ใจอึ๊งภากรณ์
ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมในไทย เราต้องโค่นระบบเก่าที่เป็นเผด็จการ ต้องจัดการกับกองทัพ และสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเครื่องมือของกองทัพและส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ กองทัพ และเราต้องเข้าใจเนื้อแท้ของ “รัฐ”
ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด
ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู” ทั้งเลนิน และ เองเกิลส์ ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ”
รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือนักธุรกิจเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่
สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราต้องปฏิวัติรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐไปเลย หรือที่ เลนิน เรียกว่า “การสิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์ทุกคนกำหนดอนาคตตนเอง
“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐที่เราพูดถึง อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ
(๑) ใช้อำนาจดิบของความรุนแรง คืออาศัยกองกำลังและการปราบปราม ซึ่ง เองเกิลส์และเลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก
(๒) การสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐนายทุน ให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือนว่า “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ ทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน หรือผ่านศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมทางความคิด
ด้วยเหตุนี้เราจะต้องสู้กับรัฐด้วยสองวิธีหรือสองแนวรบเช่นกันคือ
(๑) การใช้ “กำลัง” ซึ่งกำลังหรืออำนาจที่เรามีและฝ่ายชนชั้นปกครองไม่มี คืออำนาจที่มาจากการรวมตัวกันของกรรมาชีพผู้ทำงานในสถานที่ทำงานชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ เราต้องชุมนุมบนท้องถนนแน่นอน แต่เมื่อเขานำกองกำลังติดอาวุธมาปราบเรา เราต้องโต้ตอบด้วยการนัดหยุดงานทั่วไป
(๒) การปลุกระดมทางการเมือง เพื่อคานแนวคิดของชนชั้นปกครอง และเพื่อคานคนที่เสนอว่าเราต้องประนีประนอมกับสภาพสังคมปัจจุบันและอำนาจที่ปกครองเราอยู่ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราแค่เสนอให้ “ปฏิรูปกฎหมาย 112” แทนการยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เราก็จะยังยอมจำนนต่อความคิดชนชั้นปกครอง และไม่ปลดแอกความคิดของเราเอง
ทั้งสองแนวรบนี้อาศัยการจัดตั้งมวลชนในพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เราต้องเลือกสมรภูมิในการรบกับความรุนแรงของรัฐให้ดี ไม่ออกรบเวลาเราอ่อนแอและไม่พร้อม แต่เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ออกมาเผชิญหน้ากับรัฐบนท้องถนนและในสถานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ประสานกัน และไม่เข้าใจธาตุแท้ของสังคม เราคงทำไม่ได้
ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่า “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ ศาล คุก ระบบราชการ รัฐบาล สถาบันกษัตริย์ และสถาบันต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิด มันต้องถูกโค่นแบบถอนรากถอนโคน เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนส่วนใหญ่ เราใช้รัฐเก่า หรือกองทัพและตำรวจเก่าเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้
แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันประกอบไปด้วยนายทหารชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในสถานการณ์ปฏิวัติ ที่กระแสปฏิวัติมาแรงเพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และชนชั้นปกครองอยู่ในสภาวะวิกฤต เราสามารถดึงทหารระดับล่างมาเข้าข้างเราได้ แต่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการดึง “นายพลก้าวหน้า” มาอยู่ข้างเรา ซึ่งเคยเป็นความฝันเปียกๆ ของแกนนำ นปช.
มาร์คซ์เคยอธิบายว่า การสร้างรัฐใหม่ต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพราะองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ มันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่กับองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงานทุกคน ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นั้นคือวิธีการสร้างสังคมนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยขั้นสูงสุด
ในช่วงที่เรายังปฏิวัติสังคมไม่ได้ การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ และมันช่วยให้เรามีสื่อเสรีและสิทธิในการแสดงออก นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เป็นการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะสั้น ดังนั้นเป็นเรื่องดีและจำเป็น แต่ยิ่งกว่านั้น อย่างที่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีเคยอธิบาย…มันจะเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมในการที่จะล้มชนชั้นปกครองและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต
One thought on ““รัฐ” กับกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง”
Comments are closed.