องถามอีกว่ามีการกดดันให้คนงานมีพฤติกรรมแบบนี้หรือไม่

เมื่อทหารไทยภายใต้คำสั่งฆาตกร ประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิสิทธิ์ สุเทพ ยิงคนเสื้อแดงมือเปล่าตายที่ราชประสงค์ คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งสร้างนิยายว่าคงต้องเป็น “ทหารเขมร” เพราะ “คนไทยไม่ฆ่าคนไทย” แต่แล้วข้อมูลจริงก็ออกมาว่าอำมาตย์คนไทยฆ่าประชาชนคนไทยที่ราชประสงค์ และปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ หรือยุควิกฤตปัจจุบัน

ทุกวันนี้มีคนไม่น้อยที่ใช้คำว่า “ลาว” แทนคำว่า “เสร่อ” “โง่” หรือ “ล้าหลัง”

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากใช้คำว่า “แขก” เพื่อเหมารวมคนมาเลย์มุสลิมในปาตานี หรือคนอินเดีย ปากีสถาน อหร่าน อาหรับ ตุรกี หรือเพื่อนินทาคนเชื้อสายอินเดียหรืออิหร่านที่เป็นพลเมืองไทย มุมมองดูถูก “คนอื่น” แบบนี้มีส่วนในการทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี กลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกกดขี่ มันเป็นประเด็นสำคัญในสงครามกลางเมืองที่ดำรงอยู่ในภาคใต้

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากใช้คำว่า “ไอ้มืด” ซึ่งแปลตรงกับคำเหยียดหยามภาษาอังกฤษ “Nigger” เพื่อกล่าวถึงคนผิวดำเชื้อสายจากทวีปอัฟริกา และมีการมองว่าคนอัฟริกาเป็นคนต้อยต่ำ สาวไทยจำนวนมากก็ใช้ครีมย้อมผิวตนเองให้ “ขาวขึ้น” เพื่อไม่ให้เหมือนคนต้อยต่ำ มีการยกอคติเหยียดสีผิวจากพวกฝ่ายขวาสุดขั้วในตะวันตก ที่มองว่า “ขาวคือสวย ดำคือน่าเกลียด”

ทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนมาก รวมถึงนักวิชาการ  ที่ใช้คำว่า “ฝรั่ง” เพื่อเหมารวมและสร้างความต่างกับคนตะวันตก มันเป็นคำดูถูกจากโบราณ ไม่ต่างจากคำว่า “ผีขาว” ที่พวกชาตินิยมสุดขั้วในจีนใช้กัน

แต่คนไทยจำนวนมาก ไม่เคยสนใจจะศึกษาสังคมและประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นเลย พึงพอใจที่จะจมอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยฉบับอำมาตย์เท่านั้น มันเป็นสภาพเหยียดเชื้อชาติภายใต้ความโง่เขลา

คำเหล่านี้ที่เหมารวมเชื้อชาติต่างๆ ด้วยความดูถูก เพื่อเน้นความเลิศของ “ความเป็นไทย” ตรงกับแนวคิดของคนอย่างประยุทธ์ ที่ชอบพูดถึงประชาธิปไตยไทยๆ มันเป็นการเหมาว่าทุกคนในชาติหนึ่งจะเหมือนกันหมด มันเป็นการมองข้ามความหลากหลายและความขัดแย้งทางชนชั้นในทุกสังคม มันเหมือนคนโง่เหยียดสีผิวในตะวันตก ที่มองว่าคนไทยมีชื่อน่าขำ มีหน้าตาแบบ “ตาตี๋” และนักวิชาการหรือนักข่าวตะวันตกบางคน มองว่าคนไทยทุกคนเหมือนเด็ก ทำอะไรตลกๆ  กราบไหว้หมอบคลานต่อคนข้างบนด้วยความยินดี ยินดีขายร่างให้นักท่องเที่ยว และไร้จิตสำนึกทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

เราก็น่าจะทราบดีว่า “ความเป็นไทย” มีความหลากหลาย และคนไทยมีหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษาปนกัน

ประชาชนในสังคมไทยถูกปั่นหัวโดยชนชั้นปกครองคลั่งชาติ ต้องร้องเพลงชาติ ยืนเคารพธงชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อผู้ที่กดขี่เราทั้งสิ้น ในประเทศที่ฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานเจริญ เช่นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรป การต่อสู้ของฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยและการลดกระแสเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่แบ่งแยกเราเพื่อประโยชน์คนข้างบน

ผมนึกถึงคำเขียนของตรอทสกีเกี่ยวกับขบวนการฟาสซิสต์ในยุค 1930 ตรอทสกี้เขียนว่า “ชนชั้นกลางที่ก้มหัวต่อนายทุนใหญ่หวังจะกู้ศักดิ์ศรีทางสังคมด้วยการปรามชนชั้นกรรมาชีพและคนจน… พวกนี้มอมเมาตนเองในนิยายเกี่ยวกับความเลิศของเชื้อชาติตนเอง” ขณะนี้พลเมืองไทยไม่น้อย ก้มหัวให้อำมาตย์ ขยันใช้คำว่า “ท่าน” หรือศัพท์พิเศษอื่นๆ ในขณะที่เหยียดหยามคนที่ตัวเองมองว่าเป็น “คนต่าง” เพราะมอมเมากับนิยายความเลิศของ “ความเป็นไทย”

นี่คือแอกสำคัญทางความคิดที่เราต้องปลดออก ถ้าเราจะปลดแอกสังคมไทยจากเผด็จการ มาร์คซ์ เคยเขียนว่าตราบใดที่กรรมาชีพอังกฤษยังดูถูกคนไอริช กรรมาชีพอังกฤษไม่มีวันปลดแอกตนเอง ในไทยก็เช่นกัน ตราบใดที่คนไทยยังเหยียดเชื้อชาติอื่น คนไทยจะเป็นทาสต่อไป และเราจะไม่มีประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรม

นายกไม่สังกัดพรรคการเมือง? มันเป็นสูตรอดีตกษัตริย์เนปาล

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตอนนี้มีเสียงกระซิบจากคอกปฏิกูลการเมือง ว่ามีพวก “ผู้รู้” ที่อยากเสนอให้นายกรัฐมนตรีไทยในอนาคตไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยพวกนี้อ้างว่าจะลดการแสวงหาผลประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเอง เผลอๆ มันจะเสนอกันว่าในรัฐสภาไม่ควรมีพรรคการเมืองด้วย ตามอย่างวุฒิสภา

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ ระบบการเลือกตั้งที่ไร้พรรคการเมือง เป็นระบบ “การเมืองที่ไร้นโยบาย” หรือ “การเมืองที่ไร้การเมือง” นั้นเอง มันเคยถูกใช้ภายใต้เผด็จการกษัตริย์เนปาล ก่อนที่ประชาชนจะลุกฮือขับไล่กษัตริย์ออกไป มันเป็นสูตรเผด็จการชัดๆ

ถ้านายกรัฐมนตรี หรือ สส. ไม่สังกัดพรรคการเมือง ก็แปลว่าจะไม่มีการหาเสียงด้วยการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม เหมือนพวกที่เสนอตนเองเป็น ส.ว. แล้วห้ามเสนอนโยบาย ก็มีแต่รูปภาพใส่เครื่องแบบทหารหรือพลเรือน มีแต่การโอ้อวด “ผลงาน” ในลักษณะตำแหน่งที่เคยครอง และมีแต่การพูดนามธรรมว่าจะ “รับใช้ชาติและประชาชน”

การที่ระบบการเมืองและระบบการเลือกตั้งไม่มีการเสนอนโยบายการเมือง แปลว่าประชาชนไม่มีอะไรให้เลือก แปลว่าเราจะย้อนยุคกลับไปสู่ระบบการเมืองอุปถัมภ์ แจกโน้นแจกนี่ หางานและตำแหน่งให้พรรคพวก และซื้อเสียง มันแปลว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดว่าสังคมจะถูกบริหารภายใต้นโยบายอะไรเลย นั้นคือความฝันของประยุทธ์และพรรคพวก

