ใจ อึ๊งภากรณ์
หนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของ คาร์ล มาร์คซ์ ถือว่าเป็นงานที่วิวัฒนาการตลอดชีวิตของมาร์คซ์ มันไม่เคยเป็นผลงานสำเร็จรูป เพราะ มาร์คซ์ ไม่เคยหยุดวิเคราะห์และเรียนรู้ และเขาเป็นคนที่จบอะไรไม่เป็น ปิดเล่มไม่ได้ เพราะมักจะสนใจประเด็นปลีกย่อยไปเรื่อยๆ และปรับปรุงงานเก่าอย่างต่อเนื่อง ลักษณะแบบนี้ของ มาร์คซ์ สร้างความเครียดให้กับ เองเกิลส์ เพื่อนรักและผู้ร่วมงานของเขาเป็นอย่างมาก เพราะเองเกิลส์รับหน้าที่ตีพิมพ์ผลงานของ มาร์คซ์
ในปัจจุบันมีการรวบรวมผลงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ในโครงการ MEGA2 ซึ่งทำให้ผู้ศึกษาสามารถเห็นการวิวัฒนาการของงานเป็นขั้นตอน ดังนั้นคนที่เคยชอบอ้างว่างานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เช่น Grundrisse เป็น “จุดยืนแท้” ของ มาร์คซ์ เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของ มาร์คซ์
มาร์คซ์ มองว่าทุนนิยมเป็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์ในชนชั้นต่างๆ ที่มีความแปลกแยกห่างเหินสองชนิดพร้อมกันคือ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ(2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด
มาร์คซ์ ศึกษาระบบทุนนิยมเพื่อหาทางล้มทำลายมัน เป้าหมายหลักของมาร์คซ์ก็เพื่อให้กรรมาชีพสามารถสร้างสังคมนิยมได้ ดังนั้น “ว่าด้วยทุน” เป็นงานที่ผสมทฤษฏีกับการปฏิบัติเสมอ
อิทธิพลของ เฮเกิล และ ริคาร์โด
เฮเกิล และ ริคาร์โด เป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับ มาร์คซ์ ในการเขียน “ว่าด้วยทุน” มากพอสมควร
เฮเกิล เป็นนักปรัชญาเยอรมันที่มาก่อน มาร์คซ์ ในงาน “วิทยาศาสตร์ของตรรกะ” เฮเกิล เสนอว่าถ้าจะเข้าใจอะไร เราต้องเริ่มที่ระดับ“นามธรรม” แล้วพัฒนาไปสู่ระดับ “รูปธรรม” โดยการนำรายละเอียดรูปธรรมมาปรับความเข้าใจของเราในนามธรรมที่เป็นจุดเริ่มต้น
ตัวอย่างของวิธีคิดแบบนี้คือการเริ่มต้นเข้าใจว่า ระบบการผลิตทุนนิยม เงิน สินค้า หรือตลาด เป็นเพียงการสรุปยอดสิ่งที่เราเห็นในลักษณะนามธรรมเท่านั้น มันเป็นเปลือกภายนอก แต่ถ้าจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้เราต้องมองลึกลงไปเพื่อเห็นการขูดรีดแรงงาน และมูลค่าที่มาจากการทำงาน ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ฝังลึกและถูกซ่อนไว้
ตรรกะของ เฮเกิล เป็นแนวคิดแบบจิตนิยม คือเน้นกิจกรรมทางความคิดเป็นหลัก แต่ มาร์คซ์ นำความคิดวัตถุนิยม ที่เน้นอะไรๆ บนโลกที่จับต้องได้และสอดคล้องกับโลกจริง มาใช้กับตรรกะ เฮเกิล
ตรรกะของ เฮเกิล มีการเรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ซึ่งช่วยให้ มาร์คซ์ เข้าใจว่า “ความสัมพันธ์” ในระบบทุนนิยม ที่มีความแปลแยกห่างเหินสองชนิดที่กล่าวถึงไปแล้ว มีลำดับความสำคัญ คือความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน เป็นเรื่องหลักที่อธิบายทุนนิยม แต่เราต้องพิจารณาความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคน ที่แข่งขันกันในตลาด เพื่อเข้าใจภาพทั้งหมดของทุนนิยม
