ละครตลกร้ายของการเลือกตั้งในพม่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในอดีตนักวิชาการเคยตั้งชื่อการเลือกตั้งในประเทศอินโดนีเซีย สมัยเผด็จการซุฮาร์โตว่าเป็น “ละครแห่งการเลือกตั้ง” เพราะรัฐบาลทหารของอินโดนีเซียออกแบบและจัดฉากแห่งการเลือกตั้งให้ดูดี ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอมที่ไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง

การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าก็ไม่ต่างออกไป และยิ่งกว่านั้นมันเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่แก๊งไอ้ประยุทธ์มือเปื้อนพยายามที่จะลอกมาใช้ในไทยด้วย

เราควรเตือนความจำกันว่าในระบบพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพสำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา และวุฒิสภาให้ตนเอง ดังนั้นพรรคการเมืองของกองทัพจะต้องชนะที่นั่งจากการเลือกตั้งแค่อีก 25% ก็จะได้เสียงข้างมาก ยิ่งกว่านั้นกองทัพได้สงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ นอกจากนี้ประธานาธิบดีจะถูกเลือกโดยผู้แทนในรัฐสภาจากสามชื่อที่เสนอมา สองชื่อเสนอโดยสมาชิกสภา และอีกหนึ่งชื่อเสนอโดยกองทัพ ใครได้คะแนนสูงสุดจะเป็นประธานาธิบดี และอีกสองคนจะเป็นรองประธานาธิบดี

แต่ความเลวทรามของระบบการเมืองพม่ามีมากกว่านี้ เพราะ 5% (2.5 ล้านคน ) ของประชากรพม่าที่เป็นชาวมุสลิมจะไม่มีผู้แทนเลย เพราะทั้งพรรคทหารและพรรค NLD ของอองซานซูจี ไม่ยอมให้คนมุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้ง และในกรณีการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง มีการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองพม่าที่นับถือศาสนาอิสลามอีกขั้นตอนหนึ่ง คือก่อนที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้ง คนมุสลิมที่อยู่พม่าเป็นร้อยๆ ปี จะต้องทำบัตรทะเบียนเลือกตั้งที่ต้องระบุว่าตนเองเป็นคนเชื้อสายอินเดียหรือปากีสถาน ซึ่งทำให้คนจำนวนมากไม่ยอมไปทำบัตร เพราะมองว่าตัวเองเป็นคนพม่า ที่ร้ายสุดคือสำหรับชาวโรฮิงญาอีกครึ่งล้านคน เขาถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นพลเมืองไปโดยสิ้นเชิง

ท่าทีของพรรค NLD ของอองซานซูจีในเรื่องนี้แย่มาก เพราะไปเล่นนโยบายคลั่งชาติและเหยียดคนมุสลิมพอๆ กับทหาร และพอๆ กับพระสงฆ์ฟาสซิสต์ที่ต้องการเผาบ้านชาวมุสลิม

นอกจากนี้ในพม่ามีนักโทษการเมืองเป็นร้อย และสหประชาชาติแถลงว่าการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงการจับคุมคนที่เห็นต่าง และการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม โดยรัฐบาลทหารท่ามกลางการเลือกตั้ง แปลว่าแม้แต่การเลือกตั้งในกรอบที่ทหารจัดไว้ ก็ยังมีปัญหา และอีกเรื่องที่เราไม่ควรลืมคือสงครามระหว่างกองทัพพม่าและชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่ จะทำให้การเลือกตั้งในพื้นที่เหล่านั้นไม่เกิดขึ้น

นับว่ากองทัพพม่ารัดตัวคุมระบบการเมืองเหมือนงูเหลือมยักษ์จนประชาชนเกือบจะไม่มีสิทธิเสรีภาพเลย

ถ้าพรรคของอองซานซูจีได้เสียงข้างมากในหมู่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซูจี ยังเสนออีกว่าจะตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งแปลว่าอาจตั้งรัฐบาลรวมกับพรรคทหาร แต่ที่แน่นอนคือ จะไม่มีการสอบสวนและลงโทษนายทหารที่ก่ออาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ซึ่งคงไม่ต่างจากจุดยืนของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยต่อทหารมือเปื้อนเลือดในไทย

การเลือกตั้งคราวนี้คงไม่มีวันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย และไม่มีวันไปแตะพวกนักธุรกิจ “มีเส้น” ที่เป็นพรรคพวกของทหาร

ดังนั้นเราคงหวังว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นกับพม่าหลังการเลือกตั้งไม่ได้เลย