ร่างรัฐธรรมนูญโจร ล้าหลัง ดูถูกประชาชน และสืบทอดอำนาจเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างยิ่งที่หลายคน รวมถึงผมเอง ต้องเสียเวลาอ่านเศษขยะที่นักวิชาการรับจ้างเช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และเห็บไรสมุนเผด็จการคนอื่น เขียนออกมาแล้วอ้างว่าเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะพวกเรานักประชาธิปไตยทุกคนก็รู้อยู่ในใจแล้วว่าคงไม่มีอะไรดีออกมาจากกระบวนการปฏิกูลการเมืองหลังรัฐประหาร อย่างไรก็ตามเราต้องทนอ่านเพื่อวิจารณ์รายละเอียดของมัน

ในภาพกว้างร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต่างจากร่างแรกที่พวกนี้คายออกมาหลายเดือนก่อน เพราะมันเต็มไปด้วยเนื้อหาวิชา “หน้าที่พลเมือง” ระดับอนุบาลแบบไทยๆ ที่มองว่าประชาชนเป็นเด็กที่ต้องถูกสั่งสอนให้เชื่อฟังและจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา กษัตริย์ ทุกคนที่เรียนในโรงเรียนไทยอย่างที่ผมเคยเรียนก็คงนึกภาพออกทันที

แทนที่จะเน้นสิทธิเสรีภาพของพลเมือง รัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยและการรักษาระบบชนชั้นแบบที่พลเมืองส่วนใหญ่อยู่ใต้ตีนทหาร กษัตริย์ และอำมาตย์อื่นๆ มันเป็นระบบชนชั้นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดโกหกว่า “ไม่มี”

มันมีหมวดชวนให้ขำแบบตลกร้าย ที่พูดถึงคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่เป็น “คนดี” อย่าลืมว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นจากการกระทำของโจรฆาตกรที่ปล้นอำนาจจากประชาชน และฆ่า จำคุก และทรมานคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และพวกนั้นทำสิ่งชั่วๆเหล่านี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ตนเอง ของแถมในช่วงท้ายๆ คือมาตรา 285 เพื่อฟอกตัวทหารมือเปื้อนเลือด พร้อมกับมีการอิงรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ชั่ว”…คราว ที่ทหารเบ่งออกมาหลังรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว

ในทางเศรษฐกิจ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ค่อยต่างจากรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ในแง่ที่มันเป็นรัฐธรรมนูญที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ภายใต้ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง (มาตรา87) ดังนั้นมันจะกล่าวถึงการใช้กลไกตลาดในระบบสาธารณสุข แทนที่จะใช้ระบบที่ตอบสนองความต้องการของพลเมืองไม่ว่าจะจนหรือรวย มันกล่าวซ้ำๆ เรื่อง “วินัยทางการคลัง” แต่แน่นอนค่าใช้จ่ายมหาศาลทางทหาร หรือสำหรับราชวงศ์ คง “ไม่เป็นภัย” ต่อวินัยทางการคลัง เพราะมันไม่ใช่งบประมาณที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจน ดังนั้นมาตรา 189 และส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญห้ามสิ่งที่สลิ่มชอบเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจเองว่าอะไรเป็นประโยชน์กับตนเอง ต้องให้ผู้รู้หรือคนที่มีตำแหน่งสูงตัดสินใจให้ อย่างไรก็ตามประชาชนจะมีโอกาส “เล่น” การมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นผ่าน “สมัชชาพลเมือง” เหมือนของเล่นที่ชื่อว่า “ดูสิตธานี” สมัยรัชกาลที่๖

แน่นอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อกีดกันนักการเมืองที่มีชื่อแบบ “ท.ช.” หรือ “ย.ช.” โดยมีมาตรการทางกฏหมายเพื่อให้ความชอบธรรม รูปแบบของการกีดกันนักการเมืองฝ่ายค้านอย่างนี้ โดยอ้างถึงกฏหมาย มีในสิงคโปร์และพม่า

รัฐสภาจะมี สส.เขต 300 คน และสส.บัญชีรายชื่อระดับชาติอีก 150-170 คน โดยปรับจำนวน สส.บัญชีรายชื่อขึ้นหรือลง เพื่อให้สะท้อนคะแนนเสียงของแต่ละพรรค แต่รัฐสภาจะมีอำนาจจำกัดมาก และนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีการห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันมากกว่า 8 ปี ซึ่งคงจะลดภาระของทหารในการทำรัฐประหารในอนาคต

อำนาจในการเห็นชอบกับสิ่งที่รัฐสภาหรือรัฐบาลทำจะถูกควบคุมโดยสององค์กรคือ

  1. วุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ 77 คน บวกกับสมาชิกลากตั้งโดยอำมาตย์อีก 123 คน และวุฒิสภานี้จะมีอำนาจแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และองค์กร “ไม่อิสระ” อื่นๆ ที่เคยใช้อำนาจเหนือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอดีต ถ้าสส.ในรัฐสภาเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องคลานไปขออนุญาตจากวุฒิสภา และการแก้รัฐธรรมนูญให้ชาวปาตานีปกครองตนเอง หรือให้ไทยเป็นสาธารณรัฐย่อมทำไม่ได้
  2. มาตรา 259 เป็นต้นไป กำหนดให้มี “คณะทหารมหาอำนาจ” ที่เรียกยาวๆ และน่าเบื่อว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิกูลและการบังคับปรองดองแห่งชาติหมา” คณะทหารมหาอำนาจนี้เป็นรัฐบาล “รุ่นพี่” ที่จะคอยควบคุมทุกอย่างที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกระทำ และถ้านึกไม่พอใจอะไรก็สามารถก่อ “รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ” ได้เสมอ ถึงแม้ว่า “คณะทหารมหาอำนาจ” จะอยู่ได้แค่ 5 ปีในช่วงแรก แต่ก็ต่ออายุได้อีกด้วย

แค่การตั้ง “คณะทหารมหาอำนาจ” นี้ก็พอที่จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญโจรฉบับนี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับประชาธิปไตย และเป็นเรื่องดีที่หลายคนออกมาวิจารณ์แล้ว

แต่พวกปฏิกูล เช่นวิษณุ เครืองาม ยังหน้าด้านเสนออีกว่าพลเมืองไทย “ไม่มีสิทธิ์” ในการรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญนี้ ในขณะเดียวกัน วิษณุไม่ละอายที่จะชมรัฐธรรมนูญนี้ผ่านสื่อมวลชน… คงเป็นเพราะเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่บางคนมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนอื่น!!

บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนไทยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เรามีบทเรียนอะไรบ้าง ที่จะใช้ในปัจจุบัน?

