การก่อการร้ายล้มเผด็จการได้ไหม?

ใจ อึ๊งภากรณ์

วันก่อนตอนเช้าตรู่ ไม่รู้เป็นอะไร อาจห่มผ้าร้อนเกินไปก็ได้ ผมฝันแปลกๆ ฝันว่าชักปืนยิงไอ้ประยุทธ์ตายคาที่

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากอาจฝันเล่นๆ ไปแบบนี้ด้วย หรืออาจคิดในใจว่าอยากเห็นคนพลีชีพระเบิดแกนนำเผด็จการทหารไทยให้ตายหมด

แต่มันคงไม่แก้ปัญหาอะไรหรอก

ในประการแรก ตอนผมฝันว่าผมชักปืนยิงไอ้ประยุทธ์ตายคาที่ ปัญหาที่ตามมาทันทีคือผมจะหนีตำรวจทหารได้อย่างไร แต่ที่สำคัญกว่านั้นหลายร้อยเท่าคือ กิจกรรมของปัจเจกหรือกลุ่มเล็กๆ ในการก่อการร้าย มีผลทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจใช้มาตรการปราบปรามประชาชนธรรมดาหนักขึ้น ซึ่งเห็นชัดจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลในยุโรปนำมาใช้กับชาวมุสลิม และมาตรการในการลดสิทธิเสรีภาพสำหรับพลเมืองทุกคน ที่ตามหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายทุกครั้ง เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจมักจะอ้างว่าต้องลงมือหนักๆ เพื่อรักษาความมั่นคง พูดง่ายๆ การก่อการร้ายเป็นข้ออ้างยอดเยี่ยมสำหรับชนชั้นปกครองที่จะทำลายเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของเรา ซึ่งเห็นได้จากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสห้ามการเดินขบวนหลังเหตุการณ์ที่ปารีส หรือการที่รัฐบาลต่างๆ บุกเข้าไปค้นบ้านคนที่หน้าตาดำๆ หน่อย หรือนับถือศาสนาที่ไม่ใช่คริสต์ หรือการที่รัฐบาลต่างๆ รีบออกกฏหมายให้อำนาจตำรวจในการขังคนนานขึ้นโดยไม่ต้องขึ้นศาล หรือการที่รัฐบาลเพิ่มอำนาจในการสอดแนมดูกิจกรรมของประชาชนมากขึ้นเป็นต้น

ในประการที่สอง ถ้าใครสักคนสามารถกำจัดคนเลวๆ ที่น่ารังเกียจอย่างไอ้ประยุทธ์ให้ดับคาที่ รับประกันได้เลยว่าจะมีนายพลหน้าเหี้ยหน้าหมูรีบเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนทันที ไม่ว่าเราจะฆ่านายทหารชั้นสูงหรือนักการเมืองระยำไปกี่คน มันมีสัตว์เลื้อยคลานรออยู่ในคิวที่จะเข้ามาแทนที่อย่างต่อเนื่อง

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ชื่อ ลีออน ตรอทสกี เคยอธิบายว่าผู้ก่อการร้ายเหมือนพวกคลั่งรัฐสภา เพราะคิดว่าแค่เปลี่ยนใบหน้าผู้นำก็จะแก้ปัญหาได้ เขาอธิบายต่อว่าพวกที่ชื่นชมวิธีก่อการร้ายเป็นพวกที่มองว่าดินปืนหยิบมือเดียวสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ คือไม่ต้องสร้างพรรค ไม่ต้องทำงานมวลชน ไม่ต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ลงมือทำคนเดียวได้หมด

เลนิน มิตรสหายปฏิวัติของตรอทสกี มีประสบการโดยตรงจากการก่อการร้ายในรัสเซีย เพราะพี่ชายเขานิยมแนวนี้และถูกประหารชีวิตหลังจากที่พยายามวางระเบิดกษัตริย์ กิจกรรมแบบนี้ไม่มีผลอะไรเลย แต่ในปี ค.ศ. 1917 สิ่งที่มีผลอันยิ่งใหญ่คือการลุกฮือปฏิวัติของมวลชนกรรมาชีพ ทหารเกณฑ์ และเกษตรกร ซึ่งสามารถเปลี่ยนระบบจากเผด็จการล้าหลังมาเป็นสังคมนิยมได้ แต่น่าเสียดาย เมื่อพลังมวลชนลดลงอันเนื่องจากความโดดเดี่ยวของโซเวียดรัสเซีย การปฏิวัติก็ล้มเหลวท่ามกลางการขึ้นมาของเผด็จการสตาลิน

