ความคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กับการต่อสู้ทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากบทความของ ซูแซน โรเซนทาล์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตแพทย์ทั่วโลก แต่ในขณะที่นักวิชาการกระแสหลักถกเถียงเรื่องความคิดของ ฟรอยด์ โดยพิจารณาในลักษณะความคิดในตัวมันเองและไม่มองภาพรวมของสังคม นักสังคมนิยมจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ฟรอยด์ ตามยุคสมัยในบริบทของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม

ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ เราควรมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของปัจเจกที่ป่วยเองจากสภาพภายใน ซึ่งแปลว่าเขาจะต้องรับผิดชอบกับการป่วยเอง หรือเราควรมองว่าสังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาทางจิตแต่แรก ดังนั้นสังคมควรรับผิดชอบในการพยุงและรักษาบุคคลเหล่านั้น และควรมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมด้วย คำตอบมักจะขึ้นอยู่กับจุดยืนทางชนชั้นเสมอ

ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครอง มักจะมองว่าโรคจิตเป็นเรื่องปัจเจก และมองว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิต “ป่วยเอง” จากสภาพภายใน คือเป็นการโทษเหยื่อ แต่เมื่อชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นสู้ในบางยุคบางสมัย แนวความคิดที่มาจากการกบฏของคนชั้นล่าง จะมองว่าโรคจิตเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม และไม่ใช่เรื่องของปัจจเจกแต่อย่างใด

ฟรอยด์ เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะผู้ที่ปกป้องคนที่ถูกกดขี่ในสังคม มันเป็นยุคของการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคมที่เริ่มต้นในช่วงของคอมมูนปารีส จิตแพทย์ในสมัยนั้นที่นำร่องทางความคิดคือ จอน-มาร์ติน ชาร์โคต์ เขาฟังคนไข้และสรุปว่าปัญหาโรคจิตมาจากเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ลูกศิษย์ของเขาชื่อ พิแอร์ จาเนท พัฒนาความคิดนี้ต่อไป โดยอธิบายว่าเมื่อคนมีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางใจ จิตสำนึกของเขาจะแตกร้าว เพื่อแยกประสบการณ์ดังกล่าวออกจากความทรงจำประจำวัน ในปี 1885 ฟรอยด์ เริ่มทำงานในทีมของ ชาร์โคต์

ในเรื่องการละเมิดกายเด็กโดยผู้ใหญ่ ซึ่งในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่ จิตแพทย์อนุรักษ์นิยมในสมัยฟรอยด์ มักจะมองว่าเด็กเป็นเจ้าจอมโกหกและมีความฝันเรื่องเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เอง มันเป็นมุมมองของพวกที่ชื่นชม “ครอบครัวจารีต” ที่ต้องการปกป้องสถาบันครอบครัว และพยายามปฏิเสธว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถละเมิดเด็กได้

ตอนแรก ฟรอยด์ ใช้ทฤษฏีก้าวหน้าเกี่ยวกับเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เพื่ออธิบายสาเหตุของการป่วยทางจิตในผู้ใหญ่ซึ่งเคยถูกละเมิดตอนยังเป็นเด็ก และ ฟรอยด์ จะเสนอเพิ่มว่าบ่อยครั้งผู้ป่วยจะปกปิดหรือ “พยายามลืม” การถูกละเมิดในวัยเด็ก เพื่อปกป้องคนในครอบครัว

แต่แรงกดดันจากผู้ใหญ่ในวงการจิตแพทย์ และการถูกขู่ว่าอาจล้มเหลวในอาชีพ ทำให้ ฟรอยด์ กลับคำในเรื่องการละเมิดเด็กในครอบครัว และหันมาใช้แนวคิดอนุรักษ์นิยมแทน

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น ฟรอยด์ ก็ยังปกป้องทหารผ่านศึกที่มี “อาการผวาระเบิด” ว่าเป็นการป่วยจริง ในขณะที่พวกคลั่งชาติและนายพลระดับสูงพยายามอ้างว่าเป็นแค่อุบายของทหารขี้ขลาดที่ไม่อยากกลับไปรบ

