ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movements) คือการรวมตัวกันของมวลชนในรูปแบบขบวนการเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การเข้าใจลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และความสัมพันธ์ที่อาจมีกับพรรคการเมือง และโครงสร้างของระบบการปกครอง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดในยุคต่างๆ

ภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์เผด็จการสายสตาลิน-เหมาทั่วโลกในทศวรรษ 1980 หลายฝ่ายที่เคยคัดค้านทุนนิยมหันมายอมจำนนต่อการผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด โดยเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยม ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การสรุปโดยนักวิชาการกระแสหลักว่า มีการล่มสลายของระบบการปกครองที่เรียกตัวเองว่า “คอมมิวนิสต์” และขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” พวกนี้มองว่าแนวทางในการสร้างพรรคการเมืองสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์หมดยุคไป บางสำนักความคิดเสนอว่าการต่อสู้ทางชนชั้นหมดความสำคัญไปด้วย และเกือบทุกแนวมองว่าการวิเคราะห์แบบชนชั้นหมดความสำคัญเพราะ “อธิบายปัญหาการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้” มีการสรุปว่าขบวนการทางสังคมแบบ “ใหม่” และการเมือง “ใหม่” เป็นการเมืองแบบ “อัตลักษณ์” ที่ไม่เน้นการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่สนใจประเด็นชนชั้น และเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องแค่ “พื้นที่” สำหรับตนเอง อย่างกระจัดกระจาย

z-2-el1

แนวคิดแบบนี้เห็นได้ชัดในไทย ในงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (๒๕๔๐) “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่”

การเคลื่อนไหวของพวก เอ็นจีโอ และกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” ในไทย มักจะเป็นการเคลื่อนไหวกระจัดกระจายตามสิ่งที่เขาเรียกว่า “กลุ่มปัญหา” โดยไม่เชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เข้ามาเป็นปัญหาภาพใหญ่ของระบบ ทั้งๆ ที่ทุกปัญหามีจุดกำเนิดมาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น ด้วยเหตุนี้ขบวนการเคลื่อนไหวและ เอ็นจีโอ แบบนี้ในไทย มักจะไม่สนใจว่าใครครองอำนาจอยู่ และไม่สนใจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เห็นพวกนี้ไปเรียกร้องให้เผด็จการทหาร “แก้ปัญหา” ให้ตนเอง และที่แย่กว่านั้นคือการคลานเข้าไปขอมีส่วนร่วมในการปฏิกูลการเมืองของเผด็จการ โดยไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองอะไรเลยว่าทหารทำรัฐประหารไปทำไม นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ที่มาจากซีกนี้ ไปร่วมกิจกรรมกับสลิ่มและในที่สุดต้อนรับรัฐประหาร

การเมืองที่เกิดขึ้นในยุคที่ภาคประชาชนยอมจำนนต่อการผูกขาดของเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นการเมืองของความกระจัดกระจายที่ปฏิเสธการวิเคราะห์องค์รวม ปฏิเสธการจัดตั้งในรูปแบบองค์กรหรือพรรคการเมือง และบ่อยครั้งปฏิเสธการเมืองไปเลย มีการรับแนวคิดโพสธ์โมเดอร์น ที่คัดค้าน “การเมือง” เพราะมองว่าเป็นเพียง “มหาวาทกรรมหลอกลวง” และมีการรับแนวอนาธิปไตย ที่ปฏิเสธการจัดตั้งหรือการประสานการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่ทั้งหมดไว้ด้วยกัน ในกรณีหลัง ถ้าดูสถานการณ์ในไทย การขยันปกป้องอิสรภาพของตนเอง และการหันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมืองตามแนวอนาธิปไตย นำไปสู่การเคลื่อนไหวต้านเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์โดยกลุ่มหลากหลายที่มีขนาดเล็ก โดยไม่มีการประสานกัน และไม่มีการสร้างพรรคหรือองค์กรมวลชนทางการเมืองเพื่อแข่งกับพรรคเพื่อไทยเลย มันเป็นต้นเหตุของความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน และมันเปิดทางให้คนอย่างทักษิณและพรรคพวกนำทางการเมืองต่อไปได้ และที่แย่มากคือในปัจจุบันทักษิณและ นปช. กำลังพยายามแช่แข็งการต่อสู้

ยุคใหม่ของการเมืองสากลทั่วโลก หลังวิกฤตเศรษฐกิจปีค.ศ. 2008 หลังการทำสงครามจักรวรรดินิยมในอีรัก และหลังการลุกฮือในอียิปต์และหลายประเทศของตะวันออกกลาง เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดรอบใหม่ คือมีการกลับไปให้ความสนใจกับแนวคิดมาร์คซิสต์และความคิดทางชนชั้นอีกครั้ง

ถ้าเราศึกษาความคิดเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมาร์คซ์กับเองเกิลส์ หรือของนักมาร์คซิสต์ปัจจุบัน เราจะพบว่ามีการมองแบบองค์รวมเสมอ และการมองแบบองค์รวมนี้จะสามารถอธิบายโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีกว่าพวกที่เคยเห่อไปนิยมการเมือง “อัตลักษณ์” และ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ผมจะขอใช้ขบวนการเสื้อแดงเป็นตัวอย่างรูปธรรมในการอธิบาย

แทนที่จะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ องค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเน้นการเมืองอัตลักษณ์หรือข้อเรียกร้องของตนเอง นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ

ถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาการลุกฮือที่สหรัฐในช่วงที่มีการต้านสงครามเวียดนาม เราจะเห็นว่าหลากหลายขบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องอัตลักษณ์ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น มีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีขาขึ้นลง เข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลง ตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จที่มองแค่ผิว

10318769_10152419982244925_2015312474_n

     นักมาร์คซิสต์มองว่าพลเมืองธรรมดาที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด จะท้าทายระบบและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง ไม่ว่ากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวนี้จะคิดแค่ปฏิรูปการเมือง หรือคิดปฏิวัติล้มทั้งระบบ ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องนี้เราต้องก้าวพ้นมายาคติที่สร้างกำแพงหลอกลวงที่แยกการต่อสู้ในอดีตกับปัจจุบัน หรือที่แยกประเด็นปัญหาโดยมองไม่เห็นว่าทุกปัญหามาจากแหล่งเดียวกันคือระบบทุนนิยมและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง พูดง่ายๆ ปัญหาที่ดิน ปัญหาป่าไม้ ปัญหาน้ำ ปัญหาสิทธิการเข้าถึงยา ปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้ม ปัญหาการกดขี่ทางเพศ ปัญหาสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือปัญหาความยากจน ล้วนแต่ผูกพันและมีต้นกำเนิดจากทุนนิยมทั้งสิ้น และที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวที่เราเห็นทุกวันนี้เกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวในอดีตตลอด อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการเดียวกันก็ได้

ในไทยองค์กร เอ็นจีโอ และขบวนการชาวบ้าน นักศึกษา หรือสหภาพแรงงาน รวมถึงสมัชชาคนจน ล้วนแต่มีความผูกพันกับประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขบวนการเสื้อแดงก็เช่นกัน ยิ่งกว่านั้นขบวนการเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับการลุกฮือช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ แกนนำและนักกิจกรรมที่เราเห็นทุกวันนี้บางส่วน ก็เป็นคนที่เคยเคลื่อนไหวต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีต และทั้งๆ ที่เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอยากปฏิวัติล้มระบบ จำนวนคนที่อยากปฏิวัติล้มระบบอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเขามีประสบการโดยตรงของการปราบปรามอย่างโหดร้ายของฝ่ายตรงข้าม

การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ การเคลื่อนไหวของ เอ็นจีโอ หรือสมัชชาคนจน และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชนที่ถูกปกครอง การที่เสื้อแดงจำนวนมากเคยเรียกตัวเองว่า “ไพร่” สะท้อนประเด็นชนชั้นอันนี้

r10

     แน่นอน จะมีคนสงสัยทันทีว่าทำไมอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง ไปเข้ากับสลิ่มและแปรตัวไปเป็นกองเชียร์ให้เผด็จการ คำตอบคือมันไม่มีอะไรแช่แข็งคงที่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองของมนุษย์แต่ละคน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ในขณะที่มวลชนคนชั้นล่างธรรมดาสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ท้าทายความไม่เป็นธรรมของระบบ ฝ่ายชนชั้นปกครองเองก็มักจัดตั้ง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องระบบที่ดำรงอยู่ เสื้อเหลือง สลิ่ม หรือม็อบสุเทพเป็นตัวอย่างที่ดี

1503924_656075444436419_1930326893_n

ขบวนการเสื้อแดงไม่ใช่ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีการวาดภาพแบบนี้โดยพวกปฏิกิริยา และทั้งๆ ที่ทักษิณและพรรคพวกมีอิทธิพลในการนำทางความคิดมากพอสมควร ผมจะอธิบายต่อว่าทำไมเป็นเช่นนี้

ในประการแรกขบวนการเสื้อแดงมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ปกป้องโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า

ขบวนการเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ ผ่าน ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ เรื่อยมา พวกสลิ่มอาจตั้งชื่อม็อบตนเองด้วยคำว่า “ประชาธิปไตย” และอาจมีบุคคลที่เคยอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยในอดีต แต่มันเป็นภาพลวงตาที่พิสูจน์ได้ง่ายๆ เมื่อพวกนี้ต้อนรับรัฐประหาร รับใช้ชนชั้นปกครอง และอยากหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคมืด มันต่างจากเสื้อแดงโดยสิ้นเชิง

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ ในหมู่เสื้อแดงมีการถกเถียงกันว่าจะไปกับทักษิณมากน้อยแค่ไหน มีการถกเถียงกันเรื่องการสร้างพรรคใหม่หรือไม่สร้าง มีการถกเถียงกันว่าควรจะจัดเวทีแยกกับคนที่เห็นต่างหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าจะจับอาวุธหรือใช้แนวสันติ มีการถกเถียงกันว่าควรเข้าไปทำงานกับสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าควรสนับสนุนสิทธิสตรี หรือสิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ มีการถกเถียงกันเรื่องจุดยืนต่อชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มีการถกเถียงกันว่าตำรวจก้าวหน้าแค่ไหน มีการถกเถียงกันว่าควรรณรงค์เรื่อง 112 หรือไม่ และมีการถกเถียงกันว่าควรจะล้มเจ้าล้มระบบ หรือแค่กลับไปสู่ยุคการเลือกตั้งสมัยไทยรักไทย ฯลฯ

ดังนั้นการมองอย่างตื้นเขินว่าเสื้อแดงเป็นเพียงเครื่องมือของทักษิณเท่านั้น จะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย

เสื้อแดงมีการจัดตั้งกันเองในระดับรากหญ้าในเกือบทุกชุมชนหรือพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองของทักษิณมีอิทธิพลในทางความคิด นี่คือความขัดแย้งจริงที่ดำรงอยู่ และสาเหตุสำคัญคือฝ่ายเสื้อแดงก้าวหน้าไม่ยอมจัดตั้งแข่งแนวกับทักษิณอย่างเป็นระบบ

นอกจากนักมาร์คซิสต์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมโยงการต่อสู้ที่ดูเหมือนแยกส่วนหลากหลาย ระหว่างยุคต่างๆ แล้ว เราจะมองสายพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นๆ ในระดับสากลอีกด้วย การลุกฮือ ๑๔ ตุลา และการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในยุคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐ และการต่อสู้ของชาวเวียดนาม

bread3

การลุกฮือของเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลางด้วย และไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์การประท้วงของเสื้อแดงบางคนที่ถือขนมปัง หรือการขึ้นป้าย “นปช. อียิปต์” เท่านั้น เพราะการระเบิดออกมาของความไม่พอใจในตะวันออกกลางและไทย ไม่ว่าผู้ที่ร่วมสู้จะอธิบายด้วยศัพท์หรือภาษาอะไร เป็นความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรี บวกกับความไม่พอใจในเผด็จการ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน ในกรณีไทยวิกฤตต้มยำกุ้ง นโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย และการตีกลับของเผด็จการ เป็นสิ่งที่จุดชนวน ในตะวันออกกลางสงครามจักรวรรดินิยม และสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้เผด็จการเป็นชนวน

มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำทฤษฏีทางการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไปทิ้งในถังขยะแห่งประวัติศาสตร์

หนึ่งปีอันธพาลครองเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลของ “ไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด” คือรัฐบาลอันธพาล ใครไม่เข้าใจตรงนี้ ใครคิดว่าทหารมัน “หวังดี” หรือใครที่คิดว่าพวกโสโครกเหล่านี้จะ “ปฏิรูป” ประเทศไทย เป็นคนโง่เขลาหรือคนที่จงใจไม่เข้าใจประชาธิปไตย

เอ็นจีโอกลุ่มไหน หรือนักวิชาการกลุ่มไหน ที่คลานเข้าไปร่วมในการปฏิกูลการเมืองครั้งใหญ่ของเผด็จการชุดนี้คือศัตรูของฝ่ายประชาธิปไตย เพราะจะมีส่วนร่วมในการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืด

กลุ่มการเมืองไหนที่สยบยอมต่อทหาร หรือบอกให้คนเสื้อแดงนิ่งเฉยและรอ เป็นศัตรูของฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกัน ตรงนี้เราคงต้องรวมถึงนักการเมืองพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ แกนนำ นปช. และทักษิณด้วย

กลุ่มการเมืองไหน ไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าไปร่วม “ปรองดอง” จอมปลอมกับทหาร แล้วเสนอให้เลื่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เผด็จการอยู่ต่ออีกสองปี ภายใต้ข้ออ้างเท็จเรื่องการปฏิรูปการเมือง ก็เป็นศัตรูของประชาธิปไตย

จุดยืนของนักประชาธิปไตยต่อ “รัฐธรรมนวยทหารร่างใหม่” กระบวนการปฏิกูลการเมือง และการเลือกตั้งที่ปราศจากหลักการประชาธิปไตย ต้องมีจุดยืนเดียวคือคัดค้านและเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเดียว เราอาจไม่ชนะในระยะเวลาอันใกล้ แต่จุดยืนอื่นจะนำไปสู่การลดพื้นที่เสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชนในระยะยาว

เผด็จการทหารปัจจุบันพร้อมจะใช้ความรุนแรงโหดร้ายเสมอ เราอย่าลืมว่าประยุทธ์และพรรคพวก รวมถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เห็นชอบกับการยิงตายชาวเสื้อแดงมือเปล่าที่เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2553 แถมเขายังข่มขู่พยานที่เห็นทหารก่ออาชญากรรมอีกด้วย

อย่าลืมว่าประยุทธ์และพรรคพวกนั่งเฉย อมยิ้มมองดูม็อบสุเทพที่ทำลายการเลือกตั้ง ในปี 57 โดยไม่ทำอะไร แล้วพอได้โอกาสก็ก่อรัฐประหารด้วยข้ออ้างเท็จ

อย่าลืมว่าประยุทธ์และพรรคพวกกำลังออกแบบระบบเผด็จการที่มีการเลือกตั้งปลอม เพื่อสืบทอดอำนาจของพวกมันต่อไปในอนาคต โดยอาศัยองค์กรเถื่อนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อ้าง “คุณธรรม”

อย่าลืมว่าประยุทธ์และพรรคพวกมองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ “โง่” และ “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย” คนที่คิดแบบนี้เอาส่วนไหนของร่างกายไปคิด? คนที่คิดแบบนี้จะทำอะไรเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร?

