รัฐไทยไม่ควรทำให้การบิณฑบาตรของพระในปาตานีเกี่ยวพันกับทหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลอบวางระเบิดพระสงฆ์ในขณะออกบิณฑบาตรที่สายบุรีเป็นเรื่องแย่ และในขณะเดียวกันการใช้กองกำลังของฝ่ายรัฐไทย เพื่อลอบสังหารนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของปาตานีก็เป็นเรื่องที่เราควรประณามเช่นกัน นอกจากนี้การใช้กองกำลังรัฐไทย เพื่อกดขี่บังคับให้ชาวมุสลิมมาเลย์ในปาตานีต้องขึ้นกับประเทศไทย ก็เป็นเรื่องแย่อีกด้วย เพราะรัฐไทยทำตัวเหมือนเจ้าอาณานิคมในพื้นที่

แต่ถ้าเราจะพิจารณาเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นที่สายบุรี อ. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยเตือนมานานแล้วว่าการใช้ทหารเพื่อ “คุ้มครอง” พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตร เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะไปผูกพันศาสนาพุทธกับทหารรัฐไทย ทำให้พระสงฆ์มีภาพเหมือนกับว่าอยู่ข้างอำนาจรัฐไทยที่กดขี่ชาวบ้าน ยิ่งกว่านั้นมันมีช่วงหนึ่งที่กองทัพพยายามส่งเสริมให้ทหารบวชเป็นพระในพื้นที่ปาตานีอีกด้วย

การที่องค์กร “สิทธิมนุษยชน” หรือองค์กรศาสนาต่างๆ ออกมาประณามการวางระเบิดที่สายบุรี ไม่มีทางแก้ปัญหาตรงจุดได้เลย เพราะพอประณามเสร็จแล้วก็ออกมาขอให้รัฐไทยคุ้มครองพระสงฆ์ แต่รัฐไทยคือผู้ใช้ความรุนแรงในการกดขี่ชาวมุสลิมมาเลย์ในปาตานีแต่แรก และกดขี่มาหลายร้อยปีอีกด้วยหลังจากที่ไทยยึดพื้นที่มาเป็นอาณานิคม มันเหมือนกับการขอร้องให้โจรจากรัฐไทยมาปกป้องประชาชน และอย่าลืมด้วยว่ากองกำลังทหารของรัฐไทย ภายใต้ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ก็เป็นพวกที่เข่นฆ่าเสื้อแดงที่ราชประสงค์ และปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจากพลเมืองไทยทุกคนผ่านการทำรัฐประหาร

แทนที่พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตร จะหลบอยู่หลังทหาร เขาควรจะผูกมิตรกับผู้นำศาสนาอิสลาม และให้ร่วมกันเดินเคียงข้างกัน

ปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีไม่ใช่สงครามระหว่างศาสนา ไม่ใช่สงครามระหว่างชาวพุทธกับชาวอิสลาม แต่มันเป็นสงครามระหว่างชาวมาเลย์มุสลิมกับรัฐไทย ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องมีการถอนกำลังทหารรัฐไทยออกไป และให้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใด มาร่วมกันกำหนดอนาคต และที่สำคัญคือไม่ควรมีการบังคับใช้รูปแบบ “รัฐรวมศูนย์” ที่เคยทำมาตลอด ควรมีการคุยกันอย่างเสรีว่าปาตานีจะอยู่ต่อในรัฐไทย หรือจะแยกตัวออก หรืออาจมีการพิจารณาว่าควรจะเป็นเขตปกครองตนเองก็ได้ แล้วแต่พลเมืองในพื้นที่จะคิด

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยปกครองโดยเผด็จการทหาร และการที่เผด็จการนี้เน้นการทหารเพื่อทำลายฝ่ายที่กบฏต่อรัฐ โดยอ้างว่าจะ “สร้างสันติภาพ” มีผลทำให้สันติภาพแท้ไม่มีวันเกิดตราบใดที่เราไม่ล้มเผด็จการ