  1. ความสำคัญของการสร้างพรรคมวลชน

ในการเตรียมตัวเพื่อทำการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อ. ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้ง “คณะราษฏร์” ก็จริง แต่คณะราษฏร์เป็นองค์กรใต้ดินที่ประกอบไปด้วยปัญญาชน และข้าราชการ มันไม่ใช่ “พรรคมวลชน” ที่มีสมาชิกเป็นแสนๆ ในแง่หนึ่งเราอาจยอมรับได้ว่าการวางแผนเพื่อโค่นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเป็นแผนลับขององค์กรใต้ดิน แต่ในอีกแง่หนึ่งการสร้างแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยในรูปแบบเปิดเผยก็ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่อาจมีโอกาสเคลื่อนไหวเรื่องปากท้องบ้าง เพราะแม้จะมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็จริง แต่พื้นที่ในการแสดงออกไม่ได้ปิดอย่างเบ็ดเสร็จ และมีการเคลื่อนไหวของคนงานเพื่อเรียกร้องประเด็นปากท้อง หรือมีการแสดงความเห็นเรื่องสิทธิสตรีเป็นต้น แล้วที่สำคัญที่สุดคือ หลังปฏิวัติสำเร็จ ไม่มีการลงมือจัดตั้งพรรคมวลชนอย่างเป็นระบบ อ.ปรีดี จึงอ่อนแอเมื่อเทียบกับทหารที่ร่วมปฏิวัติ อีกแง่ที่เราเห็นคือระบบการเลือกตั้งในยุคแรก ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่พลเมืองทุกคนมีหนึ่งเสียงเพื่อเลือกผู้แทนในสภา ซึ่งแสดงว่าอ.ปรีดีและคณะราษฏร์ไม่มองว่ามวลชนมีความสำคัญมากที่สุดในการสร้างประชาธิปไตย และต้องไปทำแนวร่วมกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยมแทน

ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ฝ่ายประชาชนมีพรรคมวลชน คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่ พคท. ไม่ได้ทุ่มเทผู้ปฏิบัติการลงไปที่กรุงเทพฯ เพื่อนำการต่อสู้ร่วมกับนักศึกษา ก่อนเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล้มเผด็จการทหารมีการถอนสมาชิกสำคัญออกไป เพราะพรรคมองว่าคงจะถูกปราบ แต่พอนักศึกษา กรรมาชีพ และประชาชนชนะ และทรราชทหารต้องออกจากประเทศ พรรคก็ทุ่มเทมากพอสมควรในการพยายามจัดตั้งทั้งนักศึกษาและกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น ก็ถอนคนออกจากเมืองไปอยู่ป่า ตามแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง” คนที่อยู่ในเมืองจึงขาดพลังที่จะสู้และต่อต้านการปราบปราม

ล่าสุดเมื่อเกิดรัฐประหารสองรอบในยุคปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการสร้างพรรคมวลชนเกือบจะหายสิ้นไป มีแต่พวกเราชาวสังคมนิยมที่มองว่าเรื่องนี้สำคัญ คนเสื้อแดงงอกออกมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน และขยายไปสู่การจัดตั้งกันเองในมวลชนเสื้อแดง แต่ภายในมวลชนเสื้อแดง การจัดตั้งพรรคหรือองค์กรที่อิสระจากการนำของทักษิณหรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็อ่อนแอ และในหมู่คนที่มองว่าควรเคลื่อนไหวอิสระจากทักษิณหรือนปช. มีการหวงความอิสระของแต่ละกลุ่ม และต่อต้านแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคตามแนวคิดอนาธิปไตย     สรุปแล้วฝ่ายประชาธิปไตยในขณะนี้อ่อนแอ เพราะไม่มีการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคมวลชนอย่างที่ พคท. เคยสร้าง หรืออย่างที่เลนินเคยสร้างในสมัยปฏิวัติรัสเซีย

  1. การหลีกเลี่ยงความอ่อนแอที่นำไปสู่การพึ่งพากองกำลังทหาร

เนื่องจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พึ่งพาทหารมากเกินไป และไม่มีการสร้างพลังมวลชน กองทัพก็สามารถเข้ามามีบทบาททางการเมือง และบ่อยครั้งเป็นคู่แข่งนักการเมืองพลเรือน ในที่สุดจอมพล ป. ก็สร้างประเพณีอันเลวทรามของการปกครองโดยเผด็จการทหาร ซึ่งยังคงดำรงอยู่ทุกวันนี้ในรูปแบบเผด็จการประยุทธ์

อีกแง่หนึ่งของปัญหาที่มาจากการเน้นกำลังทหาร คือแนวสู้ของ พคท. ในรูปแบบกองทัพปลดแอกตามแนวคิด “ชนบทล้อมเมือง” แนวนี้ล้มเหลวและพ่ายแพ้ เพราะกำลังทหารของฝ่ายรัฐไทยเหนือกว่า และพคท.พึ่งพาการช่วยเหลือทางทหารจากประเทศเพื่อนบ้านและจีน อีกประเด็นที่สำคัญคือการต่อสู้ที่เน้นการจัดกองกำลัง เป็นการหันหลังให้กับมวลชนที่เคลื่อนไหวแบบเปิดเผยในเมือง ถ้าเราศึกษาสงครามในประเทศ ซิเรีย หรือ ลิปเบีย ก็จะเห็นภาพชัดขึ้น คือเมื่อลดความสำคัญของมวลชนลง และหันไปเน้นการต่อสู้ทางทหารแทน การต่อสู้แปรตัวไปเป็นความขัดแย้งระหว่างขุนศึกสองฝ่าย และมิติของการปลดแอกตนเองของประชาชนก็จางหายไปท่ามกลางสงครามกลางเมืองอันโหดร้าย

การอาศัยพลังมวลชนในการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการมีรสชาติของการปฏิวัติอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นในกรณีการล้มมูบารักในอียิปต์ หรือการล้มเผด็จการซุฮาร์โตในอินโดนีเซีย แต่แน่นอนมันก็มีทั้งแพ้และชนะด้วย ประชาชนแพ้ที่อียิปต์เพราะขาดพรรคปฏิวัติที่จะนำการต่อสู้ขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้คำถามสำคัญคือ ถ้า พคท. รบชนะรัฐไทย ใครจะปกครองประเทศ? มันคงจะเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อาศัยพลังทหารของ พคท. เหมือนในลาว เวียดนาม จีน หรือเขมร มันจะไม่เป็นประชาธิปไตย