อย่าลืมว่าเผด็จการชุดนี้ขยันปราบฝ่ายประชาธิปไตย โดยการเรียกตัวนักเคลื่อนไหวเข้าไปขังและข่มขู่ในค่ายทหารอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นมันพร้อมจะอุ้มนักประชาธิปไตยโดยไม่บอกใคร และที่แย่สุดคือการทรมานทางกายและใจผู้ถูกขังในขณะที่อยู่ในค่ายทหาร แน่นอนคงมีการเรียนวิธีการทรมานผู้ถูกขังจากการปฏิบัติการของทหารไทยในปาตานีและจากความทารุณของรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก

อย่าลืมว่าไอ้พวกจัญไรที่คุมอำนาจอยู่ตอนนี้ พร้อมจะผลักดันเพื่อนมนุษย์ชาวโรฮิงญาออกไปตายกลางทะเลด้วยหัวใจเย็นชา ทหารบางนายมีส่วนในการค้ามนุษย์ และประยุทธ์กับพรรคพวกพร้อมจะกอดเผด็จการทหารพม่าที่มีส่วนสำคัญในการก่อความรุนแรงกับโรฮงญาแต่แรก

ในสังคมไทยภายใต้อำนาจอันธพาลปัจจุบันไม่มีสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม นักประชาธิปไตยต้องขึ้นศาลทหาร สื่อที่มองต่างมุมกับเผด็จการก็ถูกปิด ทุกสาขาของการบริหารสังคมถูกควบคุมโดยทหาร และการเพิ่มอำนาจของทหารแบบนี้เปิดโอกาสให้มีการโกงกินมากขึ้น

และหลังจากการกระทำทุกอย่างที่โสโครกเลวทรามของแก๊งประยุทธ์ พวกมันก็จะออกมาโกหกอย่างหน้าด้านน่าไม่อาย ประยุทธ์บอกว่ามันเป็น “ทหารหัวใจประชาธิปไตย” โฆษกของมันบอกว่า “ไม่มีการอุ้มหรือทรมานใคร” แม่ทัพภาคที่หนึ่งบอกว่าการใช้ศาลทหารเป็นเรื่อง “ชอบธรรม” เพราะเป็น “ไปตามกฏหมาย” ทั้งๆ ที่กฏหมายที่มันใช้เป็นกฏหมายเถื่อนที่งอกจากกระบอกปืน

พอพวกนี้โกหกเสร็จ พอมันและลูกน้องมันขยันกอบโกยเงินแบบไม่ชอบธรรมคอร์รับชั่น หรือหลังจากที่มันแต่งตั้งญาติพี่น้องให้รับเงินสาธารณะ มันก็พูดเพ้อเจ้อว่ามันเป็น “คนดี” ที่มีศีลธรรม มันหน้าด้านสร้างองค์กรทรามที่อ้าง “คุณธรรม”  ในขณะที่มันไปไหว้อันธพาลห่มผ้าเหลืองที่เป็น “พระฟาสซิสต์” คนที่มีปัญญาคงอดสงสัยไม่ได้ว่าไอ้พวกเผด็จการนี้มันโง่แค่ไหนที่คิดว่าประชาชนจะไปเชื่อมัน

ที่เลวทรามอีกเรื่องคือการใช้และเชิดชูกฏหมายเถื่อน 112 ที่ใช้เป็นเครื่องมือปกป้องเผด็จการ ใครต้านเผด็จการทหารที่ทำความเลวในนามของกษัตริย์ ไม่ว่านายภูมิพลจะเห็นชอบหรือรู้เรื่องหรือไม่ ก็ถูกกล่าวหาว่า “ก่ออาชญากรรมร้าย” เพราะไปวิจารณ์เผด็จการหรือระบอบทหารที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือ สรุปแล้วกฏหมายเถื่อน 112 นี้จะต้องไม่มีอีกต่อไปในประเทศไทยถ้าเราจะมีเสรีภาพ และกองทัพที่แทรกแซงการเมือง ระบบศาลเตี้ย ระบบองค์กรเถื่อนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และระบบกษัตริย์ จะต้องถูกยกเลิกอย่างถอนรากถอนโคนอีกด้วย

แต่อย่าไปหลงคิดว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพจะกลับคืนสู่สังคมไทยโดยอัตโนมัติถ้าเราเพียงแต่รอ มันไม่มีทางเป็นไปได้ไม่ว่าใครจะตายหรือใครจะอยู่ สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมาจากการต่อสู้แบบที่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อประสานงานในการเตรียมตัว ฝึกฝน ศึกษา และลุกฮือ การนั่งเฉยรอจะไม่มีประโยชน์ เราต้องเริ่มจากการตัดสินใจที่จะสู้กับเผด็จการแบบมีปัญญา ในช่วงที่เราลุกฮือยาก เราต้องสร้างเครือข่าย ต้องสื่อสารกัน ต้องวางแผนและตั้งเป้าหมาย พอฝ่ายตรงข้ามมีจุดอ่อนเมื่อไรเราจะต้องเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง ซึ่งแปลว่าต้องข้ามพ้นระดับการเคลื่อนไหวเชิงสัญญลักษณ์แบบปัจเจกและกระจัดกระจาย และต้องข้ามพ้นการบูชาทักษิณกับการรอและหวังว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยกับ นปช. จะนำเราไปสู่ประชาธิปไตย

“รัฐ” กับกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง

ใจอึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมในไทย เราต้องโค่นระบบเก่าที่เป็นเผด็จการ ต้องจัดการกับกองทัพ และสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเครื่องมือของกองทัพและส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ กองทัพ และเราต้องเข้าใจเนื้อแท้ของ “รัฐ”

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”   ทั้งเลนิน และ เองเกิลส์ ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ”

รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือนักธุรกิจเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราต้องปฏิวัติรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐไปเลย หรือที่ เลนิน เรียกว่า “การสิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์ทุกคนกำหนดอนาคตตนเอง

