ถ้าจะล้มเผด็จการ เราต้องทำอะไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราไม่ล้มเผด็จการที่ครองเมืองในปัจจุบัน มันจะครองอำนาจต่อไปโดยแปรรูปไปเป็นระบบเผด็จการที่ซ่อนตัวอยู่หลังหน้ากากประชาธิปไตยปลอม

สิ่งที่สังคมไทยควรจะมีตอนนี้คือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ที่รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และรวมทุกกลุ่มที่รักประชาธิปไตยเข้าด้วยกันภายใต้การนำแบบหมู่คณะ เพราะตอนนี้เรามีแต่กลุ่มเล็กๆ หลากหลาย ที่ล้วนแต่หวงความอิสระของตนเองจนไม่รู้จักยุทธวิธีแห่งการเคลื่อนไหวมวลชนที่มีพลัง สภาพเช่นนี้แสดงให้เห็นว่านักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุคปัจจุบัน ยกความสำคัญของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง เหนือเป้าหมายที่สำคัญสุด คือการล้มเผด็จการ และนอกจากนี้มันแสดงให้เห็นว่านักเคลื่อนไหวยุคนี้ไม่สนใจที่จะลงแรงสร้างแนวร่วมกับคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของตนเองอย่างจริงจัง สาเหตุหนึ่งคือ “ความขี้เกียจ” ในการทำงานการเมือง และความต้องการที่จะทำอะไรง่ายๆ หรือหาทางลัด อีกสาเหตุหนึ่งคือความด้อยในการเข้าใจทฤษฏีการเมืองที่ถกเถียงกันในระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้ทางสังคม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนี้ ควรจะเคลื่อนไหว ไม่ใช่หดตัวรอวันข้างหน้า และแน่นอนก็ต้องระมัดระวังตัวในการจัดกิจกรรม แต่ต้องกล้าหน่อย การเคลื่อนไหวของนักศึกษา พลเมืองโต้กลับและกลุ่มอื่นๆ พิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวทำได้ แต่ทั้งๆ ที่กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้แสดงความกล้าหาญที่น่าทึ่ง กลุ่มดังกล่าวดูเหมือนไม่สนใจจะสู้เพื่อล้มเผด็จการอย่างจริงจัง เพราะหลงเชื่อว่าการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์จะนำประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทยได้ หรือหลงเชื่อว่าการกระทำของคนกลุ่มเล็กๆ จะกระตุ้นให้มวลชนลุกขึ้นสู้โดยไม่ต้องลงแรงสร้างขบวนการ

บทเรียนจากพม่าสอนให้เราเข้าใจได้ว่าการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ของอองซานซูจี มีผลในการสลายพลังมวลชน และนำไปสู่การสืบทอดอำนาจทหารภายใต้ฉากการเลือกตั้งจอมปลอม เผด็จการทหารไทยก็ต้องการสภาพแบบนี้

เราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะถ้าเราจะเผชิญหน้ากับอำนาจของทหารและชนชั้น “อำมาตย์” เราก็ต้องมีอำนาจเช่นกัน อำนาจในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามมาจากพลังมวลชน และไม่ได้มาจากกลุ่มเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนติดอาวุธ หรือกลุ่มคนที่แค่ใช้อินเตอร์เน็ดหรือเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เรื่องนี้ควรจะมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังในหมู่นักเคลื่อนไหว โดยเรียนบทเรียนจากทั่วโลกรวมถึงไทย

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แตกต่างจาก “เครือข่าย” ของกลุ่มต่างๆ ที่รักษาความอิสระและบางครั้งเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวที่แตกต่างกัน มันเป็นวิธีการที่ใช้ในกลุ่มเอ็นจีโอมานาน และล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มันเป็นสาเหตุหนึ่งที่เอ็นจีโอหลายส่วนไปเข้ากับคนที่เรียกร้องรัฐประหาร เครือข่ายกลุ่มต่างๆ เป็นแค่วิธีแลกเปลี่ยนส่งข่าวกัน ซึ่งดี แต่ไม่พอ และมันคือสถานการณ์ปัจจุบันมานานเกินไปแล้ว

