ใจ อึ๊งภารณ์
ปลายเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่เมืองปารีส จะมีการประชุมรอบล่าสุดของสหประชาชาติเรื่องปัญหาโลกร้อน ในอดีตที่ผ่านมาการประชุมแบบนี้ไม่เคยมีผลออกมาในรูปธรรมที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้แต่ปกป้องกลุ่มทุนใหญ่และผลประโยชน์ของชาติต่างๆ แทนที่จะลงมือแก้ปัญหา
ในขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และเราอาจใกล้ถึงจุดที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไปอย่างถาวร
ดังนั้นนักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะกล้าสู้มากขึ้น และเริ่มเลิกตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลต่างๆ หรือสหประชาชาติ หลายคนมองย้อนกลับไปที่ในการประชุมสหประชาชาติที่เด็นมาร์คเมื่อปี 2009 ซึ่งไม่มีผลอะไรเลย เขาสรุปว่าการประท้วงประกอลการประชุมคราวนั้น เพียงแต่มีวัตถุประสงค์ที่จะหนุนการล็อบบี้ผู้มีอำนาจโดยเอ็นจีโอใหญ่ ซึ่งเป็นการเสียเวลา
นักเคลื่อนไหวรุ่นปัจจุบันมองว่าไม่ว่าการประชุมที่ปารีสจะตกลงอะไร มันไม่มีวันเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ดังนั้นเขาเสนอว่าการประชุมปลายปีนี้เป็นโอกาสที่จะประท้วงและสร้างขบวนการที่เข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อลอบบี้รัฐบาลต่างๆ มีการนัดกันว่าควรมีการประท้วงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 28/29 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นนักเคลื่อนไหวในยุโรปจะไปประท้วงที่ปารีสในวันที่ 12 ธันวาคม
ในรอบปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน เช่น 4 แสนคนที่ออกมาในเมืองนิวยอร์ค หรือการเคลื่อนไหวต่อต้านการสกัดก๊าซโดยวิธีที่เรียกว่า “fracking” คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น เพราะต้นสาเหตุของปัญหามาจากการกอบโกยกำไรโดยกลุ่มทุน และการที่รัฐบาลต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ นอกจากนี้ผลร้ายของโลกร้อนในด้านภูมิอากาศ เช่นพายุ น้ำท่วม หรือฝนแล้ง ล้วนแต่มีผลกระทบกับคนจนมากกว่าคนรวย
ในยุคนี้ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก และรัฐบาลนายทุนพยายามโยนภาระในการแก้วิกฤตให้กับกรรมาชีพและคนจนโดยทั่วไป คนจำนวนมากเริ่มเห็นว่า ทั้งในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ และในเรื่องปัญหาโลกร้อน รัฐบาลต่างๆ เน้นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นหลัก การแก้ปัญหาโลกร้อนคงจะมีผลกระทบกับกำไรกลุ่มทุน แต่มันสามารถสร้างงานให้คนทำงานได้ เช่นในเรื่องการผลิตวิธีปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแสงแดด การสร้างทางรถไฟเพื่อเพิ่มการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว หรือผ่านการปรับบ้านเรือนและตึกทำงานให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเป็นต้น
ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ มีพลังทางเศรษฐกิจที่สามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ผ่านการนัดหยุดงาน
ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วย ที่สร้างปัญหา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 385 ppm (เพิ่มขึ้น 2.1 ppm ต่อปี) ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 0.8 องศา หรือ 0.2 องศาทุกสิบปี
ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก เช่นจากองค์กรสากล IPCC แนะนำว่าต้องมีการลดอัตราการผลิตก๊าซ CO2 ในระดับ 25-40% ภายในสิบปีข้างหน้า
ก๊าซ CO2 นี้ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ และแหล่งผลิต CO2 หลักๆ คือโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน/น้ำมัน/ก๊าซ และระบบขนส่งที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน
นัก เอ็นจีโอ “กรีน” บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย
พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีหลายข้อเสนอที่เขาอ้างว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในโลกจริงจะไม่มีผลเลย เช่นการซื้อขาย “สิทธิที่จะผลิตCO2” ซึ่งเป็นแค่การให้สิทธิกับบริษัทใหญ่ในการผลิตต่อไปแบบเดิม เพราะเขาจะสามารถซื้อ “สิทธิ์ที่จะผลิต CO2”จากประเทศหรือบริษัทที่ยังไม่พัฒนา หรือข้อเสนอว่าต้องใช้ “กลไกราคา” ในการชักชวนให้ทุกฝ่ายลด CO2 แต่กลไกราคาที่เขาเสนอ จะไม่มีวันมีผล เพราะต้องแข่งกับผลประโยชน์กำไรของบริษัทน้ำมัน ซึ่งทำไม่ได้ และการขึ้นราคาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนอื่นๆ ก็แค่ทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีปัญหาเดือดร้อน นอกจากนี้มีการฝันว่าเมื่อน้ำมันเริ่มขาดแคลนเพราะแหล่งน้ำมันเริ่มหมด จะมีการลดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนโดยอัตโนมัติ แต่ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้าจะไม่เกิด และกว่าจะมีผลอย่างจริงจังก็คงสายไปนานแล้ว
นักสังคมนิยมเข้าใจว่าต้นตอปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบอุตสาหกรรมหรือความโลภของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ยังยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศพัฒนาหรือในประเทศยากจน ปัญหาไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีเทคโนโลจีที่จะผลิตพลังงานโดยไม่ทำลายโลก เทคโนโลจีเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เช่นการปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแรงคลื่นในทะเล และการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ปัญหามาจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดที่ตาบอดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตาบอดถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะมุ่งแต่แข่งขันกันเพื่อเพิ่มกำไรอย่างเดียว
จะเห็นว่าเราต้องปฏิวัติสังคมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องรอให้มีกระแสปฏิวัติก่อนที่จะทำอะไรได้ ในช่วงนี้เราต้องรณรงค์ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและพรรคการเมืองก้าวหน้าให้มีการลดการผลิต CO2 ด้วยการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการขนส่งมวลชนอย่างเช่นรถไฟ และด้วยการประหยัดพลังงาน แต่อย่าไปหวังว่าตามลำพังผู้นำโลกจะทำในสิ่งเหล่านี้เลย