เราลบผลพวงรัฐประหารด้วยการนำรัฐธรรมนูญปี๔๐กลับมาใช้ไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

การทำรัฐประหารรอบสองโดยประยุทธ์มือเปื้อนเลือด และการ “ปฏิกูล” การเมืองโดยศัตรูของประชาธิปไตยที่คลานเข้าไปรับใช้เผด็จการ เป็นการทำลายประชาธิปไตยไทยครั้งยิ่งใหญ่ มันแก้ไขไม่ได้โดยการ “รอโอกาสในอนาคตให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิม” อย่างที่เสื้อแดงหลายคนและ “เสรีไทย” เสนอ

แนวร่วมระหว่าง ทหารเผด็จการ องค์มนตรี ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่บางส่วน ที่เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือ ถือว่าเป็น “แนวร่วมนรก” ที่กำลังวางแผนจะคุมระบบการเมืองไทยไปอีกนานภายใต้ระบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ถ้าเราจะมีเสรีภาพเราต้องโค่นแนวร่วมเผด็จการนี้แบบถอนรากถอนโคน ซึ่งแปลว่าต้องกำจัดอำนาจทหารและยกเลิกสถาบันกษัตริย์ที่พร้อมจะถูกใช้เพื่อประโยชน์เผด็จการมาตลอด

ถ้าเราไม่โค่นแนวร่วมนรก ที่ทำลายประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง เราจะไม่แก้ปัญหา และที่สำคัญคือการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ มันอยู่ที่พลังมวลชน

วิกฤตการเมืองประชาธิปไตยครั้งนี้ เป็นการทดสอบนักการเมืองฝ่าย “ทักษิณ-เพื่อไทย” ครั้งยิ่งใหญ่อีกด้วย ทดสอบแล้วก็สอบตก เพราะไม่ยอมนำการต่อสู้ คอยแต่จะประนีประนอมกับทหารภายใต้ข้ออ้างต่างๆ นาๆ แต่สาเหตุจริงที่พวกทักษิณและนปช.ไม่ยอมต่อสู้ ไม่ใช่เพราะกลัวสงครามกลางเมืองและการนองเลือด หรือเพราะ “สู้ไม่ได้” แต่เป็นเพราะเขาไม่ต้องการล้มอำมาตย์แบบถอนรากถอนโคนต่างหาก มันอธิบายได้ง่ายเพราะทักษิณและพรรคพวกก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอำมาตย์ด้วย เพียงแต่ว่าเขาทะเลาะกัน เสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยและอยากมีศักดิ์ศรีและเสรีภาพควรเข้าใจตรงนี้

พวกเราชาว “สังคมนิยมปฏิวัติ” ไม่ต้องการสงครามนองเลือดหรอก เราไม่เห็นด้วยกับคนที่พูดด้วยความง่ายดายว่าควร “จับอาวุธสู้” เพราะการต่อสู้แบบนั้นมันไม่มีวันชนะ สงครามกลางเมืองอันโหดร้ายในซิเรียเป็นคำเตือนที่ดี เราส่งเสริมการเคลื่อนไหวของมวลชนแทน แต่ต้องฉลาดในการเคลื่อนไหว ต้องรู้ว่าพลังของคนชั้นล่างอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ไปนั่งแช่กลางถนนจนฝ่ายตรงข้ามปราบปราม บทเรียนจากทั่วโลกในยุคต่างๆ สอนให้เรารู้ว่า “คนทำงาน” มีพลังอันยิ่งใหญ่ถ้ารวมตัวกันได้ การนัดหยุดงานเป็นอาวุธสำคัญของมวลชน แต่ก่อนที่เราจะใช้ได้ต้องมีการจัดตั้งทางการเมือง ซึ่งใช้เวลา