  1. ความสำคัญของการจัดตั้งมวลชนรากหญ้าด้วยแนวความคิดทางการเมืองที่ทวนกระแส

การที่ พคท. ในอดีต เป็นพรรคมวลชนที่แท้จริง และเป็นพรรคมวลชนพรรคแรกของไทย ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา พรรคมีจุดอ่อนสำคัญคือ ขาดประชาธิปไตยภายใน และแนวคิดที่เขาเสนอกับมวลชนเป็นแนว “สตาลิน-เหมา” ปัญหาของแนวนี้คือไม่ตั้งเป้าเพื่อปฏิวัติล้มทุนนิยม แต่ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาทุนนิยมต่างหาก เพราะ พคท. มองว่าไทยล้าหลังและเป็นระบบ “ศักดินา” ดังนั้นมีการเสนอให้ทุกคนทำแนวร่วมกับนายทุนที่ “รักชาติ” มันเป็นการเชิดชูแนวชาตินิยมแทนแนวชนชั้น และในรูปธรรมมันหมายความว่าคนทำงานส่วนใหญ่จะต้องยอมรับสภาพของตนเองในการเป็นเบี้ยล่างแบบลูกจ้างในยุคปัจจุบัน มันยอมรับว่าเราต้องมีชนชั้นปกครองที่อยู่เหนือคนธรรมดา มันไม่ท้าทายความคิดกระแสหลัก แค่ท้าทายเผด็จการทหาร ดังนั้นอดีตผู้ปฏิบัติการ พคท. ส่วนหนึ่งหันไปเป็นกองเชียร์สำคัญของนายทุนอย่างทักษิณ และต่อมาก็หันไปตั้งความหวังกับกองทัพหรืออำมาตย์ พูดง่ายๆ ไม่มีการคิดว่าคนชั้นล่างควร และ สามารถ ปลดแอกตนเอง จากล่างสู่บน มันไม่ท้าทายกระแสหลักของทุนนิยม

แนวคิดผิดๆ ของ พคท. เรื่องเมืองไทยที่ล้าหลังและเป็นระบบศักดินา ยังคงตกค้างอยู่ทุกวันนี้ เพราะเสื้อแดงจำนวนมากหลงมองว่า “ศักดินา” อยู่เบื้องหลังการทำลายประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่กลุ่มอำนาจที่ทำลายประชาธิปไตยปรากฏตัวให้เห็นชัด คือทหาร ข้าราชการชั้นสูง นายทุนที่ทะเลาะกับทักษิณ

แนวคิดของ พคท. มีจุดอ่อนอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ “ลูกหลาน พคท.” ไม่เข้าใจธาตุแท้ของกลไกตลาดเสรีในระบบทุนนิยมอีกด้วย ทุกวันนี้คนเสื้อแดงส่วนใหญ่หลงคิดว่าฝ่ายทหารเผด็จการ ม็อบสุเทพ หรือเสื้อเหลือง ไม่เห็นด้วยกับเสรีนิยมกลไกตลาด แต่แท้จริงแล้วพวกนั้นคือพวกคลั่งตลาดมากกว่าทักษิณเสียอีก เพราะเขาต่อต้านการแทรกแซงโดยรัฐเพื่อประโยชน์คนจน กรณีการคัดค้านโครงการจำนำข้าว หรือการด่าแนว “ประชานิยม” เป็นตัวอย่างที่ดี

อีกแง่หนึ่งของปัญหานี้ คือพวกที่ปฏิเสธทฤษฏี และอ้างว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติ” เช่นแกนนำ เอ็นจีโอ ที่มองว่าพวกเราเป็นหนอนหนังสือที่ไม่เข้าใจโลกจริง หรือพวก “ฝ่ายซ้ายไร้เดียงสา” ที่เคร่งทฤษฏี ทั้งๆ ที่พวกเขาต่างหากไม่เข้าใจโลกจริงเพราะอาศัยทฤษฏีนายทุนไปโดยไม่รู้ตัว พวกเขาไม่ชอบอ่านหนังสือหรือเรียนบทเรียนจากทั่วโลก ตัวอย่างที่ดีคือพวกที่สนับสนุนการมี “องค์กรอิสระ” เพราะพวกนี้ไม่สนใจที่จะเข้าใจว่ามันเป็นแนวคิดเสรีนิยมของคนชั้นบน เพื่อลดเสียงประชาธิปไตยของคนธรรมดา

ในโลกจริงไม่มีใครสามารถทำอะไรในสังคมได้เลย โดยไม่ใช้ทฤษฏีทางการเมือง และคนที่อ้างว่าตนเองปฏิเสธทฤษฏีเป็นเพียงคนที่ใช้ทฤษฏีกระแสหลักของชนชั้นผู้มีอำนาจโดยไม่รู้ตัว ในโลกจริงแนวคิดเกี่ยวกับสังคมทุกชนิด เป็นแนวคิดที่งอกมาจากหรือสนับสนุนชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งในสังคม การปฏิเสธชนชั้นไม่ได้ทำให้ประเด็นชนชั้นหายไปแต่อย่างใด มันทำให้เราตาบอดแทน ถ้าเราศึกษาว่าฝ่ายที่รับใช้ทหารกำลังปฏิกูลการเมืองไทยอย่างไรในยุคนี้ เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่เขาเสนอ มีผลในการตอบสนองชนชั้นปกครองโดยลดเสียงของประชาชนชั้นล่างทั้งสิ้น

  1. จุดอ่อนของการประนีประนอมกับอำนาจเก่า

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ประนีประนอมกับอำนาจเก่าตั้งแต่แรก เพราะมีการพยายามทำแนวร่วมกับข้าราชการเก่า และเสนอให้คงไว้ตำแหน่งกษัตริย์ในฐานะประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การประนีประนอมนี้ไม่ได้สร้างความปรองดองแต่อย่างใดเพราะปรากฏว่าฝ่ายสนับสนุนเจ้าพยายามก่อกบฏเพื่อกลับคืนสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตามฝ่ายกบฏที่สนับสนุนเจ้าในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ และต้องหันไปแสวงหาเป้าหมายอื่นในการคงไว้อำนาจอนุรักษ์นิยมภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการจับมือกับทหารเผด็จการโกงกินอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคสงครามเย็น

สาเหตุที่ฝ่ายก้าวหน้าในคณะราษฏร์ยอมประนีประนอมกับอำนาจเก่า ก็เพราะฝ่ายก้าวหน้าไม่ยอมหรือไม่กล้าปลุกระดมมวลชนในองค์กรจัดตั้งทางการเมือง เพื่อสร้างประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ผลของการประนีประนอมคือ ลักษณะสังคมไทยกลายเป็นระบบกึ่งประชาธิปไตยผสมกับเผด็จการ และที่สำคัญด้วยคือสังคมไทยแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะตั้งแต่ปีแรกหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตอนนั้นนำโดยกษัตริย์รัชกาลที่๗ มีการล้มและปฏิเสธข้อเสนอของ อ.ปรีดี ที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ สร้างงาน เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐี และแบ่งที่ดินให้ประชาชนในชนบทใช้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมนี้ยังดำรงอยู่

การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณ และ แกนนำ นปช. ไม่ยอมนำการต่อสู้กับเผด็จการทหาร และสยบยอมหาทางประนีประนอมเสมอ โดยอ้างว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” เริ่มจากข้อเสนอให้นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และในที่สุดนำไปสู่ม็อบสุเทพที่ทำลายการเลือกตั้งตามมาด้วยรัฐประหาร แต่เราควรเข้าใจว่าสถานการณ์นี้สะท้อนสิ่งที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ การประนีประนอมมีผลในการเพิ่มความมั่นใจกับศัตรู ในอนาคตเราจึงต้องจัดตั้งมวลชนเพื่อเอาชนะฝ่ายเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งรวมถึงการลบล้างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของรัฐประหารอีกด้วย

