การติดเชื้อในกระแสเลือดสะท้อนความป่าเถื่อนของคุกไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวการเสียชีวิตในคุกจากการติดเชื้อในกระแสเลือดของนักโทษการเมือง เป็นสิ่งที่สะท้อนความป่าเถื่อนโหดร้ายของระบบคุกไทย ที่น่าสลดใจมากคือการเสียชีวิตของ อุทัย คงหา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งใกล้จะรับการปล่อยตัวกลับบ้าน

 ภรรยาของอุทัยผู้ต้องขังที่เสียชีวิตกล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอุทัยเกิดอาการช็อคในเรือนจำ โดยก่อนหน้านี้ไม่นานมีอาการความดันต่ำ เหนื่อย หายใจไม่ทั่วท้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งตัวมารักษาที่รพ.มหาสารคาม

 กรณีนี้คงไม่ได้มีใครแอบวางยาหรือจงใจฆ่า แต่นโยบายของรัฐไทยต่อผู้ถูกขังโดยทั่วไป เป็นนโยบายที่จงใจละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักโทษและจงใจละเลยการดูแล เพราะมองว่าไม่ใช่คน

 ก่อนที่ใครจะเถียงขึ้นมาว่า “ทำไมต้องเคารพสิทธิของนักโทษด้วย?” ขออธิบายว่านักโทษการเมืองในคุกไทยเป็นผู้บริสุทธิ์ นักโทษทั่วไปเป็นคนจนและสภาพสังคมนำพาไปกระทำในสิ่งที่ผิดกฏหมาย ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งๆ ที่ยาเสพติดทำร้ายประชาชนน้อยกว่า สุรา บุหรี่ เอดส์ หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคืออาชญากรตัวใหญ่ๆ ที่ฆ่าประชาชนและปล้นอำนาจอย่างผิดกฏหมาย เป็นบุคคลที่ปกครองประเทศ และในอดีตคนชั่วแบบนี้ไม่เคยติดคุกเลย

 เราทราบดีว่าคุกไทยทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกขัง ไม่ว่าจะสภาพแออัดสุดทน ซึ่งบางครั้งไม่มีที่นอนเพียงพอ หรือสภาพที่ไร้ความสะอาดและไร้สุขภาพอนามัยพื้นฐาน หรือการที่ระบบเต็มไปด้วยการกลั่นแกล้งและคอร์รับชั่น

 สภาพเช่นนี้เป็นสภาพที่นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น

 อาการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือ Sepsis กับ Septicaemia เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อบักเตรี จากการป่วย หรือการเป็นแผล และเชื้อบักเตรีนั้นรั่วเข้าไปในกระแสเลือด บางครั้งการติดเชื้อมาจากไวรัสหรือเชื้อรา แต่ส่วนใหญ่มาจากบักเตรี

 โรคที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดก็เช่น ปอดบวม ไส้ติ่งอักเสบ สมองอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ระบบปัสสาวะอักเสบ หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการป่วยด้วยโรคดังกล่าวคงจะเกิดง่ายขึ้นในสภาพความย่ำแย่ของเรือนจำไทย และนักโทษส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการดูแลอย่างพอเพียงจากแพทย์

 อาการต้นๆ ของการติดเชื้อในกระแสเลือดคือ ไข้ หนาวตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว และหายใจเร็วขึ้น ถ้าไม่รีบรักษาคนไข้จะเกิดเกิดอาการช็อค เพราะพอผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบต้านทานเชื้อของร่างกายจะทำงานเต็มที่ เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เกิดอาการบวม และเกล็ดเลือดจะจับตัวเป็นลิ่ม ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตลดลง และแปลว่าอวัยวะสำคัญๆ เช่นสมอง หัวใจ และไตจะขาดการหล่อเลี้ยง ถ้าไม่รีบรักษาคนไข้จะเสียชีวิต มันเป็นอาการประเภท “ฉุกเฉิน”

 สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดคือ ควรพบแพทย์อย่างรวดเร็วเพื่อรับยาแก้อักเสบที่ต้านเชื้อบักเตรี ซึ่งอาจให้เป็นเม็ด น้ำยา หรือฉีดยาก็ได้ มันไม่ยาก ซึ่งการรักษาแต่เนิ่นๆ แบบนี้จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ดี แต่ในเรือนจำไทย นักโทษที่เริ่มมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจะต้องรอนานเกินไปเพื่อพบแพทย์ บางคนไม่พบแพทย์จนได้รับส่งไปโรงพยาบาล จนเกิดอาการช็อค

