ใจ อึ๊งภากรณ์
หลังจากที่มีการฉีกทิ้งกระดาษเช็ดก้นราคาแพงที่เรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” และหลังจากที่ “สภาปฏิกูลแห่งชาติ” (สปช.) หรือ “คณะเลี้ยงเหลือบไรปัญญาอ่อนเพื่อนฝูงเผด็จการ” จบวาระการทำงานลงไปพร้อมกับล่องเรือเจ้าพระยาเพื่อฉลองเงินเดือนที่โกงมาจากประชาชน พวกเผด็จการก็ “เช็คบิล” เรากว่า 785 ล้านบาท นี่คือผลงานในรูปธรรมของพวก “คนดี”
แต่รับรองว่าจะไม่มีศาลเตี้ยจัญไรหรือพวกอ้างต่อต้านการคอร์รับชั่น ออกมาสั่งให้ประยุทธ์ขึ้นศาลติดคุกในฐานะโกงกินและเปลืองงบประมาณรัฐ พูดง่ายๆ ใครถือปืนก็ทำงานชุ่ยๆ ได้ ทำเสร็จก็สาวได้สาวเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง
องค์กร “ไอลอร์” (iLaw) เปิดเผยว่า หลักคิด สปช. มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ผุดข้อเสนอชนิด “ครอบจักรวาล” 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อย จะใช้ระยะเวลายาวนานถึงปี พ.ศ. 2575 นอกจากนี้ สปช. ใช้หลักคิดที่คาดหวังเชื่อมั่นใน “คนดี” ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง
สรุปแล้วการทำงานของ สปช. คล้ายๆ กับเด็กอนุบาลนั่งคุยกันถึงความฝัน แต่แตกต่างกันมหาศาลในเรื่องค่าใช้จ่าย
ท่ามกลางความอื้อฉาวของเผด็จการครั้งนี้ หลายคนพูดว่าถ้าจะมีการปฏิรูปการเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ประชาชนต้องมีส่วนร่วม” ซึ่งก็จริง แต่ปัญหาคือพวกปฏิกูล และพวกที่นิยมเผด็จการก็พูดแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นในรูปธรรมเราต้องนิยาม “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ให้ชัดเจน
เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามทหารเผด็จการที่ชอบเชิญพวกสายอาชีพต่างๆ เช่นนักวิชาการรับจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิขายตัว นายทุน และเพื่อนทหาร มาตั้งวงเพื่อเลือกผู้แทนกันเอง
เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของม็อบสุเทพ ที่เสนอว่าม็อบของมันคือ “มวลมหาประชาชน” หรือมูลหมาประชาชนก็ว่าได้
และเราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอชอบเสนอตัวเองว่าเป็น “ผู้แทนประชาสังคม” ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเลือกมาผ่านกลไกการเลือกตั้ง และอย่าลืมอีกว่าเอ็นจีโอใน สปช. ออกเสียงรับรัฐธรรมนูญโจรด้วย
การมีส่วนร่วมของประชาชนบังคับผ่านการเขียนกติกาไม่ได้ ร่างไว้ในกฏหมายไม่ได้ และไม่เคยงอกมาจากคณะกรรมการใด เพราะการมีส่วนร่วมจริง มาจากการที่พลเมืองจำนวนเป็นล้านๆ สมัครใจที่จะเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจาก “รากหญ้า”
ในลักษณะเดียวกัน สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเขียนกี่ร้อยล้านฉบับ และที่สำคัญคือ ถ้าเรายกอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับผู้ทรงคุณวุฒิคนที่รับใช้เผด็จการชนชั้นปกครอง และจำกัดบทบาทของพลเมืองไว้แค่ในเรื่องการ “เสนอ” บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น รัฐธรรมนูญก็จะเป็นของอำมาตย์เสมอ
สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย มาจากการต่อสู้โดยมวลชนที่ปะทะกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง ปะทะไปเพื่อผลักดันให้ฝ่ายตรงข้ามถอย และเมื่อได้ชัยชนะระดับหนึ่งก็อาจสามารถเขียนอะไรไว้เป็น “มาตรฐานเสรภาพ” เหมือนเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงและทิ้งหอยหรือเศษไม้ไว้ตรงจุดสูงสุดที่น้ำขึ้น แต่พอเขียนไว้เป็นมาตรฐานดังกล่าว ก็ต้องมีการปกป้องตลอดเวลาผ่านการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่เช่นนั้นมันจะถูกชนชั้นปกครองทำลาย ซึ่งบทเรียนจากทั่วโลกพิสูจน์ว่า สหภาพแรงงาน และองค์กรทางการเมืองของกรรมาชีพและเกษตรกร มีบทบาทสำคัญในการรักษาความเข้มแข็งของขบวนการตรงนี้
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจากรากหญ้า จะเป็นเวทีแห่งการถกเถียง เพือรับข้อเสนอหลากหลายและแสวงหาแนวทางที่เหมาะที่สุด และถ้าองค์กรทางการเมืองไหนจะมามีบทบาทนำ ก็ต้องสามารถสร้างความชอบธรรม และครองใจคนส่วนใหญ่ในขบวนการ ผ่านกลไกการถกเถียงและการลงคะแนนเสียง ตามกติกาประชาธิปไตย
จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนไว้ให้น้อยที่สุด เพราะเสรีภาพมาจากรูปธรรมของการเคลื่อนไหว ควรมีการกระจายอำนาจสู่สภาชุมชนในเรื่องที่เหมาะสม ไม่ใช่สั่งการทุกอย่างมาจากส่วนกลาง ซึ่งแปลว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคต่างๆ รวมถึงปาตานี สามารถปกครองตนเอง
ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระดับชาติ การสร้างรัฐสวัสดิการในรูปธรรม ที่มีลักษณะ “ถ้วนหน้า ครบวงจร พร้อมเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย” จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สรุปแล้วถ้าเราจะมีการปฏิรูประบบการเมือง เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องเน้นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน และหันหลังให้กับการหา “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาร่างกระดาษเช็ดก้นราคาแพงอีกฉบับ