พฤติกรรมของทักษิณกับเพื่อไทยอธิบายได้จาก “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” ของนักมาร์คซิสต์ คือนายทุนกลัวการปลุกระดมและการลุกฮือของประชาชนชั้นล่างมากว่าที่จะรังเกียจชนชั้นนำเก่าที่เป็นคู่แข่งของตน ด้วยเหตุนี้เราต้องจัดตั้งและปลุกระดมกันเอง อิสระจากพรรคเพื่อไทยและ นปช. คือเราต้องมีพรรคของเราเอง

หลายคนอาจกลัวว่าถ้าเราสู้กับทหารเผด็จการ เราจะล้มตายกันมากมาย เราเข้าใจความกังวลนี้ เพราะกองทัพไทยมีประวัติอันเลวทรามในการเข่นฆ่าประชาชน แต่เราต้องเน้นว่าเราไม่ใช่ฝ่ายที่ชอบความรุนแรงหรือการจับอาวุธ ดังนั้นเวลาเราจะสู้กับเผด็จการเราต้องเน้นการชุมนุมของคนจำนวนมากบวกกับการนัดหยุดงานแทน และเราต้องฉลาดในการต่อสู้อีกด้วย

  1. การเข้าใจว่าพลังมวลชนดำรงอยู่ในส่วนไหนของสังคม

หลังยุคป่าแตก นักเคลื่อนไหวจำนวนมากในไทยและที่อื่น หลงเชื่อว่าแนวความคิดสังคมนิยมหรือมาร์คซิสต์หมดยุค เพราะไม่เข้าใจว่าระบบที่ล้มเหลวในรัสเซีย ยุโรปตะวันออก หรือจีน เป็นระบบเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของมาร์คซ์ หรือ เลนิน พวกนี้จึงสรุปว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่มีพลังในสังคมอีกแล้ว จริงๆ สายคิด เหมาเจ๋อตุง หันหลังให้กับกรรมาชีพในเมืองก่อนหน้านี้อีก เมื่อใช้แนวรบที่พึ่งกำลังทหารของชาวนาแบบ “ชนบทล้อมเมือง”

ผลของการหันหลังให้กับพลังกรรมาชีพคือ ไม่มีนักปฏิบัติการสังคมนิยมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพในสหภาพแรงงานเหมือนเมื่อก่อน และอดีต พคท. หลายคนสรุปว่าการล้มอำนาจรัฐเก่า “เป็นไปไม่ได้” นี่คือสาเหตุที่หลายคนหันไปทำงานแบบ เอ็นจีโอ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงของความคิดแบบนี้คือ คนที่เริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ ที่เคยเป็นฝ่ายซ้าย หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม มองว่าคนชั้นล่างอ่อนแอ ถูกซื้อง่าย และไม่มีใครที่มีพลังในการเปลี่ยนสังคม มันนำไปสู่การเรียกร้องอะไรๆ จากเบื้องบน เช่นเรื่องนายกมาตรา ๗ และการโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหาร

สิ่งที่พวกนั้นไม่เข้าใจคือ คนทำงานธรรมดา ที่เราเรียกว่า “กรรมาชีพ” เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย และเป็นผู้ที่ผลิตมูลค่าทั้งปวงด้วยการทำงาน จึงมีอำนาจซ่อนเร้น นี่คือความจริงพื้นฐานที่มารค์ซ์อธิบายไว้นานแล้ว และมันไม่เคยเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ลักษณะงาน เทคโนโลจี และวิถีชีวิตประจำวันของคนทำงานเปลี่ยนไปตามยุค ดังนั้นการนัดหยุดงานและการยึดสถานที่ทำงานเป็นอาวุธที่สำคัญกว่าการจับปืนสำหรับฝ่ายเรา ยิ่งกว่านั้นถ้าศึกษาการต่อสู้ทั่วโลก จะเห็นว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในเกือบทุกประเทศมาจากการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งในสถานที่ทำงานและในเวทีรัฐสภาคู่ขนานกัน การพัฒนาประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดีของผลพวงของการนัดหยุดงาน และในยุโรปการสร้างรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยมาจากการนัดหยุดงานและการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพพร้อมกัน ปัญหาในไทยคือขบวนการแรงงาน ในซีกที่ก้าวหน้าที่สุด ไม่ยอมสร้างพรรคการเมืองแบบที่เน้นการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า และไม่ยอมพัฒนาการศึกษาทางการเมืองแบบสังคมนิยม เพราะเลือกเคลื่อนไหวแบบ “ลัทธิสหภาพ” โดยมองว่าการมีพรรคไม่สำคัญ มีสหภาพแรงงานก็เพียงพอ ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานกระจัดกระจายและอ่อนแอ…. นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไข

สงครามโลกครั้งที่สอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สิ้นสุดลงเมื่อ 70 ปีก่อน ถ้าพิจารณาฝ่ายพันธมิตร เราจะเห็นว่ามีสงครามคู่ขนานในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ หรือเยอรมัน อิตาลี่ และญี่ปุ่น เพราะประชาชนธรรมดาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมวลชนก้าวหน้า สู้เพื่อทำลายระบบฟาซิสต์เผด็จการ และสู้เพื่อเสรีภาพกับความเท่าเทียม คนจำนวนมากสู้เพื่อสังคมนิยมอีกด้วย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างผิวเผิน เราอาจมองไม่เห็นว่าสงครามของประชาชน กับสงครามของชนชั้นปกครองในประเทศพันธมิตรต่างกันเท่าไร

แต่ฝ่ายชนชั้นปกครองทุนนิยมตลาดเสรีในอังกฤษ สหรัฐ กับฝรั่งเศส และชนชั้นปกครอง “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในเผด็จการคอมมิวนิสต์รัสเซีย สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและจักรวรรดินิยมเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการปลุกระดมมวลชนให้รบในกองทัพของรัฐบาล ชนชั้นปกครองต้องใช้วาจาในการสร้างภาพว่าสงครามนั้นเป็น “สงครามต้านฟาสซิสต์เพื่อเสรีภาพ” ในขณะเดียวกันผู้นำฝ่ายพันธมิตรคือ โรสเวลต์ เชอร์ชิล และสตาลิน เคยแสดงความพร้อมในอดีตที่จะทำข้อตกลงจับมือกับฟาสซิสต์

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นสิบปีก่อนสงคราม เพิ่มความแตกแยกระหว่างมหาอำนาจต่างๆ และนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลมากขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจกดดันให้รัฐบาลต่างๆ สร้างกำแพงเพื่อปกป้องกลุ่มทุนของตนเอง และตลาดของตนเอง จากการแข่งขันกับต่างชาติ และในสถานการที่ต่างฝ่ายต่างพยายามขยายพื้นที่อิทธิพล ก็ย่อมมีการปะทะกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เยอรมันเกือบจะไม่มีอาณานิคมเลยและต้องการขยายพื้นที่

