ใจ อึ๊งภากรณ์
เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่วิจัยของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เรื่องประเทศไทย คนนี้จะมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผมแปลกใจมากเมื่อเขาเอ่ยปากพูดว่า “ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เขาพูดต่อไปว่าเขากังวลว่า นางอองซานซูจี อาจจะไม่ยืดหยุ่นพอที่จะทำงานร่วมกับทหารพม่า
ในความเห็นของผม ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมภาคนี้ ทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่องในระบบการเมืองพอสมควร อย่าลืมว่าในความเป็นจริงระบบประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐกับอังกฤษก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นนายทุนอยู่อีกด้วย
สำหรับพม่า มันเป็นระบบการปกครองที่รัฐธรรมนูญแช่แข็งอิทธิพลของทหารเผด็จการเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปัญหาของ นางอองซานซูจี คือเขาประนีประนอมกับทหารมากเกินไป ใช้แนวคิดชาตินิยมพม่าพุทธสุดขั้ว และเป็นคนที่ชื่นชมกลไกตลาดเสรี
แล้วความคิดแปลกๆ เกี่ยวกับพม่าของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษมาจากไหน?

แนวคิดกระแสหลักของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองในตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาในสาขา “การเมืองเปรียบเทียบ” โดยเฉพาะความคิดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยหลังยุคเผด็จการของคนอย่าง โอดอนนัล (Guillermo O’Donnell) สำหรับสำนักนี้การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการ “บริหารเสถียรภาพและความมั่นคง” พวกนี้ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือความเท่าเทียมทางสังคมของคนธรรมดาเลย และเขาตาบอดถึงและเกรงกลัวการลุกฮือของมวลชนชั้นล่างอย่างถึงที่สุด
เมื่อเราอ่านตำรารัฐศาสตร์เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่เขียนก่อนยุคที่เผด็จการ ซุฮาร์โต หรือ มาร์คอส ถูกล้ม จะไม่มีนักวิชาการกระแสหลักคนใดที่สนใจพิจารณาการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนเลย โดยเฉพาะขบวนการกรรมาชีพและคนจน พวกนี้จะสนใจแต่การพิจารณาว่าชนชั้นนำซีกต่างๆ จะมีบทบาทอะไรบ้างเท่านั้น
แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ไปแล้วว่าทั้ง ซุฮาร์โต และมาร์คอส ถูกล้มจากการเคลื่อนไหวลุกฮือของมวลชน และในกรณีอาหรับสปริง ไม่มีนักวิชาการกระแสหลักที่พูดถึงมวลชนหรือขบวนการแรงงาน แต่เผด็จการ มูบารัก ถูกมวลชนคนชั้นล่างล้ม ในไทยในช่วง ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา ๓๕ ก็เหมือนกัน
ในกรณีที่ความจริงในโลกไปตบหัวนักวิชาการฝ่ายขวา จนเขาต้องยอมรับว่ามวลชนล้มเผด็จการได้ เขามักจะพยายามย้อมสีประวัติศาสตร์เพื่อให้บทบาทหลักอยู่กับชนชั้นกลาง
สรุปแล้วจุดยืนเรื่องการพัฒนาสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ของสำนักคิดฝ่ายขวา “การเมืองเปรียบเทียบ” ดูถูกและเกรงกลัววุฒิภาวะของคนชั้นล่าง และมองว่าพวกอภิสิทธิ์ชนและชนชั้นกลางเป็นพลังในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งพอคิดดูแล้วก็ตรงกับแนวคิดในไทยของ สลิ่ม เสื้อเหลือง ม็อบสุเทพ ทหาร และนักวิชาการที่รับใช้ทหารด้วยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิกูลการเมือง
ดังนั้นมันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เพื่อนผมคนหนึ่งจากจุฬาฯ คือ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ออกมาเสนอแนวคิดประเภท “การเมืองเปรียบเทียบ” ฝ่ายขวา โดยแนะว่าเราต้องทำความเข้าใจกับสถาบันทหาร เพื่อหาทางคุยกับทหารเผด็จการในกระบวนการปฏิรูปการเมือง แต่ “ประชาธิปไตย” ที่จะมาจากวิธีคิดแบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้อิทธิพลของทหารและอำมาตย์ อย่างที่เราเห็นในพม่าทุกวันนี้
บทเรียนจากเรื่องนี้คือ เราไม่ควรหวังพึ่งรัฐบาลของประเทศอื่น โดยเฉพาะรัฐบาลตะวันตก ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในไทย สิ่งที่รัฐบาลเหล่านี้สนใจคือการทำธุรกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติในประเทศไทย เขาอยากมีช่องทางพูดคุยติดต่อกับชนชั้นนำไทยรวมถึงเผด็จการทหารด้วย และจะบอกให้ว่าในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษ มีการวิพากษ์วิจารณ์ทูตอังกฤษคนที่กำลังจะหมดวาระไปที่ไทย เพราะบางคนมองว่าเขามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากเกินไป ซึ่งทำให้ช่องทางที่จะคุยกับคนอย่างไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดมันถูกปิดไป
เราควรรู้อีกว่าสส.พรรคเพื่อไทยบางคนก็วิจารณ์ทูตคนนี้ด้วย เพราะมองว่าไม่ควรยุ่งในเรื่องการเมืองไทย
ในลักษณะเดียวกัน คงจะมีคนในแวดวงรัฐบาลสหรัฐ ที่กลัวว่าถ้าวิจารณ์เผด็จการไทยมากไป จีนจะได้เปรียบสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เราต้องพึ่งตนเองในระดับรากหญ้า ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางสังคม ย่อมมาจากขบวนการเคลื่อนไวทางสังคมของคนชั้นล่างเสมอ