อย่าลืมว่าสิ่งที่ทำให้อำมาตย์ เผด็จการทหาร และคนชั้นกลาง เจ็บใจมากที่สุด คือการที่พรรคไทยรักไทยเคยครองใจประชาชน อย่างที่ไม่เคยมีพรรคไหนทำได้ ก็ด้วยการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ นี่คือสาเหตุที่พรรคอื่นไม่สามารถเอาชนะได้ และนี่คือสาเหตุที่พวกต้านประชาธิปไตยมองว่ามีวิธีเดียวที่จะจัดการกับพรรคทักษิณได้ คือการทำรัฐประหารทางทหารและทางระบบตุลาการ

ตอนนี้เราก็มีนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งตนเองและไม่สังกัดพรรคการเมือง สมัยสฤษดิ์ก็เช่นกัน และเผด็จการทหารก็เป็นเจ้าจอมโกงกินเล่นพรรคเล่นพวกที่ทำลายสังคมไทย

ประชาธิปไตยไทยพัฒนาให้ดีกว่ายุคทักษิณได้ ด้วยการมีหลากหลายพรรคการเมือง เช่นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพหรือเกษตรกร และพรรคสังคมนิยม แทนที่จะมีแค่พรรคนายทุน การลดบทบาทพรรคการเมืองเป็นการถอยหลังลงคลอง

ทำไมฝ่ายซ้ายอังกฤษสนับสนุนให้ชาวสก๊อตแลนด์โหวด YES

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ 18 กันยายนปีนี้ ประชาชนชาวสก๊อตแลนด์จะมีโอกาสลงคะแนนเสียงว่าอยากจะแบ่งแยกประเทศออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ และจากโพล์ล่าสุดดูเหมือนคะแนนเสียงของทั้งสองฝ่ายใกล้เคียงสูสีกันมาก บางโพล์ถึงกับมองว่าคนส่วนใหญ่อาจโหวด YES ให้แยกประเทศ

ชนชั้นปกครองสก๊อกแลนด์พาประเทศเข้ารวมกับอิงแลนด์เป็นสหราชอาณาจักรเมื่อ 300 ปีก่อน และชนชั้นปกครองสองฝ่ายก็ได้ประโยชน์และมีบทบาทร่วมกัน ในการล่าอาณานิคมและการขูดรีดกรรมาชีพภายในประเทศของตนเอง แต่ในยุคนี้สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก และในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีการกระจายอำนาจการปกครองบางส่วนไปสู่รัฐสภาสก๊อกแลนด์ และรัฐสภาเวลส์ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อหัวหน้าพรรคชาตินิยมสก๊อกแลนด์ (SNP) เริ่มเสนอวาระที่เอียงซ้ายไปทางจุดยืนนักสังคมนิยม เมื่อเดือนที่แล้ว คะแนนเสียงของคนที่อยากแยกประเทศจะพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ เขาเอียงซ้ายไปทางจุดยืนนักสังคมนิยมโดยการพูดเรื่องการปกป้องรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะระบบรอนามัยแห่งชาติ (NHS) ที่บริการประชาชนทุกคนฟรี นอกจากนี้มีการพูดถึงการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ และขับไล่ฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของอังกฤษออกไป

นักสังคมนิยมในอังกฤษทั้งสองฝั่งของพรมแดน กำลังรณรงค์ให้คนโหวด YES ด้วยสาเหตุสำคัญดังนี้คือ