คนจำนวนมากในยุคนี้กำลังมองขึ้นข้างบน มองหาฟ้า เพื่อหา “ผู้ใหญ่” ที่จะมาปลดแอกเรา ไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ เพื่อไทย เจ้าฟ้าชาย สหประชาชาติ หรือแม้แต่การตายของนายภูมิพล แต่คนที่มองขึ้นฟ้าตลอด จะมองไม่เห็นทาง และจะเหยียบขี้บนทางเดินเท้าท่ามกลางการฝันถึงอัศวินม้าขาว

“เลี้ยวซ้ายปฏิวัติ” จะไม่เสนอตัวเป็น “อัศวินม้าขาว” ตัวใหม่เด็ดขาด เราจะไม่โกหกปกปิดถึงความยากลำบากในการต่อสู้ แต่เราจะพยายามเสนอแนวทางการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะต้องอาศัยความกระตือรือร้น การจัดตั้งทางการเมือง การศึกษาการเมือง และการทำงานลับใต้ดิน เราเป็นเพียงโคมไฟเล็กๆ ที่จุดประกาย มันจะกลายเป็นกองไฟใหญ่ที่ลุกฮือทั่วประเทศได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองจำนวนมากค่อยๆ นำไปปฏิบัติ นำไปถกเถียง และนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทางลัดสู่เสรีภาพไม่เคยมี

อย่าโกหกตนเองอีกต่อไปเลย เสรีภาพของเราจะไม่มาจากการกระทำจากข้างบน มันจะไม่มาโดยอัตโนมัติถ้าเราแค่ใจเย็นรอ มันต้องมาจากการขยันทำงานทางการเมือง และการจัดตั้งของเราเองในชุมชนต่างๆ ของประเทศไทย

“การปฏิวัติ” เป็นกระบวนการ สังคมที่เท่าเทียมหรือ “สังคมนิยม” ที่เต็มไปด้วยประชาธิปไตย เป็นเป้าหมาย และเราต้องพร้อมจะจับมือและร่วมมือกับคนที่อยากได้ประชาธิปไตยทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีมุมมองทางการเมืองอย่างไร แต่เราไม่จำเป็นต้องลดหรือ “เบาลง” แนวการเมืองของเราเพื่อความสามัคคีจอมปลอม

ในเดือนต่อๆ ไป จะมีการพยายามเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เพื่อให้เพื่อนมิตรสหายนำไปคิด ภายใต้ความหวังว่าวันหนึ่งเราจะปฏิวัติสังคมได้ นี่คือสิ่งที่นักต่อสู้ในต่างประเทศขอมอบให้ท่านในปีใหม่นี้ เราทำแทนท่านไม่ได้ เราต้องสู้ร่วมกัน

จะล้มเผด็จการอียิปต์ได้อย่างไร?

สัมภาษณ์สมาชิกองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์

ตอนนี้เราเผชิญหน้ากับเผด็จการปฏิวัติซ้อนที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอียิปต์ ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

มันชัดเจนว่าการปฏิวัติซ้อนครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นระบบเก่าที่ถูกล้มจากการลุกฮือ “อาหรับสปริง” มีการปล่อยบุคคลจากระบบเก่าที่เคยโดนจับ และรัฐบาลของ เอล์ซิซี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนภายในประเทศและจากตะวันตกด้วย

ในแง่หนึ่งการที่เราต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลาเพื่อทำใจ จริงๆ แล้วเราน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่การทำรัฐประหารเพื่อช่วงชิงอำนาจท่ามกลางการประท้วงต้าน มูรซี่

ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเข้าใจได้ว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลกับทหารในยุคนี้ เป็นการแก้แค้นปราบปรามขบวนการปฏิวัติทั้งหมด ไม่ใช่แค่การปราบพรรคมุสลิม ความโหดร้ายของชนชั้นปกครองเห็นได้จากการเข่นฆ่าประชาชนในเดือนสิงหาคม 2013 เพราะภายในเวลาแค่สามชั่วโมงมีประชาชนตายมากกว่า 1000 คน หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าออกมายึดจตุรัสกลางเมืองต่างๆ เหมือนเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหดหู่ เราควรมองโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า คือขบวนการแรงงานกรรมาชีพ อาจอ่อนแอกว่าเดิม และผู้นำส่วนหนึ่งอาจหักหลังสมาชิกโดยการร่วมมือกับทหาร แต่ขบวนการแรงงานยังไม่ถูกทำลาย คนงานที่โรงเหล็ก “เฮลวาน” กำลังนัดหยุดงานอยู่ทุกวันนี้และรัฐบาลไม่กล้าปราบหนัก แบบที่ปราบขบวนการทางการเมือง นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติล้ม มูบารัก  เขาได้ผ่านการเรียนรู้ยาวนาน เขามีประสบการณ์ชัยชนะและความพ่ายแพ้ เขาเรียนรู้วิธีการจัดตั้งและวิธีสู้กับตำรวจ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นคลังความรู้สำหรับการต่อสู้รอบใหม่ในอนาคต

สภาพปัจจุบันมีเสถียรภาพชั่วคราวเท่านั้น เพราะตะวันตกและรัฐอาหรับในอ่าว สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ ด้วยเงินทุน แต่ปัญหาระยะยาวยังคงอยู่ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจุดประกายการปฏิวัติแต่แรก นอกจากนี้การที่หลายคนหมดความหวังกับขบวนการ “อาหรับสปริง” ทำให้คนหันไปสนับสนุนกองกำลัง “ไอซิล” เพื่อหาทางออก มันสร้างความวุ่นวายทั่วตะวันออกกลาง

เราต้องเข้าใจว่าในยุคปัจจุบัน การลุกฮือรอบต่อไปของการปฏิวัติอียิปต์อาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเกิด ในเวลาที่เรารอเราต้องเตรียมตัวด้วยการสร้างองค์กรพรรคปฏิวัติ ในช่วงล้ม มูบารัก เราได้รับบทเรียนว่าองค์กรของเราเล็กเกินไปที่จะช่วงชิงการนำจากคนที่สนับสนุนพรรคมุสลิม หรือคนที่หลงไว้ใจกองทัพ เราเล็กเกินไปที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระหว่างขบวนการประท้วงกับขบวนการแรงงานด้วย

เราต้องสร้างองค์กรปฏิวัติที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามัวแต่นิ่งเฉย รอสร้างพรรคท่ามกลางการปฏิวัติ เราจะต้านกระแสที่แรงกว่าไม่ได้

ฉนั้นตอนนี้เราต้องลงมือจัดตั้งคนหนุ่มสาวและคนงานกรรมาชีพอย่างเป็นระบบ เราต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาภายในองค์กร และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและแรงงานเมื่อมันเกิดขึ้น นอกจากนี้เราต้องหาทางเชื่อมโยงกับผู้ถูกกดขี่ในสังคม เช่นสตรี กลุ่มคนคริสเตียน และคนเบดูวิน เพราะรัฐบาลจะคอยสร้างภาพว่ากำลังเอาใจพวกนี้ เพื่อเบี่ยงเบนการต่อสู้

ถ้าเราเตรียมงานดี การปฏิวัติอียิปต์จะมีอนาคต

วิจารณ์หนังสือ “A Kingdom in Crisis: Thailand’s Struggle for Democracy in the Twenty-First Century” ของ แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ“A Kingdom in Crisis: Thailand’s Struggle for Democracy in the Twenty-First Century” (ราชอาณาจักรท่ามกลางวิกฤต การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในศตวรรษที่ 21) ของ แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ตั้งชื่อผิดแต่แรก เพราะเล่มนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่มวลชนต้องต่อสู้เพื่อได้มา แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยแต่อย่างใด เพราะสนใจแต่พฤติกรรมเบื้องบน อันนี้ถือว่าเป็นแนวคิดแบบชนชั้นนำที่ดูถูกมวลชนหรือประชาชนส่วนใหญ่ และ มาร์แชลล์ มักจะมีท่าทีที่ดูถูกประชาชนไทยว่าคิดเองไม่เป็น และถูกชักใยโดยผู้ใหญ่เสมอ

