การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์แยกการปฏิวัติ “เปลี่ยนระบอบ” ออกเป็นสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติทั้งสองรูปแบบนี้ไม่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของทหาร อย่างเช่นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดทำไปเมื่อปี ๕๗ เพราะนั้นเป็นแค่การยึดรัฐบาลโดยอันธพาลที่มีปัญญาจำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองอยู่แล้ว มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ

นักมาร์คซิสต์ชาวอเมริกาชื่อ แฮล ดเรเพอร์ เคยอธิบายว่าการปฏิวัติทางการเมือง เป็นการปฏิวัติภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจสังคมที่ดำรงอยู่ โดยที่มีการยึดอำนาจรัฐจากคนที่เคยคุมอำนาจรัฐในอดีต รูปแบบรัฐอาจเปลี่ยน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไม่เปลี่ยน

การยึดอำนาจรัฐมันยิ่งใหญ่กว่าแค่การยึดรัฐบาล ซึ่งทหารไทยทำเป็นประจำตามสันดาน

แต่ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางการเมืองคือ การปฏิวัติทางสังคม เพราะมันจะเปลี่ยนทั้งรูปแบบรัฐและลักษณะเศรษฐกิจสังคม มีการเปลี่ยนลักษณะการผลิต โดยมีการถ่ายเทอำนาจสู่ชนชั้นใหม่

ตัวอย่างของการปฏิวัติสังคมก็เช่นการปฏิวัติทุนนิยมที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ มันปูทางไปสู่การพัฒนาของระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่ระบบขุนนางฟิวเดิล มันนำไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมและความสำคัญของเมืองสมัยใหม่ มันนำไปสู่หรือมาควบคู่กับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ เช่นแนวเสรีนิยม และในบางกรณีมันนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยในที่สุด แต่นั้นไม่ใช่ผลงานของนายทุนผู้นำการปฏิวัติ มันเป็นผลงานของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพภายในระบบทุนนิยมต่างหาก

การปฏิวัติทางสังคมอาจเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคม ที่ค่อยเกิดขึ้น จนมีการปะทะกับระบบเก่า เช่นในกรณีฝรั่งเศส หรืออาจปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม อย่างเช่นในกรณีอังกฤษ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิวัติทางการเมืองในยุคปัจจุบัน คือการลุกฮือที่ล้มระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ “แบบสตาลิน” ในยุโรปตะวันออกราวๆ ปี 1989 เพราะมันแค่เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมโดยรัฐ” ไปเป็น “ทุนนิยมตลาดเสรี” และที่สำคัญคือคนที่ยึดรัฐมักจะเกี่ยวข้องกับ หรือเป็นคนๆเดียวกันกับ ชนชั้นปกครองคอมมิวนิสต์เก่า ในยุโรปตะวันออกพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ที่พัฒนาจากอดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกเรียกว่า “คนมีชื่อ” และพวกนี้หรือญาติพี่น้องของเขามักจะแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ และนักการเมืองนายทุน แต่ที่สำคัญคือมีการล้มและทำลายระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน

ในการปฏิวัติทางการเมือง คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดในระบบเก่า ก็จะยังเป็นคนที่ถูกขูดรีดในระบบใหม่ พูดง่ายๆ กรรมาชีพในระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ก็ยังเป็นกรรมาชีพในระบบทุนนิยมตลาดเสรี ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยหรือไม่ บ่อยครั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจดีขึ้นหลังการปฏิวัติทางการเมืองก็ได้ แต่พลังการผลิตยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อย

บ่อยครั้งการปฏิวัติทางสังคมจะเชื่อมโยงกับการปฏิวัติทางการเมือง ในกรณีอังกฤษการปฏิวัติทางสังคมที่ล้มระบบฟิวเดิลและตัดหัวกษัตรย์เกิดขึ้นในปี 1640 แต่ตามมาด้วยการปฏิวัติทางการเมืองในปี 1688 ที่เปลี่ยนลักษณะรัฐและลดบทบาทกษัตริย์อย่างถาวร ในกรณีสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ที่เอาชนะอังกฤษและนำไปสู่อิสรภาพในปี 1776 เป็นแค่ขั้นตอนแรกของการยึดอำนาจรัฐจากอังกฤษ คือการปฏิวัติทางการเมืองนั้นเอง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม เพราะตอนนั้นมีหลายระบบซ้อนกันที่อเมริกา เช่นระบบเกษตรกรรายย่อยอิสระ ระบบทาส และหน่ออ่อนของระบการผลิตอตสาหกรรม แต่ชัยชนะของรัฐทางเหนือของอเมริกาในสงครามกลางเมือง 1861-65 เป็นชัยชนะของนายทุนเหนือพวกเจ้าของทาสในรัฐทางใต้ มันคือขั้นตอนที่สองและเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่สถาปนาทุนนิยมในสหรัฐ

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ล้มเผด็จการก็จริง แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิวัติทางสังคมที่จะสถาปนาสังคมนิยมแทนทุนนิยมได้ ในกรณีอียิปต์ดูเหมือนถอยหลังลงคลอง มีแต่ตูนิเซียที่มีระบบการเมืองใหม่

ในยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การสถาปนาทุนนิยมและรัฐทุนนิยม มักจะไม่นำโดยนายทุนที่ลุกขึ้นสู้กับระบบเก่า เพราะชนชั้นปกครองในระบบเก่าอาจมองว่าถ้าไม่ปฏิวัติตนเองกับจัดการล้มระบบเก่า จะไปไม่รอด มีสองตัวอย่างที่น่าสนใจคือไทยกับญี่ปุ่น ในกรณีญี่ปุ่นการปฏิวัติทางสังคมที่ปูทางไปสู่ทุนนิยมคือ “การปฏิวัติเมจี่” นำโดยชนชั้นปกครองเก่าที่แปรตัวไปเป็นชนชั้นนายทุนเพื่อพัฒนาความสมัยใหม่ของชาติ ในไทยการปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นกัน มันเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่เปิดทางไปสู่ทุนนิยม โดยที่กษัตริย์ไทยแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ในระบอบทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ไทยมีความสมัยใหม่ ในทั้งสองกรณีมันมีการยึดรัฐและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมโดยชนชั้นใหม่ แต่ตัวบุคคลไม่เปลี่ยน เพราะบุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพทางชนชั้นแทน

ถ้าในอนาคตมวลชนล้มเผด็จการทหารได้และเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐ มันจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมจากทุนนิยมที่ดำรงอยู่ปัจจุบันไปเป็นอย่างอื่น มันจะเป็นแค่การปฏิวัติทางการเมือง แต่ในพื้นที่เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น เราจะต้องเตรียมตัวปฏิวัติทางสังคมต่อไปสู่สังคมนิยมได้