ใจ อึ๊งภากรณ์
มันน่าเบื่อเหลือเกินที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาพูดซำแล้วซ้ำอีก ว่าศาสนาพุทธควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การมีเผด็จการครองเมืองที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิดเองยังไม่พออีกหรือ? การที่ทุกวันนี้คนติดคุกเพราะไม่รักใครสักคน หรือเพราะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังไม่พออีกหรือ? จะต้องมีการบังคับให้ความเชื่อชนิดหนึ่งสำคัญกว่าความคิดอื่นไปทำไม?
ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นลัทธิสุดขั้วที่เผด็จการใช้ในการกดขี่พลเมืองประเทศนี้มานานเกินไป มันน่าจะหมดยุคนานแล้ว ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” น่าจะเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมเราแทน
มันอาจจริงที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มองว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ อันนี้ไม่มีใครเถียงด้วยได้และมันปรากฏให้เห็นชัด แต่ต่อจากนั้นก็คงมีการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธที่แต่ละคนนับถือมันเป็นแบบไหน ภาพความขัดแย้งในคณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในศาสนาพุทธ และเป็นสิ่งที่เกิดจากผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมือง
ถ้าพูดถึงการนับถือศาสนาพุทธในไทยแล้ว บางคนเข้าพิธีศาสนาบ่อย บางคนบวช บางคนอาจศรัทธาในศาสนาในลักษณะเงียบๆ ไม่เข้าพิธี ไม่เข้าวัด และบางคนอาจไม่เคยคิดถึงศาสนาเลย นอกจากนี้ก็จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ซึ่งในสังคมทันสมัยที่อิงวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และเหตุผล ย่อมมีมากขึ้นทุกที
การประกาศว่าศาสนาพุทธ “ต้อง” เป็นศาสนาประจำชาติ มันมีข้อบกพร่องเสียหายสองอย่างคือ
(1) มันเป็นการกีดกันพลเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู หรือความคิดอื่นๆ ที่รวมไปถึงปรัชญาที่ปฏิเสธศาสนาด้วย มันสร้างพลเมืองสองระดับ คนที่อยู่ในกระแส กับคนที่อยู่นอกกระแส และมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนที่มีความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธ เช่นในปาตานีเป็นต้น หรือจะนำไปสู่การช่วงชิงกันเพื่อนิยามศาสนาพุทธ “ที่ถูกต้อง” อีกด้วย
การพูดเรื่องศาสนาที่ “ถูกต้อง” เป็นการพูดโกหกตอแหล คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าศาสนาบริสุทธ์ไม่มีจริง เพราะศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์บางคนเขียนขึ้นในอดีต
ทุกวันนี้เราเห็นคนอย่าง “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” ที่เชียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ในภาคเหนือกลุ่มชนชาวจีนที่นับถืออิสลามมีมานานจากสมัยที่มีเส้นทางค้าขายโบราณ แต่พวก “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” พูดเหมือนเขาไม่ใช่พลเมืองของสังคมเรา ในที่สุดถ้าความคิดแบบนี้ขยายตัวก็จะเกิดขบวนการพระสงฆ์ที่นำอันธพาลไปฆ่าคนมุสลิมอย่างที่เราเห็นที่พม่า ดังนั้นเราต้องคัดค้าน
(2) การประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นการผูกศาสนาไว้กับรัฐ ในอดีตรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหารพยายามจะคุมพระสงฆ์ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่เพื่อพัฒนาศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และรัฐไทยพยายามตลอดที่จะกำหนดว่าพุทธศาสนาที่ “ถูกต้อง”คืออะไร หรือใครบ้างที่จะมีสิทธิห่มผ้าเหลือง
ความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่เราเห็นตอนนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในอดีตรัฐไทยพยายามที่จะประโคมว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งในการเมือง แต่มันเป็นภาพหลอกลวง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้านั้นอีก พระสงฆ์กับการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอ รัฐไทยพยายามสร้างภาพว่าพระที่ “ดี” ต้องคล้อยตามผู้มีอำนาจ และในปัจจุบัน พุทธอิสระ พระฟาสซิสต์คนโปรดของประยุทธ์ ก็ดูเหมือนมีสิทธิพิเศษ
ผมไม่สนใจหรอก ถ้าพระสงฆ์จะตีกันและแย่งชิงอะไรกัน ถ้าไม่มีผลกระทบกับพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องสารภาพว่าผมชอบเห็นพระสงฆ์เผชิญหน้ากับทหาร แต่นั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่ไม่คิดมาก
สำหรับนักประชาธิปไตย หรือนักสังคมนิยม ศาสนาควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว แยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ใครจะศึกษาศรัทธาในแนวคิดแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าคนที่นับถืออะไรจะมารวมตัวกันตั้งสมาคมหรือองค์กรทางศาสนา เพื่อสร้างวัดหรือประกอบพิธี เขาก็ควรมีสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ แต่ไม่ควรมีการบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน และไม่ควรมีการระบุว่าพลเมืองนับถืออะไรในบัตรประจำตัวแต่อย่างใด