ใจ อึ๊งภากรณ์
ถ้าดูภาพรวมของความพยายามร่างรัฐอธรรมนูญเผด็จการของแก๊งไอ้ยุทธ์ มันบ่งบอกถึงความสามารถแบบมือ “สมัครเล่น” ของพวกสมุนขี้ข้าเผด็จการที่ถูกจ้างมาเพื่อเขียน และมันบ่งบอกถึงความไร้ปัญญาของทหาร เพราะสิ่งที่พวกนี้คายออกมาแล้วอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเอกสารคุณภาพต่ำที่ย้ำอคติของตนเองต่อประชาธิปไตย มันไม่ใช่เอกสารสำคัญของผู้มีวุฒิภาวะสำหรับการกำหนดกติกาการบริหารสังคมแต่อย่างใด
ร่างแรกของพวกนี้อ่านเหมือนตำราอนุบาลที่พูดบ่อยๆ ถึง “คนดี” ร่างที่สองมีการเปลี่ยนท่าทีแต่ในหลายแง่แย่กว่าเดิม

อารัมภบทของร่างมีชัย ในสามหน้าแรก เต็มไปด้วยคำโกหกบิดเบือนหลอกลวงที่ออกแบบเพื่อให้ความชอบธรรมแก่คณะทหารโจรที่ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการทำรัฐประหาร ผู้ร่างหน้าด้านเขียนไว้ว่ารัฐอธรรมนูญนี้จะแก้ปัญหาการที่นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง “เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองแล้วใช้อำนาจตามอำเภอใจ” มันตลกร้าย เพราะพวกมันเองเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตยและใช้กำลังในการเข้ามาเพื่อใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเราเห็นทุกวันในการที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดใช้มาตรา44 ในเกือบทุกเรื่อง อารัมภบทนี้มีการพูดถึงประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าเป็นคำพูดของเผด็จการและตรงข้ามกับประชาธิปไตย นอกจากนี้มีการโกหกว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความเห็น แต่ความจริงที่ทุกคนรับทราบคือทหารเข้าไปปิดกั้นการประชุมเสวนาพูดคุยถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องประวัติศาสตร์ก็มีการบิดเบือนว่ารัชกาลที่ 7 ยกประชาธิปไตยมาให้คนไทย ทั้งๆ ที่คณะราษฎร์ต้องปฏิวัติล้มการใช้อำนาจตามอำเภอใจของกษัตริย์ในปี ๒๔๗๕ เพื่อเปิดโอกาสให้เรามีประชาธิปไตย
รัฐอธรรมนูญที่มีอารัมภบทแบบนี้ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร?
ที่น่าสนใจคือในอารัมภบทนี้ เผด็จการทหารดูเหมือนเขียนบทสคริปให้กษัตริย์ประกาศยินดีชื่นชมผลงานระยำของประยุทธิ์ ซึ่งชวนให้สงใสว่าใครเป็นเจ้านายที่แท้จริง
หลังจากอารัมภบทแล้ว มาตรา 5 เขียนถึงอำนาจพิเศษที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลและรัฐสภาในยามผิดปกติที่คนอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติไว้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเสียงข้างมากในกลุ่มคนที่มีอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ร่างฉบับนี้ไม่ต่างจากร่างก่อนในการเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ใช่ สส. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในบางสถานการณ์ เช่นตามมาตรา 5 หรือหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามมาตรา 272 ซึ่งตรงนี้อ่านเพิ่มได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4068
ถ้าหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเกิดมีนายกรัฐมนตรีทหารหรือคนของทหาร มันก็เป็นโอกาสสำหรับการยืดเวลาปกครองของเผด็จการได้
ในเรื่องศาสนา รัฐอธรรมนูญนี้ตัดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง “ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” ซึ่งเปิดโอกาสให้กดขี่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธนิกายที่ทหารไม่เห็นด้วย ….อ่านเพิ่มได้ที่ http://ilaw.or.th/node/4080
ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐในหลายแง่ ตามนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีของพวกอำมาตย์
ในเรื่องสาธารณสุข ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ ในมาตรา 47 ระบุแค่ว่าบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการทำลายนโยบายประกันสุขภาพเดิมที่เคยพูดถึงสิทธิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่คนจนต้องขอความช่วยเหลือผ่านการพิสูจน์ความยากจน
ในเรื่องการศึกษา ซึ่งมีคนออกมาวิจารณ์กันมากมาย เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
(ดู http://prachatai.com/journal/2016/04/65029)
เราจะเห็นว่ามาตรา 54 ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาฟรีเป็นเวลาเพียงสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย
โครงสร้างการคำนวณจำนวน สส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีการออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลาง (พรรคประชาธิปัตย์นั้นเอง) ซึ่งไม่ต่างจากร่างรัฐอธรรมนูญก่อนหน้านี้
วุฒิสภาในร่างรัฐอธรรมนูญนี้มาจากการแต่งตั้งโดยทหารเผด็จการทั้ง 200 คน และมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือนานกว่าสภาผู้แทนราษฏร 1 ปี ทั้งนี้เพื่อควบคุมผู้แทนของประชาชน ซึ่งแย่กว่าร่างฉบับก่อนที่เคยให้มีการเลือกตั้งบ้าง
การแก้รัฐอธรรมนูญนี้ในรูปธรรมทำได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากของ สส.500คน และ สว.แต่งตั้ง200คน รวมกัน นอกจากนี้ต้องอาศัยคะแนนเสียง 20% ของพรรคฝ่ายค้าน และ1/3 ของสว. อีกด้วย
ตอนท้าย หมวด16 ว่าด้วยการปฏิกูลการเมือง มีการดูถูกประชาชนว่าไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตย ในขณะที่ผู้จงใจไม่เข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริงคือทหาร อำมาตย์ คนที่ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ และฝูงชนชั้นกลาง
บทเฉพาะกาลท้ายรัฐอธรรมนูญเป็นการไล่ยาว เพื่อให้ความชอบธรรมกับทหารเผด็จการที่ก่อรัฐประหาร และเพื่อวางรากฐานในการสืบทอดอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง
เราควรรณรงค์คัดค้านและคว่ำร่างรัฐอธรรมนูญฉบับมีชัยอันนี้ นอกจากมันเป็นเอกสารที่ทำลายประชาธิปไตยและเสรีภาพแล้ว การลงคะแนน “ไม่รับ”ในประชามติ เป็นโอกาสที่จะตบหน้าทหารเผด็จการด้วย
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มันผ่านประชามติที่จัดภายใต้การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และภายใต้การใช้อำนาจข่มขู่ของเผด็จการ เราควรจะต่อสู้ต่อไปให้มันถูกล้มในที่สุด ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้ ซึ่งคงใช้เวลา เราควรมีเป้าหมายที่จะทำลายอำนาจเผด็จการของอาชญากรทหารและแนวร่วมอำมาตย์ของมัน ในระยะสั้นการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี ๔๐ กลับมาใช้ชั่วคราวอาจเป็นทางออกที่ดี