ระหว่างปี 1917 ถึง 1970 การใช้วิธี “จิตวิเคราะห์” ของจิตแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แทนที่จะทำงานในโรงพยาบาลโรคจิตกับ “คนบ้า” จิตแพทย์ที่ใช้วิธีการของ “จิตวิเคราะห์” มักจะทำงานในคลินนิคส่วนตัวของตนเอง และมีลูกค้าเป็นคนมีเงิน มันเป็นโอกาสทองที่จะสะสมความร่ำรวยโดยการเน้นและค้นหาปัญหาของปัจจเจกจากภายในตัวเขาเอง แทนที่จะมองไปที่สภาพสังคมและปัญาหที่เกิดจากสังคมรอบข้าง และ ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและความร่ำรวยให้กับตนเองด้วยการทำงานแนว “จิตวิเคราะห์”

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการอ่อนลงของกระแสการต่อสู้ทางชนชั้น หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียถูกทำลายโดยสตาลินและมหาอำนาจตะวันตก ฟรอยด์ ก็เริ่มกลายเป็นนักคิดปฏิกิริยามากขึ้นทุกวัน เขาเสนอว่าพฤติกรรมวิปริต หรือความประพฤติที่ไม่เข้ากับสังคมของปัจเจก มาจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ โดยเฉพาะในสตรี และต้องบำบัดด้วยการค้นหาสาเหตุภายในแต่ละบุคคลด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้ ฟรอยด์ กลัวประชาธิปไตยเพราะมองว่ามวลมนุษย์มีความรุนแรงก้าวร้าว ดังนั้นเขาเห็นด้วยกับระบบเผด็จการที่กดขี่มวลชน

ในช่วงปฏิกิริยาทางความคิดในวิชาจิตแพทย์นี้ การวิจัยในเรื่องประสบการที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจในเด็กเกือบจะยุติไป

แต่ภายหลังการลุกฮือยุค 1968 ความคิดของจิตแพทย์ก้าวหน้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับ “อาการผวาระเบิด” ในทหารที่กลับมาจากเวียดนาม และขบวนการสิทธิสตรีกดดันให้มีการยอมรับว่าเด็กจำนวนมากถูกละเมิดโดยผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงต่อสู้ระหว่างคนที่พยายามปฏิเสธเรื่องการละเมิดเด็ก หรือคนที่อยากโทษปัจเจกที่ป่วยเป็นโรคจิต กับพวกที่เสนอว่าเราต้องมองผลกระทบที่มาจากสังคม

ข้อแตกต่างหลักระหว่างความคิดของ ฟรอยด์ กับ มาร์คซ์ คือ   ฟรอยด์ มองว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นคุณสมบัติหลักของปัจเจกมนุษย์ ในขณะที่ มาร์คซ์ มองว่า “การทำงาน” คือลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

“จิตวิเคราะห์” เป็นศาสตร์ที่รับใช้ชนชั้นปกครองเพราะมองแค่ปัจเจก ในขณะที่ “มาร์คซิสม์” มองมวลมนุษย์โดยไม่แยกออกจากสภาพสังคม และนักมาร์คซิสต์เสนอว่าถ้าเราจะแก้ไขสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ต้องมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Susan Rosenthal

ดูได้ที่ http://socialistreview.org.uk/404/whats-wrong-sigmund-freud

และอ่านเพิ่มงานของเขาได้ที่ http://www.susanrosenthal.com ]

การเคลื่อนไหวต้าน “โลกร้อน”

ใจ อึ๊งภารณ์

ปลายเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่เมืองปารีส จะมีการประชุมรอบล่าสุดของสหประชาชาติเรื่องปัญหาโลกร้อน ในอดีตที่ผ่านมาการประชุมแบบนี้ไม่เคยมีผลออกมาในรูปธรรมที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้แต่ปกป้องกลุ่มทุนใหญ่และผลประโยชน์ของชาติต่างๆ แทนที่จะลงมือแก้ปัญหา

ในขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และเราอาจใกล้ถึงจุดที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไปอย่างถาวร

ดังนั้นนักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะกล้าสู้มากขึ้น และเริ่มเลิกตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลต่างๆ หรือสหประชาชาติ หลายคนมองย้อนกลับไปที่ในการประชุมสหประชาชาติที่เด็นมาร์คเมื่อปี 2009  ซึ่งไม่มีผลอะไรเลย เขาสรุปว่าการประท้วงประกอลการประชุมคราวนั้น เพียงแต่มีวัตถุประสงค์ที่จะหนุนการล็อบบี้ผู้มีอำนาจโดยเอ็นจีโอใหญ่ ซึ่งเป็นการเสียเวลา

