ใจ อึ๊งภากรณ์
10ปีหลังอาชญากรรมรัฐที่ตากใบ คนที่รับผิดชอบคือทักษิณ ผบ.ทหาร และผบ.ตำรวจ ยังไม่ถูกนำมาขึ้นศาล ไม่ต่างจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบกรณีอาชญากรรมรัฐอื่นๆ เช่น ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา ๓๕ หรือราชประสงค์ ๕๓
ถ้ามองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะมีการแก้ไขปัญหาที่ปาตานี สิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวังในอนาคต ถ้าปาตานีมีสันติภาพ คือการเมืองแบบ “ชุมชนนิยม”
การเมืองแบบชุมชนนิยมคืออะไร มันเป็นการมองปัญหาการเมืองในรูปแบบที่เชื่อว่าปัญหาที่ปาตานี หรือไอร์แลนด์เหนือ หรือบอสเนีย ฯลฯ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม ดังนั้นมีการเสนอว่าควรมีระบบการเมืองที่ให้แต่ละเชื้อชาติ ศาสนา หรือชุมชน มีตัวแทนทางการเมืองของตนเอง เพื่อมาแบ่งอำนาจกันกับเชื้อชาติ ศาสนา หรือชุมชนอื่น
แต่ปัญหาที่ปาตานี ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนมุสลิมมาเลย์กับคนไทยพุทธ หรือระหว่างคนมุสลิมมาเลย์กับคนจีนแต่อย่างใด มันเป็นปัญหาที่มาจากความเป็นจักรวรรดินิยมของรัฐไทยหรือรัฐสยามต่างหาก ยิ่งกว่านั้นคนมุสลิมมาเลย์ ไม่ได้มีผลประโยชน์ตรงกันทุกคน คนไทยพุทธก็เช่นกัน มันมีความแตกต่างทางชนชั้นภายในทุกชุมชน ดังนั้นการเมืองแบบ “ชุมชนนิยม” เป็นการปิดหูปิดตาถึงชนชั้นและการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น และมันเป็นการสร้าง แล้วแช่แข็ง ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ไม่ได้มีมาก่อน
ในมาเลเซียกับสิงคโปร์ มีการออกแบบระบบที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “Consociationalism” คือระบบการปกครองที่ “บริหาร” เชื้อชาติ โดยมีการจัดให้ทุกเชื้อชาติมีตัวแทนของตนเองในรัฐบาล ซึ่งมีการใช้รูปแบบการปกครองอย่างนี้ในไอร์แลนด์เหนือหรือในบอสเนียด้วย ในกรณีมาเลเซีย เราจะเห็นว่ารัฐบาล “แนวร่วมชาติ” ประกอบไปด้วยพรรคของชาวมาเลย์ (U.M.N.O.) พรรคของชาวจีน (M.C.A. – Malay Chinese Association) และพรรคของชาวอินเดีย (M.I.C. – Malay Indian Congress)
แต่ประเด็นปัญหาสำคัญคือตัวแทนของเชื้อชาติจะมาจากชนชั้นไหน และจะเลือกกันอย่างไร? ประเด็นชนชั้นแบบนี้ไม่มีการพิจารณาเลย เพราะคนที่เสนอ Consociationalism มักมองว่าชนชั้นไม่สำคัญ หรืออยากจะกลบความขัดแย้งทางชนชั้น อย่างไรก็ตามการที่พรรค “เถ้าแก่จีน” (พรรค M.C.A.) ถูกเลือกมาเป็นผู้แทนของชาวจีนทั้งหมด เป็นปัญหาถ้ามวลชนไม่ถูกทำให้สงบนิ่งเพื่อตามการนำของอภิสิทธิ์ชนจีน ดังนั้นการปกครองแบบ Consociationalism ย่อมประกอบไปด้วยระบบ “เผด็จการอ่อนๆ” เพื่อควบคุมความขัดแย้งทางเชื้อชาติเสมอ สิ่งนี้ดำรงอยู่ในระบบการเมืองมาเลเซียกับสิงคโปร์ในปัจจุบัน สรุปแล้วมีการยกความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาเป็นข้ออ้างในการลดทอนสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย
คำถามหรือปัญหาที่ตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ยากคือ ใครเป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชาชนเชื้อชาติต่างๆ เพราะที่แล้วมา “ผู้ใหญ่ตามประเพณี” ของเชื้อชาติต่างๆ ในหมู่บ้าน มักอ้างความชอบธรรมโบราณในการเป็นผู้แทน ทั้งๆที่อาจสังกัดคนละชนชั้นกับคนส่วนใหญ่ และทั้งๆที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตยเลย ถ้าจะเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมโดยรวม ต้องมีประชาธิปไตยในส่วนย่อยๆด้วย รวมถึงการเลือกผู้แทนของเชื้อชาติต่างๆ
ในปาตานีคนมุสลิมมาเลย์ ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองในรูปแบบเดียว มีหลายแนวความคิด ในชุมชนพุทธ หรือในหมู่คนเชื้อสายจีน ก็มีหลายแนว และที่สำคัญคือคนมาเลย์มุสลิมจำนวนมากสามารถจับมือสมานฉันท์ทางการเมืองกับคนพุทธหรือคนจีนได้ และนั้นคือแนวทางแท้ในการสร้างสันติภาพและความสุขในปาตานี ไม่ว่าจะแยกดินแดน หรือกระจายอำนาจการปกครองภายใต้รัฐไทยใหม่