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐที่เราพูดถึง อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ

(๑) ใช้อำนาจดิบของความรุนแรง คืออาศัยกองกำลังและการปราบปราม ซึ่ง เองเกิลส์และเลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก

(๒) การสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐนายทุน ให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือนว่า “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ ทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน หรือผ่านศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมทางความคิด

ด้วยเหตุนี้เราจะต้องสู้กับรัฐด้วยสองวิธีหรือสองแนวรบเช่นกันคือ

(๑) การใช้ “กำลัง” ซึ่งกำลังหรืออำนาจที่เรามีและฝ่ายชนชั้นปกครองไม่มี คืออำนาจที่มาจากการรวมตัวกันของกรรมาชีพผู้ทำงานในสถานที่ทำงานชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ เราต้องชุมนุมบนท้องถนนแน่นอน แต่เมื่อเขานำกองกำลังติดอาวุธมาปราบเรา เราต้องโต้ตอบด้วยการนัดหยุดงานทั่วไป

(๒) การปลุกระดมทางการเมือง เพื่อคานแนวคิดของชนชั้นปกครอง และเพื่อคานคนที่เสนอว่าเราต้องประนีประนอมกับสภาพสังคมปัจจุบันและอำนาจที่ปกครองเราอยู่ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราแค่เสนอให้ “ปฏิรูปกฎหมาย 112” แทนการยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เราก็จะยังยอมจำนนต่อความคิดชนชั้นปกครอง และไม่ปลดแอกความคิดของเราเอง

ทั้งสองแนวรบนี้อาศัยการจัดตั้งมวลชนในพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เราต้องเลือกสมรภูมิในการรบกับความรุนแรงของรัฐให้ดี ไม่ออกรบเวลาเราอ่อนแอและไม่พร้อม แต่เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ออกมาเผชิญหน้ากับรัฐบนท้องถนนและในสถานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ประสานกัน และไม่เข้าใจธาตุแท้ของสังคม เราคงทำไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่า “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ ศาล คุก ระบบราชการ รัฐบาล สถาบันกษัตริย์ และสถาบันต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิด มันต้องถูกโค่นแบบถอนรากถอนโคน เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนส่วนใหญ่ เราใช้รัฐเก่า หรือกองทัพและตำรวจเก่าเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้

แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันประกอบไปด้วยนายทหารชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในสถานการณ์ปฏิวัติ ที่กระแสปฏิวัติมาแรงเพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และชนชั้นปกครองอยู่ในสภาวะวิกฤต เราสามารถดึงทหารระดับล่างมาเข้าข้างเราได้ แต่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการดึง “นายพลก้าวหน้า” มาอยู่ข้างเรา ซึ่งเคยเป็นความฝันเปียกๆ ของแกนนำ นปช.

มาร์คซ์เคยอธิบายว่า การสร้างรัฐใหม่ต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพราะองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ มันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่กับองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงานทุกคน ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นั้นคือวิธีการสร้างสังคมนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยขั้นสูงสุด

ในช่วงที่เรายังปฏิวัติสังคมไม่ได้ การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ และมันช่วยให้เรามีสื่อเสรีและสิทธิในการแสดงออก นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เป็นการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะสั้น ดังนั้นเป็นเรื่องดีและจำเป็น แต่ยิ่งกว่านั้น  อย่างที่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีเคยอธิบาย…มันจะเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมในการที่จะล้มชนชั้นปกครองและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต

เลือกตั้งอังกฤษ: ประชาชนสก็อตแลนด์เบื่อหน่ายพรรคกระแสหลัก แต่ในอิงแลนด์ขาดพรรคทางเลือกใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผลการเลือกตั้งในอังกฤษที่น่าสนใจที่สุดคือในสก็อตแลนด์ คะแนนเสียงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของพรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ (SNP) เป็นปรากฏการณ์ใหม่ คะแนนเสียงท่วมท้นนี้ไม่ได้เกิดจากกระแสชาตินิยมแต่อย่างใด แต่เกิดจากความไม่พอใจของประชาชนสก็อตแลนด์ต่อนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตคนธรรมดา พรรค SNP แปรตัวไปมีจุดยืนตรงกับที่พรรคแรงงานเคยมีในอดีต คือเป็นพรรคที่มีนโยบาย “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ที่ปกป้องรัฐสวัสดิการและระบบสาธารณสุข และต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ นี่คือสาเหตุที่พรรค SNP ชนะในเกือบทุกเขต และยึดฐานเสียงเดิมของพรรคแรงงานในสก็อตแลนด์เกือบหมด รวมถึงเมืองกลาสโกซึ่งเป็นจุดรวมกรรมาชีพที่สำคัญ

ถึงแม้ว่าพรรค SNP ไม่ลงสมัครนอกเขตสก็อตแลนด์ แต่คนจำนวนมากในอิงแลนด์ ซึ่งไม่มีสิทธิ์เลือก SNP ก็ยังแสดงความชื่นชม และอยากเห็นพรรคที่มีนโยบายคล้ายๆ กันได้ที่นั่ง แต่ปัญหาคือในอิงแลนด์ขาดพรรคทางเลือกใหม่ที่มีนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย และใหญ่พอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือที่มาจากความเป็นไปได้ว่าจะชนะที่นั่ง