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นแนวร่วมปฏิบัติการที่พูดและเคลื่อนไหวด้วยเสียงเดียวกันเป้าหมายเดียวกัน แต่ละบุคคลหรือกลุ่มที่เข้าร่วมต้องแสวงหาจุดร่วม และฟังเสียงมติคนส่วนใหญ่ ซึ่งแปลว่าต้องประนีประนอมกัน ในไทยปัจจุบันยังไม่มีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยหลังจากที่ นปช. ถูกแช่แข็งจนใกล้ตาย

เวลาเราพูดถึงเสื้อแดง นปช. เราก็ต้องเรียนบทเรียนจากความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอันนี้ เพราะความล้มเหลวมาจากการที่ นปช. ผูกติดกับนักการเมืองฝ่ายทักษิณมากเกินไป จนการนำขบวนการมาจากพรรคเพื่อไทยและคนของทักษิณ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ต้องการล้มเผด็จการอย่างถอนรากถอนโคน สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่การจัดตั้งเสื้อแดงมีลักษณะการเคลื่อนไหวเองของรากหญ้ามากพอสมควร ดังนั้นเวลาเราจะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรอบใหม่ เราไม่ควรให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดการนำ ต้องนำร่วมกันเป็นหมู่คณะ โดยไม่มีอคติกัน ไม่มีระบบอาวุโส และกล้ามีจุดยืนแตกต่างกันทั้งๆ ที่มาร่วมสู้ด้วยกันได้ภายใต้การแสวงจุดร่วมที่กำหนดโดยการเคารพมติเสียงส่วนใหญ่

สำหรับนักสังคมนิยม ซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยอันนี้ ในขณะที่เราควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย เราก็ต้องสร้างองค์กรสังคมนิยมมาร์คซิสต์ของเราเอง ต้องมีกลุ่มศึกษา ต้องมีสื่อ ต้องมีทฤษฏี ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ และต้องขยายสมาชิก เพราะถ้าไม่สร้างองค์กรของเราแบบนี้ เราก็จะไม่มีอะไรที่จะไปเป็นแนวร่วมกับคนอื่น และไม่มีอะไรที่จะเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้

องค์กรทางการเมืองสังคมนิยม จะมีหน้าที่พยายามเชื่อมระหว่างคนหนุ่มสาวกับแรงงาน เพราะสองกลุ่มนี้มีพลัง แต่เราจะไม่ไปหวัง “ครอบงำ” ใคร เราจะเสนอการนำ และในที่สุดส่วนต่างๆ ของมวลชนก็ต้องตัดสินใจเอง

องค์กรสังคมนิยมต้องผลักดันการเมืองภาพกว้างตลอดเวลา เพื่อขยายความรู้ เราไม่ควร “ปรับ” การศึกษาให้ตรงกับแค่ประเด็นปัญหาปากท้องหรือประเด็นเฉพาะหน้าของกลุ่มต่างๆ เท่านั้น เพราะถ้าเราไม่มีความเข้าใจในการเมืองภาพกว้าง เราจะไม่มีปัญญาที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ

ในทางทฤษฏี นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ เราจะเน้นพลังของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคม และไม่ไปเพ้อฝันเรื่องชนชั้นกลางที่ตอนนี้ปรากฏตัวเป็นสลิ่มอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีกลุ่มคนในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางความคิดโดยอัตโนมัติ มันต้องมีการเสนอความคิดแข่งกับความคิดกระแสหลักเสมอ

นักมาร์คซิสต์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมโยงการต่อสู้ที่ดูเหมือนแยกส่วนหลากหลาย ระหว่างยุคต่างๆ และเราจะมองสายสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นๆ ในระดับสากลอีกด้วย การลุกฮือ ๑๔ ตุลา และการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในยุคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐ และการต่อสู้ของชาวเวียดนาม การลุกฮือของเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์กับ ๑๔ ตุลาในอดีต และสิ่งที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลาง รวมถึงการล้มเผด็จการที่อื่นอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เราควรเน้นเพื่อร่วมคิดกัน คือเรื่องของ “พลัง” หรือ “อำนาจ” ในการล้มเผด็จการว่ามันจะมาจากส่วนไหนบ้างของสังคม และมาจากการต่อสู้ในรูปแบบไหน

ควรยึดโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นของรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ระบบรักษาพยาบาลในไทยมีการแบ่งแยกหลายระบบภายใต้มาตรฐานที่แตกต่างกัน การแบ่งแยกแบบนี้สร้างความเหลื่อมล้ำและทำให้ประสิทธิภาพน้อยกว่าที่ควร

สิ่งที่จะก่อประโยชน์ให้พลเมืองส่วนใหญ่มากที่สุดคือการสร้างระบบรักษาพยาบาลระบบเดียว ที่มีมาตรฐานสูง บริการพลเมืองอย่างถ้วนหน้าไม่เลือกปฏิบัติ และใช้งบประมาณรัฐที่เก็บจากระบบภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า คือใครรวยก็จ่ายมาก ใครจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย นอกจากนี้ควรตัดงบประมาณทหาร และตัดงบประมาณราชวังอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งนี้เพื่อสร้างความสุขอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคมอีกด้วย

การที่ไทยมีระบบสำหรับข้าราชการ ระบบสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และระบบที่เดิมเรียกว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และยังมีระบบเอกชนสำหรับคนรวย กับคนที่มีประกันสุขภาพชั้นดีจากสถานที่ทำงาน ทำให้ระบบของไทยขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ

การสร้างตลาดภายในโดยการแยกผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ออกจากผู้ให้บริการ (Provider)  ทำให้รัฐบาลกลางสามารถหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบได้ เพราะถ้าคุณภาพการบริการเลวลงก็จะกลายเป็นความผิดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ “ไม่สามารถบริหารงบประมาณได้” นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสวงหากำไรผ่านการรับเหมาช่วงที่ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน ในทางปฏิบัติประชาชนส่วนใหญ่เสียประโยชน์เพราะคุณภาพการให้บริการแย่ลงเพื่อเพิ่มกำไร และที่แย่ที่สุดคือมีการทุ่มเททรัพยากรในการจ้างนักบัญชีและผู้บริหารเพิ่ม ในขณะที่ลดบุคลากรด้านการแพทย์

ในประเทศอังกฤษระหว่างปี 1981 ถึง 1996 สัดส่วนพยาบาลต่อนักบัญชีลดลงจาก 3.5 : 1 เป็น 2.5 : 1   ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการบริหารระบบ ซึ่งเดิมต่ำมากคือ 5% ของงบประมาณสาธารณะสุขก่อนปี 1980 เพิ่มเป็น 12% ในปี 1999 และสาเหตุหลักคือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของผู้บริหารจาก 1000 คนในปี 1986 เป็น 26,000 คนในปี 1995  และในขณะเดียวกันมีการกดค่าจ้างสวัสดิการของคนทำงานพื้นฐาน

ในสหรัฐอเมริกามีการโอนระบบประกันสุขภาพเข้าสู่ “องค์กรบริหารสุขภาพ” (Health Management Organisations หรือ H.M.O.) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมบัญชีกองทุนเพื่อเพิ่มกำไร แทนที่จะเน้นความจำเป็นในด้านสุขภาพอนามัยของผู้ประกันตน

ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคในไทย มีการตั้งระบบตลาดภายในและซื้อบริการจากเอกชนตั้งแต่แรก

ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณสุขแบบอิงเอกชน ที่เน้นการประกันตน แทนการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐสวัสดิการ มักจะสูงกว่าเสมอ และสาเหตุสำคัญคือการจ้างคนมาบริหารระบบอย่างสิ้นเปลือง  ระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชนเป็นหลักแพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคน ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ในไทยในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนและคลินิคเอกชน พึ่งพางบประมาณรัฐที่มาจากการเก็บภาษีประชาชนมากพอสมควรในหลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพึ่งพาการให้บริการกับระบบประกันสังคมและระบบอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ และที่สำคัญคือมีการพึ่งพางบประมาณรัฐที่ใช้ในระบบการศึกษาที่ฝึกฝนแพทย์พยาบาลอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ควรมีการยึดทรัพยากรทางแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ในมือนักธุรกิจเอกชน แล้วนำมาเป็นของระบบรัฐระบบเดียว โดยไม่แบ่งแยก ที่สำคัญด้วยคือควรมีโครงสร้างการบริหารโรงพยาบาล สถานพยาบาล และคลินิคหมอในชุมชนต่างๆ ให้สะท้อนระบบประชาธิปไตย คือมีกรรมการบริหารที่มาจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้ทำงานในการบริการ คือแพทย์ พยาบาล ลูกจ้างอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน และมีกรรมการที่มาจากผู้แทนของชุมชนผ่านการเลือกตั้งอีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้มีบทความใน “ประชาไท” ที่กล่าวถึงความฝันที่จะสร้าง ‘โรงพยาบาลของผู้ประกันตน’  โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมที่ระบุว่าจำนวนสถานพยาบาลโครงการประกันสังคมปี 2558 นั้นมีทั้งหมด 241 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ 157 แห่ง และเป็นโรงพยาบาลเอกชน 84 แห่ง และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาพบว่า จำนวนของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมได้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ จาก 266 แห่งในปี 2550 เหลือเพียง 241 แห่งในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในทางกลับกัน จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกลับเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จากปี ปี 2550 ที่มีผู้ประกันตนจำนวน 9,182,170 คน มาเป็น 13,748,489 คน ในปี 2558

แต่ข้อเสนอให้สร้าง ‘โรงพยาบาลของผู้ประกันตน’ เป็นข้อเสนอที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะเป็นการผลิตซ้ำระบบหลายมาตรฐานที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ควรทำคือนำโรงพยายาลทุกแห่งมาเป็นของรัฐ สร้างโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น และรวมทุกระบบรักษาพยาบาลมาเป็นระบบเดียวภายในรัฐสวัสดิการ

แต่ถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านี้มันมีเงื่อนไขสำคัญสองประการคือ ต้องล้มเผด็จการเพื่อสร้างประชาธิปไตย และต้องสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย เพื่อต่อสู้กับผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน

ทำไมพรรคสังคมนิยมแพ้การเลือกตั้งในเวเนสเวลา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคสังคมนิยมที่ ฮูโก ชาเวส เคยตั้งขึ้น พึ่งแพ้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเวเนสเวลา โดยที่ฝ่ายขวาชนะขาดลอย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือพรรคฝ่ายขวาที่ตอนนี้มีเสียงส่วนใหญ่เกินสองในสามของที่นั่งทั้งหมด และสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นพวกที่เคยพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้ม ชาเวส ในปี 2002 ทั้งๆ ที่ ชาเวส ได้รับการเลือกตั้งหลายครั้งผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และก่อนหน้านั้นพวกฝ่ายขวาเหล่านี้เคยฆ่าประชาชนตายอย่างเลือดเย็น 2000 คนเพื่อปราบปรามการลุกฮือ “คาราคาโซ” ในปี 1989 การลุกฮือครั้งนั้นเป็นการกบฏของคนจนต่ออำมาตย์และชนชั้นกลางที่ผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ และการเมือง เวเนสเวลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีตผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนทั้งสิ้น

ฮูโก ชาเวส เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและการนำรายได้จากน้ำมันมาลดความเหลื่อมล้ำ เขามองด้วยว่าจักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี 1992 ชาเวส จึงพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี อย่างไรก็ตามประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจ ชาเวส

ต่อมาในปี 1998 ชาเวสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับสนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71% ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ หลังจากนั้น ชาเวส ชนะการเลือกตั้งอีกสามรอบในปี 2000 2006 และ 2012

ในปี 2013 ชาเวส ป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต นิโคลัส มาดูโร จากพรรคสังคมนิยมก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน โดยมีการเลือกตั้งพิเศษในต้นปีเดียวกัน

ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มหันหลังให้พรรคสังคมนิยม เราจะต้องย้อนกลับไปดูปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่สมัย ชาเวส ปัญหาหลักคือ ถึงแม้ว่า ชาเวส จะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขาเมื่อมีรัฐประหาร แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อเอกชนส่วนใหญ่ และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ในระดับหนึ่ง ชาเวส พยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่าโดยอ้างว่ากำลังทำ “การปฏิวัติสังคมนิยม” เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจน มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย และมีการเน้น “การนำเดี่ยวของประธานาธิบดี” แทนการนำโดยมวลชน ชาวเส คงไม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกับหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน

ยิ่งกว่านั้น ชาเวส มองว่าเผด็จการ “คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน” ของ คิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวส จะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวส กลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้

หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป รัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร ยิ่งเปรอะเปื้อนในการคอร์รับชั่นมากขึ้น และมีการร่วมกินกับนายทุนที่ค้านรัฐบาล ปัญหาที่ซ้ำเติมมาคือราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันและการคอร์รับชั่นมีผลทำให้โครงการสาธารณะต่างๆ ที่เคยมีไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พร้อมกันนั้นอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้น นอกจากนี้ในสังคมที่มีปัญหาแบบนี้ระดับอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น แต่ มาดูโร ก็ไม่ทำอะไร และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นหรือยึดพลังการผลิตเอกชนมาเป็นของประชาชน มีแต่การแก้ตัวว่าทุกปัญหามาจากจักรวรรดินิยมอเมริกา

สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา
สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา

พรรคฝ่ายขวาที่เข้ามาในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ก่อนสมัย ชาเวส พวกนี้ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด สนใจแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าชนชั้นตนเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือโศกนาฏกรรมของการพยายามสร้าง “สังคมนิยมครึ่งใบ” ของ ชาเวส และมันเป็นโศกนาฏกรรมที่องค์กรสังคมนิยมสากล IST เตือนว่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะถ้าไม่สร้างสังคมนิยมจากล่างสู่บนด้วยพลังมวลชนกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยมอย่างถอนรากถอนโคน ในที่สุดก็จะล้มเหลว มันสะท้อนว่านักมาร์คซิสต์จะต้องวิเคราะห์และติชมการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ เสมอ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแค่กองเชียร์สำหรับรัฐบาลฝ่ายซ้ายทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในเวนเนสเวลา หรือกรีซ

กฏหมายเถื่อน 112

ใจ อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวว่านายตำรวจ นายทหาร และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอดีตเมียเจ้าฟ้าชาย เอี่ยวกับคดี ม.112 โดยที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เราควรพิจารณาภาพกว้างของการใช้กฏหมายเถื่อน112

สำหรับผู้ที่รักประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ การที่ชนชั้นปกครองซีกหนึ่งกำลังล้างแค้นทำลายคู่แข่ง คนที่เป็นอุปสรรคกับการไต่เต้า หรือคนที่ตนเองรังเกียจนั้น ไม่มีความสำคัญและความน่าสนใจแต่อย่างใด

แต่เราเป็นห่วงนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายๆ เพื่อนของเรา ที่ติดคุกอยู่ภายใต้กฏหมายเถื่อนนี้มากกว่า

ผู้เขียนไม่ได้หลงคิดว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นพลังสำคัญในการสร้างเสรีภาพทั่วโลก ทั้งๆ ที่ทูตสหรัฐออกมาวิจารณ์การใช้ 112 แบบเบาๆ แต่การที่สลิ่มน้ำลายฟูมปาก แสดงความไม่พอใจกับคำพูดของเขา ก็เพียงแต่พิสูจน์ว่าพวกสลิ่มเหล่านี้เป็นพวก “ไทยยอมเป็นทาส” ที่พร้อมจะหมอบคลานก้มหัวกับเจ้านายตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วคือทหาร เพราะกษัตริย์ภูมิพลก็เป็นเพียงหุ่นของทหาร