หนังสือของ มาร์แชลล์ เขียนด้วยมาตรฐาน วารสารซุบซิบ “ข่าวดารา” มีแต่การเน้นข่าวในราชวงศ์ เพื่อ “พิสูจน์” ว่าวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรฯเสื้อเหลือง ผ่านรัฐประหารสองรอบ จนถึงวันนี้ เป็นเพราะมี “วิกฤตการเปลี่ยนรัชกาล”

แต่ มาร์แชลล์ ไม่เคยวิเคราะห์พลวัตและความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ที่มีกับกองทัพ นายทุน หรือชนชั้นปกครองโดยทั่วไปในสังคมไทย เขาไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ยุคอยุธยา ผ่านรัตนโกสิน ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัชกาลที่๕ สู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕

ในเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕ มาร์แชลล์ ขุดแนวคิดอนุรักษ์นิยมของนักวิชาการล้าหลัง มาเพื่อเสนอว่ามันเป็นแค่รัฐประหารในหมู่ชนชั้นนำ โดยที่เขาไม่พิจารณางานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เลย

จริงๆ แล้ว มาร์แชลล์ ไม่ยอมสำรวจงานเขียนของนักวิชาการก้าวหน้าในไทยเลย เพราะอาศัยแต่งานภาษาอังกฤษของนักวิชาการฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม เราคงต้องสรุปว่า มาร์แชลล์ อ่านภาษาไทยไม่ได้ หรือเลือกที่จะไม่อ้างอิงและถกเถียงกับนักวิชาการไทยที่มองต่างมุม

มาร์แชลล์ ไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมเจ้าในอดีต เพราะมองข้ามช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับรัฐไทย เขาเลยมองว่าปรากฏการณ์คนเสื้อแดงที่พูดกันว่า “ตาสว่าง” เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตเลย

ข้อมูลเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในราชวงศ์ในหนังสือเล่มนี้จะจริงหรือเท็จตรงไหนผมไม่สนใจ เพราะมันไม่อธิบายอะไรเกี่ยวกับวิกฤตไทยเลย วิกฤตไทยจริงๆ แล้ว มาจากสถานการณ์การเมืองสมัยใหม่ที่ทักษิณสร้างขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” แนวร่วมที่ทักษิณสร้างกับประชาชนส่วนใหญ่ไปท้าทายนักการเมืองอนุรักษ์นิยม นายทหาร และชนชั้นนำที่ไม่ชอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว นี่คือที่มาของการประท้วงของชนชั้นกลางและรัฐประหารของทหารและศาล

การเขียนหนังสือซุบซิบเกี่ยวกับวัง อาจสร้างความบันเทิงให้กับคนที่ชอบวารสารดารา อาจทำให้หนังสือของ มาร์แชลล์ ขายดีสำหรับคนที่อ่านภาษาอังกฤษได้ และอาจทำให้เขามีรายได้ แต่ประเด็นที่ผมยอมรับไม่ได้เลยคือเวลา มาร์แชลล์ กล่าวถึงการประท้วงของเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓ มาร์แชลล์ สร้างนิยายว่าผู้ก่อความรุนแรงคือทักษิณ โดยมีการอ้างว่าทักษิณมี “กองกำลังชายชุดดำ” แต่ไม่มีหลักฐานข้อมูล รายละเอียด คำให้การของพยาน  หรือภาพในการพิสูจน์คำกล่าวหานี้แต่อย่างใด สรุปแล้วเป็นการฟอกตัว อภิสิทธิ์ สุเทพ ประยุทธ์ และอนุพงษ์ เพื่อให้ดูเหมือนไม่มีความผิดแต่อย่างใด