รัฐบาล นาซี ในเยอรมันต้องการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังเกรงกลัวว่าถ้าขูดรีดแรงงานภายในประเทศมากเกินไป คนงานเยอรมันจะลุกขึ้นสู้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นมีวิธีเดียวคือ ต้องพยายามแย่งพื้นที่จากประเทศอื่นในยุโรป และมีการเกณฑ์แรงงานต่างชาติไปทำงานในสภาพที่ย่ำแย่กว่าแรงงานเยอรมัน

ในเอเชียตะวันออก รัฐบาลเผด็จการของญี่ปุ่นก็ทำเช่นกัน โดยยึดพื้นที่ในแผ่นดินใหญ่จีน เกาะไต้หวัน กับแหลมเกาหลี หลังจากนั้นก็เลงไปที่อาณานิคมของฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลแลนด์ กับ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอาณานิคมสหรัฐ

ในอิตาลี่ เผด็จการมุสโสลีนี ก็พยายามยึดพื้นที่ในอัฟริกา เช่น อีทิโอเบีย โซมาเลีย และลิบเบีย เป็นต้น

อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม กับสหรัฐ ไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไร ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจว่าควรจะเผชิญหน้าปะทะกับเยอรมันหรือไม่ และยิ่งกว่านั้นประเทศเหล่านี้แข่งขันกันเองอีกด้วย ฝรั่งเศสกับอังกฤษเป็นคู่แข่งกันมานาน และสหรัฐต้องการชิงความเป็นใหญ่จากอังกฤษในหลายพื้นที่

โดยทั่วไปแล้วชนชั้นปกครองอังกฤษและฝรั่งเศส แยกเป็นสองส่วน ระหว่างกลุ่มที่อยากจะประนีประนอมกับ ฮิตเลอร์ และกลุ่มที่มองว่าต้องเผชิญหน้าปะทะกัน นอกจากนี้ทั้งสองซีกมองว่ารัสเซียยังเป็นภัยมากกว่าพวกฟาสซิสต์ เพราะอย่างน้อยฟาสซิสต์สามารถกีดกันการปฏิวัติของคนชั้นล่างได้

ในอังกฤษ ซีกของชนชั้นปกครองที่มองว่า “ยอมไม่ได้” ต้องสู้กับเยอรมัน มีอิทธิพลมากที่สุด และมีผู้นำชื่อ วินสตัน เชอร์ชฮิล แต่ เชอร์ชฮิล ไม่ได้ต้าน ฮิตเลอร์ เพราะคัดค้านระบบฟาสซิสต์ เขาต้าน ฮิตเลอร์ เพราะเขาอยากปกป้องอาณานิคมและความเป็นใหญ่ของอังกฤษต่างหาก

ในไม่ช้ากองทัพของ ฮิตเลอร์ สามารถยึดพื้นที่จำนวนมากในยุโรปตะวันตก รวมถึงฝรั่งเศส และกองทัพอังกฤษต้องถอยทัพกลับอังกฤษ สถานการณ์ย่ำแย่ของอังกฤษมาจากการที่ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจมานานว่าจะสู้หรือประนีประนอม

ในกรณีสหรัฐ ตอนแรก โรสเวลท์ หวังว่าสงครามในยุโรปจะเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าไปมีอิทธิพลในพื้นที่เก่าของมหาอำนาจยุโรป โดยที่สหรัฐไม่ต้องร่วมในสงคราม เพียงแต่ขายอาวุธให้อังกฤษก็พอ แต่พอเกิดการปะทะกับญี่ปุ่น สหรัฐตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยตรง

world-war-ii-china-1943-granger

     ในรัสเซีย สตาลิน ไม่อยากทำสงครามกับ ฮิตเลอร์ และพยายามทำข้อตกลงสันติภาพ แต่พอ ฮิตเลอร์ ทำลายข้อตกลงด้วยการส่งทหารไปบุกรัสเซีย เขาไม่มีทางเลือก และการทำสงครามของ สตาลิน ทำในนามของ “ความรักชาติ” และ “การปกป้องมาตุภูมิ” เป็นหลัก

การล้างเผ่าพันธ์

ในการพิจารณาว่าทำไมพวกนาซีมีพฤติกรรมป่าเถื่อนที่สุด จนตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์คนยิว 6 ล้านคน และคน “ยิบซี” กับคนพิการอีกจำนวนมาก เราต้องหาเหตุผล แน่นอนคนอย่าง ฮิตเลอร์ เป็นคนหัวรุนแรงสุดขั้วที่ไม่มีสำนึกถึงความผิดหรือถูกเลย แต่นั้นเป็นคำอธิบายไม่เพียงพอ เพราะการเริ่มโครงการล้างเผ่าพันธ์นั้น เริ่มขึ้นในช่วงที่กองทัพเยอรมันมีปัญหาในการสู้รบหลายด้าน โดยเฉพาะในการรบกับรัสเซีย มันไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจหรือการทหารเลย

ฮิตเลอร์ทราบดีจากประสบการณ์ในอดีตว่าการปลุกกระแสเกลียดชังและทำร้ายคนยิว มีผลจำกัดในหมู่ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้บ้าเลือด เพราะคนเยอรมันไม่ได้เกลียดคนยิว “เป็นธรรมชาติ” แต่การตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์ กระทำไปเพื่อตอกย้ำลัทธินาซีให้สมาชิกพรรค โดยเฉพาะวงใน และทำไปเพื่อกระตุ้นแกนนำในพรรค พวกคลั่งลัทธินาซี ให้กระตือรือร้นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เยอรมันกำลังแพ้สงคราม ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหญ่อย่างเช่น ครุปส์, ไอ จี ฟาร์เบน และกลุ่มอ่นๆ ก็ร่วมมืออย่างเต็มที่กับพรรคนาซีของ ฮิตเลอร์

สิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง พิสูจน์คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เคยพูดว่า “ถ้าไม่เกิดสังคมนิยม ก็จะเกิดความป่าเถื่อน”

การลุกฮือต่อสู้ และการหักหลังการต่อสู้โดยมหาอำนาจ

ทั้งๆ ที่ชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจพันธมิตรอ้างว่าสงครามนี้เป็น “สงครามต่อต้านฟาสซิสต์” และ “สงครามปลดแอก” แต่พฤติกรรมของผู้นำรัฐบาลตอนท้ายของสงครามบ่งบอกถึงวัตถุประสงค์อื่น