จะเห็นได้ว่าเรื่องการสร้างพลังมวลชนและขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน รวมไปถึงพรรคการเมืองมวลชน เป็นเรื่องชี้ขาดในการเปลี่ยนระบบอำนาจ และเราต้องมองไปที่ฐานอำนาจของชนชั้นปกครองด้วย ไม่ใช่มองและสนใจแค่ตัวบุคคลที่เป็นผู้นำ

นักเคลื่อนไหวบางคนมองหาวิธีเปลี่ยนระบบที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการสร้างพลังมวลชนและขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน คนเหล่านี้มีจุดยืนคล้ายคนที่นิยมการก่อการร้ายในเรื่องหนึ่ง แต่คิดต่างกันในเรื่องอื่น คือเขามองว่าการประท้วงเชิงสัญลักษณ์จะกระตุ้นให้มวลชนลุกฮือตามโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่ผู้ก่อการร้ายบางคนคิดว่าการวางระเบิดจะกระตุ้นให้มวลชนลุกฮือตาม แต่มันไม่เคยเป็นอย่างนั้นในโลกจริง

การก่อการร้ายเป็นการกระทำของกลุ่มที่อ่อนแอกว่าฝ่ายตรงข้าม คือการแอบวางระเบิดทำได้ในขณะที่ไม่สามารถปะทะกับฝ่ายตรงข้ามในสงครามแบบกระแสหลัก และที่สำคัญคือความป่าเถื่อนของการก่อการร้าย เป็นเงาสะท้อนความป่าเถื่อนของฝ่ายตรงข้ามเสมอ ดังนั้นเวลาเราเห็นข่าวการก่อการร้ายที่เบลเยียมหรือฝรั่งเศสเราไม่ควรลืมเลยว่ารัฐบาลยุโรปตะวันตกกับสหรัฐ และพันธมิตรนาโต้ ฆ่าประชาชนบริสุทธ์ในการก่อสงครามมาจำนวนมากและในสงครามที่ต่อเนื่องมาหลายสิบปีด้วย

การก่อการร้ายของไอซิล ที่อาศัยหนุ่มสาวที่ไร้อนาคตในยุโรป เป็นการกระทำที่โต้ตอบความป่าเถื่อนของรัฐบาลยุโรป แต่มันไปลงที่พวกเราประชาชนธรรมดา ทั้งในการถูกวางระเบิด และการที่รัฐบาลใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดทอนเสรีภาพ แต่ที่แน่นอนคือมันไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงในการทำลายจักรวรรดินิยมตะวันตก และมันไร้ประสิทธิภาพในการห้ามไม่ให้รัฐบาลจักรวรรดินิยมทำสงครามด้วย เพราะสิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงคือขบวนการมวลชนในตะวันตกและในตะวันออกกลาง

ใครได้ประโยชน์จากความปั่นป่วนในตะวันออกกลาง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราเห็นสภาพสงครามและความปั่นป่วนทั่วตะวันออกกลาง ประเทศซิเรียกลายเป็นสมรภูมิของการแทรกแซงโดยสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ตุรกี อิหร่าน ซาอุ และรัฐเผด็จการต่างๆ ในอ่าวเปอร์เชียร์ แต่ละประเทศมีข้ออ้างต่างๆ นาๆ ส่วนใหญ่อ้างว่าต่อต้านการก่อการร้ายของไอซิล แต่นั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก เพราะวัตถุประสงค์แท้คือการยืนยัน “สิทธิ” ที่จะกำหนดอนาคตของตะวันออกกลาง อย่างที่ทำกันมาร้อยกว่าปี