  1. ในรอบห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่ออังกฤษมีรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน ชาวสก๊อตแลนด์ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้พรรคนี้เลย คือต้องอดทนอยู่ภายใต้รัฐบาลฝ่ายขวาที่ตนเองไม่ได้เลือก ช่วงนี้หลายคนชอบพูดว่าในสวนสัตว์สก๊อตแลนด์ มีหมีแพนด้าสองตัว มากกว่า สส. พรรคอนุรักษ์นิยมที่ชาวสก๊อตแลนด์เลือกมา ซึ่งมีเพียง 1 คน และในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 นโยบายตัดงบประมาณและทำลายรัฐสวัสดิการของรัฐบาลลอนดอน เป็นนโยบายที่ชาวสก๊อตแลนด์พยายามต่อต้าน ทุกวันนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสก๊อตแลนด์ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าจ้างในภาครัฐสูงกว่าที่อิงแลนด์ และการบังคับเก็บ “ภาษี” จากคนจนที่มีห้องนอน “เกิน” ถูกระงับไปในสก๊อตแลนด์
  2. การแยกประเทศสก๊อตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร จะยุติหรือลดบทบาทของอังกฤษในการเป็นจักรวรรดินิยมก้าวร้าวลงไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกรรมาชีพอังกฤษและชาวโลก ทุกคนทราบดีว่าพรรคชาตินิยมสก๊อตแลนด์ สัญญาว่าจะยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์และนำงบประมาณนี้มาหนุนรัฐสวัสดิการแทน
  3. ฝ่ายซ้ายเข้าใจดีว่าพรรคชาตินิยมสก๊อตแลนด์ ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม ทั้งๆ ที่พรรคนี้สามารถแย่งคะแนนเสียงจำนวนมากจากพรรคแรงงาน (Labour) โดยการเสนอนโยบายที่ซ้ายกว่าพรรคแรงงานในหลายๆ เรื่อง แต่การโหวด YES จะเป็นโอกาสทองในการต่อสู้เพื่อ “วาระก้าวหน้าสังคมนิยม” ในประเทศเอกราชใหม่ และการต่อสู้นี้คงต้องทำในลักษณะที่เผชิญหน้ากับพรรคชาตินิยมสก๊อตแลนด์อีกด้วย เพราะพรรคนี้จะพยายามเอาใจนายทุน การต่อสู้เพื่อ“วาระก้าวหน้าสังคมนิยม”ทางเหนือ จะให้กำลังใจกับฝ่ายซ้ายและนักสหภาพแรงงานในอิงแลนด์เพื่อสร้าง“วาระก้าวหน้าสังคมนิยม”ทางใต้ด้วย

ถ้าสก๊อตแลนด์มีเอกราช จะมีหน้าตาคล้ายๆ ประเทศนอร์เวย์ คือเป็นประเทศเล็กๆที่มีน้ำมัน และพยายามปกป้องและสร้างรัฐสวัสดิการ และไม่ว่าคะแนนเสียงจะออกมาอย่างไรในวันที่ 18 กันยายน กระบวนการประชามติครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นในมวลประชาชนสก๊อตอย่างมาก มันเป็นแผ่นดินไหวในรัฐอังกฤษ

จากมุมมองคนที่อยู่ประเทศไทย มันมีข้อสังเกตและคำถามหลายข้อคือ ทำไมชาวปาตานีไม่มีสิทธิ์ลงประชามติแบบนี้? ทำไมประชาชนไทยทั้งหมดไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกรัฐบาลตามใจชอบและมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก? ทำไมประเทศไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการและการที่เราถูกปกครองโดยเผด็จการทหารจะยิ่งทำให้ความฝันนี้ไกลออกไปหรือไม่? และท้ายสุด การคลั่งชาติที่ “แบ่งแยกไม่ได้” หรือคลั่งธงชาติ ของพวกชนชั้นปกครองไทย มันเป็นพิษภัยต่อประชาชนคนธรรมดาที่เป็นผู้ทำงานมากแค่ไหน?

การทำงาน “แนวร่วม” ในยุคเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่สมัย พคท. ถึง นปช. นักเคลื่อนไหวไทยจำนวนมากไม่เข้าใจธาตุแท้ของการทำงาน “แนวร่วม” เพราะแนวร่วมกับองค์กร ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

องค์กรต้องมีการจัดตั้งที่เป็นระบบ ต้องมีชุดความคิดที่เหมือนกัน และต้องมีแกนนำที่คอยเสนอแนวทางในการนำ มันมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร

“แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. มีแกนนำที่กำหนดนโยบายและแนวทางต่อสู้ในหลายมิติ และมีการกีดกันคนที่คิดต่างออกไป เช่นคนที่ต้องการยกเลิก 112 หรือคนที่ปฏิเสธการนำของทักษิณ ดังนั้น จริงๆ แล้ว นปช. เป็น องค์กรมากกว่าแนวร่วม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่ได้อีกด้วย แต่มันไม่ใช่ “แนวร่วม”

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) เคยสร้างสิ่งที่พรรคเรียกว่า “แนวร่วม” แต่ก็ไม่ใช่แนวร่วมอีก เพราะเป็นวิธีจัดตั้งมวลชนตามแนวของ พคท. ในขณะที่มวลชนดังกล่าวไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จริงๆ แล้วการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคเป็นเรื่องยากมาก ต้องผ่านหลายขั้นตอน ดังนั้น “แนวร่วม” ที่ พคท.พูดถึงคือ “ผู้ตาม” นั้นเอง ไม่ใช่แนวร่วมจริง

