เศรษฐกิจพอเพียง กับ ประชาธิปไตยพอเพียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดไปแหกปากพูดเท็จที่สหประชาชาติ และไปพูดถึงการที่รัฐบาลทหารยึดหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง เราควรมาทบทวนว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้คืออะไร

ในปี ๒๕๔๙ พอล์ แฮนลี่ ในหนังสือ “กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม” เขียนว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่ “เศรษฐศาสตร์จอมปลอม”

ในปีเดียวกันคณะเผด็จการทหารก็แห่กันไปเชิดชูส่งเสริม “เศรษฐศาสตร์จอมปลอม” อันนี้ และเราก็เห็นว่าคณะทหารชุดนั้นและชุดปัจจุบันก็คลั่งเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเดียวกัน

ในปี ๒๕๕๐ วารสาร “อีคอนโนมิสต์” วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น “ขยะเพ้อฝัน” เนื่องในโอกาสที่ “โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ” ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับประเทศไทยที่เต็มไปด้วยขยะเพ้อฝันของเศรษฐกิจพอเพียง รายงานนี้ผลิตด้วยความช่วยเหลือจาก คริส เบเคอร์ สามีของอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

วารสาร อีคอนโนมิสต์ เขียนไว้ว่ารายงานของโครงการพัฒนาของสหประชาชาติฉบับนี้ เป็นการเสนอความคิดด้านเดียวในเรื่องทฤษฏีที่ไม่เคยถูกพิสูจน์ในโลกจริงว่าใช้ได้ผล มันเป็นการให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ และทั้งๆ ที่รองหัวหน้าโครงการพัฒนาของสหประชาชาติในไทยอ้างว่าเป็นการ “เปิดประเด็นเพื่อถกเถียง” แต่ในไทย เนื่องจากกฏหมาย 112 ประชาชนไม่สามารถถกเถียงกันในเรื่องนี้ได้เลย

ในปีเดียวกันผมก็โดนกฏหมาย 112 เนื่องจากวิจารณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยาและเศรษฐกิจพอเพียงในหนังสือ “A Coup for the Rich” ย่อหน้าหนึ่งที่ทหารไม่พอใจคือ

“สมาชิกสภาที่แต่งตั้งโดยทหารหลังรัฐประหาร ได้รับเงินเดือนและเงินค่าต่างๆ 140,000บาท ในขณะที่กรรมกรส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 5000 บาท และเกษตรกรจำนวนมากได้น้อยกว่านี้ พวกส.ส.เหล่านี้ได้เงินเดือนจากตำแหน่งที่อื่นอีกด้วย รัฐบาลอ้างว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ และพูดว่าเราต้องไม่โลภมาก ดูเหมือนทุกคนต้องพึงพอใจกับระดับพอเพียงของตนเอง เราอาจคิดไปว่านักเขียนอังกฤษ จอร์ช ออร์เวล  คงจะเสนอว่า “บางคนพอเพียงมากกว่าผู้อื่น” สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่ รัฐมนตรีคลังเสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการ “ไม่มากไปหรือน้อยไป” คือให้พอดีนั้นเอง”

พวกเราคงทราบดีว่าสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มีผลประโยชน์ข้ามชาติ และกษัตริย์ภูมิพลเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศไทย แล้วยังบังอาจสอนคนจนว่าต้องพอเพียงในความยากจน นอกจากนี้นายภูมิพลมีจุดยืนที่ต่อต้านรัฐสวัสดิการมาตั้งแต่ยุค ๖ ตุลา แต่ที่น่าแปลกใจคือสำนักอนาธิปไตยชุมชน โดยเฉพาะลูกศิษย์ของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยอ้างว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นผู้คิดค้นแนวชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อคัดค้านระบบทุนนิยม

