ใจ อึ๊งภากรณ์
พรรคสังคมนิยมที่ ฮูโก ชาเวส เคยตั้งขึ้น พึ่งแพ้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเวเนสเวลา โดยที่ฝ่ายขวาชนะขาดลอย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือพรรคฝ่ายขวาที่ตอนนี้มีเสียงส่วนใหญ่เกินสองในสามของที่นั่งทั้งหมด และสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นพวกที่เคยพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้ม ชาเวส ในปี 2002 ทั้งๆ ที่ ชาเวส ได้รับการเลือกตั้งหลายครั้งผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และก่อนหน้านั้นพวกฝ่ายขวาเหล่านี้เคยฆ่าประชาชนตายอย่างเลือดเย็น 2000 คนเพื่อปราบปรามการลุกฮือ “คาราคาโซ” ในปี 1989 การลุกฮือครั้งนั้นเป็นการกบฏของคนจนต่ออำมาตย์และชนชั้นกลางที่ผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ และการเมือง เวเนสเวลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีตผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนทั้งสิ้น
ฮูโก ชาเวส เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและการนำรายได้จากน้ำมันมาลดความเหลื่อมล้ำ เขามองด้วยว่าจักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี 1992 ชาเวส จึงพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี อย่างไรก็ตามประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจ ชาเวส
ต่อมาในปี 1998 ชาเวสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับสนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71% ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ หลังจากนั้น ชาเวส ชนะการเลือกตั้งอีกสามรอบในปี 2000 2006 และ 2012
ในปี 2013 ชาเวส ป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต นิโคลัส มาดูโร จากพรรคสังคมนิยมก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน โดยมีการเลือกตั้งพิเศษในต้นปีเดียวกัน
ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มหันหลังให้พรรคสังคมนิยม เราจะต้องย้อนกลับไปดูปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่สมัย ชาเวส ปัญหาหลักคือ ถึงแม้ว่า ชาเวส จะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขาเมื่อมีรัฐประหาร แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อเอกชนส่วนใหญ่ และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ในระดับหนึ่ง ชาเวส พยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่าโดยอ้างว่ากำลังทำ “การปฏิวัติสังคมนิยม” เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจน มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย และมีการเน้น “การนำเดี่ยวของประธานาธิบดี” แทนการนำโดยมวลชน ชาวเส คงไม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกับหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน
ยิ่งกว่านั้น ชาเวส มองว่าเผด็จการ “คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน” ของ คิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวส จะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวส กลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้
หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป รัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร ยิ่งเปรอะเปื้อนในการคอร์รับชั่นมากขึ้น และมีการร่วมกินกับนายทุนที่ค้านรัฐบาล ปัญหาที่ซ้ำเติมมาคือราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันและการคอร์รับชั่นมีผลทำให้โครงการสาธารณะต่างๆ ที่เคยมีไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พร้อมกันนั้นอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้น นอกจากนี้ในสังคมที่มีปัญหาแบบนี้ระดับอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น แต่ มาดูโร ก็ไม่ทำอะไร และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นหรือยึดพลังการผลิตเอกชนมาเป็นของประชาชน มีแต่การแก้ตัวว่าทุกปัญหามาจากจักรวรรดินิยมอเมริกา

พรรคฝ่ายขวาที่เข้ามาในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ก่อนสมัย ชาเวส พวกนี้ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด สนใจแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าชนชั้นตนเองเท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือโศกนาฏกรรมของการพยายามสร้าง “สังคมนิยมครึ่งใบ” ของ ชาเวส และมันเป็นโศกนาฏกรรมที่องค์กรสังคมนิยมสากล IST เตือนว่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะถ้าไม่สร้างสังคมนิยมจากล่างสู่บนด้วยพลังมวลชนกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยมอย่างถอนรากถอนโคน ในที่สุดก็จะล้มเหลว มันสะท้อนว่านักมาร์คซิสต์จะต้องวิเคราะห์และติชมการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ เสมอ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแค่กองเชียร์สำหรับรัฐบาลฝ่ายซ้ายทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในเวนเนสเวลา หรือกรีซ