71350-004-75E35FF9

     ในการประชุมนัดพบกันระหว่าง เชอร์ชฮิล สตาลิน และ โรสเวลท์ มีการตกลงกันเพื่อแบ่งโลกระหว่างซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก กับซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย เช่น เชอร์ชฮิล เล่าว่าเคยมีเศษกระดาษที่ เชอร์ชฮิล ยื่นให้ สตาลิน ในการประชุมปี 1944 ที่เมือง มอสโก ที่ เชอร์ชฮิล เขียนไว้ว่า “โรเมเนีย – รัสเซียคุม 90%, กรีซ – อังกฤษคุม 90% และยูโกสลาเวีย 50:50” สตาลินอ่านกระดาษเสร็จก็กาด้วยเครื่องหมาย “ถูก” แล้วส่งกลับ ข้อตกลงแบบนี้ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและสหรัฐ มีผลมหาศาลกับการต่อสู้ของกองกำลังปลดแอกคอมมิวนิสต์ในหลายพื้นที่

ในกรีซ ซึ่งถูกยึดครองโดยอิตาลี่กับเยอรมัน โดยมีรัฐบาลเผด็จการภายใต้กษัตริย์กรีซร่วมมืออยู่ด้วย พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทหลักในขบวนการกู้ชาติ EAM-ELAS และในปลายปี 1944 ขบวนการนี้คุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกสั่ง โดย สตาลิน ให้ยอมจำนนต่ออังกฤษ เพื่อให้กองทัพอังกฤษยึดเมืองอาเทนส์ หลังจากนั้นอังกฤษพยายามรื้อฟื้นเผด็จการฝ่ายขวาและกษัตริย์ และมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะสู้ในสงครามกลางเมือง แต่การยอมต่ออังกฤษในขั้นตอนแรกทำให้เสียเปรียบ ฝ่ายขวาในกรีซได้รับอาวุธและการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐด้วย ซึ่งทำให้คอมมิวสนิสต์แพ้สงครามกลางเมืองในที่สุด กรีซตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการและกึ่งเผด็จการของฝ่ายขวาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีจนนักศึกษาจุดประกายลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหาร และในการต่อสู้ครั้งนั้นของนักศึกษากรีซ มีการตะโกน “ประเทศไทย ประเทศไทย” เพราะนักศึกษาได้กำลังใจจากการล้มเผด็จการทหารในไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ปีเดียวกัน

ในอิตาลี่ พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทสำคัญในขบวนการกู้ชาติจากอำนาจฟาสซิสต์เช่นกัน และขบวนการนี้ประกอบไปด้วยสามส่วนคือ นักรบในชนบท นักรบในเมือง และขบวนการแรงงาน การต่อสู้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1943 เมื่อมีการนัดหยุดงานของคนงานเป็นแสนในเมือง ตูริน ทางเหนือของอิตาลี่ พอถึงต้นเดือนกรกฏาคม ทหารสหรัฐกับอังกฤษเริ่มบุกขึ้นมาทางใต้ หลายส่วนของชนชั้นปกครองอิตาลี่ตัดสินใจเขี่ย มุสโสลีนี ออกไป เพื่อเอาตัวรอด แต่กองทัพเยอรมันเข้ามายึดอิตาลี่ทางเหนือแทน และแต่งตั้ง มุสโสลีนี อีกครั้ง ในช่วงนี้กองกำลังกู้ชาติติดอาวุธขยายตัวอย่างรวดเร็วจนคาดว่ามีกำลังทั้งหมด 100,000คน และในต้นปี 1944 มีการนัดหยุดงานของคนงานหลายแสนในเมืองต่างๆ เพื่อประท้วงความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลอีด้วย

ท่ามกลางการลุกสู้เพื่อปลดแอกประเทศ คนส่วนใหญ่ในอิตาลี่มองว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสมาชิก 5,000 คนในมิถุนายน 1943 เป็น 410,000 คนในเดือนมีนาคม 1945 แต่ในเดือนกันยายน 1944 รัฐมนตรีต่างประเทศของ สตาลิน ชื่อ ลิดวีนอฟ ฟันธงกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐในอิตาลี่ว่า “เราไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติในตะวันตก” และก่อนหน้านั้นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี่ ทอกลีแอตี้ ประกาศว่าพรรคจะสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวา

หลังจากสงครามจบลง อิตาลี่อาจมีรูปแบบของประชาธิปไตยรัฐสภา แต่โครงสร้างรัฐในหลายส่วน เช่นตำรวจและหน่วยราชการลับ ไม่ได้เปลี่ยนจากสมัยฟาสซิสต์ ซึ่งเห็นชัดเมื่อตำรวจลับทำงานร่วมกับกลุ่มฟาสซิสต์ในการวางระเบิดในยุค 1970 เพื่อพยายามสร้างสถานการณ์ให้มีการทำรัฐประหาร

ในฝรั่งเศส กองกำลังกู้ชาติมีสองซีก คือซีกของนักการเมืองทุนนิยมภายใต้นายพล ชาร์ลส์ เดอร์โกล (ซึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีภายหลังสงคราม) และซีกของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมาร่วมสู้กับเยอรมันหลังจากที่ข้อตกลงสันติภาพระหว่าง ฮิตเลอร์ กับ สตาลิน กลายเป็นโมฆะในปี 1941 อังกฤษสนับสนุนกลุ่มของ เดอร์โกล แต่ตอนแรกสหรัฐไม่ยอมรับ และพยายามหาทางเจรจากับผู้นำฝ่ายขวาฝรั่งเศสที่ประนีประนอมกับฮิตเลอร์

เมื่อกองกำลังกู้ชาติฝรั่งเศสยึดเมืองปารีสจากเยอรมันได้ในปี 1944 ทุกคนทราบดีว่าอิทธพลหลักในกองกำลังนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ประเด็นคือพรรคจะใช้อิทธิพลนี้ในการยึดอำนาจหรือจะประนีประนอมกับฝ่ายขวา? ปรากฏว่าข้อตกลงของ สตาลิน ที่ทำไว้กับผู้นำตะวันตก เป็นหลักประกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสจะไม่ยึดอำนาจ และหลายส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจชั้นสูง ก็ถือตำแหน่งอย่างต่อเนื่องระหว่างสมัยรัฐบาลฟาสซิสต์จนถึงรัฐบาลหลังสงคราม และรัฐฝรั่งเศสก็ใช้นโยบายทำสงครามในอาณานิคม อย่างเช่น อัลจีเรีย และเวียดนาม เพื่อปกป้องผลประโยชน์เดิม ในกรณีเวียดนาม กว่าประเทศนั้นจะได้อิสรภาพ ต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐเป็นเวลาอีก 30 ปี

ในมาลายู ตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการกู้ชาติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะญี่ปุ่นและคุมส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่นโยบายการยอมจำนนของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดโอกาสให้อังกฤษกลับมา และในที่สุดอังกฤษก็ลงมือปราบพรรคคอมมิวนิสต์

มีนักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ สามารถยึดอำนาจได้หรือไม่ คำตอบคือ พรรคเหล่านั้นใน กรีซ อิตาลี่ ฝรั่งเศส หรือมาลายู มีอำนาจเพียงพอที่จะทำการปฏิวัติ แต่เลือกที่จะไม่ทำภายใต้นโยบายของ สตาลิน โลกในยุคท้ายสงคราม มีบรรยากาศที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการยึดอำนาจของฝ่ายซ้าย เพราะทหารธรรมดาของตะวันตก ไม่อยากรบต่อ และมีทัศนะที่มองคอมมิวนิสต์ในแง่ดีด้วย ดังนั้นรัฐบาลตะวันตกจะไม่สามารถปราบปรามได้ง่ายๆ