พรรค SNP ประกาศชัดเจนว่าจะลงคะแนนเสียงในสภาเพื่อกีดกันไม่ให้พรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาล และมีการชวนให้พรรคแรงงานร่วมในจุดยืนนี้ด้วย แต่นโยบายของพรรคแรงงาน ซึ่งแยกไม่ออกจากนโยบายกลไกตลาดเสรีของพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้พรรคแรงงานในอิงแลนด์หมดสภาพที่จะเป็นแรงบันดาลใจและดึงคะแนนเสียงของคนที่อยากปกป้องรัฐสวัสดิการ แนวโน้มคือพรรคอนุรักษ์นิยมอาจตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งเพราะได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในอิงแลนด์ อิงแลนด์เป็นประเทศที่ใหญ่กว่าสก็อตแลนด์และมี สส. มากกว่าหลายเท่า

ตอนนี้ชัดเจนว่าพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าพรรคนี้ครองใจคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด ทั้งพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนนิยมพรรคละประมาณ 33% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนอังกฤษหนึ่งในสามไม่สนับสนุนทั้งสองพรรค กระแสที่เห็นชัดแต่สร้างผลออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน คือความเบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน หรือพรรคเสรีนิยมที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษ์นิยม

พูดง่ายๆ ผลการเลือกตั้งอังกฤษเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคแรงงานที่ใช้นโยบายฝ่ายขวา ที่ไม่แตกต่างจากพรรคอนุรักษ์นิยม และเป็นชัยชนะของพรรค SNP ที่มีนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย ในสภาพเช่นนี้พรรคอนุรักษ์นิยมคงจะสามารถอาศัยช่องโหว่ในอิงแลนด์เพื่อพยายามตั้งรัฐบาล

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่พรรคกระแสหลักร่วมกันสนับสนุน จะเน้นการตัดสวัสดิการ การตัดงบประมาณรัฐ และการทำลายระบบรัฐสวัสดิการด้วยการดึงบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เอาใจกลุ่มทุน โดยให้ประชาชนส่วนใหญ่จ่ายหนี้สาธารณะที่ธนาคารและพวกเล่นหุ้นเคยก่อขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 และนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีผลให้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวช้า คนตกงาน และคนทำงานจนลง

ในขณะที่เศรษฐีนายทุนใหญ่เพิ่มความร่ำรวยมากขึ้นมหาศาล ประชาชนอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งล้านคนไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ และหลายครอบครัวต้องไปพึ่งศูนย์แจกอาหารฟรีที่อาสาสมัครตั้งขึ้น และในขณะที่รัฐบาลอังกฤษใช้จ่ายเงินในการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนเพราะขาดบ้านที่อยู่อาศัยเพราะรัฐบาลไม่ยอมลงทุนในการสร้างบ้าน นอกจากนี้พนักงานจำนวนมากที่ทำงานในภาครัฐ โดยเฉพาะพนักงานเงินเดือนต่ำในโรงพยาบาล จะไม่มีการปรับเงินเดือนขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ คือถูกตัดเงินเดือนนั้นเอง และพนักงานตามเทศบาลต่างๆ ก็ถูกเลิกจ้างจำนวนมากอีกด้วย

ในแง่หนึ่งคะแนนเสียงที่ SNP ได้นั้นเป็นผลพวงของการจัดประชามติเมื่อปีที่แล้วว่าสก็อตแลนด์ควรแยกออกจากอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งคะแนนของทั้งสองฝ่ายสูสีกันมาก และทั้งๆ ที่เสียงของคนไม่อยากแยกประเทศจะชนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นหลักในการเลือกแยกประเทศของคนจำนวนมากก็ไม่ใช่แนวคิดชาตินิยม แต่เป็นเรื่องการคัดค้านแนวเสรีนิยมต่างหาก

เราควรเข้าใจว่าพรรค SNP เป็นพรรคที่จะประนีประนอมกับนายทุนเสมอ ไม่ต่างจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วไปอื่นๆ ในอดีต นี่คือสาเหตุที่ฝ่ายซ้ายพยายามสร้างขั้วสังคมนิยมที่อิสระจากพรรค SNP และพรรคแรงงาน แต่เนื่องจากฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอและในบางที่ไม่ยอมสามัคคีกัน เรายังมีปัญหามาก ในอิงแลนด์คนที่ก้าวหน้าจำนวนมากจึงเลือกลงคะแนนให้พรรคกรีน หรือถ้าอาศัยอยู่ในประเทศเวลส์ก็จะลงคะแนนให้พรรคชาตินิยมเวลส์ PC (Plaid Cymru ) แต่สองพรรคนี้ก็ยังเล็ก

โดยบังเอิญผู้นำของพรรค SNP กรีน และPC เป็นผู้หญิง และคนจำนวนมากมองว่าต่างจากนักการเมืองเดิมๆ ที่น่าเบื่อ โดยที่ผู้นำ SNP มียอดนิยมสูงมาก ภาพที่ประกอบบทความนี้สะท้อนมิตรภาพระหว่างสามสตรี ในขณะที่ผู้นำพรรคแรงงานยืนเงิบอยู่คนเดียว