 เราจะเห็นได้ว่าทั้งสภาพไม่ถูกสุขลักษณะของคุกไทย และการไม่ดูแลบริการนักโทษ ซึ่งต้องรวมคุกชั่วคราว มทบ.11 ด้วย นำไปสู่การเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น มันเป็นอีกแง่มุมของความป่าเถื่อนของสังคมไทย ที่มองว่าพลเมืองธรรมดาเป็นแค่ผักเป็นปลา ในขณะที่มีการกราบไหว้คนข้างบน เรื่องเหล่านี้จะต้องแก้ไขถ้าเราจะมีสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม ในสังคมของเรา

“ไอซิล” กำเนิดขึ้นอย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ไอซิล” หรือ “ไอซิส” เป็นชื่อตัวย่อจากองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “รัฐอิสลามในอิรักและเลอร์วานท์” ซึ่งเป็นกองกำลังของพวกนักรบ “ญิฮาด” อิสลามหัวรุนแรง และองค์กรนี้เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ปารีสเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน

ถ้าเราจะเข้าใจว่า ไอซิล เกิดขึ้นอย่างไร เราต้องเข้าใจผลของการทำสงครามของสหรัฐและอังกฤษที่บุกยึดอิรักและล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003

เมื่อมีการล้มรัฐบาลของ ซัดดัม ฮุสเซน เรียบร้อยแล้ว สหรัฐไม่เอาใจใส่ในการปกป้องฟื้นฟูสังคมอิรักแต่อย่างใด และเมื่อชาวอิรักหลายกลุ่มเริ่มต่อต้านการยึดครองของสหรัฐด้วยการลุกขึ้นจับอาวุธ สหรัฐจงใจใช้นโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” ซึ่งสร้างความขัดแย้ง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ระหว่างชาวอิรักนิกายชีอะห์ และนิกายซุนนี

กองกำลังแรกที่ลุกขึ้นสู้คือ “กองทัพเมห์ดี” ของมุกดาห์ อัล ซาดร์ ในเมืองซาดร์ ซึ่งเป็นกองกำลังของชาวชีอะห์ สหรัฐพยายามถล่ม “กองทัพเมห์ดี” แต่กำจัดไม่ได้ และที่สำคัญคือคุมสังคมอิรักไม่ไหว   ต่อมามีการลุกฮือของอดีตทหารและอดีตสมาชิกพรรคบะอัธของซัดดัม ฮุสเซน ทั้งๆ ที่ซัดดัมถูกประหารชีวิตไปแล้ว กลุ่มนี้เป็นชาวซุนนี

เพื่อทำลายฐานอำนาจเก่าของ ซัดดัม ฮุสเซน สหรัฐหนุนหลังนักการเมืองเชื่องสายชีอะห์ และปลดทุกคนออกจากตำแหน่งราชการที่เคยเป็นสมาชิกพรรคบะอัธ ซึ่งในสมัย ซัดดัม ข้าราชการพลเรือนและทหารต้องเป็นสมาชิกพรรค นโยบายนี้ของสหรัฐสร้างความไม่พอใจกับชาวซุนนี่ธรรมดาจำนวนมากที่ตกงานและดูเหมือนไม่มีอนาคต

สิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาของชาวซุนี คือรัฐบาลรับใช้สหรัฐของ นูรอัล มาลาคี ในยุคนั้น ใช้นโยบายที่กีดกันและปราบปรามชาวซุนีอย่างหนัก และกองกำลังนอกระบบของชาวชีอะห์ ก็ก่ออาชญากรรมกับชาวซุนีด้วย ในไม่ช้าก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชีอะห์ กับ ซุนนี จนรัฐอิรักกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” ที่คุมสถานการณ์ไม่ได้และบริการประชาชนไม่ได้ นี่คือสถานการณ์ “อุดมสมบูรณ์” เพื่อเพาะและสร้างองค์กรแบบ ไอซิล

ในไม่ช้าทหารระดับนายพลจากอดีตพรรคบะอัธ ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่อิงศาสนา ก็หันไปจับมือกับกลุ่มนักรบ “ญิฮาด” เพื่อต่อต้านสหรัฐกับรัฐบาลอิรัก และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวซุนี แนวร่วมแปลกๆ อันนี้ มีจุดเด่นคือมีทหารที่มีประสบการณ์ในการสู้รบและการบริหารเมืองต่างๆ ร่วมกับนักรบและผู้นำศาสนาที่หัวรุนแรง ในที่สุดก็กำเนิด ไอซิล ในอิรัก

