ใจ อึ๊งภากรณ์
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movements) คือการรวมตัวกันของมวลชนในรูปแบบขบวนการเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การเข้าใจลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และความสัมพันธ์ที่อาจมีกับพรรคการเมือง และโครงสร้างของระบบการปกครอง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดในยุคต่างๆ
ภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์เผด็จการสายสตาลิน-เหมาทั่วโลกในทศวรรษ 1980 หลายฝ่ายที่เคยคัดค้านทุนนิยมหันมายอมจำนนต่อการผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด โดยเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยม ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การสรุปโดยนักวิชาการกระแสหลักว่า มีการล่มสลายของระบบการปกครองที่เรียกตัวเองว่า “คอมมิวนิสต์” และขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” พวกนี้มองว่าแนวทางในการสร้างพรรคการเมืองสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์หมดยุคไป บางสำนักความคิดเสนอว่าการต่อสู้ทางชนชั้นหมดความสำคัญไปด้วย และเกือบทุกแนวมองว่าการวิเคราะห์แบบชนชั้นหมดความสำคัญเพราะ “อธิบายปัญหาการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้” มีการสรุปว่าขบวนการทางสังคมแบบ “ใหม่” และการเมือง “ใหม่” เป็นการเมืองแบบ “อัตลักษณ์” ที่ไม่เน้นการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่สนใจประเด็นชนชั้น และเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องแค่ “พื้นที่” สำหรับตนเอง อย่างกระจัดกระจาย
แนวคิดแบบนี้เห็นได้ชัดในไทย ในงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (๒๕๔๐) “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่”
การเคลื่อนไหวของพวก เอ็นจีโอ และกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” ในไทย มักจะเป็นการเคลื่อนไหวกระจัดกระจายตามสิ่งที่เขาเรียกว่า “กลุ่มปัญหา” โดยไม่เชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เข้ามาเป็นปัญหาภาพใหญ่ของระบบ ทั้งๆ ที่ทุกปัญหามีจุดกำเนิดมาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น ด้วยเหตุนี้ขบวนการเคลื่อนไหวและ เอ็นจีโอ แบบนี้ในไทย มักจะไม่สนใจว่าใครครองอำนาจอยู่ และไม่สนใจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เห็นพวกนี้ไปเรียกร้องให้เผด็จการทหาร “แก้ปัญหา” ให้ตนเอง และที่แย่กว่านั้นคือการคลานเข้าไปขอมีส่วนร่วมในการปฏิกูลการเมืองของเผด็จการ โดยไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองอะไรเลยว่าทหารทำรัฐประหารไปทำไม นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ที่มาจากซีกนี้ ไปร่วมกิจกรรมกับสลิ่มและในที่สุดต้อนรับรัฐประหาร
การเมืองที่เกิดขึ้นในยุคที่ภาคประชาชนยอมจำนนต่อการผูกขาดของเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นการเมืองของความกระจัดกระจายที่ปฏิเสธการวิเคราะห์องค์รวม ปฏิเสธการจัดตั้งในรูปแบบองค์กรหรือพรรคการเมือง และบ่อยครั้งปฏิเสธการเมืองไปเลย มีการรับแนวคิดโพสธ์โมเดอร์น ที่คัดค้าน “การเมือง” เพราะมองว่าเป็นเพียง “มหาวาทกรรมหลอกลวง” และมีการรับแนวอนาธิปไตย ที่ปฏิเสธการจัดตั้งหรือการประสานการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่ทั้งหมดไว้ด้วยกัน ในกรณีหลัง ถ้าดูสถานการณ์ในไทย การขยันปกป้องอิสรภาพของตนเอง และการหันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมืองตามแนวอนาธิปไตย นำไปสู่การเคลื่อนไหวต้านเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์โดยกลุ่มหลากหลายที่มีขนาดเล็ก โดยไม่มีการประสานกัน และไม่มีการสร้างพรรคหรือองค์กรมวลชนทางการเมืองเพื่อแข่งกับพรรคเพื่อไทยเลย มันเป็นต้นเหตุของความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน และมันเปิดทางให้คนอย่างทักษิณและพรรคพวกนำทางการเมืองต่อไปได้ และที่แย่มากคือในปัจจุบันทักษิณและ นปช. กำลังพยายามแช่แข็งการต่อสู้