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ แต่เป็น “ลัทธิ” ฝ่ายขวาที่ต่อต้านการกระจายรายได้และการสร้างรัฐสวัสดิการ มันแช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และมันไปได้ดีกับแนวเสรีนิยมกลไกตลาด เราจึงเห็นสองความคิดนี้บรรจุควบคู่กันในรัฐธรรมนูญเผด็จการมาตั้งแต่ปี ๕๐

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นลัทธิโปรดของเผด็จการมือเปื้อนเลือดของไทย และไปได้ดีกับแนวคิด “ประชาธิปไตยพอเพียง” ของพวกนั้น

จุดยืนนักสังคมนิยมต่อผู้ลี้ภัย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุควิกฤตแห่งการลี้ภัย การลี้ภัยไม่ใช่เรื่องง่ายและสบาย ตรงกันข้าม การทิ้งบ้าน ทิ้งเพื่อน ทิ้งอาชีพ เป็นเรื่องใหญ่และสะท้อนความเดือดร้อนอย่างหนักของผู้ที่ต้องจากบ้านเกิดไป วิกฤตทุกวันนี้ในตะวันออกกลาง มีรากฐานต้นกำเนิดมาจากการก่อสงครามของตะวันตก เพราะถ้าไม่มีการโจมตีประเทศอีรักและอัฟกานิสถานโดยสหรัฐและอังกฤษ พร้อมกับพันธมิตรในนาโต้ และไม่มีการจงใจออกแบบระบบที่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในประเทศเหล่านั้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเทศเหล่านั้นจะไม่อยู่ในสภาพความปั่นป่วนที่เห็นอยู่

องค์กร “ไอซิล” ซึ่งตอนนี้ทำสงครามในอีรักและซิเรีย เป็นองค์กรป่าเถื่อนล้าหลัง แต่มหาอำนาจตะวันตกก็มีประวัติป่าเถื่อนในการทำสงครามและล่าอาณานิคมเช่นกัน และที่สำคัญคือมหาอำนาจตะวันตกมีส่วนในการสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิด “ไอซิล” ขึ้นมาแต่แรกในอิรัก เพราะการที่สหรัฐสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่ม ชีอะฮ์ ที่กดขี่และปราบปราม กลุ่มซุนนี ทำให้หลายฝ่าย รวมถึงอดีตทหารของรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน เข้ามาร่วมกับ “ไอซิล” ด้วย การแบ่งแยกเพื่อปกครองโดยตะวันตกนี้กระทำไปเพื่อให้ขบวนการกู้เอกราชที่ต่อต้านตะวันตกอ่อนแอ

การผลักดันให้การลุกฮือของประชาชนในลิบเบียและซิเรีย กลายเป็นสงครามกลางเมืองทางทหาร แทนการลุกฮือของมวลชน มีส่วนสำคัญในการทำลายสภาพสังคมในประเทศเหล่านั้น และมหาอำนาจตะวันตก รัสเซีย จีน กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าว และตุรกี มีส่วนในการสร้างภาวะสงครามป่าเถื่อนแบบนี้

ในอัฟริกา การแทรกแซงของตะวันตกเรื่อยมา มีส่วนในการก่อสงครามใน ซุดาน และอีธิโอเปีย และนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเสรีของรัฐบาลตะวันตก กลุ่มทุนใหญ่ กับไอเอ็มเอฟ เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทวีคูณมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาด้วย ทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขที่สร้างวิกฤตของผู้ลี้ภัยในยุโรปและตะวันออกกลาง

ในพม่า รัฐบาลเผด็จการทหาร ใช้การปลุกปั่นความรังเกียจชาวมุสลิมโรฮิงญา เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในการกระทำของเผด็จการทหารพม่านี้ นางอองซานซูจีก็มีส่วนในการสนับสนุน นอกจากนี้บรรยากาศการกล่าวหาโจมตีชาวมุสลิมทั่วโลก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลตะวันตก ก็ช่วยปกปิดความชั่วร้ายของรัฐบาลพม่าด้วย