สำหรับคนที่จับอาวุธสู้กับรัฐไทย เราต้องเห็นใจเขา เพราะเขาต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเขามีประสบการณ์ของการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐไทยมาตลอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางออกในการปลดแอกประชาชนในปาตานีไม่ใช่การใช้กองกำลังติดอาวุธ เพราะมันทำให้เสียการเมืองเวลาฆ่าพลเรือน และมันไม่สามารถเอาชนะกองทัพไทยได้ ทางออกอยู่ที่การสร้างขบวนการมวลชนอย่างที่กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่พยายามทำอยู่ทุกวันนี้

ตราบใดที่คนไทยไม่ปฏิเสธการเหยียดเชื้อชาติ ก็คงยังเป็นทาสต่อไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพอังกฤษไม่เลิกดูถูกคนจากไอร์แลนด์ที่เข้ามาทำงานก่อสร้างในอังกฤษ เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้

หลังจากที่มีการเปิดโปงและเผยแพร่ข่าวทารุณกรรมที่คนไทยก่อกับชาวโรฮิงญา ในบทความและวิดีโอของ นสพ. “การ์เดี้ยน” เราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้

ในกรณีชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่าปลุกปั่นให้ชาวพุทธคลั่งชาติก่อต่อเขา เราจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจระดับสูงของไทยได้แสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้โชคร้ายเหล่านั้น มีการกักตัวในค่ายกลางป่า มีการกักตัวบนเรือกลางทะเล มีการทุบตีคนที่ไม่ทำตามคำสั่ง มีการข่มขืนเด็กและผู้หญิงอย่างเป็นระบบ และเจ้าของเรือประมงก็ได้ประโยชน์ทั้งจากการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และการขนส่งค้าขายมนุษย์อีกด้วย

แน่นอนมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว มีชาวบ้านธรรมดาที่ออกไปช่วยชาวโรฮิงญา และเราจะไม่วิจารณ์ผู้ที่มีน้ำใจแบบนี้

แต่ที่น่าสลดใจคือ ถ้าพิจารณาสังคมไทยโดยรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่แคร์ ไม่มีการสร้างขบวนการประท้วงต่อต้านพฤติกรรมเลวทรามของพวกค้ามนุษย์ และไม่มีการรณรงค์ให้รับผู้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเพื่อเป็นเพื่อนร่วมสังคมกับเรา

ในเรื่องการคัดค้านการค้ามนุษย์และทารุณกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าถามคนไทยส่วนใหญ่ว่าเขาคิดอย่างไร เขาคงคัดค้าน ถึงแม้ว่าคงไม่พร้อมจะทำอะไร แต่เมื่อถามว่าควรรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศหรือไม่ เขาจะมองว่าไม่ควรรับ นอกจากนี้คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แขก” “ญวน” “ต่างด้าว” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เหมือนเป็นสันดาน และมีการดูถูกแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไร้จิตสำนึก

ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” คนใด และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนที่ทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้

ในยุโรปกระแสชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติอื่น ถูกปลุกขึ้นมาโดยฝ่ายนายทุนในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันและในอดีต คนที่ยอมรับแนวนี้ไม่สามารถต่อสู้กับชนชั้นปกครองที่กำลังบังคับให้คนธรรมดารัดเข็มขัดเพื่อประโยชน์กลุ่มทุนได้ มีแต่ฝ่ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ และสมานฉันท์ข้ามพรมแดน ที่จะสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐสวัสดิการและมาตรฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้

ในไทยตราบใดที่เราไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อกำจัดพวกค้าและทรมาณชาวโรฮิงญา ตราบใดที่เราไม่สลัดความคิดที่มองว่าเรารับผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่กับเราไม่ได้ ตราบใดที่เราไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามเชื้อชาติอื่น และตราบใดที่เรายังยืนเคารพธงชาติของชนชั้นปกครอง เราจะไม่มีวันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์และความเท่าเทียมได้เลย

การทดลองราคาแพงของฝ่ายซ้ายสเปน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดสำหรับคนจนและกรรมาชีพ เราก็เห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรค และล่าสุดก็ออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา”

สาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยและรอบโลก ควรสนใจเรื่องราวเหล่านี้ ก็เพราะมันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเด็นการสร้างพรรคสังคมนิยม ประเด็นเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งในสภา และการเข้าใจว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างในความฝันว่าจะปฏิรูประบบทุนนิยมได้

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ประกอบไปด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ต่อจากนั้นนักเคลื่อนไหวที่เป็นอดีต “อินดิกนาดอส” ก็เข้าไปต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ขบวนการปกป้องรัฐสวัสดิการ และขบวนการที่คัดค้านการที่คนธรรมดาถูกธนาคารยึดบ้านเพราะติดหนี้

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ ที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคซ้ายปฏิรูปที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น ถ้าเทียบกับ “ไซรีซา” แล้ว มันมีจุดยืนแย่กว่าตั้งแต่ต้น และขาดประวัติการจัดตั้งมายาวนานของ “ไซรีซา” อีกด้วย และเราก็เห็นว่า“ไซรีซา” ก็ยังหักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด

ทุกวันนี้พวกนักฉวยโอกาสทางการเมือง ที่อยากเข้าไปในรัฐสภา แห่กันเข้ามาในพรรค “โพเดมอส” มากขึ้น

ทั้ง “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” มีจุดร่วมคือ คลุมเครือว่าต้องการปฏิวัติหรือปฏิรูประบบทุนนิยม และคลุมเครือว่าเข้าไปในรัฐสภาเพื่ออะไร คือไม่ชัดเจนว่าหลงคิดว่ายึดอำนาจรัฐผ่านรัฐสภาได้ หรือเข้าไปในรัฐสภาเพื่อเปิดโปงความแย่ของระบบและนำการต่อสู้โดยขบวนการแรงงานและประชาชนนอกรัฐสภาแทน

ดังนั้นการสร้างพรรคฝ่ายซ้านต้านทุนนิยม ที่อิสระจากพวกปฏิรูปเหล้านี้ และเน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงนี้นอกจากการนำการต่อสู้แล้ว ภาระสำคัญของพรรคซ้านต้านทุนนิยมในกรีซและสเปน จะต้องเป็นการดึงนักเคลื่อนไหวดีๆ ของ “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” ที่ผิดหวังและโกรธแค้นแกนนำ มาเป็นแนวร่วม

ในช่วงหลังนี้ที่สเปน มีการตั้งพรรค “คิวดาเดนอส” (Ciudadanos) หรือ “พรรคพลเมือง” เพื่อเป็น “พรรคใหม่ทางเลือก” ของฝ่ายขวา มีการดึงคะแนนของคนชั้นกลางและแข่งกับ “โพเดมอส” โดยเน้นเรื่องการต้านการคอร์รับชั่นในระบบการเมืองกระแสหลักเป็นนโยบายสำคัญ พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีเงิน และความไม่ชัดเจนทางการเมืองของ “โพดามอส” ทำให้ “โพดามอส” เสียคะแนนนิยมไป 10-15% ของคนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนพรรค

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากสเปนและกรีซคือ

  1. การเคลื่อนไหวแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยไม่มีความมั่นคงในการต่อสู้ระยะยาว ซึ่งเราก็เห็นในกรณีการต้านเผด็จการในไทยด้วย คือต้องมีการจัดตั้งสร้างพรรค
  2. การมีพรรคที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา และคลุมเครือเรื่องปัญหาของระบบทุนนิยม และประเด็นชนชั้นมันไม่พอ ต้องมีการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานและกลุ่มอื่นๆ นอกรัฐสภาเสมอ และต้องไม่พยายามเอาใจคนชั้นกลางที่ไม่เคยสนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจน และไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

ทำไมฟองสบู่ถึงแตกในตลาดหุ้นจีน

ใจอึ๊งภากรณ์

การดิ่งลงของตลาดหุ้นจีนในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความกังวลอย่างมากในแวดวงผู้นำรัฐบาล นักธุรกิจบริษัทเอกชน ชนชั้นกลาง และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก

ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นในตลาดหุ้นของระบบทุนนิยมจีนลดลง 30% และ บริษัทเอกชน 1300 แห่ง ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาด ได้ระงับการค้าขายหุ้นเพื่อปกป้องมูลค่าของบริษัท