สลิ่มรักพ่อ

พวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะทหารที่เกลียดชังประชาธิปไตย มักจะพูดว่าไทย “จำเป็น” ที่จะมีกฏหมาย 112 เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่คำถามใหญ่ที่เราควรถามคือ ทำไมเราต้องมีสถาบันปรสิตล้าหลังอันนี้ในยุคปัจจุบัน เพราะมันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์และหลักความเท่าเทียมของมนุษย์ และเราต้องถามอีกว่าทำไมสถาบันสาธารณะแบบนี้ต้องมีกฏหมายห้ามไม่ให้พลเมืองวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

การที่ชนชั้นนำไทยเกรงกลัวการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยประชาชน หมายความว่ากษัตริย์ไม่ได้เป็นที่รักและเคารพของพลเมืองทุกคน มันสะท้อนว่าพวกนี้ขาดความมั่นใจในเรื่องอนาคต เขากังวลเรื่องอนาคตที่เขาจะโหนเกาะสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ความชอบทำกับตนเองต่อไป โดยเฉพาะความชอบธรรมในการทำรัฐประหารหรือการทำลายประชาธิปไตย และเนื่องจากกษัตริย์ภูมิพลเป็นแค่หุ่นเชิดราคาแพงที่ทำตามคำสั่งของทหารและองค์มนตรี กฏหมาย 112 มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่โหนใช้หุ่นเชิดนี้เอง

ในภาพกว้างเราจะเห็นว่ากฏหมาย 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์สองอย่าง

วัตถุประสงค์แรกคือ เมื่อสมาชิกชนชั้นปกครองซีกหนึ่ง ผู้ที่ครองอำนาจในช่วงเวลาหนึ่ง ใช้ 112 เพื่อกล่าวหาคนที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาอำนาจของตนเองหรือใช้กับคนที่วิจารณ์ตนเอง กรณีนายตำรวจ นายทหาร และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอดีตเมียเจ้าฟ้าชาย เป็นตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างอื่นในอดีตคือการขู่ใช้กฏหมายนี้เพื่อปิดปากนักข่าวต่างประเทศในสมัยทักษิณ

วัตถุประสงค์ที่สองสำคัญกว่า คือกฏหมาย 112 ถูกใช้เพื่อปราบปรามนักประชาธิปไตยที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ผมใช้คำว่า “ฝ่ายซ้าย” แบบหลวมๆ เพื่อหมายถึงคนที่รักความเป็นธรรม รังเกียจความเหลื่อมล้ำ และต้องการเห็นสังคมที่พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

ในยุค ๖ ตุลา ยุคหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา และในยุคมืดหลังรัฐประหารของประยุทธ์ คนที่โดนกฏหมาย 112 และที่เป็นนักโทษการเมืองปัจจุบัน ย่อมจะเป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการใช้ 112 แบบนี้คือใช้ในการปราบปรามกระแสสังคมนิยมหรือความพยายามที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม

แต่เมื่อเราพิจารณาต่อไป เราจะเห็นว่ามีสองกรณีใหญ่ของคนที่ “แอบอ้างสถานบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว” ที่ไม่เคยโดนคดี 112 เลย

กลุ่มแรกคือทหารเผด็จการตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ถึงยุคประยุทธ์มือเปื้อนเลือด พวกอันธพาลเหล่านี้แอบอ้างว่าตนเองปกป้องกษัตริย์หรือ “ทำตามคำสั่ง” ของกษัตริย์ เพื่อยึดอำนาจ ขโมยประชาธิปไตย แล้วกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวกเพื่อนฝูง

กลุ่มที่สองคือพวกชนชั้นกลางเสื้อเหลืองหรือสลิ่ม ที่แอบอ้างว่าตนเอง “สู้เพื่อในหลวง” แต่จริงๆ แล้วสู้เพื่อทำลายประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ และปกป้องสถานภาพทางสังคมและอภิสิทธิ์พิเศษของเขาเองเสมอ

มันชี้ให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติในการใช้กฏหมาย 112 ตลอด

กฏหมายเถื่อนนี้แก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้ มันต้องยกเลิกอย่างเดียว แล้วต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน แต่ท้ายสุดแล้ว เราควรเปลี่ยนประเทศของเราให้เป็นสาธารณรัฐ