ริคาร์โด ไม่ได้ใช้ตรรกะของเฮเกิล และนี่คือจุดอ่อนของ ริคาร์โด คือเขาเป็นผู้พัฒนา “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน” ที่อธิบายว่ามูลค่าของสินค้ามาจากการทำงานของกรรมาชีพ แต่ ริคาร์โด เข้าใจผิดว่าสิ่งที่เราเห็นกับตาในระบบทุนนิยมคือรูปธรรมความจริง นอกจากนี้ ริคาร์โด มองว่าทุนนิยมเป็นระบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เขาคิดไม่ถึงว่าจะมีระบบอื่นได้ โดยที่ ริคาร์โด มองว่าความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน “เป็นเรื่องปกติ” แทนที่จะมองว่าเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยน
ริคาร์โด เสนอว่าการแข่งขันในตลาดทำให้ “ราคา” สินค้าถูกปรับให้เท่ากับ “มูลค่า” (ปริมาณแรงงาน) และเขาไม่เข้าใจว่า “มูลค่าส่วนเกิน” ที่ถูกขโมยไปจากแรงงาน ถูกแบ่งระหว่าง นายทุน นายธนาคาร และเจ้าของที่ดิน ในสังคมทั้งหมด ดังนั้น “มูลค่าส่วนเกิน” ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ “กำไร” ซึ่งเป็นส่วนของมูลค่าส่วนเกินที่ตกอยู่ในมือนายทุนคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง เท่านั้น
มาร์คซ์ มองภาพรวมในลักษณะนามธรรมของทุนนิยม แล้วสรุปว่าการแข่งขันในตลาดระหว่างนายทุนจำนวนมาก ในสาขาการผลิตที่แตกต่างกัน นำไปสู่ “อัตรากำไรทั่วไป” ของระบบ และเป็นสิ่งที่กำหนด “ราคาการผลิต” ทั่วไป
ดังนั้นการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดต่างๆ ที่ใช้แรงงานชนิดต่างๆ ในการผลิต เกิดขึ้นภายใต้การแลกเปลี่ยนระหว่าง “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในสินค้าแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน ที่กำหนดจากภาพรวมของการผลิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ “ปริมาณแรงงานนามธรรม” เป็นหน่วยสมมุติของสังคมที่กำหนดการแลกเปลี่ยน แต่มันวัดเป็นหน่วยเงินตราไม่ได้
ส่วน “อุปสงค์-อุปทาน” แค่ปรับราคาสินค้าขึ้นหรือลง มากกว่าหรือน้อยกว่า “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในลักษณะชั่วคราวเท่านั้น “อุปสงค์-อุปทาน” ไม่ได้กำหนดมูลค่าหรือราคาอย่างที่ อดัม สมิท เคยคิด
สรุปแล้ว “มูลค่า” ของสินค้า เป็นคุณสมบัติทางสังคมเท่านั้น เป็นการสรุปยอดการทำงานของมนุษย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันทั่วสังคมจนออกมาในลักษณะ “นามธรรม” มูลค่าเป็นสิ่งที่วัดเป็นหน่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่พรรคพวกของ ริคาร์โด พยายามวัดมันด้วยคณิตศาสตร์ มูลค่าเกิดขึ้นท่ามกลางกลไกตลาดของคนทั้งสังคม และอธิบายราคาแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดต่างๆ ได้เท่านั้น
เราจะเห็นว่าสำหรับ มาร์คซ์ การเข้าใจมูลค่าและการแลกเปลี่ยน ทำไม่ได้ ถ้าเราแค่พิจารณาการผลิตชนิดหนึ่งในสังคมของประเทศหนึ่ง มันต้องดูนามธรรมของภาพรวมก่อน
“มูลค่า” ถูกกำหนดจากการทำงานและการแลกเปลี่ยน และอาศัยเงื่อนไขของ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ (2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด เสมอ
แรงงาน
สำหรับมาร์คซ์ “ปริมาณแรงงานนามธรรม” ในระบบทุนนิยม คือเนื้อในของ “มูลค่า” และที่สำคัญคือ แรงงานปัจจุบัน (“แรงงานที่มีชีวิต”) คือแหล่งกำเนิดมูลค่าใหม่เสมอ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพไม่ทำงานให้นายทุน ก็ไม่เกิดมูลค่า มูลค่าไม่ได้เกิดจากนายทุนหรือเครื่องจักร
แต่นักวิชาการในปัจจุบันหลายคน หันหลังให้กับความจริงอันนี้ ตัวอย่างเช่น เดวิท ฮาร์วี่ ที่มองว่าระบบทุนนิยมยึดมูลค่ามากจากการปล้นทรัพยากรจากชุมชนนอกทุนนิยมได้ หรือ ไมเคิล ฮาร์ท กับ อันโทนีโอ เนกรี่ สองนักอนาธิปไตย ที่มองว่าระบบทุนนิยมยึดมูลค่ามากจากการปล้นทรัพยากรจากชุมชนนอกทุนนิยม หรือมูลค่าอาจมาจากแค่การใช้ความคิดหรือการสื่อสาร โดยไม่ต้องมีการผลิตจริง ซลาฟอยจ์ ซีเซค ก็เหมือนกัน พวกนี้ปฏิเสธทฤษฏีมูลค่าแรงงาน และสรุปว่ากรรมาชีพหมดความสำคัญลงในทุนนิยมสมัยใหม่ จนกรรมาชีพไร้พลังในการล้มระบบ ซึ่งไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด ดูได้จากการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยายามตัดค่าแรงหรือสวัสดิการเพื่อเพิ่มกำไร หรือการนัดหยุดงานของกรรมาชีพเพื่อพัฒนาสภาพชีวิต ถ้ากรรมาชีพไม่มีความสำคัญอีกต่อไปรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ไม่ต้องสนใจควบคุมแรงงานด้วยกฏหมายต่างๆ ที่ทำอยู่ตลอด
ในเรื่องความคิดทางปัญญาหรือการสื่อสาร มาร์คซ์ไม่เคยแบ่งแยกการทำงานที่ใช้มือหรือแรงกล้ามเนื้อ กับการทำงานที่ใช้สมองและเทคโนโลจี เพราะการทำงานสองรูปแบบนี้เกิดขึ้นด้วยกันควบคู่กันไปเสมอ บ่อยครั้งในคนคนเดียวกันด้วย
วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยม
มาร์คซ์ค่อยๆ พัฒนาทฤษฏีวิกฤตทุนนิยมของเขาเป็นตอนๆ จนถึงจุดที่อธิบายได้ดีที่สุด เขาเริ่มที่“นามธรรม” ของวิกฤตทุนนิยมที่เห็นกับตาเป็นประจำ แล้วพัฒนาสูงขึ้นตาม 6 ขั้นตอนผ่านการพิจารณาปัจจัยรูปธรรมต่างๆ ดังนี้
- วิกฤตเกิดจากการเร่งสะสมทุน ผ่านการแข่งขันในตลาดระหว่างกลุ่มทุน จนมีการผลิตล้นเกินความสามารถในการซื้อของประชาชน
- มีวัฏจักรทางธุรกิจ ที่ขยายและหดตัวตลอดเวลา พอมีการเพิ่มเครื่องจักรซึ่งเป็นแรงงานอดีตหรือที่เรียกว่า “ทุนคงที่” ก็มีการลดจำนวนคนงานลง และขยายคนงานสำรองที่รอเข้างาน หรือทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้กดค่าแรงคนที่มีงานทำ แต่ในการพูดถึงเรื่องนี้ มาร์คซ์ เน้นลักษณะวัฏจักรธุรกิจของทุนนิยมเป็นหลัก ไม่ได้เสนอว่าการกดค่าแรงและลดกำลังซื้อของประชาชนเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดวิกฤต
- การหมุนเวียนของทุนหลายรอบ ระหว่างต้นทุน ผ่านการจ้างคนงาน และการใช้เครื่องจักร ไปสู่การผลิตสินค้าที่ต้องนำไปขาย จะทำให้การผลิตมีลักษณะเป็นวัฏจักรซึ่งมีช่วงห่างระหว่างการลงทุนและการได้ต้นทุนกลับมา
- ภาคการผลิตต่างๆ จะเชื่อมโยงกันทั่วโลก และมีการถ่ายเททุนจากส่วนที่กำไรต่ำไปสู่ส่วนที่กำไรสูงกว่าตลอด ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถแยกส่วนการผลิตภาคหนึ่งออกจากภาพรวมของระบบได้
