โดย Jane Hardy แปลและเรียบเรียงโดย นุ่มนวล ยัพราช
ถ้าเชื่อตาม IMF ตอนนี้ความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจของอเมริกาได้ถูกแทนที่โดยจีนเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มล่าสุดโดย แมทธิว แครบเบ (Matthew Crabbe) ได้ท้าท้ายความเชื่อดังกล่าว เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆทางสถิติ ซึ่งฉายภาพความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับนิยายความสำเร็จของจีน เช่น ศักยภาพพลังการบริโภคต่อหัว
เราปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อดูสัดส่วนของพลังการผลิตในระดับโลก การขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ การพองตัวมหึมาทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถหลบหลีกปัญหาความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นได้ เช่น การเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงของคนงาน แต่รัฐบาลจีนต้องการจะคงรูปแบบการจ้างงานที่เน้นการกดค่าจ้าง
การเติบโตสำคัญๆ ของเศรษฐกิจจีนมีลักษณะขาดความสมดุล โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุน ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่า อย่างมีนัยยะสำคัญถ้าเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ สูงกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วของกลุ่มประเทศ G7 ระดับการลงทุนมหึมาขนาดนี้สามารถทำได้โดยการกดค่าแรงอย่างป่าเถื่อน ประกอบกับการที่จีนมีกองทัพสำรองแรงงานและชาวนาขนาดใหญ่ รูปแบบการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นในจีนเป็นลักษณะโดยทั่วไปของการเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดก้าวกระโดดที่เกิดขึ้นในเอเชียในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ธนาคารโลกได้ฉายภาพจากปี 2000 – 2003 การเติบโตทางด้านการลงทุนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.2% ในขณะที่ศักยภาพในการบริโภคต่อหัวนั้นอยู่เพียงแค่ 7.3% ศักยภาพในการจับจ่ายโตไม่ทันที่รองรับปริมาณสินค้าที่ได้ผลิตขึ้นมา ทำให้เศรษฐกิจจีนนั้นต้องพึ่งพากับการส่งออกเป็นหลัก ความไม่สมดุลดังกล่าวสร้างปัญหาให้จีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะหลังจากวิกฤติทางการเงินโลกในปี 2008 เพราะความต้องการในตลาดของสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลง
รัฐบาลจีนรับมือกับสภาวะซบเซาดังกล่าวโดยมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดเมก้าโปรเจก ในปี 2008 ซึ่งคาดว่ามีปริมาณถึง 580 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวนเงินทุนดังกล่าวได้เพิ่มปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างพลังการลงทุนกับพลังการบริโภคให้แย่หนักเข้าไปมากขึ้น เพียงแค่ 20% ของเมก้าโปรเจก ที่ถูกนำไปลงทุนทางด้านสังคม ที่เหลือถูกเทไปที่ภาคการผลิตที่มีลักษณะล้นเกินอยู่แล้ว เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และโครงการก่อสร้างระบบรถไฟที่มีความเร็วที่สุดในโลก
อุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เบ่งบานเป็นดอกเห็ดมาพร้อมๆกับปริมาณเงินกู้ที่ตามมาเป็นเงา ได้มีส่วนป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนล้มหลังวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2008 แต่มันกลายเป็นฐานของปัญหาวิกฤติซับไพร์มเวอร์ชั่นจีน
หนี้ก้อนมหึมาที่สะสมโดยรัฐบาลท้องถิ่น คาดว่าจะเป็นบูมเมอแรงค์ตีตัวกลับไปทำลายเศรษฐกิจจริง เพราะ รัฐบาลท้องถิ่นได้สร้างหนี้ในปริมาณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อขยายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นในภาครัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน
ระบบหนี้เสีย
อีกหนึ่งสาเหตุความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจของจีนคือระบบธนาคาร หรือ ที่รู้จักกันว่า “ธนาคารเงา” ซึ่ง ธนาคารเหล่านี้จะปล่อยเงินให้กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือปัจเจกที่ไม่มีคุณภาพหรือจ่ายเงินคืนไม่ได้ หนี้เสียเหล่านี้ได้ผันตัวเองเข้าไปและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกองทุนเพื่อการลงทุน เชื่อกันว่าหนี้เสียเหล่านี้คือ “ระเบิดเวลา” ที่จะทำลายเศรษฐกิจจีนในอนาคต