การที่คนชั้นกลางไทยจับมือกับอำมาตย์ในการล้มประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็นเพื่อนรักของเผด็จการพม่า ซึ่งมีส่วนในการให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า กระแสชาตินิยมสุดขั้วในไทย ซึ่งมีมาในยุคต่างๆ และถูกสนับสนุนโดยฝ่ายทหาร พวกคลั่งเจ้า และคนอย่างอดีตนายกทักษิณ ก็มีส่วนในการชักชวนประชาชนไทยให้รังเกียจคนมุสลิมและใช้วาจาเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

การที่สังคมเรามีบรรยากาศเหยียดแรงงานพม่าหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ พร้อมกับการพยายามใช้เพื่อนมนุษย์เหล่านี้เป็นแพะรับบาป เป็นสิ่งที่ถูกปลุกปั่นมาจากกระแสคลั่งชาตินี้เอง และผลในรูปธรรมคือการแบ่งแยกขบวนการแรงงานระหว่าง “คนไทย” กับ “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แยกไม่ออกว่าใครเป็นเพื่อน ใครเป็นศัตรู และไร้พลังในการเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้กับคนส่วนใหญ่

ความเชื่อว่าการมีลำดับชนชั้นในสังคมไทย เป็น “ธรรมชาติ” และการกราบไหว้หมอบคลานต่อคนข้างบน ทำให้คนไทยจำนวนมาก ไม่สามารถตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาลที่เรามีอยู่ คนจึงชอบพูดว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย” เพื่อพยายามหาความชอบธรรมในการกีดกันและไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา คนเหล่านี้จะไม่กล้าเสนอว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและงบประมาณพระราชวังแบบถอนรากถอนโคน และเก็บภาษีก้าวหน้าจากพวกเศรษฐีต่างๆ เราสามารถจะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองไทย แรงงานจากเพื่อนบ้าน และผู้ลี้ภัยโรฮิงญาพร้อมๆ กันได้

ในยุโรป ซึ่งตอนนี้เป็นเป้าหมายการเดินทางของมนุษย์ที่เกือบจะสิ้นหวังในชีวิต จากซิเรีย อัฟกานิสถาน หรือที่อื่น เราเห็นรัฐบาลต่างๆ พร้อมกับองค์กรของกลุ่มทุนใหญ่ในอียู ผลักดันให้ประชาชนผู้ทำงาน คนยากจน เด็ก หรือคนพิการ ต้องถูกกดลงด้วยการตัดสวัสดิการและการบริการต่างๆ ของรัฐ การที่กระแสหลักช่วยสนับสนุนการกระทำอันเลวร้ายนี้ โดยการอ้างว่าเป็น “มาตรการจำเป็น” ทำให้หลายคนไม่กล้าตั้งคำถามว่า “ทำไมคนธรรมดาต้องมาแบกรับปัญหาเศรษฐกิจที่นายทุนใหญ่สร้างขึ้นมาแต่แรก” และทุกวันนี้กลุ่มทุนและเศรษฐีในยุโรปกำลังเพิ่มความร่ำรวยกับตนเอง ในขณะที่พลเมืองธรรมดาจนลง

แน่นอนพวกพรรคการเมืองฟาสซิสต์ขวาจัดในยุโรป จะฉวยโอกาสมองว่าผู้ลี้ภัยหรือคนผิวดำกับคนมุสลิมเป็น “ปัญหา” และพรรคการเมืองกระแสหลักก็ยินดีคล้อยตาม เพราะมันเบี่ยงเบนประเด็นจากความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสังคมยุโรป

11221761_951593058239474_2715486491516648489_n

นักสังคมนิยม ไม่ว่าจะในไทยหรือในประเทศอื่นของโลก ยึดถือผลประโยชน์ของกรรมาชีพคนทำงาน และคนส่วนใหญ่ที่ยากจนเป็นหลัก เราจะไม่คล้อยตามกระแสชาตินิยมที่เป็นเชื้อโรคซึ่งนำไปสู่ความตาบอดที่ทำให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน เราจะมีจุดยืนสมานฉันท์ประชาชนชั้นล่างโดยไม่เลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิวหรือศาสนา และเราจะประกาศเสมอว่าควรเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยและคนจนอื่นๆ ที่อยากย้ายบ้านเข้ามาเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง เราจะเข้าใจดีว่าทรัพยากรของสังคมเราที่ดูเหมือนมีจำกัด ไม่ได้มีจำกัดแต่อย่างใด แต่มันไปกระจุกอยู่ในมือของคนที่กดขี่ขูดรีดพวกเราต่างหาก และเราจะเข้าใจว่าผู้ลี้ภัย หรือแรงงานข้ามชาติ จะเป็นมิตรที่ดีของเรา ที่ร่วมกับเราในการทำงานสร้างและพัฒนาสังคมในอนาคต

การปฏิรูปที่แท้จริงจะมาจากไหน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่มีการฉีกทิ้งกระดาษเช็ดก้นราคาแพงที่เรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” และหลังจากที่ “สภาปฏิกูลแห่งชาติ” (สปช.) หรือ “คณะเลี้ยงเหลือบไรปัญญาอ่อนเพื่อนฝูงเผด็จการ” จบวาระการทำงานลงไปพร้อมกับล่องเรือเจ้าพระยาเพื่อฉลองเงินเดือนที่โกงมาจากประชาชน พวกเผด็จการก็ “เช็คบิล” เรากว่า 785 ล้านบาท นี่คือผลงานในรูปธรรมของพวก “คนดี”

แต่รับรองว่าจะไม่มีศาลเตี้ยจัญไรหรือพวกอ้างต่อต้านการคอร์รับชั่น ออกมาสั่งให้ประยุทธ์ขึ้นศาลติดคุกในฐานะโกงกินและเปลืองงบประมาณรัฐ พูดง่ายๆ ใครถือปืนก็ทำงานชุ่ยๆ ได้ ทำเสร็จก็สาวได้สาวเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง

องค์กร “ไอลอร์” (iLaw) เปิดเผยว่า หลักคิด สปช. มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ผุดข้อเสนอชนิด “ครอบจักรวาล” 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อย จะใช้ระยะเวลายาวนานถึงปี พ.ศ. 2575 นอกจากนี้ สปช. ใช้หลักคิดที่คาดหวังเชื่อมั่นใน “คนดี” ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง

สรุปแล้วการทำงานของ สปช. คล้ายๆ กับเด็กอนุบาลนั่งคุยกันถึงความฝัน แต่แตกต่างกันมหาศาลในเรื่องค่าใช้จ่าย

ท่ามกลางความอื้อฉาวของเผด็จการครั้งนี้ หลายคนพูดว่าถ้าจะมีการปฏิรูปการเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ประชาชนต้องมีส่วนร่วม” ซึ่งก็จริง แต่ปัญหาคือพวกปฏิกูล และพวกที่นิยมเผด็จการก็พูดแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นในรูปธรรมเราต้องนิยาม “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ให้ชัดเจน

เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามทหารเผด็จการที่ชอบเชิญพวกสายอาชีพต่างๆ เช่นนักวิชาการรับจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิขายตัว นายทุน และเพื่อนทหาร มาตั้งวงเพื่อเลือกผู้แทนกันเอง

เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของม็อบสุเทพ ที่เสนอว่าม็อบของมันคือ “มวลมหาประชาชน” หรือมูลหมาประชาชนก็ว่าได้

และเราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอชอบเสนอตัวเองว่าเป็น “ผู้แทนประชาสังคม” ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเลือกมาผ่านกลไกการเลือกตั้ง และอย่าลืมอีกว่าเอ็นจีโอใน สปช. ออกเสียงรับรัฐธรรมนูญโจรด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนบังคับผ่านการเขียนกติกาไม่ได้ ร่างไว้ในกฏหมายไม่ได้ และไม่เคยงอกมาจากคณะกรรมการใด เพราะการมีส่วนร่วมจริง มาจากการที่พลเมืองจำนวนเป็นล้านๆ สมัครใจที่จะเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจาก “รากหญ้า”