หลังการลุกฮือ “อาหรับสปริง” ก็เกิดการกบฏต่อเผด็จการของ บัชชาร อัลอะซัด ในซิเรีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อบ้านของอิรัก การกบฏเริ่มจากมวลชน แต่ในไม่ช้าก็เสื่อมเป็นสงครามกลางเมืองโหดร้ายที่สุดของผู้จับอาวุธ และที่แย่สุดคือจักรวรรดินิยมตะวันตก รัสเซีย และประเทศรอบข้างในตะวันออกกลางก็ต่างคนต่างเข้าไปแทรกแซง ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของกระแส “อาหรับสปริง” ซิเรียก็เริ่มมีลักษณะของ “รัฐล้มเหลว”

ในสถานการณ์นี้ ไอซิล ยกกองกำลังจากอิรักเข้าไปแทรกแซงในซิเรีย มีการยึดแหล่งน้ำมันสำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้สำหรับองค์กร และในอิรักก็มีการยึดอาวุธทันสมัยจากกองทัพอิรักที่หมดสภาพในการต่อสู้ เป้าหมายของไอซิล คือการสร้างรัฐอิสลามที่รวมซิเรีย อิรัก และส่วนอื่นๆ ของตะวันออกกลาง

การแทรกแซงของประเทศภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ฝรั่งเศส รัสเซีย ซาอุ อิหร่าน ตูรกี และรัฐต่างๆ ในอ่าว ฯลฯ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเดียว หลายรัฐเป็นคู่แข่งและศัตรูกัน แต่ทุกรัฐประกาศว่าจะ “รบกับไอซิล” ทั้งๆ ที่ในความจริงมีการหนุนบ้าง รบบ้าง และที่แน่นอนคือการสร้างประโยชน์จากการมีไอซิล พร้อมกันนั้น ไอซิล เองก็ได้ประโยชน์ตรงนี้

ไอซิล เป็นองค์กรของนักรบปฏิกิริยาล้าหลังที่เพ้อฝันถึงสังคมในอดีต มันเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่การลุกฮือปฏิวัติปลดแอกตนเองของประชาชนได้รับความพ่ายแพ้ องค์กรนี้ใช้ลัทธิป่าเถื่อนที่เน้นและเชิดชูความรุนแรงบวกกับเผด็จการของผู้ชายในแกนนำขององค์กร

การทิ้งระเบิด ไอซิล โดยสหรัฐ ฝรั่งเศส ตูรกี และ รัสเซีย จะไม่ทำลายอำนาจของปีศาจไอซิล ที่พวกนั้นมีส่วนร่วมในการให้กำเนิดแต่แรก มันจะยิ่งสร้างภาพของความ “กล้าหาญ” ให้ไอซิล เราจะต้องรณรงค์ให้มีการยุติสงคราม และเราจะต้องรอเวลานานพอสมควร ให้มวลชนและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมฟื้นตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยอีกครั้ง