อิรักกลายเป็นแหล่งสู้รบระหว่างไอซิลกับรัฐบาลที่มีตะวันตกและอิหร่านหนุนหลัง เยเมนกลายเป็นแหล่งสงครามที่ประเทศซาอุดิอาเรเบียเข้าไปแทรกแซง ลิบเบียแตกเป็นส่วนๆ หลังการทำสงครามล้มกาดาฟี้

ถ้าพิจารณาว่าประเทศภายนอกสนับสนุนข้างใด ในหลากหลายสงครามที่กำลังเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าบ่อยครั้ง “ศัตรู” หรือ “คู่แข่ง” จะจับมือกันบ้าง และปะทะกันบ้าง ตัวอย่างเช่น รัสเซีย สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิหร่าน อยู่ข้างเดียวกันในการอ้างว่าต่อต้านไอซิล แต่ขัดแย้งกันเวลาพิจารณาจุดยืนต่อรัฐบาลซิเรียเป็นต้น

ความวุ่นวายแบบนี้เข้าใจได้ ถ้าเราเข้าใจว่า “จักรวรรดินิยม” คือ “ระบบ” มันเป็นระบบการแข่งขันในระดับต่างๆ ระหว่างรัฐที่มีอำนาจแตกต่างกันในเวทีทุนนิยมโลก ดังนั้นจักรวรรดินิยมไม่ใช่แค่ประเทศเดียวหรือสองประเทศอย่างสหรัฐหรือรัสเซีย จักรวรรดินิยมคือการแข่งกัน การฉวยโอกาส และการแทรกแซงในพื้นที่ต่างๆ โดยรัฐต่างๆ ทั้งทางทหารและทางการทูต และทั้งๆ ที่แต่ละรัฐมักจะมีข้ออ้างเพื่อหลอกลวงประชาชนของตนให้ดูเหมือนมีความชอบธรรมกับสิ่งที่ชนชั้นปกครองทำ แต่มันมีต้นเหตุเดียวที่นำไปสู่การแทรกแซงดังกล่าว คือผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและกลุ่มทุน

นักเขียนบางคนอย่าง เนโอมี คไลน์ (Naomi Klein) อาจอ้างว่าสหรัฐจงใจสร้างความปั่นป่วนนี้ขึ้นมา เพื่อเสริมกำไรของกลุ่มทุนที่ผลิตอาวุธ แต่ถ้าเราพิจารณาอุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐจะพบว่ากลุ่มทุนอื่นๆ ของสหรัฐมีความสำคัญมากกว่า และบริษัทผลิตอาวุธที่ใหญ่ที่สุด บริษัทโบอิง ติดแค่อันดับ 27 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ในความเป็นจริงกลุ่มทุนใหญ่ของสหรัฐสร้างกำไรส่วนใหญ่ในตลาดพลเรือนทั่วโลก แต่บริษัทเหล่านี้อาศัยอำนาจของกองทัพสหรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในเวทีโลก

แอแลน บาดิว (Alain Badiou) นักคิดคนสำคัญของฝรั่งเศส ชี้ให้เห็นว่าการขึ้นมาขององค์กรไอซิล เป็นผลของการที่สหรัฐและประเทศอื่นๆ มีส่วนในการทำลายโครงสร้างรัฐในประเทศอิรักและซิเรีย ซึ่งก่อให้เกิด “โซน” ของการไร้อำนาจรัฐในบางภูมิภาค และช่องว่างทางอำนาจที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่โอกาสของไอซิลที่จะ “หากิน” ผ่านการใช้อำนาจและการปล้นขโมยทรัพยากร

นักคิดคนอื่นพูดถึงการที่บางส่วนของโลก ถูกกีดกันออกจากระบบหลักของทุนนิยมโลก เพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีความสำคัญต่อระบบ ไมเคิล แมน (Michael Mann) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยมเขี่ยออก” ที่ไม่ยอมรับประเทศยากจน และทำให้รัฐเหล่านี้เป็นรัฐชายขอบของระบบทุนนิยม

แต่ประเด็นสำคัญคือ การแทรกแซงของสหรัฐและประเทศจักรวรรดินิยมอื่นๆ เป็นการจงใจแทรกแซงตามแผนที่กำนหดไว้เพื่อสร้างผลประโยชน์ หรือเป็นการกระทำเฉพาะหน้า เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือมันเป็นการ “มั่ว” ไปเรื่อยๆ โดยที่ได้ผลในทิศทางที่ไม่ตั้งใจหรือไม่?