ตลาดหุ้นจีนมีลักษณะพิเศษตรงที่มีผู้ซื้อขายหุ้นที่เป็นพลเมืองชนชั้นกลางจำนวนมาก เกือบ 80% ของผู้ซื้อขาย ซึ่งแตกต่างจากตลาดหุ้นในตะวันตกที่ถูกครอบงำโดยกองทุนขนาดใหญ่ การที่พลเมืองธรรมดาจำนวนมากอาจเสียประโยชน์จากการดิ่งลงของราคาหุ้น ทำให้รัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กังวลว่าจะเสียความชอบธรรมในสายตาคนจำนวนมาก เพราะจะดูเหมือนบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และที่กลัวมากที่สุดคือการลุกฮือประท้วงของมวลชนในสถานการณ์แบบนั้น

ทั้งๆ ที่การขึ้นลงของตลาดหุ้นเป็นเพียงอาการที่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจในทางอ้อม และไม่ได้วัดความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของเศรษฐกิจโดยตรง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนอาจมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าวิกฤตยูโรของกรีซ และจะมีผลกระทบกับประเทศที่ส่งออกให้จีนอีกด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกให้จีน

วิกฤตเศรษฐกิจจีนและความอ่อนแอของระบบธนาคารจีน เห็นชัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2007 ขยายตัวในอัตราปีละ 14% แต่อัตราการขยายตัวปีที่แล้วลดลงจนเหลือแค่ 7.4% และตัวเลขล่าสุดอาจแย่กว่านี้อีก

ในปี 2008 หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตหนัก รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการลงทุนในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ และมีมาตรการที่ช่วยให้การกู้เงินง่ายขึ้น แต่ทั้งๆ ที่นโยบายดังกล่าวช่วยพยุงเศรษฐกิจชั่วคราว แต่มันไม่แก้ปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารที่ถูกเปิดโปงออกมาเมื่อเกิดวิกฤต และมันไม่สามารถแก้ปัญหาของการลดลงของการส่งออกสินค้าที่มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจตะวันตก ยิ่งกว่านั้นการที่กรรมาชีพคนทำงานและเกษตรกรจีนมีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐเผด็จการที่ตั้งใจใช้เพื่อลดค่าแรงและเพิ่มกำไรในการส่งออกสินค้าราคาถูก แปลว่ากำลังซื้อภายในประเทศจีนไม่เพียงพอที่จะทดแทนการลดลงของการส่งออกอีกด้วย

ที่สำคัญสำหรับปัญหาฟองสบู่คือ การที่บริษัทและประชาชนชนชั้นกลางสามารถกู้เงินง่ายขึ้น ทำให้เกิดสภาพฟองสบู่ในราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับที่เคยเกิดในไทยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นอาการปกติในระบบทุนนิยมเมื่ออัตรากำไรในภาคการผลิตจริงลดลง ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าไม่ออกและการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นก่อนที่จะเกิดวิกฤต ประเด็นนี้นักมาร์คซิสต์อธิบายว่าเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นระยะๆ ตลอดเวลา

นอกจากการลดลงของการส่งออกแล้ว การพัฒนาเทคโนโลจีและขยายการลงทุนในเครื่องจักรในจีน ก็มีผลกระทบในด้านลบกับอัตรากำไรอีกด้วย

เมื่อรัฐบาลจีนพยายามระงับการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนที่ต้องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้า ก็แห่กันไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแทน ซึ่งมีผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงถึง 150% ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าจริงในเศรษฐกิจจีน แต่ที่ยิ่งทำให้เป็นปัญหาคือพวก “บโรเคอร์” หรือบริษัทที่จัดการซื้อขายหุ้นให้คนอื่น มีการปล่อยกู้ให้คนชั้นกลางเพื่อซื้อหุ้น โดยเชื่อว่าราคาหุ้นคงไม่ตกต่ำ และไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีนโยบายอะไรที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะได้แต่พยายามพยุงราคาหุ้นแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น และทั้งๆ ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นบ้าง ปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจไม่ได้หายไปไหน ซึ่งวัดกันในรูปธรรมจากสภาพธนาคาร ระดับการส่งออก และตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

