25 ปีผ่านไปแล้วหลังการล่มสลายของระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ในยุโรปตะวันออก และสัญญลักษณ์สำคัญของเหตุการณ์นั้นคือการที่กำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ต้องพ่ายแพ้สงคราม เยอรมันถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนที่ปกครองโดย สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรในการรบกับเยอรมัน แต่พอเกิดการแข่งขันอย่างหนักในสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับรัสเซียในภายหลัง เยอรมันก็ถูกแบ่งเป็นสองซีกคือเยอรมันตะวันตก ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทุนนิยม กับเยอรมันตะวันออกที่เป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ภายใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์
กำแพงเมืองเบอร์ลินเป็นกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีข้ามฝั่งไปสู่เบอร์ลินตะวันตก การปิดกั้นประชาชนแบบนี้พิสูจน์ว่าสังคมในเยอรมันตะวันออกไม่ใช่ “สังคมนิยม” ตามแนว มาร์คซ์ เลนิน ตรอทสกี้ แต่เป็นระบบเผด็จการแนวสตาลิน ซึ่งไม่ต่างจากเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน เพราะถ้าเป็นสังคมนิยมจริงจะมีการเน้นคุณภาพชีวิตและการผลิตเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ ประชาชนก็คงจะอยากเดินทางเข้ามาตั้งที่อยู่อาศัยในสังคมแบบนั้น ไม่ใช่พยายามหนีออกนอกประเทศ
ระบบสังคมนิยมแบบมาร์คซิสต์ เป็นระบบที่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้ทำงาน มีอำนาจในการควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองด้วยระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ มันเคยเกิดขึ้นในโลกในแค่ช่วงเวลาสั้นหลังการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ก่อนที่การปฏิวัติครั้งนั้นจะถูกทำลายโดยการขึ้นมาของสตาลิน สาเหตุสำคัญของการขึ้นมาของสตาลินคือการที่รัสเซียไม่สามารถขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเช่นเยอรมัน สังคมนิยมรัสเซียจึงโดดเดี่ยวในโลกทุนนิยม
เผด็จการสตาลินเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพผ่านระบบรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เพราะไม่มีการผลิตเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจกำหนดเศรษฐกิจอีกด้วย
ในขณะที่ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ ทุนนิยมตลาดเสรีในประเทศตะวันตกก็เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่มีประชาธิปไตยทางการเมือง คือระบบเศรษฐกิจในทุนนิยมตลาดเสรีถูกควบคุมโดยนายทุนใหญ่และกลุ่มทุน โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง และแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องก้มหัวให้นายทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ
25 ปีที่แล้ว เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น และหลังระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ก็จะมีนักวิชาการกระแสหลักออกมาพูดว่านี่คือจุดจบของประวัติศาสตร์ เพราะในความเห็นของเขาทุนนิยมตลาดเสรีถูกพิสูจน์ว่าได้รับชัยชนะ พวกนี้จะมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลไกตลาดของทุนนิยม และนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งก็จะอ้างว่าหลังจากนั้นจะมีแต่การพัฒนาประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีสงคราม แต่คำทำนายทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ว่าไร้สาระโดยสิ้นเชิง
การใช้กลไกตลาดเสรีในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ และในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งทำให้เกิดการกบฏ ประท้วง และปฏิวัติในหลายประเทศ และ 20 ปีหลังกำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจตะวันตก ก็เข้าสู่วิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญคือวิกฤตทุนนิยมครั้งนี้เกิดจากการแข่งขันในตลาดของทุนนิยม ที่นำไปสู่การลดลงของอัตรากำไรและการผลิตล้นเกิน อย่างที่ คาร์ล มาร์คซ์ อธิบายในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ผลคือมีการถอยหลังไปทำลายรัฐสวัสดิการและคุณภาพชีวิตประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้โลกก็จมอยู่ในสภาพสงครามอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปและที่อื่น ก็ขยับไปทางขวา รับแนวกลไกตลาดเสรีมาใช้ จนแยกไม่ออกว่ามีนโยบายที่แตกต่างกันตรงไหน ซึ่งทำให้มีวิกฤตแห่งศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก และการขยายตัวของฝ่ายซ้ายก้าวหน้าในบางประเทศ กับการขยายอิทธิพลของพวกฟาสซิสต์ขวาจัดในประเทศอื่นๆ
ในไทย หลังกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง พวกฝ่ายซ้ายเก่าจำนวนมาก ที่เคยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ประกาศว่า “สังคมนิยมหมดยุค” ส่วนหนึ่งไปจับมือกับทักษิณในการสร้างพรรคไทยรักไทย อีกส่วนก็หันหลังให้กับคนจนไปเลย โดยไปอยู่กับพันธมิตรฯเสื้อเหลืองและฝ่ายขวาที่เลียทหารเผด็จการ
แต่สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในความจริงเรามีทางเลือกมากกว่าแค่สองทางที่เลือกระหว่าง เผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ กับ เผด็จการทุนนิยมตลาดเสรี ทางเลือกที่สามคือการสร้างขบวนการสังคมนิยมจากล่างสู่บน เพื่อให้กรรมาชีพและคนจนสามารถเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยไม่ต้องไปพึ่งพวกอภิสิทธิ์ชนหรือนายทุน นี่คือแนวทางที่เราควรจะเลือกเพื่อก้าวพ้นความตันทางการเมืองที่เราเห็นในประเทศไทย หรือในประเทศอื่นเกือบทุกประเทศ