ที่ ยูโกสลาเวีย ที่เดียว กองกำลังและขบวนการกู้ชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ ทีโท สามารถยึดอำนาจและตั้งประเทศอิสระได้ โดยที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก หรือของรัสเซีย นี่คือสาเหตุที่ ยูโกสลาเวีย แตกกับรัสเซียตั้งแต่ปี 1948 และสามารถรักษาความเป็นกลางเป็นเวลา 40 ปี

ในซีกโลกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลรัสเซีย ตามข้อตกลงระหว่างมหาอำนาจ กองทัพของสตาลินสามารถปราบปรามผู้ที่ต้องการกู้ชาติหรือล้มเผด็จการในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกได้ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ทำอะไร นอกเหนือจากการวิจารณ์ด้วยวาจาที่ไร้ความหมาย

hiroshima

     ในญี่ปุ่นสหรัฐรีบทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูก ซึ่งทำให้พลเรือนล้มตายจำนวนมาก และมีผลร้ายจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เพื่อยึดญี่ปุ่นก่อนที่กองทัพรัสเซียจะมาถึง และเพื่อพิสูจน์แสนยานุภาพของสหรัฐต่อชาวโลก ซึ่งจะมีความสำคัญในการเบ่งอำนาจของสหรัฐในช่วงหลังสงคราม นับว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของสหรัฐ ซึ่งคงป่าเถื่อนพอๆ กับพฤติกรรมของรัฐบาลเผด็จการญี่ปุ่นต่อประชาชนจีนและประชาชนในเอเชียตะวันออกโดยทั่วไป

สรุปแล้วแต่ละฝ่ายใช้เวลารบกันในสงครามโลกครั้งที่สองห้าปี คือระหว่าง 1940-1945

“พรรค”

 ใจ อึ๊งภากรณ์

ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของกลุ่มเสื้อแดงก้าวหน้า ที่จะช่วงชิงการนำทางการเมืองจากแกนนำ นปช. ที่เดินตามก้นพรรคเพื่อไทยเสมอ ไม่ว่าเพื่อไทยจะหักหลังวีรชนหรือยอมจำนนต่อทหารแค่ไหน เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในประเทศไทย การช่วงชิงการนำในมวลชนย่อมทำไม่ได้ถ้าเรามีแต่กลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย เราต้องมีการจัดตั้งเพื่อประสานพลังมวลชน

ในขณะที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยตั้งความหวังกับกองทัพเผด็จการและศาลลำเอียง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องอาศัยพลังมวลชนเพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และองค์ประกอบสำคัญของพลังมวลชน นอกจากการชุมนุม คือการนัดหยุดงานของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะมูลค่าทั้งปวงและทุกอย่างที่ทำให้เราดำรงชีพได้ในสังคม รวมถึงกำไรของนายทุน มาจากการทำงานของคนธรรมดาทั้งสิ้น ดังนั้นพรรคปฏิวัติต้องมีฐานที่มั่นในองค์กรสหภาพแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ต้องมีฐานสำคัญในกลุ่มเยาวชนนักศึกษาอีกด้วย นี่คือบทเรียนสำคัญจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และพรรคปฏิวัติอื่นๆ ทั่วโลก แต่เราไม่ควรเน้นการเข้าป่าจับอาวุธแบบ พคท. เราควรจะเน้นพลังมวลชนในเมืองแทน

แล้ว “กรรมาชีพ” คือใคร? กรรมาชีพคือคนทำงาน พนักงานหรือลูกจ้างทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในโรงงาน ในระบบขนส่ง ในระบบบริการค้าขาย ในสถานที่ศึกษา ในโรงพยาบาล ในรัฐวิสาหกิจ หรือในระบบธนาคาร คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกรรมาชีพ และทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย ก็มีการจัดตั้งในรูปแบบสหภาพแรงงานได้ ถ้าไม่โดนกดขี่จากรัฐ

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคมาจากลักษณะของกรรมาชีพในโลกจริงซึ่งมีลักษณะต่างระดับเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่อยากออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นอยากออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่อยากสู้เลยและมีความคิดล้าหลังด้วยซ้ำ นักมาร์คซิสต์อย่าง เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อสู้ ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดีคือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคปฏิวัติ นอกจากนี้พรรคต้องมีสัดส่วนคนหนุ่มสาวสูง ไม่ใช่เต็มไปด้วยคนแก่ที่อนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยกล้าสู้ และคอยพูดถึงแต่ความหลัง

พรรคปฏิวัติไม่ควรมี “ผู้ใหญ่” กับ “ผู้ตาม” ทุกคนที่เป็นสมาชิกควรร่วมถกเถียงและนำเสนอแนวทางการทำงานหรือการวิเคราะห์อย่างเท่าเทียมกัน ในลักษณะแบบนี้ผู้นำในยุคหนึ่งอาจกลายเป็นผู้ตามในยุคต่อไป สลับกันไปอย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆ เราต้องร่วมกันนำ และต้องเปิดโอกาสให้เกิดความคิดใหม่ๆ เสมอ

การที่พรรคปฏิวัติเป็น “กองหน้า” หมายความว่าต้องมีการนำทางความคิด ซึ่งแปลว่าต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับทฤษฏี การศึกษา และการวิเคราะห์สภาพสังคมปัจจุบันที่แหลมคม การวิเคราะห์แบบนี้ต้องอาศัยการถกเถียงภายในพรรคบนพื้นฐานประสบการการต่อสู้ พรรคต้องไม่ท่องคำภีร์ และต้องไม่ปฏิเสธทฤษฏี

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพได้ แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออก การเปิดกว้างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นพรรคต้องร่วมสู้เคียงข้างกับมวลชนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องประจำวัน หรือเรื่องการเมือง เช่นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นต้น

พรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีรูปแบบสำคัญดังนี้ (1) พรรคต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนกับผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงเป็นหลัก ไม่ใช่ไปเน้นค่านิยมของชนชั้นปกครอง เช่นเราต้องปฏิเสธเรื่องการรักชาติเป็นต้น (2) พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมพรรค ต้องอาศัยเงินทุนที่มาจากการเก็บค่าสมาชิกเท่านั้น เพื่อไม่ให้ใครควบคุมด้วยอำนาจเงิน (3) ในไทยพรรคควรเน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน อาจต้องทำงานใต้ดินหรือกึ่งใต้ดินในระยะแรก และการสร้างฐานมวลชนท่ามกลางการเคลื่อนไหวของมวลชน เป็นวิธีต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้องประจำวัน โดยที่ไม่ต้องขึ้นกับเงื่อนไขหรือกติกาของเผด็จการ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราจะละเลยการเมืองภาพกว้างได้ พรรคที่เน้นการทำงานในกรอบรัฐสภาเป็นหลัก ในไม่ช้าจะเผชิญหน้ากับกฏหมายเลือกตั้งและแรงดึงดูดจากวิธีการแบบรัฐสภา แรงดึงดูดนี้มีผลทำให้ผู้นำเน้นกลไกการหาเสียงและการประนีประนอมทางอุดมารณ์กับการเมืองกระแสหลักเสมอ แต่การล้มเผด็จการ และการสร้างสังคมนิยม ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม จะต้องใช้วิธีการปฏิวัติโดยมวลชน บนพื้นฐานการเมืองสังคมนิยมมาร์คซิสต์