วิกฤตในจีนตอนนี้พิสูจน์สองสิ่งที่สำคัญคือ หนึ่ง จีนเป็นทุนนิยมกลไกตลาดเต็มตัวทั้งๆ ที่มีรัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ และสอง ระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่เคยมีเสถียรภาพ และเข้าสู่สภาพวิกฤตเป็นระยะๆ ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันในกลไกตลาดและการแสวงหากำไรโดยไม่มีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย

อ่านเพิ่ม “ว่าด้วยวิกฤตทุนนิยม” แนวความคิดมาร์คซิสต์ที่อธิบายวิกฤตเศรษฐกิจ http://bit.ly/1UB4b1t

อวสานขบวนการเสื้อแดง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเขียนบทความเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์” ในบทความนั้นผมเสนอว่า แทนที่เราจะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ ขบวน ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์ มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ และหวังขยายพื้นที่เสรีภาพสำหรับคนชั้นล่าง แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขา มีหน้าตาแตกต่างกัน ในขณะที่เชื่อมกับลำตัวหลักข้ามยุคต่างๆ ตลอด

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง ไม่เคยคงที่และถาวร แขนหรือขาข้างหนึ่งอาจหมดสภาพไป หรือเมื่อทำหน้าที่เฉพาะหน้าไปแล้วก็เริ่มเสื่อม แต่ในไม่ช้า ตราบใดที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพหรือความเท่าเทียม แขนขาใหม่ก็งอกขึ้นมาแทนที่

เสื้อแดงกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนจากยุค ๑๔ ตุลาเชื่อมโยงกันแบบนี้ และไม่ว่าใครจะว่ายังไง “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ของนักศึกษาในปัจจุบัน ก็เชื่อมกับสองขบวนการข้างต้น ทั้งในแง่ประเพณี รูปแบบการต่อสู้ องค์ความรู้ที่สะสม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นคนที่ไม่อยากให้เสื้อแดงมาชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาใน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เป็นคนที่เข้าใจผิด ใจแคบ และค่อนข้างจะเกรงกลัวเสื้อแดงจนออกรสชาติอนุรักษ์นิยม แต่ถึงกระนั้นผมต้องบอกตรงๆ ว่า ขบวนการเสื้อแดงมันหมดสภาพไปแล้ว และสาเหตุหลักคือแกนนำตั้งใจแช่แข็งขบวนการเพื่อยอมจำนนต่อทหาร และการยอมจำนนครั้งนี้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองสายทักษิณ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่า การที่เสื้อแดงก้าวหน้าไม่เคยสนใจอย่างจริงจังที่จะสร้างองค์กรเพื่อช่วงชิงการนำจาก นปช. ก็ทำให้มวลชนเสื้อแดงขาดการนำที่เป็นทางเลือก ในสภาพเช่นนี้เสื้อแดงธรรมดาจะขาดความมั่นใจในการออกมาชุมนุมและเกรงกลัวทหาร แต่อย่าลืมว่านักศึกษาไม่ได้กลัวทหารแบบนั้น ดังนั้นเราต้องหาทางร่วมกันข้ามพ้นความกลัว

ขบวนการเสื้อแดง ในลักษณะ “ขบวนการ” อาจถึงจุดอวสาน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าบุคคลที่เคยเป็นเสื้อแดงจะต้องหมดสภาพ เขาสามารถออกมาเคลื่อนไหวและร่วมสร้างรูปแบบใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและคนที่ไม่เคยเคลื่อนไหวมาก่อน นั้นคือภาระสำคัญสำหรับยุคนี้ เพราะถ้าเราจะล้มเผด็จการ เราต้องอาศัยพลังมวลชนในที่สุด ประวัติศาสตร์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าแค่การออกมาในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ เพื่อเคลื่อนไหวเชิงสัญญลักษณ์จะไม่พอในการล้มอำนาจเผด็จการ

คนที่ไม่อยากเห็นคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ จะเป็นคนที่ชอบพูดเรื่องนักศึกษาว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ซึ่งก็คงหมายความว่าเสื้อแดงเป็นพลัง “เปรอะเปื้อน” เพราะเกี่ยวโยงกับทักษิณ ความคิดแบบนี้จะตั้งความหวังเพ้อฝันว่าพวกสลิ่มชนชั้นกลางอาจมาร่วมสนับสนุนนักศึกษาเพื่อล้มอำนาจทหาร ดังนั้นเขาอยากเห็นจุดยืนของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ที่ไม่พูดถึงการเมือง หรือถ้าพูดก็แค่ในลักษณะเบาๆ ที่สลิ่มยอมรับได้ ซึ่งหมายความว่าคงห้ามพูดถึง กฏหมาย 112 นักโทษการเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษา การนำอาชญากรรัฐที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล โดยเฉพาะทหาร หรือการลบผลพวงทั้งหมดของรัฐประหารสองรอบ สลิ่มจะคัดค้านการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อล้มเผด็จการทหารด้วย

ในช่วงนี้เราเห็นสลิ่มบางคนมามีบทบาทในการ “ช่วย” นักศึกษา แม้แต่ “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด” ก็ออกมาพูดเสือก เราต้องถามว่าเป้าหมายของพวกนี้คืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องกีดกันไม่ให้เขามีบทบาทนำในการกำหนดยุทธ์ศาสตร์สำหรับ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”

คนเสื้อแดงอาจเกี่ยวโยงกับทักษิณ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นแค่ลูกน้องของทักษิณที่สู้เพื่อทักษิณ คนเสื้อแดงซับซ้อนกว่านี้มาก และเหตุผลสำคัญในการต่อสู้ก็เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และการกู้ศักดิ์ศรีพลเมืองของตนเองที่ถูกกดทับมานานในสังคมชนชั้นด้วย

นักศึกษาอาจใส่เสื้อสีขาวตามเครื่องแบบนักศึกษา แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาปลอด “เชื้อโรคแห่งการเมือง” เขาเป็นผลของการเติบโตในสังคมที่มีวิกฤตทางการเมือง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ สลิ่มและชนชั้นกลางส่วนใหญ่ เป็นศัตรูของประชาธิปไตย เป็นเพื่อนของทหารเผด็จการ ดูถูกพลเมืองส่วนใหญ่ และเคยเคลื่อนไหวเพื่อกวักมือเรียกทหารและทำลายการเลือกตั้ง พวกนี้อยู่คนละฝั่งกับเรา ถ้าเราพยายามประนีประนอมกับสลิ่ม โดยถอยออกห่างจากคนเสื้อแดง เป้าหมายของเราจะกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น

ท่ามกลางการเห่าหอนโกหกของเผด็จการประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ว่าพวกเรา “ไม่จำเป็น” ที่จะคัดค้านรัฐบาลทหารชุดนี้ “เพราะเขาต้องยึดอำนาจเพื่อระงับสงครามกลางเมือง” เราควรเตือนความจำกันบ้าง

ประยุทธ์และทหารเผด็จการอื่นร่วมกันก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเข้าข้างฝ่ายเผด็จการ พอมันต้องจัดการเลือกตั้งอีกเพื่อดูดี ฝ่ายทักษิณก็ชนะอีก มันเลยให้ศาลทำรัฐประหารตุลาการแล้วตั้งรัฐบาล อภิสิทธ์-สุเทพ ในค่ายทหาร ต่อมาเมื่อเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตย แก๊งประยุทธ์-อนุพงษ์-อภิสิทธ์-สุเทพ ก็จัดการฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธในมือเก้าสิบราย หลังจากนั้นมันจำเป็นต้องยอมให้มีการเลือกตั้งอีก แล้วมันก็แพ้อีกทั้งๆ ที่ประยุทธ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยก่อนวันเลือกตั้งเป็นประจำ เมื่อปลายปีที่แล้วประยุทธ์ก็นั่งเฉยอมยิ้มปล่อยให้อันธพาลม็อบสุเทพก่อความรุนแรงและทำลายกระบวนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นข้ออ้างของประยุทธ์ในการก่อรัฐประหารฟังไม่ขึ้น ไม่ต่างจากข้ออ้างเหลวไหลของผู้ก่อรัฐประหารในอดีตทุกครั้ง