ในลักษณะเดียวกัน สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเขียนกี่ร้อยล้านฉบับ และที่สำคัญคือ ถ้าเรายกอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับผู้ทรงคุณวุฒิคนที่รับใช้เผด็จการชนชั้นปกครอง และจำกัดบทบาทของพลเมืองไว้แค่ในเรื่องการ “เสนอ” บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น รัฐธรรมนูญก็จะเป็นของอำมาตย์เสมอ

สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย มาจากการต่อสู้โดยมวลชนที่ปะทะกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง ปะทะไปเพื่อผลักดันให้ฝ่ายตรงข้ามถอย และเมื่อได้ชัยชนะระดับหนึ่งก็อาจสามารถเขียนอะไรไว้เป็น “มาตรฐานเสรภาพ” เหมือนเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงและทิ้งหอยหรือเศษไม้ไว้ตรงจุดสูงสุดที่น้ำขึ้น แต่พอเขียนไว้เป็นมาตรฐานดังกล่าว ก็ต้องมีการปกป้องตลอดเวลาผ่านการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่เช่นนั้นมันจะถูกชนชั้นปกครองทำลาย ซึ่งบทเรียนจากทั่วโลกพิสูจน์ว่า สหภาพแรงงาน และองค์กรทางการเมืองของกรรมาชีพและเกษตรกร มีบทบาทสำคัญในการรักษาความเข้มแข็งของขบวนการตรงนี้

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจากรากหญ้า จะเป็นเวทีแห่งการถกเถียง เพือรับข้อเสนอหลากหลายและแสวงหาแนวทางที่เหมาะที่สุด และถ้าองค์กรทางการเมืองไหนจะมามีบทบาทนำ ก็ต้องสามารถสร้างความชอบธรรม และครองใจคนส่วนใหญ่ในขบวนการ ผ่านกลไกการถกเถียงและการลงคะแนนเสียง ตามกติกาประชาธิปไตย

จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนไว้ให้น้อยที่สุด เพราะเสรีภาพมาจากรูปธรรมของการเคลื่อนไหว ควรมีการกระจายอำนาจสู่สภาชุมชนในเรื่องที่เหมาะสม ไม่ใช่สั่งการทุกอย่างมาจากส่วนกลาง ซึ่งแปลว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคต่างๆ รวมถึงปาตานี สามารถปกครองตนเอง

ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระดับชาติ การสร้างรัฐสวัสดิการในรูปธรรม ที่มีลักษณะ “ถ้วนหน้า ครบวงจร พร้อมเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย” จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปแล้วถ้าเราจะมีการปฏิรูประบบการเมือง เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องเน้นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน และหันหลังให้กับการหา “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาร่างกระดาษเช็ดก้นราคาแพงอีกฉบับ

วิกฤตเศรษฐกิจโลกระยะยาว

ใจ อึ๊งภากรณ์

นอกจากการทำความเข้าใจกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอดีตแล้ว เราควรทำความเข้าใจกับสภาพเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งยิ่งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทย ระบบทุนนิยมของทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย จะผูกพันกับระบบโลกในลักษณะที่ใครๆ เรียกกันว่า “โลกาภิวัฒน์” และปัญหาการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ ยุโรป และจีน บวกกับปัญหารัฐบาลทหารเผด็จการ

เราทราบกันว่าตอนนี้มีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในขั้นตอนแรก แต่ในระยะยาวจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของทุกประเทศ

วันก่อนผมไปฟังปาฐกถาในงาน “มาร์คซิสม์2015” ที่ลอนดอน โดยนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ชื่อ ไมเคิล โรเบิรตส์[1] เขาเสนอว่าวิกฤตทั้วโลกปัจจุบัน ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ. 2008 เป็น “วิกฤตระยะยาว” หรือ Depression ไม่ใช่วิกฤตระยะสั้น หรือ Recession