ตรงนี้เราจะเริ่มเห็นว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐมีขีดจำกัดมหาศาลในการกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะผลจากการแทรกแซงของสหรัฐและประเทศตะวันตกในตะวันออกกลางกลับท้าทายและสร้างปัญหาให้กับสหรัฐและประเทศตะวันตกเอง สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ตะวันตกแทรกแซงในตะวันออกกลางเพื่อหวังสร้างเสถียรภาพที่เป็นประโยชน์กับชนชั้นปกครองตะวันตก สิ่งที่เกิดจริงกลายเป็นสิ่งตรงข้าม คือกลายเป็นการฝันร้าย

การบุกอิรักและในที่สุดการแพ้สงครามจนต้องถอนตัวออก ทั้งๆ ที่ล้ม ซะดัม ฮุเซน ได้นั้น นำไปสู่สภาพไร้รัฐที่เป็นโอกาสให้ไอซิล และนำไปสู่การที่สหรัฐต้องหันมาพึ่งและจับมือกับอดีตศัตรูอย่างอิหร่าน การพยายามแทรกแซงการลุกฮือ “อาหรับสปริง” เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทำลายผลประโยชน์มหาอำนาจ นำไปสู่สภาพสงครามกลางเมืองในซิเรียและลิบเบีย ซึ่งเปิดช่องให้ไอซิลเติบโต และสภาพสงครามในซิเรียทำให้เกิดวิกฤตแห่งการลี้ภัย ซึ่งเริ่มทำลายเสถียรภาพของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป อย่าลืมว่าสหภาพยุโรปไม่ใช่ส่วนชายขอบของระบบทุนนิยมแต่อย่างใด

ถ้าเรากลับมาพยายามตอบคำถามที่ตั้งขึ้นในหัวข้อบทความนี้ เราจะเห็นว่าไม่มีใครได้ประโยชน์จากความปั่นป่วนในตะวันออกกลางเลย โดยเฉพาะประชาชนธรรมดาที่ต้องล้มตาย อดอยาก และลี้ภัย แต่แม้แต่มหาอำนาจเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากสภาพเช่นนี้ที่เกิดมาจากการแทรกแซงของเขาโดยตรง สรุปแล้วในนโยบายระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจต่างๆ เราจะเห็นการกระทำเฉพาะหน้า หรือการมั่วไปเรื่อยๆ เพื่อหวังสร้างผลประโยชน์ให้ตนเอง โดยไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ระยะยาวได้เลย

[บทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Alex Callinicos “Resisting the long war” http://isj.org.uk/resisting-the-long-war/ ]

การเพิ่มบทบาทบริษัทเอกชนในการทำสงคราม

เรียบเรียงแปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษมีการเพิ่มบทบาทบริษัทเอกชนในการทำสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นการหมุนนาฬิกากลับสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อบริษัทเอกชนอย่างบริษัท “อินเดียตะวันออก” ของอังกฤษและฮอลแลนด์ มีกองทัพของตนเองและมีบทบาทสำคัญในการล่าอาณานคม

ในสงครามอ่าวปี 1991 มีทหารของสหรัฐ 541,000 คน กับลูกจ้างของผู้รับเหมาเอกชน 9,200 คน แต่หลังการบุกอิรักในปี 2003 มีการเพิ่มสัดส่วนบุคลากรของบริษัทเอกชนเรื่อยๆ จนในปี 2010 มีทหารสหรัฐ 146,000 คน และลูกจ้างเอกชน 173,000 คน

การส่งเสริมบทบาทเอกชนและการเพิ่มการรับเหมาของบริษัทต่างๆ เกิดขึ้นในสหรัฐและอังกฤษในทศวรรษที่ 80 ตามสูตรนโยบายกลไกตลาดเสรีที่เริ่มนิยมกันในยุคนั้น แต่การขยายการจ้างบริษัทเอกชนในการทำสงครามพึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญเมื่อไม่นานมานี้