นักเคลื่อนไหวรุ่นปัจจุบันมองว่าไม่ว่าการประชุมที่ปารีสจะตกลงอะไร มันไม่มีวันเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ดังนั้นเขาเสนอว่าการประชุมปลายปีนี้เป็นโอกาสที่จะประท้วงและสร้างขบวนการที่เข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อลอบบี้รัฐบาลต่างๆ มีการนัดกันว่าควรมีการประท้วงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 28/29 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นนักเคลื่อนไหวในยุโรปจะไปประท้วงที่ปารีสในวันที่ 12 ธันวาคม

ในรอบปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน เช่น 4 แสนคนที่ออกมาในเมืองนิวยอร์ค หรือการเคลื่อนไหวต่อต้านการสกัดก๊าซโดยวิธีที่เรียกว่า “fracking” คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น เพราะต้นสาเหตุของปัญหามาจากการกอบโกยกำไรโดยกลุ่มทุน และการที่รัฐบาลต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ นอกจากนี้ผลร้ายของโลกร้อนในด้านภูมิอากาศ เช่นพายุ น้ำท่วม หรือฝนแล้ง ล้วนแต่มีผลกระทบกับคนจนมากกว่าคนรวย

ในยุคนี้ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก และรัฐบาลนายทุนพยายามโยนภาระในการแก้วิกฤตให้กับกรรมาชีพและคนจนโดยทั่วไป คนจำนวนมากเริ่มเห็นว่า ทั้งในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ และในเรื่องปัญหาโลกร้อน รัฐบาลต่างๆ เน้นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นหลัก การแก้ปัญหาโลกร้อนคงจะมีผลกระทบกับกำไรกลุ่มทุน แต่มันสามารถสร้างงานให้คนทำงานได้ เช่นในเรื่องการผลิตวิธีปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแสงแดด การสร้างทางรถไฟเพื่อเพิ่มการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว หรือผ่านการปรับบ้านเรือนและตึกทำงานให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเป็นต้น

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ มีพลังทางเศรษฐกิจที่สามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ผ่านการนัดหยุดงาน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วย ที่สร้างปัญหา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 385 ppm (เพิ่มขึ้น 2.1 ppm ต่อปี) ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 0.8 องศา หรือ 0.2 องศาทุกสิบปี

ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก เช่นจากองค์กรสากล IPCC แนะนำว่าต้องมีการลดอัตราการผลิตก๊าซ CO2 ในระดับ 25-40% ภายในสิบปีข้างหน้า

ก๊าซ CO2 นี้ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ และแหล่งผลิต CO2 หลักๆ คือโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน/น้ำมัน/ก๊าซ และระบบขนส่งที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน

นัก เอ็นจีโอ  “กรีน” บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย

พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีหลายข้อเสนอที่เขาอ้างว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในโลกจริงจะไม่มีผลเลย เช่นการซื้อขาย “สิทธิที่จะผลิตCO2” ซึ่งเป็นแค่การให้สิทธิกับบริษัทใหญ่ในการผลิตต่อไปแบบเดิม เพราะเขาจะสามารถซื้อ “สิทธิ์ที่จะผลิต CO2”จากประเทศหรือบริษัทที่ยังไม่พัฒนา หรือข้อเสนอว่าต้องใช้ “กลไกราคา” ในการชักชวนให้ทุกฝ่ายลด CO2 แต่กลไกราคาที่เขาเสนอ จะไม่มีวันมีผล เพราะต้องแข่งกับผลประโยชน์กำไรของบริษัทน้ำมัน ซึ่งทำไม่ได้ และการขึ้นราคาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนอื่นๆ ก็แค่ทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีปัญหาเดือดร้อน นอกจากนี้มีการฝันว่าเมื่อน้ำมันเริ่มขาดแคลนเพราะแหล่งน้ำมันเริ่มหมด จะมีการลดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนโดยอัตโนมัติ แต่ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้าจะไม่เกิด และกว่าจะมีผลอย่างจริงจังก็คงสายไปนานแล้ว