ยุคใหม่ของการเมืองสากลทั่วโลก หลังวิกฤตเศรษฐกิจปีค.ศ. 2008 หลังการทำสงครามจักรวรรดินิยมในอีรัก และหลังการลุกฮือในอียิปต์และหลายประเทศของตะวันออกกลาง เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดรอบใหม่ คือมีการกลับไปให้ความสนใจกับแนวคิดมาร์คซิสต์และความคิดทางชนชั้นอีกครั้ง
ถ้าเราศึกษาความคิดเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมาร์คซ์กับเองเกิลส์ หรือของนักมาร์คซิสต์ปัจจุบัน เราจะพบว่ามีการมองแบบองค์รวมเสมอ และการมองแบบองค์รวมนี้จะสามารถอธิบายโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีกว่าพวกที่เคยเห่อไปนิยมการเมือง “อัตลักษณ์” และ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ผมจะขอใช้ขบวนการเสื้อแดงเป็นตัวอย่างรูปธรรมในการอธิบาย
แทนที่จะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ องค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเน้นการเมืองอัตลักษณ์หรือข้อเรียกร้องของตนเอง นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ
ถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาการลุกฮือที่สหรัฐในช่วงที่มีการต้านสงครามเวียดนาม เราจะเห็นว่าหลากหลายขบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องอัตลักษณ์ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น มีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีขาขึ้นลง เข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลง ตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จที่มองแค่ผิว
นักมาร์คซิสต์มองว่าพลเมืองธรรมดาที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด จะท้าทายระบบและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง ไม่ว่ากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวนี้จะคิดแค่ปฏิรูปการเมือง หรือคิดปฏิวัติล้มทั้งระบบ ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องนี้เราต้องก้าวพ้นมายาคติที่สร้างกำแพงหลอกลวงที่แยกการต่อสู้ในอดีตกับปัจจุบัน หรือที่แยกประเด็นปัญหาโดยมองไม่เห็นว่าทุกปัญหามาจากแหล่งเดียวกันคือระบบทุนนิยมและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง พูดง่ายๆ ปัญหาที่ดิน ปัญหาป่าไม้ ปัญหาน้ำ ปัญหาสิทธิการเข้าถึงยา ปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้ม ปัญหาการกดขี่ทางเพศ ปัญหาสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือปัญหาความยากจน ล้วนแต่ผูกพันและมีต้นกำเนิดจากทุนนิยมทั้งสิ้น และที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวที่เราเห็นทุกวันนี้เกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวในอดีตตลอด อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการเดียวกันก็ได้
ในไทยองค์กร เอ็นจีโอ และขบวนการชาวบ้าน นักศึกษา หรือสหภาพแรงงาน รวมถึงสมัชชาคนจน ล้วนแต่มีความผูกพันกับประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขบวนการเสื้อแดงก็เช่นกัน ยิ่งกว่านั้นขบวนการเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับการลุกฮือช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ แกนนำและนักกิจกรรมที่เราเห็นทุกวันนี้บางส่วน ก็เป็นคนที่เคยเคลื่อนไหวต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีต และทั้งๆ ที่เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอยากปฏิวัติล้มระบบ จำนวนคนที่อยากปฏิวัติล้มระบบอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเขามีประสบการโดยตรงของการปราบปรามอย่างโหดร้ายของฝ่ายตรงข้าม
การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ การเคลื่อนไหวของ เอ็นจีโอ หรือสมัชชาคนจน และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชนที่ถูกปกครอง การที่เสื้อแดงจำนวนมากเคยเรียกตัวเองว่า “ไพร่” สะท้อนประเด็นชนชั้นอันนี้
แน่นอน จะมีคนสงสัยทันทีว่าทำไมอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง ไปเข้ากับสลิ่มและแปรตัวไปเป็นกองเชียร์ให้เผด็จการ คำตอบคือมันไม่มีอะไรแช่แข็งคงที่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองของมนุษย์แต่ละคน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ในขณะที่มวลชนคนชั้นล่างธรรมดาสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ท้าทายความไม่เป็นธรรมของระบบ ฝ่ายชนชั้นปกครองเองก็มักจัดตั้ง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องระบบที่ดำรงอยู่ เสื้อเหลือง สลิ่ม หรือม็อบสุเทพเป็นตัวอย่างที่ดี