เหตุการณ์ก่อการร้ายที่ปารีส

เหตุการณ์ก่อการร้ายที่ปารีสเป็นเรื่องแย่ที่สุด และแน่นอนฝ่ายซ้ายและคนที่ต่อต้านลัทธิเหยียดสีผิวจะต้องทำงานในบรรยากาศที่ยากลำบากมากขึ้น พรรคFNฟาสซิสต์ของฝรั่งเศสและพวกเกลียดชังชาวมุสลิมหรือคนสีผิว จะฉวยโอกาสจากเหตุการณ์นี้เพื่อโจมตีคนมุสลิม ผู้ลี้ภัย และคนที่เดินทางเข้าประเทศจากที่อื่น ที่แย่อีกคือพวกกลุ่มนักรบจีฮัด ที่ก่อเหตุนี้ ต้องการสร้างการแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวยุโรปธรรมดา กับชาวมุสลิมธรรมดา ทั้งนี้เพื่อหวังดึงคนมุสลิมเข้ามาเป็นพรรคพวกมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราชาวสังคมนิยมและนักเคลื่อนไหวที่ค้านการเหยียดสีผิว มีหน้าที่สำคัญในการรณรงค์ปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัย คนเข้าเมือง และพี่น้องชาวมุสลิมในประเทศของเรา และเราไม่ควรลืมเลยว่าการโจมตีป่าเถื่อนครั้งนี้ที่ปารีส ก็ไม่แย่ไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีรัก ซิเรีย เยเมน หรืออัฟกานิสถาน ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้ให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่เกิดที่ปารีสเลย มันช่วยทำให้เราเข้าใจบริบทภาพกว้างท่ามกลางการประโคมข่าวของสื่อกระแสหลักที่ให้ความสำคัญกับชีวิตชาวตะวันตกมากกว่าชีวิตของคนที่อื่น อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมเลย ทั้งๆ ที่สื่อและรัฐบาลพยายามชวนให้เราลืม คือสภาพย่ำแย่นี้เป็นผลพวงจากระบบจักรวรรดินิยมที่ ปล้น กดขี่ ขูดรีด บุกรุก โจมตี ตะวันออกกลาง อัฟริกา และเอเชีย เพื่อผลประโยชน์กลุ่มทุน นี่คือความจริงที่เป็นสภาพพื้นฐานที่นำไปสู่การก่อการร้าย และนี่คือสาเหตุที่เราต้องคัดค้านจักรวรรดินิยม และต่อสู้เพื่อความสามัคคีในระดับสากลระหว่างกรรมาชีพและผู้ถูกกดขี่ทุกเชื้อชาติ

จอห์น มอลีนิว องค์กรสังคมนิยมสากล IST

ละครตลกร้ายของการเลือกตั้งในพม่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในอดีตนักวิชาการเคยตั้งชื่อการเลือกตั้งในประเทศอินโดนีเซีย สมัยเผด็จการซุฮาร์โตว่าเป็น “ละครแห่งการเลือกตั้ง” เพราะรัฐบาลทหารของอินโดนีเซียออกแบบและจัดฉากแห่งการเลือกตั้งให้ดูดี ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอมที่ไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง

การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าก็ไม่ต่างออกไป และยิ่งกว่านั้นมันเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่แก๊งไอ้ประยุทธ์มือเปื้อนพยายามที่จะลอกมาใช้ในไทยด้วย

เราควรเตือนความจำกันว่าในระบบพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพสำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา และวุฒิสภาให้ตนเอง ดังนั้นพรรคการเมืองของกองทัพจะต้องชนะที่นั่งจากการเลือกตั้งแค่อีก 25% ก็จะได้เสียงข้างมาก ยิ่งกว่านั้นกองทัพได้สงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ นอกจากนี้ประธานาธิบดีจะถูกเลือกโดยผู้แทนในรัฐสภาจากสามชื่อที่เสนอมา สองชื่อเสนอโดยสมาชิกสภา และอีกหนึ่งชื่อเสนอโดยกองทัพ ใครได้คะแนนสูงสุดจะเป็นประธานาธิบดี และอีกสองคนจะเป็นรองประธานาธิบดี

แต่ความเลวทรามของระบบการเมืองพม่ามีมากกว่านี้ เพราะ 5% (2.5 ล้านคน ) ของประชากรพม่าที่เป็นชาวมุสลิมจะไม่มีผู้แทนเลย เพราะทั้งพรรคทหารและพรรค NLD ของอองซานซูจี ไม่ยอมให้คนมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้ง และในกรณีการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง มีการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองพม่าที่นับถือศาสนาอิสลามอีกขั้นตอนหนึ่ง คือก่อนที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้ง คนมุสลิมที่อยู่พม่าเป็นร้อยๆ ปี จะต้องทำบัตรทะเบียนเลือกตั้งที่ต้องระบุว่าตนเองเป็นคนเชื้อสายอินเดียหรือปากีสถาน ซึ่งทำให้คนจำนวนมากไม่ยอมไปทำบัตร เพราะมองว่าตัวเองเป็นคนพม่า ที่ร้ายสุดคือสำหรับชาวโรฮิงญาอีกครึ่งล้านคน เขาถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองไปโดยสิ้นเชิง

ท่าทีของพรรค NLD ของอองซานซูจีในเรื่องนี้แย่มาก เพราะไปเล่นนโยบายคลั่งชาติและเหยียดคนมุสลิมพอๆ กับทหาร และพอๆ กับพระสงฆ์ฟาสซิสต์ที่ต้องการเผาบ้านชาวมุสลิม