สถานการณ์การวิกฤตแห่งศรัทธาในพรรคกระแสหลักนี้ ไม่ได้มีแค่ในอังกฤษ เราเห็นในกรีซ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี่ เยอรมัน และในสแกนดิเนเวียอีกด้วย มันเป็นอาการเบื่อหน่ายกับนโยบายของพรรคกระแสหลักที่ไม่ต่างกันและที่เน้นแต่การตัดงบประมาณ การเพิ่มจำนวนคนตกงาน และการทำลายรัฐสวัสดิการเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำนวนมากอาจแสวงหาพรรคทางเลือกใหม่ ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้าย หรืออาจเป็นฝ่ายขวาสุดขั้วแบบฟาสซิสต์ก็ได้ ในกรณีหลัง ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงในฝรั่งเศส และฟินแลนด์ หรือในบางประเทศของยุโรปตะวันออก กระแสการเหยียดสีผิวและหาแพะรับบาปจะเพิ่มขึ้น มีการต่อต้านคนมุสลิม และต่อต้านคนที่พยายามย้ายถิ่นเข้ามาในยุโรปเพื่อหนีสงครามที่จักรวรรดินิยม ทั้งใหญ่และเล็ก ก่อขึ้นในตะวันออกกลางและส่วนอื่นของโลก นโยบายกีดกันคนย้ายถิ่นหรือผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเรือร่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะผู้ลี้ภัยต้องอาศัยพวกค้ามนุษย์เพื่อพยายามหาช่องเข้ายุโรป

ในกรณีอังกฤษพรรคฝ่ายขวาสุดขั้วที่ได้ประโยชน์คือพรรค “อิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร” (UKIP) และถึงแม้ว่าพรรคนี้ได้แค่ 1 ที่นั่งเอง แต่การที่พรรคกระแสหลัก รวมถึงพรรคแรงงาน พยายามตามกระแสเหยียดสีผิวและต้านคนย้ายถิ่น เพื่อเอาใจคนที่อาจพิจารณาเลือก UKIP ทำให้บรรยากาศในสังคมอังกฤษเอียงไปทางด้านพวกเหยียดสีผิว มีแต่พรรค SNP กรีน ชาตินิยมเวลส์ และฝ่ายซ้ายที่คัดค้านกระแสนี้

เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาล มันจะมีแรงกดดันจาก UKIP และฝ่ายขวาของพรรคอนุรักษ์นิยมเอง เพื่อให้มีการจัดประชามติว่าอังกฤษควรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มทุนหลายกลุ่มจะไม่เห็นด้วยเนื่องจากได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากการที่อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกันถ้ามีแนวโน้มว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป ในสก็อตแลนด์ก็จะมีกระแสเพื่อจัดประชามติแยกประเทศรอบใหม่

ประเด็นสำคัญสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ การมีงานทำ ระดับเงินเดือน และการปกป้องระบบสาธารณสุขกับรัฐสวัสดิการจากการถูกทำลาย และเรื่องนี้คงแก้ไม่ได้ถ้าอาศัยแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภาเท่านั้น มันต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและประชาชนก้าวหน้านอกรัฐสภาเป็นหลัก

(ปรับปรุุงภายหลังผมการเลือกตั้งออกมาหมดแล้ว)

ศาสนาพุทธไปด้วยกันกับแนวมาร์คซิสต์ได้หรือไม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ ดาไลลามะ ประกาศว่าตนเป็น “มาร์คซิสต์” เราควรจะมาพิจารณาว่าพุทธศาสนากับแนวมาร์คซิสต์มีส่วนคล้ายส่วนต่างกันตรงไหน

ทั้งปรัชญาพุทธและปรัชญามาร์คซิสต์มีจุดกำเนิดบางอย่างในปรัชญาโลกโบราณชนิดหนึ่งที่เป็นกระแสสำคัญเมื่อ 2-3 พันปีมาก่อน ปรัชญาดังกล่าวเราจะพบในอริยธรรมกรีกกับอินเดีย มีการเน้นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ มันพัฒนาไปสู่ปรัชญา “วิภาษวิธี” ของแนวมาร์คซิสต์ และเรื่อง “ไตรลักษณ์” ของศาสนาพุทธ

สำหรับวิภาษวิธีของมาร์คซิสต์ หลักสำคัญๆ คือ “การเข้าใจความจริงมาจากการมองภาพรวม” “ทุกอย่างในโลกไม่มีการแช่แข็งคงที่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ” “การเปลี่ยนแปลงมาจากความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในภาพรวมเสมอ” “การเปลี่ยนแปลงย่อมพัฒนาจากปริมาณสู่คุณภาพ”-คือจากขั้นตอนน้อยๆไปสู่การเปลี่ยนสภาพสังคมทั้งหมด และ “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นเสมอ

ไตรลักษณ์ของปรัชญาพุทธ เน้นการเปลี่ยนแปลงเสมอเช่นกัน และมีลักษณะ 3 ประการอันได้แก่ “อนิจจลักษณะ” ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา “ทุกขลักษณะ” ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ “อนัตตลักษณะ” การที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการได้ อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง

ปรัชญามาร์คซิสต์ที่เน้นว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง เป็นปรัชญาที่ตรงข้ามกับลัทธิของชนชั้นปกครองทั่วไปที่เน้นว่าสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสภาพ “ธรรมชาติ” เป็นเรื่องประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่ “ประทานจากฟ้า” ซึ่งเราคงคุ้นเคยในแนวคิดดของพวกอนุรักษ์นิยมในไทยที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย ดังนั้นการเสนอว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงเป็นการเสนอว่าเราเปลี่ยนสังคมได้และโค่นล้มอำนาจที่กดทับเราได้เสมอ