ขบวนการเสื้อแดงไม่ใช่ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีการวาดภาพแบบนี้โดยพวกปฏิกิริยา และทั้งๆ ที่ทักษิณและพรรคพวกมีอิทธิพลในการนำทางความคิดมากพอสมควร ผมจะอธิบายต่อว่าทำไมเป็นเช่นนี้
ในประการแรกขบวนการเสื้อแดงมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ปกป้องโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า
ขบวนการเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ ผ่าน ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ เรื่อยมา พวกสลิ่มอาจตั้งชื่อม็อบตนเองด้วยคำว่า “ประชาธิปไตย” และอาจมีบุคคลที่เคยอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยในอดีต แต่มันเป็นภาพลวงตาที่พิสูจน์ได้ง่ายๆ เมื่อพวกนี้ต้อนรับรัฐประหาร รับใช้ชนชั้นปกครอง และอยากหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคมืด มันต่างจากเสื้อแดงโดยสิ้นเชิง
นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ ในหมู่เสื้อแดงมีการถกเถียงกันว่าจะไปกับทักษิณมากน้อยแค่ไหน มีการถกเถียงกันเรื่องการสร้างพรรคใหม่หรือไม่สร้าง มีการถกเถียงกันว่าควรจะจัดเวทีแยกกับคนที่เห็นต่างหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าจะจับอาวุธหรือใช้แนวสันติ มีการถกเถียงกันว่าควรเข้าไปทำงานกับสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าควรสนับสนุนสิทธิสตรี หรือสิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ มีการถกเถียงกันเรื่องจุดยืนต่อชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มีการถกเถียงกันว่าตำรวจก้าวหน้าแค่ไหน มีการถกเถียงกันว่าควรรณรงค์เรื่อง 112 หรือไม่ และมีการถกเถียงกันว่าควรจะล้มเจ้าล้มระบบ หรือแค่กลับไปสู่ยุคการเลือกตั้งสมัยไทยรักไทย ฯลฯ
ดังนั้นการมองอย่างตื้นเขินว่าเสื้อแดงเป็นเพียงเครื่องมือของทักษิณเท่านั้น จะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย
เสื้อแดงมีการจัดตั้งกันเองในระดับรากหญ้าในเกือบทุกชุมชนหรือพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองของทักษิณมีอิทธิพลในทางความคิด นี่คือความขัดแย้งจริงที่ดำรงอยู่ และสาเหตุสำคัญคือฝ่ายเสื้อแดงก้าวหน้าไม่ยอมจัดตั้งแข่งแนวกับทักษิณอย่างเป็นระบบ
นอกจากนักมาร์คซิสต์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมโยงการต่อสู้ที่ดูเหมือนแยกส่วนหลากหลาย ระหว่างยุคต่างๆ แล้ว เราจะมองสายพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นๆ ในระดับสากลอีกด้วย การลุกฮือ ๑๔ ตุลา และการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในยุคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐ และการต่อสู้ของชาวเวียดนาม
การลุกฮือของเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลางด้วย และไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์การประท้วงของเสื้อแดงบางคนที่ถือขนมปัง หรือการขึ้นป้าย “นปช. อียิปต์” เท่านั้น เพราะการระเบิดออกมาของความไม่พอใจในตะวันออกกลางและไทย ไม่ว่าผู้ที่ร่วมสู้จะอธิบายด้วยศัพท์หรือภาษาอะไร เป็นความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรี บวกกับความไม่พอใจในเผด็จการ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน ในกรณีไทยวิกฤตต้มยำกุ้ง นโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย และการตีกลับของเผด็จการ เป็นสิ่งที่จุดชนวน ในตะวันออกกลางสงครามจักรวรรดินิยม และสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้เผด็จการเป็นชนวน
มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำทฤษฏีทางการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไปทิ้งในถังขยะแห่งประวัติศาสตร์
One thought on “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์”
Comments are closed.