นอกจากนี้ในพม่ามีนักโทษการเมืองเป็นร้อย และสหประชาชาติแถลงว่าการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงการจับคุมคนที่เห็นต่าง และการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม โดยรัฐบาลทหารท่ามกลางการเลือกตั้ง แปลว่าแม้แต่การเลือกตั้งในกรอบที่ทหารจัดไว้ ก็ยังมีปัญหา และอีกเรื่องที่เราไม่ควรลืมคือสงครามระหว่างกองทัพพม่าและชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่ จะทำให้การเลือกตั้งในพื้นที่เหล่านั้นไม่เกิดขึ้น

นับว่ากองทัพพม่ารัดตัวคุมระบบการเมืองเหมือนงูเหลือมยักษ์จนประชาชนเกือบจะไม่มีสิทธิเสรีภาพเลย

ถ้าพรรคของอองซานซูจีได้เสียงข้างมากในหมู่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซูจี ยังเสนออีกว่าจะตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งแปลว่าอาจตั้งรัฐบาลรวมกับพรรคทหาร แต่ที่แน่นอนคือ จะไม่มีการสอบสวนและลงโทษนายทหารที่ก่ออาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ซึ่งคงไม่ต่างจากจุดยืนของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยต่อทหารมือเปื้อนเลือดในไทย

การเลือกตั้งคราวนี้คงไม่มีวันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย และไม่มีวันไปแตะพวกนักธุรกิจ “มีเส้น” ที่เป็นพรรคพวกของทหาร

ดังนั้นเราคงหวังว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นกับพม่าหลังการเลือกตั้งไม่ได้เลย

สังคมไทยขาดการถกเถียงเรื่องกลไกตลาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่านักวิชาการ “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) วิจารณ์กระทรวงสาธารณสุขว่าการเป็นทั้ง ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ให้บริการ’ จะสร้างผลเสียให้ประชาชน และทุกครั้งที่นักวิชาการจากสถาบันนี้พูดอะไรออกมา สื่อในไทยก็พากันคารวะ เหมือนกับว่าพวกนี้เป็นปรมาจารย์ที่ผลิตมหาคัมภีร์เศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ทุกครั้งที่ อัมมาร สยามวาลา ออกมาพูดอะไร สื่อก็พากันกราบไหว้ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือนักวิชาการเกียรติคุณ

แต่ ทีดีอาร์ไอ เป็นแค่ตัวแทนของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักหนึ่งเท่านั้น และ อัมมาร สยามวาลา เป็นแค่นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาคนหนึ่งของสำนักเสรีนิยมใหม่ ที่คลั่งกลไกตลาด เพื่อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ เขาเชี่ยวชาญเหลือเกิน จนเคยเอ่ยปากมาว่าไม่รู้ว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยได้อย่างไร!! คือพูดง่ายๆ อัมมาร สยามวาลา ไม่กล้าและไม่ต้องไปการศึกษารัฐสวัสดิการในตะวันตกนั้นเอง

ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมสามารถรายงานว่า การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการและเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” เอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล ผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้เพราะจำเป็นต้องเลี้ยงชีพ แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำสุด และเปิดให้บริษัทเอกชนอย่าง G4S เข้ามากอบโกยกำไรจากภาษีประชาชน

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

สาเหตุที่การแยก ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เปิดโอกาสให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็เพราะมีการโยน “งบประมาณก้อน” ให้โรงพยาบาลหรือคลินนิคเพื่อบริหารเอง มีการตัดงบประมาณก้อนอันนั้น และมีการกดดันให้ฝ่าย “ขายบริการ” แข่งกันในตลาด คือแข่งกันตัดคุณภาพการรักษาและมาตรฐานการจ้างงาน เพื่อลดราคา