หนังสือ “ราชอาณาจักรท่ามกลางวิกฤต การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในศตวรรษที่ 21” ของ แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์ เป็นงานฉาบฉวยที่เอียงไปในทิศทางปฏิกิริยา

ข้อดีของระบบการเมืองแบบเยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในช่วงนี้มีการพูดถึงระบบการเมืองแบบเยอรมัน ว่ามีข้อดีหลายประการซึ่งควรนำมาใช้ในไทย

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอ “โมเดลการเลือกตั้งแบบเยอรมัน” โดยระบุว่าวิธีการเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนมีค่า เพราะจำนวนผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองจะสอดคล้องกับเสียงประชาชน และในเวลาเดียวกัน สุจิต บุญบงการ ก็ออกมายืนยันข้อดีของรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ผมไม่เคยสนับสนุนจุดยืนเลียทหารของสองนักวิชาการเหล่านี้ แต่ในเรื่องข้อดีของระบบการเมืองเยอรมัน ผมเห็นด้วยทั้งๆ ที่ นครินทร์ และ สุจิต คงจะชมไม่เต็มปากอย่างแน่นอน

ในประการแรก เยอรมันเป็นสาธารณรัฐ แบบ “สหรัฐ” คือรัฐต่างๆ ของเยอรมันมีสภาของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจของตนเอง พร้อมๆ กับการมีรัฐบาลและรัฐสภาส่วนกลางด้วย ตอนนี้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ฝ่ายเผด็จการยืนยันว่า “แบ่งแยกไม่ได้”

การแบ่งไทยหรือสยามออกเป็นหลายรัฐจะเพิ่มอำนาจการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน เช่นใน ปาตานี ลานนา หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการเลือกตั้งเยอรมันมีบัตรลงคะแนนสองบัตรคือ บัตรเลือก สส. เขต และอีกบัตรเพื่อเลือกนักการเมืองจากรายชื่อของแต่ละพรรคหรือ “พาร์ตีลิสต์” ดังนั้นจำนวน สส. ในสภาจะสอดคล้องกับการนิยมของประชาชน นอกจากนี้ในเยอรมันไม่มีการปิดกั้นการตั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคซ้ายแต่อย่างใด

เยอรมันมีระบบประธานาธิบดีที่เป็นประมุขแต่ไม่ค่อยมีอำนาจ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยสภาส่วนกลางและสภารัฐท้องถิ่น ส่วนผู้นำประเทศที่แท้จริงคือนายกรัฐมนตรี หรือ “ชานเซเลอร์”

ในเยอรมันไม่มีองค์กรอิสระที่จะมาลดเสียงประชาชน ไม่มีกรรมการที่ถูกแต่งตั้ง ที่จะมากำหนดว่าพรรคการเมืองใช้นโยบายอะไรได้หรือไม่ได้ และไม่มีการระบุว่ารัฐบาลต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบไหน

ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันคือรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นพลเรือน ขณะนี้เป็นสตรีด้วย ไม่มีใครสนใจชื่อนายพลคนใดเพราะนายพลไม่มีอำนาจ ยิ่งกว่านั้นเวลามีการตั้งกองทัพใหม่ขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังจากที่เผด็จการฮิตเลอร์จบลง มีการกลั่นกรองนายพลที่ยึดแนวประชาธิปไตยเท่านั้น เพื่อดำรงตำแหน่งในกองทัพ เมื่อทหารใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็ต้องสาบานว่าจะ “ปกป้องประชาธิปไตยเสรีภาพของประชาชน และรัฐธรรมนูญ” และในยุคนี้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารพร้อมกับการลดกองกำลังลง ประเทศไทยควรตามอย่างแบบนี้ทุกประการอย่างแคร่งครัด

ในเยอรมันไม่มีกฏหมายที่ปิดปากประชาชน ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้ และผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะทุกคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประเทศไทยควรตามอย่างโดยการยกเลิกกฏหมาย 112

