ใจ อึ๊งภากรณ์
พรรคคอมมิวนิสต์เขมรเดิมทีเดียวเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีแนวความคิดที่ไม่แตกต่างจากแนวของพรรคอื่นๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 1951 มีการแยกพรรคออกมาและก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เขมร แต่เนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการชาตินิยมของเวียดนามมีระดับการพัฒนาที่ล้ำหน้าขบวนการในลาวหรือเขมร พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงมีอิทธิพลสูงในการกำหนดแนวทางการต่อสู้ในอินโดจีนโดยรวม
หลังการเจรจาสันติภาพที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นผลมาจากชัยชนะของขบวนการเวียดมินห์ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสที่ เดียนเบียนฟู เจ้าสีหนุขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีกึ่งเผด็จการและตั้ง “พรรคสังคม” ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานอำนาจ โดยมีการอ้างว่าจะใช้แนว “สังคมนิยมพุทธ” ที่สืบทอดความคิดมาจากนครวัด แต่ในรูปธรรมไม่มีการใช้แนวสังคมนิยมหรือแนวพุทธในการบริหารประเทศสักเท่าไร
สีหนุพยายามใช้นโยบายเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามเย็นและโดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม นโยบายนี้เป็นประโยชน์กับขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามเพราะเป็นการกีดกันไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลในเขมร และเปิดโอกาสให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามลำเลียงเสบียงจากเวียดนามเหนือลงมาให้ขบวนการปลดแอกชาติในเวียดนามใต้ ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ โดยที่สีหนุทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ในปี ค.ศ. 1960 สล็อท ซาร์ (Saloth Sar) หรือที่ใครๆรู้จักในภายหลังในนามของ “พอล พต” รวมถึงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เขมรอื่นๆ ประกาศแถลงการณ์ที่เจาะจงว่าภาระหลักของพรรคคือการต่อสู้กับระบบศักดินาเพื่อปลดแอกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการโจมตีเจ้าสีหนุโดยตรง แถลงการณ์นี้สะท้อนความไม่พอใจของคอมมิวนิสต์เขมรต่อนโยบายพรรคเวียดนามที่คอยยับยั้งการต่อสู้ของชาวคอมมิวนิสต์เขมรมาตลอด เนื่องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเลือกทำแนวร่วมกับเจ้าสีหนุ ตามแนวคิดลัทธิสตาลิน อย่างไรก็ตามพรรคเขมรยังต้องเข้าไปอาศัยพื้นที่ชายแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเวียดนามเพื่อความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ สล็อท ซาร์ จึงเดินทางไปผูกมิตรไมตรีกับจีนระหว่างปี ค.ศ. 1965-1966 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน หลังจากที่กลับจากจีน สล็อด ซาร์ ย้ายที่ทำการพรรค จากดินแดนภายใต้การดูแลของทหารคอมมิวนิสต์เวียดนามทางใต้ไปสู่ป่าเขาของเขตรัตนคีรีซึ่งติดพรมแดนลาวและเวียดนามทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขมร
ในปี ค.ศ. 1970 สหรัฐหนุนการทำรัฐประหารล้มเจ้าสีหนุและส่งกองทัพและเครื่องบินรบเข้าไปทิ้งระเบิดในเขมร ซึ่งเป็นการขยายสงครามเวียดนามเข้าไปในดินแดนเขมร การกระทำของสหรัฐมีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์เขมรขึ้นมาเป็นองค์กรนำของขบวนการชาตินิยมเขมร และยังปูทางไปสู่นโยบายของ “เขมรแดง” อีกด้วย
ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร ซึ่งใครๆเรียกกันว่า “เขมรแดง” (Khmer Rouge) เราต้องไม่มองอะไรอย่างผิวเผิน เพราะเมื่อเขมรแดงยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1975 ไม่มีการใช้นโยบายพัฒนาประเทศตามรูปแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของสตาลินหรือเหมาเจ๋อตุง อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ ใช้กัน แต่มีการไล่พลเมืองทั้งหมดออกจากเมืองเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองอย่างสุดขั้วในชนบท
เบน เคียร์นแนน และนักวิชาการอื่นๆ อธิบายว่าการยึดอำนาจของเขมรแดงไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการปฏิวัติของกรรมาชีพและไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาด้วย ในระยะเวลาทั้งหมดที่เขมรแดงครองอำนาจ ไม่มีการพูดถึงสังคมนิยมและไม่มีการตีพิมพ์งานสังคมนิยม งานมาร์คซิสต์ หรือ งานลัทธิเหมา แม้แต่ชิ้นเดียว
ด้วยเหตุนี้เราไม่สามารถจำแนกการเมืองของเขมรแดงว่าเป็นแนวมาร์คซิสต์ แนวสตาลิน หรือแนวเหมา (Maoist) ได้เลยทั้งๆ ที่มีการเน้นชนบทและทั้งๆ ที่เราทราบว่า พอล พต ไปเยี่ยมจีนในช่วงแรกของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ตาม
ถ้าเราศึกษางานเขียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ของเขียว สัมพันธ์ ก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำเขมรแดงคนหนึ่ง เราจะพบว่า เขียว สัมพันธ์ มีแนวคิดแบบลัทธิสตาลินซึ่งผสมผสานแนวทฤษฏีพึ่งพา (Dependency Theory) โดยที่มีการเสนอรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเขมรในปี ค.ศ. 1959 ดังนี้คือ
- มองว่าเขมรเป็นประเทศบริวารในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาที่มีศูนย์กลางในตะวันตก
- เสนอว่าต้องถอนเศรษฐกิจเขมรออกจากระบบตลาดโลก เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งตนเอง
- ย้ำว่ารัฐต้องวางแผนและควบคุมเศรษฐกิจและการลงทุน
- เสนอว่าควรใช้ระบบตลาดผสมกับระบบรัฐ (Dual market system or mixed economy)
- แนะนำให้ใช้นโยบายชาตินิยม สนับสนุนนายทุนเขมร และโจมตีทุนต่างชาติ
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปธรรมของนโยบายเขมรแดงในปี ค.ศ. 1975 จะแตกต่างกันมาก เพราะเขมรแดงใช้นโยบาย
- ทำลายสังคมเมืองเพื่อเริ่มต้นใหม่ในการสร้าง “สังคมเขมรบริสุทธิ์แบบเดิม” ซึ่งเป็นสังคมเกษตรในชนบท
- ทำลายกลไกตลาดและยกเลิกการใช้เงินตราหมด
- เน้นการพึ่งตนเองและนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว
- บริหารนโยบายต่างๆภายใต้เผด็จการอันโหดร้าย
เอียง สารี (Ieng Sary) ผู้นำเขมรแดงอีกคนหนึ่งเคยสารภาพว่านโยบายของเขมรแดงหลัง ค.ศ. 1975 เป็นการทดลองทางสังคมอันยิ่งใหญ่เพื่อสร้างภาวะพึ่งตนเอง และเดวิด แชนด์เลอร์ อธิบายว่าเขมรแดงไม่ได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะฆ่าคนเป็นล้าน แต่ความรุนแรงและความเป็นเผด็จการสุดขั้วของเขมรแดงมาจากการพยายามใช้นโยบายเพ้อฝันที่ล้มเหลว เช่นการบังคับให้พลเมืองทุกคนออกจากเมืองเพื่อไปทำนาและการพึ่งตนเองโดยไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นในขณะที่เศรษฐกิจเสียหายจากสงคราม
ถ้าเราพิจารณาความจริงว่าเขมรแดงพยายามจะสร้างสังคมเพ้อฝันแบบชุมชนพึ่งตนเอง โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากภายนอกในสถานการณ์ที่ประเทศและเศรษฐกิจพังจากสงครามของสหรัฐ เราจะเข้าใจว่าทำไมมีการขูดรีดคนเขมรอย่างหนักภายใต้อำนาจเผด็จการอันป่าเถื่อน เช่นการบังคับให้คนเมืองและคนชนบททำงานในทุ่งนาโดยไม่มีอาหารกินเพียงพอ และเราจะเข้าใจได้อีกว่าทำไมผู้นำเขมรแดงกลัวการกบฏของประชาชน จนมองปัญญาชนและแม้แต่สมาชิกพรรคเองว่าอาจเป็นศัตรู ซึ่งนำไปสู่การกวาดล้าง “ศัตรู” การทรมานในคุก และการฆ่าคนจำนวนมาก เพราะคำอธิบายว่า “คนเขมรมีวัฒนธรรมโหดร้าย” หรือ “ผู้นำเขมรแดงบ้าอำนาจ หรือมีนิสัยฆาตกร” ไม่ใช่คำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์