ในสังคมไทย เกือบจะไม่มีการถกเถียงกันเลยเรื่องสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่แตกต่างกัน ในประวัติศาสตร์สิบปีที่ผ่านมา มีแค่สองตัวอย่างของกลุ่มคนที่คัดค้านการคลั่งกลไกตลาดเสรี อันนี้ไม่นับกลุ่มสังคมนิยมเล็กๆ ที่ผมเคยร่วมทำงานด้วย ตัวอย่างแรกคือรัฐบาลไทยรักไทยที่ใช้นโยบาย “คู่ขนาน” คือนโยบาบทุ่มเทงบประมาณรัฐตามแนวเคนส์รากหญ้าบวกกับกลไกตลาดเสรีในระดับชาติ และตัวอย่างที่สองคือกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านเอดส์และต่อต้านลิขสิทธิ์ของบริษัทข้ามชาติที่ผลิตยา แต่ในกรณีไทยรักไทย การใช้แนวคู่ขนานไม่ได้เป็นการคัดค้านกลไกตลาดทั้งหมด มีการซื้อขายบริการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และเราคงจำได้ว่ามีการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรณีกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านเอดส์ ถึงแม้ว่าจะต้านกลไกตลาดเสรีในเรื่องเอดส์ แต่ไม่ได้เชื่อมและขยายเรื่องนี้ไปสู่การคัดค้านกลไกตลาดทั่วไป เพราะติดอยู่ในกับดักการเคลื่อนไหวแยกส่วนประเด็นเดียว มีแต่พวกเราชาวสังคมนิยมเท่านั้นที่พยายามเชื่อมเรื่องนี้ในภาพกว้างไปสู่การคัดค้านกลไกตลาดเสรีโดยทั่วไป ดูได้จากหนังสือเล่มเล็กที่เราเคยผลิตสำหรับงานเอดส์โลกชื่อ “ทำไมทุนนิยมทำให้เอดส์เป็นโรคร้ายแรง” และดูได้จากความพยายามของเราในงานสมัชชาสังคมไทย ที่จะชวนกลุ่มคนที่สนใจหลากหลายปัญหามานั่งคุยร่วมกันถึงปัญหากลไกตลาด

20130218181838_3400

จริงๆ แล้วมีคนอีกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุนใหญ่ แต่พวกนี้เป็นพวกแนวเศรษฐกิจชุมชนที่อยากฝันว่าเราสามารถหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคนิยายอะไรก็ไม่รู้ในอดีต พร้อมกันนั้นการที่พวกนี้รับแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาด้วย ทำให้ไม่สามารถค้านกลไกตลาดเสรีได้จริง เพราะแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวที่ไปได้ดีกับกลไกตลาดเสรี ไม่เชื่อก็ลองอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ หรือร่างรัฐธรรมนูญโจรล่าสุดดูก็ได้

ปัญหาความอ่อนแอในเรื่องการค้านกลไกตลาด เป็นมรดกร้ายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะแนวคิดเหมาเจ๋อตุงของพรรคไม่สนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ สนใจแต่การ “กู้ชาติ” ดังนั้นหลังป่าแตก คนที่ออกมาจากพรรค ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ หรือนักวิชาการชาตินิยม ก็ไม่เข้าใจปัญหากลไกตลาดเลย เอ็นจีโอส่วนใหญ่สนับสนุนตลาดเสรีด้วยซ้ำ

ในไทยเวลาใครจัดเสวนาหรือชวนนักวิชาการมาร่วมกันเขียนบทความ จะไม่มีการเปรียบเทียบสำนักคิด เพราะความคิดของคนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่อง “เทคนิค” หรือ “ความเชี่ยวชาญ” เท่านั้น ดังนั้นจะมีการพูดถึงปัญหาหนึ่งจากมุมมองนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฏหมาย มันเป็นวิธีพิจารณาประเด็นแบบปัญญาอ่อนที่ปลอดการเมืองของฝ่ายที่ตั้งคำถามต่อระบบกระแสหลัก

เมื่อผมเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ที่จุฬาฯ ผมจำได้ว่าผมเคยถามเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งที่สอน “การบริหารโรงพยาบาล” ว่าเขาสอนสำนักคิดไหนบ้าง เขามองผมด้วยความสงสัยและถามว่า “มีหลายสำนักคิดด้วยหรือ?”

แม้แต่ในเรื่องการบริหารโรงพยาบาลมีมากกว่าหนึ่งสำนักคิด ในอดีตก่อนที่แทชเชอร์จะนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ ระบบนี้อาศัยการให้บริการตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และมีการตั้งงบประมาณตามนั้น ระบบสาธารณสุขจะบริหารโดยผู้แทนฝ่ายรัฐ ฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง และฝ่ายผู้แทนสหภาพแรงงาน นั้นคือรูปแบบการบริหารโรงพยาบาลตามแนวรัฐสวัสดิการที่เอียงไปทางสังคมนิยม มันไม่มีการซื้อขายบริการ และไม่มีการคิดเลขทำบัญชีและตีราคาของทุกอย่างแบบที่มีทุกวันนี้

อ่าน “ทำไมทุนนิยมทำให้เอดส์เป็นโรคร้ายแรง” ได้ที่นี่  data5.blog.de/media/961/3348961_223eae8460_d.doc