นักสังคมนิยมสหรัฐที่มาก่อน เบอร์นี แซนเดอร์ส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปรากฏการณ์ของการทุ่มคะแนนเสียงให้ เบอร์นี แซนเดอร์ส นักสังคมนิยมที่กำลังลงแข่งกับ ฮิลลารี คลินตัน เพื่อหวังเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นปรากฏการณ์ของกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวสหรัฐที่เบื่อหน่ายกับระบบ มันสอดคล้องกับกระแส Occupy ที่เคยยึดใจกลางเมืองเพื่อประท้วงกลุ่มทุนใหญ่และตลาดหุ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา และมันสะท้อนว่าในสหรัฐคนจำนวนมากพร้อมจะสนับสนุนแนวสังคมนิยม

2016-03-12-1457776885-8487260-berniesanders

อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกผู้แทนของพรรคเดโมแครต เป็นระบบที่ให้ประโยชน์กับคนอย่าง ฮิลลารี คลินตัน นักการเมืองกระแสหลัก เพราะ “ผู้ใหญ่” ในพรรคมีสิทธิพิเศษในการเพิ่มคะแนนให้คลินตัน ซึ่งคาดกันว่าจะทำให้เขาชนะ ดังนั้นถ้า เบอร์นี แซนเดอร์ส ไม่ประกาศสู้ต่อไปทั้งในและนอกรัฐสภา ถ้าเขาไม่สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย และถ้าเขาไม่แยกตัวออกจากพรรคเดโมแครต กระแสซ้ายของคนธรรมดาที่สนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ส ด้วยเงินและคะแนนเสียง อาจถึงทางตัน

debs001TOUSE

ในอดีต ยูจีน เดบส์ นักสังคมนิยมที่มีบทบาทในการสร้างขบวนการแรงงานสหรัฐ ก็เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จุดยืนของเขามีอุดมการณ์ที่ซ้ายกว่า แซนเดอร์ส มาก เพราะเป็นนักปฏิวัติที่เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันใช้เวทีการเลือกตั้งเพื่อโฆษณาจุดยืนสังคมนิยม

ยูจีน เดบส์ เป็นคนงานรถไฟและนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานที่ติดคุกสองครั้ง ครั้งแรกเพราะนำการนัดหยุดงานใหญ่ และครั้งที่สองเพราะรณรงค์ต่อต้านจักรวรรดินิยมและสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในปี 1885 เขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนในสภารัฐอินดีแอนนาภายใต้ธงของพรรคเดโมแครต ต่อมาในปี 1888 เขามีส่วนในการนัดหยุดงานที่ถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ ประสบการณ์นี้ทำให้เขาหันไปจัดตั้งคนงานรถไฟระดับล่างที่ไม่ค่อยมีฝีมือ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีสหภาพแรงงานเลย ในปี 1893 มีการนัดหยุดงานใหญ่ในบริษัทรถไฟ “พุลแมน” ซึ่งในยุคนั้นกลายเป็นการนัดหยุดงานที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมี ฝ่ายนายจ้างใช้อันธพาลและความรุนแรงเพื่อทำลายขวัญคนงาน และ ยูจีน เดบส์ ถูกจำคุก 6 เดือน

pullman-workersPullman-Strike

ในขณะที่ติดคุก เดบส์ มีโอกาสอ่านหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ซึ่งสำหรับ เดบส์ เป็นประสบการณ์คล้ายๆ กับถูกไฟฟ้าช็อต มันชวนให้เขาคิดหนัก และพอออกจากคุก เดบส์ เป็นนักปฏิวัติเต็มตัวและตัดสินใจหันหลังให้กับพรรคเดโมแครต

ยูจีน เดบส์ มักจะวิจารณ์ “นักสังคมนิยมน้ำเน่า” ที่พร้อมจะประนีประนอมเพื่อได้ตำแหน่งและอำนาจ เขาประกาศว่าเขาจะ “ไม่นำพวกคุณไปสู่แดนอารยะของสังคมนิยม เพราะถ้าผมนำคุณไปตรงนั้นได้ คนอื่นก็อาจจะนำคุณออกไปก็ได้” เขาเน้นว่าถ้าจะมีการปฏิวัติจะต้องเป็นการลุกฮือนำตนเองของมวลชน

socialist-party-1024x674-960x632

พรรคสังคมนิยมอเมริกา ที่ เดบส์ ก่อตั้งขึ้นมีสมาชิกเป็นแสน และมีตัวแทนในสภาคองเกรสสองคนรวมถึงสภาท้องถิ่นในหลายเมือง เดบส์ เห็นต่างจากพวกนักสหภาพแรงงานปฏิวัติที่เน้นการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานอย่างเดียว และหันหลังให้กับการตั้งพรรคสังคมนิยม

ในปี 1912 ท่ามกลางกระแสนัดหยุดงานทั่วประเทศ เดบส์ ได้ 6% ของคะแนนเสียงทั่วประเทศในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เมื่อเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียในปี 1917 เดบส์ ประกาศว่าตนเป็น “บอลเชวิคจากหัวจรดเท้า”

debs

ต่อมาในปี 1918 หลังจากที่เขาปราศัยต่อต้านสงครามโลกและจักรวรรดินิยม รัฐบาลสหรัฐจับ เดบส์ ขังคุกสิบปีในข้อหา “ความมั่นคง” อย่างไรก็ตามในปี 1920 ขณะที่ยังติดคุกอยู่ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งและได้คะแนน 1 ล้านเสียง ในที่สุดสภาพในคุกที่ย่ำแย่ก็ส่งผลให้กับสุขภาพของเขา ในปี 1926 ยูจีน เดบส์ ก็เสียชีวิต

เดบส์ยืนยันว่าชาวอเมริกาต้องสร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อสู้กับ “พรรคริพับลิกัน-เดโมแครต” ซึ่งเสมือนพรรคเดียวของชนชั้นนายทุนในการต่อสู้ทางชนชั้น เขาอธิบายเพิ่มว่าความแตกต่างที่อาจมีระหว่างสองพรรคนี้ไม่ใช่ในจุดยืนทางการเมืองหรือชนชั้น แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์อย่างเดียว

คำอธิบายของ ยูจีน เดบส์ เกี่ยวกับสองพรรคกระแสหลักยังเป็นความจริงทุกวันนี้ และวิธีการจัดตั้งและการต่อสู้ของเขาเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่