- แนวโน้มของการลดลงของ “อัตรากำไร” (กำไรต่อหน่วยเงินต้นทุนที่ลงทุนหน่วยหนึ่ง) เป็นสิ่งที่ทั้ง อดัม สมิท และเดวิด ริคาร์โด สังเกตมาก่อนหน้านี้
แต่ สมิท เข้าใจผิดว่าการลดลงของอัตรากำไรเป็นสถานการณ์ประจำเมื่อมีการสะสมทุนมากเกินไป ส่วน ริคาร์โด อาศัยแนวคิดของ ทอมมัส มัลทัส ที่เข้าใจผิดว่าแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรมาจากการที่ระบบการผลิตย่อมมีประสิทธิภาพต่ำลงตามเวลา ซึ่งเป็น “สภาพธรรมชาติ”
มาร์คซ์ อธิบายว่าแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่างหาก คือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเครื่องจักร (ทุนคงที่) ซึ่งไม่ได้สร้างกำไร เมื่อเทียบกับทุนจ้างงาน ซึ่งสร้างกำไร
พูดง่ายๆ การแข่งขันกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือ การแข่งกันเพื่อเพิ่ม “พลังการผลิต” ไปขัดแย้งกับ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” คือการจ้างงานโดยนายทุนเพื่อขูดรีดแรงงาน เพราะนายทุนถูกบังคับให้เพิ่มการลงทุนในสิ่งที่ไม่สร้างกำไร (เครื่องจักร) นั้นเอง
นอกจากนี้ มาร์คซ์ มองว่าวิกฤตทุนนิยมเป็นสภาพชั่วคราวที่เกิดเป็นประจำ ไม่ใช่สภาพถาวร เพราะนายทุนสามารถหาทางแก้ไขปัญหาบนสันหลังกรรมาชีพได้ โดยการกดค่าแรง เอาชนะคู่แข่ง หรือแม้แต่การทำสงคราม อย่างไรก็ตามสำหรับ มาร์คซ์ วิกฤตทุนนิยมอาจสร้างโอกาสสำหรับกรรมาชีพในการลุกฮือปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมได้
- การที่ระบบการผลิตผูกไว้อย่างแน่นกับระบบธนาคารไฟแนนส์ ซึ่งเป็นแหล่งออมทุนที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ทันที เพื่อไปให้กู้กับนายทุนส่วนอื่นๆ ทำให้วิกฤตซับซ้อนมากขึ้น และมีลักษณะบูมกับดิ่งลงเป็นรอบๆ หรือช่วยให้เกิดฟองสบู่
ในการอธิบายวิกฤตทุนนิยม มาร์คซ์ จัดลำดับความสำคัญของ 6 ปัจจัยเกี่ยวกับวิกฤตที่กล่าวถึงไปแล้ว ตามวิธีคิดของ เฮเกิล คือ
(1)การผลิตล้นเกิน กับ(4)การแลกเปลี่ยนระหว่างภาคการผลิตต่างๆ เป็นปัจจัยที่เอื้อกับการเกิดวิกฤตเท่านั้น
(2)วัฏจักรธุรกิจและค่าแรงที่ขึ้นลง และ(3)ช่วงเวลาในการหมุนเวียนของทุน เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องมีถ้าจะเกิดวิกฤต
แต่ต้นเหตุของวิกฤตอยู่ที่ (5)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร กับ(6)การทีระบบการผลิตผูกกับระบบไฟแนนส์
ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปคร่าวๆ ถึงวิธีการของ มาร์คซ์ ในการศึกษาและเขียนเรื่องทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ซึ่งผมยกมาจากหนังสือ “Deciphering Capital. Marx’s Capital and its destiny” โดย Alex Callinicos (2014) Bookmarks. ซึ่งถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดควรไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ
ถ้าใครอยากอ่านเพิ่มขอแนะนำ “ว่าด้วยทุนของ คาร์ล มาร์คซ์ ฉบับย่อ ภาษาง่าย” http://bit.ly/129xlhF