ใจ อึ๊งภากรณ์
ในอดีตพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีพยายามหลายครั้ง ที่จะทำลายอุดมการณ์ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า ที่หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้บุกเบิกในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอุดมการณ์นี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนชื่นชมรัฐบาลทักษิณในยุคนั้น ล่าสุดรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ก็พยายามเช่นกัน โดยที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่าประชาชน “ต้องร่วมจ่าย” ในระบบบัตรทอง โดยอ้างว่ารัฐ “แบกรับไม่ไหว”
ส่วน สุริยะใส กตะศิลา สุนักรับจ้างขององค์กรสลิ่มทุกยุค ก็ออกมาเห่าหอนสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องนี้
ทุกคำที่ออกมาจากปากพวกนี้ล้วนแต่เป็นคำโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น
ระบบ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” เป็นแนวคิดของคนก้าวหน้าในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนที่ได้ชื่อว่าผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จมากที่สุดคือ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งชื่นชมระบบสาธารณสุขอังกฤษ ในยุคนั้น “อุดมการณ์” ของระบบนี้ คือความพยายามที่จะให้พลเมืองทุกคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมหรือระบบข้าราชการ สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้า โดยอาศัยแค่สิทธิการเป็นพลเมืองเท่านั้น การเก็บเงิน ๓๐ บาท เป็นแค่การเก็บเงินในเชิงสัญลักษณ์ จึงไม่เรียกว่าเป็นการ “ร่วมจ่าย”
หลังจากการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ นสพ. บางกอกโพสธ์รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการลงมือตัดงบระบบ ๓๐ บาทไป 23% แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มงบประมาณทหาร 30% ซึ่งก่อนหน้านี้ในยุคทักษิณมีการค่อยๆ ลดงบประมาณทหาร
เราไม่ควรลืมว่ารัฐบาลทหารหลัง ๑๙ กันยาเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี พวกนี้ไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร พระราชวัง และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลทักษิณว่าเป็น “ประชานิยม” และ “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการขึ้นงบประมาณทหารเป็นการ “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด
ภายใต้รัฐบาลเผด็จการยุคนั้นมีการยกเลิกเก็บค่าพยาบาล ๓๐ บาท ซึ่งในแง่การปฏิบัติเป็นเรื่องดี แต่ถ้าตรวจสอบเจตนาของการทำให้ระบบนี้ฟรี เราจะเห็นว่าหลายคนในแวดวงเผด็จการมีอคติและวาระแอบแฟง คือหลายคนเตรียมจะเสนอให้เก็บค่าพยาบาลเพิ่มขึ้นหลายเท่าภายใต้ระบบที่เขาเรียกว่า “การร่วมจ่าย” คนจนสุดอาจไม่ต้องจ่าย แต่ใครมีรายได้มากกว่านั้นนิดเดียวคงต้องจ่ายมากกว่า ๓๐ บาท หลายเท่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างระบบอนาถาสำหรับคนจนแล้ว ยังสร้างภาระมหาศาลให้กับคนที่ถูกจำแนกว่าไม่ได้อยู่ในระดับยากจนที่สุด
ในยุครัฐบาล “แต่งตั้งโดยทหาร” ของอภิสิทธิ์ มีการเปลี่ยนชื่อจากบัตร ๓๐ บาท เป็น “บัตรทอง” เพื่อตัดความหลังที่มาจากยุคทักษิณออกไป และแน่นอนอภิสิทธิ์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นพวกคลั่งตลาดเสรีที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ที่เคยวิจารณ์ระบบ ๓๐ บาทมาตลอด
หลายคนเข้าใจผิดว่าแนวเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมไปกับระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่จริง ในกรณีไทยเราจะเห็นว่าทั้งประชาธิปัตย์และเผด็จการทหารยุค ๑๙ กันยา และยุคปัจจุบัน เป็นพวกที่เกลียดชังการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชนตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี ในขณะที่รัฐบาลทักษิณใช้แนวเศรษฐศาสตร์คู่ขนาน คือใช้รัฐและตลาดร่วมกันตามสูตรเศรษฐศาสตร์ “เคนส์”
จริงๆ แล้วคำว่า “ร่วมจ่าย” เป็นคำหลอกลวงของพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี เพราะพลเมืองไทยทุกคนจ่ายภาษี ไม่ว่าจะจนหรือรวย ทั้งทางอ้อมเช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีน้ำมัน หรือผ่านการจ่ายภาษีรายได้ ดังนั้นระบบอะไรที่ใช้งบประมาณรัฐ เป็นระบบที่ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายสมทบผ่านภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระบบภาษีไทยเป็นระบบที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำเพราะคนจนมักจ่ายภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนรวยถ้าเปรียบเทียบกับรายได้