แต่ปรัชญาพุทธ เวลาพูดว่าทุกอย่างไม่เที่ยงย่อมแปรเปลี่ยนเสมอ ไม่ได้เน้นไปที่สังคม แต่เน้นไปที่ปัจเจก เป็นการเสนอว่าเราไม่ควรยึดติดกับอะไร และยิ่งกว่านั้นเป็นการเสนอว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนสภาพโลกภายนอกได้ เราได้แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เลิก “อยาก” หรือเลิกยึดติดรักอะไร ทั้งนี้เพื่อดับทุกข์ตามอริยสัจ4 คือ ทุกข์ สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ(การดับทุกข์ผ่านการดับความอยาก) และมรรค(การปฏิบัติรูปธรรมในการดับทุกข์)

ในการเสนอว่าทุกอย่างไม่เที่ยงและย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอของศาสนาพุทธ ไม่ได้มีเจตนาที่จะเสนอว่าระบบการปกครองเผด็จการของไทย หรือรูปแบบคน “สูง-ต่ำ” ในไทยจะหายไปแต่อย่างใด เพราะไม่ได้สนใจตรงนี้ สนใจแต่ว่าปัจเจกจะจัดการกับสภาพที่ทนยากได้อย่างไร คือเป็นการ “ทำใจ” เหมือนการ “ทำใจ” ของคนที่ติดคุก และในเรื่องการติดคุกหรือการทำใจในสภาพที่แก้ปัญหาในระยะสั้นยากมันอาจช่วย แต่การ “ทำใจให้สงบ” จะไม่มีวันเปลี่ยนสภาพสังคมที่จับขังคนที่วิจารณ์ผู้มีอำนาจแต่อย่างใด

บางคนอาจแย้งว่า “ถ้าทุกคนปฏิบัติธรรม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมเราจะดีขึ้น” มันเป็นแนวคิดที่เน้นการเปลี่ยนแปลงตนเองแบบปัจเจก ที่เรามักพบในเกือบทุกศาสนา แต่มันเพ้อฝันเพราะไม่คำนึงถึงโลกแห่งความเป็นจริง และที่สำคัญคือไม่พิจารณาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจชนชั้นในสังคม มันเพียงแต่เป็นความหวังว่างเปล่า

อาจมีตัวอย่างสำคัญของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เช่นพระสงฆ์ซีกก้าวหน้าในพม่า พระสงฆ์เสื้อแดงในไทย หรือพระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาวในยุคสงครามเวียดนาม แต่มันยากที่จะอธิบายว่าการต่อสู้แบบนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานปรัชญาพุทธที่ชัดเจน

ในหลายแง่พุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่ชวนให้คนมองตนเอง เน้นแต่ตนเอง หรือเน้นปัจเจก การที่มีการพูดถึง “กรรม” และ “การทำบุญ” เป็นเรื่องปัจเจกเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องสังคม

และนอกจากนี้พุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่เน้น “การปรับความคิด” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นแนว “จิตนิยม” ก็ได้ ความคิดอาจเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ความคิดมีพลังเหนือสภาพความจริงในโลกไม่ได้ มันไม่มีอำนาจในตัวมันเอง

ส่วนปรัชญามาร์คซิสต์เป็นแนวคิดที่เน้น “มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่อาศัยซึ่งกันและกันเสมอ” และการที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้แต่ความคิดของมนุษย์ที่เกิดขึ้น มีความผูกพันกับสภาพโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะวิธีเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคต่างๆ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” และวิภาษวิธีย่อมใช้ร่วมกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์เสมอ

แทนที่มาร์คซิสต์จะเน้นปัจเจกด้านเดียว นักมาร์คซิสต์จะพูดตลอดว่า “มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนโลกร่วมกัน แต่ในสภาพสังคมที่ตนไม่ได้เลือกเพราะเป็นมรดกตกทอดจากยุคก่อน” พูดง่ายๆ เรารวมตัวกันเปลี่ยนสังคมได้เสมอ แต่เราต้องเข้าใจสภาพสังคมและโลกแห่งความเป็นจริงด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างอุปสรรคสำหรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเราทำอะไรเองคนเดียวในฐานะปัจเจกไม่ได้ เราต้องร่วมกับคนอื่น

นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะอธิบายว่า บ่อยครั้งความทุกข์ของมนุษย์มาจากการถูกกดขี่ขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เราแก้ไม่ได้ แต่แน่นอนความทุกข์ที่มาจากสภาพอื่น เช่นการ “อกหัก” หรือผิดหวังในความรัก คงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ด้วยวิธีอื่นที่อาจเน้นความปัจเจก

วิภาษวิธีของมาร์คซิสต์จะเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคม มาจากความขัดแย้งทางชนชั้นในยุคต่างๆ ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นทุนนิยม นอกจากระบบทุนนิยมจะขัดแย้งในตัวจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำแล้ว และนอกจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองชาติต่างๆ ที่ก่อให้เกิดสงคราม พลังในการล้มระบบทุนนิยมอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน ซึ่งขัดแย้งกับชนชั้นนายทุนที่คุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง แต่การที่กรรมาชีพจะเปลี่ยนสังคมได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการรวมตัวจัดตั้งทางการเมืองและโอกาสในการลุกฮือ นอกจากนี้การที่ชนชั้นปกครองทั่วโลกพยายามจะลดสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่เมื่อมีโอกาส ก็เป็นเพราะเขาต้องการกอบโกยผลประโยชน์จากเราผ่านการขูดรีด โดยไม่มีการต่อสู้กบฏต่ออำนาจเขา