รัฐอังกฤษและสหรัฐต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนในการบริการกองทัพ เช่นการจัดส่งเสบียง กระสุน และอาวุธ การซ่อมและบำรุงอาวุธและยานพาหนะ และการฝึกฝนกองทัพ จนถือได้ว่าฐานทัพสหรัฐกับอังกฤษจัดตั้งโดยบริษัทเอกชนทั้งสิ้น

แต่พอการยึดครองอิรักและอัฟกานิสถานใช้เวลานานขึ้น มีการจ้าง “ทหารรับจ้าง” มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อทำการต่อสู้และเพื่อรักษาความปลอดภัยในจุดต่างๆ รวมถึงฐานทัพ คาดว่าในอิรักในช่วงหนึ่งมีทหารรับจ้างมากกว่า 48,000 คน

ผู้บัญชาการทหารที่มีตำแหน่งเป็น “ผู้ว่าราชการอิรัก” ของสหรัฐ เคยมีการ์ดเป็นทหารเอกชน อดีตนายกอังกฤษ โทนี่ บแลร์ เวลาเยือนอิรักก็มีกองกำลังอารักขาจากบริษัทเอกชน การ์ดในคุกโหดร้าย “อาบู กเรบ” ที่ทรมานเชลยศึกอิรักจนเป็นเรื่องอื้อฉาว ส่วนหนึ่งก็เป็นทหารรับจ้างเอกชน และในคุกป่าเถื่อน “กวนตานาโม” การ์ดส่วนหนึ่งก็เป็นทหารรับจ้างเช่นกัน

บริษัทเอกชนมีบทบาทในการฝึกกองทัพและกองตำรวจอิรัก และมีหน้าที่ปกป้อง “โซนสีเขียว” ในเมืองแบกแดดด้วย

บริษัทเหล่านี้มีโอกาสสร้างกำไรมหาศาลจากการทำสงคราม มีบริษัท Kellogg, Brown & Root ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Halliburton บริษัทอื่นๆ มีมากมายเช่น Blackwater, Control Risks, Armor และแต่ละบริษัทมีนักการเมืองจากรัฐบาลบุชและบแลร์เข้าไปมีส่วนตั้งแต่ต้น สส.ระดับสูงของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษก็เคยเป็นประธานบริษัททหารรับจ้าง Armor ซึ่งตอนนี้กลายเป็นบริษัทหนึ่งของ G4S

บริษัท Blackwater เป็นบริษัทที่จัดตั้งโดย Erik Prince ชาวคริสต์ฝ่ายขวาสุดขั้วจากสหรัฐ บริษัทนี้กอบโกยกำไรหลายพันล้านดอลลาร์จากสงครามอิรัก และมีชื่อเสียงอื้อฉาวว่าใช้วิธีป่าเถื่อนเวลาทำงานอารักขาลูกค้า รถยนต์ของพลเรือนอิรักคันไหนเข้าใกล้ก็มีการกราดยิงทันที และบ่อยครั้งก็ขับชนจนตกถนนไป ยิงเสร็จก็ทิ้งศพและคนบาดเจ็บบริสุทธ์ไว้กลางถนน พฤติกรรมแบบนี้ทำให้ประชาชนอิรักเกลียดชังเป็นอย่างมากและมีการโจมตีกองกำลังของ Blackwater

ต่อมาในเดือนกันยายนปี 2007 บริษัทนี้ฆ่าพลเรือนมือเปล่า 17 คน บาดเจ็บ 20 คน ทั้งๆ ที่ประชาชนบริสุทธ์เหล่านี้กำลังยกมือขึ้น เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลอิรักที่สหรัฐแต่งตั้ง ต้องประท้วงและขอให้ถอนตัวออกจากประเทศ แต่ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Constellis Holdings และในไม่ช้าก็กลับมาปฏิบัติการในอิรักอีก

ลูกจ้างของบริษัท Aegis จากอังกฤษ ซึ่งมีกนักการเมืองพรรคแรงงานจากยุค โทนี่ บแลร์ เป็นกรรมการบอร์ด มีการถ่ายภาพตนเองขณะที่ “สนุกสนาน” กับการยิงปืนกราดพลเรือนอิรัก