นักสังคมนิยมเข้าใจว่าต้นตอปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบอุตสาหกรรมหรือความโลภของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ยังยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศพัฒนาหรือในประเทศยากจน ปัญหาไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีเทคโนโลจีที่จะผลิตพลังงานโดยไม่ทำลายโลก เทคโนโลจีเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เช่นการปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแรงคลื่นในทะเล และการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ปัญหามาจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดที่ตาบอดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตาบอดถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะมุ่งแต่แข่งขันกันเพื่อเพิ่มกำไรอย่างเดียว

จะเห็นว่าเราต้องปฏิวัติสังคมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องรอให้มีกระแสปฏิวัติก่อนที่จะทำอะไรได้ ในช่วงนี้เราต้องรณรงค์ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและพรรคการเมืองก้าวหน้าให้มีการลดการผลิต CO2 ด้วยการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการขนส่งมวลชนอย่างเช่นรถไฟ และด้วยการประหยัดพลังงาน แต่อย่าไปหวังว่าตามลำพังผู้นำโลกจะทำในสิ่งเหล่านี้เลย

การมองว่า ๖ ตุลา เป็นฝีมือกษัตริย์ภูมิพล เป็นการมองข้ามบทบาททหารและชนชั้นปกครองไทยโดยทั่วไป

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในช่วงนี้มีคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่มองว่าการเข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เป็นผลงานกษัตริย์ภูมิพล การมองแบบนี้เป็นการล้างฟอกความชั่วร้ายของทหารและชนชั้นปกครองไทยโดยทั่วไป ออกจากประวัติศาสตร์

12140816_10153679823789696_7251153885849564790_n

จริงอยู่ นายภูมิพลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทย และพร้อมจะปล่อยให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกเข่นฆ่าเหมือนผักเหมือนปลา เขามีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับเผด็จการที่ทำให้สังคมไทยล้าหลังและขาดประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้

แต่เราควรเข้าใจว่านายภูมิพลเป็นคนน่าสมเพช นายภูมิพลอาสาด้วยความเต็มใจที่จะเป็นเครื่องมือของทหาร และสำหรับนายภูมิพลการทำหน้าที่ดังกล่าวสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเขาเองมากมาย จนเขาสามารถสะสมทรัพย์สินมหาศาล

สิ่งที่สำคัญคือนายภุมิพลไม่ใช่เจ้านายทหาร ทหารเป็นเจ้านายกษัตริย์ภูมิพลต่างหาก และสิ่งที่ทหารต้องการจากนายภูมิพล คือเขาต้องเล่นละครเทวดา

ในเรื่องเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๔๑๙ นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์ นักวิชาการส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของวังมีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น แต่นั้นไม่ต่างจากพฤติกรรมธรรมดาของพวกชนชั้นปกครองฝ่ายขวาคนอื่นๆ ของไทยในยุคสงครามเย็น

th05_03b

คนส่วนใหญ่ในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคนั้น ซึ่งรวมถึงทหาร ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองฝ่ายขวา และนักธุรกิจ เห็นว่า “จำเป็น” ที่จะต้องใช้ความรุนแรงและการปฏิบัตินอกกรอบของระบบประชาธิปไตยในการสกัดกั้นขบวนการ “สังคมนิยม” ซึ่งในสายตาของเขารวมถึงคนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นเกือบทุกส่วนของชนชั้นนำเห็นชอบกับการตั้งองค์กรลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล และกลุ่มนอกระบบอื่นๆ ถึงแม้ว่าบางส่วนอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และบางส่วนอาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในที่สุด

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทย และวิกฤตที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเย็นหรือปลายสงครามเวียดนาม เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย ดังนั้น ๖ ตุลา จึงเป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไป เช่นในเรื่องวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้าย มันไม่มีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียวเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยเป็นคู่แข่งกันด้วย แต่ละฝ่ายก็พยายามสร้างกลุ่มพลังฝ่ายขวามาคานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และฝ่ายซ้าย และมีการวางแผนทำรัฐประหาร แต่ละฝ่ายแข่งกันเพื่อคอยฉวยโอกาสตามสถานการณ์ โดยหวังว่ากลุ่มตนเองจะเป็นใหญ่

หนังสือเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าใจเหตุการณ์ ๖ ตุลา คือหนังสือของ Katherine Bowie เกี่ยวกับขบวนการลูกเสือชาวบ้าน เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมหลักฐานมหาศาลเกี่ยวกับวิธีการก่อตั้ง ลักษณะ และชะตากรรมของขบวนการลูกเสือชาวบ้านจากงานวิจัยของ Bowie เองในประเทศไทย นับว่าไม่มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับลูกเสือชาวบ้านที่มีรายละเอียดเท่าเล่มนี้

9VSc

Bowie อธิบายว่าขบวนการลูกเสือชาวบ้านถูกจัดตั้งขึ้นโดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อต่อสู้ทางความคิดกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในชนบท และในปี ๒๕๑๙ คาดว่า 20% ของคนไทยในวัยทำงานเป็นลูกเสือชาวบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการใช้อาวุธสงครามที่ธรรมศาสตร์ กับขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการสนับสนุนขบวนการนี้จากพระราชวังทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ ๖ ตุลา ได้ดีขึ้น

ในปี ๒๕๑๙ ลักษณะของลูกเสือชาวบ้านเปลี่ยนไปจากขบวนการของชาวชนบทเนื่องจากมีการนำชาวเมืองมาเป็นลูกเสือมากขึ้น และในไม่ช้าขบวนการนี้กลายเป็นม็อบคนชั้นกลางซึ่งเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายขวาบางคน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่รัฐไทยภายหลังการยึดอำนาจในวันที่ ๖ ตุลา เริ่มพยายามสลายขบวนการ และปล่อยให้ตายเอง

ผู้ที่วางแผนก่อรัฐประหารในวันที่ ๖ ตุลา มีอย่างน้อยสามกลุ่ม แต่ “คณะปฏิรูปการปกครอง” ตัดหน้าชิงทำรัฐประหารก่อน เพื่อสกัดกั้นกลุ่มจากพรรคชาติไทยและประชาธิปัตย์ซีกขวาที่ใกล้ชิดกับถนอมและประภาส และสกัดกั้นพวกฝ่ายขวาสุดขั้ว อย่างไรก็ตามพวกนี้อยู่ได้ไม่นาน เพราะมีรัฐประหารซ้ำตามมาภายในหนึ่งปี

พูดง่ายๆ ส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยแข่งกันชิงอำนาจตลอดเวลาตามนิสัยเดิม แต่ทุกซีกมีจุดร่วมตรงที่ต้องการปราบฝ่ายซ้ายและคนจน นายภูมิพลก็คอยฉวยโอกาสเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์นี้

ดังนั้นเวลาพูดว่า “เหี้ยสั่งฆ่า” จงเข้าใจว่าเหี้ยตัวจริงคือทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการและนักการเมืองชั้นนำ และกษัตริย์เป็นเพียงกิ้งก่าตัวเล็กนั่งอยู่บนหัวเหี้ย แต่กิ่งกาตัวนี้พองตัวให้คอโตสีเข้มและอวดใหญ่ว่าเป็นเทวดา เพื่อรับใช้เจ้านายตัวจริง

รู้จักชาวอุยกูร์

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชาวอุยกูร์คือกลุ่มชาติพันธุ์สายเติร์กที่ถูกกดขี่ในประเทศจีน ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงซึ่งคาดว่ามีชาวอุยกูร์ประมาณ 15 ล้านคน ซินเจียงอยู่ระหว่างมองโกเลียกับอัฟกานิสถาน และในหลายประเทศของเอเชียกลางจะมีกลุ่มชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ด้วย

ตอนนี้ในมณฑลซินเจียงชาวจีนเชื้อสายฮั่นอพยพเข้าไปอยู่มากขึ้น และถ้านับทหารจีนจำนวนมากที่ประจำอยู่ที่นั้นจะพบว่าคนจีนกลายเป็น 40% ของประชากร แต่ชาวจีนฮันได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีการกระจุกอยู่ในเมืองทางเหนือของมณฑล ส่วนชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนชนบททางใต้ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ และนโยบายชาตินิยมสุดขั้วของรัฐบาลจีน ทำให้มีการกดขี่ชาวอุยกูร์ในด้านวัฒนธรรมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามทำลายศาสนาอิสลามด้วยการทุบทิ้งมัสยิด หรือการห้ามไม่ให้ข้าราชการอุยกูร์ถือศีลอดในเดือมรอมฎอน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงที่เหมาเจ๋อตุงยึดอำนาจรัฐ เป็นพรรคชาตินิยมเป็นหลัก ไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์แบบสังคมนิยม จีนจึงเริ่มต้นด้วยการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลในหมู่ประชากร