ในเยอรมันมีหลายกฏหมายที่พยายามปกป้องเสรีภาพประชาชนจากการสอดแนมของรัฐ

ในเยอรมันมีระบบรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งในไทยยังไม่มี

เมื่อเรากลับมาพิจารณาความเห็นของนักวิชาการตอแหลที่ปฏิกูลประเทศให้ทหารเผด็จการ เราจะเห็นว่าคนอย่าง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ สุจิต บุญบงการ กำลังโกหกว่าชื่นชมระบบแบบเยอรมันในขณะที่ต้องการทำลายเสียงประชาชนด้วยการลดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการพูดถึงส่วนดีๆ อื่นของระบบเยอรมันเลย คือตั้งใจเลือกมาแค่ส่วนเล็กๆ

สุจิต เองมองว่าควรลดอิทธิพลของพรรคการเมือง เพราะจะได้ลดอิทธิพลพรรคที่มีนโยบายดีๆ สำหรับคนจน เขาต้องการกลับไปสู่ระบบ “เลือกคนดี” ซึ่งเป็นเพียงการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบอุปถัมภ์นั้นเอง ในอดีตบทความวิชาการของ สุจิต บุญบงการ เคยวิจารณ์ประชาชนว่าตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์และวิจารณ์สถาบันทางการเมือง เช่นพรรคการเมือง ว่าขาดเสถียรภาพ นับว่าเป็นการกลับคำเพื่อให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารรอบนี้อย่างหน้าไม่อายเลย

เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้ออกมาสนับสนุนการห้ามกิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวกับ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าในอดีตเป็นเวทีเพื่อสร้างความแตกแยก คือเขามองว่าการคิดเห็นต่างเป็นเรื่องผิด นครินทร์ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า “องค์พระประมุขของรัฐ คอยเชื่อมต่อไม่ให้การรัฐประหารต่างๆ นั้น ไม่ทำให้บ้านทั้งหลังมันแตกร้าว อย่างน้อยที่สุด ประมุขของรัฐเป็นตัวเชื่อม เป็นสถาบันที่ทำให้เราเห็นความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยของไทย” นอกจากนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยวิจารณ์ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ว่าบิดเบือนพูดไม่หมด เวลาเขียนถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ในหนังสือ “พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราโชคดีจังที่มีคนดีแบบนักวิชาการสองคนนี้ ที่มากอบกู้ระบบประชาธิปไตยไทย

ถ้าเราไม่สร้างพรรคฝ่ายซ้าย เราสร้างเสรีภาพในไทยไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ย่ำแย่ของสังคมไทยหลายอย่าง ชี้ให้เห็นว่าเราต้องสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม… ทำไมเป็นเช่นนั้น? ขอยกตัวอย่างสำคัญมาสามตัวอย่าง

ตัวอย่างที่หนึ่งคือ การที่ขบวนการเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา ไปพึ่งพาพรรคการเมืองของนายทุนอย่างทักษิณ โดยแกนนำของเสื้อแดง คือ นปช. ไปรับการนำทางการเมืองจากทักษิณและพรรคพวกในยุคเผด็จการประยุทธ์ ซึ่งส่งผลให้การต่อสู้ของเสื้อแดงยุติลงในวินาทีที่เราต้องการการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดถ้าเสื้อแดงมีความอิสระจากพรรคนายทุนและมีพรรคของคนชั้นล่างที่นำตนเอง

ตัวอย่างที่สองคือ การที่ผู้กล้าหาญ โดยเฉพาะนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ที่ออกมาต้านเผด็จการประยุทธ์ กระจัดกระจาย ไม่มีเครือข่ายหรือพรรคเพื่อประสานงาน ทำให้ความกล้าหาญนั้นมีผลน้อยกว่าที่ควร เพราะลุกขึ้นแสดงจุดยืนพร้อมกันไม่ได้ สมานฉันท์กันยาก และทำให้ผู้กล้าสู้กลัวถูกโดดเดี่ยว

ตัวอย่างที่สามคือ การที่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กรรมาชีพคนทำงานที่จัดตั้งในสหภาพแรงงาน และเกษตรกรรายย่อย ขาดการศึกษาทางการเมืองของชนชั้นตนเอง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การที่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์กลไกตลาดเสรี และความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม ที่ฝ่ายนักวิชาการอำมาตย์เสนออย่างต่อเนื่อง การขาดการศึกษาทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สภาพการเหยียดเชื้อชาติภายในสังคมอย่างแหลมคมได้ โดยเอียงไปทางแนวคิดรักชาติมากกว่า และที่สำคัญมากๆ คือ การขาดการศึกษาทางการเมืองแบบสังคมนิยม ทำให้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพผู้ทำงานในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงแสวงหาแนวทางอื่นที่ไร้พลังแทน เช่นการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ การเน้นอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดีย การพึ่งผู้มีอำนาจ หรือการเพ้อฝันเรื่องการจับอาวุธ

การที่เราไม่มีพรรคฝ่ายซ้ายในไทย ทำให้เราไม่สามารถช่วงชิงการนำทางความคิดในมวลชนเสื้อแดงหรือคนที่รักประชาธิปไตยได้ และนั้นคือสาเหตุที่แนวคิดทักษิณกับ นปช. ผูกขาดในขบวนการได้

ปัญหาการขาดพรรคฝ่ายซ้าย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของไทย ในยุโรปตะวันตกทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง การที่พรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค รวมถึงพรรคแรงงานและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มีนโยบายเหมือนกันหมด คือตัดสวัสดิการ และกดหัวคนจนและผู้ทำงาน โดยที่สหภาพแรงงานสับสนไม่กล้าออกมาสู้ในระดับที่ควร ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหมดความหวัง อีกส่วนหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฟาสซิสต์หรือพรรคที่เหยียดเชื้อชาติ และหลายคนมองว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากการยอมรับกลไกตลาดเสรีที่เอื้อประโยชน์มหาศาลให้นายทุน

แต่ในบางประเทศ เช่นกรีส หรือสเปน เราเริ่มเห็นความหวังระดับหนึ่งจากการสร้างพรรค “ไซรีซา” กับพรรค “โพเดมอส” ที่เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่คัดค้านการตัดสวัสดิการและการกดสภาพการจ้างงาน แม้แต่ในสก๊อตแลนด์มีความหวังชั่วคราวว่าประชามติเรื่องเอกราช อาจเป็นโอกาสในการต้านนโยบายกลไกตลาดของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษ

ในไทยเราควรศึกษาประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างละเอียด เพราะการมีพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง พคท. ทำให้การต่อสู้ของคนชั้นล่างกับเผด็จการทหารในยุคนั้นเข้มแข็งกว่าในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่แนวทางการจับอาวุธ และลักษณะเผด็จการภายในพรรคเป็นข้อบกพร่องมหาศาล

พคท. มีแนวทางการเมืองที่ชัดเจน และมีความกระตือรือร้นที่จะขยายการศึกษาการเมืองไปสู่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคอย่างเป็นระบบ แนวทางการเมืองของ พคท. เป็นแนว “สตาลิน-เหมา” ที่สู้เพื่อปลดแอกสังคมจากจักรวรรดินิยมและสู้เพื่อขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยม ซึ่งแนวแบบนี้มีจุดอ่อน เพราะจักรวรรดินิยมอเมริกาไม่ใช่ศัตรูหลักของพลเมืองไทย ชนชั้นปกครองไทยต่างหากที่เป็นศัตรูหลัก ในเวียดนามจักรสรรดินิยมอเมริกาที่ก่อสงครามเป็นศัตรูโหดร้ายจริง แต่ในไทยไม่ใช่ นอกจากนี้การที่ พคท. เสนอให้กรรมาชีพและเกษตรกร รอและ “เสียสละ” เพื่อการทำแนวร่วมกับนายทุนก็เป็นปัญหา แต่อย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ต่อต้านอำมาตย์อย่างเป็นระบบ พยายามวิเคราะห์สังคมไทยและสังคมโลกจากจุดยืนคนชั้นล่าง และทำกิจกรรมการศึกษาและการสร้างพรรคอย่างต่อเนื่องแบบมืออาชีพ พคท. จึงกลายเป็นพรรคมวลชนของคนชั้นล่างที่ใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยมี นอกจากนี้มีการจัดตั้งกรรมาชีพในเมืองและเกษตรกรในชนบท