ข้อแตกต่างระหว่างวิกฤตสองชนิดนี้คือ ในกรณีวิกฤตระยะสั้น มีการดิ่งลงของเศรษฐกิจ แต่ภายในไม่นานการขยายตัวก็เด้งกลับมาสู่ระดับเดิม แต่ในกรณีระยะยาว เมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มันไม่ฟื้นกลับสู่ระดับเดิมก่อนวิกฤต และมันคาราคาซังอยู่ในระดับแย่ๆ นานพอสมควร (ดูกราฟบนซ้าย) นี่คือลักษณะของ “วิกฤตระยะยาว” คริสต์ทศวรรษที่ 1930 และเป็นลักษณะปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลก แสดงให้เราเห็นว่าตอนนี้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ชบเชาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และในหลายๆ ประเทศอัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับ 0 หรือไม่ก็ติดลบ อัตราเงินเฟ้อแบบนี้เป็นตัวชี้วัดว่ากำลังซื้อในเศรษฐกิจตกต่ำ

ไมเคิล โรเบิรตส์ อธิบายว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของกลุ่มทุน พยายามปิดหูปิดตาถึงเรื่องนี้ หรือในหมู่คนที่ยอมรับว่ามีปัญหาทั่วโลก มีการเสนอคำอธิบายแบบไร้สาระมากมาย เช่นมีการพูดว่ามันเป็นแค่วัฏจักรของเศรษฐกิจ ซึ่งไม่อธิบายอะไรเลย หรือมีการเสนอว่ามันเป็นปัญหา “จิตวิทยา” ของคน คือมี “ความขี้เกียจ” ที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นเทคโนโลจีใหม่ หรือมีการเสนอว่าอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป มีการรัดเข็มขัดมากเกินไป และคนในวัยทำงานน้อยไป ซึ่งทำให้นักลงทุนหดหู่ “หมดแรงบันดาลใจ” ในการลงทุน และทำให้กลุ่มทุนกักเงินไว้เฉยๆ แต่ตัวเลขทางทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะสนับสนุนข้อเสนอเหล่านี้เลย และดูเหมือนเป็นการคาดเดากันมากกว่า

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่อัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชะลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน

147roberts11

การลดลงของอัตรากำไรโลก1870-2010

การฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้หลังจากนั้นถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือที่ความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ไมเคิล โรเบิรตส์ อธิบายว่าอัตรากำไรในประเทศพัฒนาชั้นนำ 20 ประเทศ (G20) ค่อยๆ เริ่มลดลงตั้งแต่ปีค.ศ. 1974 จน ถึง 2010 จนอัตรากำไรในช่วงนี้ลดลงจากเดิมถึง 40% (ดูกราฟ) และมีการเพิ่มสภาพฟองสบู่ ลดการลงทุน กู้เงินและเพิ่มหนี้ จนเกิดวิกฤตร้ายแรงในปี 2008 และหลังจากนั้นมีการโอนหนี้บริษัทและธนาคารเอกชนไปเป็นหนี้ของภาครัฐ ซึ่งนำไปสู่การใช้นโยบายรัดเข็มขัดและทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชนธรรมดาจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุน

วิกฤตเศรษฐกิจระยะยาวคราวที่แล้ว ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐต่างๆ เพื่อทำสงครามบวกกับความเสียหายในสงคราม ในที่สุดก็กู้สภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกกลับคืนมาได้ แล้วในปัจจุบันจะเกิดอะไรขึ้น?

[1] บล็อกของ ไมเคิล โรเบิรตส์ ดูได้ที่นี่ https://thenextrecession.wordpress.com/

อ่านเพิ่ม

http://isj.org.uk/the-global-crawl-continues/

และควรอ่านบทความของผมเรื่องฟองสบู่แตกในจีนในบล็อกนี้ด้วย