ในปี 2007 นายกรัฐมนตรี เวน จั่ยเปา ได้กล่าวต่อสภาประชาชนเกี่ยวกับสถานภาพทางเศรษฐกิจว่า “ไม่มีเสถียรภาพ ขาดความสมดุล ขาดการวางแผน และ ขาดความยั่งยืน” ความกลัวของชนชั้นปกครองจีนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจได้สะท้อนออกมาในแผนเศรษฐกิจฉบับที่ 12 (2011-2015) ซึ่งได้เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยชะลอการเติบโตและเน้นสร้างความสมดุลระหว่างพลังการผลิตและพลังการบริโภค
ราคาสินค้าในจีนนั้นถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก การกดค่าแรงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จีนต้องคงไว้เพื่อรักษา “ศักยภาพการแข่งขัน” ในตลาดโลก ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาระดับค่าแรงได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการต่อสู้ของคนงาน บางส่วนของจีนเช่น กวางดอง (Guangdong) ถูกมองว่าเป็นพื้นที่แพงเกินไป ยิ่งทุนของจีนไหลตัวเข้าไปในตลาดโลกมากเท่าไหร่ คำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการแข่งขัน ยิ่งจะกลายมาเป็นปัญหาหลักสำหรับชนชั้นปกครองจีน สัดส่วนการส่งออกได้ลดลงจาก 39.1% ในปี 2006 สู่ 26.1% ในปี 2013 แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังพึ่งพาการส่งออกไปที่อเมริกา และ ยุโรป
เป้าหมายหลักอันดับต้นๆ ของจีนคือการขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ พลังทางการทหาร และ พลังทางการทูต ในระดับสากล ในปี 2005 จีนกับอินเดียได้เซ็นสัญญาว่าด้วย “แผนยุทธศาสตร์และความร่วมมือเพื่อสันติภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” จีนเป็นแนวร่วมสำคัญของอินเดียในการสู้รบกับปากีสถาน ซึ่งจีนได้ขายเครื่องบินรบ เรือรบ เฮลิปคอร์บเตอร์ รถถัง ระบบการเตือนภัย และ จรวดมิสไซด์หลายชนิด
รอบ 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้ขยายค่าใช้จ่ายทางการทหารราว 15% ต่อหัว โดยทางการจีนได้เน้นการพัฒนาขีปนาวุธที่เน้นเทคโนโลจีชั้นสูง เช่น การพัฒนาการสื่อสารทางดาวเทียม จรวดมิสไซด์ สงครามไซเบอร์ การลาดตระเวนทางทะเลซึ่งผูกพันเป็นหลักกับผลประโยชน์ทางการค้าในตลาดโลก 90% ของสินค้านั้นส่งออกทางเรือ การนำเข้าพลังงานนั้นมีความสำคัญมาก ปัจจุบันจีนบริโภคน้ำมันครึ่งหนึ่งของโลก สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าในปี 2030 จีนจะต้องการน้ำมัน 3ใน 4 ของโลก
ความต้องการของจีนที่จะมีอิทธิพลในระดับโลกและความพยายามในการรักษาประสิทธิภาพในการแข่งขัน นั้นต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ไม่เหลือเงินที่จะนำมาตอบสนองความต้องการพื้นฐานของพลเมือง จีนต้องการที่จะลดอิทธิพลทางการทหารของสหรัฐฯ ผ่านการยั่วยุ สร้างความกลัว ในคาบมหาสมุทร จากเกาหลีเหนือ-ใต้ จากทิศตะวันออกสู่ทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดนั้นได้เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ
แผ่อิทธิพล
ในปี 1999 นโยบายหนึ่งที่สำคัญของจีนคือ “ขยายไปต่างประเทศ” ซึ่งมูลเหตุจูงใจหลักมาจากความต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบในแอฟริกาและบราซิล เพื่อตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมหนัก โดยจีนได้เสนอความช่วยเหลือผ่านโครงการก่อสร้างและวิศวกรรมศาสตร์ไปพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน และ การเมือง แก่กลุ่มประเทศเป้าหมาย
ในปี 2010 จีนได้สยายปีกสู่ภูมิภาคยุโรป การลงทุนในต่างประเทศของจีนนั้นมีมูลค่าถึง 6.1 ล้านล้านเหรียญยูโร และในปี 2012 ได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 27ล้านล้านเหรียญยูโร กลุ่มประเทศบอลข่าน ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ( The Balkans and Central and Eastern Europe : CEE) กลายเป็นภูมิศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้จีนก้าวล้ำเข้าไปสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของยุโรป วิกฤติทางการเงินในปี 2007-2008 ได้ทำลายเศรษฐกิจในภูมิภาคCEE อย่างหนัก การขาดช่วงของโครงการก่อสร้าง การแปรรูป และ การตัดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล กลายเป็นโอกาสทองของจีน ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างเป็นทางการ ในปี 2012 จีนประกาศความร่วมมือการลงทุนกับอดีตกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในปี 2009 รัฐมนตรีของประเทศฮังการีถึงกับกล่าวว่า “เรือนั้นมุ่งไปทางตะวันตกแต่ลมนั้นพัดมาจากทางตะวันออก”
ดอกผลที่จีนเก็บเกี่ยวมาครั้งนี้คือ การควบคุมกลไกสำคัญๆ ของเศรษฐกิจยุโรป ไม่ว่าจะเป็นโครงการการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงผ่านหลายประเทศในกลุ่ม CEE ท่าเรือสำคัญเช่น ของกรีซที่ตอนนี้รัฐบาลจีนร่วมเป็นเจ้าของ รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ของวงการการส่งสินค้าทางทะเลอย่าง COSCO มันได้กลายมาเป็นประตูหลักของจีนที่จะระบายสินค้าเข้าสู่ยุโรปด้วยต้นทุนราคาต่ำ ลดย่นระยะเวลาการขนส่งปกติลงถึง 30-20 วัน โดยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเริ่มต้นขึ้นปีนี้ (2015) ซึ่งเงินทุนการก่อสร้างมาจากธนาคารเพื่อการส่งออกและก่อสร้างโดยบริษัทรถไฟและสะพานของจีน ถึงแม้ว่าการลงทุนของจีนในยุโรปจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่สัดส่วนนั้นยังถือว่าเป็นจำนวนน้อย
รอยร้าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนได้ดึงคนเป็นหลายล้านออกมาจากความยากจน แต่ปัญหาคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ การแย่งชิงที่ดิน โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ไลคนออกและยกที่ดินดังกล่าวให้กับกลุ่มทุนสร้างโรงงาน ได้สร้างความโกรธแค้นชิงชังในหมู่คนส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก อันนี้ยังไม่นับรวมถึงความแตกต่างระหว่างคนที่อยู่ในชนบทและเมือง ตามชายฝั่งและแผ่นดินใหญ่

ปี 2010 วารสารแรงงานรายงานว่า คนงานทางใต้ของจีนชนะการนัดหยุดงานกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถเพิ่มค่าแรงได้มหาศาล ปี 2011 คนงานที่อพยพมาจากชนบทกลายมาเป็นศูนย์กลางของการก่อจลาจล คนงานราว 10,000 คนได้ทำงายสถานีและทรัพย์สินของตำรวจ รัฐบาลต้องใช้ตำรวจ 6,000 คนเพื่อควบคุมสถานการณ์ คนงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่มากที่สุด ในจีนนั้นเมื่อคนงานอพยพมาจากชนบทจะได้ไม่มีสิทธิเหมือนคนงานที่มีที่อยู่ในเมือง ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะถูกเอาเปรียบในเกือบทุกด้าน
OCDC รายงานว่าในปี 2011 คลื่นคนงานอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองนั้นสูงถึง 200ล้านคน ซึ่งเข้ามาทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อหางานทำในโรงงาน โครงการก่อสร้าง และ ร้านอาหาร ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ คนงานชนบท ไม่มีสิทธิเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการสังคมพื้นฐานในเมืองที่พวกเขาร่วมสร้างขึ้นมา ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า ฮุกู (Hukou) ระบบดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็น ระบบอพาไทแบบจีนๆ โดยคนงานเหล่านี้ถูกจำกัดให้อยู่ในหอพักเท่านั้น ถ้ามีลูกลูกจะต้องถูกส่งกลับไปในหมู่บ้านเพื่อรับการศึกษา ในขณะที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่

ระหว่างปี 2010 และ 2013 มีการนัดหยุดงานถึง 1,171 ครั้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น กวางดอง สาเหตุหลักๆ ของการประท้วงนั้นมาจาก การลดขนาด ปิดโรงงาน และ ย้ายฐานการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่จีนเสียจุดได้เปรียบคือ ค่าแรงราคาถูก เพราะคนงานสามารถเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรงได้มากกว่า 50% โรงงานที่เน้นการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นเช่น สิ่งทอ รองเท้า และ ของเล่น จะย้ายฐานไปประเทศที่มีค่าแรงถูกมากกว่าเช่น กัมพูชา และ บังคลาเทศ
การนัดหยุดงาน
ข้อเรียกร้องหลักๆที่เกิดขึ้นในช่วง 2011-2013 คือ ค่าชดเชยการว่างงาน การติดค้างจ่ายค่าแรง และ การเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งลักษณะการประท้วงลามออกไปนอกรั้วโรงงานด้วย ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ การประท้วง 306 ครั้งมาจากคนงานขนส่ง 69 ครั้งมาจากครู รวมทั้งการประท้วงอย่างต่อเนื่องของคนงานประปาและคนงานท่อระบายน้ำเสีย เพื่อบังคับรัฐบาลท้องถิ่นให้ปรับปรุงคุณภาพการจ้างงาน วารสารแรงงานจีนได้กล่าวว่า “คนงานจีนได้สลัดภาพของความจน ความอ่อนแอ มาสู่ภาพของคนงานที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา การรวมกลุ่ม และ นำการต่อสู้เองได้”
บก. เศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ The Guardian ตั้งข้อสังเกตในปลายปี 2014 ว่าจีนอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระดับโลก สร้างสภาวะซบเซาเงินฝืดในสหภาพยุโรป การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในจีน ส่งผลกระทบต่อเยอรมันซึ่งส่งออกเครื่องจักรหนักให้จีนเป็นหลัก และ ออสเตรเลียซึ่งส่งออกวัตถุดิบไปสู่จีน ในขณะที่ภายในประเทศนั้นรัฐบาลจีนกำลังเผชิญหน้ากับความโกรธแค้นของคนงาน
(Instability and Crisis in China by Jane Hardy, Socialist Review No.399)