มาทำความเข้าใจกับการต่อสู้ที่กรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ แปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา

 

ในวันอาทิตย์นี้รัฐบาลฝ่ายซ้าย พรรค “ไซรีซา” ของกรีซ ซึ่งพึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมถึงการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน จะมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว รัฐบาลนี้ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากภายใต้คำมั่นสัญญาว่าจะต้านการตัดสวัสดิการและต้านการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน แต่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น

 

การบังคับใช้มาตรการแบบนี้โดยสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ ตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี จะไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman วิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” ในประชามติ

 

ทั้งรัฐบาลฝ่ายซ้ายกรีซ ฝ่ายซ้ายนอกรัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เสนอว่าประชาชนควรจะปฏิเสธมาตรการของสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในประชามติ และทุกคนอธิบายว่านอกจากมันจะทำลายชีวิตประชาชนกรีซแล้ว มันเป็นความพยายามของศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี ซึ่งในไทยเราเห็นรัฐบาลเผด็จการทหารใช้มาตรการแบบนี้ เช่นการโจมตี “30บาทรักษาทุกโรค” อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการโจมตีการที่รัฐช่วยเหลือคนจน

 

อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามบิดไปบิดมา หลอกตัวเองและประชาชน และสร้างความสับสนพอสมควร เพราะในการเจรจากับอียูมีการยอมจำนนในหลายเรื่องที่ไม่ควรยอม และมีการพยายามอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร ซึ่งแปลว่าต้องยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนอียู แนวทางของ “ไซรีซา” ดูเหมือนไม่มียุทธ์ศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และเน้นการตัดสินใจเฉพาะหน้าตลอด “ไซรีซา” เป็นพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูปที่กลัวการเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยม

 11667509_10206432657907955_3918985612875712957_n

ส่วนพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆมาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน คนหนุ่มสาวต้านทุนนิยมในแนวร่วม “แอนตาซียา” ร่วมรณรงค์ให้พลเมืองโหวต “OXI” (ไม่) ในวันอาทิตย์นี้

 

เราต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าประชาชนจะโหวตรับหรือไม่รับเงื่อนไขของอียูและไอเอ็มเอฟ เรื่องมันไม่ได้พึ่งเริ่ม และเรื่องมันจะไม่จบภายในวันเดียว ถ้าประชาชนโหวตรับเงื่อนไขอียู กลุ่มทุนใหญ่จะได้ใจและรัฐบาลอาจต้องลาออก ถ้าประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไข แกนนำ “ไซรีซา” ก็แค่นำคำตัดสินใจของประชาชนอันนี้เพื่อไปเจรจาต่อและคงจะประนีประนอมต่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาและโดยเฉพาะขบวนการแรงงานจะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปอย่างดุเดือดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน กรีซมีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายๆ ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และการที่ “แอนตาซียา” รักษาความอิสระจากรัฐบาล “ไซรีซา” ทำให้สามารถปลุกระดมคนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยสนับสนุน “ไซรีซา” และเริ่มผิดหวังไม่พอใจ

 

อย่างน้อยการจัดประชามติมีประโยชน์ในการทำให้ประชาชนกรีซตื่นตัวมากขึ้น