ดังนั้นเวลาพวกนี้พูดถึงการ “ร่วมจ่าย” เราควรรู้ทันทีว่ามันแปลว่า “คิดค่าพยาบาล” ซึ่งสำหรับบัตรทองแล้ว เป็นการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคก่อนไทยรักไทย และก่อนยุคความทันสมัย ตามความฝันของอำมาตย์ล้าหลัง
การพยายามทำลายอุดมการณ์ของ “๓๐ บาท” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๖ เราจะเห็นความเสื่อมของแนวคิดเดิม โดยที่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอระบบ “ร่วมจ่าย” เพื่อเปิดประเด็นแนวคิดย้อนยุค แต่มันไม่ออกมาเป็นนโยบายรูปธรรม เหตุการณ์นี้พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถหวังพึ่งพรรคเพื่อไทยให้ปกป้องระบบ ๓๐ บาทได้ และแน่นอนเราทราบดีว่าเขาจะไม่นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย
หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข ในยุคแรกๆ ของเผด็จการประยุทธ์ ก็ออกมาเสนอแนว “ร่วมจ่าย” อีก โดยเสนอว่าประชาชนควรจ่ายถึงครึ่งหนึ่งของค่ารักษาพยาบาล นายแพทย์คนนี้เคยเข้าร่วมกับม็อบอันธพาลของสุเทพ รัฐบาลเผด็จการหลังรัฐประหารประยุทธ์ก็จำกัดงบประมาณบัตรทองในขณะที่เพิ่มงบประมาณทหารมหาศาลตามสูตรเดิม ล่าสุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาเสนอเรื่อง “ร่วมจ่าย” อีก
นิมิตร์ เทียนอุดม นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพ เตือนว่าตั้งแต่มีรัฐบาลเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน มีการแอบกัดและค่อยๆ ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและผลงานดีๆ ในเรื่องนี้หลายอย่าง โดยเฉพาะผ่านระเบียบออกใหม่ที่จำกัดการใช้งบประมาเหมาจ่ายรายหัวของโรงพยาบาลสำหรับหลายสิ่งหลายอย่าง และการลดบทบาทรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมในการหายาสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย เราสามารถคาดเดาได้ว่ามาตรการใหม่ๆ ที่เกิดภายใต้เผด็จการประยุทธ์ จะนำไปสู่การอ้างว่ารัฐ “แบกรับ” ไม่ไหว หรือต้อง “ปฏิรูป” ระบบ ซึ่งจริงๆ แล้วแปลว่าพวกนี้อยากทำลายมันมากกว่า แต่ทางออกที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคือต้องมีการเพิ่มงบประมาณโดยรัฐ
ปัญหาคือหลายคนที่อยากปกป้องระบบบัตรทอง แค่ชี้ถึงความไม่เสมอภาคระหว่างระบบข้าราชการ ระบบประกันสังคม กับระบบบัตรทอง โดยไม่มองภาพกว้างและไม่เข้าใจพิษภัยของแนวคิดคลั่งตลาดเสรีที่เผด็จการชื่นชม
การที่จะไปขโมยทรัพยากรจากระบบข้าราชการ หรือระบบประกันสังคม เพื่อไปอุดบัตรทอง มันไม่ใช่คำตอบ มันเป็นแค่การกระจายการบริการระหว่างคนทำงานธรรมดา ซึ่งจะกดมาตรฐานสำหรับบางคนเพื่อไปเพิ่มให้คนจนคนอื่น โดยไม่ไปแตะกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ โดยเฉพาะทหาร นายทุนใหญ่และคนรวยชั้นสูงแต่อย่างใด
คนที่ไม่กล้าพูดถึงปัญหางบประมาณทหาร และระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ควบคู่กับการพยายามปกป้องบัตรทอง จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และถ้าเราไม่ร่วมกันล้มเผด็จการทหารเราก็จะเดินหน้าไม่ได้เช่นกัน
เราต้องเข้าใจเสมอว่าเรื่องนี้มีพื้นฐานจากการถกเถียงในประเด็นผลประโยชน์ทางชนชั้น เพราะถ้ารัฐบาลอ้างว่ามีงบไม่พอที่จะบริการสาธารณสุข ก็ต้องไปเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพิ่ม และต้องตัดงบทหารและงบคนชั้นสูงอื่นๆ เพื่อเป็นทางออก
การยึดโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นของรัฐจะช่วยประหยัดเงินด้วย เพราะตัดค่านายหน้าของกลุ่มทุน และการผลิตยารักษาโรคแพงๆ เอง โดยการฝืนลิขสิทธิ์กลุ่มทุนข้ามชาติ ก็สำคัญเช่นกัน
ประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีการวิจารณ์ข้อเสนอเพื่อทำลายระบบ ๓๐ บาทของรัฐบาล ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลชุดไหน คนของรัฐบาลมักจะรีบออกมาแก้ตัวโกหกว่าจะ “ไม่แตะ”หรือ “ไม่ทำลาย” ซึ่งมันบ่งบอกว่าพวกนี้กลัวกระแสความโกรธของประชาชน ดังนั้นเราต้องออกมาวิจารณ์กันมากๆ
เราควรรณรงค์เพื่อเดินหน้าสู่การสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ขั้นตอนแรกคือการรวมทั้งสามกองทุนสาธารณสุขเป็นกองทุนเดียวกัน โดยรักษามาตรฐานที่ดีที่สุดแล้วนำมาใช้กับทุกส่วน ต้องมีการตัดงบประมาณทหารและงบสิ้นเปลืองอื่นๆ และเราต้องยืนยันว่างบประมาณหลักของระบบสาธารณสุขต้องมาจากภาษีรัฐที่เก็บในอัตราก้าวหน้า คือในอัตราสูงจากคนรวย