ถ้าเราเปรียบเทียบสิ่งที่ พคท. เคยทำ กับการศึกษาการเมืองของ นปช. มันนคนละโลกกันเลย นปช. เอาแนวการเมืองของคนชั้นบนแบบเสรีนิยม มาเสนอกับเสื้อแดง ซึ่งไม่ท้าทายชนชั้นปกครองไทยเลย และที่แย่กว่านั้นคือ คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาแนวการเมืองเลย ซึ่งเป็นมรดกเลวร้ายจากการล่มสลายของ พคท. และการหันหลังให้กับแนวคิดฝ่ายซ้ายในสังคมไทยตอนนั้น

ทุกวันนี้ในระดับโลก มีการถกเถียงกันในหมู่คนที่ต้องการสร้างพรรคฝ่ายซ้าย ว่าเราควรหรือไม่ควร ที่จะสร้างพรรคที่รวบรวมคนที่เป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม กับคนที่เป็นฝ่ายซ้ายประเภท “ปฏิรูป” คือยอมรับทุนนิยม แต่หวังจะทำให้ดีขึ้นน่ารักขึ้น

ทั้งๆ ที่ทุกคนมีจุดยืนร่วมกันว่าฝ่ายซ้ายสองประเภทนี้ต้องร่วมมือกัน และบางครั้งควรสร้างเครือข่ายแนวร่วมเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่นักมาร์คซิสต์มองว่าเราควรสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่รักษาความอิสระของพรรค ในขณะที่ทำงานแนวร่วมกับคนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นมาร์คซิสต์ ทั้งนี้เพราะแนวโน้มในรูปธรรมจากยุโรปคือ ในกรีส พรรคไซรีซา ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นพรรคปฏิวัติหรือพรรคปฏิรูป เน้นการชนะการเลือกตั้งมากกว่าการปลุกระดมพลังกรรมาชีพกับมวลชน และในการเน้นการเลือกตั้ง มีการพยายามพิสูจน์ความ “รับผิดชอบ” ของพรรคต่อการรักษาระบบทุนนิยม ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การยอมรับนโยบายการตัดสวัสดิการและกดค่าแรง ทั้งๆ ที่อาจไม่โหดเท่าพรรคฝ่ายขวา และที่สำคัญคือการชนะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะไม่นำไปสู่การ “คุมอำนาจรัฐ” แต่อย่างใด เพราะอำนาจรัฐอยู่ในมือชนชั้นนายทุนที่ใช้อำนาจนอกระบบ

ในไทยเรายังไม่เริ่มการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายเลย แต่เราต้องพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของเราเสมอ และไม่ใช่แค่เรื่องไทยๆ ด้วย การจัดกลุ่มศึกษาในหมู่กรรมาชีพสหภาพแรงงานที่เน้นแต่เรื่องปากท้องทุกๆ ปี ก็จะไม่นำไปสู่การพัฒนาความคิดทางการเมืองหรือการสร้างพรรคด้วย และที่สำคัญคือเราต้องขยายการจัดตั้ง คือขยายผู้ปฏิบัติการของ “หน่ออ่อนพรรค” แบบมืออาชีพ ถ้าเราจัดกลุ่มศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่คนที่มาร่วมเป็นหน้าเดิมๆ ตลอดไป เราคงต้องยอมรับว่ามีงานจัดตั้งที่เราต้องทำอีกมาก