ในอดีต บางครั้ง พคท. จะสร้างแนวร่วมกับนายทุนคนที่พรรคมองว่า “รักชาติ” และในการสร้างแนวร่วมนี้ พคท. ก็จะไม่พูดถึงการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมเลย คือเอาจุดยืนนายทุนมาเป็นจุดยืนของตนเอง นั้นก็ไม่ใช่การสร้างแนวร่วม

ทุกวันนี้เวลาคนที่รักประชาธิปไตยคนไหนวิจารณ์ทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์ หรือ นปช. ก็จะมีคนเสื้อแดงสาย นปช. เตือนว่าเราต้องรู้จักสามัคคี แต่ความหมายของเขาแปลว่าให้หยุดวิจารณ์ คือสามัคคีภายใต้แนวของ นปช. เพื่อไทย หรือทักษิณเท่านั้น คนที่มีมุมมองแบบนี้สร้างแนวร่วมไม่ได้

ทำไมเราต้องสร้างแนวร่วมในขณะนี้?

ถ้าเราจะล้มเผด็จการ และยกเลิกผลพวงทั้งหมดของรัฐประหารสองรอบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฏหมาย หรือองค์กรปฏิกูลที่ทหารผลักดันเข้ามา เราต้องสร้างอะไรที่มีมวลชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก แต่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยไม่ได้มีมุมมองทางการเมืองที่เหมือนกัน บางคนยังรักทักษิณ บางคนกึ่งรักทักษิณแต่ยังเชื่อมั่นใน นปช. บางคนหมดศรัทธาใน นปช. แต่อาจรักทักษิณ บางคนไม่เอาทั้งทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยหรือ นปช. บางคนต้องการยกเลิก 112 บางคนมองว่าควรรอไปก่อน บางคนต้องการเปลี่ยนสังคมไทยแบบถอนรากถอนโคน บางคนต้องการแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาอย่างที่เราเคยมีสมัยที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล เราจะทำอย่างไรเพื่อสามัคคีคนที่มีแนวคิดที่หลากหลายแบบนี้?

มีวิธีเดียว นั้นคือสร้าง “แนวร่วม” ภายใต้จุดยืนที่พื้นฐานที่สุด คือจุดยืนต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์ ในการสร้างแนวร่วมไม่ควรจะมีจุดยืนในหลายๆประเด็น ประเด็นเดียวจะดีที่สุด เพราะคนที่มีความคิดหลากหลายอย่างที่เอ่ยไปแล้ว สามารถสามัคคีกันบนพื้นฐานการต้านเผด็จการประยุทธ์ได้ เรื่องอื่นก็ให้แต่ละคน แต่ละกลุ่มคิดและเสนออย่างเสรี พูดง่ายๆ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจะใส่หมวกสองใบเสมอ คือหมวกของแนวร่วม และหมวกขององค์กรหรือจุดยืนตนเอง และเราจะไม่ปกปิดเรื่องนี้ ต้องเคารพซึ่งกันและกัน แนวร่วมแบบนี้จะมีพลัง

การให้แต่ละกลุ่มแต่ละคนในแนวร่วม มีเสรีภาพที่จะมองต่างมุมในเรื่องอื่นๆ นอกจากประเด็นหลักคือการต้านเผด็จการประยุทธ์ เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างแนวร่วมที่ครอบคลุมนักประชาธิปไตยทุกคน

การสร้างแนวร่วมต้องไม่กีดกันใคร ไม่ว่าเราจะไม่ชอบเขาเป็นส่วนตัว หรือไม่เห็นด้วยกับแนวเขาแค่ไหน เราต้องข้ามพ้นความคิดทารกแบบนั้น และไม่ควรมีกลุ่มคนกลุ่มใด ที่พยายามกดดันบังคับให้ทุกคนต้องคิดตามในเรื่องอื่นๆ

แน่นอน มันยังคงมีโอกาสที่จะขัดแย้งกันทางแนวคิดหรือแนวปฏิบัติเคลื่อนไหว ซึ่งเรื่องแบบนั้นต้องตัดสินกันในที่ประชุมผ่านการลงมติและการเคารพมติเสียงส่วนใหญ่

ประเด็นสำคัญคือ พวกเราพร้อมจะทำงานแนวร่วมเพื่อล้มเผด็จการหรือไม่?

วิกฤตยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสองจักรวรรดินิยม

เราทราบดีจากประวัติศาสตร์สงครามเวียดนามว่าสหรัฐอเมริกา พร้อมจะโกหกเรื่องฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ความชอบธรรมกับตัวเองในการแทรกแซงทางทหาร ดังนั้นเราไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มาจากรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ องค์กรนาโต้ เรื่องการเคลื่อนกำลังทหารของรัสเซียเข้าไปในดินแดนยูเครน

นอกจากนี้สื่อกระแสหลักในตะวันตกมักจะมองข้ามผลของการรุกสู้ ของกองทัพยูเครน  ต่อพลเรือนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศนั้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติคาดว่าระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 17 สิงหาคม มีคนล้มตายมากกว่า 1,200 คน และบาดเจ็บอีกสองเท่า

หนังสือพิมพ์ New York Times ของ อเมริกา ยังเสนอว่ากองทัพรัฐบาลยูเครน จะต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่งกับการล้มตายของพลเรือน และการทำลายทรัพย์สินของประชาชนด้วยอาวุธหนัก เช่น รถถัง และ ปืนใหญ่

สหประชาชาติ กล่าวหาทั้งสองฝ่ายว่ามีการอุ้มฆ่าและทรมาน

แต่สองฝ่ายในสงครามยูเครนคือใคร? “รัฐบาลคีเอฟ” หรือรัฐบาลยูเครน เต็มไปด้วยนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันตกของประเทศ พวกนี้ต้องการให้ยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกอียูและองค์กรทหารนาโต้ เขาเรียกตัวเองว่า “นักประชาธิปไตย” แต่มีการใช้กองกำลังฝ่ายขวาจัดฟาสซิสต์ ในการต่อสู้กับพวกขบวนการแบ่งแยกประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกใกล้พรมแดนรัสเซีย

การที่มีกองกำลังฟาสซิสต์ต่อสู้ร่วมกับกองทัพยูเครนทำให้ฝ่ายซ้ายบางคนในยุโรป เข้าใจผิดว่าฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเชื้อชาติรัสเซีย กำลังต่อสู้กับขบวนการฟาสซิสต์ ในสงคราม “ก้าวหน้า”

อย่างไรก็ตามมันมีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการต่อสู้ มันไม่ใช่การบุกเข้าไปในดินแดนยูเครนโดยตรงแต่รัฐบาลรัสเซียกำลังให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธกับผู้เชี่ยวชาญ

ยุทธวิธีของมอสโก คือ ยุทธวิธีของประเทศมหาอำนาจที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เป้าหมายของประธานาธิบดีปูติน คือ การรักษาสถานภาพเดิมในยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีความแตกแยกระหว่างตะวันตกกับตะวันออกและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนาโต้

พวกนักการเมืองทุนใหญ่ของยูเครน ผู้นำอียูบางคน และ รัฐบาลของประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นสมาชิกอียู มีความประมาทพอสมควร เขาต้องการให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ เพื่อผลักดันกองกำลังของตะวันตกให้ถึงพรมแดนรัสเซีย แนวทางนี้เสี่ยงกับการก่อสงครามใหญ่

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อาจจะใช้คำพูดเข้มแข็งแรงๆ ในการวิจารณ์รัสเซีย แต่ประธานาธิบดีโอบามา สารภาพว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มีแผนอะไรเลย ที่จะแก้ปัญหาในอิรัก ซีเรีย หรือ ยูเครน โอบามาเสนอว่า การใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ ไม่ควรจะเป็นองค์ประกอบหลักในทุกกรณี

เราจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในยูเครน เป็นความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดินิยมสองฝ่ายที่ขาดความมั่นใจ และต้องการรักษาสถานภาพเดิมมากกว่าที่จะรุกไปสู่สงคราม เราสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ และนี่คือความอันตรายของสถานการณ์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกทุกวันนี้

เรียบเรียงจากบทความของอาเล็คซ์ คาลินนิคอส ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker