เราต้องใช้การเมืองฝ่ายซ้ายเพื่อลบผลพวงของเผด็จการและรัฐประหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวของพวกล้าหลังที่กำลังอ้างว่า “ปฏิรูปการเมือง” ภายใต้อำนาจมืดของเผด็จการทหาร เป็นการรุกสู้สองด้านคือ ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้การรุกสู้ทำลายประชาธิปไตยและความเท่าเทียมนี้ เริ่มมาตั้งแต่รัฐประหารรอบที่แล้วในปี ๒๕๔๙

ความไม่พอใจของพวกทหารและอภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยม มาจากแนวร่วมทางการเมืองที่ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยเคยสร้างกับพลเมืองส่วนใหญ่ แนวร่วมนี้สร้างบนพื้นฐานการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง เช่นนโยบายสาธารณะสุขถ้วนหน้า นโยบายสร้างงานในชนบท หรือนโยบายพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนาด้วยการประกันราคาข้าวเป็นต้น และเมื่อประชาชนเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าวก็มีการแห่กันไปเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ประชาธิปไตยแบบใหม่สำหรับไทย

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอดีตเคยชินกับระบบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งบนพื้นฐานระบบอุปถัมภ์ โดยไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และย่อมนำไปสู่รัฐบาลผสมจากหลายพรรคเสมอ การที่มีรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ซึ่งบ่อยครั้งขาดเสถียรภาพ เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ เพราะมันเป็นระบบที่ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีอำนาจเหนือกลุ่มการเมืองอื่น และที่สำคัญคือมีช่องว่างที่เอื้อกับการใช้อำนาจและอิทธิพลนอกระบบของทหารและข้าราชการชั้นสูงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่เมื่อมีนักการเมืองคนไหนดูท่าทางจะใหญ่เกินไป ก็มีการโค่นล้มด้วยวิธีการต่างๆ เช่นในกรณี ชาติชาย ชุณหะวัณ

หลังจากชัยชนะของทักษิณและพรรคไทยรักไทย อภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยมเริ่มค่อยๆ กังวลและไม่พอใจที่พรรคของทักษิณผูกขาดอำนาจทางการเมืองประชาธิปไตย โดยครองใจประชาชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยอย่างเสรีและด้วยจิตสำนึก พวกนายพลและข้าราชการชั้นสูงที่เคยชินกับอำนาจนอกระบบ เริ่มพบว่าอำนาจของตนเองลดลง นักการเมืองแบบเก่า เช่นในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถแข่งแนวกับพรรคของทักษิณได้ เพราะยึดติดกับการต่อต้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ซึ่งเห็นชัดหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นอกจากนี้ชนชั้นกลางที่เคยเสพสุขในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ก็เริ่มไม่พอใจมากขึ้นที่รัฐบาลทักษิณเน้นการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาชีวิตของคนธรรมดา เพื่อดึงคนส่วนใหญ่เข้ามา “ร่วมพัฒนาประเทศ” และทำให้สังคมมีความทันสมัย

ท้ายสุดพวกนักวิชาการฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาดเสรีแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” โกรธแค้นกับการที่รัฐบาลทักษิณใช้นโยบายเศรษฐกิจผสมระหว่างตลาดเสรีกับการใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานและพัฒนาประเทศ พวกนี้ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยวาง” คือปล่อยให้กลุ่มทุนและคนรวยกอบโกย และปล่อยให่คนจนอดอยาก

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าทักษิณและไทยรักไทยมีวาระและผลประโยชน์ของตนเอง เขาไม่ใช่พวกสังคมนิยมที่ยึดผลประโยชน์คนทำงานเป็นหลัก ดังนั้นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและกำไรให้กลุ่มทุนใหญ่ ปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและบริษัทใหญ่ และพร้อมจะใช้ความรุนแรงในการละเมิดสิทธิมนุษชนของประชาชนอีกด้วย กรณีปาตานีหรือสงครามยาเสพติดเป็นตัวอย่างที่ดี

ถ้าเราเข้าใจต้นเหตุความไม่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เราจะเข้าใจว่าตอนนี้พวกสัตว์เลื้อยคลานที่เข้าไปในสภาปฏิกูลกำลังทำอะไรกันอยู่ภายใต้คำโกหกว่าจะ “ปฏิรูป”

ในด้านการเมืองพวกล้าหลังเหล่านี้วางแผนจะลดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจของประชาชนที่จะเลือกแนวทางสำหรับตนเอง เขาเริ่มทำตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการปี ๒๕๕๐ แต่กำลังเร่งเครื่องทำให้เข้มข้นมากขึ้น วิธีการที่ใช้ในการหมุนนาฬิกากลับของพวกนี้ คือการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่กีดกันไม่ให้พรรคการเมืองไหนมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาภายใต้คำโกหกเรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ความหวังคือการกลับสู่ระบบ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ที่มาจากการเมืองอุปถัมภ์  นอกจากนี้จะมีการเพิ่มอำนาจองค์กร “ไม่เคยอิสระ” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อกดทับเสียงประชาชนและนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา พูดง่ายๆ พวกอภิสิทธ์ชนและทหารต้องการมีอำนาจนอกระบบเหนือกลไกประชาธิปไตย เพราะเขามองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่ควรมีอำนาจอธิปไตย

ในด้านเศรษฐกิจ พวกคลั่งกลไกตลาดเสรีต้องการทำลายระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้าด้วยการบังคบให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” จะมีการวางแผนกดค่าแรงและหาทางทำลายมาตรฐานการจ้างงาน จะมีการเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคนจนมากขึ้น และจะมีการสร้างภาพว่าปรับระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม แต่ในรูปธรรมไม่แตะเศรษฐีใหญ่กับนายทุนเลย นอกจากนี้จะมีการหาทางพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคมในราคาถูก โดยพยายามไม่ใช้งบประมาณรัฐมากเกินไป เพราะงบประมาณรัฐควรแจกให้กองทัพและคนข้างบนแทน ตามความเชื่อของพวกคลั่งกลไกตลาดเหล่านี้ การเน้นภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศจะไม่นำไปสู่การบริการประชาชนที่มีคุณภาพ

จะเห็นว่าในการปลดแอกประเทศไทยจากเผด็จการอภิสิทธ์ชนนี้ เราต้องรณรงค์ทั้งประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจของคนชั้นล่าง ของกรรมาชีพผู้ทำงานและเกษตรกรรายย่อย เราต้องเพิ่มสิทธิทางการเมืองและที่ยืนสำหรับคนชั้นล่างหรือคนธรรมดา และเราต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการดึงเศรษฐีและนายทุนลงมา ไม่ใช่แค่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบลอยๆ หรือหวังกลับไปสู่ยุคทักษิณ นี่คือความสำคัญของการเมือง “ฝ่ายซ้าย” หรือการเมือง “สังคมนิยม” นั้นเอง

องค์กร TDRI คลั่งตลาดเสรี เพื่อปกป้องสลิ่มกับอำมาตย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

“สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ออกมาแสดงความเห็นเป็นประจำเรื่องเศรษฐกิจไทย แต่ทุกคำที่ออกมาจากปากนักวิจัยขององค์กรนี้ ล้วนแต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคลั่งตลาดเสรี เสมือนของเสียที่ไหลออกมาจากท่อน้ำเน่าอย่างต่อเนื่อง

water-pollution-pipe

ก่อนหน้านี้ TDRI เคยออกมาด่าโครงการจำนำข้าว การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายสาธารณะสุขฟรี  ระบบรัฐสวัสดิการ และการใช้งบประมาณรัฐในการช่วยเหลือประชาชน ในขณะเดียวกันก็เสนอให้เก็บภาษีจากคนจนมากขึ้นในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย และมีการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เอกชนด้วย

ล่าสุด TDRI ประกาศว่าประเทศไทย “ต้อง” พัฒนาโดยเน้นให้รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด และบริการประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อทำหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอกชนและกลุ่มทุน พูดง่ายๆ TDRI มองไม่เห็นความสำคัญของประชาชน และมองไม่เห็นว่ามูลค่าที่กลุ่มทุนไทยสะสมมานาน มาจากการทำงานของประชาชนทั้งนั้น

เวลา TDRI อ้างว่า “ไม่มีอะไรดีกว่ากลไกตลาดเสรี” เขาจำเป็นต้องปิดหูปิดตาถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีการฟื้นตัวเลย วิกฤตนี้มาจากข้อบกพร่องในตัวมันเองของกลไกตลาดเสรีและการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตรากำไร การลดลงของการลงทุน ปรากฏการณ์ฟองสบู่ และในที่สุดทำให้มีการตกงานและลดมาตรฐานการจ้างงานทั่วโลกตะวันตก วิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ของไทยที่เกิดก่อนหน้านั้น ก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน

TDRI จึงเหมือนหมอเถื่อนที่ให้ยาพิษกับคนไข้จนป่วยหนัก แล้วเสนอให้เรากินยาพิษเพิ่ม

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 รัฐบาลจีนใช้รัฐและการลงทุนของรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ ซึ่งมีผลในการชะลอวิกฤตบ้าง และช่วยประเทศที่อาศัยการส่งออกไปจีน รัฐบาลสหรัฐก็ใช้งบประมาณรัฐในการ “พิมพ์เงินเพิ่ม” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลทั่วโลกต้องใช้ภาครัฐในการกู้ระบบธนาคารที่ล้มเหลวจากระบบตลาด ดังนั้นการมองโดย TDRI ว่า “ภาคเอกชนและกลไกตลาดเสรีมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ” เป็นการเพ้อฝันที่ไม่มีหลักฐานรองรับเลย

ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกกำลังหดตัวลงมากขึ้น เพราะรัฐใหญ่ๆ อย่างจีนและสหรัฐ ตัดสินใจเลิกพยุงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เข้าสู่วิกฤตอีกรอบ

ในโลกแห่งความเป็นจริง ระบบสำคัญๆ ที่ใช้ในการบริการประชาชนส่วนใหญ่ เช่นระบบสาธารณะสุข การศึกษา ระบบรถไฟ และการดูแลคนชรา มักมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเป็นของรัฐ ระบบสาธารณะสุขเอกชนของสหรัฐอเมริกาเปลืองงบประมาณมากกว่าสองเท่าของระบบรัฐในอังกฤษหรือในประเทศอื่นของยุโรป และที่สำคัญคือการนำกลไกตลาดเข้ามาบริการประชาชน จะไม่สามาระบริการคนจนจำนวนมากได้ เพราะตลาดมองเห็นแต่เงิน มองไม่เห็น ”คน” และพร้อมกันนั้นมีการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากมายในการคิดบัญชี แทนที่จะเน้นการบริการผู้ที่มีความต้องการแท้ในสังคม นี่คือสาเหตุที่คนจนจำนวนมากในสหรัฐมีระบบสาธารณะสุขที่มีคุณภาพต่ำกว่าประเทศยากจน

ในยุคนี้ หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีมาหลายทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ รายได้ของคนทำงานตกต่ำ ในขณะที่คนรวยกอบโกยผลประโยชน์เพิ่มตลอดเวลา

มันน่าสังเกตว่า ในขณะที่องค์กรคลั่งตลาดอย่าง TDRI ต่อต้านการใช้งบประมาณรัฐที่มาจากภาษีและการทำงานของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน  แต่ TDRI จะเงียบเฉยต่อการใช้งบประมาณรัฐสำหรับกองทัพ หรือสำหรับความสะดวกสบายของคนชั้นสูงหรือแม้แต่พิธีกรรมใหญ่หลวงระดับชาติ มันเป็นสองมาตรฐานที่ชัดเจน

ประเด็นที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดคลั่งกลไกตลาดเสรีของ TDRI เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับสลิ่มชนชั้นกลาง กองทัพ พวกอำมาตย์ และกลุ่มทุนใหญ่ มันตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับผลประโยชน์ของพลเมืองผู้ทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนี่คือสาเหตุที่รัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 19 กันยาถึงทุกวันนี้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพวกโจรที่กำลังอ้างว่าจะปฏิรูปประเทศไทย ถึงชื่นชมแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนี้เสมอ ทังๆที่บางครั้งเขากลัวประชาชนจนต้องป้อนผลประโยชน์ให้เราเล็กๆ น้อยๆ

กลไกตลาดเสรีเป็นระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มการกดขี่ขูดรีด และไปได้สวยกับระบบเผด็จการ และ TDRI เป็นปากเสียงให้กับระบบนี้

ประเทศไทยไม่ควรจะมีหนังสือต้องห้าม

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ไม่ควรถูกทำให้เป็นหนังสือต้องห้าม แต่ใน “กะลาแลนด์”ภายใต้ไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด การใช้มันสมองคิดอะไรเอง กลายเป็นเรื่อง “ผิด” ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าพวกนายพลปัญญาอ่อนที่ครองประเทศไทยตอนนี้ กลัวประชาชนที่ฉลาดกว่าตนเองมาก

สาเหตุสำคัญที่ประชาชนควรมีโอกาสอ่านหนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ก็เพราะมันเป็นการวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทยที่ผิด และวิเคราะห์ไม่ตรงจุด

แต่ถ้าเราไม่สามารถอ่านข้อเสนอของนักวิชาการหรือนักข่าวต่างๆ เราไม่สามารถมาถกเถียงแลกเปลี่ยนได้เลย ซึ่งแปลว่าเราเข้าถึงความจริงยากขึ้น และพลเมืองจำนวนมากอาจต้องเดาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นบนพื้นฐานข่าวลือ

ประเด็นหลักที่ผมไม่เห็นด้วยกับ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ คือเราไม่สามารถอธิบายความขัดแย้งปัจจุบันด้วยการเสนอว่าเป็นปัญหา “การเปลี่ยนรัชกาล” อย่างที่ มาร์แชล์ สเนอ แต่การทำให้เป็นหนังสือต้องห้ามของแก๊งโจรประยุทธ์ มีผลในการชักชวนให้คนไทยเชื่อว่ามันเป็นวิกฤตการเปลี่ยนรัชกาลจริง

นักข่าวต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ฟังการโม้ของคนไทยในบาร์เบียร์ มักอธิบายว่าชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมเป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากทีรัชกาลนี้สิ้นสุดลง และนี่คือสาเหตุที่ไทยมีเผด็จการทหาร

มันมีหลายระดับของคำอธิบายผิดๆ แบบนี้

ในระดับที่หยาบและไร้สาระที่สุดคือ มีการอธิบายว่าจะเกิดศึก “ชิงราชสมบัติ” ระหว่างลูก เหมือนสมัยอยุธยาหรือสมัยรัตนโกสินตอนต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจจริงในสังคมไทยสมัยนี้คือทหาร นายทุนใหญ่ และข้าราชการชั้นสูง

ในประเทศทุนนิยมทั่วโลก การมีสถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่อปกป้องและให้ความชอบธรรมกับลำดับชนชั้น และการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในมือชนชั้นปกครอง ไม่ว่าประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และประเทศไทยหรือประเทศอังกฤษไม่ใช่กรณีพิเศษ ดังนั้นในไทยกฏหมาย 112 มีไว้ปกป้องการกระทำของทหารและส่วนอื่นของชนชั้นปกครองไทย และในอังกฤษไม่มีกฏหมาย 112 เพราะชนชั้นปกครองอังกฤษ สามารถหาทางสร้างเสถียรภาพสำหรับการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในมือตนเอง โดยการนำผู้นำพรรคแรงงานมาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง

กษัตริย์ไทยหลัง ๒๔๗๕ ไม่เคยมีอำนาจ แต่ทหารที่ก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา ผูกโบสีเหลือง เพื่อสร้างความชอบธรรมกับตนเอง ปัจจุบันเวลาแก๊งประยุทธ์บอกว่าจะเข้มงวดในการใช้ 112 ก็ทำเพื่อหาความชอบธรรมกับการปล้นอธิปไตยจากประชาชนเท่านั้นเอง กิจกรรมแบนี้จำต้องอาศัยการสร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจอมปลอมเสมอ

ในระดับที่พอเชื่อได้บ้าง มีการเสนอว่าชนชั้นปกครองซีกประยุทธ์-สลิ่ม-ประชาธิปัตย์ กลัวว่าทักษิณจะมีอิทธิพลกับสถาบันกษัตริย์หลังการเปลี่ยนรัชกาล และมีการกระซิบว่าบางคนไม่อยากให้คนนั้นคนนี้ขึ้นครอง เรื่องแบบนี้อาจมีความจริงบ้าง แต่มันไม่สามารถอธิบายต้นเหตุหลักของวิกฤตการเมืองไทยได้และ ความจริงที่จับต้องได้คือ ชนชั้นปกครองไทยทั้งหมด เลือกจะนำเจ้าฟ้าชายขึ้นครอง เพราะตลอดเวลาที่มีรัฐบาลทหารหลัง ๑๙ กันยา หรือสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ หรือสมัยยิ่งลักษณ์ เจ้าฟ้าชายก็ทำหน้าที่เป็น “รองประมุข” ในพิธีกรรมต่างๆ

ถ้าเราจะวิเคราะห์จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองไทย เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยรักไทยที่เข้ามาในปี ๒๕๔๔ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรัฐบาล “คิดใหม่ทำใหม่” ที่มีพลวัตรจริงๆ เพราะนโยบายใหม่ๆ ของไทยรักไทยในที่สุดไปกระทบโครงสร้างเก่าของพวกอภิสิทธิ์ชนไทย ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้มีเจตนาหรือแผนที่จะทำอย่างนั้นเลย และความขัดแย้งนี้นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาท่ามกลางการโวยวายอย่างรุนแรงของพวกชนชั้นกลางฝ่ายขวาเสื้อเหลือง

การใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีของรัฐไทยมานาน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ในสภาพที่ไร้ประชาธิปไตย หรือไร้สิทธิของคนชั้นล่าง มีผลในการสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย และมีผลในการสร้างอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่ด้วย สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกเปิดโปงอย่างชัดเจนในวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙

เราควรจะเข้าใจว่านโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่ตั้งเป้าหมายไปที่คนชนบท เพราะคนงานในเมืองมีประกันสังคมอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่ช่วยคนงานในเมืองด้วย เพราะลดภาระในการช่วยเหลือญาติพี่น้องในชนบท แต่สำหรับนายทุนอย่างทักษิณ นโยบายเหล่านี้เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของสังคมไทย ที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งชี้ให้เห็นว่าไทยอ่อนด้อยตรงนี้มานาน

ความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของคนเสื้อแดง มาจากความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจถ้าเทียบกับคนชั้นสูง คือผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นการที่พรรคไทยรักไทยและทักษิณประกาศว่าจะให้ “คนจนเป็นผู้ร่วมพัฒนา” แทนที่จะมองอย่างที่รัฐบาลต่างๆ ในอดีตมอง ว่าคนจนเป็น “ภาระ” ของชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากนิยมพรรคไทยรักไทย

การที่ทักษิณและไทยรักไทย เปลี่ยนกระบวนการทางการเมืองในไทย จากการแค่ “เล่นการเมือง”แบบเลือกตั้ง แจกเงิน และเข้ามาร่วมกิน ของนักการเมืองหัวเก่าที่ไม่สนใจประชาชนหรืออนาคตของสังคม มาเป็นการเสนอนโยบายเพื่อครองใจประชาชน กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งทหาร ข้าราชการอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองหัวเก่า เพราะเป็นการใช้กระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อขึ่นมามีอำนาจ แทนที่จะใช้ยศศักดิ์ และความเป็นนักเลง เพื่อมีอิทธิพลในสังคม นี่คือรากกำเนิดของความขัดแย้งปัจจุบัน

ปัจจุบันพวกเศษสวะที่กำลังปฏิกูลการเมืองไทย ต้องการหมุนนาฬิกากลับสู่การเล่นการเมืองในรูปแบบก่อนไทยรักไทย นั้นคือสาเหตุที่เราจะต้องรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญปฏิกูล ที่พวกนี้กำลังจะผลิต

หนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ขาดการวิเคราะห์แบบนี้ที่ครอบคลุมทั้งสภาพเศรษฐกิจ ชนชั้น และการเมืองภาพกว้าง และที่มองพลเมืองไทยส่วนใหญ่ว่าสำคัญและมีบทบาท เพราะ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ใช้ทฤษฏีประเภทที่ไม่เห็นหัวประชาชนส่วนใหญ่ และมองว่าทุกอย่างในสังคมกำหนดจากชนชั้นบน

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ เป็นเรื่องดี แต่การด่า “ประชานิยม” เป็นแค่การสนับสนุน “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องดี เพราะควรจะมีการทบทวนบทบาท เอ็นจีโอ ในเรื่องการร่วมทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา และในเรื่องท่าทีต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงการปฏิรูปจอมปลอมอีกด้วย บ่อยครั้งในอดีต รุ่นพี่ เอ็นจีโอ มักจะปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางการเมืองด้วยระบบอาวุโส และบ่อยครั้งการถกเถียงมักจะออกมาในรูปแบบความขัดแย้งส่วนตัว แทนที่จะเป็นเรื่องหลักการ

แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นจะไร้ประโยชน์ถ้าไม่ก้าวพ้นการสร้างภาพว่า เอ็นจีโอ ปฏิเสธทฤษฏีการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ในขณะที่รับทฤษฏีเสรีนิยมของนายทุนมาใช้โดยไม่มีการวิจารณ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ควรมีการทบทวนท่าทีต่อชาวบ้านจำนวนมากที่เป็นคนเสื้อแดง แทนที่จะดูถูกประชาชนว่าเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ เพราะ “เข้าไม่ถึงข้อมูล”

นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนสร้างงาน การพักหนี้ชาวบ้าน บ้านเอื้ออาทร หรือโครงการจำนำข้าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยนานแล้ว และคนที่ด่านโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียง “ประชานิยม” ที่เลวร้าย เป็นแค่คนที่ท่องสูตรแนวเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี หรือ “เสรีนิยมใหม่” ที่คัดค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาสภาพชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะเงียบเฉยต่อการใช้เงินรัฐมหาศาลในทางทหาร หรือพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือสำหรับการลดภาษีให้คนรวยและกลุ่มทุน เพราะทฤษฏีกลไกตลาดเสรีเข้าข้างกลุ่มทุนและคนรวยเสมอ อีกด้านหนึ่งของแนวคิดแบบนี้คือการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจให้กับทุนเอกชน การเสนอให้กดค่าแรง การเสนอให้ตัดอำนาจสหภาพแรงงานด้วยกฏหมายหลายชนิด และการเสนอให้คนจนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือแม้แต่การทำลายรัฐสวัสดิการในยุโรป

ดังนั้นการที่แกนนำ เอ็นจีโอ อย่าง กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เขียนจดหมายถึงเพื่อน เอ็นจีโอ เพื่อวิจารณ์การร่วมมือในโครงการ “ปฏิรูป” ของทหารนั้น ถึงแม้ว่าการวิจารณ์ดังกล่าวถูกต้อง 100% แต่การพ่วงคำวิจารณ์นี้กับการด่า “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ แสดงว่าคนอย่าง กิ่งกร ยังยึดถือแนวคิดของฝ่ายขวาที่ปูทางไปให้ความชอบธรรมกับการทำลายประชาธิปไตยโดยเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหารของทหาร

มันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ คุณกิ่งกร เอ่ยถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นคำศัพท์ไร้สาระของฝ่ายต้านประชาธิปไตย และเป็นการปูทางไปสู่ความคิดที่ถือว่าเผด็จการทหารไม่แย่ไปกว่า “เผด็จการรัฐสภา”

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นแนวคิดที่ดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองธรรมดาที่ไปเลือกรัฐบาลทักษิณ และไม่ต่างจากการดูถูกนโยบายช่วยคนจน โดยการมองว่าคนจนเรียกร้องอะไรที่ทำให้ประเทศชาติ “เสียหาย” หรือการมองว่านโยบายดังกล่าวสร้างวัฒนธรรม “พึ่งพา” ในหมู่ชาวบ้าน

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นข้ออ้างในการสร้างเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน เหนือคนส่วนใหญ่ และในประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยรัฐสภาทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักยอมรับมติของคนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นการมีผู้แทนเสียงข้างมากในสภาของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ในขณะเดียวกับที่มีการเผยแพร่จดหมายของ คุณกิ่งกร องค์กร “กป อพช.” ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารหยุดคุกคาม เอ็นจีโอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่ยอมเข้ากับกระบวนการ “ปฏิรูป” ของเผด็จการ ซึ่งก็ดีระดับหนึ่ง แต่แถลงการณ์นี้หมดความหมายเมื่อ กป อพช. ยังแสดงความหวังว่าทหารจะฟังเสียงประชาชนในกระบวนการปฏิรูปปลอมอันนี้ และทหารต้องการปรองดอง

เราโชคดีที่ กป อพช. ภาคอีสานออกมาเตือน กป อพช.ส่วนกลาง และล่าสุด วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ กป อพช. ก็ได้เขียนจดหมายลาออก เพราะไม่พอใจความไร้จุดยืนของ กป อพช. ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” “ความเป็นธรรม” ” การมีส่วนร่วม”

คำถามคาใจเกี่ยวกับพฤติกรรม เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่คือ มันยากที่จะเข้าใจหรือ ว่าเผด็จการทหารมันเกี่ยวกับการทำลายประชาธิปไตย และตรงข้ามกับการฟังเสียงประชาชน? มันอยากที่จะเข้าใจแค่ไหน ว่าทหารไม่สนใจปรองดอง แต่ต้องการปราบปรามผู้ที่รักประชาธิปไตยและคิดต่างมากกว่า?

สำหรับแกนนำ เอ็นจีโอ หลายคน มันอาจยากที่จะเข้าใจหลายประเด็นทางการเมือง เพราะพวกนี้หันหลังให้กับการศึกษาทฤษฏีการเมืองตั้งแต่หลังป่าแตก ดังนั้นเขาจึงไปกอดแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบง่ายๆ โดยไม่รู้เรื่อง หรือไม่สนใจ ว่ามันเข้าข้างคนรวยและกลุ่มทุน และการที่พวกนี้ปฏิเสธ “การเมือง” กับการสร้างพรรคการเมืองของคนจนและกรรมาชีพ พร้อมกับปฏิเสธ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ทำให้เขาไร้พลังมวลชนที่จะเคลื่อนไหวได้ และในที่สุดก็ไปเข้ากับชนชั้นกลางสลิ่ม และหลายส่วนก็ไปเชียร์รัฐประหารอีกด้วย

แล้วเสรีภาพกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังใช้กฏหมาย 112 ในการปราบคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เมื่อไร เอ็นจีโอ จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอันนี้สักที?

ปัญหาที่แท้จริงของนโยบายรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือเป็นการช่วยคนจนในราคาถูก คือไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อนำเงินนั้นมาบริการประชาชนที่สร้างมูลค่าทั้งหมดในสังคมแต่แรก พร้อมกันนั้นไม่ยอมลดงบประมาณพิธีกรรมและทหาร และมีการปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการครอบวงจรอีกด้วย แต่การไปด่านโยบายดังกล่าว ด้วยแนวคิดและวาจาของฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสลิ่ม ไม่ใช่คำตอบ เราต้องสร้างสังคมที่ดีกว่าสังคมสมัยไทยรักไทย ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคมืด

ถ้า เอ็นจีโอ ควรทบทวนตนเอง ฝ่ายเสื้อแดงก็ควรทบทวนตนเองด้วย เพราะการไม่สร้างพลังที่อิสระจาก นปช. และทักษิณ ในหมู่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ทำให้เราล้มเผด็จการและลบผลพวงทั้งหมดของการปฏิรูปจอมปลอมยากขึ้น

นี่คือสาเหตุที่กรรมาชีพคนทำงาน และเกษตรกรรายย่อย ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของตนเอง และต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวที่อิสระจากนายทุนหรือคนใหญ่คนโตอีกด้วย

25 ปีหลังกำแพงเมืองเบอร์ลินพังลงมา

25 ปีผ่านไปแล้วหลังการล่มสลายของระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ในยุโรปตะวันออก และสัญญลักษณ์สำคัญของเหตุการณ์นั้นคือการที่กำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ต้องพ่ายแพ้สงคราม เยอรมันถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนที่ปกครองโดย สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรในการรบกับเยอรมัน แต่พอเกิดการแข่งขันอย่างหนักในสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับรัสเซียในภายหลัง เยอรมันก็ถูกแบ่งเป็นสองซีกคือเยอรมันตะวันตก ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทุนนิยม กับเยอรมันตะวันออกที่เป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ภายใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์

กำแพงเมืองเบอร์ลินเป็นกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีข้ามฝั่งไปสู่เบอร์ลินตะวันตก การปิดกั้นประชาชนแบบนี้พิสูจน์ว่าสังคมในเยอรมันตะวันออกไม่ใช่ “สังคมนิยม” ตามแนว มาร์คซ์ เลนิน ตรอทสกี้ แต่เป็นระบบเผด็จการแนวสตาลิน ซึ่งไม่ต่างจากเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน เพราะถ้าเป็นสังคมนิยมจริงจะมีการเน้นคุณภาพชีวิตและการผลิตเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ ประชาชนก็คงจะอยากเดินทางเข้ามาตั้งที่อยู่อาศัยในสังคมแบบนั้น ไม่ใช่พยายามหนีออกนอกประเทศ

ระบบสังคมนิยมแบบมาร์คซิสต์ เป็นระบบที่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้ทำงาน มีอำนาจในการควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองด้วยระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ มันเคยเกิดขึ้นในโลกในแค่ช่วงเวลาสั้นหลังการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ก่อนที่การปฏิวัติครั้งนั้นจะถูกทำลายโดยการขึ้นมาของสตาลิน สาเหตุสำคัญของการขึ้นมาของสตาลินคือการที่รัสเซียไม่สามารถขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเช่นเยอรมัน สังคมนิยมรัสเซียจึงโดดเดี่ยวในโลกทุนนิยม

เผด็จการสตาลินเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพผ่านระบบรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เพราะไม่มีการผลิตเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจกำหนดเศรษฐกิจอีกด้วย

ในขณะที่ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ ทุนนิยมตลาดเสรีในประเทศตะวันตกก็เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่มีประชาธิปไตยทางการเมือง คือระบบเศรษฐกิจในทุนนิยมตลาดเสรีถูกควบคุมโดยนายทุนใหญ่และกลุ่มทุน โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง และแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องก้มหัวให้นายทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

25 ปีที่แล้ว เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น และหลังระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ก็จะมีนักวิชาการกระแสหลักออกมาพูดว่านี่คือจุดจบของประวัติศาสตร์ เพราะในความเห็นของเขาทุนนิยมตลาดเสรีถูกพิสูจน์ว่าได้รับชัยชนะ พวกนี้จะมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลไกตลาดของทุนนิยม และนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งก็จะอ้างว่าหลังจากนั้นจะมีแต่การพัฒนาประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีสงคราม แต่คำทำนายทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ว่าไร้สาระโดยสิ้นเชิง

การใช้กลไกตลาดเสรีในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ และในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งทำให้เกิดการกบฏ ประท้วง และปฏิวัติในหลายประเทศ และ 20 ปีหลังกำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจตะวันตก ก็เข้าสู่วิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญคือวิกฤตทุนนิยมครั้งนี้เกิดจากการแข่งขันในตลาดของทุนนิยม ที่นำไปสู่การลดลงของอัตรากำไรและการผลิตล้นเกิน อย่างที่ คาร์ล มาร์คซ์ อธิบายในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ผลคือมีการถอยหลังไปทำลายรัฐสวัสดิการและคุณภาพชีวิตประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้โลกก็จมอยู่ในสภาพสงครามอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปและที่อื่น ก็ขยับไปทางขวา รับแนวกลไกตลาดเสรีมาใช้ จนแยกไม่ออกว่ามีนโยบายที่แตกต่างกันตรงไหน ซึ่งทำให้มีวิกฤตแห่งศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก และการขยายตัวของฝ่ายซ้ายก้าวหน้าในบางประเทศ กับการขยายอิทธิพลของพวกฟาสซิสต์ขวาจัดในประเทศอื่นๆ

ในไทย หลังกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง พวกฝ่ายซ้ายเก่าจำนวนมาก ที่เคยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ประกาศว่า “สังคมนิยมหมดยุค” ส่วนหนึ่งไปจับมือกับทักษิณในการสร้างพรรคไทยรักไทย อีกส่วนก็หันหลังให้กับคนจนไปเลย โดยไปอยู่กับพันธมิตรฯเสื้อเหลืองและฝ่ายขวาที่เลียทหารเผด็จการ

แต่สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในความจริงเรามีทางเลือกมากกว่าแค่สองทางที่เลือกระหว่าง เผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ กับ เผด็จการทุนนิยมตลาดเสรี ทางเลือกที่สามคือการสร้างขบวนการสังคมนิยมจากล่างสู่บน เพื่อให้กรรมาชีพและคนจนสามารถเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยไม่ต้องไปพึ่งพวกอภิสิทธิ์ชนหรือนายทุน นี่คือแนวทางที่เราควรจะเลือกเพื่อก้าวพ้นความตันทางการเมืองที่เราเห็นในประเทศไทย หรือในประเทศอื่นเกือบทุกประเทศ

 

กลุ่มโบโคฮาแรม ในประเทศไนจีเรีย

กลุ่มนักรบอิสลามของโบโคฮาแรมกำลังก่อสงครามโหดร้ายทางเหนือของประเทศไนจีเรีย เกือบทุกวันจะมีข่าวการทำลายหมู่บ้านและเข่นฆ่าชาวบ้านโดยนักรบจากกลุ่มนี้ และเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ โบโคฮาแรม ได้จับตัวนักศึกษาสตรีจำนวน 270 คนในรัฐบอร์โน เพื่อนำไปเป็นทาสทางเพศหรือตัวประกัน

NIGERIA_GIRLS_BOKO__698466a

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มโบโคฮาแรมมีพลังก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองบางคน และนายทหารระดับสูงบางคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไนจีเรีย มีข่าวออกมาว่านายพลระดับสูงอย่างน้อย 10 คน ได้ส่งอาวุธและข่าวกรองให้องค์กรนี้ และมีนักการเมืองกระแสหลักหนุนหลังด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลพยายามจะปกปิดการร่วมมือกันระหว่างคนในระดับสูงของรัฐบาลกับโบโคฮาแรม

แม้แต่ประธานาธิบดี กุดลัค จอนนาธาน ก็เคยบ่นในปี 2012  ว่าในกองทัพและบางส่วนของรัฐบาล มีผู้ที่สนับสนุนโบโคฮาแรม

โบโคฮาแรม เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างปี 2002-2008 องค์นี้สามารถจะสร้างฐานมวลชนหลายแสนเพราะพูดด้วยภาษาศาสนาว่าคนจนควรจะมีความหวังในชาติหน้า และจะต้องมีการดึงพวกคนรวยลงมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมในโลกปัจจุบัน แนวคิดแบบนี้สามารถครองใจคนจนเป็นล้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย เพราะภาคนี้เป็นภาคที่ยากจนที่สุด ทั้งๆ ที่ไนจีเรียมีทรัพยากรน้ำมันและไม่ควรจะเป็นประเทศยากจน อย่างไรก็ตาม โบโคฮาแรม เป็นองค์กรที่เกลียดชังคนศาสนาอื่น หรือคนที่มาจากชุมชนทางใต้

การที่โบโคฮาแรมครองใจประชาชนจำนวนมาก ทำให้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสหลายคน พยายามที่จะสนับสนุนและเข้าใกล้ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองดังกล่าว ที่หวังจะได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลกลางและกองทัพฆ่าผู้นำโบโคฮาแรม ทำให้องค์กรนี้ลงใต้ดินและหันมาจับอาวุธ

ชนชั้นปกครองไนจีเรียพยายามใช้การเมืองแบบชุมชนนิยม เพื่อแบ่งแยกประชาชนตามเชื้อชาติและศาสนา โดยหวังว่าจะให้ประโยชน์กับตนเอง แต่นโยบายดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วนโหดร้ายในสังคมไนจีเรีย

สิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือการสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพและคนจน ที่ยึดแนวชนชั้น และต่อต้านชนชั้นปกครองทั้งหมด โดยสร้างความสามัคคีในหมู่มวลชนคนต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ

(เรียบเรียงจากบทความของ บาบา ไอย์ สมาชิกสันนิบาติสังคมนิยมไนจีเรีย- องค์กรสังกัด IST)

พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ในสเปนรุ่งเรือง

โพล์ล่าสุดในสเปน รายงานว่าพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ “โพเดอร์มอส” ติดอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนนนิยม 27.7%ในขณะที่พรรคสังคมนิยมกระแสหลักติดอันดับที่สองด้วยคะแนนนิยม 26.6%   ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันได้คะแนนนิยมแค่ 20.7 %

“โพเดอร์มอส”แปลว่า “เราทำได้” ซึ่งเป็นชื่อที่เน้นการเปลี่ยนแปลงระบบท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

“โพเดอร์มอส”เป็นพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ที่พึ่งก่อตั้งเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว และก่อตัวจากการชุมนุมบนท้องถนนของประชาชนที่ต่อต้านแนวเสรีนิยมกลไกตลาด เช่นการการตัดสวัสดิการและการเพิ่มอัตราว่างงานของรัฐบาลฝ่ายขวา

“โพเดอร์มอส”เรียกร้องให้จำคุกนายทุนธนาคารที่มีส่วนในการก่อวิกฤต และเรียกร้องให้มีการยุติการไล่คนออกจากบ้านเพราะขาดรายได้ในการจ่ายค่าเช่า

นโยบายอื่นๆ ของ “โพเดอร์มอส”จะเน้นการสร้างมาตรฐานรายได้ให้กับคนจน และการเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยและกลุ่มทุน

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพรรค “โพเดอร์มอส”ได้ สส. ในสภาอียูของยุโรปสามคน และทั้งสามสัญญาว่าจะรับเงินเดือนไม่เกินสามเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ

แกนนำอธิบายว่าพรรค “โพเดอร์มอส”จะนำเสียงของมวลชนบนท้องถนนมาเป็นพลังในการท้าทายสถาบันทางการเมือง และมีการอธิบายว่าต้องรวมพลังในพรรค แทนที่จะอาศัยมวลชนกระจัดกระจาย วิธีการจัดตั้งของพรรคมีวิธีใหม่ๆ โดยเฉพาะการจัด “วงสมัชชามวลชน” ในเมืองและชุมชนต่างๆ เพื่อให้สมาชิกถกเถียงและแสดงความเห็นโดยตรง “วงสมัชชามวลชน” เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวรากหญ้าเอง

“โพเดอร์มอส” ก่อตัวขึ้นจากมวลชนคนหนุ่มสาวที่ยึดจัตุรัสตามเมืองต่างๆ ในสเปนในปี 2011 ตอนนั้นคนส่วนใหญ่มีอคติกับพรรคการเมือง เพราะมองว่า “พรรคการเมือง” เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ปกป้องอภิสิทธิ์ชนและระบบเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มมีการทบทวนแนวคิด เพราะคนจำนวนมากมองว่าการประท้วงของมวลชนยังไม่มีผลกระทบทางการเมืองเท่าที่ควร เลยมีการเสนอให้ตั้งพรรค

พับโล อิกเลเซีย นักจัดรายการโทรทัศน์ฝ่ายซ้ายเป็นผู้จุดประกายให้ตั้งพรรค และคาดว่าเขาจะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคในไม่ช้า ภายใน “พีดามอส” และ “วงสมัชชามวลชน” มีหลากหลายแนวคิดของฝ่ายซ้าย

พับโล อิกเลเซีย มีแนวคิดคล้ายๆ พรรค “ไซรีซา” ในกรีส ซึ่งมีแนวโน้มอยากจะปฏิรูปและประนีประนอม นอกจากนี้จะมีกลุ่ม “เอนลูชา” (“ต่อสู้”) ที่ต่อต้านทุนนิยมและเป็นแนวเดียวกับ “เลี้ยวซ้าย” และที่สำคัญคือมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนรู้วิธีต่อสู้ทางการเมืองเป็นครั้งแรก คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการแปรรูปโรงพยาบาลให้เป็นเอกชน และในการสนับสนุนนักสหภาพแรงงานครูระดับรากหญ้าที่นัดหยุดงานต้านการตัดงบประมาณการศึกษา

คะแนนนิยมในโพล์ ไม่เหมือนผลการเลือกตั้งจริง และเราต้องรอดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ปรากฏการณ์ของ “พีดามอส” เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่สำคัญคือมันสะท้อนความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

ความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก ไม่มีหลักประกันว่าจะนำไปสู่การสนับสนุนฝ่ายซ้ายโดยอัตโนมัติ มันสร้างกระแสฝ่ายซ้ายในสเปน ในสก็อตแลนด์ (ท่ามกลางประชามติที่พึ่งผ่านมา) ในไอร์แลนด์ และในกรีส แต่มันไปสร้างกระแสฝ่ายขวาเหยีดผิวหรือแนวฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส ในยุโรปตะวันออก และในอิงแลนด์

ในไทยการแช่แข็งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดย นปช. เพื่อไทย และทักษิณ และความกระจัดกระจายของเสื้อแดงอิสระ ทำให้กระแสการต่อสู้อ่อนแอ และหลายคนอาจหมดกำลังใจ

ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างขั้วฝ่ายซ้ายในยุคนี้

พวกเสรีนิยมกลไกตลาดต้องการขยายเวลาขูดรีดเรา

เรื่องอายุเกษียณ และสวัสดิการสำหรับคนชรา เป็นเรื่องที่นักสหภาพแรงงานไทยควรจะเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อโต้นักวิชาการฝ่ายทุน เช่นพวกคลั่งกลไกตลาดใน “ทีดีอาร์ไอ”

ทุกวันนี้นักวิชาการและนักการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด กำลังเสนอว่าคนชราในสังคม “เป็นภาระ” เพราะดันทะลึ่งไปมีสุขภาพดีและอายุยืนนานกว่าสมัยก่อน ความคิดนี้นอกจากจะไม่ระลึกถึงบุญคุณที่เราควรจะมีต่อคนทำงานรุ่นก่อนแล้ว ยังเป็นการโกหกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิชาการคลั่งเสรีนิยมกลไกตลาด จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่าไทยต้อง “รับมือกับสังคมสูงอายุ” เพราะ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศจะเป็นผู้สูงอายุภายในปี 2573

ตัวเลขของ “ทีดีอาร์ไอ” ถูกเสนอแบบกลับหัวกลับหาง เพราะในความเป็นจริง พอถึงปี พ.ศ. 2573 ในประเทศไทยจะมีคนในวัยทำงาน 3 คนต่อคนชรา 1 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่น่ากลัวเลย ถ้าพิจารณาการพัฒนาเท็คโนโลจีและประสิทธิภาพการผลิต คนในวัยทำงาน 3 คนสามารถสร้างมูลค่าเพื่อดูแลคนเกษียณ 1 คนได้ง่ายมาก แต่สื่อกระแสหลัก รวมถึง “ประชาไท” ไม่เคยตรวจสอบและวิจารณ์อคติของนักวิชาการเหล่านี้เลย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าพวกนักวิชาการกลัวว่าไทยจะขาดแรงงานในวัยทำงาน มันมีวิธีแก้ไขที่ง่ายมากคือเปิดประเทศและต้อนรับแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามา และรับเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย เพราะเขาจะสร้างมูลค่าและจ่ายภาษีเหมือนแรงงานไทย แต่พวกเสรีนิยมและพวกที่เลียเผด็จการทหาร ต้องการกีดกันคนจากประเทศเพื่อนบ้านเสมอ

สิ่งที่พวกนักวิชาการฝ่ายทุนใน “ทีดีอาร์ไอ” กลัวคือ กลุ่มทุนใหญ่และรัฐบาลจะต้องคืนส่วนแบ่งของมูลค่าในสังคมให้กับคนเกษียณมากขึ้น คือกลุ่มทุนอาจต้องลดกำไรไปบ้าง และรัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณดูแลคนชราจากการเก็บภาษี

กำไรของกลุ่มทุนทุกบาท และภาษีที่รัฐเก็บนั้น ทั้งหมดเป็นมูลค่าที่คนทำงานสร้างขึ้นแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งที่นายทุน เศรษฐี หรือรัฐบาลสร้างแต่อย่างใด

นักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล มาร์คซ์ และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง เดวิด ริคาร์โด ค้นพบมานานแล้วว่ามูลค่าทั้งปวงในสังคมมนุษญย์มาจากการทำงานของกรรมาชีพ แต่นายทุน เจ้าของที่ดิน และรัฐบาล ยึดส่วนเกินไปเป็น กำไร ค่าเช่า และภาษี

เงินบำเหน็จบำนาญของคนชรา เป็นเงินที่พวกเราสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นการออมค่าจ้างของเรา มันเป็นของเราและไม่มีใครอื่นให้เรา

แต่ทั่วโลกพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีอย่าง “ทีดีอาร์ไอ” กำลังเสนอว่าบำเหน็จบำนาญของคนชรา “แพงเกินไป” ในยุโรปความเชื่อนี้นำไปสู่การยืดเวลาทำงาน มีการพยายามขยายอายุเกษียนถึง 65 หรือ 67 และมีการกดระดับสวัสดิการอีกด้วย มันเป็นการทำลายคุณภาพชีวิตประชาชน

การบังคับให้เราต้องทำงานนานขึ้นก่อนการเกษียณ หรือการขยายชั่วโมงการทำงานทุกสัปดาห์ เป็นการเพิ่มเวลาเพื่อขูดรีดเราในขณะที่เราทำงาน เพื่อให้นายทุนกอบโกยกำไรเพิ่ม แต่ไม่มีการเพิ่มอัตราค่าจ้างแต่อย่างใด

ในประเทศไทยนอกจากจะมีทรัพย์สินมหาศาลกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่ตระกูลแล้ว ยังมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสำหรับงบทหารและงบพิธีกรรมต่างๆ และพร้อมกันนั้นคนรวยเกือบจะไม่จ่ายภาษีเลยเมื่อเทียบกับรายได้

ข้อมูลที่พวกเสรีนิยมนำมาใช้เพื่อสนับสนุนความเชื่อเท็จนี้ คือสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราที่ลดลง แต่สิ่งที่พวกเสรีนิยมไม่เคยอยากพิจารณาคือในขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50ปีข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและกลุ่มทุนลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และรัฐบาลไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก และแนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อให้ฝ่ายนายทุนได้ส่วนแบ่งมากขึ้นจากคนทำงาน นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