แน่นอนการกระทำความผิดของลูกจ้างหรือทหารรับจ้างของบริษัทเอกชน ไม่เคยถูกตรวจสอบได้จากประชาชนสหรัฐ อังกฤษ หรือพลเมืองโลก ซึ่งต่างจากกรณีของทหารซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ข้อดีสำหรับรัฐบาลอังกฤษกับสหรัฐในการจ้างบริษัทเอกชนคือการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มกำไรให้เพื่อนฝูงพรรคพวก และการที่ทหารรับจ้างเวลาถูกฆ่าตาย ไม่ถูกนับในจำนวนศพทหารที่เสียชีวิตไป ซึ่งเป็นการพยายามปกปิดความล้มเหลวของรัฐบาลตะวันตกจากสายตาประชาชน

ข้อเสีย นอกจากความป่าเถื่อนที่พลเรือนชาวอิรักและอัฟกานิสถานต้องเผชิญ คือบริษัทเหล่านี้ชอบทำสัญญารับเหมาพ่วงต่อๆ ไป ในกรณีอัฟกานิสถาน มีการเหมากองกำลังของพวกขุนศึก ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นพวก “ตาลีบัน” หรือไม่ก็พวกโจรค้ายาเสพติด นอกจากนี้การแสวงหากำไรของบริษัทเอกชนแปลว่ามีการตัดกำลังเจ้าหน้าที่จนลูกจ้างบริษัทเองขาดความปลอดภัย

การนำบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำสงคราม ไม่ต่างจากการนำบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาล หรือการบริการสาธารณูปโภค เพราะมันทำลายคุณภาพการบริการ กดค่าแรง สร้างกำไรให้นายทุน และลดพื้นที่ประชาธิปไตยลงในสังคม

[บทความนี้เรียบเรียงและแปลจากบทความของ John Newsinger “The Privatisation of Military Power” ในวารสาร Socialist Review เดือนพฤศจิกายน 2015                                                                  ค้นหาได้ที่:  http://socialistreview.org.uk/407/privatisation-military-power ]

ทหารไม่ควรมีบทบาทในปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีข่าวว่าพวกอันธพาลใส่เครื่องแบบ สมุนของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ไปสั่งห้ามสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) จัดงานคุยสันติภาพที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยที่พวกทหารอ้างว่าหัวข้อ “สันติภาพทำไมต้องเป็นประชาชน” ถือเป็นประเด็นที่ “ค่อนข้างอ่อนไหว” และแน่นอนพวกใส่เครื่องแบบเหล่านี้คงจะไม่พอใจที่นักศึกษาเน้นว่าการแก้ปัญหาในปาตานีต้องเป็นเรื่องของการกำหนดอนาคตตนเองของคนในพื้นที่

ตั้งแต่ไหนแต่ไร ทหารคับแคบหัวทึบ ที่ปัจจุบันปกครองประเทศหลังการปล้นอำนาจจากประชาชน จะไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับการกำหนดอนาคตของตนเองโดยพลเมืองธรรมดา ไม่ว่าจะในปาตานี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรืออุบลราชธานี

แต่ใครที่ติดตามสงครามกลางเมืองในปาตานี และเข้าใจประเด็นสงครามประเภทนี้ที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของโลก จะเข้าใจดีว่ามันมีวิธีเดียวที่จะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนคนล้มตายเป็นพัน วิธีนั้นคือการเปิดพื้นที่เสรีภาพเพื่อให้พลเมืองในส่วนต่างๆ สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้

ต้นเหตุของสงครามในปาตานีมาจากพฤติกรรมของรัฐไทย ตั้งแต่มีการทำลายปาตานีแล้วมาแบ่งกันครอบครองระหว่างรัฐอังกฤษและรัฐที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ห้า ตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นไป รัฐไทยมักจะใช้ความป่าเถื่อนในการบังคับ กดขี่ และทำลายวัฒนธรรมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ปาตานีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

