ใจอึ๊งภากรณ์
การดิ่งลงของตลาดหุ้นจีนในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความกังวลอย่างมากในแวดวงผู้นำรัฐบาล นักธุรกิจบริษัทเอกชน ชนชั้นกลาง และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก
ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นในตลาดหุ้นของระบบทุนนิยมจีนลดลง 30% และ บริษัทเอกชน 1300 แห่ง ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาด ได้ระงับการค้าขายหุ้นเพื่อปกป้องมูลค่าของบริษัท
ตลาดหุ้นจีนมีลักษณะพิเศษตรงที่มีผู้ซื้อขายหุ้นที่เป็นพลเมืองชนชั้นกลางจำนวนมาก เกือบ 80% ของผู้ซื้อขาย ซึ่งแตกต่างจากตลาดหุ้นในตะวันตกที่ถูกครอบงำโดยกองทุนขนาดใหญ่ การที่พลเมืองธรรมดาจำนวนมากอาจเสียประโยชน์จากการดิ่งลงของราคาหุ้น ทำให้รัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กังวลว่าจะเสียความชอบธรรมในสายตาคนจำนวนมาก เพราะจะดูเหมือนบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และที่กลัวมากที่สุดคือการลุกฮือประท้วงของมวลชนในสถานการณ์แบบนั้น
ทั้งๆ ที่การขึ้นลงของตลาดหุ้นเป็นเพียงอาการที่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจในทางอ้อม และไม่ได้วัดความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของเศรษฐกิจโดยตรง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนอาจมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าวิกฤตยูโรของกรีซ และจะมีผลกระทบกับประเทศที่ส่งออกให้จีนอีกด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกให้จีน
วิกฤตเศรษฐกิจจีนและความอ่อนแอของระบบธนาคารจีน เห็นชัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2007 ขยายตัวในอัตราปีละ 14% แต่อัตราการขยายตัวปีที่แล้วลดลงจนเหลือแค่ 7.4% และตัวเลขล่าสุดอาจแย่กว่านี้อีก
ในปี 2008 หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตหนัก รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการลงทุนในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ และมีมาตรการที่ช่วยให้การกู้เงินง่ายขึ้น แต่ทั้งๆ ที่นโยบายดังกล่าวช่วยพยุงเศรษฐกิจชั่วคราว แต่มันไม่แก้ปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารที่ถูกเปิดโปงออกมาเมื่อเกิดวิกฤต และมันไม่สามารถแก้ปัญหาของการลดลงของการส่งออกสินค้าที่มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจตะวันตก ยิ่งกว่านั้นการที่กรรมาชีพคนทำงานและเกษตรกรจีนมีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐเผด็จการที่ตั้งใจใช้เพื่อลดค่าแรงและเพิ่มกำไรในการส่งออกสินค้าราคาถูก แปลว่ากำลังซื้อภายในประเทศจีนไม่เพียงพอที่จะทดแทนการลดลงของการส่งออกอีกด้วย
ที่สำคัญสำหรับปัญหาฟองสบู่คือ การที่บริษัทและประชาชนชนชั้นกลางสามารถกู้เงินง่ายขึ้น ทำให้เกิดสภาพฟองสบู่ในราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับที่เคยเกิดในไทยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นอาการปกติในระบบทุนนิยมเมื่ออัตรากำไรในภาคการผลิตจริงลดลง ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าไม่ออกและการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นก่อนที่จะเกิดวิกฤต ประเด็นนี้นักมาร์คซิสต์อธิบายว่าเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นระยะๆ ตลอดเวลา
นอกจากการลดลงของการส่งออกแล้ว การพัฒนาเทคโนโลจีและขยายการลงทุนในเครื่องจักรในจีน ก็มีผลกระทบในด้านลบกับอัตรากำไรอีกด้วย
เมื่อรัฐบาลจีนพยายามระงับการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนที่ต้องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้า ก็แห่กันไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแทน ซึ่งมีผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงถึง 150% ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าจริงในเศรษฐกิจจีน แต่ที่ยิ่งทำให้เป็นปัญหาคือพวก “บโรเคอร์” หรือบริษัทที่จัดการซื้อขายหุ้นให้คนอื่น มีการปล่อยกู้ให้คนชั้นกลางเพื่อซื้อหุ้น โดยเชื่อว่าราคาหุ้นคงไม่ตกต่ำ และไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีนโยบายอะไรที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะได้แต่พยายามพยุงราคาหุ้นแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น และทั้งๆ ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นบ้าง ปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจไม่ได้หายไปไหน ซึ่งวัดกันในรูปธรรมจากสภาพธนาคาร ระดับการส่งออก และตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม
วิกฤตในจีนตอนนี้พิสูจน์สองสิ่งที่สำคัญคือ หนึ่ง จีนเป็นทุนนิยมกลไกตลาดเต็มตัวทั้งๆ ที่มีรัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ และสอง ระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่เคยมีเสถียรภาพ และเข้าสู่สภาพวิกฤตเป็นระยะๆ ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันในกลไกตลาดและการแสวงหากำไรโดยไม่มีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย
อ่านเพิ่ม “ว่าด้วยวิกฤตทุนนิยม” แนวความคิดมาร์คซิสต์ที่อธิบายวิกฤตเศรษฐกิจ http://bit.ly/1UB4b1t