การปฏิวัติดังกล่าวจะมีรูปแบบที่มวลชนนัดหยุดงาน ยึดสถานที่ทำงานและท้องถนน ยึดอาวุธจากทหารหรือชักชวนให้ทหารชั้นล่างเปลี่ยนข้าง และเริ่มสร้างขั้วอำนาจใหม่ เพื่อกำจัดขั้วอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า

 

ทำไม “องค์กรเสรีไทย” ไม่กล้าพูดเรื่อง 112 ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสไปคุยกับเพื่อนๆ ที่รักประชาธิปไตยในเด็นมาร์ค เขาเป็นอดีตเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร “เสรีไทย” แต่ผมแปลกใจที่เขาไม่อยากคุยเรื่องกฏหมาย 112 ไม่ต้องการที่จะมีจุดยืนที่คัดค้านกฏหมายเผด็จการอันนี้ และพยายามห้ามไม่ให้คนอื่นพูดเรื่องนี้ด้วย

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสคุยโดยตรงกับบางส่วนของแกนนำ “เสรีไทย” และเขายืนยันว่า ขบวนการ “เสรีไทย” มีนโยบายที่จะไม่พูดถึง 112

เขาอธิบายให้ผมฟังว่าสังคมไทย “ยังไม่พร้อม” ที่จะพูดเรื่องนี้ และเขาเชื่อว่า “ชาวบ้านจะไม่เข้าใจ” และมองว่าใครที่ค้าน 112 คงต้องการล้มเจ้า ซึ่งในความเห็นผมมันไม่จริง การคัดค้านกฏหมาย 112  ที่ปกปิดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นจำเป็นต้องการล้มเจ้าเสมอ ในตะวันตก ในประเทศที่มีระบบกษัตริย์ เขายังไม่มีกฏหมายแบบนี้ และแม้แต่คนที่ชื่นชมในระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในอังกฤษก็ไม่เห็นด้วยกับกฏหมาย 112 ในไทย

ในขณะเดียวกัน คนอย่างผมที่ต้องการให้ทุกตำแหน่งสาธารณะมาจากการเลือกตั้ง โดยยกเลิกระบบกษัตริย์ ก็ต้องการคัดค้าน 112 ด้วย

ภายในขบวนการประชาธิปไตย หรือขบวนการรณรงค์ต้าน 112 เรามีความหลากหลายทางความคิดได้

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และผม มองร่วมกันว่าองค์กรประชาธิปไตยควรรณรงค์ให้คัดค้านและยกเลิกกฏหมาย 112 และที่สำคัญคือ คนที่เป็นแกนนำมีหน้าที่ที่จะนำทางความคิด องค์ประกอบสำคัญในการนำทางความคิดในขบวนการประชาธิปไตยไทย คือการออกไปอธิบายว่าทำไม 112 มันขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย และทำไมเราจำเป็นต้องยกเลิกกฏมหายเผด็จการอันนี้

ผมมองว่าถ้าแกนนำในขบวนการไม่ออกมานำทางความคิดแบบนี้ ชาวบ้านจะไม่มีวันมีทางเลือกเพื่อกระตุ้นความคิด เพราะทุกวันนี้มีแต่ฝ่ายคลั่งเจ้าที่ประโคมข่าวว่าต้องรักษา 112 เอาไว้

ถ้าแกนนำในขบวนการประชาธิปไตยไม่ออกมานำทางความคิดแบบนี้ เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิก 112 สังคมไทยจะ “พร้อม” ได้อย่างไร? การพัฒนาเปลี่ยนแปลงความคิด ต้องมาจากการถกเถียงในสังคม มันไม่เกิดเองท่ามกลางการผูกขาดทางความคิดโดยฝ่ายต้านประชาธิปไตย

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มองว่าจุดยืนของ “เสรีไทย” ในเรื่อง 112 มาจากการที่ “เสรีไทย” ถูกนำโดยคนของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ตรงนี้ผมว่ามีเหตุผล เพราะเราไม่เคยได้ยินคนของพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณเอง ออกมาวิจารณ์ 112 และที่สำคัญคือกฏหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นิโทษแม้แต่อาชญากรรัฐ แต่ไม่นิรโทษนักโทษการเมือง 112 แต่อย่างใด

ผมมองว่าในเรื่องนี้ทั้งฝ่ายพรรคเพื่อไทยกับทักษิณ และฝ่ายทหารเผด็จการกับข้าราชการล้าหลัง มองตรงกันว่ากฏหมาย 112 เป็นกฏหมาย “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ปกป้อง “ความมั่นคงของชาติ” จากคนที่เขากล่าวหาว่าเป็น “อาชญากรร้ายแรง” คือคนที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเอง

ในแง่หนึ่งผมว่าเขาก็ถูก ถ้าเราเข้าใจว่า “ความมั่นคงของชาติ” ที่เขาเอ่ยถึงนั้นคือความมั่นคงของชนชั้นปกครองที่จะถืออำนาจเหนือเราและกอบโกยผลประโยชน์จากเรา เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือทักษิณ เขาใช้กษัตริย์เป็นหน้ากากบังหน้าอำนาจของชนชั้นปกครองเสมอ และสร้างภูมิพลเป็น “เทวดาสังเคราะห์” ที่พวกนี้ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้นถ้ามีการยกเลิก 112 เราจะมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ระบบการปกครองของไทยได้เต็มที่ และจะเห็นธาตุแท้ของการใช้กษัตริย์โดยชนชั้นปกครอง

กฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องถูกยกเลิกไป เราแก้มันให้ “น่ารัก” ไม่ได้ เพราะมันขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย การแก้ 112 ให้อ่อนลง ก็เพียงแต่จะนำไปสู่ระบบกึ่งเผด็จการเท่านั้น ซึ่งในความจริงก็คือเผด็จการธรรมดานั้นเอง ดังนั้นขบวนการอะไร หรือองค์กรอะไร ที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่แตะเรื่อง 112 ไม่รณรงค์ให้ยกเลิก คงจะเป็นองค์กรหรือขบวนการที่ไร้น้ำยาในการสร้างเสรีภาพ

อ่านข่าวนี้ประกอบบทความ:

http://prachatai.com/journal/2015/08/60724

http://prachatai.com/journal/2015/08/60728