การห้ามใช้ภาษาของตนเอง การบังคับให้เรียนหนังสือตามหลักสูตรไทยกลาง การฆ่าล้างประชาชน ล้วนแต่กดทับความฝันอันมีความชอบธรรมของประชาชน ที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) มีประวัติในการพยายามเน้นมวลชนเพื่อสร้างสันติภาพ แทนที่จะจับอาวุธสู้กับรัฐไทย แต่เขาไม่เหมือนพวกเอ็นจีโอประเภทที่พูดแต่เรื่องสันติภาพแล้วโทษทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกันเหมือนคนปัญญาอ่อน เพราะเวลาคนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นจับอาวุธสู้กับผู้กดขี่ตนเอง มันเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม ทั้งๆ ที่แนวจับอาวุธจะไม่มีวันนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างจริงจังในปาตานี ดังนั้นพวก “คนร้าย” ตัวจริงในกรณีปาตานี มีอยู่ฝ่ายเดียว คือเจ้าหน้าที่รัฐไทย

การปิดกั้นเส้นทางที่จะนำไปสู่สันติภาพ อย่างที่พึ่งเกิดขึ้นที่ราชภัฏยะลา จะมีผลอย่างเดียว คือผลิตซ้ำความรุนแรง

ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดรายงานสถานการณ์การทรมานโดยรัฐไทย ที่กระทำต่อผู้ถูกคุมขังที่ล้วนแต่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม มีการเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาอย่างละเอียด รายงานนี้อธิบายถึงการทุบตี ข่มขู่ และทรมาณด้วยวิธีต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจำนวนกรณีการทรมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสามปีที่ผ่านมา

รายละเอียดของรายงานอ่านได้ที่ประชาไท ( http://bit.ly/1Xrdam5 )

ภาพที่เราเห็นจากรายงานดังกล่าว คือการอาละวาดของพวกอันธพาลใส่เครื่องแบบ มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยที่คนที่กระทำความผิดดังกล่าวลอยนวลเสมอ เราคงไม่แปลกใจในเรื่องนี้เพราะทหารโจรที่ฆ่าประชาชนในกรุงเทพฯ ก็ลอยนวลมาตลอดเช่นกัน

หลังจากที่มีการเปิดรายงานเรื่องการทรมานที่ปาตานี อันธพาลใส่เครื่องแบบก็ไปข่มขู่เจ้าหน้าที่องค์กรที่เกี่ยงข้องกับรายงาน นี่หรือจะนำไปสู่การ”ดับไฟใต้”???

บุคลิกภาพของทหารที่ชอบยึดอำนาจ แบบประยุทธ์กับสมุนของเขา คือความคับแคบหัวแข็งในเรื่องการปกครองตนเองของพลเมืองในชุมชนต่างๆ พวกนี้ยึดติดกับมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เหมือนกับว่าประโยคนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะตกลงมาจากพระเจ้าบนฟ้า แทนที่จะถือว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาเขียนขึ้น สิ่งที่มนุษย์ธรรมดาเขียนก็มักเปลี่ยนได้เสมอ แต่การเคารพสิทธิของพลเมืองที่จะกำหนดอนาคตการปกครองของตนเอง ไม่ว่าจะโดยการแยกตัวออกจากรัฐไทย หรือด้วยการมีสิทธิพิเศษภายในพรมแดน เป็นเรื่องที่พวกทหารเหล่านี้ “รับไม่ได้” และเมื่อใครกล้าเสนอว่าตนเองอยากมีสิทธิเสรีภาพในรูปแบบที่ขัดต่อมาตราหนึ่ง ทหารมีคำตอบเดียวคือการใช้ความรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ทหารไทยไม่ควรจะมีบทบาทอะไรเลยในการกำหนดนโยบายรัฐ การเจรจาต่างๆ หรือการปฏิบัติการใดๆ ในพื้นที่ปาตานี เพราะนั้นเป็นการปิดกั้นหนทางที่จะสร้างสันติภาพ

[ล่าสุดเชิญอ่านบทความ “ปฏิบัติการทางทหารในโรงพยาบาลเจาะไอร้องเมื่อวาน ‪#‎บ้าทั้งคู่” ของ สุไฮมี ดูละสะ http://bit.ly/1puN2LB ]