การกดขี่ชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีน กระทำไปโดยใช้ “สงครามต้านการก่อการร้าย” ของสหรัฐหลัง 9/11 เป็นหน้ากากบังหน้า และประเทศตะวันตกไม่เคยวิจารณ์พฤติกรรมของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ ซึ่งแตกต่างกับกรณีธิเบต ทุกเหตุการณ์ความรุนแรงถูกนิยมว่าเป็นการก่อการร้าย แต่คำอธิบายต่างๆ ของรัฐบาลเผด็จการจีนไว้ใจไม่ได้เลย ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลจีนมีบทบาทในการสนับสนุนความแตกแยกระหว่างชาวจีนฮันกับชาวอุยกูร์อีกด้วย มันเลยยากที่จะระบุว่าใครเป็นคนสร้างความรุนแรงในทุกกรณี

เหตุการณ์รุนแรงที่คงจะเกี่ยวข้องกับปัญหาในซินเจียง มีทั้งการจลาจลตีกันระหว่างชาวฮันกับชาวอุยกูร์ การฆ่าประชาชนผู้โดยสาร 29 คนที่สถานีรถไฟคุนหมิงเมื่อปีที่แล้ว และเหตุการอื่นๆ รวมถึงการที่ตำรวจจีนยิงพลเมืองชาวอุยกูร์ตาย 27 คนในปีค.ศ. 2013

แน่นอนคงจะมีกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอุยกูร์ ที่หันไปใช้ความรุนแรง เพราะมีความรู้สึกว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลที่อื่นไม่สนใจปัญหาของเขา

เราคงจำได้ว่ารัฐบาลทหารไทยกระตือรือร้นที่จะเลียก้นเอาใจ “พี่ใหญ่” จีน โดยการส่งกลับผู้ลี้ภัยอุยกูร์หลายๆ คนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งบางคนที่ถูกส่งกลับคาดว่าถูกประหารชีวิตหรือติดคุกเมื่อกลับไป เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจกับชาวอุยกูร์มาก และมีการทำลายสถานกงสุลไทยในตุรกี

ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ปัจจุบันเรียกว่าซินเจียง มาประฒาณ 4000 ปี แท้จริงแล้วเขามีเชื้อชาติผสมจากยุโรปและเอชียตะวันออก เพราะเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญ เขาเคยมีอาณาจักรพุทธ เคยมีบางส่วนที่อยู่ในมองโกเลีย และเคยมีคนอุยกูร์ที่นับถือศาสนาอื่นๆ แต่ประมาณปี ค.ศ. 1400 มีการหันมานับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาประมาณปี 1760 จีนก็เข้ามาครอบครองพื้นที่ แต่มีการกบฏหลายๆ ครั้ง ครั้งล่าสุดคือปลายสงครามโลกครั้งที่สองราวๆปี 1944 นอกจากนี้ชาวอุยกูร์เคยร่วมประชุมกับผู้แทนพรรคบอลเชวิคจากรัสเซีย เพื่อวางแผนปฏิวัติสังคมนิยมในปี 1921 แต่หลังการปฏิวัติจีนปี 1949 กองทัพของเหมาเจ๋อตุงก็เข้ามารวบพื้นที่ให้ขึ้นกับจีนอีกครั้ง

การตื่นตัวอีกครั้งของชาวอุยกูร์ เกิดขึ่นเมื่อสหภาพโซเวียดล่มสลายในช่วง 1990 และมีการตั้งรัฐอิสระของชาวอิสลามหลายแห่งในเอเชียกลาง

เราไม่สามารถทราบได้ว่าการวางระเบิดที่กรุงเทพฯเมื่อเดือนที่แล้วเกี่ยวข้องกับชาวอุยกูร์หรือไม่ และรัฐบาลทหารเผด็จการของไทยก็โกหกพอๆ กับรัฐบาลเผด็จการจีน แต่ถ้าในที่สุดมีการพิสูจน์อย่างน่าเชื่อถือว่ามันเกี่ยวโยงกับการที่ไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยอุยกูร์ เราคงจะเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหา