ทำไมไม่มีการสร้างกระแสมวลชนเพื่อสนับสนุนวัฒนา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการประชาธิปไตยไทยควรศึกษาและสรุปบทเรียนจากการคุมขัง วัฒนา เมืองสุข เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะการที่ไม่มีการสร้างกระแสมวลชนเพื่อสนับสนุนวัฒนา เป็นจุดอ่อนมหาศาล การปล่อยให้กลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” แค่สี่ห้าคนพร้อมกับผู้สนับสนุนอีกสิบถึงยี่สิบคน เป็นผู้ออกมาประท้วง ถือว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองของพวกเรา

ลองคิดดูสิ สมมุติว่าอดีต สส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. รวมถึงนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย แกนนำขบวนการประชาธิปไตยรากหญ้า และแกนนำขบวนการแรงงานซีกก้าวหน้า ออกมาพร้อมเพรียงกัน ในจุดเดียวกันที่กรุงเทพฯ แล้วรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่าง “รัฐอธรรมนูญ” เผด็จการ เพื่อเป็นการแสดงความสมานฉันท์กับ วัฒนา และเพื่อช่วยสร้างกระแสคัดค้านเผด็จการ มันจะเกิดอะไรขึ้น?

ในประการแรกมันจะให้กำลังใจกับมวลชนเป็นแสนๆ ที่จะออกมาคัดค้านเผด็จการ

ผมไม่เชื่อเลยว่าทหารจะกล้านำปืนมากราดยิงประชาชนในกรณีแบบนี้ โดยเฉพาะถ้าประกาศว่าจะโยกย้ายกลับบ้านในไม่กี่ชั่วโมง

ถ้าทหารมาจับแกนนำดังกล่าวหมดเลย จับไปขังปรับทัศนะคติเป็นอาทิตย์ ฝ่ายเผด็จการจะเสียการเมืองไปมากมายแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ใครๆ จับตาดูผู้นำประเทศไทยและการจัดประชามติ แต่ถ้าเขาไม่จับ ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฏหมายเถื่อนของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดที่ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยอีกนิด และปูทางไปสู่สิทธิในการรณรงค์ต่อต้าน “รัฐอธรรมนูญ” ผ่านประชามติที่จะจัดขึ้น และแน่นอนกิจกรรมการเคลื่อนไหวแบบนี้จะมีความชอบธรรมสูง

26525867005_abdb936c4b

แล้วใครควรจะรับผิดชอบในเรื่องความผิดพลาดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการไม่ออกมาสนับสนุน วัฒนา ในครั้งนี้?

แกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำนปช. และทักษิณ คงต้องมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบตรงนี้ แต่ใครที่หูตาสว่างและผ่านเหตุการณ์วิกฤตการเมืองไทยในรอบสิบปี คงไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่ ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ตั้งใจนอนหลับ ไม่ยอมเคลื่อนไหว ตั้งใจแช่แข็งขบวนการ เพื่อรอวันกอบโกยผลประโยชน์เมื่อทหารอนุญาตให้มีการเลือกตั้งจอมปลอมภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ

ดังนั้นเราไม่ควรไปหวังหรือผิดหวังอะไรกับพวกนั้น

แล้วใครควรทบทวนตนเองในเรื่องนี้? คำตอบง่ายๆ คือพวกเราเอง

ผมอ่านคำพูดของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการหลายคนที่พยายามแก้ตัวว่าทำไมไม่ควรสนับสนุนวัฒนา และทั้งหมดนั้นฟังไม่ขึ้น

บางคนบ่นว่าวัฒนามีเส้นสาย บางคนบอกว่าใกล้ชิดทักษิณเกินไป บางคนบ่นว่าเวลาคนอย่างวัฒนาโดนทหารจับสื่อมักจะสนใจ แต่เวลาผู้น้อยโดนจับไม่มีใครรู้ มันล้วนแต่เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่รู้จักวิธีสร้างแนวร่วมแต่อย่างใด

ก่อนหน้าที่วัฒนาจะโดนทหารคุมขังเพื่อไปปรับทัศนะคติครั้งแรก ผมไม่เคยรู้จักเขาเลย ไม่รู้จักจุดยืนทางการเมือง ไม่รู้จักผลงานในอดีต และไม่รู้ว่าเขาเป็นคนแบบนั้น แน่นอนเขาคงไม่ใช่นักสังคมนิยมเหมือนผม แต่นั้นไม่มีความสำคัญแต่อย่างใดเลย เพราะไม่ว่า วัฒนา จะมาจากไหนอย่างไร การที่เขาในฐานะอดีต สส. ออกมาวิจารณ์เผด็จการและ “รัฐอธรรมนูญเผด็จการ” โดยดูเหมือนไม่ยอมจำนนต่อทหาร เป็นการแสดงวุฒิภาวะในการนำในครั้งนี้ และเป็นการเปิดโอกาสให้เราร่วมประท้วง ในอนาคตเขาจะยังแสดงวุฒิภาวะในการนำแบบนี้อีกหรือไม่ เราไม่รู้ และมันไม่สำคัญ การต่อสู้มันต้องข้ามพ้นเรื่องตัวบุคคลเสมอ

บางคนเสนอว่าเราไม่ควรไปร่วมลงคะแนนเสียงในประชามติภายใต้ตีนทหารครั้งนี้ ถ้ารณรงค์ให้คนจำนวนมาก เป็นล้านๆ คน งดออกเสียงไม่ไปลงคะแนนมันก็คงดี แต่ถ้าไม่สามารถมั่นใจ 100% ว่าทำได้ เราก็ควรไปลงคะแนนคัดค้าน แต่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับว่าเราควรสนับสนุบ วัฒนา หรือไม่

จุดอ่อนของฝ่ายเรา ท่ามกลางการแช่แข็งของการต่อสู้โดยทักษิณ เพื่อไทย และ นปช. คือเราไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการมวลชนของเราเองเลย ชื่นชมแต่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนหยิบมือเดียว  ในช่วง ๑๔ ตุลา แนวความคิดของพวกเราไม่ได้ชำรุดแบบนี้

การสร้างแนวร่วมที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวร่วมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องอาศัยการมีจุดร่วมในประเด็นเดียวคือสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย มันต้องมีการยอมทำงานเคลื่อนไหวกับคนที่เราไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง แต่ที่สำคัญคือมันควรเป็นแนวร่วมสมัครใจ คือไม่มีเงื่อนไขว่าต้องทำตามใคร ถกเถียงกันได้เสมอ มีเงื่อนไขเดียวที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อถึงเวลาก็ต้องเคลื่อนร่วมกัน แค่นั้นเอง

ถ้าพวกเราในขบวนการประชาธิปไตยไทยไม่สามารถเข้าใจหลักการต่อสู้พื้นฐานแบบนี้ได้ เราจะไปล้มเผด็จการได้อย่างไร?

รัฐ “อธรรมนูญ” ทหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าดูภาพรวมของความพยายามร่างรัฐอธรรมนูญเผด็จการของแก๊งไอ้ยุทธ์ มันบ่งบอกถึงความสามารถแบบมือ “สมัครเล่น” ของพวกสมุนขี้ข้าเผด็จการที่ถูกจ้างมาเพื่อเขียน และมันบ่งบอกถึงความไร้ปัญญาของทหาร เพราะสิ่งที่พวกนี้คายออกมาแล้วอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเอกสารคุณภาพต่ำที่ย้ำอคติของตนเองต่อประชาธิปไตย มันไม่ใช่เอกสารสำคัญของผู้มีวุฒิภาวะสำหรับการกำหนดกติกาการบริหารสังคมแต่อย่างใด

ร่างแรกของพวกนี้อ่านเหมือนตำราอนุบาลที่พูดบ่อยๆ ถึง “คนดี” ร่างที่สองมีการเปลี่ยนท่าทีแต่ในหลายแง่แย่กว่าเดิม

ขอยืมการ์ตูนของคุณเซีย ซึ่งหมายความว่าเราไม่ควรเดาว่าคุณเซียเห็นด้วยกับบทความนี้แต่อย่างใด
ขอยืมการ์ตูนของคุณเซีย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณเซียเห็นด้วยกับบทความนี้แต่อย่างใด

อารัมภบทของร่างมีชัย ในสามหน้าแรก เต็มไปด้วยคำโกหกบิดเบือนหลอกลวงที่ออกแบบเพื่อให้ความชอบธรรมแก่คณะทหารโจรที่ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการทำรัฐประหาร ผู้ร่างหน้าด้านเขียนไว้ว่ารัฐอธรรมนูญนี้จะแก้ปัญหาการที่นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง “เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองแล้วใช้อำนาจตามอำเภอใจ” มันตลกร้าย เพราะพวกมันเองเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตยและใช้กำลังในการเข้ามาเพื่อใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเราเห็นทุกวันในการที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดใช้มาตรา44 ในเกือบทุกเรื่อง อารัมภบทนี้มีการพูดถึงประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าเป็นคำพูดของเผด็จการและตรงข้ามกับประชาธิปไตย นอกจากนี้มีการโกหกว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความเห็น แต่ความจริงที่ทุกคนรับทราบคือทหารเข้าไปปิดกั้นการประชุมเสวนาพูดคุยถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องประวัติศาสตร์ก็มีการบิดเบือนว่ารัชกาลที่ 7 ยกประชาธิปไตยมาให้คนไทย ทั้งๆ ที่คณะราษฎร์ต้องปฏิวัติล้มการใช้อำนาจตามอำเภอใจของกษัตริย์ในปี ๒๔๗๕ เพื่อเปิดโอกาสให้เรามีประชาธิปไตย

รัฐอธรรมนูญที่มีอารัมภบทแบบนี้ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร?

ที่น่าสนใจคือในอารัมภบทนี้ เผด็จการทหารดูเหมือนเขียนบทสคริปให้กษัตริย์ประกาศยินดีชื่นชมผลงานระยำของประยุทธิ์ ซึ่งชวนให้สงใสว่าใครเป็นเจ้านายที่แท้จริง

หลังจากอารัมภบทแล้ว มาตรา 5 เขียนถึงอำนาจพิเศษที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลและรัฐสภาในยามผิดปกติที่คนอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติไว้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเสียงข้างมากในกลุ่มคนที่มีอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ร่างฉบับนี้ไม่ต่างจากร่างก่อนในการเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ใช่ สส. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในบางสถานการณ์ เช่นตามมาตรา 5 หรือหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามมาตรา 272 ซึ่งตรงนี้อ่านเพิ่มได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4068

ถ้าหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเกิดมีนายกรัฐมนตรีทหารหรือคนของทหาร มันก็เป็นโอกาสสำหรับการยืดเวลาปกครองของเผด็จการได้

ในเรื่องศาสนา รัฐอธรรมนูญนี้ตัดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง “ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” ซึ่งเปิดโอกาสให้กดขี่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธนิกายที่ทหารไม่เห็นด้วย ….อ่านเพิ่มได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4080

ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐในหลายแง่ ตามนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีของพวกอำมาตย์

ในเรื่องสาธารณสุข ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ ในมาตรา 47 ระบุแค่ว่าบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการทำลายนโยบายประกันสุขภาพเดิมที่เคยพูดถึงสิทธิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่คนจนต้องขอความช่วยเหลือผ่านการพิสูจน์ความยากจน

ในเรื่องการศึกษา ซึ่งมีคนออกมาวิจารณ์กันมากมาย เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

(ดู http://prachatai.com/journal/2016/04/65029)

เราจะเห็นว่ามาตรา 54 ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาฟรีเป็นเวลาเพียงสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

โครงสร้างการคำนวณจำนวน สส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีการออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลาง (พรรคประชาธิปัตย์นั้นเอง) ซึ่งไม่ต่างจากร่างรัฐอธรรมนูญก่อนหน้านี้

วุฒิสภาในร่างรัฐอธรรมนูญนี้มาจากการแต่งตั้งโดยทหารเผด็จการทั้ง 200 คน และมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือนานกว่าสภาผู้แทนราษฏร 1 ปี ทั้งนี้เพื่อควบคุมผู้แทนของประชาชน ซึ่งแย่กว่าร่างฉบับก่อนที่เคยให้มีการเลือกตั้งบ้าง

การแก้รัฐอธรรมนูญนี้ในรูปธรรมทำได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากของ สส.500คน และ สว.แต่งตั้ง200คน รวมกัน นอกจากนี้ต้องอาศัยคะแนนเสียง 20% ของพรรคฝ่ายค้าน และ1/3 ของสว. อีกด้วย

ตอนท้าย หมวด16 ว่าด้วยการปฏิกูลการเมือง มีการดูถูกประชาชนว่าไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตย ในขณะที่ผู้จงใจไม่เข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริงคือทหาร อำมาตย์ คนที่ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ และฝูงชนชั้นกลาง

บทเฉพาะกาลท้ายรัฐอธรรมนูญเป็นการไล่ยาว เพื่อให้ความชอบธรรมกับทหารเผด็จการที่ก่อรัฐประหาร และเพื่อวางรากฐานในการสืบทอดอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง

13012612_10153875391656622_3103444526393804048_n

เราควรรณรงค์คัดค้านและคว่ำร่างรัฐอธรรมนูญฉบับมีชัยอันนี้ นอกจากมันเป็นเอกสารที่ทำลายประชาธิปไตยและเสรีภาพแล้ว การลงคะแนน “ไม่รับ”ในประชามติ เป็นโอกาสที่จะตบหน้าทหารเผด็จการด้วย

อย่างไรก็ตามในกรณีที่มันผ่านประชามติที่จัดภายใต้การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และภายใต้การใช้อำนาจข่มขู่ของเผด็จการ เราควรจะต่อสู้ต่อไปให้มันถูกล้มในที่สุด ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้ ซึ่งคงใช้เวลา เราควรมีเป้าหมายที่จะทำลายอำนาจเผด็จการของอาชญากรทหารและแนวร่วมอำมาตย์ของมัน ในระยะสั้นการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี ๔๐ กลับมาใช้ชั่วคราวอาจเป็นทางออกที่ดี

ความคิดซ้ายๆ ของ อีริค ฟรอม

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากงานเขียนของ เอียน เฟอร์กะสัน[1]

อีริค ฟรอม (Erich Fromm) เป็นนักจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมเชื้อสายยิว ที่เกิดในเยอรมัน หลังจากการยึดอำนาจของฮิตเลอร์ เขาต้องย้ายไปสหรัฐอเมริกา

ฟรอม ประกาศมาตลอดอย่างชัดเจนว่าเขา “เป็นนักมาร์คซิสต์” และสนใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับปัญหาสุขภาพจิต โดยที่เขาพยายามผสมแนวคิดของ คาร์ล มาร์คซ์ กับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์[2] แต่เขายืนยันตลอดว่า มาร์คซ์ สำคัญกว่า ฟรอยด์

ฟรอม สนใจจิตวิทยาของ ฟรอยด์ แต่วิจารณ์ว่า ฟรอยด์ ให้ความสำคัญกับชีววิทยามากเกินไปในการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ เพราะ ฟรอม มองว่าเราต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างชีววิทยากับประวัติศาสตร์สังคมหรือสภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในลักษณะวิภาษวิธี คือมององค์รวมและอิทธิพลที่สองสิ่งนี้มีต่อกัน

ฟรอม เชื่อว่าในสังคมปัจจุบัน มนุษย์อาจหลุดพ้นจากความเป็นไพร่หรือทาสในอดีต แต่ในระบบทุนนิยมเสรีภาพผิวเผินที่เรามีอยู่นำไปสู่ความโดดเดี่ยว และความกลัว ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่มีสองแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้คือ เลือกปิดหูปิดตาเพื่อทำตามกระแสหลักในสังคม หรือตั้งใจเผชิญหน้ากับอำนาจในสังคมเพื่อแสวงหาเสรีภาพ แต่แนวที่สองต้องอาศัยความกล้าหาญ คนที่แก้ปัญหานี้ไม่ค่อยได้อาจเสี่ยงกับการป่วยทางจิต

สำหรับ “ธรรมชาติมนุษย์” ฟรอม เชื่อว่ามีจริง แต่เป็นธรรมชาติในลักษณะนิสัยใจคอร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์ของปัจเจก อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่าเราต้องไม่ตกหลุมพรางสองชนิดเวลาพิจารณาเรื่องนี้คือ (1)เราต้องปฏิเสธแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยธรรมชาติและไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เช่นการที่พวกอนุรักษ์นิยมมองว่ามนุษย์มักเห็นแก่ตัว แต่มันไม่มีหลักฐานรองรับ และ ฟรอม นิยามว่าความคิดแบบนี้เป็น “ลัทธิทางการเมือง” มากกว่าวิทยาศาสตร์ (2)เราต้องปฏิเสธความคิดของฝ่ายซ้ายบางคนที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็น “ของเหลว” ที่ถูกกำหนดจากสังคมรอบข้างอย่างเดียว โดยที่พวกนี้เสนอว่าเราไม่สามารถให้คุณค่ากับความคิดต่างๆ ของมนุษย์ว่าดีหรือเลวได้เลย

ฟรอม เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์ในสังคมหนึ่งในยุคหนึ่ง ได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุรอบข้าง คือวิธีเลี้ยงชีพหรือการผลิตของมนุษย์ ซึ่งต่างกับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่เสนอว่าเรื่องเพศหรือเซกซ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องหลัก

ฟรอม อธิบายว่านิสัยใจคอของมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ส่วนที่เป็นบุคลิกของปัจเจกตั้งแต่เกิดที่ไม่ค่อยเปลี่ยน และ(2)“บุคลิกภาพของสังคม” ที่ทุกคนมีร่วมกับคนอื่น แต่ในเรื่องนี้ทั้งๆ ที่เขาเน้นว่าได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุ แต่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักมองว่าบุคลิกภาพของสังคมมีลักษณะที่ค่อนข้างจะถาวร และมีบุคลิกภาพเดียว เขาไม่ขยันเพียงพอที่จะค้นหาหลักฐานในโลกจริง ในสังคมต่างๆ อาจมีบุคลิกภาพทางสังคมหลายรูปแบบ

สิ่งสำคัญที่ขาดไปจากความคิดของ ฟรอม คือพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความขัดแย้งทางชนชั้น และอิทธิพลที่ความขัดแย้งนี้มีต่อบุคลิกภาพ โดยรวมแล้ว ฟรอม มักมองข้ามเรื่องชนชั้นไปเลย

สำหรับเรื่องนี้ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ธรรมชาติพื้นฐาน คือการที่มนุษย์คิดเองเป็นและรักการทำงานที่สร้างสรรค์ท่ามกลางการดำรงอยู่ในลักษณะรวมหมู่กับมนุษย์คนอื่น ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารกัน (2)ธรรมชาติพื้นฐานนี้ทำให้เราพัฒนาลักษณะ ธรรมชาติ และบุคลิกภาพของเราได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันสิ้นสุด พูดง่ายๆมนุษย์พัฒนาธรรมชาติตนเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะรวมหมู่ เราไม่เคยถึงจุดเสร็จสมบูรณ์ และพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งทางชนชั้น

 

[1] Iain Ferguson (2016) “Between Marx and Freud: Erich Fromm Revisited.” International Socialism Journal 149. http://bit.ly/1R1sx26

[2] http://bit.ly/1myNoik

คำโกหกเรื่องอัตราว่างงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

บุคคลสาธารณะที่หน้าด้านโกหกประชาชนแล้วหลงตัวเองถึงขนาดเชื่อว่าประชาชนจะเชื่อคำพูดของตนเอง นับว่าปัญญาอ่อนที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ ไอ้ไก่อู นักโกหกมืออาชีพของเผด็จการมือเปื้อนเลือด ออกมาพูดว่า “อัตราการว่างงานที่ต่ำ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก” กรุณาอย่าหัวเราะมากเกินไปครับ เพราะจะหมดแรงอ่านบทความสั้นชิ้นนี้จนจบ…

ไอ้ลิ้นสองแฉกตัวนี้อธิบายว่า “อัตราการว่างงานของไทยสูงไม่เกินกว่าร้อยละ 1 มาตั้งแต่”… ทหารเริ่มเข้ามายึดประเทศ… “ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศ มีอัตราการว่างงานสูงกว่า เช่น ฝรั่งเศส ร้อยละ 10.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.4 เยอรมัน ร้อยละ 5.3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.8 มาเลเซีย ร้อยละ 3.2 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.3 เป็นต้น”

ภายในคณะเผด็จการคงมีการจ้างคนเขียนบทโกหกแบบนี้เพื่อให้ทุกคนอ่านตรงกัน เพราะ ธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน และขี้ข้าของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ออกมาพูดตรงกันว่า “สถานการณ์ว่างงานของประเทศไทย นับว่าต่ำที่สุดในโลก” และ “ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกในปี 2015”

ประเทศไทยอาจขึ้นชื่อในหลายเรื่อง แต่ที่ชัดๆ คือขึ้นชื่อว่าถูกปกครองโดยเผด็จการที่โกหกประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจำนวนคนงานที่สมัครรับเงินประโยชน์ทดแทนการตกงานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26% เมื่อต้นปีนี้ในภาคอุตสาหกรรมอีเลคทรอนิคส์ จำนวนคนที่ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 150% และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในภาคยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องประดับ อัตราการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 143% 68% และ 43% ตามลำดับ

จริงอยู่จำนวนคนที่ถูกเลิกจ้างไม่สูงถึงล้านๆ แต่ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาล่าสุดของจีน รวมถึงผลพวงของการมีรัฐบาลเผด็จการที่แก้วิกฤตการเมืองไม่เป็นและละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประจำ ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำและคนตกงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการอ้างตัวเลขการตกงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะของประเทศเจริญ แล้วมาเทียบกับไทย เป็นการจงใจบิดเบือนความจริง สาเหตุก็เพราะตัวเลขอัตราว่างงานของประเทศตะวันตกมักจะตรงกับจำนวนคนที่ลงทะเบียนตกงานในระบบที่ทุกคนได้สวัสดิการ แต่ในไทยคนที่มีสิทธิที่จะได้สวัสดิการการว่างงานเป็นคนส่วนน้อยของกำลังงาน เป็นแค่คนที่จ่ายเงินสมทบเพียงพอในระบบประกันสังคมเท่านั้น แต่คนทำงานจำนวนมากในไทย ทั้งในเมืองและชนบท ไม่มีสิทธิ์รับสวัสดิการใดๆ

นอกจากนี้ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อธิบายว่ารัฐบาลไทยนิยามว่าคนมีงานทำ คือทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและในช่วง 7 วันก่อนถูกสัมภาษณ์ทำงานตั้งแต่ 1 ชม.ขึ้นไปโดยได้ค่าจ้าง หรือทำงานอย่างน้อย 1 ชม.ในกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้ค่าจ้าง

เมื่อคนทำงานในไทยถูกเลิกจ้างหรือจบการศึกษาแต่หางานทำไม่ได้ เขาจำใจต้องไปทำงานประเภทคุณภาพต่ำที่ไม่มีความมั่นคง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตต้มยำกุ้งปี ๒๕๓๙ ดังนั้นตัวเลขที่มีความสำคัญในการวัดคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจในไทย คือระดับค่าจ้างที่ได้รับ คุณภาพงาน ความมั่นคงในการทำงาน ชั่วโมงการทำงานต่อวัน และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ไม่ใช่จำนวนคนที่สมัครขอสวัสดิการว่างงาน หรือคนที่รัฐบาลนิยามว่าตกงาน

ระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในไทยสูงกว่าประเทศตะวันตกทุกประเทศรวมถึงญี่ปุ่น และสูงกว่าอินเดียอีกด้วย

การที่รัฐบาลเผด็จการต้องออกมาพูดคำขยะๆ แบบนี้ ก็เพราะนายพลหัวโตทั้งหลายที่ชอบชี้หน้าด่านักข่าว ไม่มีแผนอะไรเลยที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยเลย รัฐบาลนี้จงใจทำลายประชาธิปไตยด้วยการทำรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ สิทธิเสรีภาพและความสุขของประชาชนในระบบการเมืองก็ถูกโยนทิ้งไปเลย และในเรื่องเศรษฐกิจ ความบ้าคลั่งในกลไกตลาดเสรีทำให้เขาเกลียดชังมาตรการก้าวหน้าที่จะเพิ่มความสุขในการทำงานของประชาชน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายจำนำข้าว หรือมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยคนจนที่รัฐบาลทักษิณเคยใช้

และในเรื่องการพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เผด็จการก็ออกคำสั่งทำลายกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้ไร้ความหมาย ซึ่งจะไม่มีวันเพิ่มความสุขให้ประชาชนเลย ในเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเอ็นจีโอบางกลุ่มที่ต้อนรับหรือไม่สนใจรัฐประหาร แต่พวกนี้จะทบทวนตัวเองหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่ปัญญาอ่อนทางการเมืองมานานแล้ว