สถานภาพ “คนพิการ” กับการเมืองฝ่ายซ้าย

ใจ อึ๊งภารณ์

ความพิการที่เราพบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางร่างกายหรือทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ จริงๆ แล้วเป็นสภาพที่ถูกกำหนดมาจากค่านิยมของสังคม

แน่นอนความบกพร่องทางกาย เช่นการไม่มีขา หรือความตาบอด หรือความบกพร่องทางปัญญา เช่นดิสเล็กเซีย (ปัญหาในการเขียนอ่าน) หรือความบกพร่องทางปัญญาอื่นๆ เช่นดาวน์ซินโดรม เป็นสภาพจริง แต่มันไม่ใช่สภาพที่ควรจะนำไปสู่ “ความพิการ”

“ความพิการ” ในที่นี้ หมายถึงการที่มนุษย์บางกลุ่มถูกปฏิเสธไม่ให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม จนชีวิตเขาถูกลดศักดิ์ศรีและคุณค่าลงไป มันเป็นสภาพที่กำหนดจากค่านิยมของสังคมชนชั้น

คนล้าหลังในประเทศไทยมักจะคิดว่าความพิการเกิดจาก “กรรม” ในชาติก่อนหรือแม้แต่ในชีวิตนี้ ความเชื่อแบบนี้อาจลดลงจากเดิม อย่างไรก็ตามแม้แต่คนที่เลิกเชื่อเรื่องกรรม อาจมองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนพิการไม่ได้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ เช่นการที่ไม่มีงานทำ หรือต้องทำงานประเภทเงินเดือนต่ำ การที่เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนอย่างสะดวกสบายไม่ได้ หรือการที่คนพิการหลายหลุ่มไม่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้

คนส่วนใหญ่มักมองอีกด้วยว่าการกีดกันคนพิการออกจากบทบาทหลักๆ ในสังคม เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่มันมีหลักฐานมากพอสมควรที่ชี้ให้เห็นว่าในอดีต ก่อนกำเนิดระบบทุนนิยม คนพิการยังมีบทบาทในสังคมได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นสมาชิกเต็มตัวของสังคมได้ เพราะในสังคมก่อนทุนนิยมมันมีพื้นที่ให้คนที่มีความหลากหลายมีบทบาทได้

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ตีราคากับทุกสิ่งทุกอย่าง และเน้นการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อแสวงหากำไร แม้แต่แรงงานมนุษย์ก็เป็นสินค้าที่มี “ราคา”

ในระบบทุนนิยม คนพิการถูกมองว่าสร้างกำไรให้นายทุนไม่ค่อยได้ ดังนั้นความพิการกลายเป็นสิ่งที่สร้างค่าใช้จ่ายให้กับรัฐหรือทุน บ่อยครั้งพวกนักการเมืองฝ่ายขวาและกลุ่มทุนที่เน้นกลไกตลาดเสรี มักจะต้องการตัดสวัสดิการสำหรับคนพิการ หรือในกรณีไทย ไม่ให้สวัสดิการแต่แรก เพราะไทยไม่มีรัฐสวัสดิการ

การเน้น “ประสิทธิภาพ” ในการผลิตภายใต้พระเจ้าแห่งกำไร เป็นอุสรรคสำคัญในการที่มนุษย์ทุกคนจะถูกมองว่ามีค่าเท่ากันและให้อะไรกับสังคมได้อย่างเต็มที่ ผลคือคนพิการถูกผลักดันให้เป็นคนชายขอบของสังคม

ยิ่งกว่านั้น ความคิดกระแสหลักของทุนนิยม หลอกเราว่าทุกคนพึ่งตนเองในฐานะปัจเจก ดังนั้นคนพิการถูกมองว่าเป็น “ภาระ” เพราะต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนในสังคมต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อาหารที่เรากิน ไฟฟ้าที่เราใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่เป็นผลของการทำงานรวมหมู่ของคนอื่นๆ มากมาย ถ้าเราไม่มีเพื่อนมนุษย์ที่เราพึ่งพาซึ่งกันและกัน เราอยู่ไม่ได้

คนพิการไม่ใช่ผักที่ต้องนั่งอยู่เฉยๆ เขามีความสามารถเฉพาะของเขาที่จะมีประโยชน์กับสังคมได้เสมอ

นอกจากนี้ทุนนิยมทำให้การทำสงครามกลายเป็นการฆ่ากันในระดับอุตสาหกรรม แน่นอนก่อนยุคทุนนิยมก็มีสงครามแต่มันไม่ร้ายแรงและแพร่หลายเหมือนโลกสมัยใหม่ และสภาพสงครามของทุนนิยมนี้ก็มีผลในการสร้างความพิการทั้งทางกายและจิตใจ

แล้วทางออกคืออะไร?

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์สนับสนุนการปฏิรูปสังคมที่ให้หรือปกป้องสวัสดิการ และการบริการที่ช่วยคนพิการ แต่แค่นั้นไม่พอ เพราะ “ความพิการทางสังคม” ที่กีดกันคนเหล่านี้ออกจากการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคมจะยังมีอยู่ และการมองว่าบางคนไม่สามารถให้อะไรกับสังคมเท่าคนอื่นก็จะยังดำรงอยู่

มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าระบบทุนนิยมทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา ดังนั้นเราต้องการปฏิวัติสังคม เพื่อให้มนุษย์ทุกคนเติบโตอย่างรอบด้านได้ และเพื่อให้คนทุกประเภทกลับมามีบทบาทในสังคมโดยถูกเคารพว่ามีคุณค่า เราทุกคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และบทบาทของแต่ละคนจะไปในทิศทางของความถนัด แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้คุณค่าที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การสร้างความเท่าเทียมไม่ได้แปลว่าเราต้องปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน เราต้องเลือกปฏิบัติเพื่อพัฒนาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เป้าหมายของเราคือการปลดแอกมนุษย์ทุกคน

แต่แน่นอนการปฏิวัติสังคมที่พูดถึงนี้ต้องล้มเผด็จการทหารและเผด็จการทุนนิยมที่ครอบงำชีวิตของเราอยู่

__________________________________________________________________________

เนื้อหาหลายส่วนของบทความนี้มาจากบทสัมภาษณ์ Roddy Slorach ซึ่งพึ่งเขียนหนังสือใหม่ชื่อ A Very Capitalist Condition: A History and Politics of Disability (Bookmarks, London) บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ในวารสาร Socialist Review ฉบับธันวาคม2015