นักประวัติศาสตร์คาดว่าจำนวนคนตายในเขมรสูงถึง 3 ล้านคน ทั้งในช่วงสงครามของสหรัฐและช่วงการปกครองของเขมรแดง โดยที่ตายเพราะการทิ้งระเบิดและการทำสงครามของสหรัฐประมาณ 1 ล้านคน ตายเพราะอดอาหารและถูกฆ่าตายโดยเขมรแดงโดยตรงในช่วงหลัง ค.ศ. 1975 อีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นถ้าจะมาลงโทษผู้นำที่ก่ออาชญากรรมอันใหญ่หลวงนี้ คงต้องลงโทษทั้งผู้นำเขมรแดงและผู้นำรัฐบาลสหรัฐ เช่น นิคสัน (Nixon) และ คิสซิงเจอร์ (Kissinger) ที่สั่งให้มีการทิ้งระเบิดเขมรมากกว่าระเบิดทั้งหมดที่เคยทิ้งในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ใช่เลือกแต่จะลงโทษเขมรแดงฝ่ายเดียว
ความคิดเรื่องการกลับไปสู่ความเป็นเขมรดั้งเดิมบริสุทธิ์ที่ใช้เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองมาจากไหน? ในแง่หนึ่งมาจากความฝันที่จะกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรนครวัดหลังจากที่สังคมเขมรตกต่ำกลายเป็นเมืองขึ้น ในอีกแง่หนึ่งมาจากมุมมองของผู้นำเขมรแดงทุกระดับที่สู้รบในชนบทมานานและมองว่าสังคมเมืองเต็มไปด้วยการเสพสุขบนสันหลังคนจน และเป็นพื้นที่ที่คนเขมรสยบยอมต่ออำนาจตะวันตกอีกด้วย แต่ในด้านปรัชญาของแนวชุมชนชนบทดั้งเดิม เราต้องมองว่ามาจากแนวคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส
เดวิด แชนด์เลอร์ อธิบายว่าเมื่อ สล็อท ซาร์ (พอล พต) ไปเรียนที่ฝรั่งเศส หนึ่งในนักประพันธ์ที่เขาชอบมากที่สุดคือ จัง จ้าคซ์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) รุสโซเสนอความคิดที่ พอล พต และเขมรแดงนำไปใช้ในลักษณะผิดเพี้ยน ถ้าเราศึกษางานของรุสโซ เราจะพบว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาของทุนนิยมในสังคมฝรั่งเศส ซึ่งรุสโซมองว่าทำลายสังคมชนบทอันงดงาม ทางออกสำหรับรุสโซคือการมีผู้นำก้าวหน้าที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและเป็นตัวแทนความคิดสังคม (General Will) เพื่อปกป้อง “ประชาธิปไตยชุมชน” เมื่อพิจารณาตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าผู้นำเขมรแดงคงจะตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น “ผู้นำก้าวหน้าที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและเป็นตัวแทนความคิดสังคม” เพื่อรื้อฟื้นสังคมชนบทดั้งเดิมของเขมรและทำลายความชั่วร้ายของจักรวรรดินิยมและทุนนิยม
โครงการทดลองสร้างสังคมใหม่อย่างเพ้อฝันของเขมรแดงสร้างโศกนาฏกรรมให้กับคนเขมร เพราะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงท่ามกลางความป่าเถื่อน ในช่วงท้ายๆ ของเขมรแดง มีการนำบางส่วนของเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐมาใช้ เช่นมีการส่งออกข้าวให้จีนทั้งๆ ที่มีความอดอยาก เพื่อซื้อเครื่องจักรมาพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมสร้างอาวุธ แต่มันสายไปแล้ว ในปี ค.ศ. 1979 กองทัพเวียดนามบุกเข้ามาล้มเขมรแดง โดยที่ไม่มีประชาชนเขมรคนใดออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องเขมรแดงแต่อย่างใด มีแต่รัฐบาลไทย สิงคโปร์ จีน อังกฤษ และสหรัฐ ที่ประกาศว่าจะปกป้องรัฐบาลพลัดถิ่นของเขมรแดงในสหประชาชาติเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในสงครามเย็นกับรัสเซียและเวียดนาม
อ่านเพิ่มเรื่องการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: http://bit.ly/1OXMaaL