พรรคพวกของประยุทธ์มีแผนระยะยาวในการลดพื้นที่ประชาธิปไตย เขากำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยปลอม เพื่อให้ทหารและข้าราชการอนุรักษ์นิยมครองอำนาจต่อไปไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง และพวกสลิ่มชนชั้นกลางก็เห็นด้วยกับโครงการยุคมืดอันนี้

ความหวังสำหรับประชาธิปไตยคือ การสร้างขบวนการมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกอบไปด้วยคนที่เคยเป็นเสื้อแดง นักศึกษารุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเลย

มาทำความเข้าใจกับการต่อสู้ที่กรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ แปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา

 

ในวันอาทิตย์นี้รัฐบาลฝ่ายซ้าย พรรค “ไซรีซา” ของกรีซ ซึ่งพึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมถึงการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน จะมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว รัฐบาลนี้ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากภายใต้คำมั่นสัญญาว่าจะต้านการตัดสวัสดิการและต้านการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน แต่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น

 

การบังคับใช้มาตรการแบบนี้โดยสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ ตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี จะไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman วิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” ในประชามติ

 

ทั้งรัฐบาลฝ่ายซ้ายกรีซ ฝ่ายซ้ายนอกรัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เสนอว่าประชาชนควรจะปฏิเสธมาตรการของสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในประชามติ และทุกคนอธิบายว่านอกจากมันจะทำลายชีวิตประชาชนกรีซแล้ว มันเป็นความพยายามของศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี ซึ่งในไทยเราเห็นรัฐบาลเผด็จการทหารใช้มาตรการแบบนี้ เช่นการโจมตี “30บาทรักษาทุกโรค” อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการโจมตีการที่รัฐช่วยเหลือคนจน

 

อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามบิดไปบิดมา หลอกตัวเองและประชาชน และสร้างความสับสนพอสมควร เพราะในการเจรจากับอียูมีการยอมจำนนในหลายเรื่องที่ไม่ควรยอม และมีการพยายามอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร ซึ่งแปลว่าต้องยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนอียู แนวทางของ “ไซรีซา” ดูเหมือนไม่มียุทธ์ศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และเน้นการตัดสินใจเฉพาะหน้าตลอด “ไซรีซา” เป็นพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูปที่กลัวการเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยม

 11667509_10206432657907955_3918985612875712957_n

ส่วนพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆมาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน คนหนุ่มสาวต้านทุนนิยมในแนวร่วม “แอนตาซียา” ร่วมรณรงค์ให้พลเมืองโหวต “OXI” (ไม่) ในวันอาทิตย์นี้

 

เราต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าประชาชนจะโหวตรับหรือไม่รับเงื่อนไขของอียูและไอเอ็มเอฟ เรื่องมันไม่ได้พึ่งเริ่ม และเรื่องมันจะไม่จบภายในวันเดียว ถ้าประชาชนโหวตรับเงื่อนไขอียู กลุ่มทุนใหญ่จะได้ใจและรัฐบาลอาจต้องลาออก ถ้าประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไข แกนนำ “ไซรีซา” ก็แค่นำคำตัดสินใจของประชาชนอันนี้เพื่อไปเจรจาต่อและคงจะประนีประนอมต่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาและโดยเฉพาะขบวนการแรงงานจะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปอย่างดุเดือดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน กรีซมีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายๆ ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และการที่ “แอนตาซียา” รักษาความอิสระจากรัฐบาล “ไซรีซา” ทำให้สามารถปลุกระดมคนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยสนับสนุน “ไซรีซา” และเริ่มผิดหวังไม่พอใจ

 

อย่างน้อยการจัดประชามติมีประโยชน์ในการทำให้ประชาชนกรีซตื่นตัวมากขึ้น