นักสังคมนิยมกับการทำงานในสหภาพแรงงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมและร่วมกันปลดแอกตนเองจากอำนาจเผด็จการ เราต้องสนใจ “พลัง” ที่เราจะต้องใช้ในการเผชิญหน้ากับกองทัพ ตำรวจ นายทุน และส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์

ที่แล้วมาในไทย จะมีการใช้สองวิธีการในการต่อสู้คือ การจับอาวุธในยุคพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) และการเน้นมวลชนบนท้องถนนในช่วง ๑๔ ตุลา พฤษภา ๓๕ และในสมัยที่เสื้อแดงชุมนุม แต่ทั้งสองรูปแบบการต่อสู้นี้มีจุดอ่อนและนำไปสู่ความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามการเน้นพลังมวลชนบนท้องถนน เป็นก้าวสำคัญที่เราคงต้องใช้ในอนาคต ส่วนการจับอาวุธนั้นมีปัญหามากเพราะฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธมากกว่าเรา และมันเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ดึงมวลชนจำนวนมากเข้ามาร่วมไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นปัญหานี้จากสมัย พคท. และในปัจจุบันเมื่อเราพิจารณากองกำลังในปาตานี

การอาศัยพลังมวลชนของเสื้อแดงสำคัญมาก แต่มีจุดอ่อนสองประการคือ 1.แกนนำมาจากฝ่ายทักษิณที่ต้องการประนีประนอมมากกว่าที่จะสู้ และ 2.ไม่มีการอาศัยพลังกรรมาชีพผู้ทำงานแต่อย่างใด

ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล เพราะมูลค่าทุกบาทที่ผลิตขึ้นในสังคมมากจากการทำงานของกรรมาชีพ และมันรวมไปถึงระบบขนส่ง ระบบธนาคาร การผลิตแจกจ่ายไฟฟ้า การบริการสาธารณะสุข และการบริการในระบบการศึกษาด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตต่างๆ ในโรงงานเท่านั้น

หลายครั้งในประเทศอื่นมีการอาศัยพลังชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคม หรือแม้แต่ในการกดดันต่อสู้ทางการเมือง เช่นการปฏิวัติรัสเซีย การล้มมูบารักในอียิปต์ การสร้างรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยในยุโรป และการสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการนำทางการเมือง ด้วยการสร้างพรรคที่อิสระจากนายทุนและชนชั้นสูง และการอาศัยพลังของชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน มันแปลว่านักสังคมนิยมต้องทำงานในสหภาพแรงงานทั่วประเทศ เพราะสหภาพแรงงานเป็นส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของชนชั้นกรรมาชีพ

อย่างไรก็ตามเวลานักสังคมนิยมทำงานในสหภาพแรงงาน มันไม่ควรจะเป็นในรูปแบบการ “ลงไปช่วยคนงาน” เพราะนั้นคือวิธีการของ เอ็นจีโอ ที่มองว่าตนเองเป็น “พี่เลี้ยง” ที่จะช่วยคนงาน “ที่อ่อนแอและน่าสงสาร”

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายใน ในระยะแรกเราอาจต้องทำงานจากภายนอก แต่ในช่วงนั้นต้องเน้นการสร้างนักสังคมนิยมที่เป็นกรรมาชีพ เพื่อให้เขาทำงานในสหภาพและสถานที่ทำงานของเขาเอง

แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

เมื่อนักสหภาพแรงงานใช้แนวคิดที่เน้นแต่องค์กรสหภาพ ซึ่งเรียกว่า “ลัทธิสหภาพ” มันจะต้องมีการประนีประนอมกับสมาชิกทุกคนในสถานที่ทำงาน ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีจุดยืนและแนวคิดที่หลากหลาย บางคนจะอนุรักษ์นิยมรับแนวคิดนายทุนและชนชั้นปกครอง บางคนอาจอยากต่อรองต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง และอีกส่วนหนึ่งอาจอยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ถ้าเราสู้แบบ “ลัทธิสหภาพ” เราจะต้องประนีประนอมกับทั้งสามส่วน ซึ่งแปลว่าการนำของเราจะไม่ก้าวหน้า ไม่เลยขอบเขตของสังคมปัจจุบันแต่อย่างใด

ดังนั้นเวลานักสังคมนิยมทำงานในสหภาพแรงงาน เราต้องเน้นการปลุกระดมทางการเมืองเสมอ และต้องเน้นการพยายามดึงสมาชิกสหภาพที่ก้าวหน้าที่สุด เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคซ้าย พร้อมๆ กับการต่อสู้เรื่องปากท้อง

การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้อง การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ

การศึกษาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะในสมัย พคท. ก็มีการเน้นการศึกษาแบบนั้น ไม่ว่าผมอาจมีข้อถกเถียงกับแนวการเมืองของ พคท. มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นการศึกษาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรค ซึ่งหลังการล่มสลายของ พคท. นักปฏิบัติการต่างๆ พากันหันหลังให้เรื่องนี้ เพื่อทำงานแบบพี่เลี้ยงในรูปแบบ เอ็นจีโอ ที่ปฏิเสธเรื่องการเมืองเพื่อเน้นประเด็นปากท้องอย่างเดียว นี่คือที่มาของความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน และมันเป็นผลทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไข

One thought on “นักสังคมนิยมกับการทำงานในสหภาพแรงงาน”

Comments are closed.